Federalist paper เป็นเอกสารทางการเมืองที่เขียนขึ้นโดยกลุ่มผู้ใช้นามปากกาว่า “Publius” ในช่วงปี 1787 – 1788 ท่ามกลางกระแสวิวาทะว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Federal Convention) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของมลรัฐ 12 มลรัฐ ร่วมกันจัดทำขึ้น
Publius เป็นนามปากกาของอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) เจมส์ แมดิสัน (James Madison) และจอห์น เจย์ (John Jay) ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างอเมริกาใหม่หลังการประกาศอิสรภาพ และการร่างรัฐธรรมนูญ
แฮมิลตัน เป็นตัวแทนรัฐนิวยอร์กในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของสหรัฐอเมริกา ด้านแมดิสันเป็นตัวแทนรัฐเวอร์จิเนียในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา ส่วนเจย์เป็นนักการเมือง นักการทูต คนสำคัญ และภายหลังดำรงตำแหน่งประธานศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาคนแรก
Federalist paper มีจำนวนทั้งสิ้น 85 ชิ้น ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของมลรัฐนิวยอร์ก ได้แก่ Independent Journal และ New-York Packet และถูกรวบรวมเป็นหนังสือเล่มในปี 1788 ภายใต้ชื่อ The Federalist โดย จอห์น และอาร์ชิบาลด์ แม็คลีน (John and Archibald McLean) เป้าหมายสำคัญของบทความเหล่านี้คือการชักจูงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนและสาธารณชนตัดสินใจว่ายอมรับร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน) แทนที่จะอยู่ภายใต้ Articles of Confederation ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของรัฐแต่ละรัฐ ดังเดิม
งานเขียนแต่ละชิ้นกล่าวถึงหลักการที่เป็นพื้นฐานในการผลิตสร้างรูปแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา และท้าทายความเชื่อเดิม ประเด็นที่กล่าวถึง เช่น การแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ เป็นต้น
ใน Federalist paper หมายเลข 10 ซึ่งเป็นบทความที่มีผู้กล่าวถึงและอ้างอิงมากที่สุดชิ้นหนึ่ง แมดิสัน ผู้เขียน ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นั่นคือ ปัญหาทรราชย์ของเสียงข้างมาก หรือการที่กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะที่ได้รับเสียงข้างมาก (Majority Fraction) มีพฤติกรรมในทางที่ขัดต่อประโยชน์สาธารณะ และเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งแมดิสันชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นมาก ในรัฐขนาดเล็ก ซึ่งมีกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะไม่หลากหลาย และมีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินระหว่างคนจนกับคนรวยมาก
คำว่า ‘กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ’ (Fraction) ของแมดิสัน หมายถึง กลุ่มพลเมืองไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ซึ่งรวมตัวกัน มีความต้องการร่วมกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งขัดแย้งต่อสิทธิของพลเมืองกลุ่มอื่น หรือขัดต่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยั่งยืนของสังคม
แมดิสันเสนอหลักการเรื่องการควบคุมผลกระทบด้านลบจากกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ โดยเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่ามีวิธีจัดการปัญหา 2 วิธีที่แตกต่างกัน คือ (1) การจัดการที่ ‘สาเหตุ’ (removing its causes) ของการเกิดกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ และ (2) การควบคุม ‘ผล’ (controlling its effects) ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ
สำหรับแมดิสันแล้ว การแก้ปัญหาด้วยวิธีแรก หรือ การจัดการที่ต้นเหตุ เป็นวิธีที่ทั้ง ‘เลวร้าย’ และ ‘เป็นไปไม่ได้’
แนวคิดแรกเชื่อว่า กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะสร้างปัญหาทางการเมือง วิธีแก้คือการจำกัดไม่ให้เกิดกลุ่มเสียแต่แรก ด้วยวิธีหลัก 2 ประการคือ
(1) การทำลายเสรีภาพ โดยไม่ให้มีการจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งแมดิสันมองว่าเป็นการกระทำที่ ‘เลวร้าย’ กว่าผลร้ายที่เกิดจากกลุ่มเสียอีก เพราะเสรีภาพในการจัดตั้งกลุ่มเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ
(2) การทำคนให้เหมือนกัน คือ มีความคิดเห็นเหมือนกัน มีความต้องการเหมือนกัน มีผลประโยชน์เดียวกัน จนไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ ซึ่งแมดิสัน มองว่า วิธีนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีทางทำได้จริง เพราะสังคมมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ คนเป็นมีทรัพย์สินไม่เท่ากัน และมีทรัพย์สินต่างชนิดกัน ผลประโยชน์ของแต่ละคนจึงไม่มีทางเหมือนกันได้ หากแต่แตกต่างกันตามชนชั้นที่ต่างกัน ยิ่งธรรมชาติของคนมีความรักตัวเองเป็นที่ตั้ง และพยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเหนือส่วนรวมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการร่วมกลุ่มเพื่อกดดันหรือเคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาหรือปกป้องหรือผลประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนกลุ่ม
ดังนั้น การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะจึงเป็นธรรมชาติและจิตวิญญาณของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เช่นนี้แล้ว ทางออกในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะจึงมีทางเดียวคือ การพยายามควบคุมผลกระทบของมัน โจทย์ในการสร้างสังคมการเมืองที่ดีจึงอยู่ที่ จะควบคุมไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจผูกขาดทางการเมืองจนสร้างปัญหาทรราชย์เสียงข้างมากได้อย่างไร
แมดิสันแย้งว่าคำตอบต่อคำถามข้างต้นไม่ได้อยู่ที่การทำลายเสรีภาพทางการเมือง ด้วยการจำกัด กีดกัน คุมกำเนิด หรือบั่นทอนการรวมกลุ่ม ในทางตรงกันข้าม ทางออกกลับอยู่ที่การขยายพื้นที่เชิงอำนาจให้กว้างขวางขึ้น ทั้งพื้นที่เชิงกายภาพของรัฐ (เชิงรูปธรรม) และพื้นที่ทางการเมือง (เชิงนามธรรม) นั่นคือ การขยายให้เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ขึ้น และการเปิดพื้นที่ทางการเมืองโดยส่งเสริมให้มีกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะให้มากขึ้นและหลากหลายขึ้น ทั้งนี้เพื่อ
(1) ให้กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าครองอำนาจได้ยากขึ้น เมื่อเขตพื้นที่ในการเลือกตั้งใหญ่ขึ้น การรวมตัวกันเป็นเสียงข้างมากเพื่อขึ้นสู่อำนาจต้องประนีประนอม ต้องอาศัยการเจรจาต่อรอง และต้องประสานประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ มากกลุ่มขึ้น จนไม่มีกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียวสามารถยึดกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตัวเองเพียงฝ่ายเดียวได้ โดยไม่คำนึงถึงกลุ่มอื่นหรือกลุ่มข้างน้อย
แมดิสัน เชื่อว่า การกำหนดขอบเขตของรัฐหรือการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น เช่น การใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จะทำให้ได้ตัวแทนที่มุ่งทำงานเพื่อผลประโยชน์ระดับประเทศ (ซึ่งกินพื้นที่กว้างขวางกว่า) เหนือกว่าผลประโยชน์ของตัวเองหรือท้องถิ่นเล็กๆ ของตน นี่เป็นประเด็นหลักที่แมดิสันใช้สนับสนุนการรวมตัวกันเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐบาลกลางทำหน้าที่บริหารประเทศ มีขอบเขตอำนาจกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ
ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีส่วนผสมที่ลงตัว โดยให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยใช้มลรัฐเป็นเขตเลือกตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตเลือกตั้งย่อยภายในมลรัฐเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ผู้แทนประชาชนในแต่ละสถาบันมีภารกิจในระดับที่แตกต่างกัน และตอบโจทย์ทางการเมืองต่างกัน มิพักต้องพูดถึงกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
(2) ลดความสำคัญโดยเปรียบเทียบของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเมื่อเทียบกับทั้งหมดลง โดยส่งเสริมให้มีกลุ่มมากและหลากหลายเสียจนไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจสิทธิขาดเหนือกลุ่มอื่นได้โดยง่าย เพราะยิ่งมีจำนวนกลุ่มมากและหลากหลาย ยิ่งมีกลไกในการคานและถ่วงดุลอำนาจกันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยธรรมชาติ การใช้อำนาจคุกคามส่วนอื่นของสังคมจึงเกิดขึ้นได้ยาก
ทั้งนี้ แนวคิดในการทำกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะให้มีความหลากหลายที่แมดิสันเสนอจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเป็นแนวราบ เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นมาก มีการกระจายทรัพย์สินที่ค่อนข้างเป็นธรรม ยอมรับและอดทนต่อความคิดที่แตกต่าง หวังพึ่งตัวเองมากกว่าพึ่งรัฐ มีทัศนคติด้านบวกต่อการรวมกลุ่ม และมีกฎกติกาที่ประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกของประชาชน
อ่าน Federalist paper หมายเลข 10 แล้ว มองเห็นอะไรในการเมืองไทยท่ามกลางความมืดมิดบ้างครับ