อำลาเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  

IMG_7307

(1)

วันนี้เป็นวันแรกในรอบเกือบ 17 ปีที่ผมไม่มีสถานะเป็นอาจารย์ประจำของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นบ้านหลังที่สองของผม  หากนับตั้งแต่แรกเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ผมก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มา 22 ปีเต็ม เรียกว่าเกินครึ่งหนึ่งของชีวิต

แน่นอนว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ผมใฝ่ฝันอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นที่เซนต์คาเบรียล แล้วผมก็ทำตามความฝันสำเร็จ สอบเอ็นทรานซ์ติดที่นี่เมื่อปี 2537 หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยเลือกคณะนี้เป็นอันดับหนึ่ง

เข้ามาถึงปีแรกก็ดร็อปการเรียนไปเอเอฟเอสที่ฮังการี กลับมาเรียนอีกทีก็ปี 2538 เรียนจบปี 2542 หลังจากนั้น ผมก็ทำตามความฝันสำเร็จอีกครั้ง ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว  ได้เงินเดือนเดือนแรกหกพันกว่าบาท กระทั่งเดือนมิถุนายน 2543 จึงได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยรุ่นแรกของคณะ

นักวิชาการเป็นอาชีพในฝันของผมมาตั้งแต่เด็ก เพราะผมชอบวิ่งเล่นอยู่ในโลกแห่งความรู้ ชอบสอนหนังสือ ชอบอ่าน ชอบคิด ชอบเขียน ชอบทำหนังสือ และชอบออกแบบสถาบัน  กว่า 17 ปี ในฐานะอาจารย์เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่มีค่าและความทรงจำที่งดงามมากมายเกินบรรยาย ทั้งกับลูกศิษย์ลูกหา กับครูบาอาจารย์ กับเพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งร่วมคณะ ร่วมมหาวิทยาลัย และร่วมสังคม

ผมขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่มีส่วนร่วมในการก่อร่างสร้างชีวิต ความคิด และตัวตนของผม จนเป็นอย่างที่เป็นในวันนี้

ถ้าไม่มีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ก็ไม่มีตัวผมในวันนี้ แต่ถึงไม่มีผม เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งในวันหน้า ด้วยพลังของคณาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ที่กุมอนาคตของคณะอยู่ในมือ รวมถึง เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาทุกคน

ผมเชื่อมั่น 101% … คือ ‘เกินร้อย’ ครับ

 

(2)

ทำไมผมถึงตัดสินใจลาออก?

คำตอบก็คือ ผมอยากทำงาน ‘ความรู้’ ตามแนวทางของตัวเองอย่างเต็มที่ครับ

ในโลกสมัยใหม่ ปัญญาความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป และเทคโนโลยีใหม่ก็เปิด ‘ทาง’ ใหม่ๆ สู่โลกแห่งการเรียนรู้อันกว้างไพศาล  โอกาสและความท้าทายในโลกใหม่กวักมือชักชวนผมให้ไปทำงาน ‘ความรู้’ ในพื้นที่ที่กว้างขึ้นกว่าเศรษฐศาสตร์ และกว้างขวางกว่ารั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งผมก็ตอบรับโอกาสและความท้าทายนั้นด้วยความตื่นเต้น

ผมหลงรักโลกแห่ง ‘ความรู้’ มายาวนาน รู้สึกสนุกกับการผลิตสร้างความรู้ ถ่ายทอดความรู้ วิเคราะห์วิพากษ์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ จัดการความรู้ และสื่อสารความรู้สู่สาธารณะ  ยิ่งท่องโลกความรู้มากขึ้น ผมก็ยิ่งรู้สึกเสียดายเวลาเห็นความรู้ดีๆ ในโลกวิชาการต้องติดอยู่บนหิ้งหรือถูกจองจำอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยเท่านั้น ผมอยากจะเอาความรู้เหล่านั้นออกมาสื่อสารสู่สังคมวงกว้าง ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน หนังสือ งานสัมมนา เว็บไซต์ อินโฟกราฟิก รายการวิทยุ-โทรทัศน์ และสารคดี

ทั้งหมดนั้นคือแพสชั่นในใจเสมอมา เป็นพันธกิจที่พยายามลงมือทำ ทดลอง และเรียนรู้ มาตลอดช่วง 10 ปีหลัง นอกเหนือจากงานสอนและงานวิจัย

 

(3)

งานหลายชิ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นจุดต่อจุดที่เชื่อมร้อยให้ชีวิตเดินมาสู่จุดนี้

หลังจากกลับจากเรียนต่อต่างประเทศ ในช่วงปี 2549-2553 ผมเป็นหนึ่งในทีมบริหารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำหน้าที่ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาในยุคที่อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกรเป็นคณบดี และเป็นผู้ช่วยคณบดีและผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ในสมัยที่อาจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูลเป็นคณบดี หน้าที่หลักของเราคือการสร้างความเป็น ‘ตลาดวิชา’ เผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ในคณะสู่สาธารณะผ่านกิจกรรมวิชาการและหนังสือ

เมื่อปี 2553 ผมกับเพื่อนๆ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สฤณี อาชวานันทกุล วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง แอลซิด เวอร์การา พลอยแสง เอกญาติ กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล และกฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์) ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds ขึ้น ด้วยหวังร่วมการเปิดโลกการอ่านของไทยผ่านการแปลหนังสือดีมีคุณภาพจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนังสือแนวความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ เศรษฐกิจการเมือง ธุรกิจสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์อ่านสนุก การศึกษา และปัญญาความรู้หลากสาขา  จนถึงวันนี้ openworlds ผลิตหนังสือความรู้สารพัดเรื่องออกมา 60 ปกแล้ว และมีหนังสือดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการผลิตอีกร่วม 20 ปก

ในช่วงปี 2554-2557 อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชวนผมไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และออกแบบระบบจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะของสถาบัน โจทย์ใหญ่ของเราคือการจัดการและเผยแพร่ผลงานวิจัยของทีดีอาร์ไอสู่สังคมวงกว้างในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างสังคมความรู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายสาธารณะ

ปี 2555-2556 พี่โญ – ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ชวนผมไปร่วมทีมทำรายการ “สยามวาระ” สารคดีเชิงวิเคราะห์ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทยในบริบทโลก ออกอากาศทาง Thai PBS เราอยากทำสารคดีที่หนักแน่นเชิงเนื้อหาและข้อมูล เจาะลึกประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยในมิติต่างๆ  ผมไปชวนสมคิด พุทธศรี และภัทชา ด้วงกลัด สองลูกศิษย์คนเก่งจากเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศมาร่วมทีม และเชิญชวน “นิ้วกลม” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เพื่อนรัก มาร่วมเป็นพิธีกร และพี่หนุ่ม – โตมร ศุขปรีชา มาช่วยเขียนบทในบางตอน

เมื่อรายการ “สยามวาระ” ปิดตัวลง พวกเราส่วนหนึ่งยังรู้สึกสนุกและท้าทายในการทำสารคดีความรู้กันอยู่  ผมสอนหนังสือในห้องเรียน ก็ได้สอนคนได้หลักสิบ หลักร้อย มากที่สุดก็หลักพัน เมื่อมาทำหนังสือ เราก็นำความรู้สู่ผู้คนได้หลายพันคน ขายดีเต็มที่ก็หลักหมื่น แต่พอมาทำรายการโทรทัศน์ เราสามารถส่งต่อความรู้เข้าถึงคนวงกว้างได้หลักแสน หลักล้านคน เราเชื่อว่ามันสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้

ในปี 2556 ผม นิ้วกลม พี่หนุ่ม สมคิด และภัทชา จึงร่วมกันตั้งทีม ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ (The 101%) ขึ้นมา เพื่อทำงานสารพัดอย่างที่มี ‘ความรู้’ เป็นแกนกลาง   ชื่อ “วันโอวัน” ตั้งใจให้มีสองความหมาย หนึ่ง คือความมุ่งมั่นที่จะทำงานสื่อสารความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ สู่สังคมวงกว้างอย่างสร้างสรรค์ เสมือนการสร้างห้องเรียนวิชารหัส 101 ที่สนุกน่าเรียนไปทั่วทั้งสังคมผ่านรูปแบบและช่องทางต่างๆ  สอง คือความตั้งใจทำงานกันแบบ “เกินร้อย”

