สนทนาปัญหาบ้านเมือง กับ ‘ศุ บุญเลี้ยง’

สัมภาษณ์: ปกป้อง จันวิทย์

 

ในยุคที่โรคเบื่อการเมืองระบาดกำลังระบาดทั่วทั้งสังคม โดยมีนักการเมือง ทหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ (แปลว่ายังมีอีก) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ

open online ชักชวน ศุ บุญเลี้ยง คนดนตรี และนักเขียน ผู้มากด้วยจินตนาการสร้างสรรค์ มานั่งจิบกาแฟยามบ่าย ถกปัญหาบ้านเมือง ในฐานะประชาชนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง

ฟังเหล่าชนชั้นนำทางการเมืองพูดกันมามากแล้ว มาย้อนฟังความคิดทางการเมืองแบบกำลังดีของศิลปินคนหนึ่งดูบ้าง เผื่อจะช่วยคลายโรคเบื่อการเมืองกันไปได้บ้าง แม้จะไม่มีทางหายขาดก็ตาม

……………………………

ถือว่าตัวเองเป็นคอการเมืองไหม

ก็คิดว่าสนใจขนาดนี้กำลังดี เหมือนกับเวลามีคนถามว่าเรากินเผ็ดหรือเปล่า เราก็คิดว่ากินพอดี แต่พอคนอื่นมากินก็อาจจะบอกว่ามันเผ็ดนี่หว่า ถ้าเราถามตัวเองว่าสนใจการเมืองขนาดไหน เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สนใจการเมืองในระดับที่คิดว่าพอดี แต่ถ้ามองจากมุมของคนที่สนใจน้อยกว่าเรา เขาก็ว่าเราสนใจมาก หรือถ้าคนที่สนใจมากกว่าเรา เขาก็หาว่าเราสนใจน้อย เราก็เลยไม่รู้ แต่เราก็คิดว่าสนใจประมาณนี้ ดีแล้ว ก็ติดตามข่าวสารมาก แต่ไม่ตามตัวละคร ตามแต่ความคิดหลักๆหรือความเคลื่อนไหวหลักๆ

ติดตามข่าวสารและความคิดทางการเมือง แล้วเอาสภาพการเมืองมาเป็นอารมณ์ขนาดไหน ยินดียินร้ายหรือวางเฉย

ก็เหมือนดูละครเลย บทจะเซ็ง ก็เซ็งไปด้วย บทจะฮึกเหิมก็ฮึกเหิม โดยพื้นฐาน เรามีอารมณ์ร่วมกับสังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้สึกมากอยู่แล้ว แต่นี่มันก็อีก..ก็มากในระดับหนึ่งถ้ามากกว่านี้ก็ไม่ดีนะ เราเชื่อว่าการเมืองส่งผลกระทบกับทุกอย่างของเรา

แม้แต่ว่าเราจะสนใจเรื่องเพลงมากก็ตาม แต่ว่าเพลงเราจะได้เปิด-ไม่ได้เปิด ก็อยู่ที่การเมือง เช่นว่าวิทยุคลื่นนี้ไม่เปิดเพลงเรา ไม่ได้แปลว่าดีเจไม่ได้ชอบนะ แต่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ได้สัมปทานมาจากกองทัพ แล้วกองทัพก็มีระบบการจัดการกับคลื่นวิทยุ โทรศัพท์ ด้วยการให้สัมปทาน คนที่จ่ายค่าสัมปทานก็จ่ายเยอะ เลยต้องหาวิธีเอาเงินคืน ก็ต้องผลักดันศิลปินในเครือ โฆษณาในเครือ คอนเสิร์ตในเครือ มันก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้เพลงของเรา เราก็เห็นว่าระบบมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเพลงของเรากับผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เกี่ยวไหม เรารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเกี่ยว

การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของสภา ของรัฐบาล แต่กระทบวิถีชีวิตของผู้คนในมิติต่างๆ

อย่างแน่นอน ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่บังเอิญเราคิดว่าเรารู้ เราเชื่อมโยงมันได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้สึกวิตกกังวลหรือชื่นชมไปกับทุกๆสถานการณ์

