“ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีพลัง และตอบคำถามทางการเมืองได้ดี”
อาจารย์นักเศรษฐศาสตร์เลือดใหม่วัย 27 ปี ที่มีสไตล์การสอนฉีกแนวไปจากการบรรยายแบบทั่วไป อดีตนักเรียนทุนฟุลไบรท์ ที่ไปคว้าปริญญาโทที่ University of Massachusetts (Umass) แห่ง Amherst ซึ่งเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้าย หนึ่งในไม่กี่แห่งของอเมริกา เป็นแหล่งรวมพวกมาร์กซิสต์ โพสต์เคนเซียน และกลุ่มเศรษฐศาสตร์พัฒนา มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในยุค 1970 และในฐานะคอลัมนิสต์นิตยสาร OPEN, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และกรุงเทพธุรกิจ การเป็นผู้เขียนหนังสือ “คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ” และบทสัมภาษณ์ในเล่ม “Toxinomics พิษทักษิณ” ของเขา มีทีท่า “รู้ทันทักษิณ” อยู่เอาการ
“ปกป้อง จันวิทย์” ย้อนความหลังถึงสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเช่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ที่บ้านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และได้คุยกับคุณพ่อบนรถตอนไปโรงเรียนตอนเช้า
“คุณพ่อเปิดฟังรายการข่าว ก็ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ เราก็พัฒนามาจนเป็นตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องของประสบการณ์ การเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ ผ่านสื่อ และการทำงานตั้งแต่วัยเด็กที่ฝึกให้เรามีวินัย รู้จักแบ่งเวลา ทำอย่างไรให้เรียนไม่ตก ทำรายการทีวีก็ทำตอนหลังเลิกเรียน แต่ไม่เคยการบ้านไม่เสร็จ มันฝึกให้เรารู้จักรับผิดชอบ”
การทำรายการทีวีที่ว่า ก็คือรายการ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” ของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่เขาเป็นผู้ดำเนินรายการอยู่นานถึง 5 ปี ตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ชั้น ป. 6 จนถึงชั้นม. 4 ก่อนที่จะได้ทุนเอเอฟเอสจากธนาคารกรุงเทพ ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Leowey Klara High School ประเทศฮังการี นาน 1 ปี แล้วกลับมาเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาเอนท์ติดไว้แล้วก่อนนั้น
เหตุผลที่เขาสมัครเข้าโครงการเอเอฟเอส ก็มาจากแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเมือง
“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมก็อยากเป็นนักการเมือง วันหนึ่งมีการถ่ายทอดงานของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งวันรุ่งขึ้นจะเป็นเดดไลน์การสมัครเอเอฟเอส ผมก็ดูนายกฯ ชวนตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยมีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ข้างๆ ซึ่งสามารถแปลคำตอบจากไทยเป็นอังกฤษ แปลคำถามจากอังกฤษเป็นไทย ได้ทันทีและสละสลวยด้วย เลยคิดว่าถ้าจะเป็นนักการเมืองต้องเป็นแบบนี้ ต้องเก่งภาษาอังกฤษ”
ปีนั้นเอเอฟเอสส่งนักเรียนไปไทยไปฮังการีเป็นครั้งแรก เป็นของใหม่ทั้งคนให้ทุนและคนที่จะไป ปกป้องเล่าอย่างติดตลกว่า
“ตอนไปดูผล ยังไม่รู้เลยว่าฮังการีอยู่ในยุโรปด้วย กลับบ้านมาดูแผนที่ ไปสถานทูตเอารูปมาดู ต่อมา เอเอฟเอสก็ส่งเทปมาให้ เป็นเทป Teach Yourself Hungarian … (หัวเราะ)”
เขาเกือบจะตัดสินใจกลับลำ โชคดีได้แรงหนุนจากอาจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ ที่โน้มน้าวครอบครัวเขาจนได้ในที่สุด
เศรษฐศาสตร์ คือสิ่งที่โยงเขาไปหาอาจารย์วรากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเด็กผู้ดำเนินรายการจิ๋วแจ๋วให้สัมภาษณ์สื่อว่าอยากเรียนด้านนี้ อาจารย์ถึงกับส่งหนังสือพร้อมจดหมายลงนามด้วยตัวเอง ไปถึงเขาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
