อยากจะเขียนถึงเสริมมาตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าวร้าย แต่ทำไม่ได้ รู้สึกเสียใจที่สูญเสียเพื่อนรักคนหนึ่งไปก่อนเวลาอันควร แต่ก็ไม่อยากคิดและไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ คงเพราะไม่อยากเศร้ากว่านี้เลยขอหลบตาความจริง
เสริมย้ายจากอัสสัมชัญธนบุรีมาเรียนที่เซนต์คาเบรียลตอนมัธยมปลาย เอาเข้าจริงเราเรียนหนังสือห้องเดียวกันแค่หนึ่งปี เพราะผมชิงด่วนเข้ามหาวิทยาลัยไปก่อน เสริมเป็นคนมีพลัง อารมณ์ดี ครีเอทีฟ เข้ากับคนง่าย ใจกว้าง มีเสน่ห์ยียวนแบบกำลังน่ารัก เก่งในทางของเขา และรักเพื่อน ถึงเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ เพื่อนๆ ก็รักทันที และกลายเป็นหนึ่งในหัวโจกของห้องได้ไม่ยาก
เสริมมีกลุ่มเพื่อนสนิทหลังห้องของเขาอยู่ มีสมาชิกอีก 3-4 คน กับผมก็น่าจะใกล้ชิดถัดออกมาอีกวงหนึ่ง แต่เราก็สนิทและนับถือกันมากในแบบของเรา ได้คุยกันในเรื่องที่ไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อนคนอื่น การบ้านการเมืองบ้าง หนังสือหนังหาน่าอ่านบ้าง เรื่องสื่อบ้าง เพราะตอนเด็กๆ ผมทำรายการทีวีและวิทยุ ส่วนครอบครัวของเสริมก็เป็นเจ้าของรายการทีวี นอกจากนั้น เรายังชอบคุยเรื่องอนาคตของกันและกันบ่อยๆ
ท่ามกลางรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความขี้เล่นในสายตาเพื่อนฝูงทั่วไป เสริมมีความฝันและความมุ่งมั่นจริงจังในเส้นทางชีวิตที่ชัดเจน เรียกว่าเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่เสมอ
เมื่อผมสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก็ลาพักไป AFS เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ฮังการีหนึ่งปี ปีถัดมาเสริมก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่บัญชีจุฬา แล้วก็ลาเรียนไปเบลเยี่ยมในโครงการเดียวกัน ช่วงที่ต่างคนต่างอยู่ต่างประเทศก็ติดต่อเขียนจดหมายหากันเสมอ จนกลับมาเรียนมหาวิทยาลัย ต่างคนต่างทำงาน ต่างเรียนต่อ ต่างมีชีวิตใหม่ของตัวเอง เขาเดินทางสายธุรกิจ ผมมาทำงานสายความรู้ แต่เราก็ยังติดตามข่าวสารระหว่างกันเสมอ นานๆ ทีก็โทรอัพเดทกัน มีจังหวะก็นัดกินข้าวกัน เจอกันตามงานเลี้ยงรุ่นบ้าง
ถึงชีวิตห่างออกไป เจอกันไม่บ่อย แต่ความรู้สึกสนิทสนมไม่ได้ห่างหายไปด้วย เจอกันทีไรก็เปิดอกคุยได้ทุกเรื่องเหมือนสมัยเด็กๆ ช่วงหลัง เสริมมาปรึกษาเรื่องธุรกิจครอบครัวที่ถูกฉ้อฉล เขาหมายมั่นที่จะทวงคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องส่วนใหญ่ในตระกูลให้ได้
แล้ววันดีคืนดี เสริมก็นัดคุยเพื่อปรึกษาว่าจะเข้าไปทำงานการเมืองเต็มตัวดีไหม ในฐานะกัลยาณมิตรก็ได้แต่แสดงความเห็นส่วนตัวคัดค้านอย่างเต็มที่ว่าอย่าเลย เหตุผลหนึ่งก็เพราะคิดว่าคนอย่างเสริมไม่เหมาะจะเป็นนักการเมือง นิสัยพื้นฐานของเขาไม่ใช่นักการเมือง เป็นนักบริหารธุรกิจมากกว่า และสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงวิกฤตเปลี่ยนผ่านที่แบ่งขั้วรุนแรงขนาดนี้น่าจะแผดเผาร้อนแรงเกินไปสำหรับคนแบบเขา อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมไม่เห็นด้วยกับเส้นทางการเมืองที่เขาเลือกเดินเลย แต่การตัดสินใจครั้งสำคัญระดับเปลี่ยนชีวิตเป็นกรรมส่วนตัวของใครของมัน เราทำได้แค่ประเมินสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงอธิบายข้อกังวลและความเสี่ยงทุกเรื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างตรงไปตรงมาให้เพื่อนฟัง แล้วเคารพการตัดสินใจของเขา
