นิรัติศัย บุญจันทร์ เรื่อง
ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี ทว่าในแง่การหา ‘ความรู้’ สิ่งที่ประชาชนสนใจที่สุดอาจไม่ใช่การสไลด์จอมือถือหรือเสิร์ชเอนจิ้นครอบจักรวาล
แต่เป็น “หนังสือ”
สำนักพิมพ์ bookscape ที่นำเสนอหนังสือเพื่อให้ความรู้สู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า มิใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่ใฝ่หาความรู้ หรือเสพติดการค้นข้อมูลผ่านหน้าจอเพียงอย่างเดียว
ในบทสัมภาษณ์นี้ ปกป้อง จันวิทย์ และวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการอำนวยการแห่งสำนักพิมพ์ bookscape จะพูดถึงความเป็นมา และสิ่งที่จะเป็นไปในการดำเนินธุรกิจสำนักพิมพ์ในยุคปัจจุบัน
………………….
อยากถามถึงสถานการณ์ของสิ่งพิมพ์ในสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก มีวิธีการหรือแนวทางรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือวัฒนธรรมของคนที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ปกป้อง : ในการทำหนังสือเราต้องคิดถึงคนอ่านก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าต้องตามใจคนอ่านหรือเอาใจตลาดขนาดนั้น เราไม่ได้เลือกทำหนังสือเฉพาะที่ตลาดต้องการหรือคนอยากอ่าน แต่เราอยากทำหนังสือดีๆ ที่อยากชวนให้คนมาอ่าน เราอยากมีส่วนร่วมสร้างความต้องการใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ วัฒนธรรมการอ่านใหม่ๆ และองค์ความรู้ใหม่ๆ ในสังคมด้วย
สำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีแนวทางของตัวเองมีส่วนสำคัญในการสร้างตลาดหนังสือใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์และหลากหลาย รวมถึงช่วย shape วัฒนธรรมการอ่านใหม่ๆ นี่คือพลังของคนทำหนังสือ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนทำหนังสือทำตรงนี้ได้ดี ทำให้วงการหนังสือรุ่มรวยมีสีสัน ท่ามกลางความท้าทายในวงการสิ่งพิมพ์ ทุกคนต้องยกระดับการทำงานเพื่อความอยู่รอด สำนักพิมพ์ต้องเก่งขึ้น ปรับวิถีการทำหนังสือ วิถีการขายหนังสือ วงการหนังสือโดยรวมก็มีคุณภาพดีขึ้นและหลากหลายขึ้น คนอ่านยิ่งได้ประโยชน์ แม้หนังสือบางแนวอาจยังไม่ทำงานในวันที่วางแผง ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อต่อไป
ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การปรับตัวของสำนักพิมพ์มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ต้นทุนต่ำลง และเกิดโอกาสใหม่ๆ อินเตอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงคนอ่านได้โดยตรง ซื้อขายหนังสือกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงกลุ่มคนอ่านเป้าหมายได้ตรงจุดขึ้น นักอ่านก็ติดตามข่าวสารและหาข้อมูลหนังสือสะดวกขึ้น สำนักพิมพ์ทำการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ได้ คนทำงานจึงต้องพร้อมปรับตัว พร้อมเปลี่ยน และคนที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ดีจะไปได้ไกลมากๆ หนังสือที่เคยขายได้ยากเมื่อก่อนอาจจะขายได้ง่ายขึ้นในโลกหนังสือยุคดิจิทัล นิยามของความสำเร็จและความล้มเหลวมันเปลี่ยนใหม่หมด
การหาวิธีอยู่รอดหรืออยู่ยาวในยุคนี้จึงเป็นเรื่องสนุกและท้าทายมาก ในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กและกลางจึงปรับตัวกันอย่างมหาศาลและทำกันได้ดีมากด้วย ไม่ใช่แค่พัฒนารูปเล่ม แต่รวมถึงวิธีพาหนังสือไปหาคนอ่าน การใช้สื่อต่างๆ มาช่วยขายหนังสือ เช่น ทำคลิป ทำทีเซอร์ แนะนำหนังสือ หรือการจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์
