‘จัดการความรู้ 101’ ปฏิบัติการเชื่อมโลกวิชาการกับสังคม วิชาพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

วัฒนชัย วินิจจะกูล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

“ปัญหาคือประเทศนี้ไม่ได้กำหนดนโยบายด้วยความรู้

ประเทศนี้กำหนดนโยบายด้วยอำนาจ”

 

บทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นแหล่งผลิตความรู้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเมือง ในระยะหลัง สถาบันระดับอุดมศึกษาทั้งเก่าและเกิดใหม่หลายแห่งแปรสภาพเป็นธุรกิจการศึกษา เคยแม้แต่ถูกเรียกอย่างเข้าอกเข้าใจว่าเป็นเพียงโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง ที่ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ขาดสายใยและสำนึกผูกพันกับชนชั้นผู้เสียเปรียบ ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำถูกมองว่าเป็น “หอคอยงาช้าง” อยู่ห่างไกลจากวิถีชีวิตประชาชน ทำงานผลิตความรู้ทางวิชาการอันทรงคุณค่าที่คนทั่วไปเข้าถึงยากและไม่สามารถเข้าใจได้

และแล้ว… ก็มีผู้บุกเบิกสร้างสะพานเชื่อมพรมแดนสองฟากฝั่งระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคม ด้วยหวังจะช่วยลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของความรู้ ทำความรู้ให้เคี้ยวง่าย เชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการให้เป็นฐานทางนโยบายหรือแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ คิดได้ วิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะได้ เป็นการสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพทางปัญญาของคนทุกคน

“เมื่อก่อนเราคิดว่าการจัดการความรู้คือการทำให้ง่าย แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แค่นั้น เราต้องดูด้วยว่าคนรับความรู้เป็นใคร ต้องใช้ช่องทางการสื่อสารแบบไหน และช่องทางการสื่อสารแต่ละแบบก็มีไวยากรณ์ไม่เหมือนกัน”

 

ช่วยเล่าประสบการณ์ในการทำงานสื่อสารความรู้ทางวิชาการว่ามีความเป็นมาอย่างไร

เมื่อผมย้อนมองดูประสบการณ์การทำงานของตัวเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยังเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงการทำงานร่วมกับทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) และการออกมาตั้งบริษัทดิวันโอวันเปอร์เซนต์ มันกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อจุดกันได้หมดเลย นั่นก็คือการเชื่อมโลกของวิชาการและองค์ความรู้ต่างๆ กับโลกของมวลชนและประชาชนวงกว้างเข้าด้วยกัน

ที่ผ่านมานักวิชาการไทยทำงานดีๆ ไว้เยอะ งานวิจัยบางชิ้นใช้เวลาทำเป็นปีๆ ใช้งบประมาณเป็นล้านบาท แต่ปรากฏว่าคนที่ได้อ่านหรือเข้าถึงก็คือคนในวงการเดียวกันเอง ส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุด อยู่บนชั้นหนังสือ จึงมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ของดีๆ พวกนี้แพร่กระจายไปสู่สังคมวงกว้าง มันเป็น passion ที่เกิดจากความรู้สึก เสียดายของดี อยากให้มีคนมาอ่านมีคนมาดู

ตอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้เข้าไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ของคณะเศรษฐศาสตร์ ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าคณะฯ จะไม่ใช่ที่ที่ให้คำตอบทางสังคมเฉพาะกับนักศึกษาที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนปีละไม่กี่ร้อยคน แต่จะต้องให้ความรู้เศรษฐศาสตร์กับสังคมวงกว้าง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านเมืองเยอะแยะ คณะฯ ควรจะมีส่วนช่วยในการผลิตคำอธิบายที่มีต่อเหตุการณ์เหล่านั้น ชี้ว่าอะไรคือประเด็นน่าสนใจที่ควรจะตั้งคำถาม แล้วก็มีคำตอบให้กับประเด็นคำถามที่หลายคนสงสัย จึงคิดว่าจำเป็นต้องมีการสร้างบรรยากาศทางวิชาการที่คึกคัก นำมาสู่การจัดกิจกรรมเสวนาทุกสัปดาห์ในหลายๆ รูปแบบ

