ก่อนและหลังชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย

คอลัมน์ “ชวนคุย” : Knowledge is All Around

ผู้เขียน: ภีมาภร คุนผลิน

 

ว่ากันว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่เป็นอิสระ กว้างใหญ่ เป็นตลาดหรือชุมชนทางวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้หลงใหลในโลกความรู้ ทั้งในแวดวงวิชาการและวงการสื่อสารมวลชน เดิมทีมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็หันมามุ่งมั่นกับการเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยความรักและความตั้งใจตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมา แต่แล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ตัดสินใจลาออกจากตลาดความรู้แห่งนี้ แล้วหันไปเริ่มทำงานความรู้รูปแบบใหม่อย่างจริงจัง สัปดาห์สุดท้ายของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยจะพาผู้อ่านไปพูดคุยกับอาจารย์ปกป้องตั้งแต่เรื่องราวกว่าจะมาเป็นอาจารย์ กระทั่งลาออก แล้วหาคำตอบว่าชีวิตของอาจารย์หลังจากลาออกเป็นเช่นไร

 

ได้ยินว่าในตอนแรกอาจารย์อยากเป็นนักการเมือง เริ่มสนใจการเมืองได้อย่างไร?

ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์และติดตามการเมืองมาตลอด สมัยเด็กนั้นก็อ่านแบบสนุกๆ แต่เมื่อโตขึ้นก็เริ่มหันมาตั้งคำถามเชิงลึกมากขึ้น เริ่มอ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองและบทวิเคราะห์ต่างๆ มากขึ้น ต่อมามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน นั่นคือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535  เมื่อก่อนเคยอ่านประวัติศาสตร์การเมืองเรื่อง 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องสะเทือนใจ และไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีเหตุการณ์ที่ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องมาล้มตายจากการปราบปรามของทหารอีก เมื่อได้ประสบด้วยตัวเอง ก็คิดตั้งคำถามขึ้นว่า จากนี้ไปเราจะมีส่วนช่วยทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก นั่นยิ่งทำให้ผมกลายเป็นคนบ้าอ่านหนังสือมากกว่าเดิมเพื่อหาคำตอบ จนเริ่มคิดอยากจะเป็นนักเมือง อยากเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น จนไม่มีเงื่อนไขให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือฆ่าฟันกันเองอีก

ช่วงที่ตะลุยอ่านหนังสือ ก็ได้ไปอ่านหนังสือการเมืองเล่มหนึ่งชื่อ “อนิจลักษณะของการเมืองไทย” ของ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองทางการเมืองที่แตกต่างไปจากหนังสือการเมืองเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่านมา โดยเป็นการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์การเมืองในแบบที่เป็นอยู่จริง ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น หนังสือเล่มนี้สอนผมว่าหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นแบบที่มันเป็นอยู่จริงก่อน เข้าใจกลไกการทำงานของมัน เราจึงจะสามารถเปลี่ยนสิ่งนั้นให้ดีขึ้นในแบบที่เราอยากให้เป็นได้ หนังสือ อ.รังสรรค์ยังทำให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์เป็นชุดวิธีคิดที่นำไปอธิบายได้หลายเรื่อง รวมถึงการเมือง ช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ กับการเมืองได้ชัดขึ้น

อย่างนี้เลยเริ่มหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ด้วย?

ใช่ครับ มันน่าสนุกและแปลกใหม่ ต่างจากแนวทางรัฐศาสตร์ที่เราเคยอ่านมาก่อน ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแบบที่เข้าใจกัน เศรษฐศาสตร์เป็นวิธีคิด เป็นเครื่องมือ ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย และมีหลายชุดความคิดและหลายเครื่องมือด้วย ทั้งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เศรษฐศาสตร์การเมือง