นี่ขนาดวงการหนังสือดิ้นรนปรับตัวกันเองภายใต้เนื้อดินที่แห้งแล้งยังทำได้ดีขนาดนี้ เกิดสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเต็มไปหมด เกิดร้านขายหนังสือออนไลน์ที่สร้างสรรค์ เกิดงานเทศกาลหนังสือที่สร้างสรรค์อย่าง LIT Fest ถ้ามีเนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์ มีโครงสร้างพื้นฐานมาสนับสนุน มีการสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้บทบาทที่เหมาะสม พลังสร้างสรรค์ของแวดวงคนทำหนังสือน่าจะยิ่งก้าวไกลไปต่อได้อีกหลายขั้น สังคมไทยคงเป็นสังคมแห่งความรู้ที่มีคุณภาพขึ้น
บทบาทที่ควรจะเป็นของรัฐไม่ใช่การควบคุมหรือผูกขาดการกำหนดทิศทาง แต่คือการสนับสนุนหนังสือดีที่ตลาดไม่ทำงานแต่มีประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม หรือด้วยการสนับสนุนผู้ผลิตหนังสืออิสระขนาดเล็กที่น่าสนใจเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้วงการ โดยออกแบบกติกาการสนับสนุนที่เปิดกว้าง โปร่งใส มีส่วนร่วมจากคนในวงการหนังสือ ไม่รวมศูนย์ขึ้นตรงต่อระบบราชการซึ่งอำนาจนิยมและเชย รวมถึงออกนโยบายเชิงโครงสร้างอย่างการส่งเสริมการแข่งขันและต่อต้านการผูกขาดในอุตสาหกรรมหนังสือ เพื่อไม่ให้เกิดการค้าไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด
วรพจน์ : ถ้ามีการช่วยเหลือในเชิงโครงสร้างจากรัฐก็อาจดีขึ้น แต่ดูจากฝีมือของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กบางกลุ่มอย่างในงาน LIT Fest ที่เพิ่งจัดไป เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าพวกเขาลำบากกันจริงหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะทำงานเก่งกันมาก ผมรู้สึกว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ ทำได้ดีขึ้น มีตลาด มีฐานคนอ่าน อย่างน้อยก็ทำให้เขาพออยู่ได้ด้วยตัวเอง
อย่างสำนักพิมพ์ bookscape ของเราอาจทำงานด้านหนังสือความรู้ได้ในระดับหนึ่ง เช่น ทำชุดความรู้ฉบับพกพา (Very Short Introductions Series) แต่เรายังไม่สามารถลงทุนทำตำราเรียนเล่มยักษ์ หนังสืออ้างอิง หรือหนังสือคลาสสิกเล่มหนาได้ แม้ว่าจะอยากทำมาก เพราะพวกเราเป็นแค่เอกชนเล็กๆ แค่นี้สำนักพิมพ์ความรู้หลายแห่งก็แบกรับหน้าที่แทนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยกันหลังแอ่นแล้ว สำหรับโจทย์ที่ยากขึ้นแบบนี้ เราคงต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากภาครัฐหรือมหาวิทยาลัย
ในเชิงสื่อ เรามองว่าหนังสือเป็นสื่อที่เราสามารถตั้งราคาขายที่ครอบคลุมทั้งต้นทุนและกำไรได้ ผลงานมันขายตัวมันเอง ต่างจากสื่อประเภทอื่นที่ต้องพึ่งพิงโฆษณา ต้องเอาใจคนซื้อโฆษณามากกว่าผู้อ่านหรือผู้ชม การทำหนังสือจึงทำให้เราสบายใจ เพราะไม่ต้องนึกถึงหน้าบริษัทห้างร้านหรือหน่วยงานรัฐก่อนหน้าคนอ่าน เพราะงั้นก็เลยวกกลับมาที่ว่า ไม่ว่าจะต้องปรับตัวยังไง เราต้องคำนึงถึงคนอ่านมากที่สุด
ส่วนในแง่การสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้ามีการออกแบบโครงสร้างที่ทำให้เราสามารถขอการสนับสนุนได้โดยไม่ต้องเอาอกเอาใจหน่วยงานไหนโดยเฉพาะ ได้นึกถึงหน้าคนอ่านโดยตรง ก็คงเป็นโมเดลที่น่าสนใจ
ภาพของบรรณาธิการทั้งสองที่คนส่วนใหญ่เห็นตอนนี้คือนักวิชาการ แต่ก่อนจะมาเป็นแบบนี้ อะไรทำให้คนคนหนึ่งอยากหันมาเป็นนักวิชาการ และนำไปสู่การต่อยอดทางความรู้อย่างที่ทำในปัจจุบัน?
