เกือบ 17 ปี ที่สอนหนังสือในธรรมศาสตร์ มีความทรงจำที่งดงามเกี่ยวกับการสอนมากมาย โดยเฉพาะความประทับใจต่อลูกศิษย์แต่ละรุ่น
ครั้งแรกที่ผมได้สอนหนังสือให้คณะคือภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2542 วิชาแรกคือหลักสาม (ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค แต่สมัยนั้นเรียกชื่อวิชาว่า ทฤษฎีราคาและวิภาคกรรม ชื่อเท่ดีไหม) โดยเป็นอาจารย์ติวในห้องย่อย และขึ้นสอนบางหัวข้อในห้องใหญ่ ถ้าจำไม่ผิดจะได้สอนส่วนที่ว่าด้วยตลาดผูกขาด นักศึกษารุ่นนั้นคือรุ่นรหัส 41 – ไหม ป๊อป ชวน ฯลฯ
เทอมต่อมาถึงได้รับผิดชอบเต็มวิชา สอนวิชาหลักสอง (เศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้น) ลูกศิษย์รุ่นแรกแบบเต็มตัวคือรุ่นโหม่ง สุนทร ฯลฯ
การสอนครั้งแรกๆ ย่อมอยู่ในความทรงจำเสมอ ช่วงนั้นวัยผมกับลูกศิษย์ไม่ได้ห่างกัน เพราะผมเป็นอาจารย์ตั้งแต่จบปริญญาตรี จึงอยู่กันแบบพี่แบบน้อง หลายคนยังคงคบหากันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน บางคนกลายเป็นอาจารย์ร่วมคณะ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ทีดีอาร์ไอ หลายคนยังติดต่อกันอยู่เสมอ
ผมสอนวิชาหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นหลัก จนกระทั่งไปเรียนต่อต่างประเทศ พอกลับมาก็สอนแต่วิชาสายเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบัน สัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์กับกฎหมาย และวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยอย่างสังคมกับเศรษฐกิจ บางปีก็เปิดวิชา selected topics สอนเนื้อหาที่กำลังสนใจศึกษาอยู่ เช่น เศรษฐกิจการเมืองสหรัฐอเมริกา ส่วนช่วงหลังก็สอนวิชาบูรณาการเศรษฐศาสตร์สาธารณะ การพัฒนา และการเมืองด้วย
แต่ละปีจะมีนักศึกษาเก่งๆ และน่าสนใจๆ อยู่เสมอ แต่มี 3 รุ่นที่พิเศษหน่อย เพราะเป็นรุ่นที่มีคนน่าสนใจมากมายเหลือเกิน คือได้ปะทะสังสรรค์กับตัวแสบตัวจี๊ดตัวกลั่นตัวเก่งที่หลุดเข้ามาพร้อมกันเป็นแผง
รุ่นแรกคือรุ่นรหัส 44 รุ่นชล น้ำทิพย์ ไกรยส ฯลฯ วิชาที่มีโอกาสได้สอนรุ่นนี้ (และมีรุ่นน้องอย่างหวาน ล็อตโต้ ฯลฯ มาร่วมเรียนด้วย) เป็นวิชาพิเศษ เปิดสอนครั้งเดียวในคณะ คือวิชา EC418 ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคเปรียบเทียบ จริงๆ มันคือวิชาว่าด้วยพัฒนาการแนวคิดว่าด้วยเศรษฐศาสตร์มหภาค สอนวิวัฒนาการของระเบียบวิธีศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาค ผมกับภาวินสอนคู่กัน พร้อมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงกันให้นักศึกษาเห็นว่าในประเด็นหนึ่งๆ ถ้ามองประเด็นเดียวกันจากฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่ละสำนักเขาคิดอะไร ต่างกันอย่างไร โต้กันอย่างไร เราอยากทำให้นักศึกษามองเห็นความหลากหลาย (และรุ่มรวย) ของวิชาเศรษฐศาสตร์ และฝึกความคิดเชิงถกเถียงและวิพากษ์ไปด้วย นักศึกษาของเราในคลาสนั้นต่อมากลายเป็นนักวิชาการกันหลายคน ซึ่งก็ไม่แปลกใจเพราะเห็นแววเด่นมาตั้งแต่ในห้องแล้ว