“อาจารย์บอกว่า ดีใจมากที่มีเด็กมุ่งมั่นอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ขนาดนี้ ก็เขียนมาคุย เล่าให้ฟังเรื่องเศรษฐศาสตร์ ให้เบอร์ที่บ้าน และบอกให้ผมไปคุยด้วยที่คณะ เราก็เริ่มติดต่อกันมาตั้งแต่ผมอยู่ ม.4 ติดต่อกันเรื่อยมา ผมนับถืออาจารย์เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่สนิท”
แรงบันดาลใจในอีกด้านหนึ่งของเขามาจากคอลัมนิสต์คนหนึ่ง
“ผมโตมากับมติชน อ่านมาตั้งแต่ประถม พอขึ้นมัธยมผมเป็นแฟนผู้จัดการ ได้เริ่มรู้จักอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จากผู้จัดการรายวัน พอรวมเล่มในชื่อ อนิจลักษณะการเมืองไทย ผมก็ซื้อมาอ่านอีก ได้เห็นชุดความคิด ทำให้เห็นว่าเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีพลัง อาจารย์รังสรรค์ใช้เศรษฐศาสตร์อธิบายการเมือง ถือได้ว่าการเมืองเชื่อมต่อให้ผมไปถึงโลกของเศรษฐศาสตร์ ของเศรษฐกิจ”
หลังจับโจทย์ของอาจารย์รังสรรค์ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้ปกป้องตัดสินใจเข้าสู่โลกวิชาการ
“อาชีพนักวิชาการ คือการพยายามทำความเข้าใจสังคม ตั้งคำถามว่าทำไมสังคมถึงเป็นแบบนั้น ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ เป็นการมองโลกแบบที่มันเป็น พยายามทำความเข้าใจ อธิบายกลไกของมัน เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง แต่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์ที่มีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เป็นพลวัตตลอดเวลา มีปัจจัยกำหนดอื่นๆ มากมาย ได้อย่างน่าสนใจ มันเป็นเฟรมเวิร์กอีกแบบ ทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปเลย มันปิ๊งน่ะ”
ขณะที่ความหลงใหลทางวิชาการเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความอยากเป็นนักการเมืองเพราะคิดว่าทำประโยชน์ให้สังคมได้ ก็น้อยลงเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด
แต่ปกป้องยืนยันเสียงแข็งว่า เขายังไม่ปล่อยวาง
“ผมเป็นคนมีแพสชั่นสูง ถึงทุกวันนี้ระดับความอยากให้สังคมดีขึ้น ไม่เคยลดลง และการทำความเข้าใจกลไกที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เพื่อยอมรับมัน แต่เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน สำหรับผม หน้าที่ของนักวิชาการไม่ใช่แค่อธิบายสังคม เข้าใจมันแล้วจบ แต่ต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม บทบาทของนักวิชาการไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้าง แล้วคอยผลิตคำอธิบาย แต่มันต้องมีระดับของความเป็นนักปฏิวัติซ่อนอยู่ด้วย เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมทำได้หลายวิธี”
สิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของเขาคือ การทำให้สังคมสามารถอ่านออกเขียนได้ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Literacy) เพื่อตรวจสอบการทำงานของนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจากนักวิชาการ แบงก์ชาติ หรือเป็นใครก็ตาม ไม่ให้สังคม “เชื่อ” ง่ายเกินไป
บทบาทของนักวิชาการอย่างเขา จึงพยายามกระตุ้นจิตสำนึกของสังคม และวิจารณ์ความไม่ชอบมาพากล ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย เสนอทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เช่น กรณีหวยหงส์ ที่เขาบอกว่า
“เมื่อระบบการเมืองมันชำรุด ระบบวิชาการมันชำรุด เราจะเห็นว่า นักวิชาการก็ต้องมาข้องแวะกับประเด็นทางสังคมมากขึ้น แทนที่จะหมกมุ่นกับการผลิตองค์ความรู้ เช่น พวกผมต้องเสียเวลาเป็นเดือนในการรบกับรัฐบาลเรื่องหวยหงส์ ทั้งที่มันเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องปาหี่หลอกเด็ก”
ทุกวันนี้ ปกป้องจึงยังคงเล่นการเมืองภายใต้เงื่อนไขความเป็นนักวิชาการ และเป็นอาจารย์ที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เพื่อขยายวงความรู้ทันนโยบายเศรษฐกิจไปสู่สังคมต่อไป
ตีพิมพ์: นิตยสาร Positioning ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2547