ท่ามกลางกระบวนการสร้าง “โลกสีขาว” เป็นของขวัญแก่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทย ในวาระครบ 6 รอบ ก่อนล้างมือในอ่างทองคำ open พลิกแฟ้มข่าว พาผู้อ่านย้อนสำรวจเหตุการณ์ อาการ และอารมณ์ของสังคมไทย ในช่วงพฤศจิกายน 2539 ถึง พฤศจิกายน 2540
… ช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ชวลิต ยงใจยุทธ”
… ช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
… ช่วงเวลาที่ “โลก” ของพลเอกชวลิต และคนไทยทุกคน เปลี่ยนจากสีขาว … เป็นสีหม่น และหมองคล้ำ
จุดจบของหลงจู๊
“เท่าที่ผมรู้คือ คุณบรรหารจะย่อยยับถึงที่สุด รวมถึงตระกูลด้วย เพราะฉะนั้นผมก็สงสารแก”
(ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, กันยายน 2539 ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ)
คล้อยหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ครั้งที่ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุคสั้นๆ 1 ปี 2 เดือนของรัฐบาลที่ “บริหารได้แต่ปกครองไม่ได้” ของยอดหลงจู๊แห่งเมืองสุพรรณก็ถึงคราวสิ้นสุด ด้วยความเจ็บปวดถึงโคตรเหง้า
เป็นการสิ้นสุดลงอย่างหักมุม พร้อมอาการอกหักของผู้เฒ่าการเมืองหลายคน โดยเฉพาะพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่จ่อคิวเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อนายบรรหาร “หักหลัง” เลือกประกาศยุบสภา ในวันที่ 27 กันยายน 2539 แทนการลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้พลเอกชวลิตขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
การตัดสินใจดังกล่าว ผิดจากคำมั่นที่ประกาศต่อสาธารณชนในวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งนายบรรหารประกาศด้วยความจำใจว่าจะลาออกภายใน 7 วัน เพื่อแลกกับการยกมือไว้วางใจก่อนที่การลงคะแนนเสียงจะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่นาที
เหตุการณ์ในวันนั้น มีภาพนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาว มองบิดาด้วยน้ำตานองหน้าเป็นฉากหลัง และมีเสียงปรบมือจากผู้นำ 6 พรรคกัลยาณมิตรร่วมรัฐบาลที่นั่งรายล้อม เป็นดนตรีประกอบที่แฝงด้วยความอำมหิต
เก้าอี้นายกฯ ที่เฉียดใกล้พลเอกชวลิตต้องหลุดลอยไปอีกครั้ง แต่ฝันครั้งนี้ค้างอยู่ไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำเย็น ย้ายออกจากพรรคชาติไทยมาสมทบพลพรรคความหวังใหม่ในคืนวันฝนตก ด้วยรอยแค้น คราบน้ำตา และความฝันในเก้าอี้ มท.1 เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 … ศึกของ 3 ช.
ฝันที่เป็นจริงหลังเดินทางไกลสองแสนไมล์
“การเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่คิดว่าจะเป็นแล้วก็เป็นได้ ถ้าคิดจะเป็น บางทีก็ได้เป็น บางทีไม่เป็น ก็อาจจะได้เป็น”
(บรรหาร ศิลปอาชา, ตุลาคม 2539)
พลันที่นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคความหวังใหม่ เฉือนชนะ ว่าที่ร้อยตรี สุเมธ ฤธาคนี ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เพียง 32 คะแนน ในสมรภูมิตัดสินที่จังหวัดปทุมธานี พรรคความหวังใหม่ ของ ช.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็มีชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ของ ช.ชวน หลีกภัย ด้วยคะแนนเสียง 125: 123 เสียง โดยมีพรรคชาติพัฒนาของ ช.ชาติชาย ชุณหะวัณ ตามมาห่างๆ 52 เสียง ในศึกเลือกตั้งที่ต่างฝ่ายต่างเนื้อตัวสกปรกมอมแมม
เมื่อนายชวนประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และส่งสัญญาณไม่ให้พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค จัดตั้งรัฐบาลแข่ง ฝันอันยาวนานกว่า 7 ปี – นับแต่เปลี่ยนสถานภาพจากขงเบ้งแห่งกองทัพไทยสู่พ่อใหญ่จิ๋วของพี่น้องชาวอีสาน – ก็เป็นจริง
พลเอกชวลิตก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2539 โดยมีพรรคชาติพัฒนา กิจสังคม ประชากรไทย เสรีธรรม และมวลชน เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผลักพรรคชาติไทยให้ไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์คู่แค้นในซีกฝ่ายค้านอย่างสะใจ
จะลำบากก็แต่คุณหญิงหลุยส์ ภรรยาสุดรัก ที่ต้องพาช้างน้อยคู่ใจ ไปรำเซิ้งแก้บนหน้าองค์พระธาตุพนม ด้วยรอยยิ้มยินดี
ดรีมทีมเศรษฐกิจ: ทีมในฝันที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
“ในการทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคความหวังใหม่จะต้องให้อิสระกับผม … เพราะการทำงานด้านเศรษฐกิจเป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อพลเอกชวลิต และความหวังใหม่ ซึ่งพลเอกชวลิตก็ได้มอบให้ผมดูแลกระทรวงหลักๆ เช่น คลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม และการต่างประเทศ”
(อำนวย วีรวรรณ, เนชั่นสุดสัปดาห์ 8 พฤศจิกายน 2539)
สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปี 2539 และความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนายบรรหาร ทำให้แต่ละพรรคต่างชู “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” เป็นจุดขายในการสู้ศึกเลือกตั้ง