แล้วเคยแต่งเพลงหรือร้องเพลงที่โดนแบนไหม

ถ้าโดนแบนจากสถานการณ์ทางการเมือง ไม่เคย แต่ถ้าโดนแบนจากสังคม เคย เช่น บางทีเราแต่งเพลงเพื่อเด็ก ถ้าอยากให้เด็กรักความสะอาด คนอื่นเขาก็จะแต่งว่า “มาล้างมือล้างหน้าแปรงฟัน” แต่เราจะบอกว่า “เราจะเก็บขี้ไคลเอาไว้ทำไมปั้นวัวปั้นควายเหรอ เราจะเก็บขี้ตาเอาไว้ ทำไมมันเหม็นจะตาย” สมมติอย่างนี้ แค่นี้ก็โดนแบนแล้วนะในสังคมไทย สังคมไทยรับไม่ได้ เพลงรักความสะอาดมามี “ขี้” อะไรเยอะแยะ อย่างนี้ก็ถือว่าโดนแบนจากกรอบความคิดของสังคม

การเมืองเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย การปิดกั้นไม่ใช่แค่โดยผู้มีอำนาจ แต่มีกระแสหลักของสังคมคอยกำกับว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

ใช่ๆ ให้เราทำอะไรกับเด็ก ไม่ให้เราทำอะไรกับเด็ก ให้เราทำอะไรกับหนัง กับเพลง แล้วไม่ให้เราทำอะไร กับใคร

เพลงของ ‘เฉลียง’ มักจะสื่อให้เรามองเห็นความงามในสิ่งต่างๆ ทั้งที่งามและที่ไม่งาม หากหันมามองการเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มองเห็นความงามอะไรในการเมืองไทยบ้างไหม

อย่างน้อยเราก็เห็นว่าคนที่มีอำนาจ มีความฉลาด มีทรัพย์สิน ก็ไม่สามารถจะดำรงอำนาจนั้นอยู่ได้ เมื่อทำตัวไม่เข้าตากรรมการ เพราะกรรมการของการเมืองจริงๆ ก็คือประชาชน มันตอบโจทย์ได้ว่าคุณไม่สามารถยืนอยู่บนฐานของความไม่ไว้วางใจของประชาชนได้ แม้ว่ากฎหมายจะช่วย แต่ว่าทนอยู่ไม่ได้หรอก เดินไปกินก๋วยเตี๋ยวแล้วถูกแม่ค้าด่าเนี่ย ต่อให้เสียงในสภายกมือรับหมด ก็ไปไม่รอดนะ ลูกไปเรียนหนังสือไม่สนุก เมียไปเล่นไพ่ก็ไม่สนุก นี่คือความงามของพลังประชาชน หรือว่าคดีของสุภิญญา (กลางณรงค์) เราก็เห็นว่าเป็นความงาม เขาถูกฟ้องแต่เขาก็ไม่เห็นต้องแพ้ หรือถ้าเขาแพ้ก็เห็นให้งามได้ มันมีคนช่วย มีองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รู้จักกับใครเป็นการส่วนตัวมาช่วยเหลือ ทำไมคนอีกประเทศต้องมาช่วยคนที่ถูกรังแกในอีกประเทศหนึ่ง ไม่ได้เป็นญาติอะไรกัน มันยังพอมีความงามมีความหวัง

แม้แต่การเป็นรัฐบาลปฏิวัติก็ไม่ใช่ว่าสั่งอะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าพลเอกสนธิ (บุณยรัตกลิน) จะสั่งอะไรก็ได้ ก็ยังถูกตำหนิ ถูกติติง ถูกหนังสือพิมพ์ด่าอบรมสั่งสอนได้ มันไม่ใช่เผด็จการในยุคมืดที่สื่อมวลชนโดนระเบิดอะไรแบบนี้ เผด็จการก็กลัวอำนาจบางอย่างเหมือนกัน มันยังพอมีพื้นที่ให้ส่งเสียง

แต่สุดท้ายคุณทักษิณก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะประชาชน แต่เพราะการรัฐประหาร

อันนี้เราไม่อยากเห็นไง เพราะเราคิดว่าแม่ค้ากระเพาะปลาไล่ทักษิณได้ รอไปอีกนิดเดียว จะหลุดจากขั้วอยู่แล้ว จะร่วงอยู่แล้ว เหมือนนักมวยโดนเตะเจาะยาง เจาะๆอยู่นั่น แต่ถึงพี่เลี้ยงไม่โยนผ้าก็จริง แต่ก็จะโยนอยู่แล้ว กลายเป็นว่ามีนักเลงมาไล่เสียก่อน

พอได้ยินข่าวการรัฐประหารรู้สึกอย่างไร

เซ็ง!.. เซ็ง!. เซ็ง!

