สัมภาษณ์โดย อธึกกิต แสวงสุข
ความหลากหลาย
“โอบามาเป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์มาก มีตัวตนที่สะท้อนความเป็นอเมริกัน คือเป็นเบ้าหลอมของความหลากหลาย พ่อเป็นชาวเคนยามาจากแอฟริกา แต่งงานกับแม่ซึ่งเป็นคนขาวจากแคนซัส และย้ายไปตั้งรกรากที่ฮาวาย พ่อแยกทางกับแม่ไปเรียนต่อฮาร์วาร์ดตั้งแต่เขายังเด็ก แม่แต่งงานใหม่กับชาวอินโดนีเซีย และพาโอบามาย้ายไปอยู่อินโดนีเซียประมาณ 4-5 ปี จนอายุ 10 ขวบ ย้ายกลับมาอยู่กับตายายที่เป็นคนผิวขาวที่ฮาวาย เรียนจบ ไปต่อปริญญาตรีที่แคลิฟอร์เนีย ย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นิวยอร์ก จบมหาวิทยาลัยทำงานในสถาบันวิจัยสาธารณะและงานพัฒนาชุมชนที่นิวยอร์ก ก่อนจะย้ายไปทำงานด้านพัฒนาชุมชนที่ชิคาโก จากชิคาโกไปเรียนต่อนิติศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด และก็กลับมาทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชน นักกฎหมายต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยชิคาโก จนตอนหลังเข้าสู่วงการการเมือง”
“จะเห็นว่าโอบามาเป็นคนที่มีความหลากหลายอยู่ในตัวเองสูง ด้วยการที่เขาต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ ชีวิตของเขาจึงเป็นชีวิตของการปรับตัว การประนีประนอมไปพร้อมกับการรักษาตัวตน การสร้างความยอมรับ ในหมู่ผู้คนต่างสีผิวต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม โอบามาอยู่กับความหลากหลายมาตลอด อเมริกายุคใหม่เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย การหลอมรวมระหว่างคนต่างสีผิว ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม โอบามาก็เป็นภาพสะท้อนตรงนั้น ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา เขาเลยเป็นคนที่เชื่อมั่นในความหลากหลายโดยธรรมชาติ และเชื่อมั่นในผู้คน เขาถูกฝึกฝนให้ต้องรู้จักปรับตัว เรียนรู้ที่จะประนีประนอม ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเป็นนักการเมืองด้วย นั่นคือ ความสามารถในการคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ ท่ามกลางความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย”
“โอบามาเป็นคนที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพราะชีวิตของเขาก็ไม่ง่าย ไม่ได้โตมาในครอบครัวร่ำรวย อยู่ในครอบครัวคนทำงาน เป็นคนธรรมดาสามัญ เราคงเคยได้ยินคำว่า “ความฝันแบบอเมริกัน” หรือ American’s Dream ความสามารถที่แต่ละคนจะยกระดับตัวเองขึ้นมาทั้งทางฐานะและสถานะทางสังคม โอบามาเป็นตัวอย่างของความฝันแบบอเมริกันขั้นสูงกว่าที่เคยเห็นมา เราเคยเห็นคนจนไต่เต้าเป็นคนรวย แต่คราวนี้เราได้เห็นคนผิวดำที่เป็นชนกลุ่มน้อย เป็นประธานาธิบดีในรัฐคนผิวขาวที่อดีตเคยกดขี่ข่มเหงทำร้ายคนผิวดำ แม้เลิกทาสไปแล้วเป็นร้อยปี แม้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขให้มีสิทธิทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังถูกกีดกัน ไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับคนผิวขาว ต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ คนผิวดำเพิ่งมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอย่างสมบูรณ์ในปี 1965 นี่เอง ฉะนั้น ความสำเร็จของโอบามาเป็นภาพสะท้อนการเติบโตและพัฒนาการของสังคมการเมืองอเมริกัน ผ่านตัวของเขา”
“โอบามาก็มีโชคอยู่ด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลบุชและพรรครีพับลิกันสร้างปัญหาไว้มากมาย ทั้งปัญหาอิรัก ซึ่งขณะนี้คนไม่ยอมรับ ในช่วงแรก คนอาจจะเชียร์ แต่ตอนหลังเห็นความล้มเหลว ทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และเห็นแล้วว่าข้ออ้างในการทำสงครามเป็นข้ออ้างลวงโลก เช่น บอกว่ามีอาวุธทำลายล้างรุนแรงในอิรัก ซึ่งที่จริงแล้วไม่มี ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าเมื่อสิ้นรัฐบาลคลินตัน เศรษฐกิจถือว่าดี มีงบประมาณเกินดุล แต่ตอนนี้งบประมาณขาดดุลมหาศาล หนี้มาก เศรษฐกิจตกต่ำ มีวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน บุชเป็นประธานาธิบดีที่ได้คะแนนนิยมทางการเมืองต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา แค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องพูดถึงรองประธานาธิบดีเชนีย์ที่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้คนเบื่อหน่าย เพราะ 8 ปีภายใต้รัฐบาลบุชไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น และทำให้คนทั้งโลกวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ ว่าไม่ให้เกียรติโลก มีนโยบายทางการทูตที่แข็งกร้าว อยากเป็นผู้นำโลก พยายามส่งออกประชาธิปไตยและค่านิยมแบบนีโอคอนเซอร์เวทีฟไปในหลายประเทศ โดยรวมแล้ว คนก็หมดความหวัง อยากจะหาตัวเลือกใหม่”
“โอบามาก้าวขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่กำลังหมดหวัง สังคมที่แตกแยกอย่างรุนแรง สังคมการเมืองอเมริกันในสมัยบุชเป็นสังคมที่แตกแยก ในการเลือกตั้งมีการแบ่งขั้วแยกข้างชัดเจนระหว่างมลรัฐสีแดงกับมลรัฐสีน้ำเงิน สีแดงหมายถึงมลรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน สีน้ำเงินคือมลรัฐที่สนับสนุนเดโมแครต ค่อนข้างแข็งขืนและก็ตายตัวแบบนั้น การเมืองแบ่งแยก ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคการเมืองสูง ความเกลียดชังในสังคมสูง คนเกลียดบุชก็เกลียดมาก คนสนับสนุนบุชก็เกลียดฝั่งตรงข้ามมาก ตัวนโยบายหรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของบุชหรือของรีพับลิกันในการหาเสียงก็พยายามแยกเขาแยกเรา คุณจะอยู่กับเราหรือคุณจะเป็นศัตรูกับเรา มันมีความพยายามผูกขาดความดีความงามความจริงไว้กับตัวเองสูง”
“นอกจากนั้น คนยังไม่ค่อยมีความหวัง หันไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา แล้วโอบามาก็เข้ามาเป็นตัวเลือก ชูธงการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเก่าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาใหม่ได้ ข้างหลังการเปลี่ยนแปลงคือความหวัง คนต้องเชื่อร่วมกันก่อนว่าสังคมการเมืองอเมริกาดีขึ้นได้ และที่ดีขึ้นไม่ใช่หวังพึ่งผู้นำ แต่เป็นการเมืองที่ต้องร่วมสร้างจากคนอเมริกันเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงจากฐานล่าง เวลาหาเสียงเขาจะบอกตลอดว่านี่ไม่ใช่การเลือกตั้งของเขา ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรให้เขาชนะแล้วจบ ประเด็นอยู่ที่พวกคุณอยากเปลี่ยนประเทศนี้หรือเปล่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนเขาจะเป็นตัวกลางในการเปลี่ยน เขาจะไม่เป็นคนเปลี่ยนประเทศไปตามใจชอบ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องขึ้นกับประชาชนฐานล่าง โอบามามาด้วยความหวัง มาด้วยการเปลี่ยนแปลง”
“โอบามาพยายามทำการเมืองที่ข้ามพ้นการเมืองแบบ 2 พรรค โอบามาแจ้งเกิดในเวทีการเมืองระดับชาติจากการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครตในปี 2004 ที่จอห์น แคร์รี ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเดโมแครตไปแข่งกับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตอนนั้นคนแทบไม่รู้จักโอบามานอกจากคนชิคาโก โอบามากล่าวสุนทรพจน์เรื่องความยิ่งใหญ่ของอเมริกา แต่โอบามานิยามความยิ่งใหญ่ของอเมริกาที่ไปไกลกว่าความคิดของผู้คน ในภาวะที่สังคมแตกแยกรุนแรง โอบามาบอกว่าไม่มีหรอกอเมริกาอนุรักษนิยม อเมริกาเสรีนิยม มีแต่สหรัฐอเมริกา ไม่มีหรอกอเมริกาสีแดง อเมริกาสีน้ำเงิน มีแต่สหรัฐอเมริกา คนรักชาติจำนวนมากสนับสนุนสงครามอิรัก คนรักชาติจำนวนมากคัดค้านสงครามอิรัก เราเป็นอเมริกาหนึ่งเดียวกัน ฉะนั้นอเมริกาควรจะไปไกลกว่าความแตกแยกตรงนี้ จะหลอมรวมความแตกต่างและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างไร”
“ถ้าเราไล่ดูการหาเสียงของโอบามา เขาพยายามบอกว่าคุณไม่ต้องเห็นเหมือนผมนะ เราต่างกัน แต่ว่าคงมีอะไรบางอย่างที่เราเห็นร่วมกันได้ เช่น ถ้าคุณเห็นว่าคนรักร่วมเพศไม่ควรแต่งงาน แต่ผมเห็นว่าควร เราอาจจะเห็นต่างกัน แต่เราเห็นเหมือนกันใช่ไหมว่าคนที่รักร่วมเพศควรจะมีสิทธิไปเยี่ยมคนที่เขารักที่โรงพยาบาล ประเด็นอะไรที่เห็นร่วมกัน ต้องอาศัยผู้นำที่ดีมาหลอมรวมความแตกต่าง หาจุดร่วมที่พอจะคุยกันได้ และนำประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้า ความคิดของโอบามาไปไกลกว่าความคิดมาตรฐานของสังคม คนก็เริ่มเห็นความหวังที่อเมริกาจะก้าวไปข้างหน้าได้”
“ความสามารถในการพูด วาทศิลป์ การเลือกใช้คำ ของโอบามามีเสน่ห์มาก คำปราศัยของโอบามาจะไม่เหมือนกับคำปราศรัยของนักการเมืองทั่วไป จะสวยงาม และไม่ได้พูดถึงแต่การเมืองระยะสั้น แต่จะมีวิถีคิดหรือปรัชญาการมองโลกของเขาแทรกอยู่ด้วย และมองปัญหาที่ลึกขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง อย่างสุนทรพจน์วันที่ได้รับชัยชนะ มีอยู่ตอนหนึ่งบอกว่า เขาจะรับฟังความเห็นของประชาชนในการทำงาน ถ้าจบแค่นั้นก็ธรรมดา นักการเมืองทั่วไปหาเสียงก็ต้องบอกว่าจะรับฟังความเห็นของประชาชน แต่โอบามาบอกต่อว่า โดยเฉพาะคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา ซึ่งลึกไปอีกขั้นหนึ่ง มันมีเสน่ห์ทำนองนี้แทรกอยู่ตลอดในคำปราศัย”
“สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งคราวนี้คือสุนทรพจน์ของโอบามาว่าด้วยเรื่องเชื้อชาติในช่วงการเลือกตั้งขั้นต้น โอบามาเป็นคนดำ อเมริกาก็ยังมีคนที่เหยียดผิวอยู่ โจทย์ที่ยากและละเอียดอ่อนที่สุดคือการเมืองเรื่องเชื้อชาติ วิกฤตที่สุดของโอบามาคือการโดนโจมตีเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ ช่วงหนึ่ง มีคนเอาคลิปการเทศน์ของสาธุคุณวไรท์ในโบสถ์ที่โอบามาเข้าเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต สาธุคุณวไรท์เทศนาอย่างรุนแรง ด่าอเมริกา สร้างความแตกแยกทางสีผิว คนก็มาผูกกับโอบามาเพราะวไรท์กับโอบามาสนิทกันมาก เป็นคนทำพิธีแต่งงานให้โอบามา เป็นคนที่โอบามาชื่นชมมาก ชื่อหนังสือของเขา Audacity of Hope ก็มาจากชื่อบทเทศน์ของวไรท์”
“โอบามารู้ว่าเรื่องเชื้อชาติและการเหยียดผิวจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของเขา ก็ออกมากล่าว speech ในเพนซิลวาเนีย หลายคนบอกว่านี่เป็น speech เกี่ยวกับเชื้อชาติที่ดีที่สุดอันหนึ่ง นักการเมืองส่วนใหญ่ถ้ามีผู้สนับสนุนที่เริ่มเป็นหนี้เสียทางการเมืองก็คงออกมาประกาศตัดขาด แต่ตอนนั้นโอบามาเลือกที่จะไม่ตัดขาด โอบามาบอกว่าในชีวิตเราอาจจะเคยมีญาติผู้ใหญ่ที่เห็นต่างจากเราหรือทำอะไรแย่ๆ แต่เราก็ยังเคารพเขาแม้จะเห็นแตกต่างกัน โอบามาบอกว่า แน่นอน เขาไม่ได้เห็นด้วยกับสาธุคุณวไรท์ เขาวิจารณ์สาธุคุณวไรท์ว่าพูดการเมืองเรื่องเชื้อชาติเสมือนว่าอเมริกาไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โอบามาเชื่อว่าอเมริกาไปไกลกว่านั้นมากแล้ว ทางการเมืองเราควรจะไปไกลกว่าเรื่องขาวดำ ต้องมองข้ามไปได้แล้ว เขาเชื่อว่าอเมริกาเป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของสังคมอเมริกัน”
“ถ้าดูเส้นทางการเมืองของโอบามา ถึงแม้เขาจะเป็นนักการเมืองผิวดำ แต่ไม่เคยทำตัวเป็นนักการเมืองของคนผิวดำ โดยคนผิวดำ เพื่อคนผิวดำ เขาทำตัวเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่ได้คิดว่ามาถึงวันนี้ได้เพราะดำหรือไม่ดำ แต่เพราะเขาเป็นเขา เป็นโอบามาซึ่งเป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ โอบามาทำงานการเมืองแบบมองข้ามสีผิว ขณะที่สังคมบางส่วนอาจจะยังติดอยู่กับสี นี่คือความมีวุฒิภาวะของเขา โอบามาเป็นผู้นำที่นิ่ง จริงจัง วางแผน มีวุฒิภาวะ และมองยาว เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่ยุทธศาสตร์ แต่มันคือตัวตนของเขา เขาอยู่กับหลายวัฒนธรรม เขาเคยบอกว่าความงามของอเมริกาคือความหลากหลาย เขานึกไม่ออกว่านอกจากคนอเมริกันแล้ว ใครจะมีโอกาสอย่างเขาที่มีพี่น้องอยู่ใน 3 ทวีป แอฟริกา เอเชีย อเมริกา เขาบอกว่าสังคมอเมริกาควรจะเป็นสังคมที่สะท้อนความหลากหลายทางความคิด เห็นต่างแต่ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ได้เกลียดชังเพียงเพราะติดป้ายว่าใครเป็นพวกไหน”
เสียงจากฐานล่าง
“ความสำเร็จของโอบามาอยู่ที่การหาเสียง ทั้งการจัดองค์กรและการวางแผนที่ไม่ธรรมดา campaign ของโอบามาเป็น campaign ประวัติศาสตร์ ตอนนี้หลายคนก็มองแล้วว่าเป็น campaign ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ในช่วงที่โอบามาประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ทุกคนวิจารณ์ว่าเร็วเกินไป ยังไม่ถึงเวลา สู้คลินตันไม่ได้ เพราะคลินตันบารมีคับพรรค มีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนาน ประธานาธิบดีบิล คลันตัน ก็เป็นที่รักของคนเดโมแครต คะแนนความนิยม 2 เดือน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งขั้นต้นในเดือน ม.ค. คลินตันนำโอบามาอยู่มาก คลินตันมีคะแนนนิยม 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนโอบามาเป็นรอง ได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โอบามาทำสำเร็จได้อย่างไร ความสำเร็จของเขาคือความสามารถในการวางแผนหาเสียงและจัดองค์กรหาเสียง ธรรมชาติของโอบามาเป็นนักพัฒนาชุมชน ก่อนเล่นการเมืองระดับมลรัฐเป็นนักพัฒนาชุมชนมาก่อน ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส กิจกรรมที่เขามีชื่อเสียงมากก็คืองานรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยเฉพาะให้คนเล็กคนน้อย คนดำ คนด้อยโอกาส ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ให้ไปลงทะเบียนเลือกตั้ง (อเมริกาต้องลงทะเบียนก่อนจึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง) และให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีสิทธิ์มีเสียงในเวทีการเมือง”
“โอบามามีพื้นฐานความสามารถตรงนี้ ถ้าเราไปดู campaign ของโอบามาจะเห็นการวางกลไกทีมงานจากฐานล่าง ให้ความสำคัญกับการระดมมวลชนมาทำงานการเมือง และใช้อาสาสมัครท้องถิ่น ตอนเริ่มต้น campaign โอบามาประกาศแนวทาง 3 อย่างกับทีมงานหาเสียง นั่นคือ หนึ่งหาเสียงแบบที่เราเคารพตัวเองและคนอื่นเคารพเราให้ได้ เน้นการเมืองเชิงนโยบาย ไม่โจมตีเรื่องส่วนตัว สอง ต้องสร้างแรงสนับสนุนจากฐานล่างขึ้นบน และสาม โนดรามา ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ฟูมฟาย เน้นประเด็นสาระ”
“องค์กรของโอบามาใช้อาสาสมัครเป็นหลัก และเป็นคนท้องถิ่น วางเครือข่ายอย่างหนาแน่นและต่อยอดไปเรื่อยๆ มีการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น และคงเส้นคงวา ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับทีมงานและอาสาสมัครทั่วประเทศ โอบามาและทีมงานหลักสื่อสารกับผู้สนับสนุนทางเว็บไซต์ผ่านคลิปวีดีโอ ผ่านอีเมล์ อย่างสม่ำเสมอ และยังใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลักในการหาเงินสนับสนุน มีการวางระบบการทำงานที่เหนือชั้นมาก”
“โอบามาสามารถระดมเงินได้มหาศาลประมาณ 650 ล้านเหรียญ ซึ่งสูงแบบที่ไม่มีใครจินตนาการว่าจะทำได้ ตอนที่บุชแข่งกับแคร์รีในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ในการหาเสียงขั้นต้นก่อนการประชุมใหญ่ของพรรค ทั้ง 2 คนระดมเงินได้รวมกันประมาณ 600 ล้านเหรียญ แต่หลังจากที่ได้เป็นตัวแทนพรรคแล้วก็ไปรับเงินรัฐมาใช้ในการหาเสียง (Public Campaign) ซึ่งจำกัดไว้ที่ประมาณ 80 ล้านเหรียญ
“แต่โอบามาคนเดียวหาเงินได้ 650 ล้านเหรียญ ที่น่าสนใจคือเงินส่วนใหญ่มาจากการบริจาคทางอินเทอร์เน็ต ถ้าเราดูเฉพาะส่วนของเงินบริจาคจากอินเทอร์เน็ต 80-90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่บริจาคต่ำกว่า 100 เหรียญ และครึ่งหนึ่งในนั้นบริจาคเงินต่ำกว่า 25 เหรียญ แปลว่าคนเดินถนนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยช่วยกันบริจาคคนละเล็กละน้อย เพราะอยากให้เขาเข้าไปทำงานให้ ข้อมูลบอกว่าคนที่ร่วมบริจาคเงินให้โอบามาน่าจะมากกว่า 2 ล้านคน ในเรื่องนี้จะแตกต่างจาการรับบริจาคเงินของผู้สมัครรายอื่น ซึ่งมีสัดส่วนของเงินบริจาคก้อนใหญ่สูงกว่ามาก”
“กฎหมายอเมริกาจำกัดยอดเงินบริจาคให้ผู้สมัครโดยตรง คือห้ามแต่ละคนบริจาคเกิน 2,300 เหรียญต่อการเลือกตั้ง 1 ครั้ง และห้ามบริษัทหรือสถาบันบริจาคเงินให้ผู้สมัครโดยตรง การเมืองอเมริกาแสดงให้เห็นว่าคนธรรมดาที่มีความคิด มีความสามารถ แต่ไม่มีเงิน ถ้าอยากเล่นการเมือง แล้วประชาชนเชื่อใจคุณ ช่วยกันบริจาคเงินให้ คุณก็เล่นการเมืองได้ ไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่ ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณใครนอกจากประชาชน ทำงานได้ และคงความเป็นอิสระทางการเมืองได้”
“แต่อย่าถามนะว่าการเมืองไทยจะทำได้เมื่อไหร่ อย่าถาม ไม่มีคำตอบ (หัวเราะ)”
“คนที่เริ่มต้นให้ความสำคัญกับการหาเงินบริจาคทางอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวคือโฮเวิร์ด ดีน อดีตผู้สมัครพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2004 ตอนนั้นระดมเงินได้หลักสิบล้าน คนก็ตื่นเต้นกันใหญ่ แต่พอมาเห็นการหาเงินของโอบามา อดีตทีมงานของโฮเวิร์ด ดีน ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาเป็นแค่พี่น้องตระกูลไรต์ เริ่มหัดบิน แต่โอบามาเป็นยานอพอลโล มันก้าวกระโดดไปไกลมากอย่างเทียบกันไม่ได้”
“โอบามาให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่ว่าคุณต้องบริจาคเงินจำนวนสูงจึงจะมีสิทธิเจอเขา บริจาค 5 เหรียญ 10 เหรียญ ก็มีบัตรเชิญให้มาร่วมงานใหญ่ๆ ไปหาเสียงก็ให้เวลาแจกลายเซ็น คุยกับคนธรรมดา ในออฟฟิศหาเสียงมีคนประจำ ใครโทร.มาก็ไม่อยากให้เจอเครื่องตอบรับอัตโนมัติ ต้องเจอคนเป็นๆคุยด้วย เรื่องเล็กๆเหล่านี้ เขาให้ความสำคัญ”
“ไม่เคยมีใครจัดองค์กรได้เป็นระบบและมีรากจากฐานล่างขนาดนี้ โอบามาเปลี่ยนฐานคิดและวิธีการทำงานการเมืองและการหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าเขารักษาฐานนี้ไว้ได้ จะหาคนโค่นเขายากมาก นี่เป็นสิ่งที่คนอเมริกันตื่นตาตื่นใจ นี่คือการเมืองใหม่โดยตัวของมันเอง โอบามาไม่ต้องรอให้ชนะเลือกตั้งถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยกระบวนการในการหาเสียงและหลักคิดของเขา มันคือสิ่งใหม่ที่คนอเมริกันไม่เคยเจอ มันคือการเปลี่ยนแปลงแล้ว”