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ชูนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นทัพหน้า พรรคความหวังใหม่ชูนายอำนวย วีรวรรณ เป็นหัวหน้าดรีมทีมเศรษฐกิจ โดยมีขุนพลหลักคือ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี นายสุรศักดิ์ นานานุกูล นายทนง พิทยะ นายวิโรจน์ ภู่ตระกูล ฯลฯ
การประชันกันของดรีมทีมทั้งสองจบลงด้วยชัยชนะของพรรคความหวังใหม่ แม้ว่าคอการเมืองจะวิเคราะห์ว่า เบื้องหลังชัยชนะมิได้มีที่มาจากการแข่งขันเชิงนโยบายเศรษฐกิจ หากมาจากพลัง “ดูด” และม่านสีม่วงสีเทาเสียมากกว่า
หลายคนอดหวั่นใจไม่ได้ว่า คำขวัญ“ถึงเวลาอยู่ดีกินดี” ของพรรคความหวังใหม่ที่ว่า มันหมายถึงการได้เวลาอยู่ดีกินดีของใครกันแน่
เนื่องจาก พรรคชาติพัฒนามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในรัฐบาล อีกทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาลมีคะแนนเสียงต่างกันไม่มาก พรรคชาติพัฒนาจึงกลายเป็นพรรคตัวแปรที่มีอำนาจต่อรองสูงในรัฐบาล ภายใต้บริบทของการเมืองว่าด้วยตัวเลขแบบไทยๆ
ภาพของยุคทองทางเศรษฐกิจ และคำขวัญ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ที่ผูกติดกับตัวพลเอกชาติชาย ทำให้พรรคชาติพัฒนาพยายามรุกคืบเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การพยายามแย่งชิงโควตากระทรวงเศรษฐกิจมาบริหาร ซึ่งสุดท้ายก็ชิงกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการต่างประเทศมาให้นายกร ทัพพะรังสี และนายประจวบ ไชยสาส์น ได้สำเร็จ ในขณะที่พลเอกชาติชาย ซึ่งยังเปี่ยมด้วยบารมี เข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและต่างประเทศของรัฐบาล
เมื่อประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี “จิ๋ว 1” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ดรีมทีมเศรษฐกิจในฝันของนายอำนวย จึงเหลือโควตาอยู่เพียง 3 ตำแหน่ง จากคณะรัฐมนตรี 49 ตำแหน่ง แตกต่างจากที่พลเอกชวลิตเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะกันที่ไว้ให้คนนอกที่มีประสบการณ์ความรู้ประมาณ 4-6 คนเข้ามาเป็นทีมบริหารเศรษฐกิจ
นอกจากนายอำนวยในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอันดับสองควบรมว.คลังแล้ว ก็มีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะรมว.พาณิชย์ และนายสมภพ อมาตยกุล ที่เป็นเพียงรมช.อุตสาหกรรม
ตลอดช่วงต้นของรัฐบาล การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลล้วนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ชิงดีชิงเด่น ระหว่างสองทีมเศรษฐกิจที่เล่นสงครามเย็นกันภายใน แน่นอนว่า ความเป็น “จิ๋ว หวานเจี๊ยบ” ที่มีลักษณะพี่มีแต่ให้ ไม่ขัดใจใคร แถมเอาใจทุกฝ่าย ไม่มีส่วนช่วยสร้างเอกภาพในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลแม้แต่น้อย
“ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ที่วาดฝัน หวังจะให้เป็นอัศวินม้าขาว ที่เปี่ยมด้วยความรู้ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ กลายเป็นความฝันเลื่อนลอย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย
“ต้นเหตุของวิกฤตในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ตรงที่มีสาเหตุมาจากภายในประเทศทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่ตัวเราเอง … แม้ทางการจะมองเห็นปัญหา แต่ขาดความเด็ดขาดในการกำหนดมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ยังขาดความกล้าหาญที่จะใช้มาตรการที่อาจไม่เป็นที่นิยมในทางการเมืองเข้าแก้ปัญหา”
(คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.), 2541)
สัญญาณเลวร้ายต่อเศรษฐกิจไทย เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี 2539 ที่อัตราการเติบโตของการส่งออกลดลงอย่างรุนแรง จาก 24.8% ในปี 2538 เป็น -1.9% ในปี 2539
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำลายความเชื่อมั่นของชุมชนการเงินระหว่างประเทศถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเมื่อการนำเข้าเติบโตขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ด้วยแล้ว ทำให้ไม่สามารถปล่อยให้กลไกอัตราแลกเปลี่ยนแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยตัวเองได้
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ อธิบายอย่างชัดเจนว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ การเปิดเสรีทางการเงิน โดยให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายอย่างเสรี และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างอิสระ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน
การเปิดเสรีการเงินทำให้เงินทุนไหลเข้ามีจำนวนมาก หากยังธำรงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ย่อมทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีค่าสูงเกินความเป็นจริง ส่งผลซ้ำเติมภาคส่งออกและทวีความรุนแรงของปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จนนำมาซึ่งการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน เพราะคาดว่าค่าเงินในอนาคตต้องอ่อนตัวลง และอาจจบลงด้วยวิกฤตการณ์เงินตรา (Currency Crisis) นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อน “ภาพความจริง” ของเศรษฐกิจ ยังบิดเบือนการดำเนินนโยบายจากระดับที่ควรจะเป็น
ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ธปท.เลือกดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน โดยปรับลดกฎระเบียบเพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเข้าออกได้โดยเสรี ในขณะที่ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด เช่นนี้แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
ปี 2536 ธปท. ประกาศนโยบาย BIBF (Bangkok International Banking Facilities)โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค อัตราดอกเบี้ยระดับสูงมากของเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยโลก และสภาพเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เต็มไปด้วยการคาดการณ์ในทางที่ดีของนักลงทุน ทำให้เงินทุนราคาถูกจากต่างประเทศไหลหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย การลงทุนเกินตัวโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เกิดขึ้นในหลายภาคเศรษฐกิจ
เงินทุนไหลเข้าจำนวนมากไม่ได้ถูกจัดสรรไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ หากเป็นเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้น หรือนำไปปล่อยกู้ต่อเพื่อการบริโภคหรือเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่าการกู้ภายในประเทศและไม่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารพาณิชย์ในประเทศทำตัวเป็นคนกลางที่กู้เงินนอกราคาถูกมาปล่อยกู้ในประเทศราคาแพง และมีการปล่อยกู้อย่างไม่ระมัดระวัง รวมถึงมีความฉ้อฉลในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินหลายแห่ง
การเปิดเสรีทางการเงิน ด้วยความไม่พร้อม ไม่คำนึงถึงลำดับก่อนหลังในการดำเนินนโยบาย ไม่พัฒนา “สถาบัน” ที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็ง ไม่พัฒนาช่องทางการจัดสรรเงินทุน และไม่พัฒนากลไกการกำกับตรวจสอบ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์การเงิน (Financial Crisis) ในบั้นปลาย
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ
ถือเป็นความโชคร้ายของพลเอกชวลิตที่ระเบิดเวลาปะทุขึ้นในยุคของท่าน แต่จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ถือเป็นความโชคร้ายของสังคมไทยเช่นกันที่ระเบิดปะทุขึ้นในยุคที่มีชายชื่อชวลิตเป็นนายกรัฐมนตรี
ปัญหาใหญ่เกินแก้ หรือมือไม่ถึง?
“ขณะนี้เราต้องการคนมาทำงาน ไม่ได้ต้องการนโยบายอีกแล้ว”
(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, มิถุนายน 2540 หลังการแต่งตั้งนายทนง พิทยะเป็นรมว.คลัง)
เวลาของรัฐบาลพลเอกชวลิตผ่านไปไม่กี่เดือน ปัญหาเศรษฐกิจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาใหญ่คือ การส่งออกตกต่ำ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รายได้ของรัฐบาลลดลงมาก จนขาดดุลงบประมาณในไตรมาสแรกของปี 2540 กระทั่งต้องยอมผิดคำพูดโดยติดเบรกการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5% ด้านตลาดหุ้นก็ทำสถิติต่ำสุดไม่เว้นแต่ละวัน ภาคเศรษฐกิจจริงเริ่มมีปัญหา ธุรกิจเริ่มขาดทุน ล้มละลาย และปลดคนงาน
มิอาจปฏิเสธได้เลยว่าชะตากรรมของเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่บนเส้นบางๆที่พร้อมจะขาดผึงได้ทุกเมื่อ หากรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดไปเพียงน้อยนิด
ตลอดระยะเวลาการทำงาน ดูเหมือนว่าทีมในฝัน ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้ มีเสียงทั้งจากในพรรคและนอกพรรคแซะเก้าอี้ของนายอำนวยและพรรคพวกอยู่ตลอดเวลา
ผลงานเด่นช่วง 5 เดือนแรกของนายอำนวยคือ การตัดสินใจปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลปี 2540 กว่าแสนล้านบาท และเสนอ 10 มาตรการหลักเพื่อแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2538 เช่น จัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (อบส.) การจัดตั้งตลาดรองสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (SMD) มาตรการอัดฉีดเงิน 2 หมื่นล้านให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
หลายฝ่ายวิจารณ์ทีมในฝันว่า “มือไม่ถึง” ผสานเข้ากับแรงกดดันเลื่อยขาเก้าอี้จากทั้งในและนอกพรรค โดยเฉพาะความขัดแย้งกับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งพลเอกชวลิตมิได้รู้สึกอินังขังขอบมากนัก ทำให้จุดจบของทีมในฝันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด
18 มิถุนายน 2540 นายอำนวยประกาศลาออกจากรัฐบาลอย่างโดดเดี่ยว หลังจากต้องเผชิญกระแสกดดันอย่างต่อเนื่อง
ฟางเส้นสุดท้ายของนายอำนวยคือ การทบทวนเพื่อเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีภาษีสรรพสามิตว่าด้วยภาษีรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ หินแกรนิต และแบตเตอรี่ ที่นายอำนวยเคยเสนอให้จัดเก็บเพิ่มเพื่อหาเงินหาเงินเข้ารัฐในช่วงถังแตก และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม. ไปแล้ว แต่นายกรไม่เห็นด้วยและกดดันทางการเมืองจนต้องมีการทบทวนเพื่อกลับมติ ครม. ในเวลาต่อมา
