– 1 –
5 มกราคม 1914 Henry Ford ประกาศขึ้นค่าจ้างให้คนงานกว่าหนึ่งเท่าตัว พร้อมกับลดชั่วโมงทำงานของคนงานลงอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทั้งที่มิได้มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน จนต้องหาหนทางดึงดูดคนงานแต่อย่างใด
ปีก่อนหน้า โรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้มีคนงานเฉลี่ยกว่าหมื่นคน แต่มีคนงานผลัดเวียนเข้าออกจากงานมากถึงห้าหมื่นกว่าคน เนื่องเพราะอัตราการลาออกจากงานอยู่ในระดับสูงยิ่ง แรงงานที่ถูกไล่ออกก็มากมายร่วมแปดพันคน การประท้วงของคนงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
สถานการณ์ภายหลังคำประกาศที่สร้างความตื่นตะลึงให้แก่สังคมทุนนิยมอเมริกันพลิกผันอย่างสิ้นเชิง กำไรของบริษัท Ford สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงถึงระดับเลขสองหลัก อัตราการลาออกจากงานลดลงจากเดิมเหลือเพียงหนึ่งในสิบ ขณะที่การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอีกหนึ่งในสาม
การเสี่ยงครั้งนี้ยิ่งกว่าสัมฤทธิ์ผล Ford กลายเป็นยี่ห้อติดปากคนทั่วโลก วิถีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) กลายเป็นกรณีศึกษาในแวดวงธุรกิจ การยอมลด “กำไร” หรือ “ส่วนเกิน” ของนายทุน เพื่อขึ้นค่าจ้างให้คนงาน อาจนำมาซึ่ง “กำไร” ที่สูงกว่าในอนาคต
คติเบื้องหลังการตัดสินใจของ Ford ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งนายทุนมักจะกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทฤษฎีชี้ว่าการจ่ายค่าจ้างเท่ากับระดับค่าจ้างที่แรงงานได้รับหากย้ายงานก็ เพียงพอที่จะดึงดูดให้แรงงานอยู่ติดที่แล้ว เพราะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างระหว่างการทำงานที่นี่กับที่อื่น
คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใด Ford จึงยินดีจ่ายค่าแรงงานสูงกว่าระดับที่คนงานพึงได้ ? เหตุใดการ “จ่ายงาม” นำมาซึ่ง “งานดี” ?
– 2 –
ตลาดแรงงานเป็นตลาดที่เผชิญปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล (Imperfect Information) โดยเฉพาะปัญหาที่นายจ้างและลูกจ้างรับรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายไม่เท่ากัน (Asymetric Information) แต่การกระทำของฝ่ายหนึ่งกลับกระทบความกินดีอยู่ดีของอีกฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกจ้างขี้เกียจ กำไรของนายจ้างย่อมลดลง ทั้งนี้ ลูกจ้างมีแรงจูงใจที่จะขี้เกียจ ขณะที่นายจ้างต้องการกำกับควบคุมลูกจ้างให้ทำงานเต็มที่ แต่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนลงนามว่าจ้าง นายจ้างไม่มีทางรู้ได้โดยสมบูรณ์ว่า ลูกจ้างมีความขยันทุ่มเทและมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานมากน้อยเพียงใด ขณะที่ลูกจ้างรู้ข้อมูลเหล่านี้อยู่แก่ใจ จนเมื่อรับเข้าทำงานแล้ว นายจ้างจึงได้รับข้อมูลเหล่านี้เพิ่มขึ้น หากผิดหวัง ก็ต้องก้มหน้ารับกรรม อย่างน้อยก็ระยะเวลาหนึ่ง
ฝ่ายลูกจ้างที่ได้รับผลตอบแทนคงที่ในแต่ละเดือน (เช่น เงินเดือน) ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะทุ่มเทให้กับการทำงาน เพราะแม้ทำงานด้วยความทุ่มเทมากก็ได้รับค่าจ้างเท่ากับการทำงานตามมีตามเกิด แม้ขยันทำงานมาก บริษัทอาจได้กำไรสูง แต่กำไรที่เพิ่มขึ้นหาได้มีตกถึงมือตน หากเข้ากระเป๋าเจ้าของบริษัท แม้ตนทุ่มเททำงานมากเพียงใดก็ได้รับค่าจ้างคงที่เท่านั้น