รออีกหน่อย มันถึงวันนั้นแล้วนะ การเมืองเกือบจะก้าวกระโดดแล้ว

ทำไมเราควรเซ็งกับการรัฐประหาร

เพราะว่าไม่มีกติกา ใครมีอาวุธก็ชนะ ไม่ได้สิ เหมือนอยู่ในห้องแล้วกำลัง เถียงกัน ดันมีคนตัวโตมาตบ แล้วบอกว่า “มึงหยุดเลย ตัวเล็กกว่า ถ้างั้น มึงมาต่อยกับพ่อกูไหมล่ะ” หรือเถียงกันว่าโยนก้อนหินตกลงมาจากหลังคาสองก้อน ความสูงเท่ากัน น้ำหนักไม่เท่ากัน จะตกลงมาถึงพื้นพร้อมกันหรือเปล่า ก็มาทดลองกัน อันนี้กลับเอาก้อนหินมาเขวี้ยงหัว มันคนละเรื่อง

แต่ทำไมคนไทยหลายคนกลับดีใจ โล่งดี ให้ดอกไม้

เราถูกสอนมาไงว่าคนไทยนี้รักสงบ เป็นคนไทยต้องรักกัน สังคมจะสงบถ้าเราไม่ทะเลาะกัน ไม่แบ่งฝ่าย อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คนเราต้องขัดแย้ง ต้องเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องหนึ่ง ความไม่สามัคคีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนชอบเอามาโยงมั่วไปหมด

ความขัดแย้งไม่ได้นำมาซึ่งการวิวาทนะ ไม่ได้แปลว่าที่ไหนมีความขัดแย้ง ที่นั่นต้องมีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ใช่ว่าพี่น้องไม่ทะเลาะกันแล้ว จะเห็นต่างกันไม่ได้ หรือพี่น้องไม่ทะเลาะกันแล้วพรรคการเมืองก็ต้องไม่ทะเลาะกัน พรรคการเมืองมันต้องทะเลาะกันสิ เพราะมันคิดไม่ตรงกัน เราจะได้รู้ว่าใครคิดอย่างไร

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย

เป็นธรรมชาติของโลกเลย อสุจิยังต้องแย่งกันเลย โลกเรามีตั้งหลายศาสนา โรงเรียนก็มีตั้งหลายแบบ แล้ววันหนึ่งคุณมาบอกว่าให้ทุกคนคิดเหมือนกัน เป็นคนไทยต้องรักกัน อย่าเถียงกัน.. บ้า! คุณจะกินกาแฟร้อน กินกาแฟเย็น ใส่นม ใส่ครีม ทุกอย่างมันเป็นความแตกต่าง เราต้องมาจัดระบบเพื่อดำรงอยู่ในความแตกต่าง ไม่ใช่ว่าเอาให้มันจบง่ายๆ อย่างการเมือง ถ้าจบด้วยการปฏิวัติ มันไม่จบ เพราะว่าถ้าคุณมีอาวุธแล้วคุณชนะ คนมีอาวุธมากกว่าก็ชนะ ถ้าคุณชนะด้วยกำลังคน กำลังม็อบ คนที่เกณฑ์ม็อบมากกว่าก็ต้องชนะ ความเข้าใจผิดของสังคมก็คือ ไม่รู้จักความขัดแย้ง หรือความแตกต่าง แล้วก็ไม่รู้จักรอ จะให้ลูกเป็นดอกเตอร์ในสองสัปดาห์ เป็นไปไม่ได้.. ไม่รู้ว่ะ เซ็ง!

ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก แวะมาที่โอเพ่นออนไลน์ เปิดคอลัมน์ ‘จอมยุทธ์หน้าเหลี่ยม’ เขียนเรื่อง ‘อัศวินหาวบ่อย’ แล้วบอกว่าจะเขียนนิยายการเมืองไปเรื่อยๆ จนกว่านายกจะออก

คนก็ตั้งข้อสังเกตว่า นิยายเรื่องนี้ถ้าไม่ยาวมาก ก็ต้องสั้นมาก

ตอนนั้นเรายังแซวกันเลยว่า ท่าจะเขียนต่ออีกหลายปี จะมีมุขพอเหรอ ปรากฏว่าเขียนได้ตอนเดียว ก็ไปเสียแล้ว การเมืองไทยเร็วขนาดนี้เลยเหรอ

เป็นธรรมชาติของการเมือง ที่เราก็ไม่มีอะไรหยั่งรู้ได้

ตอนคิดเขียนคอลัมน์ คิดไหมว่าคุณทักษิณจะมีจุดจบอย่างนี้

คิดว่าเขาต้องลงอยู่แล้ว แต่จะลงยังไง เพราะเรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เรามีหลักเหตุผลบางอย่างอยู่แล้ว คนไปขัดกับความจริงของโลกไม่ได้

คิดว่าปัญหาใหญ่ของคุณทักษิณคืออะไร

การทุจริต ทั้งเชิงนโยบาย และผิดกฎหมายแบบ ตายน้ำตื้น การทุจริตเชิงนโยบาย อาจไม่มีหลักฐาน ก็ต้องใช้จริยธรรมเข้าไปกดดัน

มองนโยบาย “ประชานิยม” อย่างไร

เขามีสิทธิคิด และก็มีสิทธิทำด้วย เพราะเขาประกาศชัดเจนว่าจะทำ แล้วคนก็ไปเลือกเข้ามา เขาเสนอนโยบาย แล้วคนก็ยินดีที่จะรับนโยบาย

แต่นักวิชาการก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวของประเทศ

มันก็ช่วยในระดับหนึ่งนะ แต่ผมก็ไม่ได้ลงไปดูข้อมูลหลังจากนั้น มีคนพูดเหมือนกันว่า พอเอาเงินไปให้หมู่บ้าน คนก็เอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อมอเตอร์ไซค์ อ้าวแล้วทำไมล่ะ มันก็สิทธิของเขานะ ถ้าเขาคิดว่ามอเตอร์ไซค์หรือมือถือ จำเป็น ไม่มีนโยบายไหนหรอกที่แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา และไม่มีปัญหาตามมา ก็ยังดีกว่ารัฐบาลที่ไม่มีนโยบาย เช่น พูดแต่ว่า เราจะปกครองให้ประชาชนมีความสุข รักใคร่ เอื้อเฟื้อ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี นั่นมันเป็นหน้าที่หลัก แล้วไง! ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ไม่มีแผนปฏิบัติการอะไรเลย บอกมาสิ! เราต้องการนโยบาย

แม้ว่านโยบายประชานิยมจะส่งผลเสียตามมา ก็กฎแห่งกรรม คุณก็ต้องมาแก้กรรมอันนั้น เหมือนเราจะส่งคนให้เรียนหนังสือสูงๆ แล้วพอจบออกมาไม่มีงานทำ ก็ต้องมาแก้ปัญหากัน แต่ว่าอย่างน้อยเราก็ได้เลือกไง ว่าจะเรียนให้สูง

แล้วรัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารล่ะ

เป็นรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายอะไร เป็นแค่รัฐบาลเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้ามองผลเสียจากรัฐบาลทักษิณที่เป็นรูปธรรมก็คงเป็นเรื่องปัญหาภาคใต้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้ระบบความคิดแบบตาต่อตา สู้รบปราบปราม ไม่ประนีประนอม มีวิธีการแก้ปัญหาที่ทำให้คนเสียชีวิตเยอะ พอเสียชีวิตคนหนึ่ง ญาติพี่น้องก็กี่คนแล้ว แล้วคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องที่ต้องการเห็นความเป็นธรรมอีกล่ะ ปัญหาก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ แต่รัฐบาลเผด็จการซึ่งหลายคนคิดว่าน่าจะจัดการด้วยวิธีที่รุนแรงกว่า กลับไม่รุนแรง กลับดูประนีประนอมกว่า นี่คือเรื่องที่เห็นว่าต่างกัน

