เขียน: 6 เมษายน 2548
ไม่อยากเชื่อว่าเขียน blog มาได้เกือบเดือนแล้ว
ที่จริง ทีแรกกะจะเขียนเล่นๆ สนุกๆ เล่าเรื่องใกล้ตัวสั้นๆ สบายๆ ประมาณไดอารี่ แต่เขียนไปเขียนมา หลังๆ เนื้อหาชักจะเข้าใกล้บทความ(ขนาดยาว)เข้าไปทุกทีแล้ว
เขียนไปเขียนมา ก็อดที่จะเขียนตามสันดานตัวเองไม่ได้
ตามสันดาน ผมเป็นพวกช่างคิดช่างวิจารณ์สิ่งรอบตัว เนื้อหาหน้าตา blog เลยออกมาประหลาดกว่าชาวบ้านอย่างที่เห็น
และสันดานอีกอย่าง … เขียนสั้นๆ ไม่เป็นครับ
ชอบทรมานคนอ่าน
สมัยเริ่มเขียนบทความลงกรุงเทพธุรกิจ ลำบากมากครับ เพราะเขาให้พื้นที่นิดเดียวด้านล่างสุดของหน้าสอง ถ้าจะให้เหมาะก็ต้องเขียนประมาณ 2 หน้า A4 อย่างมากก็ 2 หน้าครึ่ง แล้วจะไปเขียนอะไรได้เนื้อได้หนังละครับ
แรกๆ ผมเขียนบทความหนึ่งประมาณ 4-5 หน้าประจำ เลยมักต้องแบ่งลงเป็นสองตอน หรือไม่ก็ไปต่อหน้าข่าว ซึ่งจัดหน้าแล้วไม่สวย เขียน 9 หน้าก็เคยมาแล้ว ต้องลงสามตอน ตอนเขียนที่นั่นเลยมีเหตุให้ต้องกระทบกระทั่งกับคนคุมหน้าเป็นประจำ เพราะท่านชอบมาตัดบทความผมโดยไม่บอกไม่กล่าว บางทีตัดแล้วทำให้เนื้อความผิดไปเลยก็มี แถมบางครั้งหวังดีเปลี่ยนชื่อให้อีก
จนย้ายมา ‘มองซ้ายมองขวา’ ในประชาชาติธุรกิจ การทำงานที่นี่ดีมากครับ เพราะคนทำงานมืออาชีพ ให้เกียรติคนเขียน และยังให้พื้นที่มาก เกือบ 2/3 ของหน้า 2 ปกติก็ควรเขียนประมาณ 4 หน้า A4 แต่ผมเป็นพวกได้คืบจะเอาศอกน่ะครับ เลยมักล่อไป 6-7 หน้า (ไม่ได้ตั้งใจนะครับ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา) บ่อยครั้งที่ส่งต้นฉบับไปแล้ว ต้องโดนโทรมาบอกให้ช่วยตัดเนื้อหาให้หน่อย บางทีตัดกันสดๆ ว่ากันเป็นประโยคต่อประโยคเลย แต่ช่วงหลัง ก็เริ่มดีขึ้นนะครับ เริ่มหา ‘จุดลงตัว’ ได้
การทำหนังสือพิมพ์นี่ พื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากครับ หน้ากระดาษมีค่าดั่งทองคำ
ตอนเริ่มเขียนลง OPEN ก็เช่นเดียวกัน แรกๆ ก็เขียนยาวครับ แต่พี่โญโยกไปเป็น cover story ก็เลยไม่เป็นไร มาเริ่มคอลัมน์ ‘กลับหลังหัน’ เนื้อที่เป็นหน้าคู่ ผมก็มักจะเขียน 3 หน้าประจำ แต่คอลัมนิสต์ OPEN ชอบเขียนยาวเกินกำหนดกันเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว บรรณาธิการไม่ได้คุมอะไรจริงจัง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคุมยาก ต่างเป็นเสรีชนหรือเป็นศิลปินกันสูง
พี่โญมักขู่เสมอว่า ต่อไปคอลัมนิสต์คนไหนเขียนยาว จะไม่ให้ค่าต้นฉบับ แถมจะเก็บเงินเพิ่มอีก โทษฐานทำให้เปลืองกระดาษ
พูดถึงเรื่องการเขียนงานให้ลงตัวพอดีพื้นที่ ต้องยกให้พี่โญครับ รายนี้สั่งท่านได้ หน้ากระดาษเหลือกี่หน้า ปิดได้พอดีหมด ลองดูคำนำสำนักพิมพ์ที่พี่โญเขียนตาม pocketbook หลายเล่มของ openbooks ได้ครับ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เขียนหลังสุดก่อนส่งโรงพิมพ์ พี่โญก็เขียนตามพื้นที่กระดาษที่เหลืออยู่ให้พอดียก แถมยังเขียนได้ดีเสียด้วย
‘จุดลงตัว’ ในงานเขียน ต้องอาศัยทั้งฝีมือและประสบการณ์ ซึ่งมือสมัครเล่นอย่างผม ยังไม่เชี่ยวเอาเลย
เช่นเดียวกับ การหา ‘จุดลงตัว’ ในชีวิต
เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่า ชีวิตเข้าสู่จุดลงตัวแล้ว เพราะมันดำเนินไปตามเส้นทางที่ตนเองวาดฝันไว้ตั้งแต่ยังเด็กทีละขั้นๆ แต่ไม่นานก็มาเข้าใจสัจธรรมว่า ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างนั้นหรอกไอ้น้อง พอมันลงตัวก็มีเหตุให้มีปัจจัยทั้งภายนอกภายในเตะมันออกจากดุลยภาพเรื่อยไป ตอนนี้ยังหาทางกลับไม่เจอเลย
อนิจจังครับอนิจจัง
ว่าไป ชีวิตคนเราก็ขึ้นอยู่กับสายลมแห่ง ‘ชะตากรรม’ ไม่น้อยนะครับ
แน่นอนว่า เรากำหนดชีวิตได้ด้วยตัวเอง แต่นั่นก็เพียงระดับหนึ่ง บ่อยครั้ง สายลมแห่งชะตากรรมก็พัดพาเราไปยังโลกที่เราไม่เคยพานพบ จนเราเองเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเสียใหม่ภายหลัง
แม้เป็นเรือใหญ่ที่เข้มแข็ง ก็ใช่ว่าจะไปถึงฝั่งที่เคยตั้งใจไว้ได้ ออกทะเลแล้ว ไม่รู้จะเจอคลื่นลมรุนแรงขนาดไหน ต้องเจอปัญหาระหว่างทางใดบ้าง เพียงแต่เรือที่เข้มแข็งกว่า อุปกรณ์เดินเรือดีกว่า และมีแผนที่เป้าหมายชัดเจนกว่า ก็คงมีศักยภาพที่จะฝ่าสายลมแห่งชะตากรรมให้ถึงจุดหมายปลายทางของตนมากกว่า
เราทำได้ก็แต่เตรียมพร้อมสร้างเรือของเราให้เข้มแข็ง ด้วยวัสดุคุณภาพ แต่จะไปบังคับคาดการณ์ทิศทางลมภายนอก เห็นทีจะไม่ได้
บางครั้ง สายลมแห่งชะตากรรมอาจพัดพาให้เรืออับปาง แต่อีกหลายครั้ง สายลมอาจพัดพาเราไปสู่โลกใหม่ ที่งดงามกว่าเดิมก็เป็นได้
คิดๆไป ชีวิตของคนก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของสังคม ที่ผมเขียนไว้เมื่อตอนก่อนหรอกครับ
บางครั้งเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิต ที่เราเผชิญ อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงตัวตน เปลี่ยนความคิด กระทั่งเปลี่ยนโลกภายในของเราได้
เส้นทางที่เราเลือกเดินอยู่ในปัจจุบัน ก็มักได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ส่วนตัว ความประทับใจส่วนตัว ความสะเทือนใจส่วนตัว ที่เคยพบเจอในอดีต เมื่อเกิดเหตุหนึ่ง ก็นำเราไปสู่ผลหนึ่ง อันเป็นเหตุใหม่นำเราไปสู่ผลใหม่เรื่อยไปไม่รู้จบ
ผมเชื่อว่า ทุกคนต้องเคยเผชิญเหตุการณ์ที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ในชีวิต ซึ่งทำให้ตัวตนหรือวิธีคิดของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ หรือเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวให้เราอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เป็นแรงขับเคลื่อนผลักดันอยู่เบื้องหลังการกระทำของเรา กระทั่ง มีอิทธิพลต่อนิสัยใจคอ บุคลิก มาตรฐานจริยธรรม แม้แต่รสนิยมส่วนตัว
สนุกดีนะครับ เวลาคุยกับใครๆ ว่า ‘จุดเปลี่ยน’ ในชีวิตของแต่ละคนคืออะไร ประสบการณ์ใดที่ทำให้เราเป็นเราอยู่ทุกวันนี้ ทำให้เราเดินบนเส้นทางที่เราเดินอยู่ทุกวันนี้
การถอดรากย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของตัวตนและวิธีคิดของแต่ละคนเป็นเรื่องสนุก เพราะช่วยให้เราได้ทบทวนและอยู่กับตัวเองในอีกอารมณ์ความคิดหนึ่ง จนเผลอๆ จะสนิทกับตัวเองมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องดี
ถอดรากแล้ว ชีวิตท่านมีเงาร่างของใครทาบทับอยู่บ้างครับ?