ความเห็นหนึ่งถึงปัญหาบาทแข็ง

โจทย์ใหญ่อยู่ที่จุดลงตัวของไทยในเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่

ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยเป็นคนป่วย ค่าเงินบาทแข็งเป็นอาการป่วย ประเด็นที่ถกเถียงกันในวงการเศรษฐศาสตร์และตามสื่อสารมวลชนในขณะนี้ก็เหมือนกับเถียงกันว่า จะบรรเทาความปวดหัวตัวร้อนอย่างไร กินยาอะไรดี กินกี่เม็ดดี จะรักษาอาการไม่ให้ลุกลามบานปลายจนเป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้นอย่างไรได้บ้าง

ข้อถกเถียงที่ว่า จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ จะลดเท่าไหร่ดี ก็เป็นแค่การบรรเทาอาการของโรคชั่วคราวเท่านั้น เช่นเดียวกับมาตรการแก้ปัญหาบาทแข็งหกประการของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลที่เล่นกับความต้องการซื้อและความต้องการขายเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความต้องการซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯ ลดความต้องการซื้อเงินบาทลง หรือให้ปริมาณเงินเหรียญสหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจน้อยลง เช่น การผ่อนคลายการกำกับควบคุมเงินทุนไหลออก การให้ผู้ส่งออกถือครองรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้นานขึ้น ไม่ต้องรีบแลกเป็นเงินบาท หรือให้คนไทยฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น หรือข้อเสนอให้ถือโอกาสที่บาทแข็งใช้หนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกันมากๆ

วิธีรักษาโรคแบบบรรเทาอาการเหล่านี้ก็นับว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะในระยะสั้น ซึ่งอาการของคนป่วยไม่ค่อยดี แต่คำถามที่ต้องคิดต่อหรือสำคัญกว่านั้นคือ ในระยะยาว คนป่วยคนนี้ควรจะปรับวิธีใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้ป่วยบ่อยๆ ทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้นอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งหมอ จะดูแลรักษาตัวเองอย่างไร ถ้าเจอเชื้อโรค จะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น หรือถ้าพื้นฐานร่างกายคนป่วยไม่แข็งแรง ก็ต้องถามว่าคนป่วยคนนี้ควรจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน จะได้ไม่ติดหวัดง่ายๆ

ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยเกิดมาจากการผูกเศรษฐกิจไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ด้านหนึ่ง เราใช้ภาคการส่งออกเป็นตัวนำหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่ง เราเปิดเสรีต้อนรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ และให้ทั้งสองด้านเป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพึ่งพิงและผูกติดเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกทำให้ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยต้องผูกติดกับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น รายได้ของต่างประเทศ ค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งและคู่ค้าของเรา การเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ของนักลงทุน  ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น เราควบคุมคาดการณ์ไม่ได้ แต่กลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเศรษฐกิจเราโดยตรง

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เราสูญเสียความสามารถในการดำเนินเศรษฐกิจตัวเองลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยผันผวนตามปัจจัยภายนอก ความผันผวนมากขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น แต่เครื่องไม้เครื่องมือในประเทศที่เราจะใช้จัดการ ปกป้อง และเยียวยาตัวเองได้ ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะหยุดหรือจัดการกับความผันผวนนั้นได้

ความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของเราก็ลดลง เราต้องเดินตามกติกาของเศรษฐกิจโลกหรือกฎเหล็กที่เรียกกันว่านโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ จะทำอะไรขัดไปจากนี้ ก็ไม่กล้า กลัวต่างชาติไม่เชื่อมั่น กลัวทุนไม่ไหลเข้า นโยบายอย่างการบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา นโยบายเพิ่มต้นทุนให้กับทุนต่างชาติระยะสั้นอย่างมาตรการ 18 ธันวาคม 2549 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เลยยืนหยัดอยู่ในสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างยากลำบาก

เมื่อก่อนคนมักเข้าใจว่า นโยบายส่งเสริมการส่งออกไปด้วยกันได้ดีกับนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน แต่ปรากฏการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นถึงความขัดกันของสองนโยบายนี้ กล่าวคือเงินทุนที่ไหลเข้ามาก ทำให้ค่าเงินแข็ง และกระทบภาคส่งออก มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อกัน

โจทย์สำคัญที่ต้องคิดกันก็คือ ถ้าประเทศไทยจะยังยึดกุมยุทธศาสตร์ส่งออกเพื่อการพัฒนาต่อไป เราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อการไหลเข้าของเงินระหว่างประเทศ ถ้าเราปล่อยให้ทุนเคลื่อนย้ายโดยเสรี เราก็ต้องรับผลกระทบจากความผันผวนไร้เสถียรภาพจากระบบการเงินโลก ซึ่งประสบการณ์ในขณะนี้ชี้ชัดว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ในค่าเงินนั้นกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย ผลกระทบไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แต่ในภาคการเงินหรือตัวแปรที่เป็นตัวเงินเท่านั้น

 

ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหา

การวิวาทะกันเรื่องลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ดี จึงเป็นแค่ปลายเหตุมากๆ  ไม่ได้ช่วยให้เราหายขาดจากโรค ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เหตุแห่งทุกข์

แต่ถ้ามองแค่บรรเทาอาการ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ลดดอกเบี้ยแล้ว จะช่วยชะลอการแข็งตัวของเงินบาทได้แค่ไหน

ต้องเข้าใจว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้น ผลตอบแทนรวมที่เขาได้คือ ดอกเบี้ยบวกกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินในประเทศที่เขามาลงทุนแข็งขึ้น การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มบอกว่าน้อยไป ต้องลด 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนั้นยังน้อยมากเมื่อค่าเงินบาทขณะนี้แข็งขึ้นประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคม 2549 หรือแข็งขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2549 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าการแข็งค่าของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

การลดดอกเบี้ยคงไม่ช่วยสร้างแรงจูงใจด้านลบให้นักลงทุนต่างชาติไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยได้มากนัก และเป็นมาตรการที่ยังเบาเกินไปที่จะส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุน ไม่ช่วยเปลี่ยนการคาดการณ์ค่าเงินบาทของนักลงทุน ไม่เหมือนกับมาตรการกันสำรองเมื่อปลายปีที่แล้ว

นอกจากนั้น ในมุมกลับ ถ้าดอกเบี้ยในประเทศลดลง เงินจะไหลไปตลาดหุ้นมากขึ้น มูลค่าของหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นก็สูงขึ้นด้วย ก็คิดได้เหมือนกันว่า การลดดอกเบี้ยก็ส่งผลในทางดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นมากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้านักลงทุนคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการลดดอกเบี้ยลงอีก ก็จะยิ่งอยากเข้ามาลงทุน เพราะหวังจะได้กำไรส่วนต่าง (capital gain) สูงขึ้น ค่าเงินอาจจะยิ่งแข็งขึ้น

เมื่อไม่กี่ปีก่อน วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทชิ้นหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ชี้ให้เห็นว่า ค่าเงินบาทถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ และความสามารถในการจัดการความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีจำกัด ปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคุมได้มีเพียงตัวแปรด้านนโยบายการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนไม่มากและส่งผลแค่ระยะสั้นเท่านั้นเอง

 

เศรษฐกิจไทยต้องมีมาตรการกำกับความคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

ปรากฏการณ์บาทแข็งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอาการของโรคเท่านั้น การแก้ปัญหาที่เราคุยๆ เถียงๆ กันก็เป็นแค่การบรรเทาอาการของโรคชั่วคราวเท่านั้น โจทย์ใหญ่ก็คือ เราจะจัดการกับทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้อย่างไร

ผมคิดว่า เศรษฐกิจไทยต้องมีมาตรการกำกับควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในบาง ระดับ เพื่อเป็นกันชนต่อความผันผวนของระบบการเงินโลก มาตรการที่ว่าควรมุ่งไปในทางเพิ่มต้นทุนให้กับ ‘เงินร้อน’ หรือเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น ที่ไหลเข้าได้มากและเร็ว และไหลออกได้มากและเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างความผันผวนให้กับระบบเศรษฐกิจจนกระทบภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะเงินระยะสั้นที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น มาตรการนี้เป็นการป้องกันตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง จะได้ไม่เจ็บป่วย หรือไม่ป่วยหนัก ไม่ใช่ใช้แค่มาตรการที่รักษาอาการหลังป่วย เหมือนการลดดอกเบี้ย

เราก็เห็นว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ตลาดหุ้น ควรจะมีมาตรการบางอย่างมาจัดการกับเงินร้อนเหล่านี้ ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมไม่ให้ความสำคัญกับตลาดทุน แต่ผมเห็นว่าการพัฒนาตลาดทุนควรอยู่บนพื้นฐานที่เข้มแข็งและมั่นคง ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ด้านปริมาณโดยไม่คำนึงถึงด้านคุณภาพ

มาตรการกันสำรอง 18 ธันวาคม 2549 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในมาตรการที่ผมเห็นว่าเหมาะสมในการจัดการปัญหาบาทแข็ง และผมก็สนับสนุนเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการป่วยเฉพาะหน้าแล้ว โดยปรัชญาพื้นฐานของมาตรการดังกล่าวก็ยังตอบโจทย์ไปที่เหตุแห่งปัญหา และเป็นมาตรการป้องกันที่ช่วยลดโอกาสที่จะป่วยในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ผมจะเห็นด้วยกับหลักการพื้นฐานของมาตรการกันสำรอง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการประกาศกันสำรองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในคราวแรก ผมคิดว่า เศรษฐกิจไทยมีประวัติศาสตร์ของการต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติเต็มที่มาตลอด แค่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกันสำรองสัก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเรื่องช็อคที่แรงพอจะกระทบการคาดการณ์เรื่องค่าเงินของนักลงทุนได้แล้ว หยุดการพนันทางเดียว (one-way bet) ได้แล้ว แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ค่อยๆ เพิ่มระดับการกันสำรองให้สูงขึ้นต่อไปก็ได้