“อีกประเด็นที่ทีมงานเน้นมากก็คือ โอบามา โนดรามา ไม่ฟูมฟาย ไม่โจมตีเรื่องส่วนตัว ไม่ใช้อารมณ์ จะเห็นว่าโอบามาเป็นคนที่นิ่ง โดนโจมตีขนาดไหนก็นิ่ง ผู้สนับสนุนบางคนบอกว่าน่าจะออกมาอัดกลับ แต่โอบามานิ่ง ไม่เล่นการเมืองแบบโบราณ จะเห็นว่าคลินตันบางครั้งก็ใช้วิธีดรามา อย่างเช่น การแสดงอารมณ์ร้องไห้ จนทำให้ผู้ใช้สิทธิ์เห็นใจ จนสุดท้ายได้ชัยชนะในมลรัฐนิวแฮมป์ชียร์ คนก็สงสัยว่าน้ำตาจริงหรือน้ำตาเทียม คลินตันจะเล่นกับอารมณ์คน เขามีเสน่ห์ตรงนั้น แม็คเคนเน้นการโจมตีคู่แข่งอย่างหนัก แต่โอบามาพยายามรักษาสารที่ต้องการสื่อกับสาธารณะ ตอนที่โดนโจมตีเรื่องสาธุคุณวไรท์หรือตอนดีเบตจะเห็นว่าเขานิ่งมาก และผ่านพ้นไปได้อย่างมีวุฒิภาวะ ในขณะที่แม็กเคนจะแกว่ง อารมณ์แปรปรวน บางคนเคยวิจารณ์โอบามาตอนแข่งกับคลินตันว่าโอบามาปิดเกมไม่เป็น ต้องแข่งกันจนสนามสุดท้าย แต่ว่าสุดท้ายเขาก็ได้ผลอย่างที่ต้องการ โอบามามีความนิ่งที่เป็นสมบัติสำคัญของผู้นำ”
“คำปราศัยตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ 21 เดือน สารเดียวที่โอบามาต้องการสื่อและตอกย้ำคือ การเปลี่ยนแปลง ความหวัง การเมืองภาคประชาชนจากฐานล่าง อนาคตอเมริกาที่ทุกคนร่วมหวังร่วมสร้างได้ หลากหลายแตกต่างกันได้ แต่เราทำงานด้วยกันได้ และทีมงานหาเสียงมีเสถียรภาพ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่ทีมงานแม็กเคนไม่มีสารที่ชัดเจน ประเด็นหาเสียงสะเปะสะปะ มีการเปลี่ยนหัวหน้าทีมงานหาเสียงถึง 3 คน และยุทธศาสตร์การหาเสียงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา”
“หากย้อนไปดูตอนเลือกตั้งขั้นต้น โอบามาเป็นมวยรองแต่เตรียมการวางแผนไว้จนถึงจบ เขาไม่รู้หรอกว่าเขาจะชนะหรือเปล่า แต่เขาวางแผนล่วงหน้าให้สามารถแข่งได้จนถึงสนามสุดท้าย ขณะที่ทีมงานคลินตันประมาท คิดว่าจะชนะโอบามาตั้งแต่ Super Tuesday วันที่เดโมแครตมีการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมกัน 22 มลรัฐ แต่วันนั้นคลินตันปิดเกมไม่ได้ หลังจากนั้นคลินตันไปไม่เป็น ไม่ได้เตรียมแผนเตรียมคนไว้ แถมเงินก็เริ่มหมด ขณะที่หลังจาก Super Tuesday โอบามาชนะ 9-10 สนามรวด จนคลินตันตกเป็นฝ่ายตามหลัง และโอบามาก็รักษาสถานะความเป็นผู้นำได้ตลอดจนเข้าเส้นชัย คลินตันอาจจะไล่มาบ้างบางช่วง เช่นชัยชนะในเทกซัส โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทำให้คะแนนเสียงไม่ทิ้งกันมาก ทั้งคู่สูสีกันอยู่แล้ว เมื่อได้คะแนนเสียงใกล้เคียงกันพอจัดสรร Delegates ก็เลยแบ่งเท่าๆ กัน ไล่ตามยาก ระบบเดโมแครตแตกต่างจากรีพับลิกัน เพราะรีพับลิกันในหลายมลรัฐใช้ระบบ winner takes all ผู้ชนะกินรวบ ใครชนะรัฐนี้ได้ Delegates ทั้งหมดไปเลย แต่พอใช้ระบบสัดส่วนถ้าคุณตามหลังแล้วไม่สามารถชนะให้ขาดลอย คุณก็ไล่ยากแล้ว นอกจากนั้น คลินตันใช้ยุทธศาสตร์หาเสียงในสนามใหญ่ที่มี Delegates มากเป็นหลัก แต่โอบามาไม่สน สนามเล็กสนามใหญ่ไม่เกี่ยง ตอนนี้มองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าความขยันและความสามารถในการเตรียมการวางแผนของโอบามาเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ”
“เราจะเห็นว่า การหาเสียงของโอบามาตลอด 21 เดือนแทบไม่มีจุดอ่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสามารถในการบริหารจัดการของโอบามา มีคนบอกว่าใครชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ไม่ว่าจะเคยมีประสบการณ์การเมืองมากน้อยแค่ไหนก็บริหารประเทศได้ เพราะกว่าจะชนะเลือกตั้งนั้นไม่ง่าย ต้องเดินสายหาเสียง 50 มลรัฐ ต้องมีการวางแผนและยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่คาดไม่ถึง ต้องบริหารการเงิน ต้องถูกทดสอบด้านบุคลิก ต้องรู้จักปรับตัวปรับแผนตามสถานการณ์ ต้องแก้เกมการเมืองตลอดเวลา มันเป็นเวทีฝึกฝนที่ดี ปัจจัยสู่ความสำเร็จประการหนึ่งของโอบามาคือเขาใช้เวลาแข่งกับคลินตันตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง คลินตันเป็นตระกูลการเมืองที่เก่งกาจทางการเมืองมาก ไม่เคยมีใครชนะตระกูลคลินตันได้ตั้งแต่ปี 1980 ครั้งสุดท้ายที่ตระกูลคลินตันแพ้เลือกตั้งคือตอนบิล คลินตันเป็นผู้ว่าการมลรัฐสมัยแรก แล้วแพ้เลือกตั้งสมัยที่สอง ตอนนั้นเขายังหนุ่มมาก แพ้แค่ 2 ปี เขาก็ทวงตำแหน่งคืนได้ และตั้งแต่ปี 1980 ตระกูลคลินตันก็ไม่เคยแพ้เลือกตั้งอีกเลย เป็นผู้ว่าการมลรัฐอาร์คันซอร่วม 10 ปี ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เป็นมวยรองเหมือนกันแต่ชนะอีก 8 ปี หลังจากนั้นฮิลลารีไปเป็นวุฒิสมาชิกนิวยอร์กอีก 8 ปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งโดยตลอด”
“เพราะผ่านการแข่งขันแบบโหด พอมาสนามใหญ่แข่งกับแม็กเคนก็ง่ายขึ้น หลายคนบอกว่ารอบนี้ใครเป็นตัวแทนเดโมแครตคนนั้นเป็นประธานาธิบดี การแข่งกับคลินตันยากกว่าเยอะ โอบามาผ่านการดีเบตกับคลินตันมาแล้ว 20 กว่าครั้ง สำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ ตัวตนและนิยามของแต่ละคนจะถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์จริงในสนามจริง เมื่อต้องเผชิญอุปสรรคความยากลำบาก”
สร้างความหวัง
“ผมคิดว่าเรื่องสีผิวเป็นเรื่องรองในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนออกไปเลือกตั้งมากเพราะเขาอยากเปลี่ยนอเมริกา เพราะเขารู้สึกว่าอเมริกาแบบ 8 ปีที่แล้วเป็นอเมริกาที่เขารับไม่ได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ และความมั่นคง เป็นอเมริกาที่คนจำนวนมากในโลกมองในแง่ลบ โดยเฉพาะเรื่องสงครามอิรัก โอบามาพยายามชี้ให้เห็นว่าถ้าคุณไม่ออกมาแสดงพลัง ประเทศก็เปลี่ยนไม่ได้ ประเด็นก็คืออารมณ์ของสังคมเริ่มเปลี่ยน ในยุคบุช อารมณ์ของสังคมคือความสิ้นหวัง ความหดหู่ และความเกลียดชัง โอบามาปลุกให้หลายคนเริ่มมีความหวังอีกครั้งให้เห็นว่า เฮ้ย มันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ โอบามาบอกหลายครั้งว่าความหวังทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปไม่ได้ของประเทศนี้มันเป็นไปได้ ถ้าคนไม่มีความหวังว่าเราสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ อเมริกาก็ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมเหมือนเดิม การต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพก็ไม่เกิดขึ้น
“หรืออเมริกาก็ไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1930 ได้ ประธานาธิบดีสหรัฐในตอนนั้นคือแฟรงคลิน ดี รุสเวลล์ หรือ FDR วรรคทองของ FDR ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่คนไม่มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจเหลืออยู่เลยคือ ความกลัวอย่างเดียวที่เราต้องกลัวก็คือความกลัวในตัวมันเอง ไม่ใช่อะไรอื่น ในช่วงต้นของการหาเสียง คนเปรียบเทียบโอบามาว่าเป็นแรงบันดาลใจแห่งยุคสมัยเหมือนกับที่ JFK เคยเป็นเมื่อปี 1960 แต่พอช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทีมโอบามาก็เริ่มเปลี่ยน หันมาเปรียบเทียบโอบามากับ FDR แทน บอกว่าโอบามาคือคนที่จะนำประเทศผ่านพ้นภาวะวิกฤติได้”
“จุดเปลี่ยนของ campaign อีกอันหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ผิดพลาดของแม็คเคนหลายครั้ง แม็คเคนชนะเลือกตั้งเป็นตัวแทนพรรคเร็ว ก็จะนิ่งเรียบ สื่อไม่ค่อยสนใจ มัวแต่สนใจศึกระหว่างโอบามากับคลินตัน จนกลางปี เลยตัดสินใจเปลี่ยนทีมงานเพราะเสียงไม่ดี มีสตีฟ ชมิทช์ เข้ามานำ คนนี้เคยเป็นทีมหาเสียงของบุช เคยทำงานกับคาร์ล โรฟ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเมืองขั้นเอกอุของรีพับลิกัน วิธีการทำงานแบบโรฟก็คือเน้น nagative campaign เน้นโจมตีคู่แข่ง ซึ่งแม็คเคนก็ทำได้สำเร็จในช่วงแรกจากการซัดโอบามาอย่างหนัก ทำให้ตกเป็นข่าวในสื่อและเข้าถึงคนง่ายเพราะคนจำนวนมากชอบ campaign ที่สนุกที่สะใจ เช่นเปรียบเทียบโอบามาว่าเป็นดารา เป็นเซลิบริตี้ เปรียบเทียบกับบริทนีย์ สเปียส์ กับปารีส ฮิลตัน แต่มันไม่มีสาระทางการเมือง เอาคำพูดที่คู่แข่งในพรรคเดโมแครตเคยวิจารณ์โอบามามาใช้หาเสียงให้ตัวเอง เสียงของแม็คเคนก็เริ่มตีตื้นกลับมาตั้งแต่ ก.ค. แต่ระยะยาวพอมีปัญหาอย่างอื่นเข้ามาเรื่อยๆ โอบามาเน้นการเมืองเรื่องนโยบาย จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร แม็กเคนยังเอาแต่ด่าโอบามาด้วยเรื่องไม่เป็นสาระ ถึงจุดหนึ่งคนก็เลยบอกว่านี่ยิ่งสะท้อนภาพการเมืองแบบเก่า ยิ่งพอวิกฤติเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แม็คเคนก็ยังมัวโจมตีโอบามาอยู่นั่นแหละ แต่ไม่เสนอทางออกของปัญหา คะแนนเสียงระยะยาวเลยตกต่ำลงเรื่อยๆ”
