เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มิ.ย. 2557) โครงการ NBTC Policy Watch ออกมาแถลงผลการศึกษาว่า ผ่านไปแล้ว 1 ปี ราคา 3G ลดลง 15% ตามที่ กสทช.กำหนดไว้จริงหรือไม่
ถ้าจำกันได้ การประมูล 3G ถูกตั้งคำถามเรื่องการออกแบบกระบวนการประมูลอย่างหนักว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน (เปรียบอย่างหยาบๆ เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี มีเก้าอี้ 3 ตัว คนเล่น 3 คน) จนท้ายที่สุด ราคาที่ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายก็แพงขึ้นกว่าราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยมากๆ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่พึงได้ไปมหาศาล เพราะราคาตั้งต้นของการประมูลไม่ได้ตั้งไว้ให้ใกล้เคียงกับมูลค่าคลื่นจริงๆ ทั้งที่หลักการทั่วไปก็รู้กันอยู่แล้วว่า ยิ่งสภาพการประมูลมีการแข่งขันน้อย ยิ่งต้องกำหนดราคาตั้งต้นให้ใกล้เคียงกับมูลค่าคลื่นจริงๆ ให้มาก หลังการประมูล ฝั่ง กสทช.จำนวนหนึ่งพยายามบอกเราว่า ถึงรัฐจะไม่ได้รายได้มากดังใจ แต่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ เพราะผู้บริโภคน่าก็จะได้ของถูกลงจากต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต่ำลง ช่วงนั้น กสทช.จึงได้ออกมากำหนดให้ค่าบริการ 3G ต้องถูกลง 15% เพื่อลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
แล้วราคามันถูกลงจริงอย่างว่าจริงไหม? กสทช.เขาว่ามันถูกลงแล้วจริงๆ
งานวิจัยของ อ.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ตอบว่า 1 ปีผ่านไป ราคา 3G ไม่ได้ลดลงจริงอย่างที่ กสทช.อ้างไว้ มีแต่ดีแทคเท่านั้นที่ปฏิบัติได้ตรงตามเกณฑ์ ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะ อ.พรเทพแกรักดีแทค แต่เพราะดีแทคเสนอแพคเกจให้ผู้ใช้บริการผสมผสานความต้องการใช้โทรศัพท์กับใช้อินเทอร์เน็ตได้ในสัดส่วนตามใจผู้บริโภคเอง ไม่ใช่ผู้ให้บริการกำหนดตะกร้ามายัดใส่มือผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเลือกได้อย่างจำกัด วิธีที่ยิ่งเพิ่มเสรีภาพในการเลือกแบบนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์มากกว่าการถูกบังคับเลือก ถ้า AIS หรือ TRUE อยากถูกชมจาก อ.พรเทพบ้าง ก็อาจปรับตัวหันไปใช้กติกาแบบเดียวกันนี้เป็นวิธีหนึ่ง
กสทช.ได้อ่านงานวิจัยแล้ว แทนที่จะมองเห็น “ความงาม” ของมัน หรือใช้มันเป็นฐานในการตรวจสอบ-ประเมินการทำงานของตัวเอง หรือใช้มันเป็นฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค หรือถ้าไม่เห็นด้วยตรงไหนก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบนฐานวิชาการ เพราะงานวิจัยชิ้นไหนๆก็ไม่ใช่ “ความจริงแท้” ที่ห้ามท้าทาย แต่เป็น “ความจริง” ภายใต้ข้อสมมติและกรอบการวิเคราะห์ชุดหนึ่งๆ เห็นเหมือนเห็นต่างก็มาเถียงกันทางวิชาการว่าระเบียบวิธีศึกษาของใครดีกว่าอย่างไร ข้อสมมติใครเข้าท่ากว่ากัน แต่กสทช.ดันทำตัวตรงกันข้ามเลยครับ
เมื่อวานนี้ กสทช.กลับส่งข่าวแจกไปตามสื่อมวลชนต่างๆ เขียนดิสเครดิตนักวิจัยว่า “มั่ว” และมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
ดูลิงก์ข่าวแจก ที่นี่ ครับ
