จากพิธีกรรายการทีวี ‘จิ๋วแจ๋วเจาะโลก’ ผู้โด่งดังตั้งแต่วัยเยาว์ อะไรทำให้เด็กชายคนหนึ่งซึ่งใฝ่ฝันจะเป็นนักการเมืองหันเหชีวิตตัวเองสู่การเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เต็มตัว
และไม่ใช่แต่เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกซึ่งครอบงำความคิดคนส่วนใหญ่อยู่เท่านั้น
แต่ ปกป้อง จันวิทย์ เลือกที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลัก ด้วยเชื่อว่ามันคือเศรษฐศาสตร์ที่แท้ ซึ่งอธิบายความเป็นไปของสังคมได้ดีกว่าเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก อันติดอยู่กับกรอบคิดว่าคนเป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้น
……………………
คุณอยากเป็นอาจารย์เพราะอะไร
จริง ๆ แล้ว ตอนเรียนมัธยมต้น ผมอยากเป็นนักการเมือง ผมสนใจการเมืองมากกว่าเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เลย ผมชอบติดตามข่าวการเมือง อ่านหนังสือที่นักวิชาการรัฐศาสตร์เขียน โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในฐานะคนชอบการเมือง และเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ 14 ตุลา และ 6 ตุลามา ผมเลยรู้สึกเสียใจมากที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้น ทำให้ผมตั้งปณิธานในใจว่า อยากเล่นการเมืองเพื่อมีส่วนร่วมในการขจัดเงื่อนไขไม่ให้เหตุการณ์ไทยฆ่าไทยแบบนี้เกิดขึ้นอีก
ในช่วงที่ผมขยันอ่านหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมได้ไปอ่านหนังสือ “อนิจลักษณะของการเมืองไทย” ของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อ่านแล้วรู้สึกปิ๊ง อาจารย์รังสรรค์นำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์การเมืองอย่างฟังขึ้น ในแง่มุมที่ต่างจากนักรัฐศาสตร์ทั่วไป ผมเลยเริ่มสนใจเศรษฐศาสตร์ และมองว่ามันเป็นเครื่องมือในการเข้าใจโลกที่น่าสนใจ
อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผมอยากอ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเข้าใจ และคิดว่านักการเมืองในอนาคตต้องมีความรู้เศรษฐศาสตร์ เลยตั้งใจว่าอยากสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
เศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการอธิบายสังคมหลายด้าน ไม่ใช่แต่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เป็นวิชาที่พยายามเข้าใจและอธิบายโลกแบบที่เป็นอยู่ด้วยแว่นตาแบบหนึ่ง ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ เช่น พยายามอธิบายว่าทำไมนักการเมืองถึงโกง แม้เราจะไม่อยากให้นักการเมืองโกง จะแก้ปัญหาหรือทำโลกให้ดีขึ้นได้ จะทำให้นักการเมืองไม่โกงได้ ก็ต้องเข้าใจกลไกการทำงานของตลาดการเมืองหรือของโลกเสียก่อน จะได้รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่ตรงไหน จะปรับโครงสร้างสิ่งจูงใจตรงไหน การพยายามเข้าใจโลกหรือสังคมแบบที่มันเป็นอยู่ ท้ายที่สุด ก็เพื่อแก้ไขมันให้ดีขึ้น
ตอนนั้น นอกจากอยากเป็นนักการเมือง ผมยังชอบสอนหนังสือ ผมเอาน้องมาสอนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบเล่า ชอบเถียง ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบคิด ยิ่งเมื่อมาเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้อยู่ในสังคมวิชาการ เรียนกับอาจารย์ดีๆ ได้เข้าฟังสัมมนาวิชาการ อ่านหนังสือมากขึ้น ผมก็เริ่มหลงใหลอยากเป็นนักวิชาการ