ปัญหาก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใจแข็งพอที่จะใช้มาตรการนี้อย่างเต็มรูปแบบ แต่กลับประกาศถอยหลังในเย็นวันแรกที่ใช้หลังหุ้นตกขนาดหนัก โดยยกเลิกการบังคับใช้กับตลาดหุ้น ผมคิดว่ามาตรการกันสำรองยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองในเศรษฐกิจไทยนานพอ การตัดสินมาตรการนี้โดยดูจากผลในวันแรกที่เกิดช็อค ดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมนัก และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยกลับลำกลางคันเช่นนี้ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายทำนองนี้หมดไป นักลงทุนจึงคาดการณ์ไปทางเดียวกันว่า บาทจะแข็งไปตามกลไกตลาดโดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่กล้าออกมาตรการรุนแรงหรือขัดต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เช่นนั้นอีก  โดยเฉพาะไม่กล้าแตะตลาดหุ้น จึงยิ่งทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น

ผมจึงรู้สึกเสียดายที่เครื่องมือนี้หมดโอกาสนำมาใช้และพิสูจน์ตัวเองในการจัดการปัญหาค่าเงินแข็ง ทั้งที่หากเริ่มต้นดีอย่างอ่อนๆ และหนักแน่นมั่นคงกับมัน จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถึงวันนี้ผมไม่คิดว่าจะมีใครกล้าใช้มาตรการนี้อีก เพราะกลายเป็นปีศาจไปแล้ว โดยเฉพาะในหมู่นักเล่นหุ้น

 

อย่าโยนบาปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

กระนั้น ที่ผ่านมา ผมเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ผมไม่อยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแพะรับบาปของปัญหาค่าเงินแข็ง สังคมไทยชอบหาแพะ เพื่อผลักปัญหาออกจากตัวเอง และชอบเหยียบคนอื่นให้ตัวเองดูสูงขึ้น อย่างความผิดพลาดเรื่องการปกป้องค่าเงินบาทจนทุนสำรองหมดในสมัยวิกฤตปี 2540 เราก็ให้คุณเริงชัยเป็นแพะคนเดียว ซึ่งไม่ใช่ ผู้กำหนดนโยบายก็ผิดพลาดได้ ถ้าเรามีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่กำหนดกติกาการลงโทษไม่เหมาะสม ผู้กำหนดนโยบายก็จะไม่กล้าตัดสินใจ อยากปกป้องตัวเอง หนีความเสี่ยง ไม่ตัดสินใจทำอะไร เพราะจะได้ไม่ผิด ถ้าเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติอาจเสียประโยชน์มากกว่า

ถึงเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา กลับยิ่งทำให้ปัญหาสะดุด เราต้องเน้นการปฏิรูปเชิงสถาบัน อย่างปฏิรูปกระบวนการกำหนดนโยบาย มากกว่าปัญหาเรื่องตัวบุคคล ปัญหาที่เราเผชิญมันใหญ่กว่านั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิค เรากำลังสู้กับอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ กำลังหาจุดลงตัวของการรักษาสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ ที่มีระดับการเปิดประเทศสูงและพึ่งพิงภาคต่างประเทศ ในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวน และอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ค่าเงินแข็งเป็นอาการโรคหนึ่งในอีกหลายโรคเท่านั้นเอง

เราต้องช่วยกันระดมภูมิปัญญาใหม่ๆ ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในระยะสั้น ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้รัฐบาลไทยถือโอกาสลงทุนในกิจการที่เสริมสร้างผลิตภาพ (productivity) ของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนของการนำเข้าสูง เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในโครงข่ายคมนาคมที่ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป รวมถึงการลดภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ แม้มาตรการเหล่านี้จะไม่ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด อาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้างเล็กน้อย แต่ก็ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ด้วย

นอกจากนั้น ภาคส่งออกก็ต้องปรับตัวเองเช่นกัน เพราะทิศทางค่าเงินบาทคงแข็งขึ้นกว่าในอดีตช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะมาหวังขายของถูกตลอดไปไม่ได้ จะหวังพึ่งรัฐให้ต้องแทรกแซงค่าเงินบาทอยู่ร่ำไปไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาตัวเอง เพิ่มพูนผลิตภาพในการผลิต ต้องลดต้นทุนการผลิต เพื่อแข่งขันในเชิงคุณภาพให้ได้

แม้การส่งออกจะยังคงมีความสำคัญเสมอ แต่เราจะหวังพึ่งการส่งออกภาคเดียวไม่ได้ ควรพยายามเพิ่มความสำคัญของสัดส่วนการลงทุนภายในประเทศใน GDP มากขึ้น เพราะเป็นรายจ่ายที่ส่งผลในการยกระดับความสามารถในการผลิตของประเทศ

 

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม 2550

Print Friendly