ปกป้อง : ผมชอบอ่านหนังสือ ติดหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็ก อ่านข่าวการเมืองตั้งแต่ประถม สนุกกับมัน เหมือนอ่านนวนิยายจีนที่มีการหักเหลี่ยมเฉือนคม อ่านไปสักพักก็เริ่มอยากรู้ว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ จึงหาหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองมาอ่านเพื่อหาคำอธิบาย ได้อ่านเรื่อง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ จนอินไปกับมัน ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนั้นอีกในยุคสมัยเรา แล้วก็เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 ตอนมัธยมต้น เราเลยเกิดคำถามตามมาอีกหลายข้อ เช่น ทำอย่างไรถึงจะขจัดเงื่อนไขไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงหรือรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ปัญหารากฐานของการเมืองไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อย่างเดียวอาจตอบโจทย์ได้ไม่หมดแล้ว เลยเริ่มหาอ่านตำราวิชาการหรือคอลัมน์ของนักวิชาการ โลกการอ่านของเราก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามคำถามและความสนใจของเรา
จากการเมืองก็ไปเจองานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ไปอธิบายการเมือง อย่างหนังสือของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เราเริ่มต่อยอดความสนใจไปทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ขยับไปเรื่องเศรษฐกิจ อ่านอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ สุดท้ายก็อยากเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์
ผมโตมากับหนังสือ และเชื่อว่าหนังสือเปลี่ยนชีวิตคนได้ เหมือนที่มันเปลี่ยนวิธีคิดวิธีมองโลกของเรา จากเด็กประถม มัธยม จนเข้ามหาวิทยาลัย จบมาเป็นอาจารย์ เรามีหนังสืออยู่ในชีวิตตลอด และครอบครัวก็สนับสนุนการอ่านหนังสือเสมอ
ตอนเจอพี่สุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ครั้งแรก ยังเคยเดินไปบอกแกว่า “อำนาจวรรณกรรมมีอยู่จริงนะครับ” อย่างน้อยมันก็เปลี่ยนผม สร้างตัวผมขึ้นมาจนเป็นเราในทุกวันนี้ งานของพี่สุชาติก็เป็นส่วนหนึ่ง เราอ่านสิงห์สนามหลวง อ่านช่อการะเกดมาตั้งแต่เด็ก
ต่อมา จากนักอ่านก็กลายมาเป็นคอลัมนิสต์ เป็นบรรณาธิการหนังสือ ได้เจอคุณภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) ช่วยเขียน ช่วยทำหนังสือกันที่ openbooks ได้เจอวรพจน์ (วงศ์กิจรุ่งเรือง) สฤณี (อาชวานันทกุล) และเพื่อนๆ จนมาตั้งสำนักพิมพ์ openworlds ด้วยกัน พอ openworlds ยุติบทบาทสำนักพิมพ์ ผมกับวรพจน์ก็มาทำ bookscape กันต่อ
วรพจน์ : ผมนี่ตรงข้ามเลย (หัวเราะ) ไม่มีเส้นทางเหมือนอาจารย์ปกป้อง ถ้าจะเรียกว่าเป็นผลผลิตของความล้มเหลวทางการศึกษาไทยก็คงได้
เราเรียนจบมาแบบหัวว่างเปล่า เรียนไปตามกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างที่คนอื่นทำ ไปเรียนพิเศษ เอนทรานซ์ เรียนๆ ไป ไม่มีหนังสือเปลี่ยนชีวิต ไม่ได้มีความสนใจทางสังคมชัดเจน อ่านการ์ตูนเป็นหลัก หนังสือที่อ่านจริงๆ คือหนังสือนอกเวลาที่เขาให้อ่าน เรียนจบมาก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความรู้อะไรนัก