“พอเดาได้ว่าป้องคิดยังไง” เสริมบอก “แต่ก็อยากคุยอยู่ดี อยากฟังความเห็นจากคนหลายๆ แบบ และอยากคุยกับคนที่พูดกับเราตรงๆ” เสริมเป็นคนที่ไม่เคยกลัวกับการถกเถียงและความเห็นต่าง เราน่าจะคุยกันเรื่องนี้อีกครั้งสองครั้ง สุดท้ายเสริมก็แจ้งข่าวว่า ตัดสินใจเดินหน้าลุย
เมื่อเพื่อนเลือกเดินทางนี้ เราก็ได้แต่ตบบ่าและยิ้มให้ แม้เดินไปข้างๆ ไม่ได้แต่ก็พร้อมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้งเมื่อเพื่อนไถ่ถาม
“อีกหน่อยอย่าด่าแรงมากนะ” เสริมแซวกลับขำๆ หัวเราะกันแล้ว เราก็กินข้าวกันต่อ
หลังลงสนามเลือกตั้งและเข้าไปมีบทบาทในทางบริหารในเวลาต่อมา ผมรู้สึกว่ามีอยู่สองเรื่องที่เสริมอินเป็นพิเศษและชวนคุยอยู่บ่อยๆ เรื่องหนึ่งคือการลงพื้นที่หาเสียง เขาชอบเล่าให้ฟังเสมอว่าการลงสนามเลือกตั้งมันเปิดโลกมาก ทำให้เขารู้จักกรุงเทพฯ ในแบบที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และอยากมีส่วนทำให้พื้นที่ฝั่งธนบ้านของเขาดีขึ้น โดยเฉพาะชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ อีกเรื่องหนึ่งคือการทำงานด้านนโยบายการศึกษา ในฐานะแฟมิลี่แมน-พ่อของลูก 4 คน คนโตอายุ 13 ปี คนเล็กอายุ 7 ปี เขามีความสุข ความมุ่งมั่น และความคับข้องใจในการทำงานเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษามาก
เสริมคงเสียใจที่มีเวลาทำงานที่เขาตั้งใจไม่นาน
หลังเสริมจากพวกเราไปเกือบหนึ่งเดือน วันดีคืนดี แอร์-ภรรยาของเสริมก็ติดต่อมาทางเฟซบุ๊ก ผมกับแอร์ไม่เคยเจอตัวจริงและพูดคุยกันมาก่อน แอร์บอกว่าเจอข้อเขียนที่เสริมเขียนทิ้งไว้ในโทรศัพท์มือถือ เล่าเรื่องการแต่งกลอนอวยพรวันเกิดให้ภรรยาสุดที่รัก และนิสัยชอบแต่งกลอนของเขา
“สไตล์แต่งกลอนของผม มักจะเรียบง่าย สื่อสารด้วยคำสบายๆ ผมจะคิดโครงคร่าวๆ ว่า เราอยากจะสื่ออะไร อย่างที่แต่งไปให้วันเกิดแอร์ เราอยากชื่นชมเค้า แทนคำขอบคุณเค้าที่อยู่กับเรามา เราอยากแสดงความหวังดี อวยพรเนื่องในวันเกิด เราอยากบอกความในใจแทนสามีทั่วโลกว่าเนื้อแท้ของการอยู่ด้วยกัน คือการไม่สนเปลือก เช่นร่างกายย่อมเสื่อมโทรมไปตามกาล เมื่อเราไม่แคร์มัน เราก็จะมีความสุขกับเนื้อใน ให้ความสำคัญกับความจริงใจ
“แต่คุณภรรยาครับ ได้ยิน ก็ไม่ใช่ทิ้งตัวเลยนะครับ ผู้หญิงต้องไม่หยุดสวย อันนี้ผมยังคงเห็นด้วย แต่สวยในวัยตัวเองเป็นดีครับ”
เสริมเล่าสไตล์การแต่งกลอนของเขา แถมหยอกแอร์ ผู้หญิงที่เขารักที่สุดไว้แบบนั้น ในข้อเขียนชิ้นนั้น เสริมยังเขียนถึงผมด้วยว่า สมัยอยู่ชั้น ม.4 เคยคิดจะทำหนังสือทำมือร่วมกัน แต่ผมดันเอนท์ติดไปเสียก่อน โปรเจกต์เลยแท้งไป (เรื่องนี้ผมลืมไปเสียสนิทแล้ว) นอกจากนั้น เสริมยังเล่าด้วยว่า “มีนามปากกากันด้วยนะ ของปกป้องน่าจะ ‘ทิวอโศก’ ของผม (เสริม) ถ้าจำไม่ผิดคือ ‘เซียวฮือยิ้ม’ (ปลายิ้มตัวน้อย = ปุ้มปุ้ยน้อย นั่นเอง)”