ลูกจ้างที่เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ย่อมมีแรงจูงใจที่จะทำงานอย่างเรียงเรื่อย รับผิดชอบเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำให้พ้นไป เพราะมิได้เป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการลงแรงทำงานหนัก
ตรงกันข้าม ฝ่ายนายจ้างย่อมต้องการให้ลูกจ้างขยันทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อกำไรที่สูงขึ้น ความคาดหวังนี้เพิ่มต้นทุนให้ลูกจ้าง
ในโลกความจริง นายจ้างไม่สามารถรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความขยันทุ่มเทของลูกจ้างได้อย่าง สมบูรณ์ แม้จะแต่งตั้งผู้จัดการมากำกับควบคุมการทำงานก็ตามที สัญญาว่าจ้างแรงงานเป็นสัญญาไม่สมบูรณ์ (Incomplete Contract) เพราะในสัญญามิอาจระบุว่าจะจ่ายค่าจ้างเป็นหน่วยตามความขยันทุ่มเทอย่างชัด แจ้งได้ เนื่องจาก ความขยันทุ่มเทมิอาจถูกประเมินอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มิอาจวัดค่าเป็นตัวเงิน และมิสามารถใช้ฟ้องร้องในศาลได้ แม้จะระบุไว้ในสัญญาว่าลูกจ้างต้องขยันทำงานอย่างเต็มที่ ลูกจ้างก็ยังสามารถ“เบี้ยว” สัญญาดังกล่าวได้ไม่ยาก เพราะต้นทุนการบังคับสัญญาสูง และยากที่จะเอาผิดกับผู้เบี้ยวสัญญาได้
ปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interests) ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่ต่างฝ่ายต่างเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” จึงเกิดขึ้น ถือเป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ภายใต้โลกแห่งสัญญาไม่สมบูรณ์และโลกแห่งข้อมูลข่าวสารไม่สมบูรณ์
– 3 –
คำประกาศของ Ford นับเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ขัดกันข้างต้นของนายจ้าง นอกเหนือจากวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสตามผลงาน การใช้ระบบแบ่งปันกำไรให้ลูกจ้าง และการประเมินผลงานเพื่อต่อสัญญา
การจ่ายค่าจ้างให้สูงกว่าระดับขั้นต่ำที่แรงงานพึงได้ (ระดับค่าจ้างทางเลือกของเขา) ในแง่หนึ่ง ดูเหมือนว่านายจ้างจะเสียประโยชน์ ในขณะที่ลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโอกาสเก็บเกี่ยวส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) แต่ในอีกมุมหนึ่ง ส่วนเกินทางเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนระดับ “อำนาจ” ของนายจ้างเหนือลูกจ้าง
ส่วนเกินนี้เสมือนเป็นเครื่องบังคับทางอ้อมให้ลูกจ้างต้องขยันทุ่มเททำงานหนัก เพื่อรักษางานนี้ไว้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่างานอื่นๆ ความขยันทำงานหนักของลูกจ้างส่งประโยชน์ให้นายจ้างในบั้นปลาย
หาก “กติกา” การจ้างงานเป็นสัญญาที่ต้องมีการต่อสัญญาสม่ำเสมอ ลูกจ้างต้องพยายามทำดีเพื่อมิให้ถูกยกเลิกสัญญา มิเช่นนั้น จักสูญเสียส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ครอบครองอยู่
ทั้งนี้ การตัดสินใจที่จะยกเลิกสัญญาต้องประเมินจากความขยันทุ่มเทของลูกจ้างเป็นสำคัญ เพราะเป็นผลงานที่ลูกจ้างสามารถควบคุมได้เอง หากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของลูกจ้าง เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างต่อหรือไล่ออก ลูกจ้างก็จะไม่ให้คุณค่ากับความขยันทุ่มเทของตน เพราะแม้ขยันก็อาจตกงาน