นายทนง พิทยะ กรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรมว.คลังคนใหม่ ในรัฐบาล “จิ๋ว 2”
2 กรกฎาคม 2540
“ปฏิบัติการครั้งนี้ ขนาดลูกเมีย คนที่รักที่สุดยังไม่รู้ ใครต่อใครที่เคารพบูชาก็ยังไม่ให้รู้เลย”
(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, มติชนสุดสัปดาห์ 8 กรกฎาคม 2540)
“ภูมิใจที่สุดที่ไม่มีใครรู้เรื่องนี้จนวินาทีสุดท้าย”
(เริงชัย มะระกานนท์, มติชนสุดสัปดาห์ 8 กรกฎาคม 2540)
ช่วงวันวาเลนไทน์ 2540 นักลงทุนเข้ามาถล่มค่าเงินบาทระลอกใหญ่ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยรบชนะ ถึงกับเปิดไวน์ฉลองความสำเร็จที่ทำเนียบรัฐบาล ที่สามารถเอาชนะสิ่งที่นายอำนวยเรียกว่า “การปล้นสะดมข้ามชาติ” ได้ โดยหารู้ไม่ว่าหายนะครั้งใหม่กำลังก่อตัว รอจู่โจมอีกไม่นาน ซึ่งครานี้จะหนักหนาสาหัสกว่าครั้งที่ผ่านมามากนัก
กลางเดือนพฤษภาคม 2540 ค่าเงินบาทโดนโจมตีอีกหลายระลอกอย่างรุนแรง พร้อมกระแสข่าวการลาออกข้ามทวีปจากญี่ปุ่นของนายอำนวย ที่ถูกกดดันอย่างหนักในขณะนั้น
ปลายเดือนพฤษภาคม 2540 อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ให้ ธปท. ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามสถานการณ์ เพื่อลดปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวเกินความเป็นจริง ลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเป็นกระจกเงาสะท้อนปัญหาของระบบเศรษฐกิจตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลปรับนโยบายเศรษฐกิจได้ทันท่วงทีก่อนปัญหาจะรุนแรงกว่าที่ควร
เสียงเรียกร้องจากนักวิชาการอีกหลายคน เช่น นายวีรพงษ์ รามางกูร นายอัมมาร สยามวาลา ให้ขยายช่วงเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน หรือลอย/ลดค่าเงิน ดังกระหึ่ม ขณะที่นักธุรกิจ สถาบันการเงิน และโหรเศรษฐกิจ ที่กู้หนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ประสานเสียงคัดค้าน
การโจมตีเงินบาทรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วิธีปกป้องค่าเงินบาท โดยทุ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าซื้อเงินบาทในตลาดเงินจนหมดตัว และการเลือกวิธีทำ Buy-Sell SWAP เพื่อปกปิดฐานะทุนสำรองฯ ทั้งที่ในขาแรกของการทำธุรกรรม เปรียบเหมือนการยื่นกระสุนเงินบาทให้นักเก็งกำไรมีเงินบาทมาไล่ซื้อเงินเหรียญสหรัฐเพื่อเก็งกำไรอีกต่อหนึ่งนั้น ถือเป็นความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายที่ธปท. มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบ
เมื่อธปท.ใช้ทุนสำรองฯ เพื่อปกป้องค่าเงินจนหมดหน้าตัก ก็ต้องจำใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทอย่างผู้แพ้ ในเช้าตรู่ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
มติชนสุดสัปดาห์รายงานภาพเหตุการณ์วันนั้นว่า
3.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงิน ธปท. ถูกปลุกให้มาทำงานที่ ธปท. พร้อมรับทราบเรื่องสำคัญทีต้องปฏิบัติ
4.00 น. ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งประมาณกว่า 70 คน ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ ธปท. เชิญมาประชุมด่วนที่ ธปท.
6.00 น. นายเริงชัย แจ้งการตัดสินใจปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว ให้ผู้บริหารระดับสูงธนาคารพาณิชย์รับทราบ
7.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศข่าว
แม้ธปท. จะยืนยันว่าปฏิบัติการลอยตัวค่าเงิน มีผู้รู้เรื่องเพียง 3 คนคือ พลเอกชวลิต นายเริงชัย และนายทนง เท่านั้น ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ลอยลมมาว่าอาจมี “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” บางคนรู้ข้อมูลเชิงลึกล่วงหน้า
นายอำนวยเคยบอกว่า มีการเสนอปรับค่าเงินบาทตั้งแต่มกราคม 2540 แต่ธปท.บอกว่ายังไม่พร้อม การตัดสินใจปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนล่าช้าและปรับแบบหมดทางเลือก สร้างปัญหาให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ควรจะเป็น ค่าเงินบาทผันผวน ลดต่ำอย่างรุนแรงและไร้เสถียรภาพ
หลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในครั้งนั้น พลเอกชวลิตยังไม่สำเหนียกรู้ว่า สังคมเศรษฐกิจไทยกำลังดำดิ่งสู่หุบเหวแห่งหายนภัย
“หลังจากนี้ การลงทุนจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะหลั่งไหลเข้าไทยเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท”
(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, หลังการลอยตัวค่าเงินบาท)
ไม่นานหลังคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทุนต่างชาติแย่งกันหลั่งไหลออกจากเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมายหลั่งไหลสู่สังคมเศรษฐกิจไทยแทนที่
ปิดสถาบันการเงิน
“นี่คือขั้นโคม่า … เป็นฉากสุดท้ายของเศรษฐกิจฟองสบู่”
(สุวินัย ภรณวลัย, เนชั่นสุดสัปดาห์ 7 มีนาคม 2540)