ตอนช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นปีสี่ ผมเคยไปช่วยงานอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองเลขาธิการนายกฯ พอได้ไปสัมผัสการเมืองใกล้ขึ้น ผมยิ่งรู้สึกว่าการเป็นนักการเมืองแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ เพราะปัญหาของประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ใหญ่และซับซ้อนมาก การเป็นนักการเมืองทำประโยชน์ให้ประเทศไม่ได้มากเท่านักวิชาการหรอก
นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณไม่อยากเป็นนักการเมืองแล้ว
มันก็ไม่ได้เปลี่ยนทันที พอสนใจบทบาททางวิชาการมากขึ้น ความอยากเป็นนักการเมืองก็ลดลงเรื่อยๆ ยิ่งอ่านหนังสือเยอะขึ้น เรียนรู้การเมืองมากขึ้น ก็รู้ว่าการเข้าไปนั่งในสภา ไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาของประเทศ หรือการมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย
ถึงเป็นนักวิชาการก็เล่นการเมืองได้ แต่ไม่ใช่ในความหมายเข้าไปรับใช้นักการเมืองนะครับ เพราะนักวิชาการมีส่วนสำคัญต่อการเมืองภาคประชาชน ซึ่งสำคัญกว่าการเมืองในสภาเสียอีก คนที่เหมาะจะเป็นนักการเมืองก็ปล่อยให้เขาทำไปดีกว่า ผมไม่ได้มองว่าอาชีพนี้เลวร้ายนะครับ แต่ยิ่งโตขึ้น ผมรู้สึกว่ามันขัดกับนิสัยผม ผมรักอิสระ ชอบพูดตรงไปตรงมา ไม่โกหก บุคลิกแบบนี้ ถ้าเป็นนักการเมืองก็คงไม่รุ่ง สู้เอาความรู้มาสอนหนังสือ สร้างคนรุ่นใหม่ๆ ให้รู้จักคิด น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า
แล้วสังคมไทยมีนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะน้อยเกินไป ทั้งที่สามารถสะท้อนมุมมองแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ไหนโดยตรง ไม่ต้องสังกัดใคร มีอิสระสูง ติดตามพรมแดนความรู้ และให้สติกับสังคมได้
นักการเมืองต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง ต้องเล่นเป็นทีม ต้องมีมารยาทระดับหนึ่ง ต้องเอาใจกลุ่มผลประโยชน์มากมาย ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองคิดได้แย่กว่านักวิชาการ แต่โดยหัวโขนที่สวมก็ต้องเป็นแบบนี้ มีข้อจำกัดทางการเมืองมากมาย จนสุดท้ายไม่รู้ว่าจะได้ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำได้สักแค่ไหน
การเป็นนักการเมืองก็ทำประโยชน์ได้ระดับหนึ่ง มีอำนาจ และได้เอาความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ แต่คนที่มีความรู้ แต่ไม่มีอำนาจอย่างนักวิชาการก็สามารถสะท้อนแง่มุมอื่นที่คนมีอำนาจ หรือคนวงในที่กำหนดนโยบายมองไม่เห็น การอยู่วงนอกมีประโยชน์ แม้จะถูกหาว่า รู้น้อย ไม่รู้จริง แต่ก็สามารถมองเห็นสิ่งที่คนที่อยู่วงในก็ไม่มีทางมองเห็นได้ การขยับตัวเองออกมาจากโลก อาจทำให้เห็นโลกชัดขึ้น สังคมไทยต้องการคนที่เขยิบออกมาข้างนอก มองเข้าไป คอยตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ อย่างนักวิชาการ แม้ผู้มีอำนาจจะไม่ชอบก็ตาม
พอเรียนจบ คุณวางแผนชีวิตอย่างไร เพื่อจะไปถึงจุดหมายที่วางไว้
จบปริญญาตรีมา ผมก็อยากสอนหนังสือสักปี สองปี แล้วค่อยไปเรียนต่อ ก็เดินเข้าไปสมัครที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เกรดปริญญาตรีของผมดี ได้เหรียญทอง เขาก็รับเป็นอาจารย์ สอนได้เทอมหนึ่ง ผมก็ย้ายมาที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เข้าทำงานเดือนพฤศจิกายน 2542 ผมเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ 2 ปี ผมก็ได้ทุนฟุลไบรท์ไปเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ University of Massachusetts (Umass) แห่ง Amherst ซึ่งเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งของอเมริกา