 

หมายความว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่เปิดประตูความรู้สู่สังคมน้อยเกินไป

ใช่ครับ ผมคิดว่าทุกคนอยู่ในพื้นที่ที่เป็น comfort zone ซึ่ง comfort zone หนึ่งสำหรับนักวิชาการก็คือการทำวิจัย บางคนอาจจะคิดว่างานวิจัยที่ดีมีคุณภาพถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางแล้ว เขียนเสร็จส่งงานแล้วจบกัน แต่ผมอยากจะชวนคิดต่อว่านั่นยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง อยากจะชวนไปต่อให้งานดีๆ ถูกเผยแพร่ไปสู่สังคมวงกว้างและถูกนำไปใช้ประโยชน์  ผมเชื่อในปรัชญาของธรรมศาสตร์ว่าเป็นตลาดวิชา ถ้าเราบอกว่างานวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจโลก มันควรจะต้องถูกใช้สอนคนนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วย การสอนไม่ใช่แค่พาคนมาดูมาอ่านของดี แต่ต้องสื่อสารต้องเล่าเรื่องเป็นด้วย เพราะว่าการเขียนงานวิชาการกับการเล่าเรื่องมีรูปแบบวิธีการที่ไม่เหมือนกัน

ผมเรียกว่านี่เป็นการจัดการความรู้ คือเอาความรู้จากงานวิจัยสามสี่ร้อยหน้ามาดูว่าจะจัดการกับมันอย่างไร เล่าเรื่องแบบไหน คล้ายๆ เอาวัตถุดิบมาปรุงรสให้อร่อย แล้วก็ทำให้เป็นระบบ พอจัดการความรู้เสร็จก็ต้องพิจารณาว่าจะสื่อสารกับสาธารณะอย่างไร ผ่านช่องทางไหน จังหวะเวลาใด เพราะนักวิจัยจำนวนมากไม่รู้จักวิธีทำงานร่วมกับสื่อมวลชน ถ้าเราทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมตรงนี้ดีๆ สุดท้ายสังคมก็ได้ประโยชน์ได้ฟังความรู้จากตัวละครที่ทำงานวิจัยจริงๆ ในแบบที่เข้าใจได้ เห็นความเชื่อมโยงกับเขา และสนุกรื่นรมย์

ในอีกด้านหนึ่ง การนำความรู้ออกไปหาคนหมู่มาก สุดท้ายมันย้อนกลับมาทำให้งานวิชาการเข้มแข็ง เพราะถ้าเรามีเพื่อนเยอะขึ้นได้คุยกับคนเยอะขึ้นเราก็ฉลาดขึ้นด้วยใช่ไหมครับ นักวิชาการก็จะตั้งโจทย์ที่สนุกขึ้น คมขึ้นได้ อย่างที่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา บอกว่า เราไม่สามารถหาคำตอบที่น่าสนใจได้จากโจทย์ที่ไม่ดี คำตอบที่ดีมาจากโจทย์ที่ดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการออกไปปะทะกับสังคมไปเจอผู้คนก็จะช่วยขยายโลกของนักวิชาการให้กว้างขึ้น งานวิชาการต่อไปก็จะมีทั้งคุณภาพและคุณค่ามากขึ้น

 

