อ่านความคิดและปฏิบัติการของ ‘เลนิน 1917’ – ต้นธารปฏิวัติรัสเซีย

1.

1917 เป็นปีพลิกโลก

ภายในปีเดียว รัสเซียเกิดการปฏิวัติระดับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินถึงสองครั้ง ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 1917 เป็นการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ ซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ ราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสุดลง และครั้งที่สอง ตุลาคม 1917 เป็นการปฏิวัติสังคมนิยม ก่อร่างสร้างรัฐสังคมนิยมขึ้นครั้งแรกในโลก ก่อนจะเกิดสหภาพโซเวียตตามมาในปี 1922

หากสืบเสาะหา ‘ต้นธารปฏิวัติ’ ย่อมพบบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในสนามรบทางความคิดยืนตระหง่านอยู่ตรงนั้นคนหนึ่ง นั่นคือ วลาดีมีร์ อิลลิช อุลยานอฟ หรือนามแฝงที่ทุกคนคุ้นเคย – “เลนิน”

 

2.

“1917 ปฏิวัติรัสเซีย” เป็นหนังสือสรรนิพนธ์เลนิน ณ ช่วงอรุณรุ่งแห่งปีปฏิวัติ สำนักพิมพ์ bookscape รวบรวมงานเขียนสั่นสะเทือนโลกของเลนิน 11 ชิ้นตลอดปี 1917 เข้าไว้ด้วยกันในเล่มเดียว น่าสนใจว่าผลงานทุกชิ้นล้วนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์

ในบทนำ “เลนิน 1917: ประกายไฟ ณ อรุณรุ่งแห่งการปฏิวัติสังคมนิยม” ของ ณัฐนพ พลาหาญ อดีตนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญารัสเซียและประวัติศาสตร์สื่อและวรรณคดีรัสเซีย ชี้ให้เห็นถึงพลังของหนังสือพิมพ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ว่า

“เลนินให้คุณค่ากับหนังสือพิมพ์อย่างมากในฐานะสื่อที่ช่วยเผยแพร่อุดมการณ์ความคิดไปสู่สังคมวงกว้าง การเคลื่อนไหวและความขัดแย้งต่างๆ ทางความคิดของเขาและเพื่อนร่วมพรรค รวมถึงความขัดแย้งกับลัทธิอื่นๆ ล้วนได้รับการถ่ายทอดและถกเถียงผ่านหนังสือพิมพ์ … หนังสือพิมพ์ในขณะนั้นมีบทบาททางความคิดในหมู่ผู้มีการศึกษาและเป็นสื่อราคาถูกที่เข้าถึงง่าย กลุ่มการเมืองต่างๆ มักจัดตั้งหนังสือพิมพ์เป็นหลัก”

เลนินกล่าวถึงคุณค่าของหนังสือพิมพ์ในการรณรงค์เพื่อปฏิวัติในบทความ เราจะเริ่มตรงไหนดี? ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อิสกรา หรือ ประกายไฟ ที่เขาเป็นหัวหอกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมว่า

“บทบาทของหนังสือพิมพ์ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการเผยแผ่ความคิด การศึกษาทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมของพันธมิตรทางการเมืองอย่างเดียว หนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นเพียงผู้โฆษณาชวนเชื่อมวลชนหรือผู้ปลุกปั่นมวลชน แต่ยังต้องเป็นผู้จัดตั้งมวลชนด้วย”

 

3.

งานเขียนชิ้นแรกในหนังสือ “1917 ปฏิวัติรัสเซีย” คือ “จดหมายจากแดนไกล” (ฉบับที่หนึ่ง) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Pravda เมื่อเดือนมีนาคม 1917 ซึ่งขณะนั้นมีโยเซฟ สตาลิน เป็นหนึ่งในบรรณาธิการด้วย

สถานการณ์ในตอนนั้นคือการปฏิวัติครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สังคมการเมืองรัสเซียเข้าสู่ภาวะ ‘ทวิอำนาจ’ ของสองขั้วอำนาจใหม่ หนึ่งคือรัฐบาลเฉพาะกาล ที่เลนินปักป้ายว่าเป็นรัฐบาลกระฎุมพีและยังยืนอยู่ข้างสงครามจักรวรรดินิยม อีกหนึ่งคือสภาโซเวียตและพรรคบอลเชวิค ที่มีฐานชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาหนุนหลัง

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปลหนังสือ “1917 ปฏิวัติรัสเซีย” อธิบายบริบทในช่วงนั้นว่า เลนินเขียนจดหมายนี้ขึ้นเพื่อชี้นำให้ผู้นำพรรคบอลเชวิคเห็นว่า การยอมประนีประนอมกับชนชั้นกระฎุมพีและเล่นในกติการะบอบประชาธิปไตยแบบกระฎุมพีไม่ใช่ทางออก การโค่นล้มระบอบซาร์เป็นแค่ขั้นตอนแรกของการปฏิวัติที่แท้จริง  การปฏิวัติจะสำเร็จต่อเมื่อนำไปสู่การครองอำนาจของแรงงานและชาวนา ซึ่งจัดตั้งเป็นสภาโซเวียต พรรคบอลเชวิคควรมุ่งไปสู่ทิศทางนี้เท่านั้น  จดหมายจากแดนไกลฉบับที่หนึ่ง จึงมีความสำคัญในแง่ของการปูพื้นฐานความคิดและชี้นำทิศทางให้พรรคบอลเชวิคยึดครองอำนาจในอีกเจ็ดเดือนต่อมา

“กรรมกรทั้งหลาย พวกท่านได้แสดงปาฏิหาริย์แห่งวีรกรรมของชนชั้นกรรมาชีพ วีรกรรมของประชาชน ในสงครามกลางเมืองโค่นล้มระบอบซาร์แล้ว ท่านต้องแสดงปาฏิหาริย์ของการจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพและของปวงชนเพื่อตระเตรียมหนทางสู่ชัยชนะในขั้นตอนที่สองของการปฏิวัติ … หมุดหมายแรกคือการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยและชัยชนะของชนชั้นชาวนาเหนือเจ้าที่ดินอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทนที่จะปล่อยให้กุชคอฟ-มิลูย์คอฟสร้างระบอบกึ่งกษัตริย์ขึ้นมา แล้วจากนั้น เราจึงก้าวไปสู่หมุดหมายต่อไป นั่นคือ สังคมนิยม มีเพียงระบอบสังคมนิยมเท่านั้นที่จะบันดาลให้ประชาชนผู้เหนื่อยล้าจากสงครามมี สันติภาพ ขนมปัง และเสรีภาพ”

ในหนังสือ “1917 ปฏิวัติรัสเซีย” ยังรวมงานเขียนที่สำคัญที่สุดของเลนินชิ้นหนึ่ง นั่นคือ “บทเสนอเดือนเมษายน” (April Theses) ซึ่งตีพิมพ์ใน Pravda เมื่อวันที่ 7 เมษายน 1917 ภัควดีเล่าที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้ว่า บทเสนอ 10 ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดเลนินและถือเป็นคำจำกัดความของลัทธิเลนินนิสต์ โดยมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917

ข้อเสนอของเลนินคือ เรียกร้องให้ถอนตัวจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยเร็วที่สุด ไม่เอาสงครามจักรวรรดินิยม แต่เอาสงครามปฏิวัติ “ภายใต้เงื่อนไขที่ (ก) อำนาจได้ถ่ายโอนให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพและชาวนากลุ่มที่ยากจนที่สุด ซึ่งเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ (ข) ต้องปฏิเสธการผนวกดินแดนทั้งหมดด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยคำพูด (ค) การแตกหักกับผลประโยชน์ของทุนนิยมทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงได้บังเกิดผลแล้วอย่างแท้จริง”

สรรนิพนธ์เลนินในหนังสือ “1917 ปฏิวัติรัสเซีย” จบลงที่บทสุนทรพจน์ในที่ประชุมสภาโซเวียตของผู้แทนกรรมกรและทหารแห่งกรุงเปโตรกราด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1917 อันเป็นการประกาศชัยชนะของการปฏิวัติ รวมถึงปณิธานและภารกิจของรัฐสังคมนิยมที่จะกลายเป็นสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา

“การปฏิวัติที่เพิ่งบรรลุผลคือหลักฐานพิสูจน์สิ่งนี้ เราครองความเข้มแข็งของการจัดตั้งมวลชน ซึ่งจะมีชัยเหนือทุกสิ่งทุกอย่างและนำทางชนชั้นกรรมาชีพไปสู่การปฏิวัติโลก

ตอนนี้เราต้องเริ่มลงมือก่อร่างสร้างรัฐสังคมนิยมชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซีย

การปฏิวัติสังคมนิยมโลกจงเจริญ!”

ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือทำให้เราได้เรียนรู้การเมืองรัสเซียในโมเมนต์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดจากสายตาของเลนิน-ตัวละครที่สำคัญที่สุด ผ่านงานเขียนที่เป็นต้นฉบับของเขาเอง ผู้อ่านจะได้มองทะลุเข้าไปในอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อของเลนิน และเห็นถึงความเฉียบคมในการอ่านสถานการณ์-วิเคราะห์บริบทรอบตัว การจัดวางยุทธศาสตร์การปฏิวัติ การปลุกเร้ามวลชน การทำสงครามทางความคิด และการเชื่อมประสานหลักทฤษฎีเข้ากับปฏิบัติการทางการเมืองอันทรงพลัง

สมดังที่ณัฐนพเขียนทิ้งท้ายไว้ในบทนำว่า “มรดกสำคัญยิ่งของเลนินคือการเป็นนักปฏิวัติที่กล้าคิดและกล้าจินตนาการถึงโลกใหม่ที่เคยอยู่แต่ในความคิดทฤษฎี จนหลายคนยอมรับไปแล้วว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งกล้าทำกล้าสู้ผลักดันให้เป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง มรดกดังกล่าวสะท้อนชัดผ่านผลงานเขียนต่างๆ ณ จุดพลิกประวัติศาสตร์รัสเซียและโลกในปี 1917 ดังแสดงไว้ในหนังสือสรรนิพนธ์เล่มนี้”

 

4.

หนังสือ “1917 ปฏิวัติรัสเซีย” เป็นผลงานลำดับที่ 4 ในหนังสือชุด “ต้นธารปฏิวัติ” ที่สำนักพิมพ์ bookscape นำเสนอต้นฉบับหนังสือคลาสสิกที่มีพลังทางการเมืองในระดับสั่นสะเทือนความคิดและจิตใจผู้คน จนเป็นต้นธารของการปฏิวัติโครงสร้างใหญ่ในสังคม

เล่มแรกคือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ของโทมัส เพน ต้นธารสำคัญของการปฏิวัติอเมริกาในปี 1776 เพื่อปลดแอกอาณานิคมออกจากเครือจักรภพอังกฤษ

เล่มที่สองคือ “ฐานันดรที่สามคืออะไร?” (What Is the Third Estate?) หนังสือต้นธารการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ของเอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส ผู้ให้นิยามว่า “ชาติคือประชาชน”

และเล่มที่สาม “สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม 2475” บทบันทึกความคิดประชาธิปไตยไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ต้นธารปฏิวัติสยาม 2475 จำนวน 5 ชิ้น คือผลงานของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และคณะ, เทียนวรรณ, ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะก่อการ ร.ศ. 130, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะราษฎร โดยปรีดี พนมยงค์

ทั้งสี่เล่มมีกิตติพล สรัคคานนท์ เป็นผู้ออกแบบปก แบบมีความหมายซ่อนเร้นล้ำลึก ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุกระดาษปก ภาพ ฟอนต์ สัญลักษณ์ การจัดวาง และสไตล์การออกแบบแต่ละเล่ม ดังที่กิตติพลบอกเล่าเบื้องหลังไว้ในบันทึกการออกแบบท้ายเล่มทุกเล่ม

ปิดท้ายด้วยบุคคลที่สำคัญที่สุดคือผู้แปล เล่มปฏิวัติอเมริกา-ฝรั่งเศส-รัสเซีย ทุกเล่มมีภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นผู้ถอดความออกมาเป็นฉบับภาษาไทยอย่างทรงพลัง หมดจดงดงาม สัมผัสได้ถึงกรุ่นไอประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติ

สำนักพิมพ์ bookscape ยังไม่หยุดอ่านปฏิวัติแค่สี่เล่มนี้นะครับ อ่านสามัญสำนึกของฐานันดรที่สาม ออกจากฝันละเมอ ตาสว่างลุกตื่นสู่อรุณรุ่งแล้ว ลองทายกันสิครับว่าเล่มห้า ปีหน้าเราจะไปอ่านปฏิวัติที่ไหนกันต่อ?

Print Friendly