สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2009 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจาก BEA (Bureau of Economic Analysis) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2010 ชี้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2009 ไตรมาสแรกของปี 2010 และไตรมาสที่สองของปี 2010 คิดเป็น 5% 3.7% และ 2.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่หากจะกล่าวอ้างว่า ช่วงเวลาแห่งความตกต่ำได้ผ่านพ้นไปจากเศรษฐกิจอเมริกาแล้ว คงเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป
เมื่อเหลียวมองสถานการณ์การจ้างงานในเศรษฐกิจอเมริกาจากข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2010 ของ BLS (Bureau of Labor Statistics) สังกัดกระทรวงแรงงาน พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 14.6 ล้านคน เกือบ 45% ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดเป็นผู้ว่างงานระยะยาว (ตกงานนานกว่า 27 สัปดาห์) อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 9.5% (ในช่วงเดือนมีนาคม 2007 ก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์ อยู่ที่ระดับ 4.4% พุ่งสูงเกินระดับ 5% ในเดือนมีนาคม 2008 และสูงสุดที่ระดับ 10.2% ในเดือนตุลาคม 2009)
นอกจากนั้น ยังพบว่า ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่ได้รับเงินเดือนหายไป 131,000 ตำแหน่ง อันเป็นผลมาจากการจ้างงานภาครัฐที่ลดลง เพราะกระบวนการสำรวจสำมะโนประชากรเสร็จสิ้นแล้ว อีกทั้ง ในแต่ละสัปดาห์มีจำนวนผู้ยื่นขอสิทธิประโยชน์จากการประกันการว่างงานสูงถึง 480,000 คนโดยเฉลี่ย แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นทุกสัปดาห์ ในช่วงสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม 2010 มีผู้ว่างงานยื่นขอสิทธิประโยชน์มากกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 12,000 คน
สรุปความแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัว แต่สถานการณ์ในตลาดแรงงานยังไม่มีสัญญาณในทางสดใสกว่าเดิม ตลาดแรงงานยังมีสภาพเลวร้ายที่สุดนับแต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 และปัญหาใหญ่ในเวลานี้คือ การฟื้นตัวแบบไม่จ้างงาน หรือ Jobless Recovery
การฟื้นตัวแบบไม่จ้างงาน (Jobless Recovery) คือภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ได้มาพร้อมการจ้างงานมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น แต่อัตราการว่างงานกลับไม่ลดลง การเติบโตในภาพรวมไม่ช่วยให้การจ้างงานขยายตัวตามไปด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสวนทางกับคำทำนายของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคมาตรฐาน ซึ่งมักทำนายว่าระดับการลงทุน การบริโภค และการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวจะช่วยฉุดดึงความต้องการจ้างงานให้สูงขึ้นด้วย นั่นคือ อัตราการเติบโตของผลผลิต รายได้ และการจ้างงาน เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
อะไรคือสาเหตุของการฟื้นตัวแบบไม่จ้างงาน?
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากชี้นิ้วไปที่ปรากฏการณ์จ้างแรงงานภายนอกประเทศ หรือที่เรียกว่า Outsourcing ซึ่งเป็นผลพวงของนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ส่งเสริมนโยบายการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกที่จะลงทุนในแทบทุกประเทศทั่วโลกอย่างสะดวกเสรี
Outsourcing คือการที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ย้ายฐานการผลิตสินค้าและบริการบางภาคส่วนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานราคาถูก แรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาจึงถูกแย่งงาน เพราะมิอาจแข่งขันสู้ค่าจ้างราคาถูกของแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาได้
ตัวอย่างคลาสสิกของ Outsourcing คือ การย้ายศูนย์บริการทางโทรศัพท์ของบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งไปยังเมืองบังกาลอร์ (Bangalore) ประเทศอินเดีย เพื่อบริการลูกค้าที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในการนี้มีการฝึกสำเนียงลูกจ้างอินเดียให้พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน เพื่อตอบคำถามลูกค้าเสมือนนั่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ได้ค่าจ้างระดับอินเดีย ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างในอเมริกามากมายมหาศาล
ภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ปัญหาการฟื้นตัวแบบไม่จ้างงานจึงรุนแรงและซับซ้อนขึ้นมาก กระนั้น Outsourcing มิใช่สาเหตุเดียว และมิใช่สาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) นั่นคือ ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของแรงงานสูงขึ้น โดยแรงงาน 1 คนสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้น หรือบริษัทผลิตสินค้าได้เท่าเดิม โดยใช้แรงงานน้อยลง กล่าวคือผลผลิตโตขึ้นเร็วกว่าการจ้างงานนั่นเอง