อาจารย์มองว่าสังคมไทยมีความรู้มากมาย เพียงแต่ต้องรู้จักนำของเดิมที่มีอยู่มาจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ใช่ครับ เราทำงานวิจัยกันเยอะมาก เราตั้งคำถามกับโจทย์สำคัญๆ ของประเทศเยอะมาก แล้วก็มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากฐานวิชาการแทบจะทุกเรื่อง แต่ปัญหาก็คือว่าประเทศนี้ไม่ได้กำหนดนโยบายด้วยความรู้ ประเทศนี้กำหนดนโยบายด้วยอำนาจ ที่ผ่านมานักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ก็หาวิธีการผลักดันความรู้ไปสู่นโยบายด้วยการเข้าหาอำนาจ เอางานวิจัยของตัวเองไปยื่นใส่มือผู้มีอำนาจไปกระซิบข้างหูผู้มีอำนาจ แล้วก็หวังว่าผู้มีอำนาจจะเอาไปปฏิบัติ มันถึงไม่เคยเวิร์คไงครับ เพราะปัญหามันอยู่ที่ผู้มีอำนาจ เขาไม่มีเหตุอะไรต้องเอาความรู้พวกนี้ไปทำต่อ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันกระทบกับฐานะอำนาจของเขา มันทำให้เขาทำงานยากขึ้น ทำให้เขาเหนื่อยขึ้น ทำให้ผลประโยชน์เขาหายไป

เพราะฉะนั้นถ้าคุณต้องการเปลี่ยนประเทศนี้โจทย์สำคัญคือ โลกของการเมืองมันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนแล้ว เทคโนแครตที่ฝันอยากจะทำประโยชน์เพื่อประชาชนอาจจะเป็นไปได้ในยุคต้นของการพัฒนาที่ โจทย์มันยังไม่ซับซ้อน แต่ในยุคนี้ปัญหาประเทศมันซับซ้อน เราต้องพัฒนาประเทศด้วยการคำนึงถึงคนในประเทศที่หลากหลาย ไม่มีใครเป็นเทวดาที่จะรู้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องใช้พลังประชาชนในการขับเคลื่อน

ฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำทั้งที่คณะเศรษฐศาสตร์และทีดีอาร์ไอในตอนนั้น รวมถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่เวลานี้ ก็คือการพยายามเชื่อมั่นในพลังของประชาชน เราไม่ต้องวิ่งตรงไปหาผู้มีอำนาจ เราพยายามสื่อสารโดยตรงกับประชาชน แล้วเราก็หวังว่าประชาชนจะย้อนกลับมาช่วยเราในการเข้าไปกำกับ ไปบังคับ ไปกดดันผู้มีอำนาจให้ต้องปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย เพราะเราไม่สามารถปฏิรูปประเทศนี้จากผู้มีอำนาจได้ เราต้องปฏิรูปประเทศจากฐานข้างล่าง

 

มีวิธีในการสื่อสารความรู้ยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างไร

นักวิชาการทำวิจัยมาเป็นปี ทุกคนก็จะหวงงานที่ตัวเองทำมา อยากจะเอาทุกอย่างที่ทำใน 1 ปี ยัดลงไปในอินโฟกราฟิก 1 แผ่น แรกๆ เราก็ทำอย่างนั้น สุดท้ายมันสื่อสารกับใครไม่ได้เลย เราก็ต้องรู้จักวิธีไฮไลท์ ทุกคนมันเรียนรู้ด้วยกันหมดนะครับ ทั้งนักวิชาการรวมถึงดีไซเนอร์ที่ทำอินโฟกราฟิกเองก็ต้องมาอ่านข้อมูล ต้องมีคนประสานงานตรงกลางมาทำงานด้วยกัน เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เราต้องคิดทั้งนั้นเลย ต้องเรียนรู้ว่าเขียนข่าวอย่างไรให้น่าสนใจ ต้องมีวิธีพาดหัวอย่างไร นักข่าวต้องการข่าวแบบไหน ประชาชนต้องการอะไร feedback เป็นอย่างไร เนื้อหาแบบไหนที่คนแชร์เยอะ จะรักษาความน่าเชื่อถืออย่างไร ถ้าผิดพลาดต้องทำอย่างไร

