นักวิชาการในฝัน

เขียน: ตอนที่ 1 – 2 เมษายน 2548, ตอนที่ 2 – 3 เมษายน 2548, ตอนที่ 3 – 20 เมษายน 2548, ตอนที่ 4 – 23 เมษายน 2548

 

นักวิชาการในฝัน (1) : กรอบความคิด

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะคาดหวังบทบาทของนักวิชาการไทยไว้สูงยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสังคมอยู่ท่ามกลางความมืดบอดทางปัญญา ท่ามกลางความอับเฉาของวงวิชาการโดยรวม และท่ามกลางความป่วยไข้ของสถาบันต่างๆในสังคม

ความคาดหวังของผู้คนต่อบทบาทนักวิชาการในฝันมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้คุณค่าความสำคัญต่อภารกิจใดของนักวิชาการมากกว่ากัน

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการตั้งตาตั้งตาผลิตองค์ความรู้ใหม่อยู่บนหอคอยงาช้าง เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาบริสุทธิ์

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการมีบทบาททางสังคม เพื่อเติมเต็มกลไกที่พิกลพิการในสังคม เช่น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคม ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ กระทั่งลงไปถึงระดับข้อเท็จจริง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการให้ความรู้พื้นฐานในระดับอ่านออกเขียนได้ในศาสตร์ที่ตนถนัดแก่สังคม ด้วยภาษาที่คุยกับสังคมรู้เรื่อง แบบไม่ต้องปีนบันไดเพื่อเข้าถึง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังข้อเสนอเชิงนโยบายจากนักวิชาการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เลยเถิดไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้วยตัวเอง

ส่วนหนึ่ง คาดหวังให้นักวิชาการต้องมีความสามารถในการเป็นนักบริหาร(การศึกษา)ที่ดี

นักวิชาการไทยเลยต้องมีหลายภาคในตัวคนเดียว ต้องทำตัวเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน นักวิจัย ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงนโยบาย นักเขียน นักการเมือง สื่อมวลชน นักสืบ ผู้กำหนดนโยบาย นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ

บทบาทที่หลากหลายตามความคาดหวังที่แตกต่างกันข้างต้น บ่อยครั้งก็มีความขัดแย้งกันเอง การใส่ใจปฏิบัติบทบาทหนึ่งอย่างเข้มแข็ง มีส่วนทำให้การทำหน้าที่ในบทบาทอื่นอ่อนแรงลง เช่น เมื่อต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านหรือสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ เวลาในการอ่านหนังสือหรือทำวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ก็ลดน้อยลง

หรือหากมัวแต่ผลิตงานที่ให้ชาวบ้านทั่วไปอ่านเข้าใจรู้เรื่อง สอนพื้นฐานวิชาการแก่สังคมวงกว้าง เวลาที่จะเอาไปเขียนงานขึ้นหิ้ง ลึกซึ้ง ยกระดับองค์ความรู้ในสายวิชาการของตัวเอง ก็ลดลง การยอมรับนับถือจากสังคมวงกว้างอาจจะมากขึ้น แต่ในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพวงแคบของตัวเองอาจจะน้อยลง

ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร ปรากฏการณ์ ‘ได้อย่าง-เสียอย่าง’ เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการทุกคนต้อง ‘แลก’

ซึ่งการตัดสินใจยอม ‘แลก’ อะไรกับอะไร หรือการจัดเรียงลำดับความสำคัญของบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน ก็สะท้อน ‘ตัวตน’ และ ‘ความพึงใจ’ (preference) ของผู้เลือกแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างไร้รากไร้ที่มา หากเป็นผลพวงจาก ‘โลก’ ของตัวเอง โลกที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ อุดมการณ์ ระดับสภาพจิต ระบบการให้คุณค่า รสนิยม ฯลฯ ของแต่ละคนเอง

‘โลก’ ของใคร ก็ ‘โลก’ ของมัน

ด้านหนึ่ง ตัวตนของเราได้รับอิทธิพลจาก ‘โลก’ (สภาพสังคม กฎกติกาในสังคม ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ) ที่เราเผชิญ พูดง่ายๆว่า ‘โลก’ มีส่วนสร้างเราขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวเราก็มีส่วนย้อนกลับไปสร้าง ‘โลก’ เช่นกัน เช่น มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอก สร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคม ฯลฯ

‘โลก’ สร้าง ‘เรา’ และ ‘เรา’ ก็สร้าง ‘โลก’ ไปด้วยพร้อมๆกัน อย่างเคลื่อนไหวเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อเจอประสบการณ์ใหม่ โลกเราก็เปลี่ยน เราก็เปลี่ยน เราก็ไปเปลี่ยนโลกในทางที่ต่างไปจากเดิม เช่นนี้เรื่อยไป ความขัดแย้งของเรากับโลกจะเกิดการสังเคราะห์หลอมรวมพัฒนาสู่การเป็นเราใหม่กับโลกใหม่ เรื่อยไปไม่รู้จบ

เช่นนี้แล้ว ‘โลก’ ที่ว่า มันไม่ได้มีสากลหนึ่งเดียว รออยู่ตรงนั้น รอให้เราค้นพบมันด้วยวิถีทางค้นหาความจริงต่างๆ แต่ ‘โลก’ มีความหลากหลาย ต่างคนต่างมีของใครของมัน แม้แต่ละคนจะร่วมรับรู้บางมิติของโลกร่วมกันผ่านข้อเท็จจริงหรือประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน แต่มีอีกหลายมิติที่ต่างคนต่างมีพื้นที่เป็นของตนเอง

ส่วนหลังนี้เองที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน

โลกไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่แต่ละคน ‘สร้าง’ ขึ้นมา มันไม่มี ‘โลก’ ที่สัมบูรณ์ มีแต่ ‘โลก’ ที่สัมพัทธ์กับสิ่งอื่นๆ คุณค่าความหมายของมันไม่ได้เป็นความจริงแท้ที่เป็นสากล ตายตัว เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่น หากสัมพันธ์กับระบบการให้คุณค่าความหมายของสังคม ตัวตนมันไม่ได้มีความหมายเฉพาะตัวของมันเอง แต่มีความหมายเพราะว่ามันแตกต่างจากสิ่งอื่นๆอย่างไรต่างหาก

ดังนั้น มันไม่มีเกณฑ์ที่จะบอกได้ว่า ‘โลก’ ของใคร ดีกว่า สวยกว่า มีคุณค่ากว่า ฟังขึ้นกว่า เข้มแข็งกว่า ‘โลก’ ของใคร

เพราะมันไม่มี ‘โลก’ ที่เป็นสากล ที่จริงแท้เหนือ ‘โลก’ อื่นๆ

เช่นกัน มันไม่มีเกณฑ์ที่เป็นสากล ที่ใช้ตัดสินว่า นักวิชาการแบบไหนมีคุณค่ามากกว่านักวิชาการแบบไหน ภาระหน้าที่ใดมีคุณค่าเหนือกว่าภาระหน้าที่ใด

เป็นเรื่องง่ายที่นักวิชาการที่อยู่ใน ‘โลก’ แบบหนึ่ง ซึ่งมีความพึงใจแบบหนึ่ง จะใช้เกณฑ์ของตัวเองไปตัดสินคุณค่าต่อบทบาทของนักวิชาการที่อยู่ใน ‘โลก’ อีกแบบหนึ่ง มีความพึงใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า หากใช้เกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ ‘โลก’ แบบที่หนึ่ง ไปตัดสินคุณค่าของ ‘โลก’ แบบที่สอง โลกแบบที่สองก็ย่อมไร้คุณค่าหรือมีคุณค่าด้อยกว่าอย่างแน่แท้

ลองเปลี่ยนคำว่า ‘โลก’ เป็นคำว่า ‘ความจริง’ ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างออกไป

ภายใต้พื้นฐานกรอบความคิดเช่นนี้ คำถามที่ว่า นักวิชาการที่ดีควรจะให้ความสำคัญต่อบทบาทใดมากที่สุด? หรือนักวิชาการที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร? ก็ดูจะไม่สำคัญมาก เพราะไร้ซึ่งคุณค่าที่เป็นสากล จะสำคัญก็สำหรับคนที่มีโลกทัศน์ต่อ ‘ความจริง’ ว่า มันมีความจริงแท้หนึ่งเดียวที่เป็นสากล ที่เหนือกว่าความจริงชุดอื่น อันนำไปสู่ความคิดที่ว่า นักวิชาการที่ดีต้องมีลักษณะแบบนักวิชาการในฝันของเขาเพียงเท่านั้น

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย

นักวิชาการที่ดี กระทั่งงานวิชาการที่ดี มีคุณสมบัติได้หลากหลาย มีระบบการตัดสินคุณค่าที่หลากหลาย การไปชี้หน้าชี้นิ้วต่อว่าต่อขานคนที่มี ‘โลก’ หรือ ‘ความพึงใจ’ หรือ ‘การตัดสินคุณค่า’ แตกต่างจากเรา จึงดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมและค่อนข้างใจแคบไปเสียหน่อย

อย่าเอาเกณฑ์ใน ‘โลก’ ของเรา ไปเที่ยวพิพากษาคนอื่นเสียง่ายๆ จะทุกข์ใจไปเสียเปล่าๆ และดูถูกคนอื่นในแง่ร้ายเกินไป

กัลยาณมิตรทางปัญญาของผมที่วนเวียนอยู่แถวๆ นี้หลายคนมักวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักวิชาการไทยอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งบางคนมักมองนักวิชาการเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นประดุจเทวดา ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย และคาดหวังให้นักวิชาการไทยต้องมีระดับศีลธรรมหรือระดับความรับผิดชอบที่สูงส่งเหนือคนทั่วไป ประหนึ่งว่าเขาไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกัน เผชิญกติกาเดียวกัน กับคนไทยทั่วไป

