เรื่องของนายหมาก

เขียน: 13 พฤษภาคม 2548

 

เมื่อวานผมเขียน blog เล่าเรื่อง John Roemer แล้วมีหลายส่วนพาดพิงไปถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ และรูปแบบของระบบเศรษฐกิจในอุดมคติของ Roemer

ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ผมได้รับคำถามที่น่าสนใจว่า อะไรคือคำตอบสุดท้ายของเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ในปัจจุบัน?”และ ฉันทามติของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ใด?”

ไม่รู้เหมือนกันครับ

อยากรู้เหมือนเจ้าของคำถามเช่นกัน แต่คิดไปคิดมา ก็สรุปเอาเองว่าคงไม่มีใครตอบได้ หรือถ้ามีคนเกิดคิดว่าตัวเองตอบได้ขึ้นมาจริงๆนี่ ผมคงลังเลว่าจะเชื่อผู้กล้าคนนั้นดีหรือเปล่า

คำถามแบบนี้ ถามง่าย แต่ตอบยากเหลือเกิน

และคำถามยากๆ ทั้งหลายในโลกนี้ มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปหรอกครับ

เวลาเราพูดถึง Marxist ต้องเข้าใจว่ามีทั้งพวกที่เป็นนักวิชาการ นั่งศึกษาทฤษฎี Marxism แล้วพยายามตอบคำถามว่า What is? What was? และ/หรือ What will be? พวกหนึ่ง เวลาผมพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ ผมหมายถึงงานศึกษาของคนกลุ่มนี้

และมีทั้งพวกนักปฏิบัติการทางการเมือง ที่นำทฤษฎีบางส่วนไปปรับใช้ในโลกแห่งความจริง หรือผู้ที่ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากตัวทฤษฎี แล้วคิดเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบวิธีการต่างๆ และมีภาพฝันแตกต่างกัน อีกพวกหนึ่ง กลุ่มหลังนี้พยายามตอบคำถามว่า What should be?

ตัว Karl Marx เอง ก็มีบทบาทเป็นทั้งนักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางการเมือง สำหรับผม บทบาทที่โดดเด่นของ Marx คือบทบาทความเป็นนักวิชาการ ที่พยายามสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองขึ้นมาเพื่ออธิบาย ‘โลก’ งานศึกษาความคิดของ Marx ส่วนใหญ่ศึกษาจากงานวิชาการที่ Marx เขียนเป็นหลัก และ Marx เองก็ไม่ได้มีบทบาทในฐานะนักปฏิวัติ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วนำระบบเศรษฐกิจการเมืองในฝันในสมองของตนมาปรับใช้ในโลกแห่งความจริงแต่อย่างใด

Marx เป็นนักวิชาการนะครับ และพยายามเสนอทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานแบบประสบการณ์นิยม (Empiricism) เพื่อสร้างความ ‘เข้าใจ’ ปรากฏการณ์ในโลกแห่งความจริง และ ‘ทำนาย’ อนาคต จากระเบียบวิธีศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ของตน กระนั้น ความเป็นวิทยาศาสตร์ในงานศึกษาของ Marx ไม่ได้ใช้เครื่องมือคณิตศาสตร์เข้มข้น หรือโมเดลที่เป็นนามธรรม อย่างนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักยุคหลัง

หนังสือที่ใช้เป็นตำราตั้งต้นในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์ (Marxian Economics) คือ Capital ทั้งสามเล่ม ซึ่งเป็นตำราวิชาการ ไม่ใช่คู่มือปฏิบัติการทางการเมืองในการล้มล้างทุนนิยมและคู่มือเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยมแต่อย่างใด (แต่ถ้าใครจะได้รับอิทธิพล หรือได้แรงบันดาลใจ จนคิดแบบนั้น ก็เป็นอีกเรื่องของคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประเด็นของเราตอนนี้)

เอาเข้าจริง Marx ก็ไม่ได้เสนอรูปแบบหรือขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม เพียงแต่เขาทำนายด้วยทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์ของเขาว่า ระบบทุนนิยมก็จะเกิดความขัดแย้งภายในตัวระบบจนล่มสลาย เหมือนดังชะตากรรมของระบบเศรษฐกิจอื่นก่อนหน้า และจะค่อยๆเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ‘อีกแบบ’ ที่เรียกว่าระบบสังคมนิยม ซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแตกต่างไปจากระบบทุนนิยม