รุ่นที่สองนี่สุดจะสรรหาคำบรรยาย เขาคือพวกรหัส 47 ไม่รู้ว่าต้องสอนหนังสืออีกกี่กี่ปีจะได้เจอกับประสบการณ์อะไรแบบนี้อีก มันทั้งเก่งทั้งเกรียนทั้งเป็นตัวของตัวเอง เป็นรุ่นที่ความเก่งมันมาหลากหลายแนว และไต่อยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความเก่งกับความบ้า แต่มันทำให้ประสบการณ์ระหว่างพวกเราสนุกฉิบหายเลย ไม่แปลกใจเหมือนกันที่หลังเรียนจบ ต่างคนต่างแยกย้ายออกไปเรียนและทำงานกันในสารพัดวงการ ทั้งวงการวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะทำงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ลามไปถึงรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา การเงิน ประวัติศาสตร์ ฯลฯ บางคนไปเป็นเอ็นจีโอ บางคนไปทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ บางคนทำโฆษณา บางคนไปทำงานการเมือง ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไปสร้างความคึกคักให้กับทุกที่ที่พวกเขาเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ถ้าจะตั้งชื่อรุ่นก็คงเป็น “รุ่นที่จัดประเภทมิได้” ลองนึกถึงหน้าคนอย่างติ๊ด ม่อน กู๋ หลุยส์ เชฟ เต่า เก็ต เมฆ ฮง จือ ฯลฯ วิชาที่คนพวกนี้มารวมตัวกันเรียนคือ EC402 แถมปีนั้นผสมกับรุ่นน้องคนเก่งอย่างยาส ฯลฯ อีก มันเลยกลายเป็นวิชาที่ลืมไม่ลงจริงๆ
รุ่นที่สามที่ผมรู้สึกผูกผันมากคือ รุ่นรหัส 49 วิชาที่ลืมไม่ลงของผมกับนักศึกษารุ่นนี้คือ EC409 หรือสัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมือง เราทั้งดูหนังแล้วมานั่งวิจารณ์กัน รีวิวหนังสือที่น่าสนใจคนละเล่ม และเขียนเปเปอร์ที่ตั้งคำถามสนุกๆ ทั้งนั้นเลย รุ่นนี้มีคนเก่งแบบพอดีๆ (รุ่นก่อนมันเกินเลยจากคำว่าพอดีไปมาก – ฮา) และครบเครื่องหลายคน อย่างแชมป์(กฤดิกร) ป๊อป คุปต์ ผมโชคดีที่มีโอกาสทำงานกับทั้งสามคนหลังจากเรียนจบ แชมป์(กฤดิกร)เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผมบุกเบิก openworlds และ 101 คุปต์มาทำวิจัยกันที่ทีดีอาร์ไอ และป๊อปมาเป็นอาจารย์ของคณะในตอนนี้ ทำให้ผมลาออกมาได้อย่างสบายใจ นอกจากนั้นเพื่อนๆ ในคลาสนั้นก็อยู่ในความทรงจำของผมเสมอ ทั้งแก้ว ตอง อิ๊งค์ แจ้ ตี๋ ฝน ฝ้าย แชมป์(หล่อ) ฯลฯ
นั่นคือความทรงจำที่ดีกับนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์แบบรวมหมู่ (ถ้าพูดถึงความทรงจำแบบคนต่อคนยิ่งมีเรื่องเล่าอีกมากมายและหลายแบบ) ถ้าเป็นนอกคณะ ผมก็โชคดีที่มีโอกาสได้ไปสอนวิชาสังคมกับเศรษฐกิจหรือ TU124 ให้กับนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โครงการตรีควบโท เรียนห้าปีจบที่ท่าพระจันทร์ (โครงการบัญชีห้าปี) นักศึกษาช่วงสามปีแรกของโครงการมีคุณภาพสูงส่งแบบประเสริฐเลิศเลอมาก ทั้งเก่ง ทั้งนิสัยดี ทั้งมีความสามารถรอบด้าน ไม่ว่าจะโยนงานโหดหินและท้าทายระดับไหนไป ก็รับมือได้หมดและสร้างเซอร์ไพรส์ให้ผมได้เสมอ โครงการห้าปีน่าจะเป็นโครงการการเรียนการสอนที่ดีที่สุดตั้งแต่ผมเคยสอนหนังสือมาในธรรมศาสตร์ การสอนโครงการห้าปีเป็นความประทับใจเสมอ เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ไปสอนอย่างสม่ำเสมอหลังจากพ้นสามปีแรก
อีกหนึ่งความทรงจำที่ดีด้านการสอน ก่อนลาออกจากงานประจำที่ธรรมศาสตร์ คือ ความท้าทายในการสร้างและสอนวิชา TU101 ตามที่เคยเขียนเล่าไว้ในบล็อกนี้ (ซึ่งจะมีลิงก์ต่อไปยังบล็อกที่บันทึกประสบการณ์ระหว่างทางไว้อีกทีสองที) การทำวิชา TU101 ช่วยเติมเต็มอะไรหลายอย่างที่อยากทำกับธรรมศาสตร์ ทำให้ลาออกได้อย่างปลอดโปร่งใจในเวลาต่อมา
