ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (Puey Lecture Series) มาแล้ว 17 ครั้ง เป็นประจำทุก 2 ปี เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) เผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(2) สดุดีและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
(3) ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาและการค้นคว้าที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
โดยปกติแล้ว ปาฐกถาป๋วยจัดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วย นั่นคือ วันที่ 9 มีนาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีคณะทำงานสัมมนาของคณะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าฟัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ 18 ครั้งที่ผ่านมา มีรายนามปาฐกและหัวข้อปาฐกถา ดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.นิคม จันทรวิทุร หัวข้อ “แรงงานกับรัฐ: สามทศวรรษแห่งการพัฒนา”
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา หัวข้อ “เกษตรกรกับรัฐ”
ครั้งที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2532 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.เสน่ห์ จามริก หัวข้อ “เศรษฐกิจการเมืองเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา หัวข้อ “วัฒนธรรมตะวันตกกับพัฒนาการสังคมไทย”
ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2536 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ หัวข้อ “วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย”
ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2538 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หัวข้อ “รากฐานชีวิต”
ครั้งที่ 6 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2541 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.นพ.ประเวศ วะสี หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และศีลธรรม (สังคมสันติประชาธรรม)”
ครั้งที่ 7 วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หัวข้อ “สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริงในสังคม”
ครั้งที่ 8 วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2546 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวข้อ “การบริหารสังคม: ศาสตร์แห่งศตวรรษเพื่อสังคมไทยและสังคมโลก”
ครั้งที่ 9 วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ หัวข้อ “ระบบอุปถัมภ์กับการพัฒนาสังคม: ด้านหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย”
ครั้งที่ 10 วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หัวข้อ “จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม”
ครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หัวข้อ “ลัทธิชาตินิยมไทยสยามกับกัมพูชา: ข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร(กลับมาเยือน)”
ครั้งที่ 12 วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ ห้องกิจกรรม หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หัวข้อ “วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร?”
ครั้งที่ 13 วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.อุทัย ดุลยเกษม หัวข้อ “การศึกษากับการสร้างสังคมสันติประชาธรรม”
ครั้งที่ 14 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวข้อ “พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี”
ครั้งที่ 15 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร หัวข้อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน: หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต”
(หมายเหตุ: ปี 2559 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของอาจารย์ป๋วย จึงมีการจัดปาฐกถาป๋วยขึ้นเป็นกรณีพิเศษ)
ครั้งที่ 16 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวข้อ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย”
ครั้งที่ 17 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล หัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย”
ครั้งที่ 18 วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวข้อ “เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน”
(หมายเหตุ: ปาฐกถาครั้งนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมดังเช่นทุกครั้ง แต่เป็นการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางสื่อสารของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19)
ครั้งที่ 19 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 (รายละเอียดประกาศให้ทราบภายหลัง)
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ อ.สฤณี อาชวานันทกุล
ในช่วงต้น กำหนดการจัดงานปาฐกถาป๋วยแต่ละครั้งมีความไม่แน่นอน เนื่องจากให้ปาฐกเป็นผู้กำหนดหัวข้อและวันของการแสดงปาฐกถา แต่ตั้งแต่การแสดงปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 4 เป็นต้นมา ปาฐกถาป๋วยจัดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วยเกือบทุกครั้ง
ปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 7 เป็นปาฐกถาครั้งแรกที่จัดขึ้นหลังจากอาจารย์ป๋วยเสียชีวิต มีผู้เสนอให้จัดงานในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 2 ปี นับจากอาจารย์ป๋วยเสียชีวิต แต่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกในปีนั้นยืนยันให้จัดงานในวันคล้ายวันเกิดดังเดิม โดยให้เหตุผลว่า “อาจารย์ป๋วยยังไม่ตาย”
เปิดแฟ้มหนังสือที่ระลึก
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายผู้เข้าร่วมงานปาฐกถาป๋วยทุกครั้ง เนื้อหาของหนังสือมี 2 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) ประวัติชีวิตและงานของปาฐก ซึ่งเขียนขึ้นโดยกัลยาณมิตรหรือลูกศิษย์ลูกหาผู้ใกล้ชิด และ (2) เนื้อหาของปาฐกถา ซึ่งโดยมากเป็นบทความวิชาการที่ปาฐกเขียนขึ้นเพื่องานนี้เป็นการเฉพาะ บ้างก็เป็นบทปาฐกถา
หนังสือที่ระลึกของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งแรก ซึ่งมี นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นบรรณาธิการ ได้บอกเล่าจุดกำเนิดของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไว้ในคำนำ ดังนี้
“ในปี 2525 อาจารย์กลุ่มหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรที่คณะเศรษฐศาสตร์จะได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ความเห็นดังกล่าวไม่มีการสนองตอบ จนกระทั่งในปี 2528 คณะกรรมการสัมมนาและเผยแพร่ชุดปีการศึกษา 2528-2529 จึงริเริ่มโครงการปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นอย่างจริงจัง ในปี 2529 คณะเศรษฐศาสตร์ได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อคัดเลือกนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นมาเป็นองค์ปาฐก
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คณะกรรมการสัมมนาฯ ไม่อาจจัดการแสดงปาฐกถาขึ้นได้ในปี 2529 เพราะคณบดีในขณะนั้นต้องการให้สถาบันแห่งหนึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งขัดกับมติของกรรมการคัดเลือกองค์ปาฐก แต่หลังจากนายพรายพล คุ้มทรัพย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดี การดำเนินการเพื่อให้มีงานแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะเศรษฐศาสตร์ จึงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น”
หนังสือที่ระลึกงานปาฐกถาป๋วยเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากเป็นการตีพิมพ์เนื้อความปาฐกถาและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ของปาฐก ซึ่งมีคุณภาพสูงแล้ว เนื้อหาในส่วนประวัติชีวิตและผลงานของปาฐกยังเป็นบทบันทึกว่าด้วยชีวิตและงานที่มีความสมบูรณ์ น่าอ่าน และมีเสน่ห์ เนื่องจาก เหล่ากัลยาณมิตรและลูกศิษย์ลูกหาของปาฐกแต่ละท่านต่างลงมือเขียนอย่างตั้งใจจริง ทำการบ้านอย่างหนักในการวิเคราะห์ความคิดและผลงานของปาฐก ทั้งยังสอดแทรกเกร็ดชีวิตและเรื่องเล่าของปาฐกแต่ละท่านอย่างมีลีลา อ่านสนุก บ้างจากประสบการณ์ตรง บ้างจากการสัมภาษณ์คนใกล้ชิด ทำให้เนื้อความหลายตอนเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของปาฐกซึ่งไม่เป็นที่รู้กันทั่วไป
สำหรับรายชื่อผู้เขียนประวัติชีวิตและผลงานของปาฐกแต่ละท่าน มีดังนี้
ครั้งที่ 1 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.นิคม จันทรวิทุร เขียนโดย นิพนธ์ พัวพงศกร
ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ครั้งที่ 2 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.เสน่ห์ จามริก เขียนโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ครั้งที่ 3 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียนโดย ชูศรี มณีพฤกษ์
ครั้งที่ 4 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนโดย อัญชลี สุสายัณห์
ครั้งที่ 5 ประวัติชีวิตและผลงานของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เขียนโดย เสรี พงศ์พิศ
ครั้งที่ 6 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เขียนโดย ชูชัย ศุภวงศ์
ครั้งที่ 7 ประวัติชีวิตและผลงานของ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนโดย สันติสุข โสภณศิริ
ครั้งที่ 8 ประวัติชีวิตและผลงานของ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เขียนโดย ศิริวรรณ เจนการ
ครั้งที่ 9 ประวัติชีวิตและผลงานของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เขียนโดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล
ครั้งที่ 10 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนโดย ชูศรี มณีพฤกษ์
ครั้งที่ 11 ประวัติชีวิตและผลงานของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนโดย กาญจนี ละอองศรี
ครั้งที่ 12 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เขียนโดย สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล
ครั้งที่ 13 ประวัติชีวิตและผลงานของ ดร.อุทัย ดุลยเกษม เขียนโดย อุทัย ดุลยเกษม
ครั้งที่ 14 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล
ครั้งที่ 15 ประวัติชีวิตและผลงานของ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เขียนโดย วิชัย โชควิวัฒน
ครั้งที่ 16 ประวัติชีวิตและผลงานของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
ครั้งที่ 17 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เขียนโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครั้งที่ 18 ประวัติชีวิตและผลงานของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
