สัมภาษณ์: ปกป้อง จันวิทย์
ในช่วงที่สังคมการเมืองไทยกำลังเวียนวนค้นหาทางออกจากวิกฤตการณ์การเมืองที่ตัวเองสร้างขึ้นตลอดปี 2549-2550 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวในงานสัมมนางานหนึ่งว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น สหรัฐอเมริกาเคยผ่านมาหมดแล้ว”
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับสังคมการเมืองอเมริกันมีความผูกผันกันใกล้ชิด เขาไปร่ำเรียนที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์อเมริกาจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน เขาเขียนคอลัมน์ “จดหมายจากสหรัฐอเมริกา” ลงตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา
เขาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับระบบทาสของสหรัฐอเมริกา เขาเป็นเจ้าของผลงาน ปอกเปลือกประชาธิปไตยในอเมริกา: ตำนานเรื่องคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน (สำนักพิมพ์ศยาม, 2535) และ บาดแผลอเมริกา สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาสตร์อเมริกา (สำนักพิมพ์มติชน, 2547)
เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ผลิตงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองของสหรัฐอเมริกาออกมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 ก่อนการลงประชามติ “รับ” / “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช. ปกป้อง จันวิทย์ ชวน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มองการเมืองไทยผ่านแว่นตาของนักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ทหาร นักการเมือง จนถึงตุลาการภิวัตน์
เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันได้บ้าง?
…………….
อาจารย์เคยพูดในงานสัมมนางานหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยผ่านมาหมดแล้ว เลยอยากให้อาจารย์ช่วยมองการเมืองไทยผ่านแว่นตาของนักประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีเรื่องราวเยอะ และเขาก็มักจะเชื่อว่าเขาเป็นตัวแบบให้คนอื่นได้ แต่ผมไม่ได้เชื่อในประวัติศาสตร์อเมริกาทุกอย่างแบบคนอเมริกัน ผมมองทั้งสองด้าน คือทั้งด้านที่เป็นจุดอ่อน และด้านที่เอามาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่เอาเขามาเป็นแบบเรียนสำหรับเราเท่านั้น แต่ผมคิดว่าเราเองก็เป็นแบบเรียนให้เขาได้
ตอนนี้ผมกำลังเตรียมประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอยู่พอดี มีคนมาถามผมว่า แต่ก่อนอเมริกาก็เคยเถียงกันเรื่อง ‘รับ’ กับ ‘ไม่รับ’ (ร่างรัฐธรรมนูญ) เหมือนกันไม่ใช่หรือ ถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์อเมริกา ก็ต้องรู้ว่าสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ สมัยโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) และอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ก็ทะเลาะกันมาก แล้วก็แตกเป็นสองพวก คือพวก Federalist ที่บอกให้ ‘รับ’ กับพวกที่อ่านดูแล้วรู้สึกว่ามีจุดอ่อน ก็ ‘ไม่รับ’ กลายเป็นพวก Anti-Federalist ผมได้มานั่งอ่านใหม่ เลยได้ความรู้ใหม่หลายอย่าง
ผมสอนหนังสือมาหลายปี แต่ก็ไม่เคยเอะใจเลยว่าอเมริการ่างรัฐธรรมนูญทำไม ทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติเหลือเกินที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญ ปฏิวัติแล้วก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ จะได้ตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ถ้ามองจากประสบการณ์ของคนที่มีรัฐธรรมนูญเยอะจนกระทั่งเบื่อรัฐธรรมนูญแล้ว ผมก็เลยถามตัวเองว่าอเมริการ่างรัฐธรรมนูญทำไม คำตอบซึ่งผมไม่เคยคิดได้เลยหลังจากที่เรียนแล้วก็ทำวิจัยเรื่องอเมริกามาหลายสิบปีก็คือ เพราะว่าอเมริกาเป็นกบฏ เป็นพวกกบฏต่อรัฐสภาอังกฤษและระบบกษัตริย์อังกฤษ วิกฤตการเมืองเริ่มตั้งแต่การถูกเก็บภาษีจากรัฐบาลอังกฤษ คนอเมริกันก็ต่อต้าน ตั้ง Continental Congress ขึ้นมาเป็นพรรคปฏิวัติ มันก็ชัดเลยว่ากูไม่ทำตามมึงแล้ว รัฐสภาไม่มีอำนาจ เก็บภาษีพวกเราไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีตัวแทน (no taxation without representation) ไม่ซื้อไม่ขายสินค้าอังกฤษ ไม่ยอมรับอำนาจข้าหลวงอังกฤษ ต่างๆนานา
หลังจากนั้นจึงเกิดการปฏิวัติ มีการปะทะกัน บทเรียนตรงนี้มันคล้ายกันมาก ถ้าคุณเอาทหารมาจัดการม็อบ มันก็ต้องเปรี้ยงกันสักวัน ม็อบอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ที่อเมริกาก็เกิดเหมือนกัน และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้นำม็อบต้องมีประเด็นที่กินใจคน เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร่วมม็อบ ทำให้คนรู้สึกว่าต้องสู้ตาย เพียงแค่ประเด็นว่าเราไม่มีตัวแทน จึงไม่ต้องจ่ายภาษี มันยังไม่พอ แม้ว่าพวกพ่อค้าจะโดนหนัก แต่ชาวบ้าน กรรมกร ช่างฝีมือ ไม่ได้ถูกกระทบอะไรด้วย เขาจะรู้สึกอินกับประเด็นนี้ไม่มาก ผู้นำการต่อสู้จึงต้องหาประเด็นที่ทุกคนรู้สึกร่วมกัน
ประเด็นที่ว่าคืออะไร
คอร์รัปชั่นไง ผู้นำกลุ่มกบฏชูเรื่องคอร์รัปชั่นมาต่อสู้ รัฐบาลอังกฤษและราชสำนักมีการคอร์รัปชั่นสูงมาก เสื่อมโทรม และหมดหวัง ทำให้ความชอบธรรมของกฎหมายหมดไป การเจรจาต่อรองกับรัฐสภาก็ไม่มีความหมาย จะไปเจรจากับพวกคอร์รัปชั่นทำไม
โธมัส เพน (Thomas Paine) แล่นเรือมาจากอังกฤษ พอขึ้นฝั่ง แกเขียนหนังสือชื่อ Common Sense ขายดีมาก นี่เป็นหนังสือแบบเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้ในการเปิดโปงคุณทักษิณ หนังสือเล่มนี้เปิดโปงว่า ที่อ้างว่า กษัตริย์สืบสันตติวงศ์มา จึงมีความชอบธรรมทางการปกครอง มันเป็นโจ๊ก ทฤษฎีของจอห์น ล็อก (John Locke) บอกว่า สังคมมาจากธรรมชาติ คนเกิดมาเท่ากันหมด เหมือนกันหมด จะมีคนเป็นเทวดาได้อย่างไร สรุปก็คือ เรามีความชอบธรรมที่จะปฏิเสธอำนาจนำ ยิ่งเมื่อผู้นำไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม ยิ่งพิสูจน์เลยว่าเขาหลอกเรามาตลอดเวลา
ในแง่นี้ การร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นกระบวนการที่เป็นปฏิกิริยาต่อความล้มเหลวของระบอบการเมืองเก่า เลยต้องมาคิดกันว่าควรจะจัดสรรอำนาจกันใหม่อย่างไร จะสร้างสังคมการเมืองใหม่บนฐานของอะไร
จุดหมายใหญ่ของรัฐธรรมนูญอเมริกาก็คือระบบของรัฐบาล (system of government) ว่าควรจะเป็นอย่างไร อำนาจของรัฐบาลจะมีได้แค่ไหน ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ผู้ร่าง โดยเฉพาะอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน มีประสบการณ์การรบกับอังกฤษ เขาก็สร้างธรรมนูญการปกครอง (Articles of Confederation) ซึ่งเป็นเพียงกรอบหลวมๆ เท่านั้นเองว่ารัฐแต่ละรัฐจะร่วมมือกัน แต่รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจ ลงโทษใครไม่ได้ เก็บภาษีไม่ได้ ซึ่งพอรบเสร็จ ทำสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว พวกผู้นำก็มาคุยกันว่า ถ้ารัฐบาลใหม่ปกครองด้วยธรรมนูญนี้ ก็จะกลายเป็นว่าแต่ละรัฐจะกลับไปดูแลตัวเอง ส่วนกลางไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจ คุณจะไปติดต่อกับประเทศอื่นได้อย่างไร ในที่สุดเลยตกลงกันว่าต้องประชุม พอประชุมเสร็จ มีการตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แทนธรรมนูญเก่า แต่ยังร่างขึ้นบนพื้นฐานของความไม่ไว้ใจอำนาจรัฐเหมือนเดิม