เรามาเริ่มอ่านหนังสือหลังจากทำงานกับคุณภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) ที่ openbooks เพราะต้องอ่านต้นฉบับแบบจริงๆ จังๆ มุมมองต่อโลกก็เริ่มเปลี่ยน ถึงจุดหนึ่งเราเลยตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทที่สวีเดนและอังกฤษ ช่วงนั้นเราจึงได้อ่านหนังสือเยอะและได้อ่านหนังสือวิชาการจำนวนมาก
งานต้นฉบับที่เคยอ่านก็เป็นงานที่ดี แต่การได้อ่านหนังสือวิชาการช่วยให้เรามีวิธีคิดที่เข้มแข็ง เข้าใจและเชื่อมโยงตรรกะในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ หลังเรียนจบกลับมา แม้ไปเป็นอาจารย์ช่วงหนึ่ง เราก็ยังอยากทำหนังสืออยู่ ยิ่งเราไม่ได้โตมากับการอ่านหนังสือ เลยคิดตลอดว่าถ้ามีหนังสือดีๆ ให้อ่านตั้งแต่เด็กๆ เราอาจเป็นเด็กคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือก็ได้ เหมือนเด็กที่ได้เจอครูดี เจอครูสอนดีก็เรียนดีตามไปด้วย เราอยากทำหนังสือในรูปแบบนั้น อยากทำงานความรู้ให้เด็กรุ่นหลังได้ก้าวต่อไปข้างหน้าและได้มีโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น สู้กับความล้มเหลวของระบบการศึกษาได้ดีขึ้น
หลังจากมีแพสชั่นด้านความรู้ แล้วอะไรทำให้อยากหันมาเป็นผู้นำเสนอความรู้?
ปกป้อง : ผมคิดว่าระบบการศึกษาแบบทางการทำงานด้านความรู้ได้จำกัด เพราะถูกครอบด้วยกฎระเบียบ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ศักดินานิยม ความเป็นราชการ และอีกหลายๆ อย่าง การเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยช่วยเราได้ระดับหนึ่ง แต่การอ่านหนังสือนอกห้องเรียนเพื่อเติบโตด้วยตัวเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หรือมากกว่าอีกถ้าเจอครูไม่ดีหรืออยู่ในระบบการศึกษาทางการที่ไร้คุณภาพ
ตั้งแต่เด็ก ผมอยากมีส่วนเปลี่ยนสังคมนี้ให้ดีขึ้น ความตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ เราต้องใช้ความรู้ในการเปลี่ยนสังคม แพสชั่นส่วนตัวก็คือ เราอยากทำงานด้านความรู้ให้สังคม ทั้งงานวิจัย งานสอน งานสื่อสารความรู้ ในแง่นี้หนังสือมีความสำคัญ เราชอบอ่านหนังสือ เรารักการทำหนังสือ เลยคิดว่าอยากมีส่วนร่วมในการทำหนังสือความรู้ดีๆ สนุกๆ ให้นักเรียน นักศึกษา หรือคนที่กระหายความรู้อ่านและใช้ประโยชน์
หนังสือความรู้ในเมืองไทยยังมีช่องว่างอยู่ เราต้องการหนังสือความรู้พื้นฐานดีๆ ที่เชื่อถือได้ หนังสือความรู้ร่วมสมัยที่เท่าทันโลก หนังสือความรู้ที่ตั้งคำถามหรือสร้างข้อถกเถียงใหม่ๆ ในสังคม หนังสือความรู้ที่อ่านสนุกและรื่นรมย์ ทำให้คนสนใจความรู้ อยากอ่านหนังสือ และมีทางเลือกในการเรียนรู้นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ bookscape มุ่งมั่นอยากทำ – สร้างโลกแห่งการเรียนรู้รอบๆ หนังสือ
เราเคยมีประสบการณ์ทำงานวิจัย ผลักดันนโยบายกับผู้กำหนดนโยบายของรัฐ เลยได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมจากข้างบนเป็นเรื่องยากมาก เราจึงอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง อาจใช้เวลานานกว่า แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เป็นการทำงานในแบบที่เราอยากทำ
