“บาบ้าปาป้า” คือตำนาน
.
.
อันแน็ต ติซง และเทลัส เทเลอร์ สองสามีภรรยาร่วมกันสร้างสรรค์หนังสือภาพชุดนี้ขึ้นมาในปี 1970 ติซง ภรรยา เป็นชาวฝรั่งเศส พื้นฐานร่ำเรียนมาทางสถาปัตย์ ส่วนเทเลอร์ สามี เป็นอเมริกัน สอนวิทยาศาสตร์อยู่ที่ชิคาโก
.
บาบ้าปาป้าได้แรงบันดาลใจมาจากขนมน้ำตาลสายไหม ตอนทั้งคู่เดินเล่นอยู่ในสวนที่ปารีส แล้วได้ยินเสียงเด็กน้อยร้องขอขนม “บาร์บ อะ ปาป้า” กับพ่อแม่ ด้วยเสียง “บา บา บา บา” เมื่อติซงกับเทเลอร์แวะนั่งร้านอาหารเลยใช้กระดาษทิชชู่ร่างตัวการ์ตูน “บาบ้าปาป้า” ในร้านนั้น จนต่อมาเป็นที่โด่งดังทั่วโลก กระทั่งทุกวันนี้
.
เจ้าของไอเดียทำ “บาบ้าปาป้า” ฉบับภาษาไทยคือ บ.ก.เป็ด วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้รักเด็ก โดยมีเสียงเชียร์จากมิตรสหายพ่อแม่เจนเอ๊กซ์เจนวายรอบตัวที่เติบโตมากับ “บาบ้าปาป้า”
เจ้าของไอเดียทำ “บาบ้าปาป้า” ฉบับภาษาไทยคือ บ.ก.เป็ด วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้รักเด็ก โดยมีเสียงเชียร์จากมิตรสหายพ่อแม่เจนเอ๊กซ์เจนวายรอบตัวที่เติบโตมากับ “บาบ้าปาป้า”
.
ไม่น่าเชื่อว่า “บาบ้าปาป้า” ไม่เคยถูกแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ครั้งนี้ kidscape ลูก bookscape ขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดยมีสุญญตา เมี้ยนละม้าย ซึ่งตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส เป็นผู้ดูแลด้านการแปลทั้งเซ็ตคลาสสิก ครบชุด 10 เล่ม
.
ตอนแรกเราคิดว่าคงได้ขายพ่อแม่เป็นหลัก ให้เหล่าเพื่อนฝูงได้รำลึก “วันชื่นคืนสุขแต่หนหลัง” กัน แต่ปรากฏว่า เมื่อหนังสือได้ออกเดินทางและทำหน้าที่ของมัน แฟนคลับ “บาบ้าปาป้า” ตัวน้อยก็เกิดขึ้นเต็มไปหมด
.
มานั่งอ่าน “บาบ้าปาป้า” อีกรอบในอีก 30-40 ปีให้หลัง ก็ยิ่งตื่นเต้น เพราะเป็นการ์ตูนที่มาก่อนกาลมากๆ หลายประเด็นใน “บาบ้าปาป้า” ยังทำงานได้อย่างทรงพลังในโลกร่วมสมัยอย่างน่าทึ่ง และยังเชื่อมสัมพันธ์กับหัวจิตหัวใจของเด็กน้อยยุคใหม่ได้อย่างแนบสนิท
.
นิยามของตำนานเป็นแบบนี้นี่เอง
.
งานหนังสือรอบนี้ kidscape วางแผง “บาบ้าปาป้า” ครบชุด 10 เล่มเรียบร้อยแล้วครับ เป็นหนังสือที่อยากชวนให้ผู้ใหญ่หัวใจเด็กทุกคนกลับไปอ่าน แล้วแจกจ่ายให้ลูกให้หลานอ่านให้สนุกกันรุ่นต่อรุ่น นี่เป็นหนังสือที่สร้างบทสนทนาในครอบครัว เชื่อมสัมพันธ์พ่อแม่ลูกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ลองชิมรสหนังสือภาพดูสักเล่ม จะสัมผัสได้ถึงพลังของมันท่ามกลางความเรียบง่ายงดงาม
.
เหมือนที่เอ๋ นิ้วกลม เคยเขียนว่า “บาบ้าปาป้า” พาผู้อ่าน “กลับไปสู่โลกจินตนาการ ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันมันก็สอนให้เด็กๆ เรียนรู้โลกไปด้วย ทั้งด้านน่าตื่นเต้นและด้านอัปลักษณ์ มันสอนให้ยอมรับ ขณะเดียวกันก็สอนให้ไม่ยอม”
.