พลวัตของปาฐกถาป๋วย
ในคำนำของหนังสือที่ระลึกสำหรับปาฐกถาป๋วยครั้งแรกระบุวัตถุประสงค์ของการจัดปาฐกถาป๋วยไว้ส่วนหนึ่งว่า
“… 2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
3. เพื่อสดุดีและประกาศเกียรติภูมินักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่มีผลงานทางวิชาการอันดีเด่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
เห็นได้ว่า เมื่อแรก ปาฐกถาป๋วยมุ่งนำเสนอผลงานและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ แต่ต่อมา “โลก” ของปาฐกถาป๋วยก็มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นจาก “เศรษฐศาสตร์” เป็น “สังคมศาสตร์” ดังเจตนารมณ์ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือที่ระลึกของงานปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า
“… (เพื่อ)เป็นการคัดเลือกนักวิชาการสังคมศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นในการพยายามทำความเข้าใจและแก้ปัญหาสังคมไทยให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์หวังว่าวิธีการดังกล่าวจักเป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจทางสังคมแก่นักวิชาการรุ่นหลังเพื่อให้เจริญรอยตามอาจารย์ป๋วย และพยายามศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย”
และ
“ … คณะเศรษฐศาสตร์หวังว่าในอนาคต การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมของคณะเศรษฐศาสตร์เพียงผู้เดียว แต่ปรารถนาจะให้เป็นกิจกรรมร่วมของนักวิชาการสังคมศาสตร์ทุกสาขา”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำนิยมของหนังสือ “20 ปี ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์” (2550) ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
“อาจารย์ ดร.ป๋วย เป็นครูสอนหนังสือ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นวีรชน เป็นนักพัฒนา เป็นข้าราชการ และที่สำคัญคือเป็นนักมนุษยธรรม ดังนั้น ความสนใจและผลงานของท่านจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่วิชา ‘เศรษฐศาสตร์’ หรือพรมแดนทางภูมิศาสตร์เพียงแค่แผนที่ ‘ประเทศไทย/ขวานทอง’
วิชาการของท่านไม่เพียงขยายครอบคลุม ‘สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์’ แต่ยังก้าวข้ามไปสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก้าวข้ามไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะให้วิชาการสร้าง ‘สันติประชาธรรม’ ขึ้นมาให้จงได้ …
… เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นหัวหอกผลักดัน ‘การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ทุกๆ 2 ปี มาเป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และแม้ว่าในครั้งแรกนั้นจะ ‘เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ’ แต่ผู้รับผิดชอบของคณะก็ตระหนักในเวลาอันรวดเร็วว่านั่น ‘หาใช่อาจารย์ป๋วย’ ไม่ และได้ขยายขอบเขตให้กว้างขวาง ‘เพื่อสดุดีและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการอันดีเด่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม’ ดังจะเห็นได้จาก ‘ปาฐกถาพิเศษ’ ทั้ง 10 ครั้ง (พ.ศ.2530-2550) ที่นำมารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้
อาจารย์ป๋วยเป็นสามัญชนที่ไม่ธรรมดา งานชุด ‘ปาฐกถาพิเศษ’ นี้ก็มิใช่งานวิชาการธรรมดา ซึ่งมีและทำกันอยู่ดาษดื่น การจัดงานครบรอบหรือเฉลิมฉลองที่บ้านเมืองของเราทำกันเกลื่อนกลาดแทบจะทุกปีนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่มีแต่เรื่องราวของการสรรเสริญเยินยอ ใช้จ่ายงบประมาณ(ของชาติและราษฎร)มากมายมหาศาล เมื่อจบไปแล้วก็แทบจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เป็นแก่นเป็นสาร แต่น่าเชื่อว่าผลงานรวมเล่มนี้ จะช่วยให้เห็นความรอบรู้ ความสนใจ และความกว้างขวางทางวิชาการ ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็น ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของอาจารย์ป๋วย …”
หากไล่เรียงรายชื่อปาฐกทั้ง 19 ท่าน ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์อาชีพเพียง 3 ท่านเท่านั้น ได้แก่ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และมีคุณหมอนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขอีกหนึ่งท่านคือ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ส่วนท่านอื่นๆ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่อุทิศตนให้กับการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบ นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักพัฒนา นายแพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการเสริมสร้าง “สุขภาวะ” แก่สังคม นักมานุษยวิทยา ปัญญาชนสยาม จิตแพทย์ กระทั่งเกษตรกร
ที่มาของปาฐก
การคัดเลือกปาฐกสำหรับการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์แต่ละครั้งเป็นไปอย่างจริงจังและมีมาตรฐาน คณะกรรมการคัดเลือกปาฐกประกอบด้วยกรรมการจากภายในและภายนอกคณะ ซึ่งมีที่มาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ โดยมีคณบดีและผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
