วิเคราะห์ ทางเลือก-ทางรอด สื่อหลัก

“ถ้าสื่อหลักเป็นมืออาชีพกันน้อยก็ตายหมู่ ถ้ารายงานข่าวแล้วยังแพ้สื่อสังคมก็สมควรตาย”
…….

เมื่อโลกหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ข้อมูลข่าวสารจากที่เคยจารึกเป็นตัวอักษรลงบนกระดาษ กลายเป็นข้อความที่ปรากฏบนสมาร์ทโฟน ไปจนถึงบนจอคอมพิวเตอร์  การกดไลค์ กดแชร์ บนโลกโซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยที่คนขาดไม่ได้ จน “หนังสือพิมพ์” ที่เป็น “สื่อกระดาษ” ต้องกระโจนไปร่วมวง หรือบางคนก็วิเคราะห์ว่า ลมหายใจของ “สื่อหนังสือพิมพ์” ที่เป็น “สื่อกระแสหลัก” ใกล้ตายแล้ว

“ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองของคนอ่านข่าวถึงทางรอดของสื่อกระแสหลักอย่างน่าสนใจ

…….

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อแวดวงสื่อกระแสหลักอย่างไร

ผมมองการเปลี่ยนแปลงในทางบวก เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าขึ้นเปิดโอกาสใหม่ๆ หลายอย่าง ทำให้เราเข้าถึงข่าวได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น กว้างขวางขึ้น โลกอินเทอร์เน็ตทำให้การผูกขาดความจริงทำได้ยากขึ้น ปิดกั้นความจริงก็ยากขึ้น เราทุกคนทำตัวเป็นสื่อมวลชนได้ ผู้คนจึงมีทางเลือกในการเสพสื่อหลากหลาย มีความจริงหลากชุดจากหลายแหล่งรอให้เลือก ไม่ต้องหวังพึ่งสื่อหลักอย่างเดียว

ทุกวันนี้ ถ้าคุณอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ คุณสามารถรายงานข่าวได้ทันท่วงทีกว่านักข่าวอาชีพเสียอีก ถ้าคุณเป็นตัวจริง เสียงจริง คุณก็สามารถเขียนอะไรที่น่าสนใจผ่านสื่อสังคมของตัวเอง มันพลิกกลับกลายเป็นว่าสื่อหลักต่างหากที่มาดึงเนื้อหาจากสื่อสังคมเหล่านี้ไปเป็นข่าว ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าดุลอำนาจในการสร้าง กำหนด รายงานและจัดการความจริงในสังคม มันเปลี่ยนมือไปสู่คนวงกว้างมากขึ้น สื่อหลักสูญเสียอำนาจนำ สำหรับผม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลดีต่อประชาชน ทั้งในฐานะผู้บริโภคและพลเมือง

ดุลอำนาจเปลี่ยนจะทำให้สื่อกระแสหลักตายไปหรือไม่

มันกระทบสื่อหลักแน่นอน มันทำให้สื่อหลักยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น ผมเชื่อในพลังบวกของการเปลี่ยนแปลง ถ้าสื่อหลักมีคุณภาพ เป็นตัวจริง ยังไงก็อยู่รอด เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สังคมก็ยังคงต้องการสื่อมืออาชีพ สื่อสังคมอาจรายงานข่าวได้เร็วกว่า ตอบคำถามว่าใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรได้ทันใจกว่า แต่ประชาชนก็ยังต้องการคำตอบว่า ‘ทำไม’ ต้องการบทวิเคราะห์เชิงลึก ต้องการรู้ที่มาที่ไป รู้ภูมิหลังประวัติศาสตร์ รู้บริบทแวดล้อมของประเด็นข่าวต่างๆ เราคาดหวังหน้าที่เหล่านี้จากสื่อหลักมืออาชีพซึ่งมีประสบการณ์ มีทักษะ สะสมภูมิปัญญาในฐานะสถาบัน และมีทรัพยากร บทบาทยากๆ เช่นนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนทำได้ สื่อสังคมโดยทั่วไปมีข้อจำกัดสารพัดในการทำงานเชิงลึกและละเอียดแบบนี้ สื่อหลักมืออาชีพจึงยังมีคุณค่าต่อสังคม