“หรือการเลือกรองประธานาธิบดี แม็คเคนเลือก ซาราห์ เพลิน ตอนที่แม็คเคนเลือกเพลินใหม่ๆ เป็น talk of the town กลบข่าวโอบามา เพราะตอนนั้นแม็กเคนนิ่งมาก ไม่เป็นข่าว จึงต้องหาทางเขย่า campaign เพื่อนำไปสู่ดุลยภาพใหม่ วิธีคือสร้างเซอร์ไพรส์ เลือกคนที่ไม่มีใครนึกถึง ตอนนั้นดูเหมือนว่าแผนนี้จะสำเร็จ ตีตื้นขึ้นมา เสียงอนุรักษนิยมในพรรคที่ไม่ค่อยวางใจแม็คเคนเพราะแม็คเคนก็เป็นคนนอกคอกในพรรคคนหนึ่งเหมือนกันก็ชอบใจ เพลินเป็นผู้หญิง มาดดี มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง แม็กเคนประกาศตัวเพลินหลังจากโอบามากล่าวสุนทรพจน์ตอบรับการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ทำให้ดึงพื้นที่ข่าวไปได้เยอะเลย คนหันมาสนใจมาก แต่พอหาเสียงไปเรื่อยๆ คนเริ่มเห็น แรกๆ เขาไม่ยอมให้เพลินไปสัมภาษณ์สดกับสื่อตัวต่อตัว ขึ้นปราศรัยที่มีบทพูดอยู่ก่อนได้ แต่หลังๆ ต้องปล่อย เพราะไม่อย่างนั้นคนไม่เลือก นักการเมืองอเมริกันต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนรู้ว่าเป็นของจริง แต่พอตอบคำถามคนก็เริ่ม เอ๊ะ เธอมีความสามารถมีความรู้จริงหรือเปล่า นอกจากนั้น ประเด็นที่แม็คเคนใช้โจมตีโอบามาคือเรื่องประสบการณ์ แต่แม็คเคนกลับเลือกเพลินซึ่งเป็นผู้ว่าการมลรัฐอะแลสกายังไม่ถึงสมัย คนอเมริกันกังวลเรื่องอายุและสุขภาพของแม็คเคน เพราะถ้าประธานาธิบดีมีอันเป็นไป รองประธานาธิบดีจะเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีทันที มาเจอเพลินซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐที่มีคนไม่เยอะปัญหาไม่ซับซ้อนและดูความรู้ไม่ดี คนก็ไม่มั่นใจ”
“แม็คเคนเลือกผู้หญิงเพราะอยากดึงเสียงของผู้หญิงฝั่งเดโมแครตที่อกหักจากคลินตัน แต่ปรากฏว่าคลินตันกับเพลิน อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แตกต่างกันคนละเรื่องเลย คนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของรักร่วมเพศ อีกคนเห็นด้วย คนหนึ่งไม่เชื่อว่าโลกร้อนเป็นฝีมือมนุษย์ แต่อีกคนบอกว่าโลกร้อนเกิดขึ้นเพราะคนเป็นตัวการ ต้องจัดการ คนหนึ่งคัดค้านการทำแท้ง อีกคนคิดว่าคนควรมีสิทธิเลือก เพลินมีลักษณะอนุรักษนิยมสูง ขณะที่คลินตันเป็นเสรีนิยม ผู้หญิงที่เคยเลือกคลินตันเลือกเพลินไม่ลง”
“ด้วยความที่แม็คเคนเป็นคนนอกคอกของพรรครีพับลิกัน เขาเลยเป็นคนเดียวที่พอจะสู้กับเดโมแครตได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ตัวเองต้องตกอยู่ในภาวะเขาควาย ถ้าจะสู้กับเดโมแครตก็ต้องไปดึงเสียงส่วนหนึ่งจากเดโมแครตให้ได้ หรือเสียงคนที่ไม่สังกัดพรรค ขณะเดียวกันเขาก็ไม่กล้าทิ้งฐานเสียงหลักของรีพับลิกัน ซึ่งเดิมไม่ไว้ใจเขา”
“แม็คเคนสมัยปี 2000 วิพากษ์วิจารณ์บุชเสมอ เคย vote คัดค้านนโยบายลดภาษีของบุชในปี 2001 ที่ลดภาษีโดยที่กลุ่มคนรวยได้ประโยชน์มาก แม็คเคนเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองมาก พรรคสั่งไม่ได้ เขามีความสามารถในการประสานระหว่าง 2 พรรค ทำงานร่วมกับ ส.ว.พรรคเดโมแครตในกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น กฎหมายการจำกัดเรื่องเงินหาเสียง สร้างความโปร่งใสเรื่องการบริจาคเงินในการหาเสียง หรือที่พรรครีพับลิกันไม่ชอบมากๆ คือการไปร่วมมือกับ ส.ว.พรรคเดโมแครตปฏิรูประบบจัดการคนย้ายถิ่นที่มาทำงานอเมริกา ซึ่งมีลักษณะก้าวหน้า เปิดทางให้คนที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายสามารถพัฒนาไปเป็นพลเมืองอเมริกันได้ ปกป้องคุ้มครองระดับหนึ่ง แต่ฐานอนุรักษนิยมในพรรครีพับลิกันไม่ต้องการกีดกันไม่ให้คนต่างถิ่นเข้ามาแย่งงาน ช่วงนั้นแม็คเคนก็คะแนนเสียงตกไปมาก เป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งขั้นต้น เงินสนับสนุนถอนออกจากแม็กเคนจนถังแตกเกือบจะต้องหยุดหาเสียง ต้องเปลี่ยนหัวหน้าทีมหาเสียง จนค่อยๆ กลับมาได้ แม็คเคนยังวิพากษ์วิจารณ์การจัดการสงครามอิรักของโดนัลด์ รัมสเฟล อย่างรุนแรงมาก แม็กเคนสนับสนุนสงครามอิรักนะครับ แต่บอกว่าวิธีการจัดการดูแลสงครามใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม็กเคนจะไม่ใช่ที่รักของพวกอนุรักษนิยมในพรรคเท่าไหร่”
“พอเขาอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ โจทย์ของเขาคือจะหาเสียงอย่างไร จะเอาใจพรรค หรือเป็นตัวของตัวเอง สุดท้ายก็เลือกยุทธศาสตร์เอาใจฐานเสียงรีพับลิกัน เลือกเพลินขึ้นมา ทั้งที่บางเรื่องเขาก็ไม่เห็นด้วย เช่นเรื่องโลกร้อน แม็กเคนเป็นฝ่ายที่คิดว่าโลกร้อนเป็นฝีมือมนุษย์ ต้องจัดการ ใช้ระบบการจำกัดการปล่อยคาร์บอนฯ สนับสนุนให้ลงนามในพิธีสารเกียวโต นโยบายโลกร้อนจะไม่ค่อยต่างกับโอบามามาก คือกำหนดเป้าหมายว่าควรจะลดปริมาณคาร์บอนลงเท่าไหร่ แล้วใช้ระบบ cap-and-trade คือจำกัดจำนวนคาร์บอนรวมแล้วใช้สิทธิซื้อขายกันได้ นโยบายพลังงานด้านอื่นอาจจะต่างกันบ้างอย่างโอบามาไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์ แม็คเคนเอา โอบามาไม่สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันชายฝั่ง แม็คเคนสนับสนุน”
“แม็คเคนก็เลือกเพลินเพื่อเอาใจฐานเสียงอนุรักษนิยม แต่ผู้ใช้สิทธิ์อิสระ หรือคนเดโมแครตที่จะแปรพักตร์ เลือกเพลินไม่ลง เสียงอีกฟากก็ตกต่ำลง ยุทธศาสตร์การหาเสียงสะท้อนการใช้ดุลยพินิจ (judgement) ของผู้สมัคร การหาเสียงเลือกตั้งเป็นเวทีที่แสดงให้ประชาชนเห็นความสามารถในการใช้ดุลยพินิจ แล้วโอบามาพิสูจน์ให้เห็นว่านิ่งกว่า อันหนึ่งที่ทีมงานโฆษณาตลอดเลยคือเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับสงครามอิรัก ช่วงปลายปี 2002 ที่รัฐสภาอเมริกายอมให้มีการใช้กำลังทหารกับอิรัก ตอนนั้นกระแสสังคมไปในทางสนับสนุนบุช โอบามาตอนนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาระดับมลรัฐ ออกมาสวนกระแสคัดค้านสงครามอิรัก เขาบอกเขาไม่ได้คัดค้านสงครามทุกสงคราม แต่เขาคัดค้านสงครามโง่ๆ ต่อมาตอนนี้กระแสสังคมมาอีกทางหนึ่ง ไม่เอาสงครามอิรัก คนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสงครามอิรักจึงเลือกโอบามาเยอะมาก”
“หรือในช่วงที่เกิดวิกฤตวอลสตรีทกลางเดือนกันยายน ตอนนั้นอยู่ในช่วงใกล้ดีเบตครั้งแรก แม็คเคนต้องการสร้าง campaign country first คือเอาประเทศไว้ก่อน ช่วงนั้นกฎหมายให้เงินช่วยเหลือสถาบันการเงินเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสภา แม็คเคนบอกว่าควรเลื่อนดีเบตเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสภา ขณะที่โอบามาตอบกลับมาเจ็บมากว่า คนที่จะเป็นประธานาธิบดีอเมริกาได้ต้องสามารถจัดการกับวิกฤตมากกว่า 1 อย่างพร้อมกันได้ สุดท้ายแม็คเคนก็ต้องยอมดีเบต นี่คือ judgment เมื่อต้องเผชิญวิกฤติที่เราไม่รู้ล่วงหน้า แล้วมันจะสะท้อนตัวตนของคนออกมา และที่แม็คเคนเสียไปมากคือวันที่มีปัญหาที่วอลสตรีท แม็คเคนไปหาเสียงว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจอเมริกายังแข็งแรงอยู่ โอบามาเลยบอกว่าแม็กเคน out of touch ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และเคยมีสื่อไปสัมภาษณ์แม็คเคนว่ามีบ้านกี่หลัง แม็คเคนบอกจำไม่ได้ ทีมงานโอบามาออกมาบอกบ้านเยอะจนจำไม่ได้แล้วจะมาแก้ปัญหาประชาชนคนทำงานได้อย่างไร”
“การเลือกตั้งอเมริกาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ฐานเสียงหลักสำคัญที่จะชี้ขาดผลเลือกตั้งคือกลุ่มแรงงานผิวขาวรายได้ต่ำที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ที่บิล คลินตัน โค่นบุชผู้พ่อได้ก็เพราะชนะใจฐานเสียงกลุ่มนี้ ปี 1992 เป็นช่วงหลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งบุชคนพ่อเสียงได้เสียงสนับสนุนล้มหลาม คลินตันโค่นมาได้ถือว่าเก่งมาก บุชเป็นรองประธานาธิบดี 8 ปี เป็นประธานาธิบดี 4 ปี คลินตันเป็นผู้ว่าการมลรัฐบ้านนอก แต่เศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา ขณะที่บุชยังเน้นเรื่องความมั่นคงเน้นเรื่องระหว่างประเทศ ส่วนคลินตันชูธงเรื่องเศรษฐกิจ มีประโยคหนึ่งที่ทีมงานหาเสียงเขาชูก็คือ It’s the economy, Stupid! จนเอาชนะได้ คราวนี้ก็เหมือนกัน กลุ่มแรงงานผิวขาวรายได้ต่ำ คนงานในโรงงาน คนงานก่อสร้าง คนที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นฐานเสียงสำคัญที่ต้องแย่งชิง กลุ่มนี้สมัยโบราณเคยเป็นของเดโมแครต ตั้งแต่ยุคเรแกนเอียงไปทางรีพับลิกัน เพราะเรแกนใช้นโยบายลดภาษี แต่แอบไปกิ๊กกับคลินตันช่วงหนึ่ง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญ เพราะถ้าดูผลการเลือกตั้งปี 2004 มลรัฐที่คะแนนเสียงสูสี 10 อันดับแรก 9 ใน 10 มีผู้ใช้สิทธิ์เป็นกลุ่มแรงงานผิวขาวรายได้ต่ำเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ซึ่งบุชชนะแคร์รีในการดึงเสียงกลุ่มนี้”
“ที่บุชชนะเพราะปัญหาเศรษฐกิจยังไม่แรง และตอนนั้นรีพับลิกันขายเรื่องความมั่นคง ความกลัว ซึ่งเป็นจุดขายที่ขายได้ และตัวตนของบุช-ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เขาเป็นคนมีเสน่ห์ เข้าถึงชาวบ้าน บุชสะท้อนตัวตนคนอเมริกัน นักการเมืองก็เป็นภาพสะท้อนของคนเลือก แคร์รีเป็นคนน่าเบื่อ ภาพลักษณ์ไม่มีเสน่ห์ เรียบๆ เป็นนักการเมืองเก่าที่อยู่ในสภามานาน นิ่งๆ ไม่น่าเลือก บุชคุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง คนเลือกบุชเพราะบุคลิกเขาดูเหมือนเป็นพวกเรา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่โอบามาตอนแรกถูกโจมตีว่าเป็นเหมือนชนชั้นสูง พูดคนละภาษากับชาวบ้าน เข้าไม่ถึงชาวบ้าน และโอบามาไม่ใช่ตัวเลือกแรกของกลุ่มนี้ กลุ่มนี้รักคลินตันมาก ในเพนซิลเวเนีย โอไฮโอ คลินตันชนะโอบามาขาดลอยเลย แต่พอรอบที่ต้องเลือกระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน สุดท้ายก็เลือกโอบามา”