จุดเด่นของงานวิชาการของ Marx คือการอธิบาย ‘กลไก’ ของพัฒนาการของระบบทุนนิยม ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงจุดสุดท้าย กระทั่งสังเคราะห์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่ Marx ทำนาย ทั้งนี้ทั้งนั้น คำอธิบายว่าด้วยเส้นทางของประวัติศาสตร์การพัฒนา(หรือเดินหน้า)ของระบบเศรษฐกิจหรือสังคมต่างๆ จากอดีตถึงอนาคต Marx อธิบายด้วย ‘มุมมองต่อโลก’ หรือ ‘กรอบความคิด’ หรือ ‘แว่นตา’ แบบหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า ระเบียบวิธีแบบมาร์กซ์ (Marxian methodology) ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์ และคงเส้นคงวาระดับหนึ่ง

ทีนี้ Marx เชื่อว่า การปะทะกันระหว่าง ‘พลังเก่า’ กับ ‘พลังใหม่’ จะสังเคราะห์ไปสู่ผลลัพธ์ที่ก้าวหน้าขึ้นเสมอ นั่นคือ ความขัดแย้งภายในตัวระบบเองเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความก้าวหน้า

หากดูจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ Marx เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจากระบบหนึ่งสู่ระบบหนึ่ง (จากระบบดั้งเดิม สู่ระบบทาส สู่ระบบฟิวดัล จนถึงระบบทุนนิยม) สะท้อนการพัฒนาพลังการผลิต (เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทุนมนุษย์ที่สูงขึ้น) และยกระดับความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้สูงขึ้น เช่นนี้แล้ว ระบบเศรษฐกิจที่ตามหลังมา ซึ่ง Marx เรียกว่า ‘สังคมนิยม’ ย่อมมี ‘เนื้อใน’ ที่สูงกว่าทุนนิยม นั่นคือ เป็นสังคมที่มีพลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต (ซึ่งเป็นฐานในการกำหนด Superstructure ของสังคม อย่าง ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง norm ของสังคม ฯลฯ อีกทีหนึ่ง) ที่ ‘สูง’หรือ ‘เหนือ’ กว่าทุนนิยม

ซึ่งมันจะข้ามพ้นทุนนิยมไปถึงสังคมนิยมได้ คนในสังคมก็ต้องยกระดับตัวเองตามขึ้นมาด้วย ดังเช่นคนในระบบทุนนิยม มีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพข้ามเวลาตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีลักษณะแตกต่างจากคนในระดับฟิวดัล หากใช้ศัพท์ตามทฤษฎีแถบสีที่อาจารย์สุวินัยชอบใช้ ก็ต้องบอกว่า คนเฉลี่ยๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อยู่ใน ‘มีม’ ที่สูงกว่าคนเฉลี่ยๆในระบบฟิวดัล

คือความคิดและลักษณะของคนแต่ละยุค มันเป็นผลพวงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้เขาเป็นเขาคิด (ซึ่งการที่เขาเป็นเขาคิดแบบนี้ ก็ส่งผลย้อนกลับไปกำหนดตัวระบบเศรษฐกิจอีกทีหนึ่ง) ความคิดและลักษณะของคนที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการเรื่อยไป ไม่หยุดยั้ง ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะของระดับการพัฒนา

ดังนั้น ที่คนมักวิจารณ์ว่า ระบบสังคมนิยมเป็นไปไม่ได้ นั่นก็เพราะผู้วิจารณ์ติดกับกรอบของความคิดและลักษณะของคนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในแบบระบบทุนนิยม เหมือนที่คนในสมัยยุคกลางของยุโรปก็คิดไม่ได้จินตนาการไม่ออกหรอกว่า คนในศตวรรษที่ 20 จะมีเป้าหมายในชีวิต มีพฤติกรรมเช่นนี้ และ norm ของสังคม จะเปลี่ยนแปลงมาถึงเพียงนี้

ยุคกลางของยุโรปภายใต้ระบบฟิวดัลนี่ กินเวลายาวนานประมาณหนึ่งพันปีนะครับ ขณะที่ระบบทุนนิยมเรา ยังกินเวลาไม่กี่ร้อยปี ถ้านับตั้งแต่ช่วงที่พวก serf เริ่มผละออกจากระบบฟิวดัลเข้าสู่เมือง, ระบบ money rent เข้าแทนที่การเกณฑ์แรงงานและส่งส่วยที่เป็นของ, และรัฐชาติเริ่มกลับมาเข้มแข็ง ก็ช่วงคริสตศตวรรษที่ 14-16 หรือถ้านับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 18

ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้ว ระบบทุนนิยมแบบที่เขาเข้าใจกันในปัจจุบัน เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้นนะครับ ประวัติศาสตร์อาจจะยังเดินทางมาไม่ถึงจุดสิ้นสุด เหมือนดังที่ Francis Fuguyama ว่าไว้