เมื่อก่อนเราคิดว่าการจัดการความรู้คือทำให้ง่าย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น เราต้องดูด้วยว่าคนรับความรู้เป็นใคร ต้องใช้ช่องทางการสื่อสารแบบไหน และช่องทางการสื่อสารแต่ละแบบก็มีไวยากรณ์ (grammar) ไม่เหมือนกัน ทีวีมีไวยากรณ์แบบของมัน งานวิจัยมีไวยากรณ์แบบของมัน ผมถึงปิ๊งตรงนี้ มันเปลี่ยนให้เราไปต่อได้อีกชั้นเลยว่า สอนหนังสือนี่คือไวยากรณ์แบบหนึ่ง เขียนงานวิจัยไวยากรณ์แบบหนึ่ง เขียนต้นฉบับบทความไวยากรณ์อีกแบบหนึ่ง จัดรายการโทรทัศน์ไวยากรณ์ก็อีกแบบหนึ่ง แม้แต่โซเชียลมีเดียแต่ละชนิดก็มีไวยากรณ์คนละแบบ เราต้องหารูปแบบการสื่อสารความรู้ให้เหมาะสมกับช่องทางแต่ละแบบ ไม่ใช่แค่สรุปงานวิจัยให้สั้นและง่ายเท่านั้น ถ้าเป็นทีวีก็ต้องคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากการใช้ภาพเล่าเรื่องอย่างไร หรือการเอางานวิจัยไปใช้สอนหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องเดินเรื่องตามโครงสร้างของงานวิจัยเป๊ะๆ

 

“คนมักจะคิดว่างานวิชาการคืองานศักดิ์สิทธิ์ ตำราคือความจริงแท้ เราต้องทำให้คนเห็นก่อนว่างานวิชาการไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ … ถ้ามีทฤษฎีใหม่ๆ ที่อธิบายความจริงได้ดีกว่า ทฤษฎีเก่าก็ถูกล้มล้างไป ความรู้จึงพัฒนาต่อยอดไปได้”

 

“ถ้าสังคมยิ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เราตั้งคำถามไม่ได้มากเท่าไร

วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ วัฒนธรรมการท้าทายเพื่อแสวงหาความจริงก็ไม่เกิด”

ในอนาคตมหาวิทยาลัยยังจะเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งความรู้ให้กับสังคมสามารถพึ่งพาได้อยู่หรือไม่

ผมว่ามหาวิทยาลัยเมืองนอกปรับตัวเยอะนะครับ แต่มหาวิทยาลัยเมืองไทยแทบจะไม่ปรับตัว เพราะมีสาเหตุอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยไทยถูกทำลายด้วยระบบราชการ และเรื่องเกี่ยวกับการประกันคุณภาพต่างๆ ที่ทำลายคุณภาพ มันเป็นเรื่องของเปลือกทั้งหมด ความงี่เง่ามันเยอะขึ้นอย่างที่เกินกว่าจะจินตนาการ ระบบราชการที่แข็งกระด้างและรวมศูนย์ไม่สามารถจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้

ประเด็นที่สองคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเข้าไปอยู่บนเส้นทางของความขัดแย้งทางการเมือง เป็นสนามของการเมือง บางแห่งก็เล่นการเมืองระดับชาติ บางแห่งก็เล่นการเมืองภายใน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบไม่ทำหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัยอย่างที่ควรจะทำ กลับใช้ตำแหน่งเป็นบันไดไต่เต้าทางการเมือง ส่วนอาจารย์ที่เป็นนักเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ค่อยมีที่ทางในมหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านั้นยอมเหนื่อยเพื่อที่จะให้สังคมเปลี่ยนแปลง ให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลง ให้ห้องเรียนเปลี่ยนแปลง แต่ระบบแทบไม่เคยช่วยคนพวกนี้เลย ทุกอย่างถูกผลักให้เป็นภาระส่วนตัว