แต่หากอ่านความคิดของผมมาจนถึงตรงนี้แล้ว คงเห็นประเด็นสำคัญที่ผมต้องการจะสื่อ นั่นคือ

หนึ่ง ภาพของนักวิชาการในฝันก็หาได้มีหนึ่งเดียวเป็นสากล หากเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการในฝันก็มีหลากหลาย มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งถูกที่สุด หรือมิใช่ของคนส่วนใหญ่ถูกที่สุด

สอง นักวิชาการไทยก็มิได้ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่ง (เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น) ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพและสถาบันในสังคม ต้องทำงาน คิด และมีปฏิสัมพันธ์ภายใต้สังคมและสถาบันแบบไทยๆ แม้จะมีส่วนกำหนดและเปลี่ยนแปลงสังคมระดับหนึ่งก็ตาม นักวิชาการมีส่วนสร้าง ‘โลก’ แต่ก็ถูก ‘โลก’ ที่ตัวเองอยู่สร้างด้วย

ผมอ่านหรือฟังคำวิจารณ์ว่าด้วยบทบาทของนักวิชาการในฝันของหลายคนแล้ว พบว่า ด้านหนึ่งเขาก็มองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะส่วนมาก ผู้วิจารณ์มักมีภาพนักวิชาการในฝันแบบหนึ่ง จนอาจจะลดทอนคุณค่าของนักวิชาการในฝันแบบอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยๆ เช่น ชอบวิจารณ์ว่านักวิชาการไทยมัวแต่ทำหน้าที่ทางสังคม เป็น pop academician เป็นนักตรวจสอบรัฐบาล แต่ละเลยการหมกตัวอยู่ในหอคอยงาช้าง ไม่ผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์ ไม่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเท่าที่ควร

แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มองนักวิชาการไทยในแง่ดีเกินไปโดยมิได้ตั้งใจ เพราะอย่างน้อยประเด็นของเขาก็คือ นักวิชาการไทยหลงผิดไปทุ่มเททำงานที่ไม่ควรจะใส่ใจ ควรหันมาเดินบนเส้นทางในฝันของเขากันดีกว่า (ซึ่งก็อาจจะถูกของเขา แต่ผิดสำหรับคนอื่น) ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง มหาวิทยาลัยไทยยังล้าหลังรั้งท้ายจากข้อถกเถียงของพวกเขามากมายนัก

เพราะมหาวิทยาลัยไทยแทบจะไม่มีความเป็นมหาวิทยาลัย ซ้ำร้าย แทบไม่มีนักวิชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยเลยต่างหาก

มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ไร้คุณสมบัติที่จะเป็นนักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม

ใช่ครับ … ความจริงที่แสนเศร้าก็คือ มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยคนที่ทั้ง สอนก็ไม่เก่ง ทำวิจัยก็ไม่เป็น วิจารณ์สังคมก็ไม่ได้ บริหารก็ไม่ได้เรื่อง เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง จิตวิญญาณเพื่อสังคมไม่มี

อย่างที่บอกครับ นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่เหนือสังคม แต่ก็เป็นปุถุชนธรรมดาๆ ที่พฤติกรรมของเขาก็ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจากสภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันในสังคม ไม่ต่างจากกลุ่มชนอื่นในสังคม

ซึ่งสภาพสังคมและสถาบันแบบไทยๆ มักทำลายนักวิชาการในฝันทุกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ดึงดูดให้คนเก่งเข้าสู่วงวิชาการ ลอยแพคนที่เลือกเข้าสู่วงวิชาการด้วยใจรักให้ต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ ที่สำคัญ ไม่เอื้ออำนวยต่อนักวิชาการในฝันที่เพื่อนผมหลายคนแถวนี้ใฝ่หา คือไม่เอื้ออำนวยให้คนที่อยากใช้ชีวิตบนหอคอยงาช้าง นั่งทำงานเชิงทฤษฎี ให้สามารถทำงานได้เต็มที่ และอยู่รอดได้

กระนั้น สถาบันที่ดี ที่จะทำให้ท้องฟ้าของนักวิชาการเป็นสีทองผ่องอำไพ ไม่ใช่สถาบันที่มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ตีเส้นทางเดินไปสู่ความเป็นนักวิชาการในฝันแบบเดียวกัน แบบใดแบบหนึ่ง นะครับ แต่เป็นสถาบันที่ดีในความหมายที่สามารถส่งเสริมเอื้ออำนวยให้นักวิชาการในฝันแต่ละแบบ สามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเจิดจรัส ตามวิถีแห่งตน

ให้นักวิชาการที่มี ‘โลก’ หลากหลายแตกต่างกัน สามารถบรรลุเส้นทางฝันของใครของมันได้

เช่นนี้เราจึงจะได้นักวิชาการในฝัน ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบใดก็ตาม

 

นักวิชาการในฝัน (2): มุมมองของปลาในน้ำ

บางคนบอกว่า หากเราเป็นปลาที่ว่ายอยู่ในหนองน้ำ แม้จะรู้ความลึกของน้ำในหนอง รู้อุณหภูมิ และวิถีชีวิตภายในหนองน้ำอย่างดี แต่เราย่อมมองไม่เห็นขอบเขตของหนองน้ำว่ามันกว้างใหญ่หรือคับแคบเพียงใด อยู่แต่ในโลกเล็กๆของตัวเท่านั้น ไม่เหมือนกับนกที่บินอยู่บนฟ้า แล้วเห็นโลกที่กว้างใหญ่กว่าหนองน้ำเล็กๆ กระนั้น นกที่รู้ขอบเขตของหนองน้ำ ย่อมไม่เข้าใจวิถีชีวิตของน้ำในหนองอย่างแท้จริง เนื่องเพราะไม่เคยดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำด้วยตัวเอง

ในฐานะปลาตัวหนึ่ง ที่เวียนว่ายอยู่ในหนองน้ำวิชาการ เลยอยากชวนคุยวิพากษ์วิจารณ์แวดวงวิชาการไทยด้วยสายตาแบบปลาๆ

(โชคดีที่ผมเลือกอุปมาอุปไมยเป็นปลาในน้ำแทนที่จะเป็นควายในทุ่ง มิเช่นนั้นต้องมองด้วยสายตาแบบควายๆ แทน)

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นพ้องกันก็คือ วงวิชาการไทยโดยรวมยังล้าหลัง ด้อยคุณภาพ เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล (ผมใช้คำว่ามาตรฐานสากลในฐานะจุดอ้างอิงเฉยๆนะครับ จะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะให้คุณค่ากับมาตรฐานสากลขนาดไหน อย่างไร เป็นอีกประเด็นถกเถียงหนึ่ง)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ตอบยากมากนะครับ เพราะปัญหาของวงวิชาการไม่ได้อยู่แค่นักวิชาการขี้เกียจ หรือโง่ แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ที่สัมพันธ์กับสถาบันอื่นในสังคมเต็มไปหมด ตั้งแต่ระดับ วัฒนธรรม ค่านิยม การเมือง เศรษฐกิจ โครงสร้างของระบบราชการ ฯลฯ

อย่างที่บอกเมื่อตอนที่แล้ว นักวิชาการไม่ใช่เทวดาที่ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคมไทย แต่ก็เวียนว่ายอยู่ในสังคมไทย เผชิญหน้าและถูกหล่อหลอมจากสถาบันแบบไทยๆ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

รากความล้มเหลวของวงวิชาการไทยก็คือความล้มเหลวเชิงสถาบันของโครงสร้างใหญ่ในสังคมไทยนั่นเอง

เช่นนี้แล้ว เลยยากลำบากที่จะอธิบายสาเหตุของความล้มเหลว เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี เพราะปัญหาแต่ละปัญหาล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด

และการมองปัญหาโดยใช้สายตาที่เต็มไปด้วยภาพของสิ่งที่เรา ‘อยากให้เป็น’ อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ ‘เป็นจริง’ ได้อย่างถ่องแท้นัก เพราะกระบวนการทำความเข้าใจกลไกที่ทำให้ ‘มันเป็นเช่นนั้นเอง’ อาจพร่ามัวไป ถ้าเราต้องการจะให้ภาพฝันที่อยากให้เป็นเกิดขึ้นจริง ย่อมต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่จริงก่อนเป็นปฐม จึงจะพุ่งตรงไปที่เหตุแห่งทุกข์ได้ถูกต้อง

เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นเรื่องเล่าจากปลาในน้ำ ที่มองโลกแบบที่มันเป็น เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ไม่ว่ามันจะตรงตามอุดมคติของเราหรือไม่ก็ตาม

ในฐานะที่นักวิชาการต่างก็มีพื้นฐานเป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม ขอเริ่มตรงนี้แล้วกัน

แต่การเลือกที่จะเริ่มตรงนี้ของผมไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุดนะครับ แค่เริ่มตรงนี้เพื่อโยงไปสัมพันธ์ตรงอื่นต่อเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของผมคือ ผลตอบแทนที่นักวิชาการไทยได้รับ มันน้อยเหลือเกินครับ และอยู่ภายใต้โครงสร้างผลตอบแทนที่บิดเบี้ยว

ถ้าเราเชื่อว่านักวิชาการมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจระดับหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เพราะไม่สามารถดึงดูดคนเก่งและคนดี ที่ไม่ได้ ‘อยาก’ หรือ ‘หลงใหล’ ในวิชาชีพนี้เข้ามาเป็นอาจารย์ได้

ลำพังคนที่ ‘อยาก’ และ ‘หลงใหล’ ในความเป็นนักวิชาการ ก็มีไม่มากพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ที่จะยกระดับมาตรฐานทางวิชาการให้สูงขึ้นดังหวังได้