ปัญหาหนึ่งที่เราพบในระบบการศึกษาคือ นักเรียนนักศึกษาไม่ค่อยมีหนังสือดีๆ มีคุณภาพที่ทำให้เขาตื่นเต้นและสนุกกับการเรียนรู้แบบในต่างประเทศ พอต้องถามตัวเองว่าอยากทำสำนักพิมพ์แบบไหน เราเลยเลือกทำงานแปลก่อน เพราะเป็นทางลัดในการนำความรู้ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพจากโลกมาสู่สังคมไทย ถ้าเราจะผลิตหนังสือวิชาการดีๆ ในระดับเดียวกับต่างประเทศต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาล หนังสือแปลช่วยร่นระยะทางตรงนั้น และอุดช่องว่างทางความรู้ในสังคมไทยได้
ผมอยากเห็นหนังสือความรู้พื้นฐานเล่มคลาสสิกของแต่ละสาขาวิชาถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ว่าถ้าเป็นนักสังคมวิทยาคุณต้องอ่านเล่มนั้นเล่มนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต้องอ่านเล่มไหนบ้าง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็จะมีคุณภาพขึ้น นักวิจัยก็จะทำงานได้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย แต่งานแบบนี้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยแรงสนับสนุนด้านทรัพยากรจากรัฐ เราเคยเอาไอเดียไปขายหน่วยงานให้ทุนวิจัยของรัฐ แต่เขาก็ไม่เห็นคุณค่า ส่วนมหาวิทยาลัยก็ทำหนังสือไม่เป็น หรือกระทั่งไม่คิดจะทำ
มีขั้นตอนในการคิดก่อนเผยแพร่ไหม เช่น คิดว่าจะทำยังไงให้คนอ่านมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง?
วรพจน์ : หน้าที่พื้นฐานของเราคือทำหนังสือให้ดีที่สุด หนังสือที่เราทำต้องมีความถูกต้องทางวิชาการและการใช้ภาษาที่ถูกหลัก อ่านรู้เรื่อง สื่อสารกับสังคมได้ นอกจากเนื้อหาที่เชื่อถืออ้างอิงได้แล้วเราต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบหนังสือด้วย ต้องมีคุณภาพทั้งเนื้อในและหีบห่อ เราคิดเรื่องปกกันเยอะมาก ทั้งสไตล์และความหมาย แต่งตัวให้สวยสร้างความประทับใจแรกให้ผู้อ่าน ทั้งเรายังให้ความสำคัญกับการเฟรมหนังสือแต่ละเล่มและการเขียนโปรยปกเพื่อให้สะท้อนแก่นของหนังสือ ดึงส่วนที่น่าสนใจมาจูงใจให้คนอยากอ่าน
ปกป้อง : เมื่อหนังสือออกมาเป็นเล่ม เราสื่อสารผ่านเว็บไซต์ (www.bookscape.co) และโซเชียลมีเดียของสำนักพิมพ์ ข้อมูลรายละเอียดหนังสือต้องอยู่ในเว็บไซต์ให้สืบค้นได้ง่ายและเป็นระบบ เราใช้หนังสือเป็นฐานในการให้ความรู้กับสังคม หนังสือแต่ละเล่มที่วางขาย เราจะผลิตงานสื่อสารความรู้รอบๆ หนังสือเล่มนั้น ในรูปแบบบทความ บทสัมภาษณ์ รวมถึงการจัดกิจกรรม book talk หรือ workshop ต่างๆ
เราจัด book talk ให้หนังสือแทบทุกเล่มที่ออกมาร่วมกับเครือข่ายที่เหมาะสม ไม่ได้คุยแค่ขายหนังสือเล่มนั้น แต่ชวนคุยชวนคิดต่อยอดไปจากหนังสือ หรือเติมบริบทปัญหาหรือประสบการณ์ของประเทศไทยเพิ่มเติมจากเนื้อหา กิจกรรมความรู้ทั้งหมดก็รวบรวมไว้ในเว็บไซต์ให้เรียนรู้ย้อนหลังกันได้