ทีนี้ เมื่อ Marx มีจุดตั้งต้นในการศึกษาสังคม โดยมี ‘ชนชั้น’ เป็นแกนกลาง และเห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า (มีการสู้กันระหว่างพลังเก่าและใหม่จนสังเคราะห์ไปสู่สิ่งใหม่ และเกิดความขัดแย้งใหม่จนเกิดการสังเคราะห์ต่อไปไม่สิ้นสุด) ก็ไม่แปลกใจว่า ระบบเศรษฐกิจที่ Marx คิดว่าเป็นจุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์คือระบบที่มันไม่มีชนชั้นอีกต่อไป คิดในแง่นี้ มันก็เป็นจุดปลายของตรรกะของเขา

โลกที่ไร้ชนชั้น และมีลักษณะรูปแบบดังอุดมการณ์ ‘สังคมนิยม’ ซึ่งมีสมาชิกของสังคมเชื่อมั่นอุดมการณ์ ‘สังคมนิยม’ ก็เป็นภาพฝันในอุดมคติของเขา แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปถึงได้ยังไง จะเปลี่ยนผ่านยังไง ว่าไปแล้ว ทฤษฎีของ Marx เข้มแข็งในการอธิบายสภาพและพัฒนาการของระบบทุนนิยม แต่สำหรับการทำนายอนาคตอันไกลแล้ว ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม

แล้วพวกระบบเศรษฐกิจที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นระบบสังคมนิยม ซึ่งเคยเกิดขึ้นในโลกล่ะ จะมองมันอย่างไรดี?

ก็เป็นระบบเศรษฐกิจใน ‘จินตนาการ’ ของเหล่านักปฏิวัติทั้งหลาย ไม่ใช่ของ Marx

ระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต ก็เป็น ‘จินตนาการ’ ของแกนนำพรรคบอลเชวิกในเบื้องต้น แล้วก็พัฒนาต่อมาตามตัวผู้นำในแต่ละยุคสมัยเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับ การปฏิวัติสังคมนิยมของจีน แน่นอนว่า จินตนาการของนักปฏิบัติการทางการเมืองเหล่านั้นไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความคิดแบบ Marx จะได้รับอิทธิพลมาบ้าง ส่วนไหน และนำมาปรับเปลี่ยน ตีความ เมื่อเผชิญกับ ‘โลก’ภายในของตัวเอง และสภาพความจริงและปัญหาของ ‘โลก’ภายนอกที่ตนเผชิญอย่างไร นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญกว่าการสรุปเอาดื้อๆ ว่า สังคมนิยมแบบที่ประเทศต่างๆอ้างว่าเป็น = ระบบเศรษฐกิจแบบ Marx

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิวัติที่เผชิญสภาพสังคมเศรษฐกิจดั้งเดิม ที่ต่างจากกรอบวิเคราะห์ของ Marx (ที่สร้างทฤษฎีจาก ‘โลก’ หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก) จินตนาการที่ใช้ก็ยิ่งมากไปด้วย จนพัฒนารูปแบบห่างไกลจากทฤษฎีของตัว Marx เอง อย่างประเทศรัสเซียตอนปฏิวัติ ระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมก็แค่หางอึ่ง อย่างประเทศจีนนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เป็นประเทศเกษตรกรรม

ยิ่งถ้า Marx ไปอยู่ในรัสเซีย ยุค Stalin คงร้องไห้ส่ายหัว หรือไปเห็นจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรมคงงงว่า มันจะนำไปสู่สังคมนิยมได้อย่างไร

Marx เป็นนักวิชาการนะครับ แต่เป็นนักวิชาการที่มีภาพนักปฏิวัติในสายตาคนทั่วไป

ใช่แล้ว, ที่ Marx มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในบางช่วงของชีวิต แต่ไม่ได้มีอิทธิพลในการปฏิวัติสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แบบนักปฏิวัติทั้งหลาย ที่สร้างภาพ Marx ให้เป็นอีกแบบหนึ่ง

การเป็นคนหลายมิติของ Marx ทำให้อำนาจในการตีความงานของ Marx หลากหลาย ยิ่งงาน Marx ในช่วงหนุ่มและแก่ก็ต่างกัน และ Marx เป็นทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักปฏิบัติการทางการเมือง เราจะมองเขาส่วนไหน ในเมื่องานเขียนแต่ละชิ้น มี ‘ที่ทาง’ และ ‘สถานะ’ และถูกสร้างขึ้นภายใต้ ‘ขนบ’ และ ‘บริบท’ ที่ต่างกัน