หากมองโลกตามจริง มหาวิทยาลัยควรจะประกอบด้วยคนที่ทั้งเก่ง ทั้งดี และทั้งหลงใหลในวิชาชีพนักวิชาการเข้าด้วยกัน ยิ่งหาคนที่มีทั้งสามองค์ประกอบในคนเดียวกันยิ่งยอด แต่โชคร้ายที่มันมีไม่มาก

เช่นนี้แล้ว คนเก่งจำนวนมากก็เลือกไปทำอาชีพอื่น เพราะในมหาวิทยาลัยรัฐ ผลตอบแทนของคนจบปริญญาเอกปัจจุบันน้อยกว่าคนจบปริญญาตรีหลายที่ด้วยซ้ำไปนะครับ เราจะบอกว่า ช่างมัน ไม่ง้อ ก็ดูจะเป็นความคิดที่คับแคบไปเสียหน่อย

ส่วนคนที่หลงใหลในวิชาชีพ แล้วเลือกมาเป็นอาจารย์ ก็ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนไปตามยถากรรม เรียกว่า ต้องเสียสละยอมแบกรับความลำบากเป็นภาระต้นทุนส่วนตัว จะบอกว่า ตอนสมัครไม่มีใครเอาปืนจ่อหัวให้มาสมัคร มันก็ถูก แต่ถ้ามองในภาพรวมถึงโครงสร้างสิ่งจูงใจของตลาดแรงงานทั้งระบบแล้ว เช่นนี้ เราก็ไม่สามารถเอาปืนจ่อหัวให้เขาทำงานอย่างที่เราคาดหวังได้เช่นกัน

หากมองคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ คนก็ปรับพฤติกรรมเพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง (เช่น ทำงานหนักขนาดไหน ทำงานประเภทไหน ฯลฯ) ตามข้อจำกัดหรือกติกาที่ตัวเองเผชิญ นักวิชาการก็ไม่ต่างกันหรอก แน่นอนว่า คนที่ไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็มี เพราะอาจมีระดับความเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่ำกว่าคนอื่น หรือเผชิญข้อจำกัดหรือกติกาในชีวิตที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีมรดก มีคู่ครองรวย บ้านฐานะดีอยู่แล้ว หรือไม่มีลูกเมีย !!!

หากเราเชื่อว่าคนมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตลาดแรงงานภายใต้สัญญาจ้างแบบค่าจ้างคงที่ก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์หลังจากการทำสัญญาจ้างแล้ว เพราะนายจ้างไม่สามารถกำหนดระดับความตั้งใจความเอาใจใส่ในการทำงานได้ เกิดปัญหาทำงานต่ำกว่าที่คาดหวัง

ลองนึกภาพถึงระบบราชการที่คนจบปริญญาเอกที่ได้เงินเดือนประมาณ 10,000 บาท หรือหากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหลังออกนอกระบบได้เงินเดือนประมาณ 17,000 บาท ถ้าจะเลี้ยงชีวิตด้วยเงินเดือนเท่านี้ หากตัวคนเดียวแล้วใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่คิดมากถึงปมด้อยเมื่อเทียบกับเพื่อน ก็อาจอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนฐานะธรรมดา ต้องเลี้ยงครอบครัว และมีหนี้สินทั้งที่ตัวเองก่อ ซื้อรถซื้อบ้าน หรือหนี้สินที่ติดตามมาของครอบครัว ไม่มีทางอยู่ได้แน่นอน

เมื่อก่อนผมก็คิดแบบหนึ่งนะครับ แต่หลังจากต้องมาเผชิญปัญหาทางการเงินกับตัวเองแล้ว ก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะนักวิชาการไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกวิชาการของตัวเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง ที่ต้องสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับครอบครัว มีภาระในฐานะพ่อ แม่ หรือลูก ที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย

มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยกล่าวกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ทำนองว่า หากนักวิชาการต้องการรักษาตัวตนในอุคมคติไว้ให้ได้ มีทางเดียวคือต้องหาเมียรวย !

ที่ผ่านมา ระบบหรือสถาบันก็ปล่อยให้เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องปากกัดตีนถีบเอาตัวรอดกันไปเอง โดยไม่ได้แก้ไขโครงสร้างสิ่งจูงใจที่จะเข้ามาช่วยแชร์ภาระต้นทุนส่วนตัวของอาจารย์ดังกล่าวแต่อย่างใด

อาจารย์จำนวนมากก็ต้องหารายได้เสริม ซึ่งก็เป็นรายได้สุจริตนะครับ โดยการสอนนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตามโครงการพิเศษต่างๆ และรับงานวิจัย ซึ่งโดยมากเป็นงานวิจัยเชิงนโยบายจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

ที่ต้องทำงานพวกนี้ ไม่ใช่หวังเป็นเศรษฐีนะครับ เพราะถ้าหวัง ก็คงไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่แค่ให้พอให้ตัวเองและลูกเมียอยู่อย่างไม่ยากลำบาก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ และมีสมบัติที่จำเป็นในการใช้ชีวิตบ้างเท่านั้น

งานวิจัยเชิงทฤษฎีที่มุ่งสร้างองค์ความรู้บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า Basic Research มันถึงไม่ค่อยเกิด เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสงานประเภทนี้มันสูงมาก ผลตอบแทนจากงานประเภทนี้ต่ำมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยเชิงนโยบาย ที่วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานกำหนดนโยบาย อีกทั้ง งานประเภทนี้ใช้เวลาทำนาน และทำไปทำมา อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์สำเร็จตามต้องการก็ได้

การทำงานใช้สมองหนักๆ มันต้องมีสมาธิอย่างแรงกล้า ต้องจมจ่อมกับมัน และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สบายพอควร ถ้ายังมัวต้องดิ้นรนเพื่อปัจจัยสี่อยู่อย่างทุกวันนี้ โอกาสในการเหลือพลังผลิตงานเช่นนี้ก็น้อยลง

อันนี้ยังโยงไปถึง ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมอีกด้วย เพราะจะว่าไปแล้ว งานวิจัยเชิงทฤษฎีจำนวนมากที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องนั่งทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องมาถึงมือพวกเราหากสังคมไทยมีข้าราชการผู้กำหนดนโยบายที่เข้มแข็ง มีระบบราชการที่เอื้อให้คนใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาได้ มีนักวิชาการประจำกระทรวงทบวงกรม

นี่เป็นงานที่เทคโนแครตควรจะทำกันเอง โดยให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วิจารณ์งานหรือกรรมการตรวจสอบ

แต่ในความเป็นจริง ระบบราชการไทยไม่มีนักวิชาการพอ ไม่ได้กำหนดนโยบายกันด้วยปัญญาและองค์ความรู้ แต่ด้วยอำนาจ หรือความพอใจของผู้มีอำนาจแต่ละระดับไล่กันขึ้นไป

สถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคลังสมองของระบบราชการยังไม่ค่อยมีภูมิปัญญาทำงานวิชาการด้วยตนเอง แต่ทำตัวเป็นได้แค่นายจ้าง ที่รับเงินงบประมาณแล้วจ้างต่อ เก็บค่าต๋งเท่านั้น ตลาดความต้องการนักวิชาการมาทำวิจัยเชิงนโยบายจึงมีมาก บวกกับงบประมาณในระบบราชการที่ตั้งงบกันสุรุ่ยสุร่าย เงินค่าจ้างจึงสูง บิดเบือนโครงสร้างผลตอบแทนทุกประเภท ทำให้อาจารย์ไม่อยากเสียเวลาทำงานเชิงทฤษฎีแต่มาทำงานเชิงนโยบายดีกว่า มันทำง่าย และจ่ายงาม (แต่ก็มิใช่ว่างานประเภทนี้ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงนะครับ)

เห็นได้ว่า ความล้มเหลวของสถาบันอื่นในสังคมก็ส่งผลต่อเนื่องมาสร้างความล้มเหลวของสถาบันวิชาการเช่นกัน

เหมือนอย่างระบบการเมืองและสื่อมวลชนที่อ่อนแอ ก็ในเมื่อฝ่ายค้านไม่ได้เรื่องไร้ภูมิปัญญา สื่อมวลชนจับประเด็นข่าวไม่ได้ วิเคราะห์เชิงลึกไม่เป็น นักวิชาการก็เลยถูกคาดหวังจากสังคมให้มีอีกบทบาทหนึ่งเพิ่มขึ้น นั่นคือ ต้องมาทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านและสื่อมวลชน ตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยใช้ความรู้เป็นอาวุธ

ถ้าไม่ทำ ก็ดูเหมือนสังคมไทย จะไร้สถาบันอื่นรองรับ จะมีก็สถาบันองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก็ยังคงอ่อนแอเช่นเดียวกัน อีกทั้งในแง่การเมืองเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าสถาบันนักวิชาการ

ที่พูดอย่างนี้ ใช่ว่าสถาบันวิชาการจะเข้มแข็งอะไรหนักหนานะครับ ก็เตี้ยอุ้มค่อมกันไปมากกว่า

คราวที่ผมเป็นตัวตั้งตัวตี เคลื่อนไหวคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล เสียเวลาไปสามอาทิตย์เต็มๆ ตั้งแต่ร่างจดหมายเปิดผนึก เดินล่ารายชื่ออาจารย์ จัดสัมมนา เตรียมบทอภิปราย ต้องไปนั่งอ่านกฎหมายมากมาย นั่งอ่านรายงานการเงินของสโมสร ฯลฯ เสียเวลาไปสามอาทิตย์เพื่อมาสู้กับนโยบายปาหี่งี่เง่าที่ไร้เหตุไร้ผลด้วยเหตุด้วยผล

แต่ถ้าไม่ทำ พลังการต่อต้านในสังคมอาจอ่อนแอลง จนทำให้การคัดค้านไม่สำเร็จและสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติมากมาย ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มันไม่มีผู้นำคนไหนจะดัดจริตคิดสั้นซื้อสโมสรฟุตบอลเมืองนอกโดยใช้เงินรัฐหรอกครับ แถมประชาชนจำนวนมากยังชื่นชมเสียอีก