ภารกิจแรกของวันโอวัน คือการทำรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” สารคดีสำรวจปรากฏการณ์ร่วมสมัยของสังคมไทยในมิติสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ออกอากาศทาง Thai PBS (ปี 2556-2559) เราเชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องสนุก และพยายามบอกเล่าความรู้หลากหลายสาขาอย่างสร้างสรรค์ รื่นรมย์ และมีดีไซน์ ด้วยหวังว่าจะดึงดูดผู้คนให้หันมาตั้งคำถามกับโลกรอบตัวและสนุกที่จะท่องโลกแห่งความรู้ต่อตามความสนใจและความถนัดในแบบของตัวเอง

จากวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ทีมวันโอวันก็มีโอกาสได้ทำรายการความรู้อีกหลายรายการ เช่น สารคดี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สารคดีว่าด้วยความคิด ชีวิต และตัวตนของอาจารย์ป๋วย ความยาว 4 ตอนจบ ในวาระ 100 ปีชาตกาล, Status Story รายการถกความคิดจากประเด็นดังในโลกโซเชียลมีเดีย, … is coming สารคดีสำรวจเทรนด์ใหม่ในโลกใหม่ และโอกาสใหม่ทางธุรกิจ, เอสเอ็มอี รู้แล้วรอด และ นักสืบเอสเอ็มอี คลิปความรู้ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และโรงเรียนไท ตลาดวิชาออนไลน์ ชุมชนการเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ส่งเสริมการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนความรู้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

นอกจากนั้น วันโอวันยังขยับไปทำงานอีเวนต์และเวิร์คช็อปความรู้ เช่น งาน OKMD Knowledge Festival ปี 2016, งานวิจัย, งานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะให้องค์กรความรู้ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทีดีอาร์ไอ และงานครีเอทีฟ ออกแบบและสร้างสรรค์ความรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี (กำลังจะเปิดปีหน้า) แคมเปญทางสังคม และคลิปความรู้ออนไลน์ต่างๆ

 

DSC01417

 

(4)

วันนี้ “วันโอวัน” คือบ้านใหม่อีกหลังหนึ่งของผม และเป็นฐานที่มั่นในการทำงานความรู้ในเฟสต่อไปของชีวิต

เราไม่ได้เป็นแค่โปรดักชั่นเฮ้าส์ แต่คือทีมทำงาน ‘ความรู้’ ในแบบของเราเองผ่านสารพัดช่องทาง เราเป็นทีมที่ผสมผสานนักวิชาการ นักวิจัย นักเขียน ผู้กำกับ ครีเอทีฟ กราฟิกดีไซเนอร์เข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว เราพยายามเชื่อมร้อย ‘โลกแห่งความรู้’ กับ ‘โลกแห่งความคิดสร้างสรรค์’ เข้าด้วยกัน เราสนใจวิธีเล่าเรื่องมากพอๆ กับคุณภาพของเรื่องที่เล่า เราอยากเป็น ‘สะพาน’ ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างโลกที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่สนใจหรือไม่ถนัดที่จะทำงานสื่อสารกับสังคมวงกว้าง กับโลกที่สื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อยไม่สนใจหรือไม่ถนัดที่จะทำงานบนพื้นฐานวิชาการและเนื้อหาข้อมูล

วันโอวันเชื่อว่า ‘ความรู้’ เป็นฐานหลักที่สำคัญในการทำความเข้าใจสังคมและการเปลี่ยนแปลงสังคม และ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพลังให้ ‘ความรู้’ สามารถทำงานของมันต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ มีคุณค่ามากขึ้น เข้าถึงผู้คนวงกว้างขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ได้แบบสุดทาง เหมือนสัญลักษณ์ของทีมเรา นั่นคือ knowledge ยกกำลังด้วย creativity

logo-Border-1

 

จากสมาชิกไม่กี่คนในช่วงต้น ถึงวันนี้ วันโอวันเริ่มมีสมาชิกร่วมครอบครัวนับสิบคน แต่ละคนต่างก็มีความเก่งในทางของตัวเอง เมื่อผสมกันเป็นทีมก็มีพลังรวมหมู่ที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ทีเดียว  ผมก็อยากลองลุยสักตั้งว่า ถ้าทีมวันโอวันเดินบนเส้นทางความรู้ใหม่ไปให้สุดกำลังและสุดปัญญาจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าเราน่าจะได้ทำอะไรสนุกๆ ระหว่างทางกันไม่น้อย

ที่สำคัญ นอกจากงานแบบที่เคยทำแล้ว พวกเราเองก็อยากลงสนามไปร่วมสนุกในโลกแห่งสื่อใหม่ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง แม้จะตลบอบอวลไปด้วยฝุ่นควันแห่งความไม่แน่นอน โอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ แต่มันก็ท้าทายชวนลอง  ผมอยากทำวันโอวันให้เป็นสถาบันสื่อแห่งใหม่ของสังคม มีพันธกิจหลักในการสื่อสารความรู้อย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย กระจายความรู้สู่สังคมวงกว้างที่สุดเท่าที่มันจะไปถึงได้

วันนี้ ผมอยากลองลุยแบบเต็มตัวดูสักตั้งว่า ถ้าเราทำงานที่กำหนดเกมได้เองมากขึ้น กำหนดเพดานความเป็นไปได้เองให้สูงขึ้น ทำงานแบบลงแรงร้อย ก็ได้ผลใกล้ร้อย ไม่ใช่ลงแรงร้อย ได้ผลสิบ หรือถ้าอยากได้ผลร้อย ต้องใส่แรงเป็นพัน ทำงานแบบไม่ต้องสู้รบกับกฎระเบียบไร้สาระ วัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิม และผู้คนที่กั้นขวางการเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร

ผมอยากสร้างวันโอวันให้มีความเป็นสถาบันมากขึ้น อยากระดมคนเก่งสารพัดแบบในสารพัดวงการที่แชร์อุดมการณ์เดียวกันมาร่วมทำงานความรู้และการศึกษาในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การสร้างโรงเรียนช่างคิด ที่ผมอยากรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคณะทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีความสามารถและความสนใจแตกต่างหลากหลายมานั่งเรียนด้วยกันสัก 1-2 เดือนในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ปีละ 20-30 คน สมาชิกในห้องมีทั้งนักศึกษาที่ชอบทำงานด้านการเมือง ด้านสิทธิเสรีภาพ ด้านพัฒนาชุมชน ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักศึกษาที่อยากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ พวกอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ เทพคอมพิวเตอร์ หรือศิลปิน นักดนตรี นักเขียน นักแสดง ฯลฯ แล้วชวนอาจารย์สารพัดศาสตร์ สารพัดวงการ ในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย มาร่วมกันสร้างประสบการณ์เรียนรู้แบบที่ไม่ได้สอนกันในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วไป เป็นต้น

เล่าเส้นทางชีวิตใหม่ให้ฟังแล้ว ใครหรือองค์กรไหนมีงานความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำสนุกๆ ที่อยากร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนากับผมและทีมวันโอวัน หรืออยากจะสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ ให้กับทีมของเรา หรืออยากทำหนังสือร่วมกับ openworlds หรือจะชวนผมไปสอน ไปเขียนคอลัมน์ ไปทำอะไรที่คิดว่าน่าจะสนุกด้วยกันได้ ก็ลองเขียนมาคุยกันได้ที่ pokpongj(at)gmail.com ครับ

ถึงแม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นอาจารย์ประจำในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ผมก็ยังวนเวียนอยู่ข้างๆ มิตรสหายทุกคน ในโลกแห่งความรู้นี่แหล่ะครับ.

Print Friendly