พวกเราไม่คิดว่าทำหนังสือดีแล้วจบ มีความสุขกันเองในทีมพอ เราทำหนังสือดีแล้วก็อยากให้คนอ่านกันมากๆ ให้คุ้มความเหนื่อย คุ้มกับทรัพยากรที่ลงไปด้วย งานของเราจึงไม่ใช่แค่ทำหนังสือเล่มหนึ่งแล้วจบไป แต่ต้องสื่อสารให้คนสนใจ พยายามผลักหนังสือออกไปหาผู้อ่านให้กว้างขวางที่สุด และใช้หนังสือเป็นฐานในการต่อยอดและสร้างสรรค์ความรู้ต่อไปข้างหน้า
หนังสือบางเล่มอาจทำงานได้เร็ว สำเร็จทันที แต่บางเล่มทำงานได้ช้าเพราะมาก่อนกาล ก่อนที่สังคมจะสนใจหรือถกเถียงเรื่องนั้น แต่เราเชื่อในการทำงานระยะยาว ตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่เราเชื่อต่อไป ทำหนังสือดีมีคุณค่าออกมา ต้องสร้างมันก่อน ทำออกมาให้เป็นเล่ม แล้วเมื่อถึงเวลาหนังสือก็จะทำงานด้วยตัวมันเอง
วรพจน์ : เราทำหนังสือความรู้ จึงคาดหวังว่าหนังสือของเรามีอายุยืนยาว แต่ละปีจะมีนักศึกษาใหม่ๆ มาซื้อหาหนังสือความรู้พื้นฐานเหล่านี้ แต่สำหรับร้านหนังสือ หนังสือบางเล่มอาจจะอยู่บนชั้นได้ไม่นาน พอขายไม่ดี ร้านก็อยากจะเอาออกจากชั้น เราก็ต้องคุยกับสายส่งและร้านหนังสือว่า หนังสือของเราขายได้ระยะยาว เพราะเป็นหนังสือความรู้ที่มีลักษณะเหนือกาลเวลาระดับหนึ่ง ไม่ใช่หนังสือเฉพาะกิจ ฉะนั้น อย่าตัดสินที่ยอดขายทันที ให้มองยาวๆ ถ้าร้านจัดเป็นธีมหรือวางเป็นชุดจะขายได้เรื่อยๆ
เหมือนอย่างชั้นวางเฉพาะหนังสือ openworlds/bookscape ในร้านเชนสโตร์ต่างๆ?
วรพจน์ : เราเคยคุยกับร้านหนังสือเชนสโตร์อย่าง B2S ตั้งแต่สมัย openworlds จนเขาลองจัดเป็นหมวดพิเศษ (wisdom) และวางในพื้นที่เด่น สุดท้ายก็พบว่ายอดขายขึ้นเป็นเท่าตัว หนังสือเก่าที่ยอดเคยนิ่งไปแล้วก็กลับมาขายได้อีกครั้ง หรือทุกเปิดเทอมยอดขายหนังสือของสำนักพิมพ์เราจะขึ้นเสมอ แสดงว่าหนังสือที่เราทำถูกนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน
ร้านหนังสือในต่างประเทศจะมีลักษณะการจัดวางที่หาหนังสือหมวดต่างๆ ได้ง่าย ส่วนด้านหน้าจะจัดหนังสือเป็นธีม เช่น หนังสือน่าอ่านช่วงเลือกตั้ง หนังสือต้องห้าม หนังสือที่อ่านสนุกกว่าดูเป็นหนัง หนังสือที่พนักงานร้านชวนอ่าน นั่นคือหน้าที่ของร้านหนังสือในการสื่อสารกับคนอ่าน
จากที่เราทดลองดู ถ้ามีชั้นวางให้หนังสือของเราจะไปได้ และตัวเลขก็บอกว่ามันมีโอกาสในการเติบโต
ปกป้อง : เราเชื่อมาโดยตลอดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่กระหายความรู้ คนไทยมีคำถามที่อยากรู้เรื่องไทยและเรื่องโลกเต็มไปหมด ในโลกที่ยังเต็มไปด้วยคำถามใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์ความรู้หลายเรื่องก็หาคำตอบจากมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน หรือคอลัมน์นักวิชาการ ในไทยไม่ได้ bookscape เลยอยากเชื่อมต่อความรู้โลกเข้ากับความรู้ไทย โดยนำเสนอคำถามและคำตอบใหม่ๆ ที่หลากหลายและแหลมคมจากหนังสือดังระดับโลก ผ่านงานแปลที่มีคุณภาพและรูปเล่มที่สวยงาม ชวนผู้อ่านให้เก็บขึ้นชั้นเป็นหนังสือดีที่ต้องมีไว้ประจำบ้าน
ความสำเร็จของ openworlds ในอดีต และทิศทางที่ดีของ bookscape ในปีแรกบอกเราแบบนั้น
จากที่ทำมาตลอด เห็นทิศทางคนอ่านเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน?