ผมคิดว่าสังคมไทยยังต้องการบทบาทการมีส่วนร่วมในฐานะนักปฏิบัติการทางการเมืองของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไปอีกนาน ซึ่งก็จำเป็นนะครับ เพราะในเมื่อพลังในระบบอ่อนแอ นักวิชาการมีพลังอิสระ ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มผลประโยชน์ใด จึงมีค่า และสังคมไทยยังให้ค่ากับนักวิชาการในระดับสูงทีเดียว

แต่ในสังคมที่เติบโตทางปัญญา มีวัฒนธรรมเรียนรู้ และมีสถาบันอื่นในสังคมที่เข้มแข็ง บทบาทตรงนี้ของนักวิชาการก็จะลดน้อยลงไปเองโดยอัตโนมัติ

ย้อนกลับมาเรื่องโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ล้มเหลวของการทำงานวิจัยอีกทีหนึ่ง

นอกจากเหตุผลว่าทุนวิจัยเชิงทฤษฎีมันทั้งมีน้อยและทั้งให้เงินน้อยแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ บรรยากาศงานวิชาการในมหาวิทยาลัยมันไม่มี

ที่ไม่มี เพราะนอกจากคนเก่งและคนดีที่ไม่หลงใหลอยากเป็นนักวิชาการใจจะขาดจะ ‘เลือก’ ไม่เข้ามาแบกรับต้นทุนส่วนตัวแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยไม่เป็นที่รวมของคนที่เก่งที่สุดอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่มีหน้าที่ต้องสอนคนรุ่นต่อๆไปอีก ยังมาจากสองเหตุผลสำคัญคือ

หนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องแบ่งเวลาไปทำงานที่ไม่เป็นสาระมากมาย โดยเฉพาะงานบริหาร ต่างจากอาจารย์เมืองนอก ที่ค่าตอบแทนก็สูงลิ่วแบบอยู่ได้สมศักดิ์ศรี และใช้เวลาทั้งหมดในการคิดและเขียนได้อย่างเต็มที่

อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องถูกงานบริหารกินเวลาไปมากมาย ประชุมกันบ่อยเหลือเกินในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ต้องทำงานแทนเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีศักยภาพจะทำงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งเราเห็นพวกอาจารย์ต้องมานั่งร่างจดหมาย นั่งนัดผู้อภิปรายในงานสัมมนาเอง ฯลฯ ที่สำคัญ การบริหารมหาวิทยาลัยรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาแบบราชการที่เต็มไปด้วยระเบียบหยุมหยิม ขั้นตอนมากมาย และสร้างภาระงานโดยไม่จำเป็นขึ้นมามาก

อันนี้ใครไม่เคยมาเจอกับตัวจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึก จะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน โลกความจริงก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

การบริหารมหาวิทยาลัยในเมืองนอก ระดับคณะมีเจ้าหน้าที่แค่ 5-6 คน ก็ดำเนินงานในคณะได้อย่างราบรื่น ต่างจากมหาวิทยาลัยที่หลายคณะมีเจ้าหน้าที่เกือบ 50 คน ยังนำคณะเดินหน้าไม่ได้ แถมยังฉุดกองหน้าอย่างอาจารย์ให้ต้องลงต่ำอีก

สอง ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นผลพวงของสังคม เมื่อสังคมไทยไร้วัฒนธรรมเรียนรู้ ผู้คนก็ให้คุณค่าตัดสินคนแค่เปลือกนอกโดยดูที่วุฒิการศึกษาสูงๆ จากมหาวิทยาลัยดีๆ มองการศึกษาเป็นแค่บันไดไต่ไปสู่งานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ ไม่ให้เห็นคุณค่าการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่สร้างความเข้าใจโลก พัฒนาองค์ความรู้และวิธีคิด ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการและจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง

บรรยากาศการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาเลยไร้ชีวิตชีวา เมื่อคนไม่ได้เรียนด้วยจิตใจที่เบิกบาน การเรียนการสอนก็ยกระดับไปอีกขั้นไม่ได้ พลังตรวจสอบคุณภาพอาจารย์จากฝ่ายนักศึกษาก็ต่ำ อาจารย์ที่สอนเช้าชามเย็นชาม หรือเตรียมสอนครั้งเดียวใช้ตลอดชีวิต แต่ออกข้อสอบง่าย สอนให้เด็กจดง่าย ก็ได้คะแนนประเมินการสอนสูง ขณะที่คนที่สอนให้เด็กคิด อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์ของนักศึกษา

อาจารย์ไร้แรงกดดันให้ต้องพัฒนาตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาไม่ใส่ใจตรวจสอบอย่างเข้มข้น อาจารย์จำนวนไม่น้อยเองก็หาได้เข้าใจปรัชญาการศึกษา ก็ตอนเรียนก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาเหมือนกัน เลยสอนกันไปตามหน้าที่ เราเลยได้ความสัมพันธ์แปลกๆ ที่ทั้งคู่ต่างไร้คุณภาพ ไร้ปฏิสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การเรียนการสอนแบบไทยๆ มันขาด passion จากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

เมื่อคนสนใจมองการศึกษาเป็นแค่เพียงบันไดไต่ฐานะทางสังคม ก็ต้องแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา เดิม ปริญญาตรีเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ตอนนี้ก็ไต่ระดับมาเป็นปริญญาโท โอกาสทำเงินจากการศึกษาระดับสูงก็มีมาก มหาวิทยาลัยเปิดโครงการพิเศษมากมายเพื่อรองรับความต้องการซื้อดังกล่าว คนแบบนักเรียนปริญญาตรีทั่วไปก็มาเรียนปริญญาโท การศึกษาระดับสูงที่มุ่งเรียนสอนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น ก็กลายมาเป็น การศึกษาของมวลชนที่ไต่ระดับมาหาบันไดขั้นที่สูงขึ้นเท่านั้น แถมเป็นมวลชนที่มีอำนาจซื้อซะด้วย

อาจารย์และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องแสวงหารายได้ ก็พาตัวเองมาตัดกับความต้องการดังกล่าวได้อย่างเหมาะเหม็ง โครงการที่เกิดขึ้นมากมายแต่ไร้คุณภาพส่วนใหญ่ก็ต่างเป็นที่ทางให้ทั้งสองฝ่ายสมยอมกัน อาจารย์ที่ตั้งใจสอนมากสอนยากสอนลึกก็ถูกประเมินไม่ดี จะใช้เกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการแบบเข้มข้นก็ไม่ได้ เพราะคนอาจสอบตกกันหมด ไม่มีคนเรียนแล้วจะหาเงินจากไหนในอนาคต อาจารย์เหล่านี้บางคนก็สอนได้แค่เทอมเดียว ก็ไม่ถูกเชิญกลับไปสอนอีก

ธุรกิจการศึกษาสร้างมาตรฐาน(ต่ำ)ทางการศึกษาใหม่ โดยทำลายทั้งฝ่ายคนเรียน คนสอน และสังคม

แต่โครงการดีๆ ที่มีคุณภาพก็มีนะครับ อย่าเหมาว่าโครงการปริญญาโททำขึ้นเพื่อหาเงินทั้งหมดและห่วยทั้งหมด

เขียนมายาวขนาดนี้แล้ว คงเห็นว่า ปัญหาของวงวิชาการไทยเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่แก้ไม่ง่ายเลย และเชื่อมโยงกับสถาบันอื่นนอกโลกวิชาการ และสภาพสังคมที่โลกวิชาการดำรงอยู่ร่วมกับมัน

จริงๆ ผมยังเขียนต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นหนังเรื่องยาวได้สบาย เชื่อมโยงห่วงโซ่แห่งความล้มเหลวต่อไปได้ไม่รู้จบ จนเหมือนเป็นความผิดที่จับมือตัวการมาดมไม่ได้ ทุกคนมีส่วนต้องร่วมรับผิดพอๆ กัน

แม้หากกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าคือ ผลตอบแทนของอาจารย์น้อยเกินไปแล้ว วิธีแก้ก็ยังไม่ใช่เพิ่มเงินเดือนให้อาจารย์มากๆ แล้วปัญหาทุกอย่างจะจบนะครับ

เพราะนั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาในโลกป่วยไข้ขนาดใหญ่ใบนี้เท่านั้น

 

นักวิชาการในฝัน (3): ฝันของผม

แล้วนักวิชาการในฝันของผมเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ตอบแบบง่ายๆ กวนๆ ก็ต้องเป็นนักวิชาการแบบที่ผมอยากเป็น และพยายามจะเป็น

ซึ่งอาจมีคุณค่าในสายตาของคนหนึ่ง แต่อาจไร้คุณค่าสำหรับอีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ขึ้นกับ ‘โลก’ของแต่ละคน ดังที่เคยคุยกันในตอนแรก

วิธีคิดและตัวตนของผมทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากผู้คนจำนวนมาก ถูกหล่อหลอมมาจาก ‘โลก’ ในอดีตที่ผมได้เผชิญ เติบโตต่อยอดสังเคราะห์พัฒนามาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ประวัติศาสตร์ของสังคม วิกฤตที่เผชิญ หนังสือที่อ่าน บุคคลที่ได้เจอ มิตรสหายที่คบ ฯลฯ

ถ้าจะเข้าใจ ‘ฝัน’ ส่วนตัวของผม ก็ต้องเข้าใจ ‘ผม’ระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะ ‘ความฝัน’ แยกไม่ออกจาก ‘เจ้าของฝัน’ และ ‘โลก’ ที่เจ้าของฝันอยู่และมีส่วนสร้างเขาขึ้นมา

แต่ละคนเข้ามาเป็นนักวิชาการด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเหตุผลของใครเข้าท่ากว่าใคร หรือของใครมีคุณค่ามากกว่าใคร

ตั้งแต่เด็ก ผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิชาการ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลง ‘โลก’ ที่ผมอยู่ให้ดีขึ้น

ทุกวันนี้ก็ยังคิดเช่นนี้อยู่ แถมยังมั่นใจในจุดยืนนี้ยิ่งขึ้น

นี่คือฐานความคิดหลักที่ขีดเส้นใต้เรื่องทั้งหมดที่กำลังจะคุยกันต่อไปจากนี้นะครับ

ใช่ครับ, นักวิชาการในฝันของผมก็คือคนที่มีคุณสมบัติถึงพร้อมที่จะเปลี่ยน ‘โลก’ นี้ดีขึ้นได้ และสามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างสมน้ำสมเนื้อโดยมีความรู้เป็นอาวุธ

……

‘โลก’ ของผมในที่นี้ คือสังคมที่แวดล้อมผม มีเส้นเขตแดนไกลสุดแค่ปลายขอบสังคมไทย

ความคิดผมยังไปไม่ถึงโลกที่เป็นสากล ยังไม่มองโลกแบบไร้เส้นพรมแดน หวังทำอะไรเพื่อมนุษยชาติ ผมคิดได้แค่ว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนที่ผมอยู่มันดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้นเท่านั้นเอง ไม่เคยคิดจะโกอินเตอร์ มองไม่เห็นและไม่คิดมองที่ทางของตัวเองในระดับสากลเลยแม้แต่น้อย

ไม่รู้ทำกรรมเวรอะไรไว้ ผมมีสันดานเป็นนักเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็ก โดยธรรมชาติเป็นคนไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ชอบพยายามลงแรงเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้น (อย่างน้อยก็ให้ดีขึ้น ‘ในสายตาของผม’ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีแท้ จริงแท้แค่ไหนหรอก)บางทีก็นึกอิจฉาเพื่อนรักบางคนที่มีธรรมชาติเป็นคนปล่อยวาง ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับอะไรรอบตัวมากมาย สมถะ สันโดษ บางเวลาก็อยากเป็นคนแบบนั้นบ้างเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้

ผมชอบอ่านหนังสือการเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ตอนเด็กเลยหมกมุ่นว่าระบบการเมืองคือรากฐานของปัญหา เป็นต้นตอแห่งความเลวร้ายหลายอย่างในสังคมไทย ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม ฯลฯ

ตอนเด็กๆ ผมมักจะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือทางออกของประเทศ ถ้าจะเปลี่ยนประเทศนี้ ต้องเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจ แก้กฎหมาย บริหารประเทศแบบใสสะอาด คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แรกสุดก็คิดว่าปัญหาเกิดเพราะนักการเมืองมันชั่ว ต่อมาก็คิดว่าเพราะระบบการเมืองมันเลว

ดังนั้น ความฝันจริงๆจังๆแรกสุดของผมคือ อยากเล่นการเมือง แล้วทำการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย ใสสะอาด และให้ความเป็นธรรมต่อคนเล็กคนน้อย ผู้ไร้อำนาจ

นั่นเป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งในช่วงต้นของการเดินทางทางความคิด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการติดตามข่าวการเมือง อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และยังมองเห็นความจริงเพียงระดับพื้นผิว

ผมถือว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นแรงขับที่สำคัญที่ทำให้ผมอยากเดินบนเส้นทางนี้ ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์นองเลือดไทยฆ่าไทยเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เลยอยากขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่สามารถนำมาซึ่งความรุนแรง ทางแก้คือ ต้องออกแบบระบบการเมืองที่คลี่คลายปัญหาได้ด้วยสันติวิธี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเต็มที่ ลดทอนการใช้อำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

ต่อมา เมื่อสนใจการเมืองหนักขึ้น ผมเริ่มหันไปอ่านงานวิชาการ โดยเฉพาะตำรารัฐศาสตร์ และบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยนักวิชาการ ผมก็เริ่มเรียนรู้ที่จะมองความจริงในระดับที่ลึกซึ้งกว่าพื้นผิว เริ่มมองความจริงในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ

งานวิชาการตามหน้าหนังสือพิมพ์ของนักวิชาการหลายคน มีส่วนเปิดประตูให้ผมก้าวสู่โลกวิชาการ จนหลงรักมันในที่สุด แม้คนที่ฝันอยากเห็นนักวิชาการนั่งทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างเพื่อผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์จะไม่ได้ให้คุณค่างานเหล่านี้นัก แต่ผมว่างานเหล่านี้มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมากทีเดียว ดูจากผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผม และลูกศิษย์ของผมหลายคน ที่เริ่มต้นการเดินทางทางความคิดจากจุดนี้

จนเมื่อได้อ่านบทความวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นอกจากจะทำให้ผมหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ ยังส่งผลให้มุมมองต่อโลกของผมเปลี่ยนไป

จุดหักเหสำคัญอยู่ตรงที่อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมรู้จักแยกแยะ ‘โลกแบบที่มันเป็นอยู่’กับ’โลกแบบที่เราอยากให้เป็น’ ผมเริ่มมองเห็นความสำคัญของงานวิชาการ ในฐานะเครื่องมือผลิตคำอธิบาย ‘โลกแบบที่มันเป็นอยู่’ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวข้ามไปสู่ ‘โลกแบบที่เราอยากให้เป็น’

เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ต้องทำความเข้าใจกลไกของมันเสียก่อน ซึ่งงานวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้ และปรุงแต่งวิถีการเคลื่อนไหวในลำดับต่อไป

นักวิชาการบางคนสนุกสนานในการทำความเข้าใจโลกเรื่องแล้วเรื่องเล่า พยายามเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นความจริงให้ใกล้ที่สุด ผ่านการพัฒนาทฤษฎี ต่อยอดโมเดล เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ แล้วคิดว่าหน้าที่ของตนจบแค่นั้น

ลึกๆแล้วคนกลุ่มนี้ พยายามแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ศึกษา พยายามให้ตัวเองปลอดจากอคติ ให้ตัวเองมีความเป็นกลาง โดยมองกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงโลกว่าอยู่นอกเหนือจากหน้าที่ที่พวกเขาพึงกระทำ การเปลี่ยนโลกเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง องค์กรเอกชน นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่จะหยิบเอาองค์ความรู้บริสุทธิ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปเอง

แต่นักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่า หน้าที่ของพวกเขาไม่ได้จบแค่นั้น การเข้าใจโลกมิได้เป็นจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง แต่เป็นกระบวนการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลก

ดังวรรคทองของ Marx ที่เราพบเห็นบ่อยครั้ง

“The philosophers have only interpreted the world, in various ways; the point is to change it.” (Marx (1854), Theses On Feuerbach)

ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักวิชาการอยู่ตรงที่พยายามผลิตสร้างองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเพื่ออธิบายโลกในหลากหลายรูปแบบ ในสาขาที่ตนถนัด ทั้งที่เพื่อใช้ความรู้เป็นอาวุธในการเปลี่ยนแปลงโลก ให้มันดีขึ้น เป็นจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้าย

ผมไม่เชื่อว่าการครองตนเสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่อยู่นอกโลกเหนือสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นไปได้ หรือมีคุณค่า การมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยวิธีต่างๆ หรือเป็นนักวิชาการที่มี ‘หัวใจ’ไม่ได้ลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นนักวิชาการของเขาลงแต่อย่างใด

ความเป็นกลาง ไร้อคติ ไม่เลือกข้าง ไม่มีอยู่จริง ถึงมี นักวิชาการก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่เลือกข้างได้ ด้วยเหตุผลที่ตนเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ อีกทั้ง งานวิชาการเจือปนด้วยอคติเสมอ แม้จะมีระเบียบวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม

(ความไม่เป็นกลางหรืออคติที่พูดถึงกันอยู่ตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับการได้ผลประโยชน์หรือได้รับอามิสสินจ้างนะครับ คนละประเด็นกัน)

ทีนี้ มาถึงคำว่า ‘การเปลี่ยนแปลงโลก’

ผมไม่ได้ให้ความหมายมันอย่างแคบ เพียงแค่การมีบทบาทในฐานะผู้กำหนดนโยบาย หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงโลกทำได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจ แต่ผ่านการให้การศึกษาแก่สังคม บทความวิพากษ์วิจารณ์สังคม เสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย กระทั่งแบบวิถีการดำเนินชีวิต ฯลฯ

……

ชีวิตหลังเข้ามหาวิทยาลัย

จากการเฝ้าสังเกตบทบาทของนักวิชาการหลายคนในวัยเด็ก ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าภายใต้ความเป็นนักวิชาการ เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากกว่าการเป็นนักการเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ หากความรู้เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้วกับวิถีแห่งการแสวงหาอำนาจทางการ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการลดทอนมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเอง

เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัย ได้สัมผัสโลกของวิชาการอย่างใกล้ชิดขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับมันเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรียนมาก ยิ่งเข้าใจว่าเรารู้น้อยเหลือเกิน แล้วจะเอาองค์ความรู้อะไรไปเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

ผมเลยยิ่งอยากรู้ สะสมเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ให้กว้างขวางเท่าที่กำลังจะพึงมี พยายามสังเคราะห์หลอมรวมมาเป็นวิธีคิดแบบของเรา

ยิ่งเรียนมากขึ้น ฟังมากขึ้น อ่านมากขึ้น ก็ยิ่งตกหลุมรักโลกวิชาการ ความคิดอยากเป็นนักการเมืองก็เลือนหายไปเรื่อยๆ เริ่มเข้าใจว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงโลกมันมีหลากหลาย และเอาเข้าจริง นักการเมืองก็ไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ดังใจ เนื่องจากมีข้อจำกัดมากมายไปหมด โดยเฉพาะไร้ซึ่งความเป็นอิสระที่จะใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่