โจทย์ของการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นคืออะไร
โจทย์แรกคือเขารู้แล้วว่าต้องมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) เพราะลำพังรัฐบาลมลรัฐไม่มีศักยภาพในการปกครองประเทศ รัฐบาลมลรัฐปกครองได้เฉพาะรัฐของตัวเอง แต่คุณต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจไปดูแลจัดการรัฐอื่นๆ ได้ด้วย ให้มีความเป็นเอกภาพระดับหนึ่ง ต้องให้อำนาจทางการปกครองแก่รัฐบาลกลางมากขึ้น ประเด็นสำคัญต่อมาคือ เงิน เมื่อต้องมีรัฐบาลกลางแล้วจะหาเงินอย่างไร รัฐบาลกลางจึงต้องมีอำนาจจัดเก็บภาษี
ทีนี้ฝ่ายต่อต้านก็กลัวว่าเมื่อรัฐมีอำนาจมาก สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกลิดรอนไป ไม่มีทางที่สองอย่างนี้จะไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นโจทย์ที่สองก็คือ จะสร้างกลไกอย่างไรเพื่อไม่ให้อำนาจของรัฐบาลกลางที่มากขึ้น ย้อนไปทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีการออกแบบระบบตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) ตามมา เป็นโจทย์ที่สอง
โจทย์ทั้งสองข้อนี้ควรจะเป็นโจทย์ของการปฏิรูปการเมืองไทยด้วยหรือเปล่า อย่างที่หลายคนบอกว่า เราต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ก็ต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีด้วย
ใกล้เคียงกัน ผมคิดว่า โจทย์ใหญ่ก็คือรูปแบบของรัฐบาลที่ดีที่สุดในการปกครองประเทศควรจะเป็นแบบใด ให้มีทั้งประสิทธิภาพและมีเสรีภาพด้วย
แต่ปัญหาข้อหนึ่งซึ่งกรณีของไทยยากลำบากกว่าของอเมริกาก็คือ พื้นฐานของสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของอเมริกาถูกตั้งขึ้นมา ทุกรัฐเลือกผู้แทน (delegate) ของแต่ละรัฐไปทำหน้าที่ ดังนั้น สมัชชาฯ จึงมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) มีอำนาจสูงสุดในการออกแบบรัฐบาล เพราะเขาเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ
แต่เมื่อร่างเสร็จและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทุกคนก็ต้องสลายตัว เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่รวมของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีใครที่มีอำนาจเหนือกว่าใครทั้งในขณะที่ร่างและหลังจากร่างเสร็จ ปัญหาของสภาร่างรัฐธรรมนูญไทยก็คือ ก่อนร่าง ก็มีอำนาจที่อยู่เหนือสภาร่างฯ เมื่อร่างเสร็จแล้ว อำนาจเหนือนั้นก็ยังอยู่ พูดตรงๆ ก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นคนสร้างสภาร่างฯ หลังจากสภาร่างฯ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ตามแบบอเมริกา ผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญก็ต้องสลายตัวไปจนหมดสิ้น แต่ในกรณีประเทศไทย กลุ่มและองค์กรผู้สร้างรัฐธรรมนูญยังคงมีอำนาจอยู่ต่อไปในบทเฉพาะกาล ถึงตัวจะไม่ได้อยู่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่สปิริตและเจตนารมณ์ก็จะคงอยู่ต่อไป
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามและปัญหาว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว อำนาจอธิปไตยไทยนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ เราทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งรูปธรรม แทนที่จะเป็นนามธรรม โดยแสดงออกผ่านสถาบันทางการเมืองสูงสุดของประเทศ ตอนที่สหรัฐอเมริการ่างรัฐธรรมนูญ เขาสลายหมด ระหว่างนั้นสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ คืออำนาจอธิปไตยสูงสุด แต่เมื่อจบแล้วก็จบไป อำนาจก็ไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นไม่มีใครมีสิทธิ์ล้มรัฐธรรมนูญ
ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยจะมีปัญหา เพราะอำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แล้วคุณจะไปให้ประชาชนลงประชามติรับทำไม ถ้าประชาชนถามว่า คุณจะไม่ฉีกอีกหรือ ใครตอบได้บ้าง ผมคิดว่า คมช. ก็ตอบไม่ได้ เขาอาจจะบอกว่าแล้วแต่นักการเมือง ถ้าต่อไปนักการเมืองทำตัวไม่ดี ทหารก็ต้องเข้ามาอีก อ้าว พูดอย่างนั้นได้อย่างไร อำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ตรงนั้น ปัญหาที่เกิดมันเป็นปัญหาของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของอำนาจอธิปไตย นี่แสดงว่าอำนาจอธิปไตยของเราเหมือนเป็นสิ่งของที่ย้ายเข้าย้ายออกได้ อย่างนี้แปลว่าอะไร
อาจารย์มองปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ในเมืองไทย โดยเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันอย่างไร
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาออกแบบศาลสูงของสหพันธ์ (Supreme Court) เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอแต่งตั้งประธานศาลสูงและผู้พิพากษาศาลสูงทั้งหมด และเพื่อป้องกันไม่ให้ศาลถูกแทรกแซงทางการเมือง ก็ให้ผู้พิพากษาศาลสูงมีวาระตลอดชีวิต เมื่อประธานาธิบดีเสนอชื่อ วุฒิสภา (Senate) จะทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ และลงมติให้การรับรอง ถ้าไม่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภา ก็ต้องเสนอชื่อใหม่จนกว่าสมาชิกวุฒิสภาจะยอมรับ
ดังนั้น สถาบันตุลาการของเขา ด้านหนึ่งมาจากประธานาธิบดีซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ โดยมีวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งระดับรัฐ โดยมีจำนวน 2 คนเท่ากันทุกรัฐ ไม่ว่ารัฐเล็กหรือใหญ่ เป็นคนตรวจสอบและรับรองอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นกลางมากที่สุดแล้ว
แต่อย่างไร ประธานาธิบดีก็ต้องเลือกคนที่เขาต้องการมาเป็นประธานศาลสูง เมื่อจอห์น แอดัมส์ (John Adams) เป็นประธานาธิบดี เขาก็เลือกจอห์น มาร์แชลล์ (John Marshall) ซึ่งเป็นพวกเฟดเดอรัลลิสต์ ขึ้นเป็นประธานศาลสูง พอจอห์น แอดัมส์หมดสมัยไป เจฟเฟอร์สันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ก็เกิดปัญหาขัดแย้งในระบบตุลาการ เป็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการ จนกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์
เรื่องของคดีมาร์เบอรี่ กับแมดิสัน (Marbury v Madison, 1803) เริ่มต้นจากการที่นายวิลเลียม มาร์เบอรี่ ผู้ได้รับแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ให้เป็นผู้พิพากษาสมทบ (justice of the peace) ฟ้องร้องต่อศาล ให้บังคับรัฐบาลของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันทำการแต่งตั้งตน โดยที่ตำแหน่งเหล่านี้เป็นการแต่งตั้งให้รางวัลบรรดาผู้สนับสนุนพรรคเฟดเดอรัลลิสต์อย่างล้นหลามในคืนสุดท้ายก่อนออกจากทำเนียบ รัฐบาลใหม่จึงเก็บเรื่องไว้เสีย ไม่เดินเรื่องแต่งตั้งให้เจ้าตัว เมื่อคำร้องมาถึงศาลสูง มาร์แชลซึ่งก็เป็นสมาชิกพรรคเฟดเดอรัลลิสต์ และได้รับแต่งตั้งโดยแอดัมส์ก่อนหน้านี้ ก็รู้ว่าคดีนี้เป็นการเผชิญหน้ากับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล แต่ถ้าไม่รับดำเนินเรื่องหรือปล่อยให้แพ้ไป ก็จะถูกพรรคพวกเล่นงานเอาอีก เขาจะทำอย่างไร