อีกอย่างคือตอนนั้นเราอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์หรือหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเองไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าเป็นแนวการเมือง เราสามารถอ่านได้เอง แต่พอเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์จะไม่เข้าใจตรรกะเบื้องหลัง ต้องคอยดูว่าใครพูด เชื่อใครดี แต่เราอยากรู้หลักวิธีคิดเพื่อตัดสินด้วยตัวเอง ผมคิดว่าจะเข้าใจเศรษฐศาสตร์ได้ดีต้องมีโค้ช เลยอยากเรียนต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์

ผมมีอาจารย์รังสรรค์เป็นแรงบันดาลใจที่โยงการเมืองที่สนใจอยู่ก่อนหน้ามาเข้ากับเศรษฐศาสตร์ และต่อมาก็ได้พบกับอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ซึ่งเป็นคณบดีในสมัยนั้น อาจารย์เขียนคอลัมน์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมารวบรวมเป็นหนังสือชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” นำเอาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัวอย่างสนุก ไม่ว่าจะเรื่องพฤติกรรมของคน ประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ทำไมคนถึงโกหก ทำไมผู้มีอำนาจถึงโกง ทำให้ยิ่งสนใจและยิ่งอยากเรียนเศรษฐศาสตร์มากขึ้นไปอีก

ประกอบกับในช่วงนั้นก็มีนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเริ่มมีบทบาททางการเมืองด้วย เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็หันไปเริ่มเข้าสู่แวดวงทางการเมือง อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำรายการโทรทัศน์เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมศาสตร์ต่างๆ ผมจึงมองว่าโลกต่อจากนี้ไปจะเป็นโลกแห่งเศรษฐกิจ ตอนนั้นผมคิดว่านักการเมืองจะต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและเข้าใจการต่างประเทศด้วย ไม่ใช่จบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เหมือนแต่เดิม อย่างคุณอภิสิทธิ์ที่เป็นโฆษกรัฐบาลให้กับคุณชวน หลีกภัย ก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นนักการเมืองคุณภาพในขณะนั้น ดังนั้นผมจึงตัดสินใจไปสมัครเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาภาษา ก็คิดแบบเด็กๆ ว่าอีกหน่อยจะได้เป็นนักการเมืองที่รู้เรื่องเศรษฐกิจและเก่งภาษาอังกฤษ แล้วสุดท้ายก็ได้ไปประเทศฮังการี ซึ่งก็ไม่ได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษอยู่ดี (หัวเราะ)

สิ่งที่จากการไปฮังการีคืออะไรบ้าง?

ได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น ผมไปในช่วงหลังสงครามเย็น หลังกำแพงเบอร์ลินพังทลาย ประเทศยุโรปตะวันออกเปลี่ยนจากประเทศคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย ไปอยู่ช่วงประมาณปี 2537-2538 ตอนแรกจะตัดสินใจไม่ไปแล้ว แต่อาจารย์วรากรณ์บอกว่า ถ้าไปอยู่ที่นี่ได้แล้ว ต่อจากนี้จะไปอยู่ที่ไหนเราก็รับมือได้ เพราะได้ฝึกด้วยตัวเอง เจอความยากลำบาก ได้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มเข้าใจว่าโลกเศรษฐกิจในชีวิตจริงเป็นอย่างไร ทำไมอยู่ๆ ไป เราซึ่งถือเงินดอลลาร์ถึงรวยขึ้น เพราะแลกเงินฮังการีได้เยอะขึ้น กลไกอัตราแลกเปลี่ยนมันทำงานอย่างไร

หลังจากนั้นเป็นอย่างไร

การไปอยู่คนเดียวในต่างประเทศ ได้เจอผู้คน ได้เปิดโลก ก็ทำให้เราเติบโตยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ต่างๆ ทั้งความบ้าการเมือง การทำงานในวงการสื่อโทรทัศน์เป็นพิธีกรรายการเด็กตั้งแต่ประถมหกจนเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงการเป็นคนชอบอ่านคิดเขียน ทำให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วทั้ง 3 วงการ (วงการการเมือง วงการสื่อ วงการวิชาการ) มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และมีแก่นอย่างเดียวกัน คือการแสวงหาความจริง จะเข้าใจความจริงได้ก็ต้องอาศัยความรู้ นักวิชาการมีหน้าที่ค้นหาความจริง สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายความจริงให้ได้ดีที่สุด ส่วนนักข่าวก็มีหน้าที่ค้นหาความจริงของสังคมเหมือนกัน งานข่าวสืบสวนสอบสวนก็คืองานวิจัยขนาดย่อมๆ นั่นเอง นักการเมืองจะกำหนดนโยบายได้ก็ต้องเข้าใจความจริงของสังคมและโลกก่อน จึงจะกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและปฏิรูปสังคมได้ ซึ่งตัวเราก็สนใจสิ่งเหล่านี้ และสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในตัวเรามาโดยตลอด

เมื่อได้เข้ามาเรียนที่นี่ (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็รู้สึกตื่นเต้นและสนุกกับความรู้ เราได้อ่านทุกอย่างที่อาจารย์แนะนำ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน แล้วระหว่างเรียนก็คอยเป็นติวเตอร์ให้เพื่อนๆ ซึ่งก็ยิ่งได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกจากการได้สอน และในช่วงปิดเทอมใหญ่ตอนกำลังจะขึ้นปีที่ 4 เป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อาจารย์วรากรณ์ ซึ่งช่วงนั้นเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของคุณชวน หลีกภัย ดูแลด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ รู้ว่าเราสนใจการเมือง เลยชวนเข้าไปฝึกงานที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นทีมงานหน้าห้องของอาจารย์ มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลและเขียนสุนทรพจน์ให้นายกรัฐมนตรี

ทุกวันนี้ยังขอบคุณอาจารย์วรากรณ์ที่ทำให้เลิกคิดอยากเป็นนักการเมือง เพราะพอได้เห็นโลกความเป็นจริงของการเมือง ได้เข้าใจกลไกการทำงานจริงของรัฐ ก็คิดว่าตัวเองไม่เหมาะ และงานมันไม่ได้สนุกและมีพลังอย่างที่เคยคิด

ทำไมถึงเลิกความอยากจะเป็นนักการเมือง

แต่ก่อนนี้มีความคิดว่าถ้าเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้นั้น เราต้องมีอำนาจเสียก่อน การแก้ปัญหาต้องทำจากข้างบน แต่จากการที่เราได้ไปเรียนรู้และเห็นการทำงานจริงๆ ที่ทำเนียบในครั้งนั้นแล้ว ก็ทำให้คิดว่ามันไม่มีประโยชน์ขนาดนั้น เพราะถึงแม้เป็นคนที่มีอำนาจเต็มที่ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังขับเคลื่อนหรือทำอะไรได้ลำบาก ปัญหาเชิงโครงสร้างมันใหญ่และแก้ไม่ได้ด้วยอำนาจ ยังไม่ต้องพูดถึงว่ากว่าจะขึ้นไปอยู่จุดนั้นได้ จะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ทั้งทรัพยากรและตัวตน

แล้วทำไมถึงอยากมาเป็นอาจารย์ได้

หลังจากเลิกอยากเป็นนักการเมือง ก็คิดว่าเอาแรงกำลังมาสู้ทุ่มเทแก้ปัญหาจากฐานล่างดีกว่า เราทำเพื่อสังคมได้โดยไม่ต้องมีอำนาจแบบนั้น แต่ทำอะไรในขอบเขตที่เราทำได้ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ แม้จะเห็นผลในระยะยาว นั่นคือการเป็นอาจารย์

