One man, One vote ของคณะกรรมการร่าง รธน. 60

เพิ่งเห็นว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 รวมตัวกันเปิดเพจในเฟซบุ๊กด้วย เริ่มต้นปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้มีคนตามอยู่ประมาณ 400 คน

เข้าไปไล่อ่านดู เจอทีเด็ดหลายเรื่อง เช่น เหตุผลว่าทำไมไม่ใช้เบอร์เดียวกันเลือกตั้งทั่วประเทศ (เขียนโดย ประพันธ์ นัยโกวิท) หรือเหตุผลว่าทำไมออกแบบระบบเลือกตั้งให้คนกาได้ใบเดียว (เขียนโดย อุดม รัฐอมฤต)

ทำให้เราเห็นว่า ตอนเขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กัน คนยกร่างเขาคิดอะไรอยู่ ช่วยไขปริศนาว่าทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 ถึงออกมาหน้าตาขนาดนี้ได้

ลองตัดตอนบางส่วนมาให้อ่านกัน

……….

เหตุผลที่ไม่ให้แต่ละพรรคใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศนั้น คุณประพันธ์ ท่านว่า

“การใช้เบอร์ส.ส.เขตเป็นเบอร์เดียวกับเบอร์พรรคทั่วประเทศ ก็มีผู้เห็นว่าอาจทำให้เกิดการซื้อเสียงในวงกว้างได้ง่ายทั่วประเทศ และอาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งได้ง่ายกว่าบัตรเลือกตั้งที่ได้เบอร์แตกต่างกันไปตามเขต”

……….

ส่วนระบบบัตรใบเดียวนั้น อาจารย์อุดมท่านอรรถาธิบายข้อดีไว้ว่า

“เราคงได้ยินคนพูดว่าคุ้นเคยกับระบบกาบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ประสบการณ์ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าคนและพรรคที่รักที่ชอบหน้าตาออกมาอย่างไร ระบบนายทุนพรรคเขาคุมได้หมด อาจไม่ได้ทั้งคนที่รักและพรรคที่ชอบก็ปิ๋ว เพราะระบบ ๒ บัตรที่เคยใช้มาทำให้เกิดความไม่เสมอภาคของเสียง

เพราะทำให้เสียงของคนที่เลือกทั้งคนและพรรคที่ไปด้วยกัน กลายเป็นมีเสียง ๒ เสียงหนักแน่นมากกว่าพวกเลือกคนในเขตพรรคหนึ่ง และไปเลือกบัญชีรายชื่ออีกพรรคหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อคะแนนเสียงของแต่ละคนที่ไปเลือกตั้งมีน้ำหนักเท่ากัน ตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one vote) และเมื่อรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง คือผู้สมัครทุกคนต้องสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง เสียงของคนทั้งประเทศที่เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งจึงควรมีความหมายว่าต้องการให้คะแนนกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในเขตนั้นไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศด้วย ซึ่งก็คือต้องเพิ่มคะแนนให้ภาพรวมของพรรคในผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปด้วย ส่วนผลที่ออกมา พรรคการเมืองใดจะได้ สส.รวมทั้งหมดจำนวนมากน้อยอย่างไรก็ควรอยู่ที่สัดส่วนของคะแนนเสียงทั้งประเทศ ไม่แยกเป็นภาคส่วนใด

ใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างไรก็จะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

การเลือกในระบบบัตรใบเดียวจึงเป็นวิธีการตรงที่สุดที่จะทำให้พวกเราเป็นผู้เลือกรัฐบาลอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญจึงยืนยันหลักการให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคนและพรรค การเมืองที่ยอมรับได้ไปด้วยกัน คนที่รักจึงต้องไปกันได้กับพรรคที่ชอบ เป็นหนึ่งเดียวเพื่อบ้านเมือง และหากคนที่รักไปอยู่กับพรรคที่ไม่ชอบ ก็น่าจะคิดได้ว่าบุคคลคนนั้นไม่น่ารักไม่น่าเลือกอีกต่อไปแล้ว เราก็ควรจะพิจารณาผู้สมัครคนอื่นพรรคอื่น หรือถ้าไม่มีคนน่ารักพรรคน่าเลือกเลย ก็มีทางเลือกสุดท้ายคือกาช่องไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย”

……….

อ่านแล้ว ใครอยากเข้าไปอ่านหรือถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เชิญได้ตามลิงก์นี้ครับ แค่ได้อ่านการตีความหลัก one man, one vote ในมุมใหม่ก็คุ้มแล้ว

 

Print Friendly