bookscape สำนักพิมพ์ที่เชื่อในความรู้ ศรัทธาในหนังสือ

ศิวะภาค เจียรวนาลี เรื่อง

 

“ความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งที่ bookscape อยากทำ สังคมไทยถกเถียงกันด้วยความเห็นเยอะ แต่ไม่ได้เถียงกันบนฐานความรู้ เราอยากจะเติมความรู้ให้ คือเราไม่ได้มองว่าทำหนังสือเป็นแค่หนังสือ แต่หนังสือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจโลก ทำความเข้าใจสังคมได้”

ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ bookscape พูดถึงงานของเขาร่วมกับ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ในงานเสวนา ‘จาก openworlds ถึง bookscape: เปิดประสบการณ์ทำหนังสือความรู้ในตลาดหนังสือไทย’ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2561 ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

วงเสวนาวันนั้นมีคนฟังไม่มาก ซึ่งน่าเสียดาย เพราะจากบทบาทและผลงานของ bookscape ที่มีต่อสังคมไทย งานสามารถจัดให้ใหญ่โต จุคนได้เยอะกว่านี้ ให้สมกับสิ่งที่คณะคนทำหนังสือกลุ่มนี้ทำ

bookscape คือสำนักพิมพ์อันดับต้นๆ ของหมวดหนังสือนี้ นำทีมโดย ปกป้อง จันวิทย์ และวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักเขียน อาจารย์ และบรรณาธิการผู้เคยอยู่เบื้องหลังสำนักพิมพ์ openworlds สร้างรากฐานของหนังสือความรู้ให้มีที่ทางในสังคมการอ่านของไทย มีผลงานที่น่าจดจำมากมาย เช่น หนังสือชุด A Very short introduction ความรู้ฉบับพกพา, ความยุติธรรม ของ ไมเคิล แซนเดล ฯลฯ ล่าสุดในนาม bookscape คือ หนังสือชุด A Little history, หนังสือ China 5.0 และอื่นๆ อีกมาก

การทำหนังสือความรู้ในสังคมการอ่านแบบบ้านเราต้องเผชิญความท้าทายมากมาย การยืนหยัดของ bookscape เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่คนทำหนังสือบ้านเราควรดูให้ละเอียดอย่างยิ่ง

บางที นี่อาจเป็นสำนักพิมพ์ที่บ้านเราควรมีมากที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้

 

1

งานหนังสือครั้งที่ผ่านมา หนังสือของ bookscape ที่ขายดีคือ ปรัชญา: ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญาและ China 5.0

เราถามปกป้องว่า เขารู้ไหมว่าทำไมเป็นสองเล่มนี้

“ผมคิดว่าสังคมไทยคงโหยหาความรู้ ต้องการความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ มันมีโจทย์ที่อยากหาคำตอบเยอะขึ้น สื่อตามห้องเรียนไม่มีคำตอบให้เขา หนังสือแนวที่เราทำอยู่ก็เป็นแนวที่เป็นฐานความรู้ คนเข้าถึงได้ มีเสน่ห์ คนที่สนใจอยากหาคำตอบก็ไม่รู้สึกกลัวมันเกินไป”

แม้ bookscape จะก่อตั้งมาไม่นาน (ปี 2561) แต่คนทำมีประสบการณ์การทำหนังสือสูงมาก ปกป้องและวรพจน์ต่างเคยสัมผัสงานอักษรทั้งเป็นคนเขียน คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการ

สมัยทำงานที่ openworlds พวกเขามีส่วนในการทำหนังสือแปลทรงคุณค่าจากต่างประเทศร่วม 100 ปกในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่เขาทำงาน

ปี 2560 openworlds ตัดสินใจยุติบทบาทสำนักพิมพ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านพวกเขามีทางเลือกในชีวิตมากมาย ด้านหนึ่งปกป้องมีส่วนร่วมในการทำเว็บไซต์สื่อออนไลน์ 101 การทำงานสื่อสารความรู้ทางออนไลน์น่าจะปลอดภัยกว่าการทำสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมที่นับวันจะมีแต่คนมองไม่เห็นความหวัง

ปกป้องและวรพจน์เลือกหนังสือ ทางที่เขาเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความลังเลใดๆ

“ถึงจะทำอะไรหลายอย่างแต่เราเป็นคนหนังสือ โตมาด้วยความเป็นคนหนังสือ หนังสือเปลี่ยนชีวิตผมแล้วก็เชื่อว่ามันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้อีกหลายคน เรายังอยากทำหนังสือเปลี่ยนชีวิตคนและสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ” ปกป้องเล่า

“พอรู้ว่า openworlds จะหยุดทำงาน เราก็คิดว่าจะลุยต่อ ทำหนังสือในแนวทางที่เชื่อ ยังสนุก เพราะเราเห็นอิมแพกต์จริงๆ ผมอยู่ในโลกวิชาการ อยู่กับนักศึกษามหาวิทยาลัย เห็นว่าหนังสือที่เราทำมีประโยชน์ในโลกเหล่านั้นอย่างไร นักศึกษาไทยบางทีไม่มีหนังสือภาษาไทยดีๆ ให้อ่าน งานออนไลน์ก็ยังทำ แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะไปทำโลกความรู้ที่ไหนก็ตาม หนังสือยังเป็นฐานหลักเสมอ

“เราเชื่อในความรู้พื้นฐาน แล้วเราเชื่อว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปต้องการความรู้ใหม่ๆ สิ่งที่ bookscape ทำเยอะกว่าสมัย openworlds ก็คือ ทำความรู้ที่มันรับมือกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป” ปกป้องเล่า

 

2

ถ้าเอาผลงานของ bookscape มากางดู คนไม่มีประสบการณ์คงมองหน้ากันว่า ขายได้จริงเหรอ

การทำหนังสือความรู้ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ ถ้ารู้จักหนังสือมากพอ ผลงานที่เป็นเหมือนอาวุธหลักของ bookscape (รวมถึงสมัยทำ openworlds) คือการทำหนังสือเป็นชุด งานที่ดังมากของพวกเขาคือ A Very short introduction หนังสือความรู้ฉบับพกพาที่เขาไปซื้อลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ Oxford University Press และ A Little history หนังสือเล่าเรื่องประวัติศาสตร์หลากหลายวงการที่อ่านสนุก

การขอซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นชุดอาจจะฟังดูเสี่ยง ถ้าเล่มแรกขายยากคนทำก็อาจหมดความมั่นใจ แต่ด้วยความเข้าใจในเนื้อหา สองบรรณาธิการมองว่าการทำหนังสือเป็นชุดมีพลังกว่าการแยกออกมาเดี่ยวๆ ทั้งยังกำหนดทิศทางของรูปเล่มและปกได้ แถมยังน่าสะสม มีคนอ่านไม่น้อยที่ไล่ตามเก็บหนังสือสองชุดนี้ราวกับเป็นของสะสม

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปกป้องและวรพจน์โตมากับสายเศรษฐศาสตร์และสังคม แต่หนังสือในชุดเหล่านี้หลายเล่มล้วนพูดถึงวงการที่ทั้งสองไม่คุ้นชิน นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาตั้งใจ

“เวลาผมสอนหนังสือ จะชอบคิดว่าหน้าที่ของครูบาอาจารย์คือให้นักศึกษาลองใส่แว่นหลายๆ แบบ ในการมองเรื่องหนึ่ง ถ้าใส่แว่นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมองแบบนี้ ถ้าใส่แว่นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม นักเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือนักรัฐศาสตร์ก็จะมองอีกแบบ แว่นแต่ละแบบมีจุดเบลอจุดชัดไม่เหมือนกัน ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อแต่ละคนได้ใส่ๆ ถอดๆ แว่นแล้ว ผมไม่ได้ให้คุณเลือกว่าจะใส่แว่นไหนในการมองโลก แต่ให้คุณตัดแว่นของตัวเองที่เอาข้อดีของแว่นต่างๆ มารวมกัน การทำสำนักพิมพ์ของเรามีจุดยืนคล้ายกัน เราอยากให้คนได้ลองเห็นกรอบในการมองโลกหลายแบบ

“A Very short introduction เป็นหนังสือที่ดีมากอยู่แล้ว มี 400-500 เล่ม เป็นเซตที่คนเชื่อถือ เอาตัวจริงในวงการมาเขียน ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ผมอยากรู้ว่ากรอบวิธีคิดของพวก IR (รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) เขาคิดยังไง มันอาจไม่ตอบทุกโจทย์ แต่เป็นคล้ายๆ ประตูหรือกุญแจขั้นแรกไปสู่โลกความรู้ ข้างหลังหนังสือเราจะบอกว่าถ้าอยากรู้ต่อให้ไปอ่านเล่มไหน เราคิดว่ามันควรจะมีหนังสือแบบนี้ในตลาดไทย”