มาร์แชลตัดสินใจสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่สถาบันตุลาการและระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกา ด้วยการรับคดีนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง เขาเป็นผู้ริเริ่มการพิพากษาโดยให้ผู้พิพากษาแต่ละคนเขียนคำวินิจฉัยออกมาแสดงต่อสาธารณชน แทนที่จะใช้การนับคะแนนเสียงข้างมากดังที่กระทำกันมา ต่อมา วิธีการดังกล่าวกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของศาลสูงสหรัฐฯไป ทำให้คำตัดสินกลายเป็นเอกสารการเมืองและภูมิปัญญาการเมืองอเมริกันไปด้วย สามารถนำมาศึกษาได้
มาร์แชลในนามของเสียงเอกฉันท์ของศาลสูงดำเนินการพิจารณาอย่างง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามหลักๆ 3 ข้อคือ หนึ่ง มาร์เบอรี่มีสิทธิในการได้รับตำแหน่งที่มีการตั้งขึ้นมาหรือไม่? สอง ถ้าหากได้ มีกฎหมายรับรองในการทำให้เขาได้รับตำแหน่งนี้หรือไม่? สาม หากได้อีก การแก้ไขให้เขาได้รับตำแหน่งนั้น เป็นอำนาจบังคับที่ศาลออกได้หรือไม่ (a writ of mandamus) คำตอบว่า ได้ ต่อคำถามหลัก 2 ข้อแรกนั้น แน่นอน ทำให้ศาลสูงต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับรัฐบาลพรรครีพับลิกันไปทันที แต่ในคำถามข้อที่ 3 ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด มาร์แชลตอบว่า ไม่ได้ อันเป็นการช่วยให้ศาลพ้นจากสภาวะเขาควาย และจากการเป็นผู้แพ้ พลิกกลับมาเป็นผู้ชนะไปในที่สุด
ประธานศาลสูงสุดมาร์แชลประกาศว่า ศาลสูงไม่สามารถออกคำสั่งในคดีดังกล่าวได้ แม้จะเห็นด้วยกับคำร้องของนายมาร์เบอรี่ก็ตาม ที่ไม่อาจทำได้ ก็เพราะอำนาจในการออกคำสั่งนี้ ได้มาจากมาตรา 13 ของกฎหมายว่าด้วยระบบศาลยุติธรรม ซึ่งออกในปี 1789 แต่มาตราที่กล่าวนี้ ไม่ได้มีการรับรองไว้ในบทว่าด้วยอำนาจของศาลสูงในรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้นมาตรา 13 จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของสภาคองเกรสด้วย เป็นอันว่าวิลเลียม มาร์เบอรี่ต้องเสียตำแหน่งผู้พิพากษาดังกล่าวไป แต่ศาลสูงสุดกลับประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจตุลาการในการวินิจฉัยกฎหมายที่ออกมาโดยสภาคองเกรส และเป็นผู้มีความชอบธรรมในการตีความรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย (โปรดดูรายละเอียดใน R. Kent Newmyer, The Supreme Court under Marshall and Taney, Illinois: Harlan Davidson, Inc., 1968)
บทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันก็คือ ฝ่ายเฟดเดอรัลลิสต์แพ้ แต่ระบบการเมืองอเมริกันชนะ จากการที่ประธานศาลสูงมาร์แชลล์ตัดสินพิพากษาโดยวิพากษ์กฎหมายที่ออกมาในสมัยของอดัมส์ซึ่งให้อำนาจศาลสูงอย่างมากว่า ขัดรัฐธรรมนูญ (unconstitutional) เพราะมอบอำนาจให้ศาลสูงมากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
เมื่อคดีนี้สิ้นสุดลง กลับทำให้ฐานะและจุดยืนของศาลสูงโดดเด่นขึ้นมาทันที เพราะแม้ตัวเองเป็นผู้พิพากษาตัดสิน แต่กลับไม่ได้ตัดสินในทางที่เพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ไม่ได้เข้าข้างคนที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา ศาลสูงจึงกลายเป็นอำนาจอธิปไตยอันที่สาม ซึ่งทำงานได้ (function) แตกต่างจากศาลในประเทศอื่นๆ ซึ่งยากที่จะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้
สรุปก็คือ อำนาจตุลาการในฐานะที่เป็นอธิปไตยหนึ่งในระบบประชาธิปไตยของอเมริกานั้น ไม่ได้มาด้วยการมอบให้หรือขอร้องให้เป็น หากได้มาด้วยการตัดสินใจเด็ดเดี่ยวของศาลสูงสุด ในอันที่จะดำรงฐานะและบทบาทอิสระในทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์และความสุขสันติของมหาชนแห่งชาติของเขานั่นเอง
จากประวัติศาสตร์ คำพิพากษาของศาลสูงสุดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของสหรัฐอเมริกา ในหลายกรณี เช่น เรื่องสิทธิของคนผิวดำ
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนผิวดำก็คือ Amendment ที่ 14 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติขึ้นหลังจากสงครามกลางเมือง เพื่อยืนยันสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ รัฐต่างๆ จะไปห้ามหรือควบคุมปิดกั้นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองอเมริกันไม่ได้ รวมถึงสิทธิของคนผิวดำด้วย แต่ปรากฏว่ามีคนผิวดำก็ไปฟ้องเพียงไม่กี่ราย ผู้ที่ใช้ประโยชน์จาก Amendment ที่ 14 โดยส่วนใหญ่กลับเป็นพวกนายทุน ซึ่งกำลังขยายกิจการกันอย่างบ้าระห่ำในขณะนั้น แต่ถูกกีดกันจากกฎหมายของรัฐ เช่น เรื่องแรงงาน
Amendment ที่ 14 จึงกลายเป็นเครื่องมือของระบบทุนของอเมริกา ในการเอาไปใช้พิทักษ์ผลประโยชน์ของทุน แม้จะมีเจตนาเริ่มต้นอยู่ที่การคุ้มครองคนผิวดำก็ตาม แต่ได้ถูกศาลขยายการตีความคำว่า ‘บุคคล’ ออกไปว่าหมายรวมถึง ‘นิติบุคคล’ ด้วย ทำให้รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของนิติบุคคล เช่น บริษัท ด้วย จะไปกีดกันควบคุมปิดกั้นสิทธิในการประกอบกิจการของบริษัทไม่ได้
จริงๆแล้ว สมัยร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่าย Anti-Federalist กับฝ่าย Federalist ยอมประนีประนอมกัน โดยมีเงื่อนไขคือต้องบรรจุบทบัญญัติพิทักษ์สิทธิ 10 ประการเข้าไปด้วย ซึ่งคนมารู้ทีหลังว่าบทบัญญัติที่ว่า เป็นการปกป้องสิทธิของมลรัฐจากรัฐบาลกลาง ศาลบอกว่าเป็นการให้อำนาจของรัฐที่จะปกป้องตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงประชาชน ถ้าพลเมืองมีปัญหากับรัฐ จะไปฟ้องโดยอ้างบทบัญญัตินี้ไม่ได้
จนกระทั่งมี Amendment ที่ 14 ซึ่งคนเอาไปอ้างได้ว่าถ้ามีปัญหากับรัฐ คุณสามารถฟ้องศาลสูงได้ด้วย Amendment ข้อนี้ นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าที่ประชาชนจะสามารถใช้ Amendment เรื่องสิทธิเสรีภาพมาปกป้องตัวเองได้อย่างแท้จริง ต้องใช้เวลากว่า 70-80 ปี ประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเฉพาะผู้ที่เสียเปรียบนั้นต้องยาวนานและกินเวลาเสมอ ไม่มีสิทธิและเสรีภาพใดที่ได้มาเปล่าๆ และด้วยความหวังดีของรัฐแต่ฝ่ายเดียว
ศาลสูงสหรัฐอเมริกาก็มีพลวัต มีการปรับตัว ปรับโลกทัศน์ที่ใช้ในการตัดสินคดีตลอด ตัวผู้พิพากษาเองก็เป็นผลผลิตหรือได้รับอิทธิพลจากสภาพสังคมการเมือง ไม่ได้ลอยอยู่นอกโลก เหนือสังคม
ศาลสูงสุดในสหรัฐฯต้องเรียกว่าเป็นศาลการเมือง ตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมืองเรื่อยมาจนถึงระยะหลัง ศาลสูงสุดกลายเป็นสถาบันทางการเมืองสำหรับการคลี่คลายสถานการณ์ บางช่วงที่ศาลสูงสุดเก็งสถานการณ์ผิด ก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเลวร้ายขึ้นได้เหมือนกัน เช่น ช่วงก่อนสงครามกลางเมือง ประมาณปี 1857 สามปีก่อนจะรบกัน เกิดคดีเดรด สก๊อต เรื่องมีอยู่ว่า มีทาสจากภาคใต้ถูกนายพาขึ้นไปภาคเหนือ ซึ่งเขาไม่มีกฎหมายทาสแล้ว บรรดามลรัฐในภาคเหนือได้ออกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่รับรองทาสว่าถูกกฎหมายดังก่อนนี้อีกต่อไปแล้ว เมื่อนายจะพาทาสกลับภาคใต้ ทาสก็ไม่ยอมกลับ หาทนายฟ้องว่าเขาเป็นคนภาคเหนือแล้ว ซึ่งไม่มีกฎหมายทาส แสดงว่าเขาก็หมดความเป็นทาสไปด้วย นี่เป็นธรรมเนียมของอังกฤษ ซึ่งถือว่าในดินแดนเสรี ไม่ว่าทาสจะมาจากไหน เมื่อมาอยู่ในดินแดนของอังกฤษ แค่เหยียบและสูดอากาศแห่งความเป็นไทของกรุงลอนดอน เจ้าของก็เอาเขากลับไปเป็นทาสอีกไม่ได้ เพราะดินของเสรีภาพทำให้ทาสเป็นไทไปแล้ว