ประเด็นที่สามคือ ในต่างประเทศไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่ผูกขาดความรู้ เขามี Think Tank สารพัด มีองค์กรพัฒนาเอกชนทำงานเชิงประเด็นและสะสมองค์ความรู้มากมาย สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นความรู้จึงกระจายและหลากหลาย ไม่มีใครผูกขาดความงามความดีความจริง แต่เมืองไทยถ้าพูดถึงสถาบันวิจัยก็ต้องนึกถึงมหาวิทยาลัย ถ้าคนข้างนอกไปแข่งแทบไม่ชนะเลย เพราะมันไปติดอยู่กับชื่อ กับบุญเก่า วัฒนธรรมของเราไปให้คุณค่ากับมหาวิทยาลัยเยอะ งบประมาณด้านความรู้ไปกระจุกอยู่ที่มหาวิทยาลัย พอมหาวิทยาลัยไม่ฟังก์ชั่นมันก็ตาย

 

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา

มันเชื่อมโยงกันอยู่หลายเรื่อง ในด้านวัฒนธรรมคนมักจะคิดเสมอว่างานวิชาการคืองานศักดิ์สิทธิ์ ตำราคือความจริงแท้ เราต้องทำให้คนเห็นก่อนว่างานวิชาการไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ ทฤษฎีก็คือเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่พยายามอธิบายและเข้าถึงความจริงให้มากที่สุด มันไม่ใช่ความจริงแท้อันสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นถ้ามีทฤษฎีใหม่ๆ ที่อธิบายความจริงได้ดีกว่า ทฤษฎีเก่าก็ถูกล้มล้างไป ความรู้จึงพัฒนาต่อยอดไปได้

ด้านที่สองก็คือต้องทำให้คนกล้าท้าทาย กล้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ถ้าสังคมยิ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เราตั้งคำถามไม่ได้มากเท่าไร วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ วัฒนธรรมการท้าทายเพื่อแสวงหาความจริงก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า เราเรียนรู้กันอย่างไรในครอบครัว ในโรงเรียน ในระดับสังคม และเรารับสื่อแบบไหน ถ้าสื่อกลัวอำนาจแล้วสื่อไม่พูดถึงความจริงที่แตกต่าง คนก็จะไม่รู้จักตั้งคำถาม ทุกคนก็ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ที่ถูกผลิตซ้ำแบบนี้ หรือถ้าเราตั้งคำถามแล้วแต่ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงกลับมา สิ่งต่างๆ พวกนี้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ คือเราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือ Creative Economy ไม่ได้ ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย

 

“เราไม่ต้องวิ่งตรงไปหาผู้มีอำนาจ เราพยายามสื่อสารโดยตรงกับประชาชน แล้วเราก็หวังว่าประชาชนจะย้อนกลับมาช่วยเราในการเข้าไปกำกับ ไปบังคับ ไปกดดันผู้มีอำนาจให้ต้องปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย … เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือ Creative Economy ไม่ได้ ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย”

 

อาจารย์คิดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่

แน่นอนครับ แต่ก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพราะเรากำลังสู้กับอะไรที่ใหญ่มาก แล้วเราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินไม่ได้ สิ่งที่เราทำอยู่มันค่อยๆ รุกคืบไปข้างหน้า ความสำเร็จสำหรับผมไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่อยู่ที่ระหว่างทางบนเส้นทางว่าเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างคน สร้างวัฒนธรรมใหม่ สร้างสังคมความรู้ได้แค่ไหน เรามีส่วนพาสังคมออกจากจุดเดิมมากน้อยเพียงใด แต่มันจะวิวัฒน์ไปได้ไกลแค่ไหน เราไปแบกความคาดหวังนี้ไม่ได้ มันหนักเกิน เพราะผลสำเร็จขึ้นกับสารพัดปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ขึ้นกับกรรมเก่ากรรมรวมหมู่ของสังคม