เรื่อง “มั่ว” นี่มี 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก อ้างว่างานวิจัยไม่ได้ใช้ฐานข้อมูลในการคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ กสทช. … ก็ต้องเป็นอย่างนั้นสิครับ เพราะ อ.พรเทพแกก็บอกอยู่ในงานศึกษาของแกแล้วว่า เกณฑ์ของ กสทช.ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ว่าผู้บริโภคดีขึ้นจริงหรือไม่ ได้ดีเท่าเกณฑ์ของแก ซึ่งเขาเชื่อว่าตอบโจทย์วิจัยได้ดีกว่า เขาก็ใช้อันนั้น
ประเด็นที่สอง กสทช.ยังบอกว่า แพคเกจที่ อ.พรเทพใช้วิเคราะห์ยังมีน้อยเกินไป ใช้ไม่ได้ ไม่ครอบคลุมเหมือนตอน กสทช.คำนวณเองที่ใช้กว่า 600 กว่าแพคเกจ จริงๆ แล้ว อ.พรเทพก็มีหลักของเขาว่าทำไมถึงเลือกมาใช้แค่นี้ ไม่ใช่เพราะแกขี้เกียจ แพคเกจเยอะแยะไม่ได้แปลว่าจะให้ภาพที่ดีกว่าในการวิจัย เพราะมีแพคเกจหลายแพคเกจที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้จริงหรือใช้น้อยมาก ถ้าเอาไปรวมอาจจะทำให้ถูกลวงตาในการวิเคราะห์ว่าราคาดูเหมือนถูกลงทั้งที่ผู้บริโภคตัวจริงไม่ได้เผชิญราคาที่ถูกลงจริงๆ ก็ได้
จริงๆแล้ว แนวทางที่ อ.พรเทพใช้ ประเทศ OECD เขาก็ใช้กัน เพราะอธิบายเรื่องที่ศึกษาวิจัยนี้ได้ลุ่มลึกกว่า กสทช.เองต่างหากที่ควรจะหันมาใช้วิธีนี้ ไม่ใช่ทำแค่รวมแพคเกจมาเยอะๆ แล้วหาค่าเฉลี่ย โดยไม่คำนึงถึงน้ำหนักของจำนวนผู้ใช้บริโภค
จะเห็นเหมือนเห็นต่างยังไงในสองประเด็นนี้ ก็ไปเถียงกันแบบอารยะ เถียงกันตามหลักวิชาได้ ดีกว่าแค่มาด่ากันว่า “มั่ว” … เถียงกันแล้ว สุดท้าย กสทช.ก็อาจจะฉลาดขึ้น พรเทพก็อาจจะฉลาดขึ้น องค์กรกำกับดูแลนี่ทำงานระดับชาติอยู่นะครับ ควรชวนคนเห็นต่างมาแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ชวนทะเลาะนะครับ การชวนคนแลกเปลี่ยนก็ให้มันสง่างาม เป็นมืออาชีพ มีวุฒิภาวะ และให้เกียรติผู้คนมากกว่านี้ได้ครับ
อย่าลืมว่ากสทช.ไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดระเบียบวิธีในการทำวิจัยด้วยนะครับ ในโลกทางปัญญาเขาไม่มีใครผูกขาดความจริงกันนะครับ
อีกประเด็นหนึ่งเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อันนี้ตลกดี ตลกขื่นๆ อ.พรเทพเขาทำงานวิจัยบนฐานตรวจสอบว่าผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมไหม วิธีหนึ่งที่เขาใช้คือ เอาตัวเองไปทดลอง ลองร้องเรียนบริษัทมือถือที่ตัวเองใช้บริการอยู่ว่าราคาไม่เห็นถูกลง 15% จริงเลย (ก็ถ้า กสทช.ทำงานมีประสิทธิภาพ เขาก็คงไม่ต้องลงทุนขนาดนี้แต่แรกนะครับ) ค่าโทรศัพท์ที่แกจะได้คืนถ้าลดราคาลงสำเร็จก็แค่หลักร้อยแหละครับ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือแกอยากดูว่า พอร้องเรียนไปแล้ว กระบวนการมันทำงานยังไง ใช้เวลาเท่าไหร่ กสทช.จะทำยังไง ผู้ให้บริการจะทำยังไง มีระบบดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องเป็นราวไหม หรือใครอยากได้ต้องโวยวายกันเอาเองเป็นรายๆ ไป
