ด้วยราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด จนแตะระดับ 135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2551 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จึงปลุกผีการขุดเจาะหาน้ำมันขึ้นมาอีกครั้ง โดยเสนอให้รัฐสภายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการห้ามขุดเจาะน้ำมันในทะเล ปี 1981 และมีแนวคิดที่จะยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Orders) ที่ห้ามขุดเจาะน้ำมันปี 1990 รวมถึงเสนอให้อนุญาตให้ขุดหาน้ำมันในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและคุ้มครองสัตว์ป่าได้ด้วย โดยอ้างว่าหากค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกาลดลง เป็นการบรรเทาภาระของประชาชน
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวประเมินว่า การขุดน้ำมันในทะเลจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันจำนวน 18,000 ล้านบาร์เรล ขณะที่การขุดหาน้ำมันในพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าแถบอาร์กติก (Arctic National Wildlife Refuge) ซึ่งกินพื้นที่แถบอะแลสกา น่าจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 10,000 – 12,000 ล้านบาร์เรล และในแถบลุ่มน้ำกรีน (Green River Basin) ซึ่งกินพื้นที่แถบโคโรลาโด ไวโอมิง และยูทาห์ น่าจะมีปริมาณน้ำมัน 800,000 ล้านบาร์เรล
ไม่ใช่แค่บุช แต่ จอห์น แม็คเคน ก็ออกมาสนับสนุนให้ยกเลิกการห้ามขุดเจาะน้ำมันในทะเลเช่นกัน ทั้งที่ในการเลือกตั้งขั้นต้นของศึกชิงทำเนียบขาวเมื่อปี 2000 ซึ่งแม็คเคนลงแข่งกับบุชนั้น แม็คเคนมีจุดยืนตรงกันข้ามโดยสนับสนุนการห้ามขุดเจาะน้ำมันในทะเล
การกลับลำของแม็คเคนทำให้เขาถูกโจมตีอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกกลับไปกลับมา มิพักต้องพูดถึงว่า จุดยืนใหม่นี้ทำให้พรรคเดโมแครตป้ายสีแม็คเคนได้ง่ายขึ้นว่า เขาไม่ต่างอะไรจากบุช และหากชนะเลือกตั้ง จะกลายเป็นรัฐบาลบุช สมัยที่สาม ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้คะแนนเสียงจากผู้ใช้สิทธิ์อิสระ ซึ่งเป็นฐานคะแนนใหญ่ของแม็คเคนเดินหนีไป
ในขณะที่ฝั่งเดโมแครตออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวทันที โดยเห็นว่านโยบายขุดเจาะน้ำมันในทะลและพื้นที่อนุรักษ์ไม่ช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ เนื่องจาก น้ำมันที่คาดว่าจะได้เพิ่มจากการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ (แม้มองโลกในแง่ดีที่สุดแล้วก็ตาม คือ เจอแหล่งน้ำมันจริง และได้น้ำมันมากตามที่คาดหวังไว้จริง) มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันที่ผลิตอยู่ในโลก จึงไม่สามารถกดราคาน้ำมันให้ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญได้
นอกจากนั้น การขุดหาแหล่งน้ำมันใหม่เป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลา ตั้งแต่การสำรวจ การเตรียมขุดเจาะ การขุดเจาะ และการแปรรูปน้ำมันดิบ ฝ่ายพรรคเดโมแครตออกมาแฉต่อว่า ทางรัฐบาลพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะกระทรวงพลังงานเองก็ได้ประเมินแล้วว่า หากมีการขุดเจาะวันนี้ หากประสบความสำเร็จ กว่าจะได้น้ำมันเพิ่มต้องรอถึงปี 2030 โน่น ซึ่งแทบจะไม่มีผลต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเวลานี้เลย นอกจากจะช่วยเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้แก่บริษัทน้ำมัน โดยแลกมาด้วยต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ เช่น ปัญหามลพิษในทะเล ที่สูงขึ้น
ฝ่ายเดโมแครตมองว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายระยะยาวมากกว่า โดยส่งเสริมการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น บารัค โอบามา เสนอว่าควรใช้วิธีเก็บภาษีกำไรจากบริษัทน้ำมันมากขึ้น แล้วนำเงินส่วนนั้นมาเป็นเงินสนับสนุนเพื่อลดภาระให้ครัวเรือนจ่ายราคาพลังงานลดลง และเขายังเขียนไว้ในนโยบายว่า จะให้รัฐบาลลงทุน 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสิบปีนับจากนี้ เพื่อค้นคว้าวิจัยและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดระดับการพึ่งพิงน้ำมันของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
นโยบายยกเลิกการห้ามขุดเจาะน้ำมันในทะเลของบุชซึ่งแม็คเคนให้การสนับสนุนไม่ได้ถูกคัดค้านจากนักการเมืองต่างพรรคเท่านั้น แต่นักการเมืองของพรรครีพับลิกันหลายคนก็ออกมาคัดค้าน รวมทั้งผู้ว่าฯคนเหล็กแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ออกมาคัดค้านด้วย แม้ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของแม็คเคน เนื่องจากกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นมลรัฐชายฝั่งทะเล
แน่นอนว่า โอบามาคงไม่พลาดโอกาสดีในการชูประเด็นนี้มาทำลายคะแนนนิยมของแม็คเคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีจำนวน Electoral College สูงสุดถึง 55 เสียง