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมยังมองเห็นความหวังเสมอ ทุกเทอมที่ผมสอนหนังสือ ผมจะมีตัวชี้วัดส่วนตัวอันหนึ่งที่ใช้ประเมินความสำเร็จของตัวเอง นั่นคือ การที่นักศึกษาเดินมาหาท้ายชั้นเรียนด้วยสีหน้าคับข้องใจและแววตาที่มีความหมาย แล้วถามว่า ‘อาจารย์ เราจะปล่อยให้บ้านเมืองแบบนี้ได้อย่างไร เราทำอะไรได้บ้าง’ ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ แต่มักตอบไปว่าเป็นหน้าที่ของคุณไง อีกสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยลองหาคำตอบของตัวเองต่อคำถามเมื่อกี๊นี้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางทางปัญญาเลยนะ โชคดีที่ทุกปีผมยังเจอเด็กที่เดินมาหาผมแบบนี้

 

ดูเหมือนว่างานสอนเป็นงานที่อาจารย์ถนัดและรักที่จะทำ ทำไมถึงตัดสินใจลาออกแล้วมาเปิดบริษัทดิวันโอวันเปอร์เซนต์

ชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดว่าต้องทำบริษัทเอกชน คิดว่าจะเป็นอาจารย์ไปทั้งชีวิต ตอนแรกผมก็ประหลาดใจในชะตากรรมของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คิดว่าที่ทำอยู่มันคือธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเข้าตัวเอง แต่มันคือการที่เราลุกขึ้นมาทำงานความรู้ในแบบของตัวเองและสร้างสถาบันให้มันอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้พึ่งระบบราชการ ระบบมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

ผมคิดว่างานทั้งหมดที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะสอนหนังสือ ทำวิจัย ทำงานจัดการความรู้ ทำสารคดีโทรทัศน์ มันมีแก่นเดียวกัน คือเรื่องของความรู้ทั้งสิ้น ถึงตอนนี้เราอยากทำงานที่เราใส่แรง 100 มันได้ 100 หรือได้ใกล้ๆ 100 สมัยอยู่มหาวิทยาลัยเราก็ทำงานกันหนักมาก แต่ทำไมมันขยับไปได้น้อย สู้กับระบบเสร็จ สู้กับคนอีก ไม่รู้กี่ด่าน ทุ่มไม่รู้กี่ครั้ง ใช้เวลาไม่รู้เท่าไร หรืออย่างทีดีอาร์ไอก็มีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในการทำงานบางเรื่อง ก็เลยมาคิดว่าแทนที่เราจะไปทำงานให้องค์กรนั้นองค์กรนี้ เราน่าจะสร้างสถาบันของเราเองแบบที่เราดูแลรับผิดชอบมันได้เต็มรูปแบบ ทำตามความคิดความฝันของตัวเองได้เต็มที่ขึ้น

ที่ตั้งชื่อดิวันโอวันเปอร์เซนต์ก็เพราะว่า 101 คือรหัสวิชาความรู้พื้นฐาน เราอยากผลักความรู้ด้านต่างๆ ออกไปสู่สังคมวงกว้างอย่างสร้างสรรค์ อีกด้านหนึ่งหมายถึงเราทำงานเกินร้อย โลโก้ก็สะท้อนถึงสปิริตของงานที่เราทำ คือ knowledge ยกกำลังด้วย creativity เพราะเราเชื่อว่าความรู้เป็นฐานในการทำความเข้าใจสังคมและการเปลี่ยนแปลงสังคม และเราก็เชื่อว่าถ้าเราเอาความคิดสร้างสรรค์ไปยกกำลัง มันจะช่วยเพิ่มพลังความรู้อีกเป็นทวีคูณ

:: ล้อมกรอบ ::

เรียนรู้ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’

ผ่านรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด”