แต่ถ้าเรื่องเศรษฐกิจคงเทียบกันไม่ได้ รัฐบาลทักษิณ เราเห็นวิสัยทัศน์ว่าจะพาประเทศไปทางไหน เพียงแต่อาจพาไปไม่ถึงด้วยเงื่อนไขต่างๆ แต่รัฐบาลนี้เราไม่เห็น อย่างน้อยรัฐบาลทักษิณก็ให้ค่ากับสมองพอสมควร เช่น มีศูนย์สร้างสรรค์นู่นสร้างสรรค์นี่ ยังได้ยินคำใหม่ๆบ้าง แม้ว่าโดยกระบวนการอาจจะทำยาก แต่อย่างน้อยเราก็ได้ยิน

เคยคุยกับคุณทักษิณไหม เพราะเคยเห็นแกไปดูคอนเสิร์ตเฉลียง

ไม่เคยคุย แต่เป็นคนหนึ่งที่ถ้าเราเจอ ก็อยากจับมือด้วย แต่ก็ไม่รู้จะพูดอะไรกับเขาเหมือนกันนะ เรารู้สึกว่าคุณทักษิณเป็นคนคนหนึ่งที่ไม่ธรรมดา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เป็นคนที่มีศักยภาพสูง ไม่ควรเจอเฉยๆ ถ้าไม่ได้ลายเซ็นก็ควรจับมือด้วย รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

อยากจับมือ แล้วเคยไปเลือกเขาไหม

ไม่เคย รัฐบาลทักษิณมาในยุคที่บังคับให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ซึ่งเรารับไม่ได้ แต่เราก็ไปเลือกตั้งนะ

เลือกพรรคไหน

ตอนนั้นเลือก พรรคคนขอปลดหนี้ เพราะว่านโยบายชัดเจนสุด ชัดมากเลย ตามชื่อเลย เราเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิ สิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือก เราก็เลยไม่ศรัทธากับการบังคับให้ไปเลือกตั้ง อีกเรื่องก็คือ ต้องให้ ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีแบบนี้ เรารับไม่ได้ มีกฎหลายกฎที่ทำให้ไม่อยากไปเล่นเกมนี้

มองรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างไร

ไม่ได้อ่าน เราคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ

งั้นคงไม่ต้องถามว่าไป ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่ไปเลย ต้องถามก่อนว่าเอ็งเป็นใครเหรอ มาออกกติกาให้เรา รับ/ไม่รับ คนเขียนกติกาเราก็ยังไม่รับเลย แล้วทำไมเราต้องยอมรับกติกาที่เขาเขียน อันนี้นิสัยเรานะ ไม่รู้ว่าหัวรุนแรงหรือเป็นนิสัยดื้อเฉยๆ พอบังคับให้เลือกตั้งใช่ไหม เป็นหน้าที่ใช่ไหม ก็ไปเลือกพรรคคนขอปลดหนี้ ถามว่าชอบไหม จริงๆ ก็ไม่ได้ชอบหรอก แต่ทำหน้าที่พลเมืองสักหน่อย

ถึงวันนี้ยังมีความหวังกับการเมืองไทยอยู่ไหม

หวังกับการเมืองนอกสภามากกว่าในสภา แต่ว่าข้างในลึกๆก็ยังลุ้นอยู่ว่าพรรคอะไรจะได้เข้ามาบริหาร ด้วยด้วยนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร

มีนักการเมืองในฝันหรือพรรคการเมืองในฝันไหม

มีหลายคน คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เราก็ชอบ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน เราก็ชอบ เราชอบหลายคนด้วย ชอบในแง่การเมืองนะ เราเริ่มชอบคนแบบคุณสมัคร สุนทรเวช ตอนที่ประกาศความคิดชัดเจน เราไม่ต้องการนักการเมืองที่คลุมเครือ แต่ไม่เลือกแกนะ แต่อยากเห็นนักการเมืองประกาศตัวออกมาอย่างนี้ เราชอบคุณจำลอง ศรีเมือง ตอนที่เป็นนักการเมืองมากกว่าตอนที่มาเป็นผู้นำม็อบ เพราะแกมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดันเรื่องพลังธรรม เราว่านักการเมืองไม่ใช่ผู้นำศาสนา เราไปเลือกนักการเมือง ไม่ได้เลือกนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักการเมืองก็คือนักการเมือง

นักการเมืองที่ดีคือคนที่ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองคิด เป็นตัวของตัวเอง เราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ผมชอบมากเลยที่คุณสมัครบอกว่ากระทงโฟมดียังไง มีใครกล้าพูดไหมละ แต่เราไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับเขานะ นักการเมืองที่เลวคือคนที่พูดไปเรื่อย พูดสัจธรรมบ้าง พูดแทงกั๊ก เราเป็นทางเลือกใหม่ ยึดทางสายกลาง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้ามาเพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อย่างนี้ฟังแล้วไม่ใช่ เราไม่ชอบ ผมไม่ได้เรียกร้องให้ต้องฉลาดนักหนา แต่ให้เป็นตัวของตัวเอง และบอกได้ว่าจะนำพาประเทศไปทางไหน

ปัญหาของการเมืองไทย ที่ทำให้เราวนไปวนมาในอ่าง คืออะไร

พูดในประเด็นที่ไม่ถูกจับนะ เพราะว่าประชาชนไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง เรามีสิทธิตั้งคำถาม และไม่ยอมจำนน แต่เราจะเห็นว่าคนไม่ตั้งคำถาม ไม่ตรวจสอบ จะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เราถูกสอนให้ชินว่า อย่าไปยุ่งเขา ทางเท้าไม่ต้องเดินก็ได้เพราะเขาขายของอยู่ เดินบนถนนพอรถชนก็ต้องมารักษาเอง (หัวเราะ) ทุกคนถูกลิดรอนสิทธิโดยไม่รู้ตัวทีละนิดๆ จนยอมรับ จนเคยชิน แม้แต่ดารานักแสดงชอบพรรคไหน ชอบนักการเมืองคนไหน ก็ยังไม่กล้าบอก เดี๋ยวหาว่าลำเอียง เสียคะแนน ปัญหาอยู่ในระดับวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ

ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมัน จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นได้ไหม

ได้ แต่นาน ปัญหาคือเรารอได้หรือเปล่า

ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ

ไม่มีวิธีอื่นจะดีกว่านั้นแล้ว วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการค่อยเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ปุบปับ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ ใช้กฎหมายบังคับอย่างเดียวไม่ได้

แล้วบทบาทของสื่อมวลชนล่ะ

สื่อมวลชนมีบทบาทมากในเชิงวัฒนธรรม แต่พอหันมาดูสื่อไทย มันก็พอไปได้ แต่ช้า ลองไปดูสิ ขึ้นต้นข่าวบันเทิงมาดีๆ ลงท้ายกลายเป็นเรื่องหาผัวหาเมียทุกที ผมคิดว่าสื่อมวลชนก็ต้องยกระดับ ต้องมีทิศทาง แต่สื่อที่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน นายทุนเป็นใหญ่ ไม่ใช่สื่อมวลชนที่แท้จริง เราต้องเอาสื่อมาเป็นของ “รัฐ” เป็นของ “สาธารณะ” ไม่ใช่เป็นของ “รัฐบาล”

ปัจจุบัน คนในวงการสื่อเป็นทาสโดยไม่รู้ตัวว่าเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือ เหมือนถูกสะกดจิตหมู่ เอะอะอะไรก็ “คนไทยต้องรักกัน” ๆๆ พูดๆไปก็เข้าวาทกรรมเดิม ผมคิดว่าเราต้องแก้กันที่ต้นเหตุเลย นั่นคือ การปฏิรูปสื่อ