 

bookscape ไม่ใช่สำนักพิมพ์ใหญ่ เงินก็ไม่ได้เยอะ ถ้าจะอยู่ในสนามนี้ให้ยั่งยืนต้องสู้ยาว ทำหนังสือที่ขายได้เรื่อยๆ อย่างน้อยการทำเรื่องความรู้ก็จะมีคนอ่านเป็นนักศึกษารุ่นใหม่มาตามซื้อทุกปี (ช่วงที่หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์คือช่วงเปิดเทอม)

การเลือกหนังสือเป็นขั้นตอนสำคัญมาก เพราะหนังสือความรู้ก็มีหลายระดับ ปกป้องและวรพจน์เลือกหนังสือที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ โจทย์นี้ไม่ง่ายเลย โชคดีที่พวกเขาคุ้นเคยกับโลกวิชาการและหนังสือ

เป็นนักวิชาการที่ทำหนังสือเป็น

“หนังสือแนวที่เราทำ คุณต้องรู้ทั้งวิชาการและต้องรู้วิธีทำหนังสือ ถ้าให้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยทำ A Very short introduction แบบเดียวกับเรามันคงได้งานอีกแบบ อาจจะเป็นปกเชยๆ หรือแปลด้วยภาษาที่อ่านยาก เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ในการแก้ แล้วก็อาจจะไม่ได้คิดเรื่องการ ‘เฟรม’ หนังสือมาก”

การเฟรมหนังสือในความหมายของปกป้อง คล้ายกับการคิดหน้าหนังของค่ายหนัง เป็นการกำหนดทิศทางและภาพรวมว่าหนังสือควรจะไปในทางไหน มีชีวิตแบบไหน

“เราไม่ได้มีตังค์เยอะแต่ดันอยากทำหนังสือท่ายาก เพราะงั้นต้องคิดเยอะว่าทำยังไงให้รอด เราต้องการนักวิชาการที่ทำหนังสือเป็น และคนทำหนังสือที่รู้วิชาการ เพราะหนังสือพวกนี้ผิดเมื่อไหร่ชื่อเสียงคุณก็จบ ต้องอาศัยเครือข่ายในโลกวิชาการด้วย เช่น ทำหนังสือเกี่ยวกับ Karl Marx คนแปลให้เราคือ เกษียร เตชะพีระ ที่อ่านมาร์กซ์มาอย่างทะลุปรุโปร่ง ทำธีสิสเรื่องมาร์กซ์ ด้วยความที่เราอยู่ในโลกวิชาการ ก็จะได้ตัวละครเหล่านี้มาแปลให้

“การที่อาจารย์เก่งๆ เหล่านี้มาทำ เราก็สามารถยกระดับต้นฉบับของอาจารย์ไปได้อีกขั้น เพราะเราเป็นทีมทำหนังสือ วิธีโปรย วิธีเฟรม ผมคิดว่ามันยากตรงนี้ด้วย จะเล่นกับต้นฉบับแปลเป็นไทยยังไง ยากนะ แต่ละเล่มใช้เวลานาน” ปกป้องเล่า

 

ผลงานส่วนใหญ่ของ bookscape เป็นหนังสือแปล แถมยังเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะทาง หนังสือหนึ่งเล่มใช้บรรณาธิการสองคน คนหนึ่งดูภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย อีกคนดูภาษาไทยอีกที นอกจากนั้นยังมีทีมช่วยดูรายละเอียดต่างๆ แยกย่อยตามสายงาน

สำนักพิมพ์ขนาดเล็กมักใช้ฟรีแลนซ์ทำงานเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ปกป้องและวรพจน์มองว่างานนี้ต้องการคนเก่งมาทำ ฟรีแลนซ์ไม่สามารถตอบโจทย์ได้มากพอ ต้องใช้พนักงานประจำที่เก่ง สำนักพิมพ์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนมากพอๆ กับการทำหนังสือดี

“ถ้าใช้ฟรีแลนซ์ ต้นทุนถูกกว่าอยู่แล้ว แต่มันไม่เกิด specialization ของคนทำงาน ไม่เกิดการสะสมทักษะ เขารู้สึกไม่มี career path แล้วเราก็ยังบริหารต้นฉบับได้ยาก เราควบคุมคุณภาพหนังสือได้ด้วยคน เราลงทุนกับคนไปเยอะ ทั้งเงินเดือน โครงสร้างการทำงาน ถ้าเรามีคนก็ต้องมีหนังสือออกตลอด ต้องบริหารให้มีต้นฉบับหนังสือให้ทำได้ตลอดเวลา เราออกหนังสือปีหนึ่ง 10 กว่าเล่ม อาจจะต้องมีต้นฉบับหนังสือที่เราซื้อลิขสิทธิ์ตุนไว้ประมาณ 30 เล่ม”