ปกป้อง : ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่เสียเปล่า มองเห็นกลุ่มคนอ่าน มองเห็นคนทำหนังสือความรู้หน้าใหม่เข้ามาช่วยกันทำงาน คนที่ทำอยู่เดิมก็ยังทำงานของตัวเองอย่างหนักแน่นเข้มแข็ง โดยรวมแล้วไม่คิดว่าถอยหลัง ผมเชื่อเสมอว่าสังคมเติบโตไปข้างหน้า เดินหน้าตลอดเวลา บางช่วงอาจเห็นพลังการเปลี่ยนแปลงชัด บางช่วงถูกกดทับไว้ แต่ถ้าคนพร้อมเมื่อไหร่ เราก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
แม้โลกของสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ มีแนวโน้มจะถอยหลังลง แต่ในโลกของหนังสือ เรากลับเห็นทางที่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตลอด เพียงแต่งานทำหนังสือเป็นงานระยะยาว กว่าที่เนื้อหาความรู้จากหนังสือของเราจะเดินทางไปจนขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์คงต้องใช้เวลา ต้องให้เวลากับสังคม
ถ้าสังคมเชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพและหลักประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่เราทำอยู่ก็จะยิ่งมีความหมายต่อการสร้างสังคมเศรษฐกิจไทยและสังคมการเมืองไทยที่มีคุณภาพในอนาคต
โดยธรรมชาติ สังคมต้องเปลี่ยนแปลง เพราะเราอยู่กันแบบเดิมไปตลอดไม่ได้ และเมื่อโลกเปลี่ยน คนก็จะยิ่งใฝ่หาหนังสือความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าคนรุ่นผม ในยุคนี้ไม่สามารถจำกัดศักยภาพของคนที่อยากเรียนรู้จริงๆ ได้อีกต่อไป หรือถ้าจะมี ก็อาจเป็นระบบแบบเดิมๆ ที่ฉุดรั้งไว้
งานของคนทำหนังสือเป็นงานที่เชื่อว่าคนและสังคมเปลี่ยนได้ ไม่ได้ถูกกำหนดมาแล้วให้ย่ำอยู่กับที่ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเกิดจากความรู้ จากการถกเถียงด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยอำนาจ ไม่ใช่การเปลี่ยนจากข้างบน เราเห็นกันอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนขยับไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจไม่เคยมีใครอยากเปลี่ยนขยับจากสถานะดั้งเดิมของตนหรอก คนที่อยากเปลี่ยนคือคนฐานราก คือประชาชนอย่างเราๆ ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงระยะยาว
การพูดคุยว่า ‘หนังสือกำลังจะตาย’ ก็อาจคล้ายความกังวลแห่งยุคสมัยที่กลัวปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาแย่งงาน แต่อย่าลืมว่าความรู้และทักษะแห่งโลกอนาคตที่เครื่องจักรสู้เราไม่ได้ก็คือ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดวิพากษ์ การคิดวิเคราะห์ขั้นสูง การจัดการกับสถานการณ์ไม่คาดฝัน การทำงานเป็นทีม ความเข้าใจที่มีต่อกันและกัน หรือการสื่อสารต่อสาธารณะ
นี่คือทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็น ความรู้ใหม่ๆ อยู่ในหนังสือ ทักษะสำคัญในโลกใหม่ก็สั่งสมได้จากการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการคิดวิพากษ์และการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง เราจึงไม่เคยเชื่อว่าหนังสือกำลังจะตาย ยิ่งโลกเปลี่ยน หนังสือจะยิ่งมีความสำคัญ เพราะคำตอบมันอยู่ในนั้น
