จากความเข้าใจที่ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ต้องเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน ทว่ายังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่คิดอย่างนั้น แม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างยึดถือแนวคิด “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” (Neo-classical Economics) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่หลายคน ที่ยังคงแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ เป็น “เศรษฐศาสตร์ทางเลือก” เพื่ออธิบายบางปรากฏการณ์ที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถอธิบายได้ แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเท่าไรนัก
อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่อธิบายเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อธิบายถึงเหตุผลที่หันมาสนใจเศรษฐศาสตร์ทางเลือกว่า เริ่มต้นจากที่ตนได้อ่านหนังสือของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เรื่อง ‘อนิจลักษณะของการเมืองไทย’ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ทำให้ได้มองเห็นถึงความสามารถของเศรษฐศาสตร์ ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ
“อาจารย์รังสรรค์ นำเครื่องมือเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก รวมทั้งพวกสำนัก Public Choice และเศรษฐศาสตร์สถาบัน มาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกทึ่งมาก เพราะเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีความเป็น positivism พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง ว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น” อ.ปกป้อง กล่าวพร้อมกับเล่าต่อว่า ตนได้รับการปลูกฝังเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เข้มแข็ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาภายหลังเมื่อมีโอกาสศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้พบมุมมองใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
อ.ปกป้อง อธิบายว่า เศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น การอธิบายพฤติกรรมผู้ผลิต ผู้บริโภค ขณะที่เศรษฐศาสตร์ทางเลือก อย่างเศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซ์ (Marxian Economics) ก็สามารถอธิบายเศรษฐศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถอธิบายได้ เช่น วิวัฒนาการของระบบทุนนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับชนชั้นแรงงาน เป็นต้น
“เราไม่สามารถบอกได้ว่าทฤษฎีไหนดีกว่าทฤษฎีไหน เศรษฐศาสตร์กระแสหลักดีหรือไม่ดีกว่าเศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซ์ยังไง เพราะว่าทั้งสองอย่างมีจุดตั้งต้นทางทฤษฎีที่ต่างกัน สนใจตอบคำถามที่ต่างกัน และก็เสนอเรื่องเล่าในการพยายามอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่างกัน” อ.ปกป้องกล่าว
หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะไม่สนใจเหมือนเดิมได้ เพราะขณะนี้ทุกคนคงตระหนักแล้วว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่กระทบความกินดีอยู่ดีของคน และเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราในหลายแง่มุม โดยเฉพาะสังคมไทยยังมีปัญหาขาดความรู้ที่เรียกว่าการอ่านออกเขียนได้ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหากปล่อยให้ผู้กำหนดนโยบายหรือนักเทคนิคดำเนินนโยบายอะไรก็ได้ตามใจก็จะเกิดปัญหาเหมือนเช่นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การรับข้อมูลจากนักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่สังคมต้องสามารถตรวจสอบนักเทคนิคเหล่านั้นได้บ้างในระดับหนึ่ง
“ในระดับสังคมวงกว้าง ระดับชาวบ้าน เราต้องเพิ่มความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ให้เขาเข้มแข็ง และมีทุนที่จะทำความเข้าใจต่อไปได้ อย่างน้อยอ่านกรุงเทพธุรกิจรู้เรื่อง เปิดมารู้ว่าจีดีพีคืออะไร เงินเฟ้อคืออะไร กระทบกับคนเดินถนนอย่างไร ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอย่างไร เป็นขั้นต้นที่ต้องทราบ และผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายเรื่องพวกนี้ได้ตรง” อ.ปกป้องให้ความเห็น
สำหรับวงการศึกษาและวงการวิชาการในประเทศไทย อ.ปกป้องบอกว่า อยากเรียกร้องไปอีกระดับหนึ่ง เพราะวงวิชาการไทยถูกครอบครองโดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ โดยในอนาคตตนอยากเห็น หรือหวังว่าจะมีนักเศรษฐศาสตร์แปลกๆ สำนักต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อความหลากหลาย เรารู้ว่าสังคมต้องมีความหลากหลาย ซึ่งสังคมเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน ถ้าหยุดนิ่งมีความคิดแบบเดียว สังคมนั้นก็ไร้ชีวิตชีวาและตายไปในที่สุด
“ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าที่จะสนับสนุนนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกเหล่านี้ ให้มีโอกาสได้ไปเรียนได้ไปศึกษาเพื่อมาเพิ่มสีสัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสีสันอย่างเดียวแต่เพิ่มชีวิตให้กับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ในบ้านเรา ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งสำคัญ” อ.ปกป้อง กล่าวพร้อมกับแนะนำว่า การจะศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่ต่างสำนักออกไป อันดับแรกก่อนต้องเข้าใจถึงเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเสียก่อน เพราะพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ยังคงมีความสำคัญในการทำความเข้าใจ และมีรากฐานที่มีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ดีทีเดียว และมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันมาก
อ.ปกป้อง กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนปฏิเสธเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพียงแต่ว่าทฤษฎีทุกทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกระแสรอง ต่างถูกสร้างขึ้นโดยข้อสมมติบางอย่าง ที่เป็นกรอบในการพยายามอธิบายความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องบางเรื่องเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็ไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้ต้องใช้เครื่องมือจากต่างสำนักมาช่วยเติมการอธิบายในมิติทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการเมืองเกี่ยวกับสถาบันให้ดีมากขึ้น
หากในอนาคตวงการเศรษฐศาสตร์ของไทย มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดหลากหลายมากขึ้น เชื่อแน่ว่าวงการด้านเศรษฐศาสตร์บ้านเราจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นอย่างแน่นอน
ตีพิมพ์: คอลัมน์ Young Generation หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2545