คำถามที่ว่าสื่อหลักของไทยจะอยู่รอดหรือไม่ คำตอบจึงอยู่ที่สื่อหลักของไทยมีคุณภาพเป็นมืออาชีพมากน้อยแค่ไหน ถ้าสื่อหลักเป็นมืออาชีพกันน้อยก็ตายหมู่ ถ้ารายงานข่าวแล้วยังแพ้สื่อสังคมก็สมควรตาย ถ้าทำได้แค่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ มีระเบิดเกิดขึ้นตรงนี้ มีคนตายกี่คน แล้วจบ ถึงตายไป สังคมก็ไม่เสียดาย เพราะมันไม่มีฟังก์ชั่นในโลกใหม่อีกแล้ว สื่อมักง่ายจะตายไปก่อน ส่วนสื่อหลักตัวจริงเสียงจริงมืออาชีพจะอยู่รอดได้ แน่นอนว่ามันจะเหนื่อยขึ้น หนักขึ้น ตีกินได้ยากขึ้น แต่ผมเชื่อมาตลอดว่าโลกใหม่มีที่ทางสำหรับเนื้อหาคุณภาพเสมอ  แม้ในช่วงปรับตัวกับภูมิทัศน์สื่อใหม่อาจจะลำบากขึ้น แต่ก็จะหาจุดลงตัวหรือเส้นทางใหม่ได้เองในที่สุด

ดังนั้น คำถามถึงวงการสื่อคือเราจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้อย่างไร หัวใจสำคัญของการอยู่รอดคือ ความเป็นมืออาชีพที่ผลิตงานคุณภาพ สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชนคือความน่าเชื่อถือ เราจะสร้างและรักษาความน่าเชื่อถือได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง น่าเสียดายที่สื่อหลักจำนวนหนึ่ง ทั้งตัวองค์กรและตัวนักข่าวตัดสินใจเลือกเส้นทางมักง่าย กลับลดคุณภาพตัวเองลง ทำตัวหวือหวาฉาบฉวยแข่งกับสื่อสังคม ผมคิดว่าน่าเสียดาย สื่อหลักควรตั้งสติให้ดีว่าจะอยู่รอดไปเพื่ออะไร เพื่อผลกำไรทางธุรกิจหรือเพื่อทำหน้าที่สื่อตามเจตนารมณ์วิชาชีพ ถ้าอยู่รอดทางธุรกิจแต่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียจิตวิญญาณของความเป็นสื่อมืออาชีพ การดำรงอยู่ก็ไม่มีความหมาย

ในฐานะผู้เสพสื่อ มองเข้าไปในวงการสื่อ ต้องการให้สื่อปรับตัวด้านไหนมากที่สุด

คนเสพสื่อย่อมอยากอ่านข่าวที่มีคุณภาพ ถูกต้อง ตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบ ผมอยากอ่านข่าวเชิงลึกมากขึ้น รวมถึงข่าวเจาะที่ผ่านการทำการบ้านมาอย่างเข้มข้น และข่าวที่พาเราไปไกลกว่ากระแสสังคม เราคาดหวังข่าวแบบนี้จากสื่อสังคมของปัจเจกชนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการทำข่าว ทั้งเวลา กำลังคน และเงินทอง นี่คือบทบาทหน้าที่ของสื่อหลักมืออาชีพ นี่คือเหตุผลที่สื่อหลักต้องดำรงอยู่ ยังตายไม่ได้

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าขึ้นก็เป็นประโยชน์กับตัวสื่อหลักเองด้วย ถ้ารู้จักใช้ให้เป็น สื่อเองก็เข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายและเร็วขึ้น สร้างเครือข่ายได้สะดวกขึ้น และยังแสวงหาภูมิปัญญารวมหมู่ (crowd wisdom) จากกลุ่มคนอ่านได้อีกด้วย เช่น สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งประกาศให้คนอ่านช่วยส่งเบาะแส ข้อมูลความรู้ หรือประเด็นคำถามที่น่าสนใจในหัวข้อข่าวเจาะที่สำนักข่าวกำลังลงมือทำ  หรือให้คนอ่านร่วมโหวตหรือนำเสนอประเด็นข่าวเจาะที่อยากอ่าน เป็นต้น สื่อหลักที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ดีจะฉลาดใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการสร้างความผูกผันและสร้างการมีส่วนร่วมกับฐานคนอ่านของตัวเอง สร้างความหมายในการดำรงอยู่ ให้คนอ่านรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการหาข้อมูล ความรู้ ประเด็นข่าวและแหล่งข่าวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

สื่อสังคมมีอิทธิพลต่อผู้เสพสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อกระแสหลักควรจะต่อสู้หรือใช้ประโยชน์จากกระแสนี้อย่างไร

ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่หลายคนประสบจากการเสพสื่อสังคมคือ ปัญหาที่เรียกว่า ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ หรือ echo chamber คือการเลือกเสพสื่อหรือติดตามข่าวสารจากกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกับตัวเองเท่านั้น คนชอบเสื้อแดงก็ตามฟอลโลว์แต่เสื้อแดง นิวสฟีดของแฟนคลับ กปปส. ก็เต็มไปด้วยข่าวสารจากเพจเครือข่าย กปปส.  ทั้งวันเราก็จะได้ยินแต่สุ้มเสียงแบบตัวเองมาเข้าหูตัวเองตลอดเวลา ฟังบ่อยเข้าก็เผลอนึกไปว่าเสียงตัวเองเป็นความจริงอันสูงสุด ล่วงละเมิดไม่ได้ ไม่มีที่ว่างเปิดใจรับฟังเสียงที่แตกต่าง คนอื่นผิดไปหมด ปัญหานี้มีส่วนในการโหมกระพือความขัดแย้งให้สุดขั้วและรุนแรงขึ้น

เมื่อสื่อสังคมมีธรรมชาติที่จะโน้มนำคนเสพสื่อไปสู่ปัญหาแบบนี้ สื่อหลักมืออาชีพจึงมีบทบาทสำคัญให้เล่น คือ การยืนตรง ยืนนิ่ง ไม่ไหวเอนง่ายๆ ยึดมั่นในหลักวิชาชีพ รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย ไม่เป็นสื่อเลือกข้าง แต่ต้องเปิดประเด็นทุกแง่มุมจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน แล้วสุดท้ายสังคมจะตัดสินเอง สื่อไม่มีหน้าที่พิพากษาตัดสิน บทบาทหน้าที่เหล่านี้ถือเป็นบทบาทหน้าที่มาตรฐานของสื่อหลักอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราเคยชินกับสื่อการเมืองเสียจนหลงลืมหลักการพื้นฐานธรรมดาๆ เหล่านี้ไป

สื่อหลักจำนวนหนึ่งเลือกที่จะกลายเป็นสื่อเลือกข้าง ยอมสูญเสียความเป็นมืออาชีพ เพราะการเป็นสื่อเลือกข้างเป็นหนทางสู่ความอยู่รอดที่ง่ายกว่า คุณได้ฐานคนอ่านเหนียวแน่น ได้แฟนคลับเสื้อสี ยอดขายเพิ่มขึ้น ถ้าแทงหวยถูก ฝ่ายที่เข้าข้างได้ครองอำนาจรัฐ ก็ได้เงินทองจากงบโฆษณาของรัฐและการจัดอีเวนต์ให้ภาครัฐ คนอ่านก็ตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระได้ว่า ถ้าคุณวิ่งหารัฐ รับเงินรัฐ แล้วคุณจะกล้าตรวจสอบรัฐเหมือนเดิมได้อย่างไร แม้อาจจะมีรายได้มากขึ้น อยู่รอดได้ในระยะสั้น แต่มันกระทบความน่าเชื่อถือในระยะยาว สื่อก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ (accountable) ต่อคนอ่านหรือสังคม แต่ไปเอาใจรัฐหรือกลุ่มทุนที่ให้เงินทองแทน เพราะชะตากรรมของสื่อดันไปตัดสินกันตรงนั้น ยิ่งสื่อหลักเลือกทางนี้มากขึ้น คนก็ยิ่งไม่เชื่อถือเพราะไม่เป็นมืออาชีพ ฐานคนอ่านคุณภาพก็ยิ่งลดลง สื่อก็ยิ่งต้องวิ่งหาเงินจากรัฐและทุนมาโปะมากขึ้น สื่อที่อยู่ภายใต้วงจรแห่งความเสื่อมเช่นนี้ ตายไป สังคมก็ไม่รู้สึกเสียดาย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ อาจจะสมน้ำหน้าด้วยซ้ำไป

ทุกวันนี้ สื่อกระแสหลักรับผิดชอบต่อสังคมน้อยเกินไปหรือไม่

คนอ่านทุกคนคงต้องช่วยกันประเมิน สื่อหลักเองก็ต้องประเมินตัวเองด้วย ผมเชื่อว่าสื่อหลักทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ผมรู้จักคนเก่งๆ ในวงการสื่อหลักมากมาย คนเหล่านี้ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คือมีเจ้าของสื่อ ผู้บริหารสื่อ และบรรณาธิการที่เปิดพื้นที่ให้มืออาชีพเหล่านี้ได้แสดงความสามารถ ใช้งานคนเหล่านี้เป็น เราจะไปได้อีกไกล  สำหรับโจทย์เรื่องความอยู่รอดนั้น ถ้านโยบายของเจ้าของหรือผู้บริหารสื่อเลือกที่จะแข่งขันด้วยคุณภาพและความเป็นมืออาชีพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ ลงทุนให้นักข่าวคุณภาพที่มีอยู่ทำข่าวเจาะดีๆ ทำข่าวให้มีคุณภาพระดับ ‘ไม่อ่านไม่ได้’ มันคือทางออกที่ยั่งยืน และชนะทุกฝ่าย ผลงานข่าวก็ออกมาดี สังคมเห็นคุณค่าและยินดีสนับสนุน รักษากลุ่มคนอ่านคุณภาพเป็นฐานหลัก สื่อก็มีโอกาสอยู่รอดในระยะยาวได้มากขึ้น