ผมเล่าความทรงจำให้แอร์ฟังต่อว่า กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เสริมกับผมชอบเล่นกันตอนเด็กๆ (สมัย ม.4 ช่วงปี 2536-2537) คือแต่งกลอนโต้กันแบบสนุกๆ บางทีก็กลับไปคิดเขียนที่บ้าน แล้วรุ่งขึ้นก็เอามาส่งให้สลับกันแต่งล้อกัน บางทีก็เล่นในห้องเรียน คนหนึ่งเขียนแล้วส่งกระดาษให้อีกคนเขียนตอบต่อท้ายทันที แต่เสริมน่าจะจำนามปากกาของผมไม่ถูก ไม่ใช่ ‘ทิวอโศก’ แต่เป็น ‘ดอกอโศก’ (โรงเรียนเซนต์ฯ มีฉายาหนึ่งว่า ‘แดนอโศก’ แต่ผมก็นึกไม่ออกแล้วว่าทำไมถึงตั้งนามปากกาแรกในชีวิตของตัวเองไว้แบบนั้น) ส่วนนามปากกาของเสริม จริงๆ แล้วคือ ‘สีตัง’ (นึกถึงโตทับเที่ยงก็ต้องนึกถึงเมืองตรัง) ชิ้นแรกๆ เสริมจะใช้ ‘เพื่อนอโศก’ ล้อ ‘ดอกอโศก’ ของผม ส่วน ‘เซียวฮือยิ้ม’ นี่ ผมจำไม่ได้แล้วว่าใช้ในโอกาสไหนบ้าง
ด้วยความเป็นคนชอบเก็บของ ผมมั่นใจว่าตัวเองเก็บบทกลอนสมัยเด็กๆ ที่เสริมกับผมเคยแต่งเล่นกันไว้ เลยบอกแอร์ว่าจะขอไปลองขุดค้นคลังสมบัติเสียหน่อย หาอยู่ครึ่งวัน ผมก็ค้นพบขุมทรัพย์ความทรงจำหลายชิ้น ดังที่ขออนุญาตแนบมาบันทึกความทรงจำระหว่างเราไว้ ณ ที่นี้ บอกตรงๆ ว่าวันนี้รู้สึกดีใจมากที่วันนั้นตัดสินใจเก็บเศษกระดาษเหล่านี้ไว้
เมื่ออ่านกลอนในวัยเด็กดูก็พบว่าเนื้อความส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมิตรภาพ ความฝัน และเส้นทางอนาคต อะไรเทือกนั้น บางชิ้นผมยังจำบรรยากาศรอบๆ กระดาษแผ่นนั้นในโมเมนต์นั้นได้ด้วย
นอกจากเรื่องแต่งกลอน ผมยังเล่าให้แอร์ฟังด้วยว่า งานเขียนชิ้นแรกในชีวิตของผมที่ได้ลงหนังสือพิมพ์ คือบทความเรื่อง “มาช่วยกันเถอะครับ” เขียนส่งไปที่กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจเมื่อตอน ม.4 เหมือนกัน ทีมงานใจดีเอาไปลงพิมพ์ในคอลัมน์จดหมายจากผู้อ่านในเซ็คชั่นจุดประกาย ชิ้นนั้นเขียนขึ้นในวาระ 20 ปี 14 ตุลาฯ 2516 ชวนคนให้มาร่วมสร้างประชาธิปไตยกัน เจอปัญหาก็อย่าเดินหนีคิดว่าไม่ใช่เรื่อง ผมขอให้เสริมช่วยส่งแฟกซ์ถึงกองบรรณาธิการให้หน่อย ก็สมัยก่อนบ้านคนธรรมดาไม่มีแฟกซ์นี่ครับ เลยต้องขออาศัยเพื่อนเศรษฐีช่วยส่งให้ 🙂
อีกชิ้นหนึ่งที่ขอให้เสริมช่วยส่งแฟกซ์ให้เป็นบทความเสียดสีวิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีศึกษาฯ ในสมัยนั้น นั่นคือ คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร ที่เคยได้ฉายาว่า ‘หมอผี’ บทความชื่อ ‘หนึ่งปีท่านรัฐมนตรีสัมพันธ์’ ชิ้นนั้นส่งไปที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน แต่สุดท้ายไม่ได้ลงตีพิมพ์
เรียกว่าเสริมมีบทบาทเคียงข้างชีวิตขีดๆ เขียนๆ ของผมมาตั้งแต่เริ่มนับศูนย์
หลังจากได้รำลึกอดีตจากข้อเขียนที่เสริมทิ้งไว้ให้อ่านต่างหน้าแล้ว ก็เลยหยุดคิดถึงเสริมไม่ได้มาตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา จนบอกกับตัวเองว่าคราวนี้ต้องทำให้ได้ – ต้องเขียนบันทึกความทรงจำชั่วขณะนี้ไว้ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่นึกเสียใจในวันหน้าที่ไม่ได้ทำ
เสริมไม่ต้องอ่านข้อเขียนชิ้นนี้ก็ได้ แต่เศษกระดาษเปื้อนกลอนพวกนั้นอยากให้อ่านว่ะ อยากยื่นให้ดูต่อหน้า แล้วฉีกกระดาษแผ่นใหม่ มาเล่นกันเดี๋ยวนั้น ตรงนั้น
ดูซิว่า 28 ปีผ่านไป ฝีมือกลอนมึงไปถึงไหนแล้ว … ไอ้เกร๋อม