ทำไมเลือกเรียนที่นี่
ผมอยากเรียนเศรษฐศาสตร์อีกแบบ เพราะที่ธรรมศาสตร์ก็สอนเน้นเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นที่พูดกันว่าสำนักท่าพระจันทร์เป็นป้อมปราการของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก
เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกคืออะไร
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มีข้อสมมติเบื้องต้นว่าคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ในความหมายที่แต่ละคนพยายามตัดสินใจให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง คนตัดสินใจแบบมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ เราได้ยินนักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ทรัพยากรทุกอย่างในโลกมีจำกัด ฉะนั้น เราจะเลือกใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บริษัทก็พยายามทำกำไรสูงสุดภายใต้เงินทุนที่จำกัด ผู้บริโภคก็เลือกบริโภคให้ตัวเองได้ความพอใจมากที่สุดภายใต้เงินที่มีจำกัด ทฤษฎีนี้มีรากฐานที่การพยายามเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละคน โดยเชื่อว่าหากเข้าใจคนก็ย่อมเข้าใจสังคมที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคลรวมๆ กันได้ เมื่อต่างคนต่างทำดีที่สุดเพื่อตัวเอง พอรวมกันเป็นสังคม สังคมก็ย่อมได้ประโยชน์สูงสุดด้วย
กรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐานจะอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ว่า ตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน ทำสัญญากันแล้วไม่มีใครโกง ไม่สนใจมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ข้อสรุปเบื้องต้นของสำนักนีโอคลาสสิกคือ ตลาดหรือกลไกราคาเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุด รัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด และมีบทบาทที่จำกัด เข้าไปช่วยแก้ปัญหาบางอย่างที่ทำให้ตลาดล้มเหลว เช่น ผลิตสินค้าสาธารณะ แก้ผลปัญหาผลกระทบภายนอก ทั้งด้านดีและไม่ดี
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง ใช้เทคนิคคณิตศาสตร์ ซึ่งพอเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ต้องตัดอะไรออกมากมาย เพื่อให้ได้คำตอบที่ตายตัวชัดเจน จาก A ไป B ไป C ส่วนมิติทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และสถาบัน กลับถูกละเลย ดังนั้น วิวัฒนาการของวิชาเศรษฐศาสตร์ในช่วงหลัง จึงเป็นศาสตร์ที่เน้นมิติทางเศรษฐกิจ สนใจวิเคราะห์โดยดูตัวแปรทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยสมมติว่าปัจจัยการเมือง สังคม สถาบัน ค่านิยม และวัฒนธรรม อยู่คงที่ ถูกกำหนดมาแล้วโดยไม่รู้ที่มา ทั้งที่ในความเป็นจริง สถาบันเปลี่ยนแปลงตลอด และมีที่มาที่ไป มีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการของมัน
ถ้าถามต่อว่า ข้อสมมติที่เป็นจุดตั้งต้นของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักบางข้อมีความสมจริงไหม ง่ายเกินไปหรือเปล่า ในโลกความจริง คนเป็นสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้นหรือ แล้วเราจะอธิบายพฤติกรรมของคนที่มีสำนึกเพื่อสังคม ยอมจ่ายต้นทุนส่วนตัวเพื่อรักษาค่านิยมของชุมชนอย่างไร
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีปัญหาอะไรอีก
ผมคิดว่า โลกแห่งความจริงซับซ้อนกว่าโลกแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาก ในโลกแห่งความจริง ตลาดไม่สมบูรณ์ สัญญาไม่สมบูรณ์ ข้อมูลข่าวสารไม่สมบูรณ์ อำนาจต่อรองของหน่วยเศรษฐกิจไม่เท่ากัน เราจะเข้าใจปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงมิติทางการเมือง สังคม และสถาบันได้ไหม ผมคิดว่าได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นระดับที่ยังไม่น่าพอใจ ภาพที่ได้จะเบลอ ถ้าอยากมองภาพชัด จะตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไม่ได้ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีความสามารถในการอธิบายโลกได้จำกัด อธิบายได้ภายใต้สถาบันบางแบบ และคนบางลักษณะเท่านั้น
จริงๆแล้ว เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ คำถามใหญ่ที่อยู่ในใจผมตลอดคือนับวันมันจะยิ่งลืมรากเหง้าตัวเองหรือเปล่า เดิมเศรษฐศาสตร์ไม่มีหรอก องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจอยู่ในวิชาปรัชญา เศรษฐกิจ และการเมือง นักปรัชญาเป็นทั้งนักคิด นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ อย่างอดัม สมิธ ก็ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในความหมายที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เมื่อเศรษฐศาสตร์พัฒนาไปเรื่อยๆโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ที่เกิดวิชาการเศรษฐศาสตร์ (Economics) ปรากฏว่านับวันยิ่งกลายเป็นศาสตร์ของนักเทคนิคไปแล้ว พูดกันด้วยภาษาที่คนเดินถนนทั่วไปไม่เข้าใจ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากอาจดีใจที่เศรษฐศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มันก็มีประโยชน์ในตัวของมันมากอยู่ แต่ในทางกลับกัน มันก็มีผลลบ นักเศรษฐศาสตร์ถูกฝึกให้เป็นนักเทคนิคมากขึ้นเรื่อยๆหลายคนเข้าใจ logic แบบเศรษฐศาสตร์ เก่งในการทำแบบฝึกหัดทางปัญญาในกระดาษ เก่งสร้างโมเดล แต่ไม่สามารถเข้าใจโครงสร้างสังคมการเมือง ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่สามารถสังเคราะห์หรือประยุกต์องค์ความรู้ในกระดาษให้สอดคล้องกับโลกความจริง มองไม่เห็นมิติทางสังคมที่กว้างขวาง นักเศรษฐศาสตร์กำลังสนุกกับการคิดเทคนิคใหม่ๆ แต่ละเลยปรัชญาพื้นฐานของมัน ไม่สามารถตั้งคำถามที่น่าสนใจและมีคุณค่าได้
ในฐานะที่เศรษฐศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ที่พยายามอธิบายมิติทางเศรษฐกิจ เราควรคาดหวังกับมันมากกว่านี้ไหม เราควรคาดหวังกับนักเศรษฐศาสตร์มากกว่าการทำตัวเป็นนักพยากรณ์ คอยทำนายว่า ปีนี้จีดีพีโตเท่าไหร่ เงินเฟ้อเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่เคยทำนายถูก เราอยากได้นักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจโครงสร้างและปัญหาของสังคม และมองพ้นไปจากแค่มิติเศรษฐกิจและเรื่องเทคนิคโดดๆ อย่างไทยก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นนักคิดด้วยแค่ไม่กี่คน เช่น อาจารย์รังสรรค์ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ถือว่าน้อยมาก
ทั้งๆที่สมัยปริญญาตรีเรียนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นหลัก อะไรทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามกับมัน
ไม่รู้เหมือนกัน อาจเพราะชอบอ่านหนังสือ ผมไม่ได้อ่านแต่ตำรา และเรียนแค่ในห้อง ผมอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตั้งแต่มัธยมต้น ซึ่งการอ่านงานเหล่านี้ทำให้ได้ฝึกความคิดและตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ในระดับหนึ่ง แล้วผมชอบตั้งคำถามก่อนเชื่อ จะไม่ยอมรับทฤษฎีทันที เช่น พฤติกรรมของคนเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า ตลาดมีความสมบูรณ์จริงไหม ถ้าไม่จริง ทฤษฎีควรเป็นอย่างไร อีกอย่างหนึ่ง ด้วยความเป็นคนชอบการเมือง เลยเห็นว่าการเมืองกับเศรษฐศาสตร์แยกกันไม่ออก เศรษฐศาสตร์ที่ไร้การเมืองมันแห้งแล้งมาก