 

ในแง่ของความสวยงาม สิ่งที่ bookscape ทำได้ดีมาตลอดคือหน้าปกและรายละเอียดบนปก ขอยกตัวอย่างเรื่องการเขียนโปรยปก ขั้นตอนที่ดูง่ายแต่ทำให้ดียากมาก

“เราโปรยปกแบบคนรู้จักหนังสือเล่มนั้น บางสำนักพิมพ์อาจจะใหญ่ คนทำงานเยอะ พอไล่สายงานเป็นขั้นๆ แล้วคนโปรยปกอาจจะไม่ใช่คนที่ลงมือทำ ไม่ใช่คนที่เข้าใจหนังสือทะลุปรุ่โปร่ง เลยตีโจทย์หนังสือไม่แตก” ปกป้องเล่า

“ถ้าการทำหนังสือจะเป็นงานคราฟต์ มันก็คราฟต์ในความหมายที่ว่าเรารู้จักหนังสือทุกเล่มที่ทำ เข้าใจมันทะลุ ถ้าไม่ทะลุเราก็ดึงจุดเด่นออกมาไม่ได้ ตรงไหนมันเด่น คำถามไหนที่น่าสนใจ มันไปปะทะกับคำถามที่สังคมกำลังสนใจหรือเปล่า อยู่ที่จะจับกันตรงไหน บางเล่มชูประเด็น บางเล่มชูความเป็นซีรีส์ เรามีพื้นที่ 3 ย่อหน้านี้เป็นพื้นที่ปราบเซียนว่าทำยังไงให้ชื่อข้างหน้าและสามย่อหน้าในปกหลังเอาให้อยู่”

วรพจน์บอกว่า พวกเขาอาจไม่ได้มีพื้นฐานทางศิลปะมากๆ ส่วนมากพวกเขาไว้ใจผู้เชี่ยวชาญอย่างกราฟิกดีไซเนอร์ในเรื่องความงาม

“เวลาเราดู เราก็ดูสองขา ขาแรก ดูในเชิงวิชวลว่าเป็นยังไง สื่อสารได้ไหม ทำงานในตลาดได้ไหม อีกขาหนึ่งคือดูในแง่ความหมาย ซึ่งอันนี้เราจะช่วยกราฟิกได้เยอะ พยายามจะให้เขาเห็นว่าเล่มนี้มันสวยอย่างเดียวแต่ยังไม่ฉลาด ทำยังไงให้ภาพสื่อความหมายบางอย่างออกมา มันคงเป็นรสนิยมของเราด้วยที่ไม่อยากเห็นแค่งานที่สวยอย่างเดียว อยากเห็นงานที่มีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้คิดไปอีกชั้น

ปกป้องเล่าต่อ “เราไม่ได้พยายามเอาใจตลาดหรือจะตามใจตลาดอย่างที่มันเป็น แค่ดูว่ามันมีเสน่ห์หรืออะไรที่พอจะเล่าเรื่องได้ เราต้องมาประเมินตลาด รสนิยมไม่ได้ลอยอยู่เหนือสังคม นอกจากเราจะให้ความรู้แล้วเราก็อยากเป็นสำนักพิมพ์ที่มันช่วย shape วิธีการอ่านและการตั้งคำถามต่อความรู้ที่สังคมไทยต้องใช้ในบางระดับ เราต้องคุยกับตลาดและสังคมในความหมายแบบนั้น”

 

3

ประโยคหนึ่งของปกป้องและวรพจน์ที่ทำให้เราตาลุกวาวด้วยความอิจฉา คือร้านหนังสือซีเอ็ดไม่เคยคืนหนังสือของ openworlds เลย (และหวังว่า bookscape ที่เพิ่งส่งเข้าร้านจะไม่มีเช่นกัน)

ปกติร้านหนังสือขนาดใหญ่จะทยอยคืนหนังสือในร้านที่ขายไม่ออกให้สำนักพิมพ์ต้นทางรวมกันแล้วปีหนึ่งเป็นหลักล้าน นี่คือวิถีปกติ แต่สินค้าของ openworlds และ bookscape คือของพรีเมียม ขายได้ยาว ยังมีคนสั่งตรงกับทางร้านเอาไปใช้เป็นร้อยเล่ม ซึ่งก็ตรงกับยุทธศาสตร์การอยู่ยาวของสำนักพิมพ์ แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