จากข้อมูลของโรเบิร์ต โพลลิน นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานแห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ พบว่า ในช่วงระหว่างปี 1972-2007 ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 90% ขณะที่อัตราค่าจ้างแท้จริงที่แรงงานได้รับ (ใช้ปี 2007 เป็นปีฐานในการคำนวณ) กลับลดลงถึง 11% สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของแรงงานที่ลดน้อยถอยลงข้ามเวลา
แม้ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่ช่วงตกต่ำตั้งแต่ปลายปี 2007 แต่อัตราการเติบโตของผลิตภาพ ในช่วงปี 2008-2009 กลับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเสียอีก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2009 หมายความว่า แรงงานที่ยังคงมีงานทำต้องทำงานหนักขึ้น ขณะที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตามอย่างสมดุล เมื่อผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การสร้างงานใหม่ในระบบเศรษฐกิจจึงลดความจำเป็นลง
บทความของโรเบิร์ต ไรช์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และหนึ่งในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ในบล็อกส่วนตัวของเขาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2010 ให้ความเห็นสอดคล้องกับประเด็นนำเสนอข้างต้น ไรช์ชี้ว่า ข้อมูลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 แสดงให้เห็นว่า กำไรของภาคธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเติบโตสูงขึ้น กำไรที่หายไปของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจได้ฟื้นคืนกลับมาแล้ว 90% แต่ใช่ว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจาก กำไรส่วนใหญ่ของธุรกิจขนาดใหญ่มาจากการดำเนินกิจการในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่มักจะลงทุนต่อและจ้างงานในต่างประเทศมากกว่าในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน บริษัท GM ขายรถยนต์ในจีนได้มากกว่าในอเมริกา และมีแนวโน้มจ้างแรงงานในจีนเพิ่มมากขึ้น แรงงานรายชั่วโมงของ GM ในอเมริกาลดลงจาก 468,000 คนในปี 1970 เหลือเพียง 52,000 คนในปัจจุบัน ขณะที่แรงงานในจีนมีจำนวนถึง 32,000 คน
นอกจากนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่มักจัดสรรกำไรไปลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวไม่เอื้อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท Ford เพิ่งประกาศตัวเลขกำไรไตรมาสที่สองของปี 2010 อยู่ที่ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ใน 3 ของกำไรปี 1999 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่จำนวนตำแหน่งงานในปี 2010 ของบริษัท Ford ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 1999 สะท้อนถึงการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงานในระดับสูง
อีกทั้ง บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมาก นำกำไรไปจ่ายในรูปเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บ้างก็นำเงินไปซื้อหุ้นคืนกลับมา หลังจากขายไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
สรุปว่า กำไรที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะนำไปสู่การจ้างงานมากขึ้นเสมอไป นับวันโลกของกำไรกับโลกของงานยิ่งแยกขาดจากกัน ความเชื่อที่ว่าช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวก่อนแล้วจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการจ้างงานต่อไปดูจะเป็นความเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของเศรษฐกิจปัจจุบันเสียแล้ว
และหากสถานการณ์ในตลาดแรงงานยังคงดำเนินไปอย่างเลวร้ายเช่นนี้อยู่ ก็มีโอกาสสูงว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วเป็นเพียงภาพลวงตาระยะสั้น ก่อนที่จะวนกลับสู่ความตกต่ำซ้ำสองอีกรอบในไม่ช้า เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนต้องมีฐานล่างที่เข้มแข็ง คนต้องมีงานทำและได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมจึงมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการในระดับที่นำพาเศรษฐกิจออกจากหล่มแห่งความตกต่ำได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์การฟื้นตัวแบบไม่จ้างงานสะท้อนว่า เศรษฐกิจที่เติบโตในภาพรวมอาจมิได้ส่งผลไหลรินลงสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีสามัญชนคนทำงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นผลตอบแทนจากการขายพลังแรงงาน เป็นส่วนประกอบสำคัญ เศรษฐกิจอาจเติบโตได้โดยมีการกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การเติบโตในทางที่ไม่สร้างงานใหม่ ในทางที่ค่าจ้างแรงงานไม่สูงขึ้น กล่าวให้ถึงที่สุด ในทางที่ไม่เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่คนทำงาน
การฟื้นตัวแบบไม่จ้างงานสะท้อนว่า กลุ่มนายทุนซึ่งมีกำไรเป็นผลตอบแทนได้รับประโยชน์โภคผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเหนือกลุ่มคนทำงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นผลตอบแทน
พลวัตของความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะสามัญชนคนทำงาน จึงมิอาจวัดได้อย่างผิวเผิน เพียงดูจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักเป็นเป้าหมายสุดท้ายของบรรดานักการเมือง ข้าราชการ และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก
ตีพิมพ์: นิตยสาร ค คน ฉบับเดือนกันยายน 2553