ผมก็ไม่ปฏิเสธว่า มีคนหลายคนในโลกได้แรงบันดาลใจจากการศึกษา Marx จนอยากเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น (ไม่ว่าระบบ ทุนนิยม/อำนาจนิยม/ระบบกษัตริย์/อภิสิทธิ์นิยม) ซึ่งก็สมาทานกับพลังของการเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆกัน (วิจารณ์/ปฏิรูป/ปฎิวัติ/ลุกฮือล้มล้าง)

หลายคนเข้าใจว่า คำตอบของเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์สมัยก่อน คือการโค่นล้มระบบทุนนิยม และสถาปนาระบบใหม่ ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นคำตอบของใคร ก็คงมี Marxist หลายคนคิดเช่นนั้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างนั้นจากปัจจัยใด แต่ไม่แปลกใจแม้แต่น้อยว่าจะมีคนคิดอย่างนั้น กระนั้น Marxist จำนวนมากก็ไม่ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายแบบนั้น หรือถึงมี ก็คงต้องคุยเรื่อง ‘วิธีการ’ ซึ่งไม่ใช่ ‘วิชาการ’ กันยาว

ส่วนที่หลายคนมักกล่าวว่า ประวัติศาสตร์โลกได้พิสูจน์แล้วว่าระบบที่สร้างตามรากฐานของ Marx ล้มเหลว อันนี้ ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะครับ เพราะเหมือนกับว่า โลกเรายังไม่เคยอยู่ในระบบสังคมนิยมในฝันแบบ Marx นักคิดสังคมนิยมจำนวนมากผลิตงานวิชาการเพื่ออธิบายว่า ระบบเศรษฐกิจที่คนมักเข้าใจว่าเป็นสังคมนิยม แท้ที่จริง ไม่เข้าเกณฑ์ของความเป็นสังคมนิยม บางคนถึงขั้นเรียกระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียตว่าเป็นทุนนิยมโดยรัฐด้วยซ้ำไป

เท่าที่ผมได้สัมผัสกับนักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่คิดว่า ระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต จีน หรือยุโรปตะวันออก สร้างขึ้นตามรากฐานของทฤษฎี Marx คือ Marx ไม่เคยเสนอสูตรสำเร็จของ ระบบเศรษฐกิจสำเร็จรูปแบบ Marx เลยนะครับว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตีความกันไปทั้งนั้น

เราเรียกว่า เป็นระบบเศรษฐกิจแบบโซเวียต แบบจีน แบบยุโรปตะวันออก (ซึ่งจะให้ถูก ต้องแยกตามรายประเทศ เพราะมีทั้งกลุ่มที่เดินตามทางโซเวียต และกลุ่มสายยูโกสลาเวีย) น่าจะถูกกว่า แล้ววิเคราะห์คุณลักษณะของแต่ละระบบไป เพราะระบบเศรษฐกิจแบบ (so-called)สังคมนิยมก็มิได้เป็นหนึ่งเดียว แต่หลากหลายทีเดียว

นักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ก็ยังศึกษาประเด็นระบบเศรษฐกิจเปรียบเทียบว่ามีบทเรียนอะไรในอดีต จะผสมผสานจุดแข็งจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจในฝัน(ของแต่ละคน)อย่างไร รวมทั้งศึกษาพัฒนาการของมัน โดยเฉพาะหลังจากยุคสงครามเย็นตายสนิทในปี 1991 และเมื่อเผชิญกับพายุนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

หลายคนก็วิเคราะห์พัฒนาการของระบบทุนนิยม ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่เราเผชิญ ซึ่งยุค Marx คงจินตนาการไม่ถึง เช่น การเคลื่อนย้ายทุนเสรี การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ภาพของระบบทุนนิยมชัดเจนและสอดคล้องกับโลกความจริงมากขึ้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า Marx เสนอ General Theory ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ของคนแต่ละกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อมันเป็นงานวิชาการ มันก็มีระเบียบวิธีศึกษาของมัน ซึ่งเราสามารถใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์อื่นๆ ได้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเชิงโครงสร้างเท่านั้น

ปัจจุบันก็มี Marxist จำนวนหนึ่ง วิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เพศสภาพ ธุรกิจฟุตบอล ระบบการเงินโลก ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยใช้ระเบียบวิธีศึกษาแบบ Marx เป็นเครื่องมือ เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก เป็นเครื่องมือ