หลังหนังสือวางแผงมีมิตรสหายหลายท่านได้เขียนถึง “บาบ้าปาป้า” ไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ และบี-ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการ Mutual ขออนุญาตนำมาให้อ่านใหม่กันตรงนี้อีกรอบครับ
.
……….
.
.
:: คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อ่าน “บาบ้าปาป้า” ::
.
“บาบ้าปาป้าเป็นสิ่งมีชีวิตสีชมพู เขาเปลี่ยนรูปร่างได้ เรียกว่าเชฟชิฟติ้ง (shape-shifting)
.
การเปลี่ยนรูปร่างโดยเฉพาะเปลี่ยนเป็นสัตว์ต่างๆ เป็นความปรารถนาหนึ่งของคนเราโดยเฉพาะเด็กๆ
.
มีหน้าที่สำคัญ 2 ข้อ
.
ข้อแรกคือไปจากตรงนี้ ข้อสองคือเป็นกลไก “ตบ” ความคิดให้เข้าที่เข้าทาง
.
อธิบาย
.
ผมเขียนเสมอว่าคับที่อยู่ยาก อ่านนิทานก่อนนอนอยู่ง่าย ความหมายคือบ้านที่คับแคบ ชีวิตที่อึดอัด ถูกกักตัวเพราะโควิดหรือ PM 2.5 นิทานเป็นพาหนะพาเด็กๆ หนีออกไป (ก่อนจะเป็นบ้าไปเสียก่อน)
.
ในบ้านที่พ่อแม่ดุร้าย พี่เลี้ยงสักคนอ่านนิทานให้เด็กฟัง เด็กแทบจะเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นตัวละครได้เลย
.
ในสภาวะที่ความคิดแตกกระจาย การเป็น shape-shifter จะช่วยลดความกดดันนี้ได้เพราะเชฟชิฟเตอร์ (ผู้เปลี่ยนรูปร่าง) ใช้ความไม่ยึดติดกับรูปร่างใดทำอะไรก็ได้ที่ร่างเดิมทำไม่ได้
.
ปัญหาของทฤษฎีเรื่องเชฟชิฟติ้งนี้มีติดอยู่ข้อเดียว ร่างเดิมของเชฟชิฟเตอร์คืออะไร? เฉลย คือขนมสายไหม (น่าเจ็บใจที่เราคิดเรื่องนี้ไม่ออกก่อนนักเขียนคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศสนี้)
.
แต่บาบ้าปาป้าดูเหมือนจะมีร่างเดิมอยู่แล้วเขาเลยไม่ค่อยกลุ้มใจเท่าไร เขาเป็นสีชมพู คนสมัยก่อนก็จะคิดถึงผู้หญิง แต่เพราะเขามีชื่อว่าปาป้า ความขัดแย้งนี้มีเสน่ห์ในฝรั่งเศสตั้งแต่แรก หนังสือมีหลายเล่ม อ่านไปก็จะรู้ว่าเขาเป็นผู้ชายแน่นอน
.
หนังสือสวยงาม เหมาะมากสำหรับท่านที่ไม่เคยไปฝรั่งเศส นั่งดูฉากหลังก็เพลิน สำหรับท่านที่เคยไปและคิดถึง นั่งดูฉากหลังก็หายคิดถึงไปเลย”
.
……….
.
:: นิ้วกลม อ่าน “บาบ้าปาป้า” ::
.
“ความเศร้าเป็นเสน่ห์ของบาบาปาป้า ชีวิตมีปัญหา โลกมีปัญหา แต่ด้วยความยืดหยุ่นกลายร่างเป็นรูปทรงนานาชนิดได้ มันจึงผ่านความเศร้าต่างๆ ไปได้ด้วยดี และช่วยเหลือผู้คนรอบตัวให้ผ่านปัญหาอุปสรรคไปได้ด้วย
.
การ์ตูนไม่กี่หน้าเหล่านี้พาเรากลับไปเป็นเด็ก และพาเด็กคนนั้นกลับไปสู่โลกจินตนาการ ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันมันก็สอนให้เด็กๆ เรียนรู้โลกไปด้วย ทั้งด้านน่าตื่นเต้นและด้านอัปลักษณ์ มันสอนให้ยอมรับ ขณะเดียวกันก็สอนให้ไม่ยอม
.
ไล่สายตาดูไปตามลายเส้นและรายละเอียดของรูปวาดก็สนุก แต่น่าจะสนุกกว่านั้นถ้าได้เปิดไปทีละหน้าแล้วชวนเด็กสักคนหนึ่งคุยกัน เพราะเรื่องราวในนั้นน่า ‘ชวนคุย’ มากมาย เชื่อว่าถ้าได้ฟังความคิดเด็กน้อยจะเกิดมุมมองที่คิดไม่ถึงและต่อยอดไปจากเรื่องราวในเล่มออกไปอีก
.