“ที่โอบามาโดนโจมตีตอนนั้นคือเขาจะพูดเรื่องยากไป บางคนเรียกเขาว่า The Professor พูดอะไรที่เป็นปัญญาชนมาก พอรู้ตัวว่ายังชนะใจฐานล่างบางกลุ่มไม่ได้ โอบามาก็เริ่มปรับการหาเสียง เข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น หาเสียงกลุ่มเล็กมากขึ้น พวกปัญญาชนจะชอบโอบามามาก ฐานเสียงโอบามาคือกลุ่มคนที่จบสูงกว่าปริญญาตรี กลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 50,000 เหรียญต่อปี เด็กวัยรุ่น กลุ่มคนดำ คนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาอิรัก ขณะที่ฐานเสียงของคลินตันคือผู้หญิง คนรายได้ต่ำ การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ ตอนหลังก็แสดงให้เห็นว่าหลอมรวมกันได้”
“ช่วงหลัง โอบามาต้องเล่าเรื่องตัวเองว่าประวัติเขาก็เคยเป็นคนทำงานแบบพวกคุณนี่แหละ คุณตาเคยเป็นเซลส์แมน ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็ไปเป็นทหาร เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน คือนักการเมืองอเมริกันต้องทำให้คนรู้สึกว่าคุณกับเขาสัมผัสเชื่อมโยงกันได้ เป็นพวกเดียวกัน ต้องแสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจปัญหาของคนทำงานหาเช้ากินค่ำ ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจอเมริกาตอนนี้คือ job loss ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตำแหน่งงานหายไป 1.2 ล้านตำแหน่ง เฉพาะเดือน ต.ค. งานหายไป 240,000 ตำแหน่ง มันเริ่มเห็นแล้วว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในภาคการเงิน แต่มันกระทบมาถึงภาคเศรษฐกิจจริง กระทบคนหาเช้ากินค่ำด้วย ไม่ใช่แค่คนทำงานในวอลสตรีท คนเริ่มต้องการความแตกต่าง คนโทษว่านโยบายของรัฐบาลบุชนำมาซึ่งปัญหา และเขาไม่เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจแบบรีพับลิกันจะแก้ปัญหาให้เขาได้อีกต่อไป”
“ที่จริงแล้วฐานเสียงสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากกลุ่มแรงงานผิวขาวรายได้ต่ำ ยังมีฐานเสียงกลุ่ม Hispanic คือคนเชื้อสายสเปนและละติน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตมากที่สุด เข้าใจว่าการเลือกตั้งคราวนี้ Hispanic มีสิทธิ์ vote 10 เปอร์เซ็นต์ น่าจะระดับ 10 ล้านคนขึ้น กลุ่ม Hispanic มีแนวโน้มเลือกเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน ตอนที่โอบามาแข่งกับคลินตันเขาก็ได้คะแนนนิยมในกลุ่มนี้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เอง ขณะที่คลินตันได้ 60 เปอร์เซ็นต์ โอบามาก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของ Hispanic ตัวเลือกแรกคือบิลล์ ริชาร์ดสัน ผู้ว่าการมลรัฐนิวเม็กซิโกที่เป็นอเมริกันเชื้อสาย Hispanic พอเขาแพ้สนามแรกๆก็ถอนตัวไปเลย แล้วคนก็มาเลือกคลินตัน พอคลินตันแพ้ก็มาเลือกโอบามา เสียงของโอบามาในกลุ่มนี้ในการเลือกตั้งใหญ่ก็ชนะแม็กเคนประมาณ 60:30 และเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะในโคโลราโด นิวเม็กซิโก และเนวาดา ซึ่งแย่งมาจากรีพับลิกันได้”
“คะแนนของโอบามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านหลัก 50 เปอร์เซ็นต์ ได้เสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจว่าคนที่ยังสนใจเรื่องเชื้อชาติยังมี อเมริกายังอยู่ในช่วงเลือกขั้วแยกข้าง และก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับในตัวโอบามา ก็เป็นธรรมชาติของการเมืองที่เห็นต่าง แต่ถ้าเราดูผลเลือกตั้งเราก็จะเห็นว่าโอบามาสามารถชนะเลือกตั้งในมลรัฐฐานเสียงหลักของพรรครีพับลิกันได้ เริ่มทลายกำแพงสีแดงสีน้ำเงินได้ เช่น อินดีแอนา เวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา ซึ่งไม่ได้ vote ให้เดโมแครตมานานมากระดับ 40-50 ปี มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมอเมริกาให้เป็นอเมริกาหนึ่งเดียวกันที่ไม่ต้องเหมือนกัน ตามแนวทางการเมืองของโอบามาที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความสมานฉันท์
“ปัญหาของโอบามาตอนนี้ที่หลายคนกังวลคือการแบกความหวังไว้มหาศาล ชนะเลือกตั้งค่อนข้างถล่มทลาย ทุกคนมองว่าเขาคือความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาฮันนีมูนไม่ยาว เพราะอเมริกาเลือกตั้ง ส.ส.ทุก 2 ปี ส.ว.เลือก 1 ใน 3 ทุก 2 ปี ถ้าเดโมแครตซึ่งคราวนี้ครองทำเนียบขาว ครองสภาผู้แทน ครองวุฒิสภา ไม่สามารถส่งมอบงานที่ประชาชนคาดหวังได้ 2 ปีข้างหน้า รีพับลิกันก็กลับมาใหม่ในสภา โอบามาจะยิ่งทำงานยากขึ้นอีก”
เศรษฐกิจใหม่
“ฐานคิดทางเศรษฐกิจของพวกรีพับลิกันก็คือฐานคิดของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีเรแกนกับมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ สองผู้นำโลกในช่วง 1980 เป็นสถาปนิกสำคัญ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เชื่อว่ารัฐบาลควรจะมีบทบาททางเศรษฐกิจน้อยที่สุด ปล่อยให้เอกชนเป็นพระเอก ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเสรี ให้ตลาดทำงาน การค้าเปิดเสรี การเงินเปิดเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ นโยบายหลักที่เรแกนชูและเป็นฐานของรีพับลิกันจนทุกวันนี้ก็คือนโยบายลดภาษี เพราะคิดว่ารัฐบาลควรมีบทบาทน้อยที่สุด และไม่ควรตัดสินใจทางเศรษฐกิจแทนประชาชน เขาเชื่อว่าถ้าลดภาษี คนมีเงินในกระเป๋าเยอะขึ้น จะใช้จ่ายมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น ถ้ายิ่งคนรวยมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ก็จะเกิดการลงทุน การสร้างงาน มันจะเกิดผลที่เรียกว่า triggle-down effect คือผลรินไหลลงสู่เบื้องล่าง ถ้าข้างบนดี กลุ่มทุนมีเงินมาก รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงมาก ก็จะเกิดกระบวนการสะสมทุนต่อ เดี๋ยวคนข้างล่างก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้ารัฐไปแทรกแซง เช่น กำหนดค่าแรงขั้นต่ำสูงๆ กลุ่มทุนก็มีต้นทุนสูงขึ้น แล้วก็จะจ้างงานน้อยลง”
“นโยบายเศรษฐกิจของบุชที่เป็นที่ถกเถียงคือการลดภาษีในปี 2001 และ 2003 ซึ่งงานวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าให้ประโยชน์ไม่เท่ากัน แต่ละกลุ่มรายได้ได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน คนยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีสูง มันยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมของเศรษฐกิจและสังคมยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียมเป็นผลสะสม พอมันไม่เท่าเทียมรุ่นนี้แล้ว โอกาสในการทำงาน โอกาสทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรุ่นต่อไป ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียมก็จะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ แล้วเมื่อคนรวยรวยขึ้น ผลไหลรินมาสู่เบื้องล่างเกิดขึ้นจริงไหม 8 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามันเกิดขึ้นไม่จริง เพราะมีแต่คนรวยรวยขึ้น คนจนคนทำงานยิ่งแย่ลง”
“ขณะที่ฐานคิดของเดโมแครตเชื่อว่ารัฐบาลต้องมีบทบาททางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเอกชนและตลาดทำงานไม่ได้ และมีบทบาทในการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม เพราะบางเรื่องตลาดไม่ใช่คำตอบ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการ ถ้ามีแต่โรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายก็จะแพง คนตายเพราะไม่มีเงินรักษา ถ้ามีแต่โรงเรียนเอกชน หลายคนจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ เพราะเงินไม่ถึง ฉะนั้นในส่วนเกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม เช่น บริการรักษาพยาบาล การศึกษา รัฐบาลควรจะมีบทบาทมาร่วมผลิต ให้เงินอุดหนุน เพราะมีลักษณะเป็นสินค้าสาธารณะ คือคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่คนที่ไปเรียนหนังสือ แต่สังคมได้ประโยชน์ด้วย ถ้าปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเดียวราคาก็จะแพง จำกัดการเข้าถึงของคน แต่เมื่อรัฐบาลต้องมีบทบาท ต้องใช้จ่าย ก็ต้องมีเงิน ดังนั้นรีพับลิกันก็จะโจมตีว่าถ้าเดโมแครตขึ้นมาก็จะเก็บภาษีมากขึ้น คนที่เชียร์เดโมแครตก็บอกว่าที่ต้องเก็บภาษีเพราะต้องเอามาช่วยคนจน แต่ไม่ได้รังแกคนจน เพราะจะเก็บภาษีจากคนรวย เป็นการเกลี่ยความเท่าเทียมในสังคม อย่างนโยบายภาษีของโอบามา ถ้าเป็นคนจนคนทำงานจะลดภาษีเพื่อให้มีเงินไปใช้จ่าย แต่จะเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น โดยเลิกมาตรการลดภาษีของบุช ให้กลับไปเหมือนเดิมก่อนปี 2001 หรือเก็บภาษีกำไรหุ้น เก็บภาษีกำไรของบริษัทน้ำมัน”