ทฤษฎี Marx มีสามแกนใหญ่ๆ คือ Labour theory of value, Crisis theory และ Historical materialism ขณะนี้ พวก Marxist จำนวนหนึ่ง ก็ศึกษาต่อยอดทฤษฎีเหล่านี้ต่อไป ตามความสนใจของตน และนำกรอบความคิดเหล่านี้ อธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

บางคนก็สนใจ Dependency theory ซึ่ง Marx ก็แตะไว้บ้าง พัฒนาต่อยอดกันไป จนมีหนังสือที่เป็นหลักไมล์ใหม่ นั่นคือ Empire ของ Hardt และ Negri แม้อ่านไปอ่านมา จะแทบไม่เหลือคราบ Marx ก็ตาม

บางคนก็สนใจส่วนทฤษฎีว่าด้วยเงิน บทบาทของกลุ่มนายทุนผู้ให้กู้ ที่ Marx เขียนไว้ใน Capital เล่มสาม ก็ศึกษาต่อยอดไป

หลากหลายครับ เพราะมิติของ Marxian Economics กว้างขวางกว่าที่หลายคนเข้าใจมาก

สำนัก Marxism นี่ ไม่ได้มีสำนักที่ผูกขาดความคิดอยู่หนึ่งเดียวนะครับ แต่แยกย่อย สนใจ แตกเป็นหลายสำนัก หลากหลายทีเดียว

ที่น่าคิดก็คือ วงวิชาการไทยไม่ค่อยศึกษา Marxian Economics ในฐานะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์

หน้าตาของ Marx ในสังคมไทย จึงเป็นไปในทางนักปฏิบัติการทางการเมืองมากกว่านักวิชาการ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี บอกได้แต่ว่า ความเข้าใจต่อทฤษฎี Marx ของเราในสังคมไทย ขาดหายไปมากมายหลายมิติ

ผมก็ไม่รู้ว่า ในมหาวิทยาลัยไทย เขาสอน Marxian Economics กันอย่างไร เพราะไม่เคยเรียน Marxism ในมหาวิทยาลัยไทยจริงๆ เพิ่งมาเรียนที่สำนักหลังเขา แต่จากที่มีโอกาสได้สนทนาธรรมกับฝ่ายซ้ายไทยหรือ Marxist ไทยจำนวนหนึ่ง ก็พบว่า ความเข้าใจของผม(ที่ถูกฝึกมาจากสำนักหลังเขา)กับเขาต่างกันพอสมควร ไม่ได้ว่าฝ่ายไหนถูกผิดนะครับ แค่ว่าไม่เหมือนกัน

อ้อ แล้วผมไม่ใช่ Marxist นะครับ แม้จะใช้ ‘แว่นตา’ แบบ Marx ในการอธิบายปรากฏการณ์บางอย่าง และมองโลกบางมุมอยู่เนืองๆ (ใน blog นี้ก็ด้วยเช่นกัน) แต่ก็เหมือนกับที่ผมใช้ ‘แว่นตา’ แบบนีโอคลาสสิกอธิบายบางเรื่อง มันแล้วแต่เรื่องน่ะครับ เพราะไม่มีทฤษฎีไหนสมบูรณ์แบบที่อธิบายได้ทุกเรื่องในโลก

ผมเป็นพวกรู้งูๆปลาๆ เที่ยวชมสำนักโน้นสำนักนี้ไปเรื่อย แต่ไม่ลึกซึ้งอะไรสักสำนัก

สุดท้าย ต่อคำถามที่ว่า ฉันทามติของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์ก(โดยส่วนใหญ่) ในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ใด?

เช่นกันครับ ตอบไม่ได้เพราะมันไม่มีฉันทามติ แล้วแต่คุณเป็นคนแบบไหน ถ้าเป็นนักวิชาการ ก็ยังแล้วแต่ว่า คุณสนใจทฤษฎีส่วนไหนของ Marxian Economics ถ้าเป็นนักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยิ่งฝันไปถ้าจะหาฉันทามติสำเร็จรูปร่วมกันได้

แต่ถ้าบังคับให้ตอบแบบเล่นคำ ฉันทามติ ที่ Marxist ทุกคนในยามนี้น่าจะเห็นพ้องต้องกัน น่าจะเป็น ….

Another world is possible.

หรือถ้าจะเพิ่มความเป็น subjective เข้าไปหน่อย ก็คงเปลี่ยนเป็น A better world is possible.

แต่ How? นี่ ชาติหนึ่งคงเถียงกันไม่จบ

ไม่มีหรอกครับ ฉันทมติอะไรนั่น

 

Print Friendly