วรพจน์เล่าประสบการณ์การคุยกับร้านหนังสือให้เราฟัง “แน่นอนว่าสำหรับเขา หนังสืออะไรที่ขายได้ก็ต้องวาง เราเข้าใจ แต่คิดว่าเขาก็มีข้อจำกัดบางเรื่อง เช่น ติดกับวิธีเดิมๆ ว่าหนังสือต้องมีวงจรการขาย 2-3 เดือนแล้วก็หายไป ถ้าเป็นหนังสือที่มันขายยาวล่ะ คุณจะจัดการมันยังไง ช่วงเปิดเทอมยอดหนังสือของเราจะเพิ่ม คุณไม่คิดบ้างเหรอว่าต้องเอาหนังสือแบบนี้กลับมา เราพยายามคุยกับเขาเยอะหรือทำให้เขาเห็นว่าหนังสือแบบที่เราทำ นอกจากขายยาวแล้วมันยังมี potential ในการขายนะ มันมีตลาดอยู่จริงๆ ถ้าคุณลองให้พื้นที่มัน

เราลองทำกับบีทูเอส ส่วนหนึ่งเขาอยากปรับรูปโฉมร้านหนังสือให้มีความเป็นร้านหนังสือ มีหนังสือที่ทำให้เขาดูดีขึ้น เขาก็วางให้เราดี ปรากฏว่ายอดขายดีขึ้นเท่าตัว สิ่งนี้เป็นตัวพิสูจน์ แล้วเราก็เอาสิ่งนี้ไปบอกกับซีเอ็ดว่ายอดขายเพิ่มขึ้นนะ ทำไมคุณไม่ให้โอกาสมันบ้างทั้งที่คุณเป็นสายส่งของเราโดยตรง เขาก็ทำให้ พยายามถ่ายรูปมาให้ดู”

ปกป้องเสริมต่อ “ยอดขายร้านหนังสือตก แต่คุณก็ยังขายแบบเดิม คิดว่าคนไม่เปลี่ยน สังคมไม่เปลี่ยน ประเภทหนังสือไม่เปลี่ยน แต่ผมคิดว่าพวกนี้เปลี่ยนหมด แล้วหนังสือแบบไหนที่ควรจะซื้อเก็บไว้ มันไม่ใช่หนังสือตีหัวเข้าบ้าน ไม่ใช่หนังสือกระแส แต่เป็นหนังสือความรู้ที่อยากจะเก็บไว้ประจำบ้าน หรือหนังสือที่แปลงสภาพตัวเองให้กลายเป็นงานอาร์ต เป็นอะไรบางอย่างที่ถูกทำให้เป็นคอลเลกชั่นสะสม มันมีวิธีไปหลายทาง ทางงานอาร์ตเราแข่งกับคนอื่นไม่ได้หรอก เราสู้ด้วยสายความรู้ดีกว่า”

 

สองบรรณาธิการเดินทางมาไม่น้อย ได้เห็นร้านหนังสือทั้งเจ้าใหญ่และร้านอิสระในต่างประเทศมามาก แน่นอนว่าพวกเขายังเห็นช่องทางอีกเยอะที่ร้านหนังสือในไทยจะเติบโต

“จริงๆ ร้านหนังสือไม่ควรคิดว่าหนังสือแต่ละเล่มจะขายด้วยตัวมันเอง ไม่งั้นคุณก็เป็นแค่ชั้น ร้านควรต้องคิดมากกว่านั้น ถ้าไปดูร้านหนังสือต่างประเทศหลายๆ ที่ เขาไม่ได้มีแค่ชั้น New arrival แน่นอนว่าระบบหนังสืออย่างที่เก็บตามหมวด เช่น ชั้นหนังสือประวัติศาสตร์หรือปรัชญา อะไรอย่างนี้ก็ควรจะมี แต่ที่เมืองนอกที่เขาทำกันชัดๆ เลยคือธีมหนังสือที่น่าสนใจ เช่น หนังสือที่ถูกเอาไปทำหนัง หรือหนังสือท่องเที่ยวหน้าร้อนที่หยิบเอาไปตอนเดินทางไปได้” วรพจน์ยกตัวอย่าง “คุณทำอะไรได้เยอะมากที่จะทำให้คนอ่านรู้สึกมีส่วนร่วมกับมันได้ ช่วยดึงเขาเข้ามาหาหนังสือได้”

