เมื่อเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เลือกคณบดี

กระบวนการสรรหาคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ในเดือนเมษายน 2560 ทีมบริหารชุดใหม่จะเริ่มต้นทำงาน

ยี่สิบกว่าปีที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ทั้งในฐานะนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่า ทุกครั้งที่มีการสรรหาคณบดีใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์จะมีวัฒนธรรม “เลือกตั้ง” คณบดีโดยสมาชิกของประชาคมเสมอ แม้ว่าข้อบังคับว่าด้วยการ “สรรหา” คณบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างน้อยในช่วง 15 ปีหลังไม่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งคณบดีก็ตาม ข้อบังคับหลายฉบับเขียนกำกับไว้ด้วยซ้ำว่าห้ามมีการหยั่งเสียงหรือห้ามเลือกตั้งนั่นเอง (ไม่ต้องยุ่ง เดี๋ยวผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและผู้บริหารมหาวิทยาลัยสรรหามาให้เอง) อำนาจในการเลือกคณบดีอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ที่ประชาคม และช่องทางการแสดงออกของประชาคมตามข้อบังคับก็มีจำกัด

ตามข้อบังคับ “ทางการ” ว่าด้วยการสรรหาคณบดีที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาคมของคณะมีสิทธิ์มีเสียงได้เพียงแค่ “เสนอชื่อ” ผู้เหมาะสมเป็นคณบดีในช่วงเริ่มต้นกระบวนการ ขั้นตอนต่อมาคือการทาบทามผู้ได้รับการเสนอชื่อ เมื่อผู้ถูกเสนอชื่อตอบรับการทาบทาม ก็มีการแถลงนโยบายต่อหน้าคณะกรรมการสรรหาคณบดีและประชาคม ชาวประชาคมทำได้เพียงซักถามในที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิเลือกผู้นำองค์กรของตัวเองด้วยตนเอง หลังจากการแถลงนโยบาย คณะกรรมการสรรหาคณบดี ซึ่งนับวันจะยิ่งมีตัวแทนจากประชาคมของคณะจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะเป็นผู้คัดสรรผู้เหมาะสม (โดยมากคือ 2 คน) ส่งไปให้สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เลือกในขั้นสุดท้าย

แต่ในอดีต แม้ว่าข้อบังคับในช่วงหนึ่งจะระบุว่าห้ามมีการหยั่งเสียงก็ตาม แต่ในหลายคณะ โดยเฉพาะคณะเก่าแก่ที่การเลือกตั้งคณบดีกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน ก็มักจะจัดให้มีการเลือกตั้งในหมู่ประชาคม นั่นคือ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา อย่างไม่เป็นทางการ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายคณะก็คือ ผู้ชิงตำแหน่งที่แพ้เลือกตั้งในระดับคณะทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยอมถอนตัว (เพราะเป็นการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจึงไม่มีกฎระเบียบเขียนบังคับไว้) ต่อมา ในขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหากลับมีการเสนอชื่อผู้แพ้เข้าไปในชั้นสภามหาวิทยาลัยด้วย และสุดท้ายก็ได้รับเลือกให้เป็นคณบดี

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเต็มไปด้วย “คณบดีเสียงข้างน้อย” ที่ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นว่าเหมาะสมกว่า ทั้งที่ประชาคมของคณะต้องการอีกคนหนึ่ง

กระบวนการสรรหาคณบดีที่ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วยคนนอกคณะมากกว่าคนในคณะ (แถมในข้อบังคับล่าสุดที่เพิ่งประกาศใช้หลังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ อธิการบดีและรองอธิการบดีอีกหนึ่งคน เข้าไปนั่งเป็นกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับคณบดีและสถาบันทุกแห่งในมหาวิทยาลัย) และให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยในการเลือกคณบดี เหนือประชาคมของคณะ ทำให้คณบดีไม่ต้องรับผิดชอบ (accountable) ต่อประชาคมของคณะอย่างสุดกำลัง การเอาใจผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือสภามหาวิทยาลัยส่งผลต่อชีวิตทางการเมืองและการบริหารของตนมากกว่าการดูแลใส่ใจประชาคมของคณะ

สำหรับผม นี่เป็นปัญหาเชิงสถาบันที่สำคัญยิ่งของการออกแบบระบบบริหารจัดการและการกำกับดูแล (governance) ของมหาวิทยาลัย เป็นความล้มเหลวในการออกแบบสถาบันโดยตั้งใจ และเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่าง

น่าดีใจที่ปัญหาเชิงสถาบันนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เพราะการเลือกตั้งคณบดีกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของคณะ แม้ข้อบังคับจะไม่ได้เขียนไว้อย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ธรรมเนียมที่ไม่เป็นทางการและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของคณะในเรื่องนี้ทำงานได้อย่างเข้มแข็งเหนือข้อบังคับทางการเสียอีก