คดีนี้เข้าสู่ศาลมลรัฐ ศาลก็ตัดสินให้ทาสชนะ แต่นายทาสไม่ยอม สู้ต่อจนกระทั่งเรื่องถึงศาลสูง ประธานศาลสูงในขณะนั้นคือโรเจอร์ บี. เทย์นีย์ เป็นคนภาคใต้ บรรยากาศของสังคมช่วงนั้นเครียดมาก ต่างคนต่างก็เชื่อเหตุผลของตัวเอง เพราะมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุด ศาลสูงตัดสินว่าต้องส่งทาสกลับ แสดงว่าความเป็นทาสยังอยู่ เป็นการตบหน้าพวกต่อต้านทาสอย่างแรง พอคำตัดสินออกมาก็เกิดม็อบเลย ในภาคเหนือมีขบวนการเรียกร้องให้เลิกทาส จะเรียกว่าเป็นขบวนการแบบกลุ่มพันธมิตรฯ ผสมสันติอโศกก็ได้ เพราะมีวิลเลียม ลอยด์ แกริสัน (William Lloyd Garrison) ซึ่งเคร่งศาสนามากเป็นผู้นำ สไตล์คล้ายๆ พลตรีจำลอง ศรีเมือง
วันหนึ่ง ขณะชุมนุมมวลชนด่ารัฐบาลที่ไม่ยอมเลิกทาส แกริสันเอารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาขึ้นมาฉีกทิ้งในที่ชุมนุม แล้วแกก็พูดประโยคคลาสสิก บอกว่า นี่คือเอกสารที่เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลกับซาตาน เพราะว่ารัฐธรรมนูญหมกเม็ดเรื่องทาส ไม่ได้ปฏิเสธการมีทาส
ในตอนร่างรัฐธรรมนูญหลังสงครามปฏิวัติอเมริกานั้น วิธีการรับรองการมีทาสในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาก็คือ เขียนไว้ว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้นับตามจำนวนประชากร ประชากรก็คือคนผิวขาว คนอินเดียนแดงที่เสียภาษี ส่วน ‘คนอื่นๆ ที่เหลือ’ ให้นับสามในห้า ไอ้สามในห้านี่ไม่ได้บอกว่าคือใคร เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าก็คือพวกผิวดำที่เป็นทาสนั่นเอง แสดงว่ารัฐธรรมนูญยอมรับการมีทาสในขณะนั้น พวกที่ร่างรัฐธรรมนูญเก่งมาก สามารถหมกเม็ดเรื่องทาสผิวดำได้โดยไม่ต้องเขียนคำว่า ‘ทาส’ ลงไปในรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่คำเดียว
เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า คุณยอมรับว่าคนผิวดำเป็นประชากร แต่เป็นประชากรไม่เต็มคน เป็นแค่สามในห้า ครึ่งๆ กลางๆ นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมสยบต่ออำนาจของนายทาส ผู้นำของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นก็มาจากภาคใต้ทั้งนั้น จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) โธมัส เจฟเฟอร์สัน เจมส์ แมดิสัน (James Madison) เป็นพวกที่พูดถึงเสรีภาพขนานใหญ่ แต่ที่บ้านตัวเองมีทาสเป็นร้อย อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกปฏิเสธสิทธิในรัฐธรรมนูญก็คือพวกผู้หญิง ซึ่งไม่มีสิทธิทางการเมืองเหมือนกัน
ข้ออัศจรรย์อีกประการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาก็คือ เมื่อมันพูดและเขียนคำว่า ‘ทาส’ ลงไปในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 หลังสงครามกลางเมือง ก็ประกาศห้ามไม่ให้มีทาสอีกต่อไปเลย แสดงว่าสหรัฐฯต่อจากนี้ไปไม่รับรองระบบทาสอีกต่อไปแล้ว ทาสผิวดำต้องถูกปลดปล่อยจนหมด แต่ในความเป็นจริง เสรีภาพและความเป็นไทที่ลอยมาจากเบื้องบน ตกมาอยู่ในมือและตีนของคนดำน้อยกว่าที่คาดไว้มาก ชีวิตหลังเลิกทาสในยุคฟื้นฟูประเทศจากหายนะของสงครามกลางเมือง ไม่สดใสและราบรื่นเหมือนนิยายและหนัง ที่แย่มากก็คือสิทธิในการใช้ชีวิตในสังคมและในทางการเมืองของคนผิวดำถูกกีดกันและกลั่นแกล้ง ในทางเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง คนดำโงหัวไม่ขึ้นเอาเลย พอพวกเขาลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิบ้างตามสมควร ก็ถูกเล่นงานตอบโต้กลับจากคนผิวขาวในภาคใต้ เช่น พวกสามเค คือคลูคลักซ์แคลน (Klu Klux Klan) ซึ่งใช้ความรุนแรงเข้าข่มขู่คนดำ กระทั่งตั้งระบบศาลเตี้ยมาลงโทษประหารชีวิตคนดำอย่างทารุณโหดร้ายนับร้อยๆราย
แต่ที่คาดไม่ถึงก็คือ เกิดกระแสสังคมต่อต้านเหยียดหยามทางเชื้อชาติ (racism) ด้วยการที่บรรดารัฐทางใต้ออกกฎหมายเหยียดผิว กีดกันคนดำ ไม่ให้มาใช้ชีวิตร่วมกับคนขาว เมื่อคดีขึ้นไปถึงศาลสูงสุด ศาลสูงในขณะนั้นก็ตัดสินเข้าข้างการกีดกันคนดำ โดยใช้หลักเหตุผลบางอย่างมาอธิบายการแบ่งแยก (segregation) เช่น ห้ามคนดำเข้าไปใช้บริการในร้านอาหารเดียวกับคนขาว ในรถบัสและรถไฟ คนขาวกับคนดำต้องนั่งแยกกัน เป็นต้น นั่นเป็นการเกิดยุคที่เรียกว่า ‘การแบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน’(separate but equal)
เหตุผลที่ว่าคืออะไร
ตอนนั้นเป็นช่วงทศวรรษ 1890 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ที่บอกว่า วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) เผ่าพันธุ์ไหนที่อยู่รอด ก็จะมีโอกาสพัฒนาต่อไป เผ่าพันธุ์ที่ไม่มีความเหมาะสมก็สมควรสูญพันธุ์ไปเอง หมายความว่า ถ้าในสังคมมีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ สังคมนั้นก็จะมีโอกาสพัฒนาดีกว่าที่จะปล่อยให้ปะปนกันรวมไปหมด การเอาคนที่ไม่มีความสันทัด ไม่มีความสามารถ เข้ามาปนเปอยู่ในสังคม จะไม่ทำให้สังคมดีขึ้นได้ จากประวัติศาสตร์ก็รู้อยู่แล้วว่า คนดำมีความสามารถน้อยกว่า มีความรู้น้อยกว่า เพราะพวกเขาเสียเปรียบมานับเป็นศตวรรษ นี่ไม่ได้พูดในแง่ของสังคมหรือปัจเจกบุคคล
เพราะฉะนั้นสังคมอเมริกันจึงให้เหตุผลว่า การจัดให้ทุกคนได้รับบริการสาธารณะเหมือนกัน แต่ว่าแยกกันเป็นเรื่องดี ทั้งคนขาวและคนดำก็มีโรงเรียนของพวกตน ได้เรียนหนังสือด้วยกันทั้งคู่ แต่ให้โรงเรียนหนึ่งเป็นที่เรียนของนักเรียนผิวขาว อีกแห่งเป็นของนักเรียนผิวดำ คนผิวขาวได้เรียนด้วยกันก็จะได้เก่งด้วยกัน ขาวอยู่ส่วนขาว ดำอยู่ส่วนดำ ทุกคนมีความสุข สังคมก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี
ศาลสูงอธิบายว่า นี่ไม่ใช่การลิดรอนเสรีภาพ เพราะไม่ได้ปฏิเสธการให้คนผิวดำเข้ามาใช้บริการสาธารณูปโภคหรือการศึกษา ทุกอย่างได้เท่ากันหมด เพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้อันเดียวกัน เรียกว่า ‘การแบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน’ รัฐบาลไม่ได้กีดกัน แต่แยกเพื่อความเหมาะสม มิเช่นนั้นก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ นี่คือความเป็นอัจฉริยะของนักกฎหมาย (ดูคดี Plessy v Ferguson, 1896)
แล้วต่อมา เหตุผลเก่าดังกล่าวถูกท้าทายด้วยเหตุผลใหม่อะไร
อีก 30-40 ปีต่อมา คนเริ่มมองว่า บัดนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว มีความเจริญก้าวหน้า คนสามารถยกระดับตัวเองได้ ประชาธิปไตยก็แพร่กระจายไปทั่วโลก
สหรัฐอเมริกาเองก็ถูกบังคับจากกระแสภายนอก เพราะหลังสงครามโลก ตัวเองดันไปโฆษณาประชาธิปไตยให้กับโลกที่สามเพื่อไม่ให้เป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อกรณีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำขึ้นสู่ศาลมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดศาลสูงสุดก็ยอมรับว่าคนผิวดำสามารถที่จะยกระดับชีวิตได้ทัดเทียมกับคนผิวขาว ดังนั้น การรักษาความเท่าเทียม โดยการแบ่งแยก จึงหมดความจำเป็นอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้บอกว่าที่ผ่านมานั้นเป็นการกระทำที่ผิดนะ คดีสำคัญที่ยุติทฤษฎีแบ่งแยกแต่เท่าเทียมคือคดี Brown v. Board of Education ในปี 1954
บทเรียนเรื่องสถาบันตุลาการของอเมริกานำมาสอนอะไรคนไทยภายใต้กระแสตุลาการภิวัตน์ได้บ้าง