กลายเป็นว่า กสทช เขียนในข่าวแจกดิสเครดิตว่า ผู้วิจัยกลายเป็นคู่กรณีกับบริษัทมือถือเสียเอง จึงเกิดคำถามถึงความเป็นกลางของงานวิจัย เอากับเขาสิครับ อันนี้ไม่รู้จะรู้สึกยังไงดีนะครับ ผมเองก็พูดตรงๆ ว่าเจอมาตรฐานระดับนี้ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน ตามตรรกะนี้ ต่อไปผู้บริโภคที่ถูกบริษัทมือถือเอาเปรียบแล้วไปร้องเรียนกับ กสทช. ก็ไม่สามารถวิจารณ์หรือวิจัยบริษัทมือถือและ กสทช.ได้ เพราะทั่นจะหาว่ามีอคติ ไม่เป็นกลาง ผลประโยชน์ทับซ้อน
ถ้า กสทช.ใช้มาตรฐานสูงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ภายในองค์กรหรือกับกลุ่มทุน อาจจะไม่ต้องมีโครงการ watch ก็ได้ เราคงอนุโมทนาสาธุกันถ้วนหน้า แต่ตรรกะผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริโภคแบบนี้ ผมเพิ่งเคยได้ยินก็คราวนี้เอง
พูดแล้วก็ขอเชิญท่านทั้งหลายไปอ่านงานวิจัยฉบับเต็มของโครงการ, ข่าวแจกของ กสทช. และ press release ตอบโต้ กสทช. ของโครงการ NBTC Policy Watch แล้วเปรียบเทียบคุณภาพดูแล้วกันนะครับ
อยากทิ้งท้ายว่า กสทช.เป็นองค์กรสำคัญมากนะครับ ถ้าทำงานดีๆ จะช่วยปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปประชาธิปไตย และมีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคได้มากเลย คงไม่มีใครอยากเห็น กสทช.มุ่งแต่จะปิดกั้นสื่อ รับใช้รัฐบาลทหาร และเอาแต่คุ้มครองประโยชน์ของกลุ่มทุน
และการปกป้องตัวเองนี่ก็เอาแต่พองาม นิดๆ หน่อยๆ ก็พอครับ หันไปมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากๆ จะดีกว่า
เรา (รวมถึง กสทช.) น่าจะดีใจที่มีคนมาช่วยจับตาตรวจสอบเพื่อให้ กสทช.ทำงานได้ดีขึ้นนะครับ โครงการ NBTC Policy Watch พยายามทำงานนี้มาต่อเนื่องบนฐานวิชาการ ไม่ใช่วิจารณ์ด้วยอารมณ์ แต่การออกมาวิจารณ์หรือแถลงข่าวแต่ละครั้งมีงานวิจัยหนุนหลังทุกครั้งนะครับ และที่ผ่านมา จะจัดแถลงข่าวหรือสัมมนาเรื่องอะไรก็เชิญฝั่ง กสทช.ให้มาวิจารณ์กลับและแลกเปลี่ยนกันตลอด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เปิดพื้นที่ให้ กสทช.ได้ชี้แจงบนเวทีสาธารณะที่โครงการจัดอย่างเต็มที่ ไม่มีการพูดจาแบบดิสเครดิตหรือตั้งหน้าตั้งตาด่า กสทช. ทางเดียว ถ้ามีเรื่องให้ชมได้ ก็ชมตลอด แต่มันไม่ค่อยจะมี
อ้อ ต้องบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า ผมเป็น steering committee ของโครงการนี้คนหนึ่ง อย่าเพิ่งรีบเชื่อผมเหมือนกันนะครับ ไปพิสูจน์ผลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากันเอง อยากชวนเพื่อนๆ เข้าไปดูผลงานของทีมวิจัยกันได้ที่ www.nbtcpolicywatch.org ครับ งานวิจัยทุกชิ้นเปิดเผยโปร่งใสหมด (ไม่เหมือน กสทช.ที่สังคมไม่เคยได้อ่านงานวิจัยที่เขาใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบายกำกับดูแล) อ่านแล้วท่านลองใช้วิจารณญาณตัดสินกันเองเมื่อฟังหรืออ่านทั้งฝ่าย watch และฝ่าย กสทช. ในกรณีที่ทั้งสององค์กรเห็นต่างกัน
รอบนี้ขอออกมาเขียนบ่นๆ ให้เพื่อนฝูงอ่านกันหน่อย เพราะเห็นชะตากรรมของนักวิจัยที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังและมีคุณภาพเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะอย่างอ.พรเทพ และ อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการนี้แล้ว อดทอดถอนใจมิได้
ผู้มีอำนาจใน กสทช.ควรมองคนกลุ่มนี้เป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช่ศัตรูครับ