ทุกครั้งที่มีการสรรหาคณบดีใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์จะผลักดันให้มีการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในหมู่ประชาคมของคณะหลังจากฟังการแถลงนโยบายต่อประชาคม ผู้ดูแลจัดการการเลือกตั้งคือผู้แทนอาจารย์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของคณาจารย์ ไม่ใช่ผู้บริหารของคณะ

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อทราบผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าในสายอาจารย์จะแสดงสปิริตทำหนังสือขอถอนตัวจากกระบวนการสรรหา คณะกรรมการสรรหาจึงเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมให้สภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียวเสมอ นั่นคือ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งภายในคณะอย่างไม่เป็นทางการ ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ไม่เคยมีคณบดีเสียงข้างน้อย เพราะสภามหาวิทยาลัยไม่เคยมีโอกาสใช้อำนาจดุลพินิจเลือกคณบดีแทนประชาคม

นี่คือ “เส้น” ที่ประชาคมของคณะร่วมกันขีดไว้มาหลายทศวรรษ เส้นนั้นคือ หลักประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาคมในการเลือกคณบดี

แน่นอนว่า ในคณะเศรษฐศาสตร์ก็มีคนที่มีอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อ วิธีทำงานแตกต่างกัน มีคนที่ไม่อยากทำงานร่วมกัน เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับองค์กรทุกแห่ง หลายครั้งก็แข่งขันชิงตำแหน่งคณบดีกันอย่างเต็มที่ แต่ไม่ว่าจะแข่งกันหนักขนาดไหน เราถือหลักว่าเลือกตั้งแล้วต้องจบกันเองให้ได้ เราต้องเลือกคณบดีของเราเอง ตัวแทนประชาคมในคณะกรรมการสรรหามีหน้าที่หลักคือผลักดันให้มีการเลือกตั้งภายในคณะให้ได้ และผลักดันให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้รับการเสนอชื่อไปยังสภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียว ไม่ว่าตัวเองจะเลือกผู้สมัครคนนั้นหรือไม่ -ไม่สำคัญ ต้องยึดมั่นในเสียงส่วนใหญ่ของประชาคม

เท่าที่ผ่านมา ผู้ตอบรับชิงตำแหน่งคณบดีทุกคนต่างก็ยอมรับธรรมเนียมคนแพ้ถอนตัวด้วยดีอย่างมีศักดิ์ศรี ในเวทีการแถลงนโยบายทุกครั้งจะมีผู้ยกมือถามผู้สมัครเป็นสัญญาประชาคมเสมอว่าถ้าแพ้คะแนน จะยินดีถอนตัวไหม ซึ่งผู้สมัครต่างก็ตอบโดยไม่ลังเลว่า ถอนตัวแน่นอน

ในครั้งที่มีผู้สมัครเป็นคณบดีเพียงคนเดียว คณะก็ยังจัดให้มีการลงคะแนนเสียงรับรอง/ไม่รับรองผู้สมัคร เรียกว่าถ้าจะเป็นคณบดีคณะนี้ อย่างไรก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาคมเสียก่อน ในประวัติศาสตร์ กรณีที่มีผู้สมัครคนเดียว แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่รับรอง จนต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่หมด ก็เคยมีมาแล้ว

ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้การสรรหาคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ทุกครั้งที่ผ่านมาราบรื่นเรียบร้อยและชอบธรรม วัฒนธรรมเลือกตั้งคณบดีสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ในการเลือกสรรผู้นำของตน โดยไม่ต้องอาศัยคนนอกมาเลือกแทนให้ ผู้ได้รับเลือกเข้ามาทำงานก็มีความสง่างาม ผู้ไม่ได้รับเลือกก็มีความสง่างาม

แน่นอนว่า บางครั้งเราก็ผิดหวังจากตัวเลือกที่เราเลือกกันเอง แต่เราก็เรียนรู้ รอเวลาสามปี แล้วก็เลือกใหม่ ระหว่างนั้น เราก็ยังแสดงออกได้ผ่านการตรวจสอบ ตั้งคำถาม และเสนอข้อแนะนำในเวทีที่ประชุมอาจารย์และช่องทางอื่นๆ (น่าสังเกตว่าคณะเศรษฐศาสตร์แทบไม่เคยมีคณบดีที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยเลย คณบดีส่วนใหญ่ไม่ลงสมัครซ้ำสองด้วย)

วัฒนธรรมเลือกตั้งคณบดีเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจในคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์อย่างยิ่ง แม้เรื่องนอกคณะ เราอาจจะเห็นต่างกัน (กระทั่งเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในระดับชาติ!) แต่สำหรับวัฒนธรรมประชาธิปไตยภายในคณะในเรื่องนี้นับว่าลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็ง และหวังว่าคนในประชาคมจะช่วยกันปกปักรักษาให้ธำรงอยู่สืบไปนานเท่านาน.

Print Friendly