นี่เป็นหนทางสร้างพลังให้กับประเทศในทางที่แตกต่างจากการเป็นนักการเมืองที่เป็นการเปลี่ยนจากบนลงล่าง แต่การสอนหนังสือเป็นเปลี่ยนจากล่างขึ้นบน เราสามารถควบคุมดูแลคุณภาพภายในห้องเรียนของเราได้ สร้างเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ในแบบของเราได้ อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่ลงแรงไป 100 ผลการเปลี่ยนแปลงที่ได้กลับคืนนั้นไม่รู้ว่าจะถึง 1 รึเปล่า แต่อาชีพอาจารย์ คือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เขาเติบโตในทางที่เขาอยากเป็น ชี้ให้มองเห็นโลกในมุมที่ไม่เคยเห็น กระตุ้นให้คิด ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่มองเห็นหรือความเชื่อดั้งเดิม มันอาจส่งผลเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตหรือความคิดบางอย่างของเขาได้ ผมรู้สึกว่ามันมีพลังมากกว่า เป็นพื้นที่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในขอบเขตที่เราดูแลได้ ดังนั้นก็เลยมุ่งมั่นว่าเรียนจบก็อยากเป็นอาจารย์ อยากจะบอกเล่าแลกเปลี่ยนเส้นทางความคิดของเราให้แก่คนรุ่นต่อไป เราอยากเรียนกับอาจารย์แบบไหน ก็อยากสอนแบบนั้น

ตั้งใจเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ด้วยใช่ไหม?

แน่นอน เพราะผมโตมากับที่นี่ คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของผม อาจารย์ที่นับถือมากทั้ง 2 ท่านก็คือ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และอ.วรากรณ์ สามโกเศศ ก็อยู่ที่นี่ คณะนี้สร้างเราขึ้นมา มีส่วนสำคัญบนเส้นทางชีวิตและความคิดของเรา เราก็อยากมีส่วนร่วมทำให้คณะนี้ดีขึ้นไปอีกเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีปี 2542 ผมก็เป็นอาจารย์ที่นี่เรื่อยมา ทำงานเต็มที่ จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 จึงลาออกหลังจากอยู่ที่นี่มาเกือบ 17 ปี

แล้วทำไมอาจารย์ถึงตัดสินใจออก ในเมื่อตั้งใจจริงเพื่อมาเป็นอาจารย์

ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งผูกขาดปัญญาความรู้ของสังคมอีกต่อไป เมื่อก่อนถ้าเรารู้สึกว่าอยากทำงานเกี่ยวกับความรู้ สถานที่ที่มีอิสระ เสรีภาพ และมีบรรยากาศวิชาการของชุมชนคนชอบคิด ชอบอ่าน ชอบเขียน ก็คือมหาวิทยาลัย แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่แน่ใจ เพราะมหาวิทยาลัยยุคเมื่อ 20 ปีก่อนสมัยผมเรียนกับยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนไปมาก ตัวมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยน กฎกติกาก็เปลี่ยน พฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาก็เปลี่ยน อาจารย์ก็เปลี่ยน ช่องทางและรูปแบบการเรียนรู้ของคนก็เปลี่ยน

ผมไม่คิดว่าชีวิตของผมจะเปลี่ยนอะไรมากมายหลังจากลาออก ผมไม่ได้ไปไหนไกล ยังอยู่ในโลกของความรู้อยู่เหมือนเดิม แต่ผมอยากทำงานเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ในแบบของตัวเอง มันเป็นจังหวะเวลาที่รู้สึกว่า ‘ใช่’ โอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในโลกความรู้เชื้อเชิญให้ผมไปทำงานความรู้ในพื้นที่ที่กว้างขึ้นกว่าเศรษฐศาสตร์และกว้างขวางกว่ารั้วมหาวิทยาลัย