คณะกรรมการคัดเลือกปาฐกชุดแรก (พ.ศ.2529) ประกอบด้วย คณะกรรมการ 8 ท่าน มีคณบดีเป็นประธาน ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นเลขานุการ กรรมการที่เหลือมาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ทั้งคณะ กรรมการจำนวน 4 ท่าน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ส่วนอีก 2 ท่าน เป็นอาจารย์ของคณะ
คณะกรรมการฯ ชุดแรกได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐก ดังนี้ (1) เป็นนักวิชาการที่มีผลงานทางเศรษฐศาสตร์และสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ความสนใจ และ (2) เป็นผู้มีคุณธรรมและจิตสำนึกในการแก้ปัญหาของสังคมไทย
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ให้คณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย
สำหรับการคัดเลือกปาฐกสำหรับปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 2 ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐก โดยใช้หลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) เป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาชนบท การศึกษา พุทธศาสนา และสาขาส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย (2) มีผลงานโดดเด่น เป็นงานที่พยายามทำความเข้าใจและอธิบายปัญหาสังคมไทย และ (3) ต้องมีเกียรติประวัติอันแสดงถึงคุณธรรมและจิตสำนึกในการแก้ปัญหาสังคมไทย
เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ขยายขอบเขตจาก “นักเศรษฐศาสตร์” เป็น “นักสังคมศาสตร์” จึงได้เพิ่มเติมให้คณะต่างๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อปาฐก นอกเหนือจากคณะเศรษฐศาสตร์ดังชุดแรก รวมทั้งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย
นอกจากนั้น ในส่วนของกรรมการภายนอก ยังได้เลือกสรรอดีตปาฐกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกปาฐกอีกด้วย
คณะผู้จัดงานได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกของปาฐกถาป๋วย ครั้งที่ 2 ด้วยว่า
“ค่าใช้จ่ายในการจัดงานปาฐกถาพิเศษได้มาจากงบพิเศษของคณะเ ศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์จะหลีกเลี่ยงการหาเงินอุดหนุนจากวงการธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเจริญรอยตามการกระทำของอาจารย์ป๋วย สมัยที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมภายในคณะ โดยเฉพาะการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ อาจารย์ป๋วยจะไม่ยอมให้มีการขอเงินอุดหนุนจากบริษัท ห้างร้าน แต่อาจารย์ป๋วยจะเจียดเงินส่วนตัวสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว การใช้จ่ายต่างๆ จึงเป็นไปอย่างประหยัดแต่ได้ผลสมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย”
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐกยังคงยึดถือปฏิบัติกระทั่งปัจจุบัน แต่การเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาต่างๆ และสมาคมต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อปาฐก ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นมา
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกปาฐก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักการใหญ่ยังคงอยู่ นั่นคือ คณะกรรมการฯ มีที่มาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งของคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 2-3 ท่านร่วมเป็นกรรมการพร้อมกับอาจารย์ของคณะ 2-3 ท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกส่วนหนึ่งเป็นอดีตปาฐก บางปีมีตัวแทนสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือก โดยมีคณบดีเป็นประธาน และผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นเลขานุการ
ในปัจจุบัน คณะกรรมการคัดเลือกปาฐก มีองค์ประกอบคือ (1) คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน (2) ปาฐกครั้งหลังสุดเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง (3) กรรมการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3-5 คน โดยการเสนอชื่อ และได้รับการเลือกตั้งจากคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน โดยการเสนอชื่อ และได้รับการเลือกตั้งจากคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และ (5) ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนา หรือผู้แทนเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
นับตั้งแต่ปาฐกถาครั้งที่ 10 คณะเศรษฐศาสตร์จะเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกปาฐกสำหรับปาฐกถาครั้งถัดไปภายหลังจากเสร็จสิ้นปาฐกถาครั้งล่าสุดเสร็จสิ้นลง เพื่อให้ปาฐกได้มีโอกาสเตรียมการในการแสดงปาฐกถาล่วงหน้าเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อให้การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีคุณค่าและมีคุณภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังที่ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวนำการปาฐกถาของท่านว่า
“(การได้รับเลือกเป็นปาฐก) นับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่เหนือกว่าเกียรติยศใดๆ ที่เคยได้รับตลอดช่วงแห่งชีวิต”
บรรณานุกรม
- หนังสือที่ระลึกเนื่องในการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 1-18
- ปกป้อง จันวิทย์ (บรรณาธิการ). 2550. 20 ปี ปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์. กรุงเทพมหานคร: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ openbooks.
