ผู้เขียน: Edsel L. Beja, Pokpong Junvith and Jared Ragusett
ตีพิมพ์: บทหนึ่งใน Epstein, Gerald (ed.). 2005. Capital Flight and Capital Controls in Developing Countries. Edward Elgar Publishing.
ผู้เขียน: Edsel L. Beja, Pokpong Junvith and Jared Ragusett
ตีพิมพ์: บทหนึ่งใน Epstein, Gerald (ed.). 2005. Capital Flight and Capital Controls in Developing Countries. Edward Elgar Publishing.
ชวนอ่านปกหน้า:
โลกาภิวัตน์ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ วิวาทะว่าด้วยการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ และ Capital Controls
ชวนอ่านปกหลัง:
หนังสือชุด ‘เศรษฐกิจทางเลือก’ เป็น ‘สิ่งยืนยัน’ ว่า ในซอกมุมเล็กๆ ของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ยังมีนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่ทำงานในแนวทางที่แตกต่าง ในซอกมุมเล็กๆ ของเศรษฐกิจโลก ยังมีบางประเทศที่เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางที่แตกต่าง
‘ทางเลือกอื่น’ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังพอมีหลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้ นโยบายเศรษฐกิจเหล่านั้นมิได้สร้างผลกระทบด้านลบแก่ระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจล้มเหลวหรือพังทลายลง ดังที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่หวาดกลัว
ในทางตรงกันข้าม นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกเหล่านั้นกลับมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่มีความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในประเทศเป็นเป้าหมายสุดท้าย
สำนักพิมพ์: openbooks
พิมพ์ครั้งแรก (ครั้งเดียว): มีนาคม 2553
เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างหนัก อันเป็นผลพวงจากความล้มเหลวของการทำงานของตลาดการเงิน ซึ่งทำงานอยู่บนฐานของความโลภส่วนตน แต่ไร้ซึ่งการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยโครงสร้างสิ่งจูงใจที่บิดเบือน (Moral Hazard) และผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีประสิทธิภาพเหมือนดังคำทำนายของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน
ผู้คนทั่วโลกตั้งคำถามท้าทาย “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” อย่างหนักหน่วง ในฐานะปัจจัยสำคัญที่นำพาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตรุนแรง เกิดกระแสด้านกลับต่อฉันทมติแห่งวอชิงตัน เช่น การเรียกร้องระบบกำกับดูแลตลาด โดยเฉพาะตลาดการเงิน เพื่อจัดการกับปัญหาผลกระทบภายนอกด้านลบ (Negative Externalities) ที่เกิดจากตลาดการเงิน โดยไม่ให้การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม รวมถึง การสนับสนุนบทบาทของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นเป้าหมายด้านการจ้างงานเป็นสำคัญ เป็นต้น
ไอเอ็มเอฟยืนอยู่ข้างฝ่ายสนับสนุนการเปิดเสรีการเงินและต่อต้านมาตรการควบคุมทุนอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หมุดหมายสำคัญในสายธารแห่งการถกเถียงเรื่องการเปิดเสรีการเงินก็ถูกปักลง เมื่อไอเอ็มเอฟตีพิมพ์ ‘บันทึกจุดยืนของทีมเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ’ (IMF Staff Position Note) ซึ่งมีเนื้อหาหลักดังที่หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลพาดหัวข่าวในเวลาต่อมาว่า “ไอเอ็มเอฟแนะนำให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่ใช้มาตรการควบคุมทุน”
ในบันทึกฉบับนั้น ไอเอ็มเอฟยอมรับว่า มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ หรือ “มาตรการควบคุมทุน” (Capital Controls) ควรถูกนับรวมเป็นหนึ่งใน ‘ชุดเครื่องมือ’ อัน ‘ชอบธรรม’ ที่ประเทศเศรษฐกิจใหม่สามารถหยิบมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เฉกเช่นเดียวกับนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ และการกำกับดูแลระบบการเงินภายในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ให้การยอมรับเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว
ท่าทีดังกล่าวถือเป็นการ ‘กลับหลังหัน’ ด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศของไอเอ็มเอฟครั้งสำคัญ เพราะแต่เดิมมีทีท่าปฏิเสธมาตรการควบคุมทุนอย่างแข็งขันมาโดยตลอด
ปรากฏการณ์สามัญประการหนึ่งภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ คือ การที่ผู้คนในประเทศยากจนต้องยอมขายแรงงานราคาถูกให้บรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations-MNCs) เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการหาเลี้ยงชีพที่ดีกว่า
ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ยากไร้ ไร้ทั้งทรัพยากร ไร้ทั้งทางเลือก ก็คือ ยอมถูกขูดรีดกดขี่เอาเปรียบ ดีกว่าตกงานไม่มีอะไรกิน แม้ระบบทุนนิยมจะถูกสรรเสริญว่าเป็นระบบที่ให้คนมีสิทธิ “เลือก” ตามเจตจำนงเสรี แต่การเลือกระหว่างความทุกข์ทนข้นแค้น 2 ทาง จะพูดได้เต็มปากหรือว่านั่นคือการเลือก ?
ในหลายกรณี คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเสียอีก มิพักต้องพูดถึงระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wages) ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิในตัวเอง
คำถามที่สำคัญก็คือ การตรึงค่าแรงต่ำและกดระดับสวัสดิการเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาคเอกชน และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในระยะยาวเพียงใด เมื่อเทียบกับการเลือกเส้นทางพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น นอกจากต้นทุนทางสังคมจากยุทธศาสตร์กดค่าแรงต่ำ และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว หากประเทศเลือกแข่งกับประเทศอื่นด้วยการ “ขายของถูก” แทนที่จะ “ขายของดีและเด่น” ก็ย่อมมีประเทศที่ยากจนกว่าหรือมีแรงงานมากกว่าสามารถขายของที่ถูกกว่าได้ เช่น จีน เวียดนาม ที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย เมื่อนั้นไทยย่อมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวิถีทางที่มีเป้าหมายบั้นปลายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ดีมีสุขมากขึ้น แต่หาก “กระบวนการ” ที่นำมาซึ่งการเติบโตต้องแลกด้วยการลงโทษกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่าโดยเปรียบเทียบอย่างแรงงานที่อยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ คำถามที่ตามมาก็คือ จะถือว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังประโยชน์อยู่อีกได้อย่างไรและเป็นไปเพื่อใคร ในเมื่อบนเส้นทางแห่งการเติบโตต้องบั่นทอนเป้าหมายบั้นปลายแห่งการเติบโตนั้น ซึ่งก็คือ สังคมที่คนอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่สังคมที่นายทุนหรือชนชั้นกลางอยู่ดีมีสุข แต่คนจนต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญ