เศรษฐกิจใหม่

ในวันเลือกตั้ง ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 63% บอกว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้ และ53% ของกลุ่มคนดังกล่าวลงคะแนนเลือกบารัค โอบามาเป็นประธานาธิบดี  ชัยชนะในมลรัฐอย่างเพนซิลเวเนีย โอไฮโอ และมิชิแกน ซึ่งมีสัดส่วนของกลุ่มแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่มาก แสดงว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องการให้โอบามาเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

ไม่กี่วันหลังรู้ผลเลือกตั้ง ภารกิจแรกของโอบามาคือการนัดประชุมร่วมกับที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ โอบามาแถลงข่าวเป็นครั้งแรกต่อสื่อมวลชนหลังได้รับเลือกตั้งในวันศุกร์เดียวกัน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในภาคเศรษฐกิจจริงเป็นลำดับแรก เป้าหมายหลักคือการให้ความช่วยเหลือแก่คนทำงาน (ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นฐานหลักให้เศรษฐกิจเดินหน้าพ้นจากวงจรเศรษฐกิจตกต่ำ

ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจอเมริกาในขณะนี้คือ ปัญหาการว่างงาน อัตราการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 14 ปี  ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม 2008 ตำแหน่งงานหายไปจากเศรษฐกิจอเมริกา 10 เดือนรวด รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านตำแหน่ง เฉพาะเดือนตุลาคม 2008 งานหายไป 240,000 ตำแหน่ง คาดว่าในขณะนี้ คนว่างงานในอเมริกาสูงถึงหลัก 10 ล้านคน

หากคนไม่มีงานทำ อำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจก็หดหาย เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ยาก และเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อลูกหนี้สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ ก็เข้าสู่ภาวะหนี้ท่วมหัว อาจถูกยึดบ้าน ถูกฟ้องล้มละลาย และสถาบันการเงินก็ประสบปัญหาหนี้เสียและขาดทุน บั่นทอนความสามารถในการปล่อยกู้ให้ภาคเศรษฐกิจจริง ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปอุ้ม

เป้าหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจของโอบามาคือ การช่วยเหลือให้คนทำงานลุกขึ้นยืนได้ เพื่อเป็นฐานหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตัวอย่างของนโยบาย เช่น การลดภาษีให้คนทำงาน การเพิ่มสวัสดิการให้คนว่างงาน การขยายผลประโยชน์ของการประกันการว่างงาน รวมถึงการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อไป

นอกจากภาคเศรษฐกิจจริง การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีส่วนเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริง โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้ระบบสถาบันการเงินกลับมาทำงานได้อย่างปกติ ปล่อยกู้ให้ภาคเศรษฐกิจจริงได้ และช่วยเหลือลูกหนี้รายได้ต่ำที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ เช่น ระบบปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้รักษาบ้านของเขาไว้ได้ รวมถึงการออกแบบกติกากำกับดูแลภาคการเงินในอนาคต และการใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างคุ้มค่า

นโยบายหนึ่งที่โอบามาให้ความสำคัญมากคือ การลงทุนโดยรัฐเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อลดระดับการพึ่งพิงน้ำมันของเศรษฐกิจอเมริกา และช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โอบามามักเทียบเคียงโครงการนี้กับโครงการท่องอวกาศเหยียบดวงจันทร์ของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วยว่า เราสามารถทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้

หากในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 เศรษฐกิจอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจได้ด้วยการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคและการใช้จ่ายด้านการทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำยุคโอบามา ซึ่งรุนแรงที่สุดนับจากยุคนั้น อาจฟื้นตัวโดยมีการลงทุนสีเขียวในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น (การกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่าย การจ้างงาน) และระยะยาว (การแก้ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน) เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ

แต่ที่แน่ๆ ยุคของระบบทุนนิยมเสรีแบบไร้การกำกับดูแล โดยเฉพาะในภาคการเงิน อาจใกล้หมดช่วงลงแล้ว รัฐบาลคงมีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น คำถามที่น่าสนใจอยู่ที่ ระบบทุนนิยมใหม่ภายใต้การกำกับดูแลที่มากขึ้นของรัฐ(และ/หรือชุมชน)จะมีหน้าตา รูปแบบ และเนื้อหาอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามท้าทายภูมิปัญญาที่ต้องร่วมค้นหาคำตอบกันต่อไปในทศวรรษหน้า

Print Friendly