จริงๆ ผมก็ยังมีความสุขกับชีวิตการเป็นอาจารย์โดยเฉพาะตอนอยู่ในห้องเรียน เพราะเรายังดูแลมันได้เต็มที่ ยังสนุกกับการสอนหนังสือนักศึกษา แต่ถ้าเป็นนอกห้องเรียนหรือระดับมหาวิทยาลัย มันสนุกน้อยลงเรื่อยๆ กับทิศทาง กับระบบต่างๆ มันมีอะไรหลายอย่างที่เราอยากเปลี่ยนให้ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมหรือระบบที่ดีขึ้น แต่การถูกครอบด้วยระบบราชการ ด้วยระบบเอกสารในนามของการประกันคุณภาพการศึกษาที่ส่งผลทำลายคุณภาพการศึกษาเสียมากกว่า ด้วยวัฒนธรรมเก่าหลายๆ อย่าง ด้วยการเมืองล้าหลังในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งโยงถึงการเมืองล้าหลังระดับชาติด้วย ทำให้มันสร้างสรรค์อะไรยากขึ้นทุกวัน

การเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่จึงไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ว่าไม่เคยลอง  17 ปีที่ผ่านมาก็พยายามสร้างสรรค์และเปลี่ยนอะไรที่พอเปลี่ยนได้มาตลอดทั้งในห้องเรียน คณะ และมหาวิทยาลัย แต่พอจะเปลี่ยนอะไรที จะสร้างอะไรใหม่ ก็ต้องสู้กับคน สู้กับระบบ มันก็เหนื่อยอยู่เหมือนกัน บางทีเราใส่แรงไป 100 อาจจะได้กลับมาสัก 30-40 บางเรื่องได้ใกล้เคียงกับที่หวัง แต่ต้องออกแรงเพิ่มหลายร้อย

มาถึงตอนนี้ อยากทำอะไรที่เราลงแรงไปมาก ก็เกิดผลมาก อยากจะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเอง ทำมันจากศูนย์ สร้างพื้นที่ สร้างสถาบันของตัวเอง กำหนดเกมของตัวเอง  โลกใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เปิดโอกาสให้กับการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ตอนนี้นักศึกษาสามารถเก่งกว่าอาจารย์ได้ถ้าเรามีหูตาที่กว้างไกล ไปอ่านหนังสือซึ่งเดี๋ยวนี้มีหนังสือดีๆ ตีพิมพ์เยอะแยะทั้งไทยทั้งอังกฤษ มีเว็บไซต์ความรู้ดีๆ ถึงเราอยู่ธรรมศาสตร์ก็จริง แต่เราก็สามารถเรียนวิชาที่นักศึกษาที่ฮาร์วาร์ด เยล สแตนฟอร์ด เรียนได้ผ่านทางคอร์สออนไลน์ มีสื่อการเรียนรู้แบบใหม่เต็มไปหมด ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการอยู่ในโลกใหม่เหมือนกัน มิเช่นนั้นก็จะหมดสิ้นความจำเป็น นี่พูดถึงคนที่ต้องการเรียนรู้จริงๆ นะครับ ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาใบปริญญาไปไต่เต้าทางสังคมต่อไป มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ของคนที่อยากเรียนรู้ ตอบโจทย์ของสังคมได้น้อยลงเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ไม่เห็นความหวังในรั้วมหาวิทยาลัยเลย มีอาจารย์และผู้บริหารจำนวนหนึ่งที่ต้องการทำอะไรดีๆ อยู่ แต่เขาต้องทำกันอย่างตามมีตามเกิด แทนที่จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากระบบมหาวิทยาลัย ความดีงามขึ้นกับคนมากกว่าระบบ คนทำดี-นักสร้างสรรค์ต้องแบกรับภาระส่วนตัวสูง ผมก็ให้กำลังใจท่านเหล่านั้นด้วยความนับถือ ส่วนตัวผม ณ ตอนนี้มีจังหวะที่จะทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่รู้สึกว่ามันท้าทายตัวเองมากกว่า เราสามารถกุมชะตาชีวิตของมันได้มากกว่า และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาที่เหมาะสมของชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน

นั่นคืออะไร?