หลังจากปัญหาความฉ้อฉลในธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (BBC) ถูกเปิดเผย ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวน้ำของสถาบันการเงินไทยก็โผล่พ้นน้ำ ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตศรัทธาเป็นไฟลามทุ่งต่อสถาบันการเงินทั้งระบบและต่อผู้คุมกฎอย่างธปท. ที่ไม่มีความเด็ดขาดและโปร่งใสในการจัดการสถาบันการเงินที่มีปัญหา
3 มีนาคม 2540 ธปท. ประกาศให้บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ 10 แห่งเพิ่มทุนภายใน 60 วัน ต่อมา 24 มิถุนายน 2540 รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พรก.) 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และลดอุปสรรคการควบกิจการและการโอนกิจการของสถาบันการเงิน เพื่อผ่อนผันให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 25% ได้เป็นเวลา 5 ปี ในช่วงที่ต้องฟื้นฟู และเพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบหลังควบรวมกิจการแล้ว
หลัง พรก. ออกบังคับใช้ไม่กี่วัน ธปท. ประกาศปิดกิจการของบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ 16 แห่ง เป็นการชั่วคราว ก่อให้เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดเงิน ประชาชนแห่ถอนเงินสถาบันการเงินที่ไม่ได้ถูกลงโทษ ความไม่เชื่อมั่นในระบบการเงินเกิดขึ้นทั้งระบบ จนทำให้สถาบันการเงิน “ดี”ได้รับผลกระทบจนอ่อนแอตามไปด้วย รัฐบาลต้องออกมาค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบ
แม้พลเอกชวลิตยืนยันว่า จะไม่มีการปิดบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์เพิ่ม แต่แล้ววันที่ 5 สิงหาคม 2540 บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ก็ถูกปิดเพิ่มอีก 42 บริษัท พร้อมกับแถลงการณ์ว่าด้วยมาตรการเสริมความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของรัฐบาล
จาก 91 บริษัท เหลือเพียง 33 บริษัทเท่านั้นที่ยังคงอยู่รอดปลอดภัย
ปรัชญา “สถาบันการเงินล้มมิได้” ที่ ธปท. ยึดถือก่อให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจลงทุนของตัวละครต่างๆ ในตลาดเงิน ทั้งผู้ปล่อยกู้และผู้ฝากเงิน ที่ไม่คำนึงความเสี่ยงเพียงพอ สนใจเพียงแต่อัตราผลตอบแทนสูงๆ เนื่องเพราะเห็นว่า ถึงอย่างไรทางการก็ต้องเข้ามารับภาระอุ้มสถาบันการเงินที่เป็นปัญหา ภาระจึงไม่ตกกับตัวนักลงทุนเอง วิธีคิดเช่นนี้ทำให้รัฐต้องหมดเงินในการช่วยเหลือสถาบันการเงินมากมายในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท
คุณพ่อ IMF ครับ, ช่วยมาเอาอธิปไตยทางเศรษฐกิจของผมไปจัดการหน่อย
“รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะมารองรับหรือดูแลหลังจากการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรมเลย เหมือนตัดสินใจที่จะผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจคนไข้ เอามีดกรีดหน้าอกแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำอะไร เดินไปเดินมา”
(วีรพงษ์ รามางกูร, มติชนสุดสัปดาห์ 29 กรกฎาคม 2540)
หลังค่าเงินบาทถูกปล่อยลอยตัวได้ลอยละลิ่วจาก 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็น 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และลดต่ำลงเรื่อยๆ จนต่ำสุดที่ 56 บาทต่อเหรียญสหรัฐในยุคพลเอกชวลิต
ผลที่เกิดขึ้นจากการลอยตัวค่าเงินทำให้หนี้ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์และบริษัทต่างๆในประเทศไทยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทจำนวนมากเข้าสู่ภาวะล้มละลาย คนตกงานมากมาย ตลาดหุ้นตายทั้งเป็น ธนาคารพาณิชย์ล้มหายตายจาก ที่เหลืออยู่ก็อ่อนแอ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง ผลักดันให้ราคาสินค้าต่างๆพุ่งขึ้นสูงตามไป ความเดือดร้อนกระจายตัวไปทุกหย่อมหญ้าอย่างรวดเร็ว
ปฏิบัติการหาแพะบูยาชัญความผิดเริ่มต้นขึ้น เหยื่อรายแรกๆ คือเหล่าข้าราชการประจำ นายเริงชัย มะระกานนท์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ส่วน มรว.จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลัง ถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 จนหม่อมเต่าลาออกจากราชการอีกไม่กี่วันต่อมา
ความล้มเหลวและอ่อนหัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลและเทคโนแครตไทย นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องกึกก้องจากสังคมไทยและชุมชนการเงินระหว่างประเทศ ให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจแทนนักการเมืองและเทคโนแครตที่ไร้ภูมิปัญญาและสูญสิ้นความน่าเชื่อถือ
ในที่สุด รัฐบาลไทยเปิดเจรจายอมรับความช่วยเหลือจาก IMF เพื่อกู้เงินเสริมฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่า 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2540 โดยไทยต้องยอมรับเงื่อนไขหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตามในการดำเนินการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ เช่น การให้ยาขมกับเศรษฐกิจโดยปรับรัดเข็มขัดทางการคลังและการเงิน ดำเนินนโยบายการคลังแบบเกินดุล (ลดรายจ่ายภาครัฐ ขึ้นภาษี) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมาก แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงสถาบันทางการเงินให้เข้มแข็ง โดยใช้เกณฑ์ที่เป็นสากล ปรับปรุงโครงสร้างธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