“ฐานคิดของเดโมแครตคือถ้าเศรษฐกิจจะดีไม่ได้อยู่ที่ข้างบนแล้วมีผลไหลสู่เบื้องล่าง แต่ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีจากฐานล่าง ถ้าคนฐานล่างมีงานมีเงิน ก็จะมีการเติบโตที่ยั่งยืน แล้วข้างบนจะดีขึ้นด้วย เพราะถ้าคนข้างบนดีฝ่ายเดียวหรือเหยียบบ่าคนข้างล่างขึ้นไป คนข้างล่างที่ถูกกดไว้ก็ไม่มีอำนาจซื้อ แล้วสุดท้ายทุนนิยมก็เดินต่อไปไม่ได้ ของขายไม่ออก กระบวนการสะสมทุนก็สะดุด นโยบายเศรษฐกิจของโอบามาคือเน้นการทำให้ฐานล่างเข้มแข็ง เช่น ลดภาษีคนทำงาน เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เงินช่วยเหลือคนตกงานจากภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ เพราะเขาไม่ได้เป็นเหยื่อของตัวเอง แต่เป็นเหยื่อของระบบ รวมถึงรัฐบาลเข้ามามีบทบาทใช้จ่ายเงินโดยเน้นการลงทุนที่เพิ่มการจ้างงาน แต่บางคนก็ตั้งคำถามว่าแล้วเงินจะเฟ้อไหม ต้นทุนจะสูงขึ้นไหม พวกเดโมแครตก็บอกว่าการเพิ่มค้าจ้างไม่ได้เพิ่มต้นทุนอย่างเดียว เพราะการเพิ่มค่าจ้างทำให้คนทำงานได้เงินอย่างที่เขาควรจะได้ ถ้าค่าจ้างสูงขึ้น คนก็จะยิ่งขยันทำงานขึ้นด้วย เพราะอยากรักษางานของตัวเองไว้และอยากทดแทนคืนให้ เมื่อคนขยันทำงาน ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็ออกมามากขึ้น ไปช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ ในภาวะที่มีคนตกงานจำนวนมาก มีแรงงานส่วนเกินอยู่มากในตลาดแรงงาน ปัญหาเงินเฟ้อไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อมากเกินไป ความสำคัญอันดับหนึ่งตอนนี้อยู่ที่การจ้างงาน ถ้าคนข้างล่างไม่มี เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้”
“วิธีคิดทางเศรษฐกิจไม่มีผิดถูกขาวดำ มันแล้วแต่อุดมการณ์ความเชื่อ สุดท้ายแล้ว keyword อยู่ที่การเถียงกันว่า คุณคิดว่าบทบาทผสมลงตัวระหว่างตลาดกับรัฐอยู่ที่ไหน รีพับลิกันเอียงไปทางตลาด เดโมแครตเอียงไปทางรัฐ ประเด็นดีเบตมันไม่ได้สุดขั้วว่าจะเอาตลาดหรือเอารัฐ เศรษฐกิจก็จะผสมอยู่ตรงกลาง เพียงแต่ในแต่ละช่วงหรือในแต่ละสังคมเอียงไปทางไหน ช่วงนี้ปัญหาเกิดจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในสังคมเศรษฐกิจอเมริกามาตั้งแต่ 1970 คนก็เริ่มตั้งคำถามกับตลาด และเริ่มพูดถึงบทบาทของรัฐมากขึ้น”
“ย้อนกลับไปสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1930 สถานการณ์ตอนนั้นก็ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ Keynesian Economics ที่พูดถึงบทบาทของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เดิมเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมยุคแรกเชื่อว่ารัฐบาลควรมีบทบาททางเศรษฐกิจที่จำกัด ให้ตลาดทำงานเสรี รัฐบาลมีหน้าที่ออกกฎกติกา รัฐบาลมีหน้าที่คอยกำกับดูแล ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาก็จะปรับตัวของมันเองโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้ามีคนว่างงาน ค่าจ้างก็จะปรับลง การจ้างงานก็จะสูงขึ้นเองเพราะค่าจ้างถูก ตลาดทำงานโดยสมบูรณ์ ถ้ามีของเหลือ ราคาก็ตก คนก็ซื้อมากขึ้น ถ้าของขาด ราคาก็แพง คนก็อยากขายมากขึ้น พอมีของออกมามากขึ้น ราคาก็ตก”
“แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แม้เริ่มต้นจากภาคการเงิน แต่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย ส่วนหนึ่งเพราะการจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่ผิดพลาดด้วย ภาวะตกต่ำเกิดขึ้นยาวนานเป็นทศวรรษ คนตกงานมากมาย ค่าจ้างก็ตกต่ำ แต่ไม่เห็นตลาดทำงาน คนไม่เห็นจ้างงานเลย แปลว่าตลาดทำงานไม่ได้แล้ว ไม่มีความต้องการใช้จ่ายในเศรษฐกิจ วิธีคิดเศรษฐศาสตร์แบบเดิมที่ว่ารัฐไม่ต้องทำอะไร ตลาดแก้ปัญหาเอง มันแก้ปัญหาไม่ได้ ตอนนั้นจอห์น เมนาร์ด เคนส์ เสนอนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เปลี่ยนวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งโลกว่ารัฐบาลควรจะมีบทบาททางเศรษฐกิจ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าตลาดไม่ใช้จ่าย รัฐบาลก็ต้องเข้ามาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือจุดเริ่มต้นของนโยบายการคลังแบบขาดดุลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อก่อนจะรักษานโยบายสมดุล คิดว่าสมดุลดี แต่ตอนนี้ขาดดุลงบประมาณระยะสั้นไม่เป็นปัญหา เพียงแต่อย่าขาดดุลติดกันยาวๆ จนหนี้พอกพูน ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ พาเศรษฐกิจให้พ้นจากวงจรความตกต่ำ เพราะถ้าเอกชนไม่มีเงินในกระเป๋า การใช้จ่ายก็ไม่เกิด การผลิตการลงทุนก็ไม่มี คนไม่มีรายได้ เศรษฐกิจก็จะอยู่ในวังวนความตกต่ำ เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือรัฐบาลก็เข้ามาเป็นคนใช้เงินแทนเอกชน นี่คือแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ FDR เอามาใช้ แปรเป็นรูปธรรม เรียกว่า New Deal ซึ่งก็คือ ให้รัฐบาลเข้ามาลงทุนใช้จ่ายในกิจการที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างสาธารณูปโภค ให้กระแสเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ มันเปลี่ยนวิธีคิดด้านบทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจใหม่หมดเลย”
“ฉะนั้นตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกในทศวรรษ 1930 นโยบายเศรษฐกิจมหภาคกระแสหลักของโลกก็คือบทบาทของรัฐบาลในการปรับระบบเศรษฐกิจให้เหมาะสม (fine tuning) กระตุ้นเศรษฐกิจยามตกต่ำ ชะลอเศรษฐกิจเวลาร้อนแรงไป โจทย์ในเวลานั้นคือทำอย่างไรให้คนมีงานทำ เน้นการจ้างงานเต็มที่ รัฐบาลเลยมีขนาดใหญ่ เพราะรับบทหนักขึ้น เป็นยุคที่เรียกว่า Big Government รัฐบาลมีบทบาทในการพัฒนา ลงทุนด้านการศึกษา สาธารณูปโภค บทบาทของรัฐสวัสดิการ นั่นคือยุคทองที่ทำให้ทุนนิยมเติบโตไปข้างหน้าได้ โดยบทบาทรัฐบาลเป็นธงนำ”
“ก็อยู่กันเรื่อยมาจนถึงช่วงทศวรรษ 1970 มีปัญหา oil shock ในปี 1973 และ 1979 ราคาน้ำมันแพงขึ้นทีละเท่าตัว ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น จนทำให้ผลิตของได้น้อยลง เศรษฐกิจตกต่ำไปพร้อมกับเงินเฟ้อสูงขึ้น นโยบายใช้จ่ายแบบเคนส์แก้ปัญหาไม่ได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำแต่กลับเพิ่มเงินเฟ้อ เมื่อทศวรรษ 1930 เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เงินเฟ้อไม่มีปัญหา เพราะคนไม่มีจะกิน ไม่มีงานทำ ของก็ไม่แพง แต่พอมีปัญหา oil shock น้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการผลิต คราวนี้มีปัญหาเงินเฟ้อด้วยแล้ว และระดับการจ้างงานในสังคมก็อยู่ในระดับสูง แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็มาก นโยบายแบบเคนส์แก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ นโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมก็กลับมา กลายเป็นเสรีนิยมใหม่ ก็คือเชื่อว่าปล่อยให้ตลาดทำงาน ให้ความสำคัญกับการรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำ โดยใช้นโยบายการเงินเป็นหลัก คือลดปริมาณเงินในระบบ เป้าหมายคือทำอย่างไรให้เงินเฟ้อต่ำ ให้ธนาคารกลางประกาศการเติบโตของปริมาณเงินให้ชัดเจน ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อ ทำตามเป้าให้ได้ แล้วให้ตลาดปรับตัวตาม ส่วนทางการคลัง ต้องมีวินัย รัฐไม่ควรใช้จ่ายมาก เพราะยิ่งทำให้เงินเฟ้อ จะเห็นว่านี่คือรากของความคิดของนโยบายเศรษฐกิจกระแสหลักในปัจจุบัน ซึ่งเน้นบทบาทของตลาด และให้ความสนใจกับปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจปัญหาการว่างงานเท่าไหร่”
“จนถึงปัจจุบัน โลกก็อยู่ภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เราจะได้ยินวาทกรรมเสรีนิยมใหม่ตลอดเวลา รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงเศรษฐกิจ ไม่ควรแทรกแซงราคา ปล่อยให้ตลาดทำงาน ควรจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มีอยู่ 4 ฐาน ฐานแรกคือการเปิดเสรีการค้า การเงิน การลงทุน ฐานที่สองคือการลดการกำกับควบคุมโดยรัฐ ฐานที่สามคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในกิจการของรัฐ ฐานที่สี่คือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ไม่ให้เงินเฟ้อสูง”
“นิยามของคำว่า การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงก่อน 1970 นิยามคือทำอย่างไรให้คนมีงานทำ เศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่ แต่ตอนหลังการรักษาเสถียรภาพถูกจำกัดแคบอยู่ที่ทำอย่างไรให้เงินเฟ้อต่ำ ซึ่งในระยะสั้น นโยบายกดเงินเฟ้ออาจทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น เพราะต้องจำกัดการใช้จ่ายของรัฐ ต้องส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย การผลิตการลงทุนก็จะน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน”
“หลักคิดเหล่านี้คือสิ่งที่ครอบงำการเดินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นี่คือกฎกติกาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีพลังอำนาจในการกำกับว่านโยบายอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ เช่น 18 ธ.ค.2549 แบงก์ชาติประกาศใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยใช้มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อแก้ปัญหาบาทแข็ง แต่นโยบายดังกล่าวก็มีชีวิตอยู่แค่ 1 วัน เพราะขัดกับเสรีนิยมใหม่ ข้ออ้างสำคัญก็คือความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา มันมีฐานทางอุดมการณ์ฐานความเชื่ออยู่ข้างหลัง มันถูกเสี้ยมสอนในคณะเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก มันถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อมวลชน ว่าอะไรรับได้อะไรรับไม่ได้ ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มาถึงปัจจุบัน สิ่งดีคือตลาด คือการเปิดเสรี สิ่งไม่ดีคือบทบาทของรัฐ”