หลังจากที่ยุโรปค้นพบทฤษฎีการปกครองแบบใหม่ อำนาจถูกทำให้เป็นนามธรรมและเป็นสิ่งทั่วไป ไม่มีใครไปแลกเปลี่ยน เพิ่ม หรือลด ได้ คือไปจัดการกับมันไม่ได้ คุณต้องทำตามระบบ ถ้าเปลี่ยนระบบได้ อำนาจก็จะเปลี่ยนตาม อำนาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในตัวคน หรืออยู่ในเก้าอี้ แต่สำหรับความคิดเรื่องอำนาจแบบไทยและอุษาคเนย์ อำนาจอยู่ในตัวคน ขึ้นก็ได้ ลงก็ได้ บางช่วงนายกฯ มีอำนาจมาก บางช่วงมีอำนาจน้อย เพราะฉะนั้นการไปหาหมอดู การไปบนบานศาลพระภูมิก่อนเข้าทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับความคิดเรื่องอำนาจแบบไทย แต่ถ้าประธานาธิบดีบุชไปบนบานขอพรจากโบสถ์ในการเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว คนคงหัวเราะ เพราะความหมายของอำนาจไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณจะได้คะแนนเสียงสนับสนุนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เจ้าพ่อหรือพระเจ้าองค์ไหนจะบันดาลให้ได้ หากมันต้องดำเนินไปตามระบบและกระบวนการ
กลับมาที่สถาบันตุลาการ ผมคิดว่าตุลาการไทยไม่ได้มองตัวเองเป็นอิสระจากศูนย์กลางอำนาจ ในสมัยก่อน ศูนย์กลางอำนาจก็คือสถาบันกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์มีทศพิธราชธรรม กษัตริย์ก็มีความชอบธรรมจากผู้เป็นเจ้า จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การที่สถาบันตุลาการเกี่ยวพันกับศูนย์กลางอำนาจอาจเป็นสิ่งที่ดี เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจที่ดี ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นอิสระจากอำนาจปกครอง
ทีนี้เมื่อเข้ามาสู่ระบอบประชาธิปไตยและการปกครองที่เป็นเรื่องของโลกียธรรม มีทฤษฎีเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ แต่จะไปถ่วงไปแบ่งแยกกันได้อย่างไร เพราะการแบ่งแยกอำนาจจะทำได้ก็ต่อเมื่อคนเท่ากันเท่านั้น ดังนั้น ทฤษฎีการเมืองของสหรัฐอเมริกาจึงนำไปใช้ในประเทศอื่นลำบากมาก เพราะสังคมในประเทศอื่นไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันทั้งในแง่ชนชั้นทางเศรษฐกิจและทางสังคม จริงอยู่แม้คนอเมริกันจะไม่เท่ากันในทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของฐานะทางสังคม เขาพูดได้ว่าของเขาเท่ากัน กรรมกรสามารถเดินไปกระทบไหล่จับมือบุชได้ ความเป็นคนมันเท่ากัน ทั้งในความเชื่อของฝั่งคนที่มีอำนาจและฝั่งคนที่ไม่มีอำนาจ
อะไรทำให้โลกทัศน์ ‘ความเป็นคนมันเท่ากัน’ เกิดขึ้นได้ในอเมริกา แต่เกิดขึ้นไม่ได้ในที่อื่น
เพราะสหรัฐอเมริกาไม่มีพื้นฐานเรื่องศักดินานิยม สังเกตดูจะเห็นว่าคนยุโรปไม่ค่อยชอบคนอเมริกัน เพราะไม่ค่อยมีมารยาท ไม่มีรสนิยมแบบผู้ดี นั่นก็เพราะเขาไม่มีชนชั้นศักดินาและขุนนางที่แท้จริงอันเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำในสังคม สมัยมีระบบทาส บรรดานายทาสภาคใต้ของอเมริกามีสภาพสังคมเกือบเป็นขุนนางได้ แต่โลกของนายทาสก็ถูกทำลายยับเยินไปในสงครามกลางเมือง แต่สังคมไทยมีทั้งสองอย่าง คือมีทั้งฐานันดรและชนชั้น
น่าสังเกตว่ามติและทัศนะดังกล่าว ชนชั้นนำทางประเพณีของสยามไทยมีความเห็นเหมือนกันมาโดยตลอด คือตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงกล่าวว่าสังคมสยามไม่มีชนชั้น ในบทวิจารณ์หนังสือทรัพยศาสตร์ของเจ้าพระยาสุริยานุวัตร ต่อมา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็อธิบายว่าสังคมไทยสมัยอยุธยาก็ไม่มีชนชั้น มีแต่ฐานันดร ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ล่าสุด คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีช่วงวิกฤต ก็ยืนยันว่าสังคมไทยไม่มีชนชั้นแบบสังคมอังกฤษ มีแต่ความเหลื่อมล้ำหรือฐานันดร
ในเมื่อสังคมอเมริกันมีความเท่าเทียม ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอิสระ เพราะไม่ต้องผูกตัวเองไว้กับอำนาจเหนือ ตุลาการก็สามารถตัดสินไปตามกฎหมายได้ ไม่ต้องสนใจว่าใครมีอำนาจ ว่ากันไปตามระบบ ตราบใดที่สังคมส่วนใหญ่เชื่อและทำตาม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเกิดความวุ่นวาย
แต่ในบางกรณี แม้ศาลมีคำตัดสินออกมา ถ้าฝ่ายมีอำนาจและกฎหมายหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ผลก็ไม่เกิด ตัวอย่างเช่น การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำ ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผิวขาวระดับล่างไม่ยอมเปลี่ยน แม้ว่าระดับบนหรือฝ่ายการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ แต่พอถึงระดับปฏิบัติข้างล่างลงมา ระดับอำเภอ ระดับหมู่บ้าน มันช้าลงจนเกิดการต้าน การเปลี่ยนแปลงจะยากขึ้น เหนื่อยขึ้น จนกระทั่งทำให้คนดำเบื่อไปเอง
เราคุยกันมามากเรื่อง ‘ระบบ’ แล้วเรื่อง ‘คน’ สำคัญแค่ไหน ต่อพัฒนาการทางการเมือง
ถ้าเราเลือกปูชนียบุคคลของสังคมไทย จะได้คนประเภทไหน ผมลองนึกดูแล้ว คงจะได้คนประเภทมีคุณธรรม ดีงาม ซื่อสัตย์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนดีในระบบราชการ มีบ้างที่เป็นชาวบ้านที่โดดเด่นจากกิจกรรมบางอย่าง แต่ว่าไม่ได้ส่งผลมากมายต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ
ผมคิดว่า คำว่า ‘คนดี’ กำลังกลายเป็นพันธนาการของเรา คือมันมัดเรา จนทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องหาแต่คนดี ผมกลุ้มใจเป็นบ้าเลย เพราะไม่รู้ว่าเราดีพอหรือยัง (หัวเราะ) คำตอบของผมในเรื่องนี้ ถ้ามองแบบอเมริกาก็คือ เอาแค่ทำงานได้ (practical) ได้ไหม
ความจริงผมเคยเขียนบทความว่าด้วยคุณธรรมทางการเมืองแบบไทย (ใน ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีต้นรัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน 2549) ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ก็เน้นอยู่แค่ศีลธรรม จริยธรรม และหนักเข้าก็เอาทศพิธราชธรรมมาเป็นเกณฑ์ วันหนึ่งผมไปสรุปการอภิปราย เลยวิพากษ์ว่านักการเมืองหรือผู้นำทั่วไปในสังคมไม่ต้องเอาคุณธรรมสูงระดับทศพิธราชธรรมหรอก เอาคุณธรรมแบบชาวบ้าน เช่น ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ อดทน แค่นี้ได้ไหม ก็มีคนลุกขึ้นมาเถียงใหญ่เลย บอกว่าทศพิธราชธรรมเป็นของชาวบ้าน ไม่ใช่ของกษัตริย์เท่านั้น ผมก็บอกว่าไม่แปลว่าชาวบ้านทำไม่ได้ แต่เนื้อหาเรื่องนี้เป็นคุณธรรมของคนที่อยู่ข้างบน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนอื่น ตกลงคุณจะทำให้คนงอมืองอตีน หรือคุณจะทำให้คนเป็นอิสระ เป็นคนที่มีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน
ตั้งแต่การปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา คุณธรรมที่เขาพูดถึงคือ ‘คุณธรรมของชาวบ้าน’ อย่างความเชื่อของพวก Puritan ที่ว่าคุณต้องทำงาน ไม่ต้องพูดมาก ถ้าคุณไม่ทำงานก็ไม่ใช่คนที่มีความหมายต่อสังคม มันต้องเริ่มจากเรื่องเล็กไปเรื่องใหญ่ ให้ความสำคัญกับคนเล็กๆ ทำอย่างไรที่จะให้เขามีความภูมิใจ แล้วก็ยกระดับขึ้นมา
แน่นอน ผมเห็นด้วยเรื่องความสำคัญของคน โดยเฉพาะคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้นำอเมริกาทำก็คือ ถ้าคุณอยู่ในระดับนั้น คุณต้องสามารถที่จะมองเห็นจุดจบหรือข้อจำกัด (limitation) นี่ถือว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่ระบบกษัตริย์ของไทย ถูกกลไกต่างๆ กำกับไว้ ให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร เช่น ทศพิธราชธรรม หรือรัฐธรรมนูญ แต่ในชีวิตจริง ผู้นำทุกคนต่างก็มีอำนาจมาก ถ้าจะหวังการถูกตรวจสอบถอดถอนตามกระบวนการจะยุ่งยากมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีช่องทางอื่นที่ให้ผู้นำยอมรับในการถูกกำกับการกระทำของตน ให้ต้องตระหนักว่าไม่ควรจะเกินไปกว่านี้ ซึ่งกรณีอเมริกา ผมคิดว่ามันมีกลไกที่นำไปสู่การประนีประนอม ระหว่างผู้นำของทั้งสามสถาบัน คือรู้กันว่าพอถึงจุดจุดหนึ่ง จะต้องยอมกันเพื่อยุติความขัดแย้ง
รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะระบบตรวจสอบถ่วงดุล (checks and balances) ระหว่างอำนาจต่างๆ ทีนี้ สังคมไทยมีโลกทัศน์ว่าด้วยเรื่องอำนาจไม่เหมือนเขา มีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก คนไม่เท่ากัน มันมีระบบแบบอเมริกาอะไรไหมที่เหมาะจะหยิบยืมมาใช้กับการเมืองแบบไทยๆ ให้พัฒนาขึ้น
อย่างแรกคือต้องเลิกฉีกรัฐธรรมนูญ ธรรมเนียมการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วเขียนใหม่ต้องยุติ
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 รวมทั้งปี 2550 ก็ได้บัญญัติสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เขียนไปก็ไม่มีความหมายอะไร ต้องทำอย่างไรให้มีความหมาย
มันไม่ได้อยู่ที่การเขียน แต่อยู่ที่การกระทำ คือต้องมีสัญญาณให้คนทำรัฐประหารต้องรู้ว่าประชาชนไม่รับ สังคมไม่รับ ให้เลิกคิดเรื่องรัฐประหารไปได้เลย ถ้ารัฐบาลอยู่ได้นานต่อเนื่อง การเมืองน่าจะนิ่งขึ้น และการปฏิรูปน่าจะไปได้สวย นอกจากนั้น ต้องเปิดการมีส่วนร่วม ผมคิดว่าภาคเอกชนรอเวลาที่จะมีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ร่วมแบบมีใบสั่ง แบบเป็นพระรอง ถ้าทำตรงนี้ได้ สิ่งที่เรากลัวและปวดหัวเรื่องพรรคราชการ ก็จะลดระดับลงไป การออกกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบราชการ ไม่มีทางสำเร็จ อเมริกาก็ปฏิรูปไม่ได้ คุณจะปฏิรูประบบราชการได้ ต้องให้เอกชนมีบทบาททางสังคม ให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อประเด็นสาธารณะ จนถึงเรื่องนโยบายอย่างจริงจัง
แล้วด้านการออกแบบสถาบันทางการเมือง
ไหนๆ สังคมไทยเปิดโอกาสให้สถาบันตุลาการมีบทบาทมากขึ้นแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระวัง อย่านำสถาบันตุลาการไปไว้ในจุดที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ผมไม่สนับสนุนให้ศาลไปยุ่งกับการเมือง แต่ให้ศาลมีบทบาทเสริมในการจัดการกับคดีต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม
ผมคิดว่าระบบแบบที่เราทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมสงบ แต่คือสิ่งที่ทำให้สังคมรุนแรงขึ้น คุณเปิดหนังสือพิมพ์ทุกวัน เห็นแต่ข่าวฆ่ากันตาย อัตราการฆ่ากันตายที่สูงมากแปลว่าอะไร มันหมายถึงระบบยุติธรรมไม่ทำงาน คนเลยฆ่ากันแหลก ไม่เกรงกลัวกฎหมายใช่ไหม
เราอาจจะบอกว่าสาเหตุเกิดจากปัจจัยด้านการศึกษา เพราะผู้คนมีการศึกษาต่ำ ก็อาจมีส่วนบ้าง แต่ไม่ใช่หัวใจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวมากกว่า เราควรส่งเสริมให้สถาบันตุลาการ active ลงไปให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการต้องดีตั้งแต่ก่อนมาถึงศาลแล้ว สถาบันตุลาการต้อง active ในการทำหน้าที่เพื่อลดบทบาทของฝ่ายปราบปราม ที่ผ่านมา เราเน้นแต่เรื่องปราบปรามกับปกครอง เพราะเชื่อในวิธีการแบบระบบศักดินา
ทหารไทยทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ทหารอเมริกาเป็นทหารอาชีพ เวลาเราพูดถึงการเมืองอเมริกา เราพูดถึงทหารน้อยมาก ระบบของเขาเป็นอย่างไร มาอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร
เมื่ออเมริกาปฏิวัติเสร็จ ตอนร่างรัฐธรรมนูญก็มีการเถียงกันเรื่องอำนาจ เรื่องรัฐบาลกลาง จนถึงเรื่องกองทัพ คุณจะพบว่าอเมริกาไม่มีระบบกองทัพประจำการ(standing army) ในตอนแรกมีแค่กระทรวงทหารเรือ (Navy Department) เท่านั้นเอง เพราะตอนนั้นต้องใช้กองทัพเรือทั่วโลก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบทหารประจำการ แต่ตอนนั้นอเมริกายังไม่มีเลย ผมคิดว่าอาจจะมีหลังสงครามโลก กระทรวงกลาโหมก็เพิ่งตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง
สังคมอเมริกันเกลียดทหารมาก เพราะทหารเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอังกฤษที่มาทำลายเสรีภาพ ทำลายประชาชน เพราะฉะนั้นจึงไม่ยอมให้รัฐบาลอเมริกาใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ ถึงมีกระทรวงกลาโหมก็ไม่เป็นอิสระถึงขนาดมีบทบาทต่อระบบการเมืองมากได้
แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าทหารอเมริกันไม่มีบทบาทการเมืองเลย ตรงกันข้ามกองทัพอเมริกันมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อนโยบายทหารของสหรัฐฯ ใครๆก็รู้ เพียงแต่การเข้ามาของกองทัพเป็นการเข้ามาตามหน้าที่และตามคำสั่งของประธานาธิบดี ไม่ใช่ตามคำสั่งของเสนาธิการทหารหรือผู้บัญชาการกองทัพภาค 7 เป็นต้น
ในเวลาเดียวกันที่กองทัพอเมริกาไม่เข้ามายุ่งกับการเมืองโดยตรง แต่ก็มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก หนังสือเรื่อง The Power Elite ของ ซี. ไรต์ มิลส์ (C. Wright Mills) ได้วิเคราะห์โครงสร้างอำนาจของอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าทหารกับอุตสาหกรรมอาวุธเป็นพันธมิตรที่ใหญ่มาก เพราะการผลิตทางการทหารต้องใช้เงินจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลประโยชน์ที่ต้องใช้ปรนเปรอก็มีมาก ทหารอเมริกันมีรายได้และสวัสดิการดีมาก
เพราะฉะนั้นเมื่อคุณได้ทุกอย่างแล้ว คุณจะไปยึดอำนาจทำไม คุณเหนื่อยเปล่าๆ คุณดูสิ ทั่วโลกยังรบกันจ้าล่ะหวั่นอยู่เลย ถ้าไปเป็นประธานาธิบดีต้องออกคำสั่ง อย่างบุช (George W. Bush) เป็นคนส่งทหารเข้าไปในอิรัก ตอนนี้มีแต่คนด่าบุช ไม่เห็นมีใครด่านายพลอเมริกันสักคน แถมยังมีนายพลคนหนึ่งเขียนหนังสือด่าบุชอีก ด่านโยบายอิรัก ตกลงทหารอเมริกันได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เงินก็ได้ กล่องก็ได้
ผมคิดว่าทหารไทยน่าจะศึกษาบทเรียนจากอเมริกา แต่ผลประโยชน์ด้านเงินทองที่ทหารไทยได้รับตามปกติน้อยกว่า เพราะสายป่านสั้น ถ้าไม่ยึดอำนาจ ทหารหลายคนก็ไม่ได้อะไรมากนัก เกษียณกันด้วยเงินเดือนแค่นั้น ซื้อรถ ซื้อบ้านก็คงไม่ได้ แต่ถ้ามีอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ก็วิ่งหา มันคุ้มที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมือง
ผมกำลังทำวิจัยดูว่าสมาชิกสภาแต่งตั้งเช่นวุฒิสภาของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร ได้รับผลประโยชน์เท่าไหร่ มีทหารเข้าไปกี่คน แต่ละคนได้เท่าไหร่ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมวุฒิสภาของไทยจึงต้องแต่งตั้งมาโดยตลอด ทั้งที่ประเทศอย่างเรามีสภาเดียวก็พอ ไม่เห็นต้องมี ส.ส. ส.ว. มากมาย
มาถึงเรื่องพรรคการเมืองบ้าง สหรัฐอเมริกามีสองพรรคใหญ่ ส่วนประเทศไทยมีหลายพรรค อะไรทำให้มันต่างกัน แล้วอย่างไหนดีกว่ากัน