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนตั้งทีมทำงานความรู้ชื่อ The 101% (เรียกชื่อเล่นว่า “วันโอวัน”) ขึ้นมา มีผม นิ้วกลม โตมร ศุขปรีชา และอดีตลูกศิษย์เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์อีก 2-3 คน ก่อนหน้านั้นปีหนึ่ง พวกผมไปร่วมทีมทำรายการ สยามวาระ สารคดีเชิงวิเคราะห์ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทยในบริบทโลก กับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พอรายการเลิก พวกเราก็ยังรู้สึกท้าทายที่อยากทำรายการโทรทัศน์ที่มีฐานจากความรู้และงานวิจัย แต่ถูกนำเสนออย่างมีความคิดสร้างสรรค์และดูสนุก สุดท้ายทีมวันโอวันก็ร่วมกันทำรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” ขึ้นมา

เราอยากเป็นทีมที่เป็นสะพานเชื่อมโลกวิชาการเข้ากับโลกของความคิดสร้างสรรค์ และเผยแพร่ความรู้ที่เข้มข้นแต่ผ่านการปรุงรสให้อร่อยและมีสไตล์ออกไปสู่สังคมวงกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทีมเราผสมผสานระหว่างอาจารย์ นักวิจัย ครีเอทีฟ ผู้กำกับ กราฟิกดีไซเนอร์ เข้าด้วยกัน และพยายามสร้างสื่อสร้างสรรค์ที่ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างน้อยก็ในระดับวัฒนธรรมและวิธีคิด โลโก้ของวันโอวันคือ knowledge ยกกำลังด้วย creativity เราเชื่อว่าความรู้เป็นฐานในการเข้าใจโลกและเปลี่ยนแปลงโลก แล้วความรู้จะยิ่งมีพลังถ้าเราเติมพลังให้มันด้วยความคิดสร้างสรรค์ คิดวิธีและรูปแบบการเล่าเรื่องเพื่อให้ความรู้ถูกดึงลงจากหอคอยงาช้าง ออกจากห้องสมุด ออกจากสถาบันวิจัยไปสู่คนส่วนใหญ่ทั่วไปในสังคม

ตอนนี้วันโอวันก็เติบโตขึ้นมาระดับหนึ่ง ทีมใหญ่ขึ้น เราเรียนรู้มากขึ้น เราอยากทำงานท้าทายขึ้นไปอีกระดับ เราอยากทำงานในสนามที่เราเป็นคนกำหนดเกมเองได้ อยากสร้างให้มันมีความเป็นสถาบันสื่อ เป็นมากกว่าแค่โปรดักชั่นเฮ้าส์ทำงานเป็นโปรเจ็คๆ ปีหน้าเราอยากลองทำสองเรื่องใหญ่

หนึ่ง เราอยากทำสื่อแบบใหม่ในแบบของเรา เป็นสื่อที่ไม่ได้วิ่งตามประเด็นฉาบฉวยรายวัน แต่มุ่งตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องที่สำคัญ ผสมความรู้กับความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ผสมสื่อรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกัน มีทั้งงานเขียน งานคลิป งานอินโฟกราฟิก งานรายการโทรทัศน์ และเป็นสื่อมืออาชีพในแบบที่สอดคล้องกับโลกใหม่

ผมรู้สึกว่าจังหวะมันมาพอดี วงการสื่อกำลังจะเปลี่ยนขนานใหญ่ ไม่รู้ใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ถ้าวงการสื่อดำเนินไปตามปกติ การเข้าสู่วงการก็ต้องต่อแถวยาว โอกาสที่จะถูกมองเห็นและทำงานที่มีอิมแพคก็จะไม่มาก แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าดุลยภาพสื่อจะไปอยู่ที่ไหน โมเดลใหม่ของวงการสื่อคืออะไร ทั้งสื่อใหญ่สื่อเล็กต่างไม่รู้เท่าๆ กันหมด ผมเชื่อว่าช่วงเวลาแบบนี้มันสนุกและน่าตื่นเต้น ผมชอบ เพราะใครเป็นของจริง พิสูจน์ตัวเองได้ ก็จะมีพื้นที่ให้เราแทรกตัวเองขึ้นมาได้ มันเป็นเวทีที่วัดกันที่ความสามารถเป็นหลัก