ถึงแม้ผมลาออกจากธรรมศาสตร์แล้ว แต่ยังอยากสอนหนังสืออยู่ เพราะอยากเจอกับนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ตัวเป็นๆ ในห้องเรียน และยังอยากลับสมองตัวเองอยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าคงไม่ได้สอนได้มากวิชาเหมือนครั้งเป็นอาจารย์ประจำ แต่ยังอยากสอนหนังสือสักปีละ 1 วิชา เทอมนี้แม้ลาออกไปแล้ว ยังช่วยดูแลวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบันให้ที่คณะ แต่ชวนโหม่ง อิสร์กุล ลูกศิษย์รุ่นแรก ยอดนักวิจัย(อาวุโส)แห่งทีดีอาร์ไอที่เพิ่งได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกปีหน้ามาช่วยเป็นผู้สอนหลัก โหม่งทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐศาสตร์กับกฎหมายมาตลอดหลายปีหลัง และอยากสอนหนังสือมานานแล้ว เชื่อว่าโหม่งน่าจะมีอะไรดีๆ มาถ่ายทอดให้นักศึกษาอย่างเต็มที่ ผมก็จะสลับไปสอนร่วมกับโหม่งเป็นครั้งคราว ดีใจที่ได้เห็นโหม่งอยู่ในห้องเรียนในฐานะอาจารย์เสียที
นอกจากนั้น เทอมนี้ผมยังโชคดีที่ได้รับชวนให้ไปดูแลวิชา TU101 ให้โครงการบัญชีห้าปี เพิ่งเปิดคอร์สไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รอบนี้นักศึกษาไม่มากเหมือนครั้งสอนที่รังสิต มีกันประมาณร้อยคน แต่เราก็ยังคงจัดเต็มอยู่เช่นเดิม เราเรียนกันทุกวันศุกร์ 14.00-17.00 น. ที่ท่าพระจันทร์ ตามกำหนดการเรียนด้านล่างนี้ครับ
1. “บทนำ: สังคมไทยในสังคมโลก – สภาพปัญหาและคำถามท้าทาย” – ปกป้อง จันวิทย์ (19 ส.ค.)
2. “ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ” – ปกป้อง จันวิทย์ (26 ส.ค.)
3. “โลกาภิวัตน์ทางการเมืองและวัฒนธรรม” – วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง (2 ก.ย.)
4. “นิติรัฐ ความยุติธรรม และรัฐธรรมนูญ” – วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (9 ก.ย.)
5. “ประชาธิปไตย: คุณค่า ความหมาย และความท้าทาย” – ประจักษ์ ก้องกีรติ (16 ก.ย.)
6. “ภูมิศาสตร์การเมืองโลก” – จันจิรา สมบัติพูนศิริ (23 ก.ย.)
7. “เหลียวหลังแลหน้า เศรษฐกิจไทย: ประสบการณ์จากภาคธุรกิจ” – บรรยง พงษ์พานิช (30 ก.ย.)
8. “เศรษฐกิจไทย: สภาพปัญหา โอกาส และความท้าทาย” – สมชัย จิตสุชน (14 ต.ค.)
9. “สู่ยุคธุรกิจที่ยั่งยืน เศรษฐกิจแห่งคุณค่า” – สฤณี อาชวานันทกุล (21 ต.ค.)
10. “บัญชีของสังคม โดยสังคม และเพื่อสังคม (Social Accounting)” – เดชรัต สุขกำเนิด (28 ต.ค.)
11. “การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อระบบนิเวศ” – สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (4 พ.ย.)
12. “ในนามความเป็นไทย: วัฒนธรรมไทยและอุษาคเนย์” – ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (11 พ.ย.)
13. “อาเซียนในมิติวัฒนธรรม: ประวัติศาสตร์บาดแผล ประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ และชะตากรรมร่วม” – ลลิตา หาญวงษ์ (18 พ.ย.)
14. “อดีตศึกษาเรื่องอนาคต” – ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (25 พ.ย.)
15. “บทสรุป: สังคมไทยในสังคมโลก – ความฝัน-ความจริง ทางออก-ทางเลือก” – ปกป้อง จันวิทย์ (2 ธ.ค.)
ใครสนใจอยากเข้ามาฟัง อาจเขียนแจ้งมาที่ tu101.thammasat(at)gmail.com เป็นครั้งๆ ได้ครับ อาจจะรับเพิ่มได้ครั้งละ 10 คน เพราะห้องมีที่นั่งจำกัด และขอให้สิทธิ์นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนได้แลกเปลี่ยนกับวิทยากรก่อนผู้เข้าร่วมจากภายนอก ทางเราจะตอบคอนเฟิร์มกลับไป โดยแจ้งสถานที่และ reading list ให้ครับ