ตอนช่วงปลายชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เคยเข้าไปลิ้มรสโลกการเมืองของจริงอยู่ชายขอบ แต่การนั่งอยู่ชายขอบในสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุดของประเทศก็ช่วยให้ได้รู้เห็นอะไรมากมาย เห็นของจริงว่าการเมืองที่แท้จริงเป็นอย่างไร สามารถฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ได้เพียงใด

เข้าไปสัมผัสการเมืองแบบชิดใกล้แล้ว ผมกลับรู้สึกว่า คนเป็นนักการเมืองทำอะไรได้น้อยกว่าที่เราเคยคาดหวังมาก ชีวิตนักการเมืองไม่ง่ายเลย และขัดกับนิสัยและบุคลิกของผมอย่างมาก อีกทั้ง แม้มีอำนาจ ระบบราชการมันก็เทอะทะเกินกว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ดังใจ

ชักรู้สึกไม่สนุก และรู้สึกไม่มีปัญญาจะทำหน้าที่นั้นได้

ให้คนที่เขาถนัด มีทักษะ และรู้สึกสนุก ทำหน้าที่นั้นดีกว่า

ผมอยากเปลี่ยนโลกในทางที่ผมใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ รักษาความเป็นเสรีชนได้ในระดับสูง

หันไปหันมา ก็ต้องเป็นนักวิชาการนี่ละ

หากดูตัวเองเป็นเหยื่อ ผมก็ถูกเปลี่ยนแปลง จากนักวิชาการจำนวนมาก จนคลี่คลายพัฒนามาเป็นตัวตนอย่างทุกวันนี้

ใครว่าวิชาความรู้เปลี่ยนโลกไม่ได้ ใครว่านักวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงโลกมิใช่การเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างจากบนลงล่างเท่านั้น นั่นไม่จีรังยั่งยืนเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่ฐานราก เปลี่ยนแปลงคน แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เป็นการเปลี่ยนแปลงจากคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจทางการ แต่ใช้การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและความคิดเป็นหลัก

เมื่อคิดอย่างนี้ อาชีพไหนจะเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงโลกมากเท่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเจอคนรุ่นใหม่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาทุกปี

ผมเลยคิดจะเปลี่ยนสังคมนี้ ด้วยการพยายามสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่พร้อมจะร่วมมือกันเปลี่ยนสังคมนี้ด้วยกันในอนาคต

ไม่ได้แปลว่าต้องคิดเห็นเหมือนเรา ต้องมาทำงานกับเรา หรือต้องเปลี่ยนสังคมในทางที่เราต้องการนะครับ

คิดต่างได้ ต่างคนต่างทำได้ มีความฝันจะสร้างโลกไปทางไหนก็ได้

แต่ให้ตระหนักว่า สังคมนี้มีปัญหาลึกซึ้งซับซ้อนกว่าพื้นผิวที่เราเห็น และในฐานะที่เราเป็นเจ้าของสังคมนี้ร่วมกัน ควรคิดแก้ไขมันให้ดีขึ้น ตามอัตภาพ

ผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดีสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่พลัดหลงอยู่ในกระแสสังคมรู้จักฉุกคิด ตั้งคำถาม ใฝ่รู้ที่จะศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมได้ เหนือสิ่งอื่นใด ให้เขามีจิตใจสาธารณะที่คิดพ้นไปจากตัวเอง เป็นมืออาชีพ และมีวัฒนธรรมอารยะในจิตใต้สำนึก เช่น เป็นประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ยึดถือสิทธิมนุษยชน เกลียดชังการคอรัปชั่นและเอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ

อาจารย์มหาวิทยาลัยแตกต่างจากนักวิชาการตามสถาบันวิจัยตรงที่ต้องมีหน้าที่สอนหนังสือ ขณะที่นักวิจัยมีหน้าที่หลักคือเขียนงานวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยในฝันจึงต้องมีความเป็นครู ที่รักงานสอนด้วยเช่นกัน และทุ่มเทใส่ใจกับนักศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงโลก

ทีนี้ ถ้าจะสอนให้ดี ให้นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด ภารกิจอื่นก็ต้องตามมา อาจารย์ก็ต้องติดตามพรมแดนความรู้ที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งในสาขาของตน ต้องผลิตงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือประยุกต์ทฤษฎีเพื่อมาอธิบายโลกแห่งความจริงและสอดคล้องกับสังคมที่เราอยู่ ไม่ใช่แค่งัดตำรามาเปิดสอนเพียงเท่านั้น อีกทั้ง ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดสื่อสารด้วย นอกจากนั้น การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักศึกษาก็ต้องมีตำราอ่าน มีงานวิจัยอ่าน ประกอบการเรียนการสอน

งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งมันก็มีประโยชน์ของมันอยู่ แต่มันจะมีประโยชน์แท้จริงได้ ต้องลงมาจากหิ้ง ให้สังคมเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากมันได้

ยิ่งในสังคมที่ง่อยเปลี้ยทางปัญญา และการศึกษาที่มีคุณภาพแพร่หลายไม่ทั่วถึง ลำพังการมีหน้าที่สอนคนหน้าใหม่เพียงไม่กี่ร้อยคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในแต่ละปีไม่เพียงพอ อาจารย์มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการให้ความรู้แก่สังคมโดยรวม เพื่อสร้างการอ่านออกเขียนได้ในความรู้ตามสาขาที่ตนถนัด สังคมจะได้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง

การปล่อยให้องค์ความรู้ถูกผูกขาดอยู่ในมือของ ‘ผู้รู้’เพียงหยิบมือ ทำให้สังคมอ่อนแอ และวิชาการสาขานั้นๆ จะอ่อนแอลงในระยะยาว

ไม่ว่าศาสตร์อะไร องค์ความรู้ควรแพร่กระจายในวงกว้างให้มากที่สุด ให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนต่างสาขาวิชา สามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยน และตรวจสอบได้

ดังนั้น นักวิชาการจึงไม่ควรมีหน้าที่แค่ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ แต่ยังต้องมีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ และให้บริการทางความรู้แก่สังคมวงกว้างด้วย โดยเฉพาะในสังคมที่ภูมิปัญญาอ่อนแอ และชาวบ้านที่ขาดโอกาสยังหิวโหยกับการแสวงหาความรู้พื้นฐานระดับชาวบ้าน

โดยส่วนตัว ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าคนไทยยังมีระดับความรู้ที่อ่อนแอ ขาดการอ่านออกเขียนได้ในวิชาการเบื้องต้นสาขาต่างๆ งานวิชาการขึ้นหิ้งที่มีเพียงคนหยิบมือเดียวเข้าถึง แม้จะได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับโลก จะมีคุณค่า(โดยเปรียบเทียบ และต่อสังคม)เพียงใด และคุณค่านั้นสำหรับใคร

แน่นอนว่า สำหรับนักวิชาการที่ดี ภารกิจแต่ละรูปแบบต่างมีคุณค่าในตัวของมัน แต่ภารกิจของนักวิชาการมิได้ลอยโดดออกไปจากสังคมที่ตนอยู่ หากมาตรฐาน คุณภาพ เนื้อหา ภารกิจ ของนักวิชาการหรืองานวิชาการในแต่ละสังคมก็แตกต่างกันไปตามสภาพและคุณภาพของสังคมนั้นๆ

ผมชื่นชมนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ก็เป็นความชื่นชมดุจเดียวกับนักวิชาการที่คลุกฝุ่นติดดินอยู่เบื้องล่าง

สำหรับผม ไม่มีความใฝ่ฝันที่จะจมชีวิตตัวเองอยู่บนหอคอยงาช้าง และก็ไม่คิดที่จะคลุกฝุ่นอยู่บนดินตลอดเวลา

ขอใช้ชีวิตนักวิชาการอยู่บนสิ่งปลูกสร้างเล็กๆ ง่ายๆ ขนาดความสูงพอเหมาะพอดีก็แล้วกันนะครับ

ไม่เตี้ยเสียจนมองไม่เห็นว่าบนหอคอยงาช้างเขาทำอะไรคิดอะไรกันอยู่ พอให้ตะโกนคุยกับเขารู้เรื่อง ไม่เหนื่อยที่จะปีนขึ้นไปเยี่ยมเพื่อนฝูง

และไม่อยู่สูงเสียจนไม่กล้าหรือไม่มีปัญญากระโดดลงมาคลุกฝุ่นข้างล่างเป็นครั้งคราว เมื่อหัวใจเรียกร้อง

 

นักวิชาการในฝัน (4) : ขอคุยกับคุณปริเยศหน่อย

ตั้งชื่อตอนเลียนแบบลุงไมค์ ไมเคิล ไรท์ แห่งมติชนเขาน่ะครับ เห็นขอคุยกับใครๆไปทั่ว

จริงๆ ก็อยากถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น เรื่องบทบาทนักวิชาการกับคุณปริเยศมานาน ตั้งแต่ครั้งแวะเวียนโพสต์ความเห็นในเวปผู้จัดการรายวัน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้บทความอาจารย์รังสรรค์

คุณปริเยศเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย ดุจเดียวกับคุณชูวิทย์ตั้งใจขุดคุ้ยตำรวจ (ฮา)

จนกระทั่ง คุณ BF Pinkerton เขียน blog เรื่อง Blog ของ Professors  ผมได้เข้าไปอ่าน เห็นคุณปริเยศโพสต์ความเห็นอย่างเอาการเอางาน (เช่นเคย)