การ์ตูนแบบนี้เปิดให้เกิดบทสนทนา ถึงมันจะเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1970 แต่ก็ยังร่วมสมัย เหมาะสำหรับโลกยุคที่พ่อแม่ไม่ได้ ‘เล่า’ นิทานให้ลูกฟังฝ่ายเดียว แต่จะสนุกขึ้นถ้าได้ ‘ฟัง’ ลูกบอกเล่าว่าคิดยังไงกับเรื่องราวในเล่ม
.
‘ช่องว่าง’ ของจินตนาการจากการอ่านการ์ตูนดีๆ ก็เหมือนความยืดหยุ่นของบาบาปาป้านี่เอง มันพร้อมแปลงร่างไปเป็น ‘อะไรก็ได้’
.
ตรงนั้นเองที่ผู้เขียนไม่ได้คิดไว้ ตรงนั้นเองที่ผู้อ่านสามารถร่วมสนุก แล้วปั้นเรื่องขึ้นมาอย่างใจ เหมือนที่บาบ้าปาป้าแปลงร่างได้อย่างน่าอัศจรรย์”
.
……….
.
:: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ อ่าน “บาบ้าปาป้า” ::
.
“ภายใต้รอยยิ้มใจดีและรูปร่างที่ยืดหยุ่นของบาบ้าปาป้ามันเริ่มต้นมาจากการอยากทำให้คนอื่นรัก
.
บาบ้าปาป้าเกิดที่สวนหลังบ้านของฟรองซัว เด็กชายผู้เป็นเพื่อนคนแรกในโลกของบาบ้าปาป้า
.
และเพราะไม่ใช่มนุษย์ แถมรูปร่างก็หาคำจำกัดความไม่ได้ บาบ้าปาป้าจึงต้องออกจากบ้านแล้วเดินทางไปหลายต่อหลายแห่งเพื่อหาที่ที่เหมาะกับตัวเอง
.
ไปสวนสัตว์ก็อยู่ในกรงขัง แต่พอพบว่าตัวเองเปลี่ยนรูปร่างได้ เลยลอดผ่านลูกกรงออกมา พอเป็นอิสระก็ได้พบเจอกับสิงสาราสัตว์ต่างๆ ก่อนจะพบว่าการทำตัวให้เหมือนสัตว์เหล่านั้น ก็ไม่ทำให้พวกมันนับบาบ้าเป็นเพื่อนอยู่ดี
.
ถึงคราวผจญในเมืองใหญ่ การไม่ถูกนับว่าเป็นพวกใคร ทำให้บาบ้าปาป้าเศร้าจนน้ำตาไหล
.
จนเมื่อมีเหตุการณ์ไฟไหม้เข้ามา เจ้าลูกแพร์สีชมพูก็ช่วยชีวิตทุกคนที่กลายเปลี่ยนร่างเป็นบันไดให้ไต่ลงมา นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่บาบ้าปาป้าได้ใช้ความเป็นตัวเองช่วยเหลือผู้อื่น และคนอื่นก็ชื่นชมบาบ้าปาป้าในความไม่เหมือนใครแบบนี้
.
ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่บาบ้าปาป้ารู้ว่าตัวเองเป็นที่พึ่งพาได้ โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการทำตัวให้เหมือนใคร หรือ รอให้ใครมารัก
.
จนมาถึงวันที่บาบ้าปาป้าได้เป็นที่รักด้วยตัวของตัวเอง บาบ้าปาป้าดัง บาบ้าปาป้ากลายเป็นวีรบุรุษ แต่บาบ้าปาป้ารู้สึกว่าอยากกลับบ้าน
.
บ้านคือฟรองซัว เพื่อนคนแรกในโลกที่รักบาบ้าปาป้าไม่ว่าจะตัวสีอะไรหรือยืดหยุ่นเปลี่ยนร่างได้ล้านแปดแค่ไหน
.
บาบ้าปาป้ามั่นใจในบ้านหลังนี้เสมอ จึงอยากกลับมา พ่อแม่ของฟรองซัวก็สร้างบ้านจริงๆ ให้กับบาบ้าปาป้า
.
แต่ไม่ว่าจะมีบ้านหรือไม่มีบ้าน การได้กลับมาอยู่กับคนที่ไม่ต้องพยายามให้รักแต่รักเราจริงๆ นั่นเรียกว่าบ้านแล้ว”
.
……….
.
เพื่อนๆ อ่าน “บาบ้าปาป้า” แล้ว หรือชวนลูกๆ หลานๆ อ่าน “บาบ้าปาป้า” กันแล้ว เห็นอะไร คิดอะไร จินตนาการอะไร เขียนมาเล่าสู่กันฟังใน Kidscape ได้นะครับ