“สถานการณ์ในช่วงเสรีนิยมใหม่ที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐบาลซ้าย-ขวา พอคุณเป็นรัฐบาลแล้ว คุณจะถูกกฎกติกาที่มองไม่เห็น ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรกำกับอยู่ เพราะถ้าคุณเดินต่างจากนี้มาก ต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจจะสูง ในโลกโลกาภิวัตน์ที่นักลงทุนมีทางเลือกลงทุนได้หลากหลาย ถ้าประเทศนี้ไม่ส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติ เขาก็ไปลงทุนที่อื่นได้มากมาย ประเทศที่หวังแย่งชิงทุนข้ามชาติจึงต้องเอาใจนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งบางครั้งนโยบายที่นักลงทุนต่างชาติได้ประโยชน์ คนในประเทศเสียประโยชน์ เช่นต้องกดค่าจ้างให้ต่ำเพื่อดึงดูดทุนต่างชาติ หลังจากการปฏิวัติ 19 ก.ย. คปค.ตอนนั้นออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ฉบับแรกคือเหตุผลที่ยึดอำนาจ ฉบับที่สองคือแถลงว่าถึงแม้จะเป็นการปฏิวัติ แต่ยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ต้อนรับทุนต่างชาติ ส่งเสริมการส่งออก มันน่าสนใจตรงที่ถึงแม้รัฐบาลจะมาจากเผด็จการหรือประชาธิปไตย ทางเลือกในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมันถูกจำกัด พรรคฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาบางประเทศหาเสียงใช้นโยบายประชานิยม มีฐานเสียงเป็นคนจน แต่พอชนะเลือกตั้ง ก็ตั้งนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง คือมันจะถูกกำกับอยู่ด้วยกฎกติกาเสรีนิยมใหม่ที่มองไม่เห็น แต่มีพลังอำนาจมากกว่ากฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร”
“แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันท้าทายความเชื่อกระแสหลัก ปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในอเมริกา มันเหมือนเป็นแผลที่แสดงตัวออกมาให้เห็น มันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเฉพาะภาคการเงิน ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค ไม่ใช่ปัญหาความล้มเหลวของผู้บริหาร แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงอุดมการณ์ มันเป็นผลพวงของเศรษฐกิจที่รัฐบาลลดบทบาท ลดความเข้มแข็งในการกำกับดูแล โดยเฉพาะในภาคการเงินที่ยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งไม่ถูกกำกับดูแล ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยตลาด ด้วยความโลภ มันก็มาจบลงอย่างที่เป็นอยู่ จะเห็นว่าปัญหาพอเกิดขึ้นแล้วไม่ได้จำกัดแค่ธนาคารล้ม แต่มันมีต้นทุนทางสังคมด้วย ต้นทุนไม่ได้ตกกับธนาคารที่บริหารงานห่วย ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี มันตกกับสังคมด้วย ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมมีปัญหา ทำให้ต้องเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี เพราะรัฐบาลเข้าไปอุ้ม ความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงินกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง สถาบันการเงินมีปัญหาก็ไม่ปล่อยกู้ การผลิต-การลงทุน-การบริโภคก็ไปต่อไม่ได้ คนก็ตกงาน ระบบก็มีปัญหา”
“ตอนนี้เริ่มมีคำถามว่า ปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาจะเป็นหลักไมล์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไหม จะเป็นจุดเปลี่ยนหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ไหม การที่พรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงมากมายในคราวนี้ เป็นเพราะคนเริ่มเรียกร้องบทบาทของรัฐที่มากขึ้น ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากขึ้น ตั้งคำถามต่อตลาดและทุนมากขึ้น คนเริ่มมองว่าทุนนิยมเสรีที่ไร้การกำกับดูแลอาจจะไม่ใช่ความปรารถนาของสังคมแล้ว มันอาจจะต้องเป็นทุนนิยมที่มีการกำกับดูแล ต้องคำนึงถึงสังคมส่วนรวมมากขึ้น แต่เป็นแบบไหน-อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมเศรษฐกิจโลก ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องสนุกมากในช่วงข้างหน้า ว่าประวัติศาสตร์จะคลี่คลายไปสู่จุดไหน แล้วจะมีความคิดใหม่อะไรผุดบังเกิดขึ้นมา”
“ถ้าจะเข้าใจวิกฤตซับไพรม์ ต้องเข้าใจรากของมันคืออุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ มันมีที่มาอย่างไร ทำงานอย่างไร ทุกอุดมการณ์จะมีกระบวนการเข้าครอบงำความคิดและจิตใจของผู้คน มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ถูกค้ำยันด้วยสถาบันต่างๆ มีการผลิตซ้ำวาทกรรม และมีตัวละครที่ทำให้อุดมการณ์ที่อยู่ในตำราหรือในหัวคิดกลายเป็นอุดมการณ์ทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สถาปนิกสำคัญของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่คือแธตเชอร์กับเรแกน เช่น เรแกนตอนเป็นประธานาธิบดี สหภาพการบินรวมตัวกันประท้วง เรแกนแก้ปัญหาโดยให้ไล่ออกหมดเลย การให้ท้ายกลุ่มทุนและทำลายความเข้มแข็งของสหภาพก็ทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานเบื้องหน้าทุนอ่อนแอลง ส่วนแธตเชอร์ก็ดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง”
“การเผยแพร่อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรัฐบาลอเมริกา แต่องค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เวิลด์แบงก์ ก็ยึดมั่นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เช่นเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาถ้าไปขอเงินกู้จากธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ เขาไม่ได้ให้เงินกู้เปล่าๆ จะมีเงื่อนไขประกอบการขอกู้เงินว่าจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร แนวทางก็คือปรับสู่การเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ เปิดเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดบทบาทของรัฐ นี่ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการกำกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้ต้องเดินตามรอยเสรีนิยมใหม่”
“แต่ในภาคการเงินก็เริ่มเห็นแล้วว่า ทุนนิยมเสรีที่ไร้การกำกับดูแลมีผลกระทบอย่างไร คนเริ่มตั้งคำถาม นี่จะเป็นดีเบตสำคัญของโลกทศวรรษต่อไป ว่าคุณจะเอาอย่างไรกับระบบทุนนิยม แต่ประเด็นของปัญหาไม่ใช่อยู่ที่คุณจะเอาทุนนิยมหรือไม่เอาทุนนิยม คุณจะเอาโลกาภิวัตน์หรือไม่เอาโลกาภิวัตน์ เพราะการแยกขั้วขาวดำแบบนั้นไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นเลย เราอยู่ในยุคทุนนิยม ทุนนิยมก็มีข้อดีของมัน อยู่บนฐานการตัดสินใจอย่างเสรีของปัจเจกชน มีประสิทธิภาพ แต่ละคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ มีระบบการให้รางวัลและลงโทษที่โปร่งใสกว่า ข้อเสียก็คือความเท่าเทียม ไม่เห็นหัวคนจน ยิ่งประเทศรวยขึ้น การกระจายรายได้ยิ่งเลวลง คนสนใจตัวเองเหนือสังคมส่วนรวม คำถามคือ แล้วเราจะออกแบบทุนนิยมที่เห็นหัวคนจนที่มีความเท่าเทียมกันอย่างไร จะออกแบบทุนนิยมที่อยู่บนฐานปัจเจกแต่ใส่ใจสังคมส่วนร่วมด้วยอย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่น่าสนใจ ประเด็นไม่ใช่คุณจะเอาหรือไม่เอาโลกาภิวัตน์ จะเอาทุนนิยมหรือไม่เอา จะเปิดหรือปิดประเทศ ผมคิดว่าการมองโลกแบบขาว-ดำแบบนั้นไม่มีประโยชน์และไม่ช่วยให้เราเข้าใจโลกที่เป็นอยู่”
“ในภาคการเงินผมคิดว่าจะหมดสมัยของทุนนิยมการเงินที่ไร้การกำกับดูแลอย่างสิ้นเชิง แต่ประเด็นคือ บทบาทของรัฐที่เหมาะสมจะอยู่ตรงไหน จะกำกับอะไร อย่างไร เท่าไหร่ การที่เดโมแครตกลับมา เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกครั้งหนึ่ง ถ้าดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก โลกไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงนะครับ แต่เป็นไปตามวัฏจักรระหว่างตลาดกับรัฐ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลาดมีบทบาท หลังทศวรรษ 1930 รัฐบาลมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ตลาดเสรีมีบทบาท แต่หลังจากนี้ รัฐบาลคงมีบทบาทมากขึ้น แต่ว่าการกลับมามีบทบาทของรัฐบาล มันไม่ใช่การกลับมาในรูปแบบการวางแผนจากส่วนกลาง ไม่ใช่ดึงเอาปัจจัยการผลิตจากเอกชน หรือแบบสังคมนิยมอย่างโซเวียต แต่มันจะเป็นบทบาทแบบไหน กำกับอะไร ทำงานอย่างไร อันนี้จะเป็นภูมิปัญญาที่ต้องค้นหาร่วมกันต่อไป”
“นโยบายเศรษฐกิจของโอบามาคือ การเน้นบทบาทของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือคนทำงานและคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เช่น การคืนภาษีก้อนหนึ่งให้คนทำงาน การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การให้สวัสดิการจากรัฐ ในยุคเสรีนิยมใหม่ ค่าจ้างที่แท้จริงของคนทำงานในอเมริกาไม่ได้สูงขึ้น ไม่เท่ากับผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลต้องมีบทบาทใช้จ่ายผ่านนโยบายการคลัง เพราะลำพังการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แน่นอนว่าในระยะสั้นช่วงภาวะวิกฤติ ทุกคนอยากเห็นความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินกลับมา ที่ผ่านมารัฐบาลบุชก็ใช้วิธีเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหาบางแห่ง ซึ่งโอบามาก็ห็นด้วย แต่ลำพังการช่วยเหลือไม่ใช่ยาวิเศษให้เศรษฐกิจพลิกได้ ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้ให้ภาคเศรษฐกิจจริงไหมในช่วงที่เศรษฐกิจขาดความเชื่อมั่น ถ้าไม่ เศรษฐกิจก็เดินต่อไปไม่ได้ มันเลยต้องมีนโยบายการคลังที่มาจากภาครัฐบาลเข้าไปช่วยใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เร็วๆ นี้ก็มีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่นำโดยโจเชฟ สติกลิตซ์ ซึ่งเคยได้รางวัลโนเบล ออกจดหมายเปิดผนึกบอกว่า รัฐบาลต้องใช้เงินเข้าไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานให้มากขึ้น ช่วยคนที่มีปัญหา แต่ก็จะมีคนพวกหนึ่งที่กังวลว่า ถ้ารัฐบาลใช้จ่ายเยอะ เดี๋ยวจะมีปัญหาเงินเฟ้อหนักตามมา แต่ถ้าเราลองมาดูสภาพความเป็นจริงที่มีคนตกงานเยอะแยะ ในภาวะที่แรงงานอำนาจต่อรองไม่เหมือนก่อนยุค 1970 เพราะฉะนั้น ผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่น่ากลัวนัก ปัญหาวงจรค่าจ้างสูง-ราคาสูงยากที่จะเกิดขึ้น”
“แต่เมื่อรัฐบาลต้องใช้จ่ายมากขึ้น ปัญหาสำคัญที่จะตามมา 2 ปัญหาคือ จะหาเงินอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะกระตุ้นอย่างไร ในภาคการผลิตมีองค์ประกอบหลายส่วน หนึ่ง-การบริโภค สอง-การลงทุน สาม-การใช้จ่ายภาครัฐ สี่-การส่งออกสุทธิ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลยั่งยืนหน่อยก็คือการลงทุน ไม่ใช่การบริโภค การลงทุนช่วยให้เงินหมุนในระยะสั้นและยังช่วยพัฒนาความสามารถในการผลิตในอนาคตด้วย เช่น การซื้อเครื่องจักร การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาการศึกษา ทางออกคือการเพิ่มการลงทุน ลงทุนในกิจกรรมที่เพิ่มการจ้างงาน ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ในอนาคตอีกนาน และลดต้นทุนให้กับเศรษฐกิจในอนาคต”
“ข้อเสนอเกี่ยวกับการลงทุนอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ มุ่งเน้นการลงทุนสีเขียว ที่ช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วย โอบามาให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาพลังงานทางเลือกและลดการพึ่งพิงน้ำมันมาก โอบามาให้สัญญาว่าจะมีกองทุนก้อนหนึ่งวิจัยและลงทุนเกี่ยวกับพลังงานสะอาด รัฐบาลจะเข้าไปช่วย เช่น ให้เครดิตด้านภาษีกับธุรกิจที่เปลี่ยนเครื่องจักรให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง โอบามาคิดว่าจะช่วยลดการพึ่งพิงน้ำมันในระยะยาว เขาถึงกับเปรียบเทียบโครงการสร้างพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกกับโครงการไปเหยียบดวงจันทร์ของ JFK ซึ่งเป็นโครงการเชิงสัญลักษณ์ว่า เราสามารถทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ได้ ดังนั้นนอกจากการลงทุนด้านสาธารณูปโภคด้านการจ้างงาน โอบามาอาจจะสร้างแนวคิดใหม่ในสังคมเศรษฐกิจโลก นั่นคือ การลงทุนสีเขียว การลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวไปด้วยพร้อมกัน อันนี้ก็จะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่น่าสนใจ”
ดูเขาดูเรา
“ประเด็นที่น่าสนใจจากการติดตามดูการเมืองเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา เราเห็นอะไรบ้าง อันแรกผมคิดว่าการเมืองอเมริกาเป็นเรื่องเล่าที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเท่ากัน และเชื่อมั่นในหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของประเทศด้วยมือของเขาเอง ถ้าคุณเผชิญกับรัฐบาลนี้ ผู้นำคนนี้คุณไม่ชอบ วันเลือกตั้งคุณก็ลงโทษด้วยการไม่ลงคะแนน ระบบก็เดินไปข้างหน้า”
“หลักคนเราเกิดมาเท่ากัน เสรีภาพเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างที่เขียนไว้ในคำประกาศอิสรภาพ เป็นจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่พอเขียนไปแล้วสิทธิเสรีภาพจะเกิดขึ้นทันที เขาบอกว่าทุกคนเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน มีเสรีภาพ แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยในอเมริกาอย่างคนผิวดำ กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่และเท่าเทียม ล้วนได้มาด้วยการต่อสู้อันยาวนาน ฐานของการเมืองอเมริกา ไม่มีประชาธิปไตยที่สำเร็จรูป ไม่มีประชาธิปไตยทางลัด แต่เป็นประชาธิปไตยที่คนในสังคมต้องร่วมกันต่อสู้ ลองถูกลองผิด และยาวนาน”
“ฉะนั้น การเลือกตั้งถึงมีความสำคัญ เพราะเขาไม่ได้การเลือกตั้งมาง่ายๆ คนดำเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเต็มที่ไม่ถึง 40 ปี ผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้ง 88 ปี ฉะนั้นใครจะมาพรากการเลือกตั้งไปจากเขาไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นระบบที่เชื่อว่าแต่ละคนเท่ากัน หนึ่งคนหนึ่งเสียง สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่หลากหลาย เราจะหาข้อสรุปหาข้อยุติของสังคมที่หลากหลายและมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันอย่างไร ก็ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่เลือกไปทางไหน และต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าเสียงส่วนใหญ่เลือกไปทางไหนแล้ว เสียงส่วนใหญ่จะมารังแกทำร้ายเสียงข้างน้อย ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยไม่ให้ถูกละเมิด และเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เท่ากับความถูกต้อง เสียงประชาชนก็คือเสียงประชาชน เสียงประชาชนอาจจะต่างจากหลักว่าด้วยความดีความงามความจริง คือไม่ใช่คุณไปขโมยของมาแล้วคุณมาผ่านการเลือกตั้งแสดงว่าคุณบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว มันคนละเรื่องกัน ปัญหาทางกฎหมายกับปัญหาทางการเมืองมันคนละเรื่องกัน เสียงส่วนใหญ่เป็นการตัดสินปัญหาทางการเมือง แต่การตัดสินปัญหาทางกฎหมายต้องยังอยู่ ต้องแยกจากกัน การเมืองต้องไม่ทำลายการตรวจสอบทางกฎหมาย และคนต้องไม่ทำลายหลักกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมือง”
“ในระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งคือเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอของการเป็นประชาธิปไตย แปลว่าถ้าคุณจะบอกว่าคุณเป็นประชาธิปไตย ผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่พอเลือกตั้งแล้วจะเรียกได้ทันทีว่านี่คือสังคมประชาธิปไตย เงื่อนไขเพิ่มเติมที่ทำให้คุณเป็นสังคมประชาธิปไตยคือความเคารพในเสียงข้างน้อย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนหลังการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความเห็น เป็นต้น การเลือกตั้งเป็นตัวบอกว่าเจตจำนงของประชาชนในสังคมต้องการอะไร แต่การเลือกตั้งไม่ใช่การให้เช็คเปล่ากับผู้ชนะเลือกตั้ง ให้คุณอะไรตามใจก็ได้หลังจากเลือกตั้ง แต่ประชาชนก็สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นเรื่องปกติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนเสียงข้างน้อยได้”
“ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกาเป็นระบอบที่อยู่บนฐานข้อสมมติที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดา การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนมีอำนาจ ไม่ใช่เรื่องของนักปราชญ์เมธี แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดา และไม่มีใครผูกขาดความดีความงามความจริงไว้กับตัวเองฝ่ายเดียว พรรครีพับลิกันก็อาจจะคิดว่านโยบายเขาคือความถูกต้อง พรรคเดโมแครตก็บอกว่านโยบายเขาคือความถูกต้อง ปัญหาคือจะเอากันอย่างไร จะเผชิญหน้าโดยไม่มีใครยอมใครเหรอ ไม่ใช่นะครับ สังคมก็ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่อำนาจในการเลือกทางเดินของสังคมอยู่ที่ประชาชน และทุกคนมีสิทธิเลือกเท่ากัน เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายได้ เชื่อว่านิยามความดีความงามความจริงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยเราเพียงผู้เดียวเท่านั้น”
“สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเมืองในระบบก็คือการเมืองเชิงวัฒนธรรม ความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพียงเท่านั้น ต้องพัฒนาควบคู่กันไป”
“การเมืองอเมริกาสอนให้เราเข้าใจว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องเล่น มันเป็นเรื่องของมืออาชีพ นักการเมืองแต่ละคนมีทีมวิชาการ ทีมร่างคำปราศรัย ทีมสำรวจความคิดเห็นประชาชน เขาทำงานจริงจัง ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเอง ไม่มีบันไดลัด ระบบการเมืองของอเมริกามีช่องทางให้คนธรรมดามีส่วนร่วมทางการเมืองได้หลากหลาย และคนก็เชื่อมั่นในหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ยอมรับความเห็นต่าง มีขันติ เชื่อว่าปัญหาการเมืองแก้ด้วยการเมือง ถ้าอยากได้อะไรในทางการเมืองต้องต่อสู้ ไม่มีประชาธิปไตยทางลัด”.
ตีพิมพ์: แท็บลอยด์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551