นักข่าวคุณภาพมีมาก แต่อีกด้านหนึ่ง นักข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบก็มีไม่น้อย เราพบเห็นปัญหาคุณภาพของนักข่าวอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ไม่ทำการบ้าน ลอกข่าว ไม่มีมารยาท ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ไม่รักษาระยะห่างกับแหล่งข่าว จนถึงตัวตนพองโต ปั่นความดังตัวเอง พฤติกรรมของหลายคนถ้าเป็นพระก็คงอาบัติหรือปาราชิก เราคงต้องยอมรับว่านักข่าวจำนวนมากไม่มีคุณสมบัติเป็นตะเกียงทางปัญญาส่องนำสังคมได้ ทั้งที่อยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น เพราะเข้าถึงข้อมูลและแหล่งข่าวได้ใกล้ชิดและลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป แทนที่จะใช้ทำข่าวดีๆ กลับใช้แค่ถ่ายเซลฟี่กับตัวเอง

ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อเองก็ต้องตั้งคำถามตัวเองด้วยเหมือนกันว่าปล่อยให้หลายปัญหาในวงการเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องการกำกับดูแลกันเอง ไม่อยากให้รัฐเข้ามาแทรกแซง แต่องค์กรวิชาชีพสื่อสามารถใช้ระบบกำกับดูแลกันเองเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่เราพูดกันมาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กล้าจัดการสื่อที่มีปัญหาหรือไม่ ด้วยกระบวนการอย่างไร เป็นธรรมไหม มีช่องว่างไหม ทันท่วงทีไหม ประชาชนเชื่อถือไหม หรือถึงเวลาที่เราต้องมาร่วมกันคิดออกแบบระบบกำกับดูแลร่วมกันอย่างจริงจังแล้ว

ในช่วงวิกฤตการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าไปรับบทบาททางการเมือง เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูป กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แม้หลายคนผมจะเคารพนับถือในจิตสาธารณะที่หวังดีต่อบ้านเมืองและวงการสื่อ แต่ผมเห็นต่างว่าสื่อมวลชนไม่ควรเข้าสู่วงจรอำนาจไปรับบทบาทเหล่านี้ไม่ว่าจะตั้งใจดีแค่ไหนก็ตาม มันอธิบายไม่ได้ในแง่ความเป็นมืออาชีพของสื่อและส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของสื่อเอง นอกจากว่าตั้งใจจะอำลาวงการสื่อไปทำงานการเมืองหลังหมดวาระก็อาจพอเข้าใจได้บ้าง

ยิ่งไปรับตำแหน่งในระบอบรัฐประหารที่ไม่มีฐานความชอบธรรมเชิงอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งอธิบายได้ยากขึ้นอีก ถ้าสื่อมวลชนอยากผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็ควรออกมาผลักดันผ่านรูปแบบของการเมืองภาคประชาชน มายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปในศูนย์กลางอำนาจ ไปยืนข้างเครือข่ายทหารและชนชั้นนำ กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนำเสียเอง แล้วจะตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นอย่างเต็มที่และอิสระได้อย่างไร

ผมชอบคำของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เคยเขียนรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่าอาจารย์ป๋วยพยายามรักษา ‘พรหมจรรย์’ ของข้าราชการไว้เป็นแบบอย่างแก่คนรอบข้างและคนรุ่นหลัง ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่รับตำแหน่งทางการเมืองและไม่ข้องเกี่ยวกับธุรกิจเอกชน ความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นต้น การรักษาพรหมจรรย์นั้นทำได้ยากและพลาดไม่ได้เลยสักครั้งเดียว เพราะเมื่อเสียพรหมจรรย์แล้ว มันเอาคืนไม่ได้  วงการสื่อสารมวลชนต้องถามตัวเองให้จงหนักว่า พรหมจรรย์ของวิชาชีพสื่อคืออะไร อะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอด (อย่างมีคุณค่าความหมาย) ของวงการสื่อหลักเสียยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

ที่มา: หนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2559 “ไลน์…ข่าวนอก “ลู่” คู่แข่งสื่อเก่า-ใหม่” ณัฐวุฒิ กรัยโสภณ สัมภาษณ์, น.รินี เรืองหนู บรรณาธิการ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดพิมพ์.

Print Friendly