วรพจน์ : เราไม่เคยมีตัวชี้วัดหรือทำแบบสำรวจอย่างจริงจังว่าหนังสือของเรามีอิมแพ็กต่อคนอ่านมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะให้วัดจากสองสิ่งที่เราเห็น อย่างแรกคือยอดขาย ซึ่งเราอยู่ได้ บางทีสังคมอาจดูถูกคนอ่านมากไป คิดว่าคนอ่านไม่อยากอ่านแนวซีเรียส แต่ไม่ใช่ มันทำให้เห็นว่าหนังสือแนวนี้ใช่จะไม่มีคนอ่าน อีกส่วนคือการพูดคุยกับผู้อ่านเวลาเราไปออกบูธตามงานหนังสือ บางคนเล่าว่าหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตเขา หรือเราเห็นเด็กมัธยมที่จูงคุณแม่มาซื้อหนังสือของเรา เด็กบางคนมายืนเลือกแล้วเลือกอีกเพราะเลือกไม่ถูกว่าภายใต้งบจำกัดจะซื้อเล่มไหนดี
ข้อสังเกตของผมคือ ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากอ่านหนังสือความรู้ เพียงแต่หนังสือของเราไม่ได้อยู่ในที่ที่เขาหาเจอ ทั้งที่ตัวเขาอาจจะเป็นผู้อ่านที่มีศักยภาพ หรือเป็นผู้อ่านที่สังคมไม่ได้มองว่าเขาจะอ่านหนังสือ เรื่องนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองเพื่อหาทางสื่อสารกับคนอ่านในลักษณะนี้ให้มากขึ้น
หนังสือเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าเล็กทำได้ไม่แพ้หรือดีกว่าเจ้าใหญ่ และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้แข่งกันแบบแย่งเค้กกันกิน ไม่ใช่คนหนึ่งได้กินมาก คนอื่นจะได้กินน้อยลง ยิ่งมีคนทำมากยิ่งดี ผมไม่คิดว่าเขาจะมาแข่งกับเรา ถ้ามีคนอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์อื่น แล้วชอบ หรือเติบโตทางความคิด ก็อาจจะอยากอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆ หรือของเราตามมาด้วย วงการหนังสือก็เติบโตขึ้น เราก็ได้ประโยชน์ ขายได้มากขึ้นด้วย นี่เป็นระบบนิเวศที่ดี ไม่ต้องแย่งกับใคร ถ้าโตก็โตด้วยกันหมด
ปกป้อง : ใช่ ยิ่งมีคนลงสนามมาทำหนังสือกันมากๆ ยิ่งดี ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างนิสัยรักการอ่าน สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ คนอ่านก็ได้ประโยชน์ สายส่งและร้านหนังสือก็ได้ประโยชน์ สังคมก็ได้ประโยชน์ ผมไม่เคยมองว่าวงการหนังสือมาถึงทางตัน
มันอาจเป็นจุดจบสำหรับคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มองหนังสือแบบเดิม คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ขายแบบเดิม แต่สำหรับคนที่เปลี่ยนแปลง ปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราก็เห็นอยู่ว่ายังไปได้ เพียงแต่ต้องหนักแน่นในสิ่งที่ทำ และไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือก็ต้องเป็น ‘ร้านหนังสือ’ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแค่ ‘ร้านขายหนังสือ’ ถ้าร้านหนังสือไม่แน่วแน่ ยังขายหนังสือแบบเดิม คิดแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงการจัดวางหนังสือ ทั้งที่วงการหนังสือและความคิดของคนอ่านคนทำเปลี่ยนไปหมดแล้ว หรือหันไปขายสินค้าอื่นหรือขนมเพื่อหวังจะช่วยให้อยู่รอด ร้านหนังสือก็จะยิ่งไม่เป็นร้านหนังสือ คนก็ยิ่งไม่เข้า แบบนี้คือผิดทาง
แล้วความยากในการทำสำนักพิมพ์แนวความรู้ล่ะ?
ปกป้อง : เราอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก เลือกหนังสือที่น่าสนใจ มีเสน่ห์ ร่วมสมัย และหลากหลายขึ้น มีส่วนร่วมสร้างความรู้และดีเบตใหม่ๆ ในสังคม และอยากพาหนังสือความรู้ไปสู่กลุ่มคนอ่านที่กว้างกว่านี้ แมสกว่านี้ เราเชื่อว่าหนังสือกลุ่มนี้ยังไปได้ไกลกว่านี้อีก โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความรู้ใหม่และความสงสัยใคร่รู้ของผู้คน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ The Paperless วันที่ 20 มีนาคม 2562