อ่านแล้ว คนชอบเถียงอย่างผม คันมือคันไม้มาก อยากร่วมวง แต่พอเห็นคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใครแล้ว กลัวเหลือเกิน เพราะหมัดหนักมาก คิดว่าผลีผลามเข้าไปร่วมวง คงยังไม่เหมาะ เพราะควรจะคุยกันยาวๆ ค่อยๆไล่เรียงลำดับความคิด รออารมณ์ดีๆ จะดีกว่า เพราะต่างคนต่างหวังดีกับวงวิชาการทั้งคู่ แม้จะมีความคิดระหว่างทางแตกต่างกันบ้าง น่าจะสร้างบรรยากาศถกเถียงกันฉันท์มิตรมากกว่า คุยกันสั้นๆ โดยที่ไม่รู้จักกันมาก บางครั้งจะตัดสินอีกฝ่ายเอาอย่างไม่เป็นธรรม

ไม่นาน คุณปริเยศแวะเข้ามา blog ผม ผมเข้าไปอ่าน blog คุณปริเยศ สักพักเลยเกิดความรู้สึกว่านิสัยใจคอจริงๆคงใกล้เคียงกัน คุณปริเยศแถวนี้ก็ไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านนัก น่าจะลองคุยกันยาวๆ ในบรรยากาศดีๆ เสียหน่อย ผมเลยเขียนซีรี่ย์นักวิชาการในฝันขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ที่เขียนมาสามตอนก่อน ก็หวังให้คุณปริเยศอ่านนั่นละ ปูพื้นความคิดกันก่อนจะมาคุยกัน

ถ้าคุณปริเยศอ่านระหว่างบรรทัด คงเข้าใจว่า ผมก็ได้แสดงความเห็นแย้งความคิดหลายส่วนของคุณไปแล้วในบทความสามตอนก่อน จะมีก็แต่ประเด็นเก็บตกเล็กน้อย และอยากสรุปความอีกนิดหน่อย

……

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นักวิชาการในฝันของคุณปริเยศคือ คนที่มุ่งทำงานวิชาการตามมาตรฐานสากลอย่างจริงจัง ผลิตองค์ความรู้ใหม่ สร้างภูมิปัญญาบริสุทธิ์ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

เกณฑ์ที่คุณปริเยศให้ความสำคัญในฐานะเครื่องตัดสินความสำเร็จของภารกิจดังกล่าวก็คือ นักวิชาการไทยควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ที่มีมาตรฐานระดับสากล และนักวิชาการไทยควรมีตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง

ผมไม่เถียงครับ

เห็นด้วยว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยควรต้องใส่ใจกับการผลิตงานวิชาการ เป็นเรื่องที่ควรทำ อนาคตควรไปให้ถึงตำแหน่งศาสตราจารย์

แต่ถ้าอ่านบทความของผมสามชิ้นก่อน ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า

หนึ่ง มันมีภารกิจอื่นๆ ที่นักวิชาการควรทำหรือถูกคาดหวังให้ทำเช่นกัน และภารกิจเหล่านี้ก็มิได้ด้อยค่าจนน่าดูถูก เมื่อเทียบกับการครองตนอยู่บนหอคอยงาช้างผลิตงานวิชาการบริสุทธิ์

และ สอง ความสำเร็จของนักวิชาการในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจบนหอคอยงาช้าง ขึ้นอยู่กับสภาพของ ‘โลก’ ที่เขาอยู่ ที่เขาถูกหล่อหลอม และได้รับอิทธิพลจากมัน นักวิชาการแยกออกจากโลกไม่ได้ ‘โลก’ ที่ว่าหมายถึงโลกรอบตัว เช่น สภาพสังคม สถาบันในสังคม และโลกภายใน เช่น ประสบการณ์ วิธีคิด อุดมการณ์ ส่วนตัว

ผมอ่านความเห็นของคุณปริเยศหลายครั้ง คิดว่าความคิดที่คำนึงถึงสองประเด็นข้างต้นพร่องไปเสียหน่อย คุณปริเยศมักมองนักวิชาการไทยอยู่นอกโลกเหนือสังคม และคาดหวังนักวิชาการในระดับสูงเหนือมาตรฐานคนทั่วไป (ซึ่งก็ไม่ได้ว่าผิดนะครับ)

ที่สำคัญ บ่อยครั้ง คุณปริเยศออกจะดูถูกภารกิจด้านอื่นที่นอกเหนือจากการหน้าที่บนหอคอยงาช้างของนักวิชาการมากไปเสียหน่อย เช่น เขียนหนังสือที่เป็นความรู้พื้นฐานอ่านง่ายๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ฯลฯ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ ผมไม่ถือว่าทุเรศหรือน่าอาย หลายคนที่ทำก็ไม่ใช่เพราะมีปัญญาทำได้แค่นี้ แต่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ส่วนตัวบางอย่างมากกว่า

ถึงตรงนี้แล้ว ผมคิดว่าคุณปริเยศคงเข้าใจแล้วว่าผมคิดอย่างไรในประเด็นเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าผมเข้าใจถูกกว่าคุณปริเยศนะครับ

ที่ผมอยากคุยกับคุณปริเยศเพราะ สมัยก่อน ผมก็คิดคล้ายๆกับคุณ ตั้งมาตรฐานของนักวิชาการไว้ในระดับสูงและคล้ายกัน แต่เมื่อเข้าสู่โลกวิชาการแล้ว ก็พอเข้าใจข้อจำกัดหลายอย่างมากขึ้น (แต่คนละอย่างกับต้องยอมรับมันนะครับ จริงๆที่ผมเขียนตอนก่อนๆก็ไม่ได้แปลว่าอย่าไปหวังอะไรมาก แต่อยากให้ประเมินสถานการณ์แบบรอบด้าน พยายามเข้าใจปัจจัยรอบตัว รวมถึงข้อเท็จจริง ด้วยต่างหาก) นั่นประการหนึ่ง แต่อีกประการหนึ่งก็คือ เลิกยึดติด ‘ขนบ’ หลายอย่าง ที่ตนเคยใช้ตัดสินคุณค่าของความเป็นนักวิชาการที่เก่งและดี

อันหลังนี่ต่างจากอันแรกนะครับ

ผมชักไม่แน่ใจว่า ‘ขนบ’ ที่เรามักใช้ตัดสินคุณค่าความเป็นนักวิชาการในฝันแบบที่คุณปริเยศใช้ มันมีคุณค่าเพียงใด ภายใต้สภาพสังคมและคุณภาพของสถาบันเช่นที่เป็นอยู่

ถ้าใช้ภาษาแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือ กำหนดให้สถาบันของสังคมคงที่ ถูกกำหนดระดับคุณภาพมาแล้วอย่างนี้ นักวิชาการจะ optimize ตัวเองอย่างไร ให้ความสนใจกับภารกิจ x เท่าไหร่ y เท่าไหร่ดี ภายใต้เวลาและทรัพยากรที่จำกัด เพื่อให้สังคม (สำหรับบางคน – ตัวเอง) ได้ประโยชน์สูงสุด

ไม่แน่ใจว่า การอยู่บนหอคอยงาช้าง มัน maximize objective function given set of institutions และ constraints อื่นๆ ของผมได้หรือเปล่า

หมายถึงของผมคนเดียวนะครับ เพราะนักวิชาการแต่ละคน ก็มี objective function ต่างกัน ให้คุณค่า institutions ต่างกัน มี constraints ต่างกัน ให้คุณค่ากับ private interests และ public interests ต่างกัน

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ในความเป็นจริง สถาบันมันไม่ได้อยู่คงที่ แต่ภารกิจ x, y, z, … ที่นักวิชาการทำ ส่งผลให้สถาบันเกิดการวิวัฒน์ในรอบต่อไปอีกด้วย เช่น การทุ่มเททำภารกิจ x ในวันนี้ อาจทำให้ในวันหน้าทำภารกิจ y ได้มากขึ้น เพราะสถาบันพัฒนาไปในทางที่ส่งเสริม y ในอนาคต

เราอาจแทนค่า x ด้วย ภารกิจเพื่อสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางวิชาการ พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ แล้วแทนค่า y ด้วย ภารกิจทางวิชาการ เช่น ผลิตงานเขียนเชิงวิชาการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่า ผมคิดว่า นักวิชาการไม่ต้องผลิตงานวิชาการนะครับ หรือต้องรอให้ฟ้าเปิด มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมก่อนค่อยทำ แต่ผมเห็นว่า นั่นเป็นภารกิจที่ต้องทำ แต่นั่นมิใช่ภารกิจเดียวที่เราจะใช้ชี้หน้าตัดสินนักวิชาการคนหนึ่งว่า ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

ที่ผมเขียนบทความสามตอนก่อน อาจดูเหมือนว่าผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ผลิตองค์ความรู้บนหอคอยงาช้าง ไม่ใช่นะครับ ยิ่งถ้าคุณต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้ความรู้ คุณยิ่งต้องทำงานวิชาการ ถ้าคุณต้องการสอนหนังสือให้ดี คุณยิ่งต้องผลิตงานวิชาการ แต่ผมอาจจะส่องไฟไปที่ภารกิจส่วนอื่นมากหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนที่หมกมุ่นอยู่แต่ภารกิจบนหอคอยงาช้างได้มองเห็นโลกอีกด้านหนึ่งบ้าง และเห็นเหตุผลของคนที่ให้ความสำคัญกับภารกิจในโลกอีกด้านหนึ่งด้วยว่าเขาคิดอย่างไร เพราะอะไร

ว่ามันไม่ใช่เพราะความหลงผิด หรือเพราะผลประโยชน์ หรือเพราะความโง่ หรือเพราะความขี้เกียจ ของนักวิชาการที่สนใจภารกิจที่คุณปริเยศไม่ให้คุณค่าเท่าการผลิตงานวิชาการ แต่มันมีเรื่องราวและเหตุผลของมันเช่นกัน และงานเหล่านั้นก็มีคุณค่าในตัวเองเช่นกัน