………………………………
ภาคผนวก
รายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกปาฐกของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 1-18
(คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนา เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยตำแหน่ง)
ครั้งที่ 1: ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข (ประธาน) อรัญ ธรรมโน บุญมา วงศ์สวรรค์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประเวศ วะสี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ โฆษะ อารียา (กรรมการ) และนิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 2: สุพจน์ จุนอนันตธรรม (ประธาน) นิคม จันทรวิทุร อัมมาร สยามวาลา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อรัญ ธรรมโน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (กรรมการ) นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการและเลขานุการ) และฐานิสร์ จาตุรงคกุล (ผู้ช่วยเลขานุการ)
ครั้งที่ 3: สุพจน์ จุนอนันตธรรม (ประธาน) เสนาะ อูนากูล อัมมาร สยามวาลา ชัยอนันต์ สมุทวณิช รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการ) สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย (กรรมการและเลขานุการ) และสกนธ์ วรัญญูวัฒนา (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
ครั้งที่ 4: วรากรณ์ สามโกเศศ (ประธาน) เสนาะ อูนากูล อัมมาร สยามวาลา สุพจน์ จุนอนันตธรรม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการ) สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย (กรรมการและเลขานุการ) และสกนธ์ วรัญญูวัฒนา (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
ครั้งที่ 5: นริศ ชัยสูตร (ประธาน) ชัยอนันต์ สมุทวณิช นิธิ เอียวศรีวงศ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (กรรมการ) และวันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 6: สิริลักษณา คอมันตร์ (ประธาน) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประยงค์ เนตยารักษ์ ชูศรี มณีพฤกษ์ (กรรมการ) และสมชาย สุขสิริเสรีกุล (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 7: สุกัญญา นิธังกร (ประธาน) ประเวศ วะสี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ประยงค์ เนตยารักษ์ (กรรมการ) และสมบูรณ์ ศิริประชัย (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 8: สุกัญญา นิธังกร (ประธาน) นายอัมมาร สยามวาลา ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ โฆษะ อารียา รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ (กรรมการ) และปราณี ทินกร (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 9: ปราณี ทินกร (ประธาน) ประเวศ วะสี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อัมมาร สยามวาลา ชูศรี มณีพฤกษ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ (กรรมการ) และสมบูรณ์ ศิริประชัย (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 10: นิพนธ์ พัวพงศกร (ประธาน) อัมมาร สยามวาลา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมบูรณ์ ศิริประชัย ชนินทร์ มีโภคี ปัทมาวดี ซูซูกิ (กรรมการ) และอภิชาต สถิตนิรามัย (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 11: นิพนธ์ พัวพงศกร (ประธาน) นริศ ชัยสูตร ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วัชรียา โตสงวน กิริยา กุลกลการ และปกป้อง จันวิทย์ (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 12: ปัทมาวดี ซูซูกิ (ประธาน) ประเวศ วะสี วรากรณ์ สามโกเศศ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ปราณี ทินกร ภาณุพงศ์ นิธิประภา และกิริยา กุลกลการ (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 13: ภาณุพงศ์ นิธิประภา (ประธาน) ยงยุทธ ยุทธวงศ์ วิรไท สันติประภพ พรายพล คุ้มทรัพย์ ปัทมาวดี ซูซูกิ ปกป้อง จันวิทย์ และธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 14: สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (ประธาน) อุทัย ดุลยเกษม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม ปัทมาวดี ซูซูกิ อภิชาต สถิตนิรามัย สิทธิกร นิพภยะ ปกป้อง จันวิทย์ และธร ปีติดล (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 15: สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (ประธาน) อุทัย ดุลยเกษม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม ปัทมาวดี ซูซูกิ อภิชาต สถิตนิรามัย สิทธิกร นิพภยะ ปกป้อง จันวิทย์ และธร ปีติดล (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 16: ชยันต์ ตันติวัสดาการ (ประธาน) วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ปกป้อง จันวิทย์ อารยะ ปรีชาเมตตา อาชนันท์ เกาะไพบูลย์ อภิชาต สถิตนิรามัย ภาวิน ศิริประภานุกูล ธร ปีติดล และจุฑาทิพย์ จงวนิชย์ (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 17: ชยันต์ ตันติวัสดาการ (ประธาน) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ปกป้อง จันวิทย์ อารยะ ปรีชาเมตตา อภิชาต สถิตนิรามัย ธร ปีติดล สิทธิกร นิพภยะ เกรียงไกร เตชกานนท์ และเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 18: ศุภชัย ศรีสุชาติ (ประธาน) ธงชัย วินิจจะกูล ปัทมาวดี โพชนุกูล ปกป้อง จันวิทย์ อาชนันท์ เกาะไพบูลย์ ธร ปีติดล อิสร์กุล อุณหเกตุ และเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (กรรมการและเลขานุการ)
ครั้งที่ 19: ศุภชัย ศรีสุชาติ (ประธาน) ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นิพนธ์ พัวพงศกร ปกป้อง จันวิทย์ ชยันต์ ตันติวัสดาการ อภิชาต สถิตนิรามัย ธร ปีติดล และเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (กรรมการและเลขานุการ)