15 สิงหาคม 2540 ครม.จิ๋ว 3 ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเสนอให้มีการลดค่าเงินแต่เนิ่นๆ เข้ามาลุยงานในตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อรับหน้าที่ประสานและเจรจากับ IMF และแก้ปัญหาสถาบันการเงิน รวมทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร ก็หวนกลับสู่วงการเมืองหลังทิ้งพรรคพลังธรรมกลางคัน โดยเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ดูแลงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
แม้เมื่อเวลาผ่านไป ประจักษ์พยานข้อเท็จจริงจะชี้ให้เห็นว่า ยาหลายขนานของ IMF ในช่วงต้นเป็นการให้ยาผิด จนทำให้เศรษฐกิจต้องซบเซาหนักกว่าที่ควรจะเป็น แต่เสียงเพรียกหา IMF ในตอนต้นของวิกฤตสะท้อนชัดว่า สังคมไทยได้สูญสิ้นศรัทธาและความเชื่อมั่น จนมิอาจยอมรับนักการเมือง ระบบการเมือง และกลไกราชการ แบบที่เป็นอยู่ ได้อีกต่อไปแล้ว
รัฐบาลจำอวด
“รัฐบาลชุดนี้ทำให้ยุ่ง คล้ายเล่นจำอวด คือตลกที่พูดเล่นไม่จริงจัง เหมือนคำพูดของรัฐบาลชุดนี้ ตลกยังเทียบไม่ได้เลย … พูดเชื่อถือไม่ค่อยได้ ขาดหลักวิชาโดยสิ้นเชิง จำอวดเขายังมีหลักวิชาการแสดง”
(หวังดี นิมา (หวังเต๊ะ), มติชนสุดสัปดาห์, 21 ตุลาคม 2540)
คำพูดที่ออกจากปากของพลเอกชวลิต ดูจะไม่มีความน่าเชื่อถืออะไรอีกต่อไป เมื่อทุกอย่างที่ท่านพูดล้วนตรงกันข้ามกับความจริงไปเสียทั้งหมด พลเอกชวลิตเคยกล่าวปฏิเสธข่าวลือเรื่องการลาออกของนายอำนวย เคยปฏิเสธข่าวการปิดสถาบันการเงิน เคยยืนยันว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท เคยปฏิเสธข่าวการกู้เงินจาก IMF แต่ …
ทุกเรื่องที่พลเอกชวลิตบอกว่า “ไม่” ล้วน “ใช่” ในภายหลัง ทุกครั้งที่ออกมาปฏิเสธ อีกไม่นาน ข่าวลือล้วนกลายเป็นข่าวจริง
นอกจากนั้น รัฐบาลพลเอกชวลิต มักมีนโยบายกลับไปกลับมา เรื่องที่ผ่าน ครม.แล้ว สามารถกลับมติได้อีกในเวลาไม่นานนัก นอกจากกลับมติเรื่องภาษีสรรพสามิตจนทำให้นายอำนวยต้องลาออกแล้ว ยังมีเรื่องการขึ้นภาษีน้ำมัน ที่คราวนี้ทำให้นายทนงตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ไปอีกคน เหตุเนื่องมาจากพลเอกชวลิตสั่งให้กลับไปใช้ภาษีน้ำมันอัตราเดิม แม้เพิ่งประกาศขึ้นภาษีไปไม่ถึง 3 วัน หลังจากถูกพรรคชาติพัฒนาเจ้าเก่ากดดัน
ความเป็นผู้นำของพลเอกชวลิตถูกตั้งคำถามตลอดอายุรัฐบาลชุดนี้ สิ่งสำคัญที่พลเอกชวลิตขาดคือความเด็ดขาด ชัดเจน มีจุดยืน และน่าเชื่อถือ การบริหารงานที่ผ่านมาเป็นไปในทางประสานผลประโยชน์และรักษาดุลอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองและพลพรรคแวดล้อม เพื่อรักษาตัวรอด มากกว่าจะกล้าหาญลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
หลังเศรษฐกิจไทยเข้าโปรแกรมฟื้นฟูของ IMF ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลและผู้นำดูจะไม่กระเตื้องขึ้นเลย รัฐบาลถึงกับต้องออกแถลงการณ์ในนามรัฐบาลไปยังประชาชนว่า “..ขอวิงวอนประชาชนคนไทยทุกคน โปรดร่วมมือร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรคครั้งใหญ่ของประเทศคราวนี้ อย่าได้ตื่นตระหนกกับข่าวลือต่างๆ” (6 สิงหาคม 2540)
กระแสความต้องการให้พลเอกชวลิตลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเริ่มขยายวงกว้างขึ้น แม้คำกล่าวของนายอานันท์ ปันยารชุน ในปาฐกถานำของการอภิปรายเรื่อง “ทำอย่างไรธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยจึงจะอยู่รอดได้” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ก็ยังเสนอให้พลเอกชวลิต (1) แก้ไขปัญหากินยาขมตามเงื่อนไข IMF(2) ผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ (3) แก้ปัญหาทางอารมณ์ของคนในสังคมด้วยการลาออกไปเสีย (มติชนสุดสัปดาห์,19 สิงหาคม 2540)
รัฐธรรมนูญราคาแพง
“ผมนอนไม่หลับมาหลายคืนแล้ว … ผมอยู่ใกล้ประเทศบ้านพี่เมืองน้องเห็นคนที่สิ้นชาติมาแล้ว ไม่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ถ้ารัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
(เสนาะ เทียนทอง,10 สิงหาคม 2540)
“ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นความหวังสุดท้ายของประชาชน ซึ่งเสียขวัญอย่างรุนแรงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ”
(มีชัย ฤชุพันธุ์, สิงหาคม 2540)
วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 และสภาพล้มเหลวของการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงหลังพฤษภาทมิฬทำให้คนไทยทนไม่ไหวกับการเมืองแบบไทยๆ และนักการเมืองแบบไทยๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบยียาธิปไตย
เสียงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างถึงรากถึงโคนดังกระหึ่ม โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้ง 99 คน เริ่มทำงานร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน พร้อมๆ กับการเริ่มต้นของรัฐบาลพลเอกชวลิต หากจำกันได้ พลเอกชวลิต เคยประกาศต่อสาธารณชนในวันแรกๆที่เข้ารับตำแหน่งว่า จะเป็นนายกฯเพียงสองปี เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกแล้วเสร็จ จะยุบสภาทันที
แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะเขียนไว้ในปฏิญญาในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอย่างชัดเจนว่า “4. จะเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความก้าวหน้ามากมายใกล้แล้วเสร็จ แกนนำหลายคนกลับออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะนายเสนาะ เทียนทอง และนายสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่พลเอกชวลิตเลือกที่จะไม่ประกาศจุดยืน(เช่นเคย)ว่าจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ
ในช่วงก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เกิดภาวะเผชิญหน้าขึ้นเมื่อกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการมหาดไทย ภายใต้การนำของนายเสนาะ เทียนทอง และกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญใหม่อย่างอึกทึก โดยใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์
ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้สีเขียวอ่อนเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุน มีการติดธงเขียว สติกเกอร์เขียว และใส่เสื้อเขียวกันทั้งบ้านทั้งเมือง
พลเอกชวลิต ผู้แสดงท่าทีวางเฉยมาตลอด โยนก้อนหินถามทางโดยลุกขึ้นพูดในสภาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 ระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้ ส.ส.ร. นำร่างกลับไปแก้ไขก่อนให้รัฐสภาลงมติรับรอง อันเป็นจุดยืนเดียวกับนายเสนาะ ทำให้ความเชื่อมั่นทางการเมืองของรัฐบาลลดต่ำติดดิน ค่าเงินบาทตกอย่างหนัก กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญก็ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มนักธุรกิจ แม้แต่จากกองทัพ
ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา กลุ่มคัดค้านยังตีรวนกระทั่งยกข้ออ้างสุดตลกร้ายว่า ในคำปรารภของร่างมีจุดไข่ปลาเว้นไว้โดยไม่มีข้อความ แสดงว่ารัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ขัดต่อมาตรา 211 ที่กำหนดให้ ส.ส.ร.ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน ดังนั้น ถือว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ
แม้ว่าสุดท้ายพลเอกชวลิต จะออกมากลับลำประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันรุ่งขึ้นหลังโดนกระแสสังคมกระหน่ำ แต่ความไม่น่าเชื่อถือของท่านที่สะสมมานาน บวกกับความรวนเรอย่างรุนแรงในจุดยืนเรื่องการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้กระแสการสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ขยายตัวกลายเป็นกระแสหมดศรัทธาผู้นำ จนต้องการให้พลเอกชวลิตลาออก โดยไม่ยุบสภา
ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐธรรมนูญขยายตัวเป็นกลุ่มขับไล่พลเอกชวลิต กลุ่มต่อต้านรัฐธรรมนูญเองก็ขยายตัวไปเป็นม็อบประชาชนจากอีสาน มีการปลุกม็อบให้มาชนม็อบ
ส.ส.อีสาน อย่างนายชิงชัย มงคลธรรม นายไพจิตร ศรีวรขาน นายขจิตร ชัยนิคม ชูประเด็นว่า “คนกรุงเทพฯไม่มีสิทธิ์มาไล่รัฐบาลของคนอีสาน 20 ล้านคน และคนชั้นกลาง ไม่มีสิทธ์มาไล่รัฐบาลที่เลือกมาโดยคนยากคนจนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” (มติชนสุดสัปดาห์, 23 กันยายน 2540)
ท้ายที่สุด แรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญอย่างมืดฟ้ามัวดินของประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. ผ่านรัฐสภา ด้วยความจำยอมของกลุ่มผู้ต่อต้าน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2540 ภาพนายเสนาะ เทียนทอง เปล่งวาจา “รับครับ” ในรัฐสภาเป็นที่ติดตาของคอการเมือง
กลับบ้านเถอะ ลุงจิ๋ว
“บุหลันฉายให้ “เขา” ด้วย ช่วยส่องแสง
กระจ่างแจ้งหนทางสว่างไสว
ให้“เขา”กลับบ้านได้อย่างมั่นใจ
ว่าบัดนี้ไม่มีใครต้องการเลย”
(สุจิตต์ วงษ์เทศ, มติชนรายวัน, กันยายน 2540)
ในช่วงท้ายของรัฐบาล พลเอกชวลิตโดนกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศจากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตย 30 องค์กร กระทั่ง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งหล่นประโยคว่า “ขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตธรรมดา เพราะมันเลยขั้นนั้นไปแล้ว”
แม้แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่าง PREC ยังให้ความเห็นว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ต้องเปลี่ยนรัฐบาล
“คนอื่นมันอาศัยแผ่นดินนี้เท่านั้นเอง และเมื่อมันได้รับความเสียหาย มันก็ลุกขึ้นมาโวยวาย เพราะเมื่อมันไม่ได้รับในสิ่งที่มันต้องการ และสิ่งที่มันต้องการเป็นสิ่งที่ทำลายแผ่นดินทั้งนั้น … อย่าให้ผมใช้วิธีที่พวกมันใช้กันอยู่ในเวลานี้บ้าง …”
(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, 17 กันยายน 2540)
คำกล่าวข้างต้นเป็นคำปราศรัยของพลเอกชวลิตต่อหน้าประชาชนจากจังหวัดสกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ ที่ยกพลมาให้กำลังใจถึงทำเนียบรัฐบาลในช่วงมรสุมก่อตัวใกล้ถึงขีดสุด