ผมพยายามยกตัวอย่างมากมาย รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัว ให้คุณปริเยศลองนั่งคิดจริงๆ จังๆ (หรือเล่นๆ ก็ได้) เผื่อจะเกิดการสังเคราะห์ได้อะไรใหม่ๆ

เหมือนเพลงเฉลียงอ่ะครับ

โลกวิชาการยังมีอื่นๆ อีกมากมาย

‘อื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่รู้ อาจจะจริง เราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ ที่ยังไม่เห็น’

……

ผมเห็นด้วยว่านักวิชาการต้องผลิตงานวิชาการ

แต่คำถามต่อมาก็คือ คำถามที่ผมตั้งไว้แล้วในงานเขียนตอนก่อนว่า แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินคุณค่างานวิชาการ หรืองานวิชาการที่ดีจะนิยามมันอย่างไร นี่ก็อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ยิ่งถ้าเราคิดพ้นไปจาก ‘ขนบ’ เดิม ที่ครอบวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ เราจะคิดต่อไปได้อีกมาก และเถียงกันต่อได้อีกมาก

รวมถึงคำว่า ‘มาตรฐานที่เป็นสากล’ ซึ่งเอาเข้าจริง ความเป็นสากลและระดับคุณค่าเป็นคนละเรื่องกัน หรือกระทั่งข้อจำกัดของภาษา ว่างานที่เป็นที่ยอมรับต้องเป็นภาษาอังกฤษ ที่นานาชาติเข้าถึงได้ ถึงที่สุด ภาษาไม่ได้เป็นตัววัดความเป็นของแท้ของนักวิชาการหรืองานวิชาการ แต่อยู่ที่เนื้อหา วิธีคิด โดยเฉพาะมุมมองต่อโลกมากกว่า

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ นั่งเขียนงาน และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ แล้วนั่นคือจุดหมายปลายทางของมัน

ตีพิมพ์แล้วไง? คุณค่าของงานวิชาการไม่ได้อยู่ที่การตีพิมพ์แล้วเราสบายใจมีความสุข แต่งานต้องมีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ว่าจะส่งไปตีพิมพ์ หรือได้ตีพิมพ์หรือไม่ หรือเขียนภาษาอะไร แน่นอนว่า การได้ตีพิมพ์ผลงานก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร พอเราอ่านวารสารชั้นนำเหล่านั้นก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะได้อ่านงานที่มีคุณค่า ดีกว่าไปงมเข็มในมหาสมุทร

แต่สำหรับผม มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะนั่นก็เป็นเพียงเกณฑ์หยาบๆอันหนึ่ง เหมือนที่บริษัทเลือกรับนักศึกษาจบจุฬา ธรรมศาสตร์ เลือกรับคนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ทั้งผมและคุณปริเยศคงเห็นเหมือนกันว่า นั่นไม่ได้เป็นตัวตัดสินความเป็นคนหรือเครื่องวัดความสามารถ ความดี ความเก่งของนักศึกษาคนนั้นๆ การพิสูจน์ความเป็นของแท้ของนักวิชาการก็เช่นเดียวกัน เราต้องมองข้ามพ้นไปจากเปลือกนอกเหล่านั้น

ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เช่นเดียวกัน

ตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้มีที่ทางตั้งอยู่ลอยๆ แต่อยู่ภายใต้ ‘สถาบัน’ และ ‘ขนบ’ บางอย่างในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย คือนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์น้อยเพราะโง่กว่านักนิติศาสตร์ที่มีศาสตราจารย์กันมากมาย แต่ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งที่อำนาจในการอนุมัติอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่กระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีอำนาจอนุมัติเอง ซึ่งในเมืองไทย ระบบแบบหลังคล้ายๆกับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ที่คณะกรรมการมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอนุมัติกันเอง

ที่สำคัญ เกณฑ์การตัดสินตำแหน่งศาสตราจารย์มีการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินสูง ไม่มีกฎกติกาลายลักษณ์อักษรชัดเจน ผู้ประเมินต้องเป็นศาสตราจารย์ด้วยกันเอง ยิ่งสาขาไหน ศาสตราจารย์มีน้อย และได้มาด้วยความยากลำบาก ความรู้สึกเป็น Exclusive club (Professor club) ยิ่งสูง คงพอเดาได้ว่าผลจะเป็นทิศทางไหน ธรรมชาติของการเป็น Exclusive club มีแนวโน้มที่จะสร้างอุปสรรคในการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ (Barrier to entry) โดยตัวของมันอยู่แล้ว

การได้ตำแหน่งศาสตราจารย์มันก็มีการเมืองในตัวของมัน มีวิถีต่างกันในสาขาวิชาต่างๆ มีเรื่องเล่าลับๆมากมายเกี่ยวกับการได้และไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์

มาถึงคำวิจารณ์ของคุณปริเยศ ที่เทียบเคียงวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

ผมไม่มีความรู้เลยแม้แต่น้อย เลยไม่กล้าทึกทักสรุปเอาเอง ว่าแนวรบด้านนั้นสถานการณ์เป็นเช่นไร เอาเข้าจริงอาจไม่แตกต่างกันมากก็ได้

แต่ผมคิดว่าธรรมชาติของตัววิชาที่เป็น natural science กับ social science (หรือ study อาจจะถูกกว่า) มันต่างกัน ตั้งแต่วิธีการตั้งคำถาม วิธีการตอบคำถาม วิธีทำงาน ความยากง่ายในการเข้าถึง ‘ความจริง’ ตามขนบของวิชาการสายตน ความสามารถในการลดรูปความจริงเพื่อศึกษาอธิบายความจริงโดยที่คำอธิบายที่ได้ไม่เบลอจนเกินไป การถูกหล่อหลอมจากธรรมชาติของการเรียนวิชานั้นๆ เกณฑ์การทำงาน ระบบการตัดสินคุณค่า ซึ่งเรื่องพวกนี้โยงไปถึงความสัมพันธ์ของตัววิชาการกับสังคม ในระดับ รูปแบบ และการถูกคาดหวัง ในทางที่แตกต่างจากนักสังคมศาสตร์

ถ้าอ่านงานเขียนจริงๆจังๆของผม คงเห็นว่า ผมตั้งคำถามกับทิศทางของพัฒนาการเศรษฐศาสตร์ในแนวทางแบบที่เป็นอยู่มากพอสมควร ว่าต้นทุนมันสูงทีเดียว และทำให้เราสูญเสียความเป็นสังคมศาสตร์ แต่กลายเป็นนักเทคนิคที่สังคมตรวจสอบและร่วมเรียนรู้ได้ยากขึ้น

เอาเข้าจริง นักสังคมศาสตร์ก็ยังถกเถียงเรื่องระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ในสายสังคมศาสตร์กันอยู่ไม่รู้จบ

ดังนั้นจะบอกว่า คุณภาพนักวิชาการไทยห่วยเพราะด้อยสามารถด้านคณิตศาสตร์ก็คงสรุปไม่ได้ เพราะมันมีวิถีทางเข้าถึงความจริงหลายทาง และงานวิชาการแบบเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นมรรคที่ดีที่สุดในการเข้าถึงความจริง ความเป็นสากลหรือเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นตัวกำหนดมาตรฐานไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณค่าที่แท้จริงของอะไรทั้งนั้น (เหมือนคนไทย 19 ล้านคน เลือกไทยรักไทย)

คำถามที่สนุกกว่าคือ ทำไมความคิดหนึ่งถึงกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ครอบโลกได้ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขใด เพราะอุดมการณ์ใด แล้วมันมี implication อะไร นำเราไปสู่อะไร

……

ใครเคยเยี่ยมเยียนห้องทำงานของผมที่สำนักท่าพระจันทร์คงเคยเห็นรูปการ์ตูนสี่ช่อง ที่ติดหราอยู่หน้าประตูห้อง

ผมตัดมาจากหนังสือแบบเรียนกึ่งสำเร็จรูปของคุณเรณู ปัญญาดี ของสำนักพิมพ์มติชน

ขอเล่าจากความทรงจำนะครับ เพราะไม่ได้หยิบมาบ้านนอกด้วย(ของจริง เจ๋งกว่าที่ผมจะเขียนต่อจากนี้มาก)

ถ้าจำไม่ผิดชื่อการ์ตูนหน้านี้จะชื่อ นักวิชาไทยในฝัน ทำนองนี้แหละ

คนสี่คู่คุยกัน

ช่องแรก

“ผมอยากทำงานบนหอคอยงาช้าง ผลิตองค์ความรู้บริสุทธิ์ คิดค้นทฤษฎีใหม่”

“นั่นเขาเรียกว่า ชักว่าวทางปัญญา”

ช่องที่สอง

“ผมอยากนำความรู้ที่มีไปรับใช้เปลี่ยนแปลงสังคม เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ”

“นั่นเขาเรียกว่า กะหรี่ทางวิชาการ”

ช่องที่สาม

“ผมอยากให้ความรู้พื้นฐานกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเข้าถึงความรู้ได้ง่ายๆ”

“นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญา”

ช่องที่สี่

“ผมอยากนำความรู้ไปรับใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคม”

“นั่นเขาเรียกว่า หมอนวดทางปัญญาแผนโบราณ”

นักวิชาการนั่งสำเร็จความใคร่ทางปัญญาอยู่คนเดียวไม่สนุกหรอกครับ มีความสุขอยู่คนเดียว

มาร่วมรักสมัครสมานกับสังคมแบบคู่รักดีกว่า

ทำอย่างไรให้ ‘ถึง’ พร้อมกันทั้งคู่ ไม่ใช่นักวิชาการชิงถึงสวรรค์อยู่ฝ่ายเดียว

ถ้าถามหมอพันศักดิ์ อาจได้รับคำแนะนำว่า ก็ต้องผ่านประสบการณ์จากทั้งสี่แบบข้างบนให้ช่ำชองก่อนไง

ลองคิดดูนะครับ

 

Print Friendly