อีกกิจกรรมที่ bookscape ทำบ่อยมาก คือการจัด book talk ไม่ได้ทำกันครั้งคราว แต่ทำทุกเล่ม

“เราอยากคุยต่อจากหนังสือ ให้หนังสือเป็นหัวใจหลัก มันมีความรู้ที่เราคิดต่อจากหนังสือเล่มนี้ได้อยู่รอบๆ ที่อยากชวนคนมาคุยไม่ได้เพื่อขายหนังสืออย่างเดียว แต่อยากให้คนมาสะท้อนประสบการณ์ วิธีคิด และแว่นตาของเขา เราอัดวิดีโอไว้ทุกครั้ง ไม่ได้มาก็ดูย้อนหลังได้ ไม่ต้องมาซื้อหนังสือเราก็ได้แต่คุณต้องได้ความรู้กลับไป

“เรามีความฝันอีกหลายอย่าง เช่น อยากจะจับมือกับมหาวิทยาลัย เอา vsi ที่เป็นความรู้พื้นฐานไปทำเป็นคอร์ส เราพร้อมจะเป็นคิวเรเตอร์ อยากจะใช้หนังสือเป็นฐานในการเข้าหาความรู้ เพราะการอ่านหนังสือเป็นวิธีที่คุณจะเข้าใจมันเชิงลึก มีเวลาละเลียดกับมัน ได้คิด ได้สนทนา แล้วมันจะได้สร้างความคึกคักให้กับโลกของการอ่าน ผมเชื่อว่าหนังสือแทบทุกเล่มที่เราทำเป็นตำรามหาวิทยาลัยได้ แต่จะไม่ใช่ตำราน่าเบื่อ หนังสือ เมา: ประวัติศาสตร์ของการร่ำสุรา ที่เพิ่งออกไปทำให้คนรักประวัติศาสตร์ได้เห็นประวัติศาสตร์ในบางมิติ คือมันไม่ใช่หนังสือที่ให้แต่ข้อมูล แต่มัน inspired ให้อารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ทำให้นักเรียนหรือคนที่ชอบอ่านหนังสือตาเบิกโพลงได้ ผมคิดว่าอยากให้มันมีมิติแบบนี้ เราก็อยากทำงานแบบนี้มากขึ้น”

 

การทำงานเกี่ยวกับหนังสือในวันนี้ ในยุคที่คนเห็นว่าโลกออนไลน์คือทุกสิ่งทุกอย่าง การให้ความรู้ผ่านหนังสือดูจะเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับคนที่ทำหนังสือมาทั้งชีวิตอย่างปกป้องและวรพจน์ พวกเขาทำงานด้วยความโรแมนติกเกินจริง แต่ทำเพราะยังเห็นคุณค่า และพร้อมจะลงแรงลงใจไปกับมันอีกยาวนาน

“หนังสือเป็นสื่อที่เราทำแล้วสบายใจในแง่ที่ว่าไม่ต้อง compromise กับใครมาก ในแง่หนึ่ง การตั้งราคาหนังสือก็เหมือนมันขายตัวมันเองกับคนอ่าน ถ้าคนอ่านรู้สึกว่ามันเป็นสินค้าที่เขาเชื่อก็ซื้อ แล้วเราก็สื่อสารกับคนอ่านตรง ไม่ต้องผ่านคนอื่นเยอะ ไม่มีโฆษณา เราเข้าใจว่าแต่ละสื่อไม่เหมือนกัน ข้อดีของสื่อหนังสือคือตรงนี้”

“กระบวนการทำหนังสือมัน shape ผมหลายเรื่อง ทั้งวิธีการมองโลก ความลุ่มลึก การแก้งาน ทำให้เราเขียนหนังสือได้ดีขึ้นด้วย ฝึกวิธีคิดขั้นสูง งานมันเย็นแต่มันมีอิมแพกต์ แม้ว่าผมกับวรพจน์ทำอะไรเยอะแยะไปหมด แต่งานหนังสือเป็นงานที่เราภูมิใจที่สุด เราภูมิใจมากกับ openworlds ทุกเล่ม เราภูมิใจมากกับ bookscape เราเห็นชีวิตเห็นประวัติศาสตร์ของมันในร้อยกว่าเล่มที่ทำกันมา”

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ a day magazine วันที่ 17 มกราคม 2562

 

Print Friendly