วันรุ่งขึ้น เมื่อนักข่าวถามพลเอกชวลิตว่า “มัน” คือใคร พลเอกชวลิต ผู้เปลี่ยนสภาพจากจิ๋ว ดุดัน มาเป็นจิ๋ว หวานเจี๊ยบ คนเดิมแล้ว ตอบว่า “(มันคือ)โปเตโต้ไงลูก”
แม้ พลเอกชวลิต จะสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 24 – 26 กันยายนมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ทว่าเมื่อเทียบกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ ปัญหาของพลเอกชวลิตไม่ได้อยู่ที่เสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป หากอยู่ที่พลังกดดันนอกสภาที่เรียกร้องให้เก็บกระเป๋ากลับบ้าน
มาตรการเบ็ดเสร็จ 14 ตุลาคม 2540 ที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินทั้งระบบ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เลยแม้แต่น้อย
20 ตุลาคม 2540 ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกว่า เป็นครั้งแรกที่การชุมนุมทางการเมืองย้ายจากธรรมศาสตร์และสนามหลวง ไปที่ “สีลม”
“ม็อบสีลม” ซึ่งมีแกนหลักคือเหล่านักธุรกิจและชนชั้นกลาง นัดรวมตัวกันบริเวณลานหน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม แล้วเคลื่อนตัวมาบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
หากเชื่อทฤษฎี “สองนัคราประชาธิปไตย” ของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นี่ย่อมเป็นสัญญาณนับถอยหลังของรัฐบาล
การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของพลเอกชวลิตคือ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2540 โดยนำคนนอกเข้าร่วมกว่า 14 คน เช่น นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรมว.คลัง และนายสม จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรมว.พาณิชย์ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของรัฐบาล
ลาโรง
“แต่สิ่งที่จะทำให้ผมยุบสภาหรือทำให้ผมลาออก ทำไม่ได้ เพราะถ้าผมทำ เท่ากับทำลายบ้านเมืองและพี่น้องคนไทยทั้งแผ่นดิน”
(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, 10 กันยายน 2540)
รัฐบาล “จิ๋ว 4” มีชีวิตอยู่เพียง 14 วัน วันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 พลเอกชวลิตก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง โดยบอกว่า สมควรแก่เวลาที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นทำหน้าที่บ้าง
นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 3 วันต่อมา ด้วยฝีมือการจัดตั้งรัฐบาลชั้นเซียนของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ โดยเอาชนะอีกฟากหนึ่งที่พยายามชูพลเอกชาติชายเป็นนายกฯ
ชัยชนะครั้งนี้มีเหล่าพลพรรค “งูเห่า” ทั้ง 12 คน แห่งพรรคประชากรไทย และนายมนตรี พงษ์พานิช แห่งพรรคกิจสังคม เป็นตัวแปรสำคัญในสมการคณิตศาสตร์การเมืองแบบไทยๆ
ฝันที่ยาวไกลกว่าสองแสนไมล์ของพลเอกชวลิตสิ้นสุดลงในเวลาสั้นๆ เพียง 11 เดือน
โลกหลายสี
“โดยธรรมชาติของคุณชวลิตเป็นคนน่ารัก เป็นคนที่พยายามที่จะตามใจทุกคน ปัญหาก็คือมันมีทุกคนมากเกินไป”
(แล ดิลกวิทยารัตน์, เนชั่นสุดสัปดาห์,22 พฤศจิกายน 2539)
ค่อนข้างแน่ชัดว่า พลเอกชวลิตจะวางมือทางการเมืองเมื่อสิ้นอายุรัฐบาลนี้
เรามิอาจปฏิเสธบทบาทของพลเอกชวลิตต่อการเมืองไทยร่วมสมัยได้ มิพักต้องพูดถึงลักษณะเด่นที่ไม่มีใครเหมือนของท่าน นั่นคือ สามารถ “พูดจากำกวมได้อย่างฉาดฉาน พูดจาคลุมเครือได้อย่างแจ่มแจ้ง”
แม้โลกของท่านมีสีขาวแต่งแต้มอยู่มาก อันได้แก่ ความเป็นสุภาพบุรุษ ความใจเย็น ความมีเมตตาธรรม ความไม่อาฆาตแค้น แต่โลกของท่านก็พัวพันกับสีอื่นๆ มากไม่แพ้กัน ตั้งแต่ขาวจรดดำ
เสน่ห์ของพลเอกชวลิตอยู่ที่การดำรงอยู่และหลอมรวมเข้ากับโลกหลากสีสัน ท่านมีส่วนในการสร้างโลกหลากสี และโลกสีต่างๆ เหล่านั้นมีส่วนในการสร้างท่านด้วยเช่นกัน บางสีสันก็เต็มไปด้วยความลึกลับดำมืด
คงมีคนเพียงไม่กี่คนที่รู้เบื้องหลังนโยบาย 66/23 เบื้องหลังสงครามร่มเกล้า เบื้องหลังการช่วงชิงอำนาจการเมืองในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ เบื้องหลังเหตุการณ์ รสช. เบื้องหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เบื้องหลังสายสัมพันธ์กับผู้นำประเทศอินโดจีนและจีน เบื้องหลังการลดค่าเงินบาท ฯลฯ
แต่คงมีคนเพียงคนเดียวที่รู้เบื้องหลังทั้งหมดของทุกเหตุการณ์ข้างต้น แถมยังเป็นการรับรู้จากประสบการณ์ตรง ชะตากรรมของท่านและของสังคมไทยจึงสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออก
แม้พลเอกชวลิตต้องการวางมืออย่างสงบ แต่สังคมไทยคงมิอาจลืมท่านได้ โดยเฉพาะบทบาทของท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540
เช่นเดียวกับท่านเองที่คงลืมโลกสีหม่นในช่วงแห่งความฝันนั้นไม่ลง
คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากพลเอกชวลิตไม่เดินเข้าสู่วงการเมือง บทบาททางการเมืองและสังคมของท่านในช่วง 15 ปีหลังจะเป็นเช่นไร?
… และสังคมไทยจะจดจำสุภาพบุรุษชายชาติทหาร ผู้มากความสามารถ คนนี้อย่างไร?
ตีพิมพ์: นิตยสาร open ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547 (เขียนร่วมกับ ธร ธนารัตน์สุทธิกุล (ปีติดล))