สอง เราอยากทำโรงเรียนในแบบของเราเอง เป็นโรงเรียนช่างคิด คงเริ่มต้นทำง่ายๆ เป็น ซัมเมอร์สคูลก่อน เราอยากชวนเด็กที่เก่งในวงการต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เกรดดีเรียนเก่ง แต่รวมถึงเด็กบ้าการเมือง เด็กค่ายสิ่งแวดล้อม เซียนคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ นักแสดง นักดนตรี เด็กวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ชวนมาสัก 20-30 คน มาเรียนรู้ร่วมกันสัก 1 เดือน แบบที่หาเรียนไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย เรียนกับอาจารย์สารพัดสาขาที่น่าสนใจที่สุด รวมถึงเอ็นจีโอ นักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาชีพ มาคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ให้สัมภาษณ์ พาไปเดินทาง ทำเวิร์คช็อป เราเชื่อว่ามันจะมีประโยชน์กับเด็กเก่งกลุ่มนี้ เขาจะมีความคิดที่หลากหลายและเฉียบคมขึ้น กลมมากขึ้น และอาจารย์เองก็น่าจะสนุกตื่นเต้นด้วย

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องการเวลาไปลุยงานกับวันโอวัน จังหวะเวลามันมาพอดี และตอนนี้เราก็มีความลงตัว โดยเฉพาะกำลังคนที่มีแรงมีความคิดพร้อมลุย รวมถึงประสบการณ์ทำงานความรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แม้จะไม่ได้มีทรัพยากรด้านเงินทุนแบบคนอื่น

หลังจากลาออก ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร?

ผมยังอยู่ในโลกความรู้ และไม่ได้ออกไปจากโลกของอาจารย์โดยสิ้นเชิง ยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ เรายังชอบสอนหนังสือในห้อง แต่เป็นจังหวะที่ต้องปรับสมดุลใหม่ อาจจะสอนน้อยลง แต่ไปทำงานความรู้นอกห้องเรียนผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่ามันคือโจทย์เดียวกัน คือการทำงานความรู้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสอน การทำวิจัย การเขียน การทำหนังสือ การทำรายการทีวี การทำเว็บสื่อ แก่นคือเรื่องเดียวกัน

แต่อย่างไรมันก็ต้องรู้สึกใจหาย เพราะเราทำงานนี้ในบ้านหลังนี้มา 17 ปี ถ้ารวมตอนเรียนหนังสือด้วยก็ 22 ปี และที่นี่ก็เป็นที่ทำงานในฝันของผมตั้งแต่เด็ก ความฝันของผมก็ยังอยู่ที่นี่ เพื่อนก็อยู่ที่นี่ ชีวิตส่วนใหญ่ก็ผูกผันกับที่นี่ ที่นี่ร่วมสร้างผมขึ้นมา แต่เราเชื่อว่าการลาออกจากคณะ มันไม่ได้เป็นการตัดขาดกันแบบนั้น

ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไปไหนไกล เพราะสุดท้ายงานทั้งหมดที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ openworlds ที่ทำหนังสือแนวเศรษฐกิจการเมืองเต็มไปหมด ผลงานสารคดีที่วันโอวันทำ สื่อการเรียนรู้ย่อยงานวิจัยต่างๆ คณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่หรือที่อื่นๆ ก็เอาไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้เยอะแยะไปหมด เรายังช่วยทำงานให้กับวงการเศรษฐศาสตร์ วงการสังคมศาสตร์ หรือวงการวิชาการในเมืองไทยอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และรูปแบบความสัมพันธ์เท่านั้นเอง

พันธกิจในชีวิตของเรายังไม่เปลี่ยน เรายังทำงานความรู้ มันอยู่ในตัวเรา อยู่ในทุกที่ที่เราทำงานอยู่นั่นแหล่ะ.

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “มหาวิทยาลัย” ฉบับวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2559 ผลงานของนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Print Friendly