ถ้าไปเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับสูง มันแทบจะสอนคนให้เป็นนักคณิตศาสตร์ ไม่ได้ฝึกให้เป็นนักคิด เพราะสิ่งที่เรียนหลายสิ่งเป็นแค่แบบฝึกหัดทางสติปัญญาของเหล่านักเทคนิคที่คิดว่าตัวเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีคุณค่าต่อสังคมแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น
แต่สังคมไทยยิ่งมีปัญหาตั้งแต่ระดับที่ตื้นกว่าที่คุยกัน เพราะคนไทยขาดความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ในบ้านเรามีคนอ่านกรุงเทพธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจเข้าใจกี่คน มีคนเข้าใจสิ่งที่แบงก์ชาติแถลงเป็นภาษาคนกี่คน รู้เท่าทันพวกนักเศรษฐศาสตร์ขนาดไหน สิ่งแรกที่ต้องช่วยกันคือทำให้คนมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางเศรษฐศาสตร์เสียก่อน ให้เข้าใจเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเสียก่อนก็ได้ ซึ่งมันก็มีประโยชน์ในตัวของมัน แล้วในระดับต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามต่อตัววิชาเศรษฐศาสตร์ให้หนักและลึก ในระดับปรัชญาและระเบียบวิธีศึกษา
แล้วที่ Amherst เริ่มต้นสอนเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายได้อย่างไร
จริงๆ เมื่อก่อน ที่นี่ก็เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์เหมือนที่เป็นอยู่ทั่วไป แต่ในยุคทศวรรษ 1970 ช่วงสงครามเวียดนาม สังคมเอียงไปทางซ้าย เป็นยุคที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูง อุดมการณ์สังคมนิยมแพร่กระจายกว้างขวาง Umass มีความคิดที่จะปฏิรูปคณะเศรษฐศาสตร์ โดยมุ่งหวังให้เป็น Berkeley แห่งภาคตะวันออก เพราะตอนนั้น UC-Berkeley มีคณะเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่มีชื่อ
ช่วงปฏิรูป เป็นจังหวะที่ Harvard ไม่ต่อสัญญา Samuel Bowles ซึ่งเป็นพวกฝ่ายซ้าย อาจารย์ฝ่ายซ้ายคนอื่นในคณะ ซึ่งมีประมาณ 4-5 คน ก็ลาออกประท้วง Umass เลยชวน Bowles ให้มาอยู่ที่นี่ Bowles ก็คิดอะไรสนุกๆ ว่า ถ้าอย่างนั้น เราก็มาทำคณะนี้ให้เป็นคณะเศรษฐศาสตร์แบบที่ควรจะเป็นดีกว่า เขาเลยตั้งทีมดึงเพื่อนสนิทอีกคนชื่อ Herbert Gintis ซึ่งลาออกมาจาก Harvard แล้วไปชวนคู่หูมาร์กซิสต์จากเยลมาอีกสองคน และฝ่ายซ้ายอีกคนหนึ่ง Bowles ยื่นข้อเสนอกับมหาวิทยาลัยว่าถ้าจะรับเขา ก็ต้องรับพร้อมกันทั้ง 5 คน แล้วพวกเขาจะสร้างคณะให้เป็นแบบนี้ สุดท้ายมหาวิทยาลัยก็รับข้อเสนอ นี่คือจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็มีพวกนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายหลายสำนักย้ายเข้ามาอยู่รวมกัน ทั้งพวกมาร์กซิสต์ พวกโพสต์เคนเซียน กลุ่มเศรษฐศาสตร์พัฒนา เป็นต้น
ที่นี่สอนอะไรบ้าง ที่แตกต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ผมก็ต้องเรียนทั้งนีโอคลาสสิก และวิชาอื่นๆ ที่สอนกันทั่วไป แต่ที่พิเศษคือ เราต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายสำนัก เรียนองค์ความรู้ที่ไม่ใช่กระแสหลักอย่างเข้มข้นด้วย โดยศึกษาตั้งแต่ระดับระเบียบวิธีคิดของมัน พยายามทำความเข้าใจเพื่อวิพากษ์และสังเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ
ที่นี่สอนด้วยการชำแหละให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักหรือแต่ละทฤษฎีไม่มีถูกผิด แต่มีความหลากหลาย ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวิธีและข้อสมมติที่ต่างกัน ไม่มีเกณฑ์สากลที่วัดว่าทฤษฎีไหนเหนือกว่ากัน หรืออันไหนดีที่สุด ฉะนั้นอย่าคิดว่าข้าแน่ อย่าคิดว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายได้ทุกอย่าง อย่าคิดว่าเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายอธิบายได้ทุกอย่าง ไม่ใช่ มันอธิบายคนละอย่าง เพราะแต่ละทฤษฎีมีจุดตั้งต้นไม่เหมือนกัน จึงสร้างบริบทแวดล้อมตัวมันเองต่างกัน อย่างทฤษฎีมาร์กซ์มีชนชั้นเป็นจุดตั้งต้น แล้วก็สร้างเรื่องเล่าหรือคำอธิบายโลกโดยมีชนชั้นเป็นแก่นกลาง
ในคณะผมจะเต็มไปด้วยฝ่ายซ้าย ทั้งอาจารย์และนักศึกษา เท่าที่สัมผัสมา ผมว่าพวกที่มีจิตวิญญาณฝ่ายซ้ายน่ารักดี ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง มีจิตใจสาธารณะสูง เรียกร้องความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคม มีระดับความเชื่อมั่นในอุดมคติสูง เราได้ยินทั่วไปในโลกทุกวันนี้ว่าทุนนิยมคือระบบเดียวที่เราต้องอยู่กับมันแบบไม่มีทางเลือก แต่อาจารย์และเพื่อนๆ ผมหลายคนยังเชื่ออย่างจริงจังจริงใจว่า ทุนนิยมอยู่ได้อีกไม่นานหรอก สังคมนิยมที่แท้จริงยังเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือเปล่า แต่มันให้อีกมุมมองที่พบเจอในบ้านเราลำบาก ที่ Amherst จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนุกและรื่นรมย์มาก เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และการถกเถียงทางปัญญา
ผมอาจไม่รู้เทคนิคเท่านักเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมหาวิทยาลัยกระแสหลักทั่วไป พูดเหมือนคนแบงก์ชาติพูดไม่ได้ แต่ Amherst ฝึกให้เป็นนักคิด รู้จักตั้งคำถาม วิพากษ์ และสนใจสังคม ไม่ให้มองเศรษฐศาสตร์แคบๆ หากต้องสนใจสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจด้วย มีสำนักให้เลือกเรียนหลากหลาย สอนสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม เพื่อให้เห็นโลกกว้างขึ้น
พัฒนาการของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือยิ่งเรียนยิ่งแคบ ยิ่งเต็มไปด้วยเทคนิค นี่ยิ่งน่ากลัว เพราะมันกันคนในสังคมออกไป สามัญชนเข้าถึงไม่ได้ นับวันมันยิ่งเป็นศาสตร์ที่มีคนหยิบมือเดียวคุยกันรู้เรื่อง แล้วบอกว่า สังคมอย่ายุ่ง เพราะคุณไม่รู้เรื่อง ปล่อยผม ผมรู้ ผมทำเอง แนวคิดนี้อันตราย เราก็เห็นว่าการไว้ใจนักเทคนิคส่งผลอย่างไร วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ว่าหากเราไว้ใจนักเทคนิคโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ ผลเสียที่ตกกับสังคมในบั้นปลายมีความรุนแรงขนาดไหน ตอนนั้นอย่าว่าแต่สังคมจะตรวจสอบนักเศรษฐศาสตร์เลย นักเศรษฐศาสตร์สำนักท่าพระจันทร์ก็ยากจะตรวจสอบนักเศรษฐศาสตร์วังบางขุนพรหม สังคมต้องมีภูมิคุ้มกันทางปัญญาและสามารถรู้เท่าทันและตรวจสอบนักเทคนิคได้ระดับหนึ่ง
มันอันตรายทั้งนั้น ถ้าเราไว้ใจคนที่คิดว่าเขารู้มากกว่าคนอื่นแล้วละเลยในการตรวจสอบและวิพากษ์ จะรู้มากกว่าคนอื่นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือพวกที่คิดไปเองว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่นๆ แต่จริงๆตัวเองไม่รู้หรือรู้แบบผิดๆ แต่ไม่สำเหนียก กลับเต็มไปด้วยอวิชชา พยายามผูกขาดความจริง
ยิ่งถ้าพวกนี้มีอำนาจ ยิ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งน่ากลัวไปใหญ่ (หัวเราะ)
ตีพิมพ์: นิตยสาร open ฉบับที่ 40 เดือนมีนาคม 2547