ระบบสื่อในขณะนี้เป็นระบบเส้นสาย มีทั้งเรื่องพวกพ้อง วงศ์ตระกูล ทั้งเรื่องความรัก ความเคียดแค้น ยิ่งกว่านิยายน้ำเน่าอีก ถ้าต้นน้ำมันเน่า จะไปหวังให้ปลายน้ำมันสะอาดคงยากอยู่

ในฐานะศิลปินนักสร้างสรรค์ ถ้าให้ทำหนังหรือเขียนนิยายเรื่อง “การเมืองไทย” หน้าตาเนื้อหาจะเป็นอย่างไร

คงเป็นแบบนิยายจีน เป็นเรื่องชิงรัก หักเหลี่ยม หักสวาท ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ (หัวเราะ) จริงๆ เรื่องราวก็ไม่ซับซ้อนมากนะ เพราะเต็มไปด้วยคนคุ้นหน้า ตัวละครเดิมๆ แต่ว่าเหมือนเล่ากลับไปกลับมากลับไปกลับมา ถ้ามองในแง่ความบันเทิงคงสนุกดี มีตัวละครอย่างคุณสมัคร คุณเนวิน ชิดชอบ มีสีสันมาก แต่ก็ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวละครบางตัวอย่างคุณสมัครจะกลับมาได้

จริงๆ แล้ว คิดตลอดว่าอยากทำแคมเปญหาเสียงให้นักการเมือง อยากทำให้พรรคประชาธิปัตย์

คิดจะดึงอะไรของเขามาขาย

ก็ดึงสิ่งที่เขาอยากจะขายนี่แหละ คือความเป็นพรรคยาวนาน มีความเป็นสถาบัน มีระบบการจัดการ มีกติกา ใครจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก็มีการแข่งขัน มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ภายในพรรค มีคนรุ่นใหม่อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างคุณอภิรักษ์ แต่เวลาขายของ กลับขายไม่เป็น ทำการตลาดไม่เด่นทั้งโปสเตอร์ ทั้งคำพูด ไม่โดนใจเลย เรารู้สึกเสียดาย ทำไมเชยอย่างนี้ เดี๋ยวก็ไปเลือกพรรคคนขอปลดหนี้อีกหรอก (หัวเราะ)

สนใจการตลาดกับการเมืองด้วย

มากเลย ผมว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะพรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียง ต้องการความนิยม ก็ต้องมีการสร้างแบรนด์ สร้างภาพ เป็นเรื่องปกติ ไม่แปลก และไม่ผิดด้วย ถ้าไม่ทำสิผิด

แล้วถ้าทำแคมเปญให้พรรคพลังประชาชนจะทำอย่างไร จะขายอะไร

ไม่รู้เหมือนกัน แต่พวกที่เขาเป็นมืออาชีพ เขาคงทำได้ คือที่เราพูดในเชิงที่ว่าเราอยากทำ แต่เราไม่ได้เป็นอาชีพเหมือน agency

ในคอนเสิร์ตเฉลียง ช่วงเพลงนิทานหิ่งห้อย ถึงครึ่งเพลงก็จะมีคุณวัชระ ปานเอี่ยม มาเล่านิทานประกอบเพลง เล่นมุขเสียดสีแซวการเมือง อยากให้เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำ

พี่เจี๊ยบ (วัชระ) แกชอบ แกชอบเสียดสี จะการเมืองก็ได้ จะนักฟุตบอลก็ได้ นักมวยก็ได้ คือแกเป็นคนชอบเสียดสี ในมุมของพี่เจี๊ยบ แกมองว่าถ้าเสียดสีการเมืองจะโดนในระดับกว้าง

ช่วงเล่านิทานการเมือง พี่เจี๊ยบเตรียมของเขาเอง คิดเอง ไม่มีใครรู้บท จะห้ามก็ไม่ได้ บอกให้เลิกก็ไม่ได้ ผมว่าการเสียดสีเป็นเรื่องยากนะ นักเขียนการ์ตูนสามช่องต้องอ่านหนังสือตั้งกี่เล่มกว่าจะเขียนได้

……………………………

สัมภาษณ์โดย ปกป้อง จันวิทย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550

ตีพิมพ์: เว็บไซต์ open online วันที่ 31 ธันวาคม 2550

Print Friendly