สปิริตของ ‘วัฒนธรรมชุบแป้งทอด’ คือการตั้งคำถามให้เห็นว่าทุกเรื่องในโลกเป็นความรู้ทั้งนั้น และการตั้งคำถามที่คมและน่าสนใจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เราเริ่มต้นจากตั้งคำถามเรื่องรอบตัว ให้เห็นว่าทุกเรื่องมีมิติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเข้าใจสังคมคุณต้องรู้มิติต่างๆ ไม่ใช่รู้แค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง

ทีมงานเบื้องหลังมีแนวทางการทำงานว่า เราไม่ได้ทำสื่อเพื่อผลักดันความคิดความเชื่อของตัวเรา เพื่อให้ทุกคนเป็นเหมือนเรา คิดเหมือนเรา แต่เราทำเพื่อตั้งคำถามชวนคิด เสนอคำตอบที่หลากหลาย ให้คนดูเอากลับไปคิดต่อ ให้สังคมเกิดการอภิปรายถกเถียงกัน จุดยืนของคนทำสื่อไม่ใช่การออกมาประกาศว่าอะไรถูกผิด เราอยากสร้างแพลตฟอร์ม สร้างพื้นที่ทางปัญญามากกว่า

พวกเราเป็นเสรีนิยม (liberal) มีพื้นฐานความเชื่อในเรื่องความหลากหลาย กระทั่งทีมงานเราเองยังมีความชอบหรือความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกัน เราก็ต้องเชิญคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายมาร่วมรายการ แล้วก็นำเสนอในสิ่งที่เขาเป็น เป็นธรรมกับเขา ให้เขาได้พูดในสิ่งที่คิดอย่างครบถ้วนรอบด้าน แล้วคนดูจะเป็นคนตัดสินในแต่ละเรื่องเอง ไม่ใช่เรา เราเชื่อมั่นในพลังของคนดู เราอยากให้รายการเป็นการผจญภัยทางปัญญาของคนดู

รายการนี้มีวิธีแต่งตัวหลายชั้น มันห่อเนื้อหาด้วยลูกเล่น ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง ให้ดูมีสไตล์ มีรสอร่อย หีบห่อสวยงาม เมื่อมันสนุกพอ เด็กๆ ก็เปิดดู ครูบาอาจารย์ก็เอาไปใช้สอนหนังสือได้ แก่นของวัฒนธรรมชุบแป้งทอดคือเราต้องการจะผลักดันวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยนี่แหละ เพราะเราถือว่านี่คือฐานของการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์

จริงๆ แล้ววัฒนธรรมชุบแป้งทอดก็คือปฏิบัติการทางการเมืองในเชิงวัฒนธรรม เรากำลังจะทำรายการที่ไม่ได้สื่อสารเฉพาะกับคนที่สนใจสังคมเชิงลึกอยู่แล้ว เราอยากนำความรู้เชิงลึกออกสู่มวลชนวงกว้าง โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้ความรู้พวกนี้ออกไปสู่คนดูทั่วไปได้สำเร็จ ทำอย่างไรถึงจะสื่อสารกับกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เล่าเรื่องอย่างไรให้ดึงดูด ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ดู ทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางในเมืองดู แล้วมองเห็นคุณค่าความหมายของประชาธิปไตยในระดับวิธีคิดและวิถีชีวิต

……….

ปกป้อง จันวิทย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  หนึ่งในผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ openworlds และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์โรงเรียนไท ตลาดวิชาสาธารณะออนไลน์

ปัจจุบันทำงานที่บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด อย่างเต็มตัว ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการด้านวิจัยและจัดการความรู้ มีผลงานที่รู้จักกันดีทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คือรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” และสารคดี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

……….

ตีพิมพ์: หนังสือ โหล  12 ปี ทีเคพาร์ค สารพันเรื่องราว หลากหลายความคิด ว่าด้วยการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนวัตกรรมห้องสมุด (กุมภาพันธ์ 2560)

Print Friendly