หากการกำกับควบคุมการทำงานของแรงงานทำได้ดีเพียงใด “อำนาจ” ของนายจ้างยิ่งมากเพียงนั้น เพราะข้อมูลเกี่ยวกับระดับความขยัน ที่ใช้ในการประเมินผลงาน ยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้น
นอกจากนั้น “อำนาจ” ของนายจ้างยังขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจมหภาคด้วย หากเศรษฐกิจมีระดับการว่างงานสูง “อำนาจ” ของนายจ้างเหนือลูกจ้างจะยิ่งสูง เนื่องจาก ลูกจ้างยิ่งต้องทุ่มเทหนักขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งงาน มิให้ถูกแทนที่ด้วยแรงงานสำรองที่จ่อคิวรอเข้าทำงาน ทั้งนี้ หากการว่างงานยิ่งสูง ระดับค่าจ้างเฉลี่ยในตลาดแรงงานก็ยิ่งตกต่ำ การให้ค่าจ้างสูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่พึงได้หากย้ายงาน ยิ่งสะท้อน “อำนาจ” ของนายจ้างที่สูงขึ้น
– 4 –
การจ่ายค่าจ้างในระดับสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น นอกจากจะเป็นการหยิบยื่น “ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” ให้ลูกจ้างต้องขยันทำงานเพื่อรักษามันไว้ ซึ่งสะท้อน “อำนาจ” ของนายจ้างเหนือลูกจ้างแล้ว ยังเป็นการลดระดับของแรงจูงใจแบบ “สัตว์เศรษฐกิจ” ออกจากความสัมพันธ์ในตลาดแรงงานที่มีปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน และใส่มิติความสัมพันธ์ทางสังคมเข้าเสริม
การให้ค่าจ้างสูงกว่าที่ลูกจ้างควรจะได้หรือสูงกว่าระดับค่าจ้างเฉลี่ยของสังคม เสมือนเป็นการ “ซื้อใจ” และให้รางวัลแก่ลูกจ้าง จนทำให้ลูกจ้างรู้สึกอยากทำงานหนักขึ้นเพื่อตอบแทนนายจ้าง ด้วยแรงจูงใจแบบต่างตอบแทน – ดีมาดีไป ร้ายมาร้ายไป – (Reciprocity Motive)
การที่นายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้างดูเสมือนว่า นายจ้างให้คุณค่ากับความยุติธรรม (Fairness) ความรู้สึกของลูกจ้างว่าตนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้นกระตุ้นให้เขาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อตอบแทนนายจ้าง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเพิ่มต้นทุนแก่ตัวเขาเองก็ตาม
ตรงกันข้ามกับมายาคติของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อว่า ประสิทธิภาพ (Efficiency) และความเป็นธรรม (Equity) ต้องเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่าง (Trade-offs) นั่นคือ หากต้องการความเป็นธรรมมากขึ้น ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง
ในบางกรณี ความเป็นธรรมอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในโลกแห่งสัญญาไม่สมบูรณ์ ที่ลำพังความเป็นสัตว์เศรษฐกิจมิอาจนำพาเศรษฐกิจไปสู่ระดับที่มีสวัสดิการสูงสุดได้
– 5 –
การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างสูงยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย โดยช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น และใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การจ้างงานสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะย้อนกลับไปเพิ่มอำนาจต่อรองให้แรงงาน
ว่ากันว่า ขณะที่กำลังยืนมองคนงานขนเครื่องจักรใหม่เข้าสู่โรงงาน
Henry Ford เอ่ยปากถาม Walter Reuther ประธานสหภาพแรงงาน ที่ยืนอยู่ข้างกันว่า “วอลเตอร์, คุณจะจัดการเครื่องจักรพวกนั้นอย่างไร?”
Reuther ตอบ Ford ทันใดว่า “โอเค เฮนรี่, นั่นอาจจะเป็นปัญหา”
และพูดต่อว่า “แต่คุณล่ะ จะทำอย่างไร ให้คนงานพวกนั้นมีปัญญาซื้อรถฟอร์ด”
ตีพิมพ์: นิตยสาร open ฉบับเดือนกันยายน 2547