จริงๆ แล้ว ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันไม่อยากให้มีการตั้งพรรคการเมืองนะ เพราะเขามองว่าเป็นการสร้างความแตกแยก ถ้าผู้นำแตกแยก สังคมก็ต้องแตกแยก ปกครองลำบาก อันนี้เป็นสามัญสำนึกของผู้มีอำนาจการเมืองทั้งหลายที่ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้นำกันเอง แต่เมื่อมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ก็ต้องแยกกัน ในที่สุดก็เลยเกิดกลุ่ม Federalist กับ Anti-Federalist ขึ้นมา ซึ่งยังไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างจริงจัง จนต่อมาเมื่อสองฝ่ายต่อสู้ห้ำหั่นกันเพื่อกุมอำนาจรัฐ ในที่สุดจึงค่อยๆ กลายมาเป็นพรรคเฟดเดอรัลสิสต์ ฝ่ายหนึ่งกับพรรครีพับลิกันของเจฟเฟอร์สัน ซึ่งคนละพรรคกับรีพับลิกันในปัจจุบัน อีกฝ่ายหนึ่ง หลังจากนั้นกระแสการเมืองและฐานเสียงของพวกเฟดเดอรัลสิสต์หมดไป เพราะนโยบายขายไม่ได้ พรรคเฟดเดอรัลสิสต์ก็ต้องสลายตัวไป แล้วก็เกิดพรรคใหม่ขึ้นมาแทนคือพรรควิก (Whig) ส่วนพรรครีพับลิกันยุคแรกก็เปลี่ยนไปเป็นพรรคเดโมแครต (Democrat) ในสมัยประธานาธิบดีแอนดรู แจ๊กสัน (ราวกลางศตวรรษที่ 19) อันนี้แหละที่เป็นบรรพบุรุษของพรรคเดโมแครตที่ยังอยู่ถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นพรรคการเมืองอเมริกันที่อยู่มานานที่สุด ส่วนพรรควิกมีอายุไม่นาน พอเจอวิกฤตปัญหาระบบทาสเข้าก็แตกเป็นเสี่ยงทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ จนต้องเลิกพรรคไปอีก นั่นเป็นระยะของการมีระบบสองพรรคการเมืองยุคแรกในอเมริกา ซึ่งกินเวลาไม่นานนัก
หลังจากนั้น ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองก็เกิดมีพรรคใหม่ที่มาตามกระแสเรียกร้องของมวลชนส่วนมากที่ไม่ต้องการระบบทาส นั่นคือพรรครีพับลิกัน (Republican) ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกคืออับราฮัม ลิงคอล์น(Abraham Lincoln) ซึ่งได้ชัยชนะเพราะพรรคเดโมแครตแตกกันเอง การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของลิงคอล์นนำไปสู่การประท้วงและการแยกดินแดน(รัฐ)ของบรรดารัฐภาคใต้ออกจากสหรัฐฯ นั่นคือที่มาของการเกิด ‘วันเสียงปืนแตก’ ที่ฟอร์ตซัมเตอร์ รัฐเซาธ์แคโรไลนา จากนั้นก็นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ พรรครีพับลิกันก็เลยเป็นพรรคคู่กับเดโมแครต มาจนปัจจุบันนี้
เห็นได้ว่าพรรคการเมืองของอเมริกาเกิดมาจากพัฒนาการภายในระบบรัฐสภา ประเด็นที่สำคัญและเป็นปัจจัยชี้ขาดก็คือ การดำรงอยู่ของพรรคมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชนข้างล่าง จากผู้ลงคะแนนเสียงจริงๆ ในอเมริกา พรรคการเมืองไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง รัฐและศาลไม่สามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เกิดมาจากกฎหมาย หากแต่เกิดมาจากการเคลื่อนไหวและความต้องการของประชาชนเอง ถือว่าเป็นสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญซึ่งสูงสุด มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถสั่งยุบพรรคการเมืองในอเมริกาได้
ผมสรุปจากประสบการณ์ของอเมริกาว่า พรรคการเมือง โดยตัวมันเอง ไม่ได้ถูกออกแบบมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบปกครองอะไรก็ตาม แต่พรรคการเมืองแบบสมัยใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่มีความต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการสรรหาผู้นำทางการเมือง กล่าวคือระบบการเมืองการปกครองนั้นต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองจริงๆ
การบังคับให้มีพรรคการเมืองตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ไม่มีประโยชน์ มันไม่อาจทำให้ระบบพรรคการเมืองเติบโตและพัฒนาไปได้อย่างเป็นแก่นสาร จริงๆแล้วโดยธรรมชาติของพรรคการเมืองมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ระบบอัตตาธิปไตยคือรวมศูนย์อำนาจในผู้นำ ดังนั้นหากภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจไม่กระจายความเป็นธรรมไปอย่างทั่วถึง โอกาสที่พรรคการเมืองจะแปรสภาพไปเป็นเหลือบฝูงใหม่(หรือเก่าก็ตาม)ย่อมมีความเป็นไปได้มาก
แต่สำหรับการเมืองระบอบประชาธิปไตยไทย พรรคการเมืองมาจากการแต่งตั้งทุกครั้ง คือต้องมีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง แล้วทุกคนก็ออกไปตั้งพรรค คำถามก็คือ ถ้าไม่มีพรรค แล้วชาวบ้านจะเลือกตั้งคนที่เป็นผู้แทนของพวกเขาได้ไหม จริงๆ แล้ว ตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พรรคอิสระมีชีวิตชีวามากกว่าพรรคที่ตั้งขึ้นอีก ส.ส. ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นสังกัดพรรคอิสระ พรรคอิสระก็คือไม่มีพรรค ถ้าคุณเข้าพรรครัฐบาล คุณก็ถูกด่าว่าเป็นขี้ข้าทหาร หรือถ้าคุณไปเข้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณก็ถูกด่าว่าเป็นพวกเต่า พวกไดโนเสาร์ เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองไม่ได้มีความจำเป็น หรือทำให้การเมืองดีขึ้นอย่างที่เราเข้าใจ
ทำไมต้องบังคับให้มีพรรคการเมือง? เพราะคนที่ออกแบบระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะภายหลังการยึดอำนาจรัฐประหาร มักเชื่อว่าการมีพรรคการเมืองในรัฐสภา จะทำให้สภาเรียบร้อย รัฐบาลก็จะควบคุมจัดการได้ง่าย อีกด้านหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ พรรคการเมืองในอุษาคเนย์มีกำเนิดมาจากกลุ่มและขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคม ต่อสู้เพื่อเอกราช ชาตินิยม และคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์การเมือง ถ้าไม่มีพรรคก็ไม่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจ ทหารจึงมักจะยุบพรรคการเมือง เพราะกลัวว่าจะมารวมหัวกันต่อต้านทหาร เมื่อสถานการณ์เริ่มดีก็จะเปิดโอกาสให้ตั้งพรรคใหม่ แต่ก็ต้องมีกฎกติกาคอยกำกับไว้
ทีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดันไปสรุปเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็บอกว่ารัฐบาลผสมคุม ส.ส. ไม่ได้ ทำตามนโยบายไม่ได้ ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำไม่มีความเด็ดขาด ก็เลยออกแบบให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ยากที่พรรคเล็กพรรคน้อยจะเข้ามาได้ คราวนี้เสร็จเลย ได้พรรคใหญ่จริงๆ สมเจตนารมณ์ แล้วก็มาเจอปัญหาอีกแบบหนึ่งแทน
ตอนนี้คนมีอำนาจก็ลังเล กลับมาเชื่อว่าพรรคใหญ่ไม่ดี เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็พยายามทำให้พรรคต้องเล็กลง เราก็จะกลับไปเจอปัญหาเดิมอีก คือจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ผมอยากจะเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นเราปรับวิธีคิดใหม่ได้ไหม คืออย่าให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองขนาดนั้น พูดง่ายๆ ว่าเราตั้งโจทย์ใหม่ดีกว่า มาเปิดให้อิสระขึ้นดีหรือไม่ ให้คนลงสมัครเลือกตั้งได้โดยอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรค แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ ในที่สุดแล้ว พรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามนโยบายหรืออุดมการณ์ในตอนนั้นๆ อย่าเอาพรรคการเมืองไปผูกติดกับความมั่นคง ประสิทธิภาพหรืออนาคตของการเมืองไทยทั้งหมด มันไม่ได้สำคัญชี้ขาดถึงขนาดนั้นหรอก
พรรคการเมืองของอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งผู้สมัครและผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีประสบการณ์ร่วมกัน และเห็นว่าระบบนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับเขา เลยเกิดพรรคการเมืองขึ้น แต่ถึงแม้จะมีพรรคการเมือง แต่ภายในพรรคก็ต้องสู้กันอีก เช่น เมื่อกลุ่มที่มาจากแถบ Midwest ไม่พอใจผู้นำพรรคที่มีนโยบายเอนเอียงไปทางภาคเหนือ เขาก็ต้องสุมหัวกัน แล้วพยายามที่จะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อที่จะผลักดันนโยบายของตัวเอง เช่นสร้างระบบการหยั่งเสียงไพรมารี่ในแต่ละพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้พวกหัวหน้าพรรคระดับนำไม่กี่คนมาเป็นคนกำหนดว่าจะเลือกใครเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี เป็นต้น
เพราะฉะนั้น บทเรียนของเราก็คือ นักการเมืองต้องทำงานด้วย ไม่ใช่รอแต่กฎหมายพรรคการเมืองว่าให้ทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ ไม่ต้องไปสนใจมัน แต่นักการเมืองต้องทำงานไปบนพื้นฐานที่ว่า คนในเขตเลือกตั้ง เขาสนับสนุนคุณ ไม่ใช่ทำงานการเมืองเพราะหัวหน้าพรรคต้องการอย่างไร
ที่เราชอบบอกว่า ประเทศไทยไม่มีพรรคอุดมการณ์ ก็แน่นอน ถ้าทุกพรรคเอาแต่เข้าไปเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ไม่ได้มีฐานจากข้างล่างและฐานจากภายในพรรค แล้วคุณจะเขียนนโยบายมาจากไหน พรรคการเมืองไม่มีใครสร้างได้ สังคมต้องร่วมกันสร้าง ต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาเราให้เวลากับประสบการณ์การเลือกตั้งหรือการมีพรรคน้อยมาก ได้เป็นรัฐบาลสองสมัยแล้วก็ถูกยุบพรรค มันกลายเป็นฝันร้าย ตอนนี้ทุกคนเลยต้องไปโหนพรรคที่สายป่านยาวหน่อย เพราะเวลาคุณถูกยุบพรรค มันหมดเลย เงินก็หมด ชื่อก็หมด ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ในแง่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ พรรคการเมืองไทยเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ล้มละลายได้ทุกเวลา บรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ๆจึงต้องปั่นหุ้นและภาพลักษณ์เป็นการใหญ่ อย่างนี้แล้วทำไมประชาชนอย่างพวกเราถึงดันไปฝากความหวังในการพัฒนาตลาดการเมืองกับสถาบันที่ไม่มีความมั่นคงอะไรเลยอย่างพรรคการเมือง ประหลาดจริงๆ
ปัญหาการเมืองประการหนึ่งที่สังคมไทยเพิ่งเจอก็คือ เมื่อทุนนิยมเติบโต ก็มีนายทุนเข้ามาเล่นการเมือง สามารถซื้ออำนาจรัฐได้ เข้ามาปกป้องธุรกิจของตัวเอง ในสหรัฐอเมริกาเคยประสบปัญหาทำนองนี้หรือเปล่า ทำไมเศรษฐีอเมริกันจึงไม่ค่อยลงเล่นการเมือง ไม่อยากเป็นประธานาธิบดีเอง
ในช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งสองพรรคของเขาก็ยังต้องขอเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย มีคนเคยทำวิจัยว่ากลุ่มทุนให้เงินสนับสนุนพรรคไหนมากกว่ากัน พบว่าทั้งสองพรรคได้รับเงินใกล้เคียงกัน จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงส่วนตัวหรือทางสังคมอื่นๆ แต่ทำไมเขาไม่ลงไปเล่นการเมืองเอง?
มีเรื่องโจ๊กเรื่องหนึ่ง เล่าว่าเนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ เคยบอกพ่อว่าอยากจะสมัครเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก พ่อก็ถามว่าจะลงทำไม ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่สบายกว่าหรือ เราอยากได้อะไรเราก็โทร.บอกผู้ว่าการฯ ได้อยู่แล้ว ผมไม่ทราบว่าหลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กแล้ว เนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ได้พบสัจธรรมอะไรที่พ่อแกไม่เคยรู้หรือไม่เคยเห็นมาบ้าง
เป็นเพราะประเทศเรามีเศรษฐีน้อยด้วยหรือเปล่า เข้าไปแล้วมันคุ้ม เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ง่าย กินรวบก็ง่าย แต่ในอเมริกา มีเศรษฐีเยอะแยะ จนแบ่งปันผลประโยชน์กันไม่ไหว กลุ่มทุนคานกันเอง
ผมคิดว่านักกฎหมายไทยชอบออกกฎหมายควบคุมความแตกต่าง แต่สำหรับอเมริกา แค่เริ่มต้นคิดเขาก็บอกว่าผิดแล้ว ห้ามไม่ให้ทำแบบนั้นแล้ว เพราะมันฝืนธรรมชาติ ที่นั่นเขาส่งเสริมให้คนแตกต่างกันเยอะๆ ให้สังคมแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ กระจายออกไปให้มาก ให้ผลประโยชน์กระจายออกไป ไม่กระจุกกับใครคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง แต่ให้กลุ่มผลประโยชน์มีมากมายมหาศาล มากจนกระทั่งไม่มีใครไปคุมกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้ จนในที่สุดก็ต้องต่อรองผ่อนปรนกันว่า ไอ้นี่ได้เท่านั้น ไอ้นั่นได้เท่านี้ ไม่มีใครกินรวบได้ เพราะฉะนั้นความคิดแบบอเมริกาก็คือ ให้ทุกคนต้องไปสู้กันเองเลย ให้ทุกคนรู้ว่ามีผลประโยชน์อยู่ตรงนี้ มาแข่งกัน คุณสู้ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้
อาจารย์มองการเมืองไทยในปัจจุบัน แล้วทำนายหน่อยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าน่ากลัว น่าหวาดเสียว คำให้สัมภาษณ์ที่ได้ยินจากผู้นำฝ่ายทหารและกลุ่มที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญบางคน สะท้อนว่าเขาไม่มีการเก็บรับบทเรียนจากประวัติศาสตร์ คือเขาไม่รู้อดีต ไม่รู้ว่ารัฐประหาร 16 ครั้งในอดีต ลงเอยอย่างไร และนำไปสู่อะไร ตัวประชาชนเองก็ไม่รู้
ยกตัวอย่างง่ายๆ นายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจไปแล้ว ไม่เคยกลับมามีอำนาจได้อีก กลับมาอยู่เมืองไทยได้ก็บุญแล้ว พูดง่ายๆ คือเขาตายไปแล้วในทางการเมือง ไม่มีทางที่เขาจะฟื้นขึ้นมาได้ เพราะอำนาจในสังคมไทยเป็นสิ่งรูปธรรม อยู่ในกาลเทศะที่แน่นอน ทันทีที่หลุดออกไปจากกาลเทศะนั้นแล้ว ก็ยากที่จะคงอำนาจดังเดิมได้อีกต่อไป ดังนั้นการพยายามวาดภาพว่าเป็นการสู้กันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่นั้น ผมศึกษาประวัติศาสตร์ สอบถามผู้คน ติดตามสถานการณ์ แล้วเห็นว่า ไม่จริง เมื่อไม่จริงแล้วเขาพูดทำไม หรือต้องการให้เกิดความไม่สงบ เพื่อเป็นข้ออ้างในการรักษาอำนาจพิเศษของตัวเองอยู่ต่อไป
ผมคิดว่าแค่การกลับไปสู่ภาวะปกติยังไม่ง่ายอย่างที่เราคิดเลย ยังไม่ต้องพูดไปถึงขั้นว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เลย ผู้มีอำนาจไม่ได้เชื่อแบบที่เราเชื่อ ไม่ได้มีข้อมูลอย่างที่เรามี แต่เขามีข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร มันไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา กลุ่มต่อต้านอย่าง นปก. ใครก็รู้ว่าไม่มีน้ำยาหรอก ไม่มีความหมายอะไร พวกเขาเองก็รู้
เห็นข่าวว่าอาจารย์ก็ไปร่วมประชุมกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหารด้วย
ผมไปเล่าประวัติศาสตร์ให้เขาฟังว่าการรัฐประหารจะนำไปสู่อะไร ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีใครเคยบอกว่ารัฐประหารนั้นผิด และต้องต่อต้าน เรื่องอื่นผมไม่สนใจ ถ้าในกลุ่มต่อต้าน ไม่ว่าใครจะมีความเชื่ออย่างไร คุณก็ไปปิดกั้นเขาไม่ได้ ที่ผมไปเพราะผมรู้จักหมอเหวง โตจิราการ กับจรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งทำกิจกรรมร่วมกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาด้วยกัน ผมคิดว่าเขาไม่โกหก ไม่หลอกผม ถ้าเขาบอกว่าเขาเชื่ออย่างนี้ ผมก็รับได้ ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะพูดสักที ควรจะเลิกยึดอำนาจได้แล้ว
อย่างที่ผมเล่าให้ฟังตอนที่สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของอเมริกาประชุมกัน รัฐธรรมนูญของเขาก็ไม่ได้ละเอียดอะไรมากมาย เพียงแต่ว่าคนที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร ไม่มีใครมีวาระซ่อนเร้น ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่พิเศษที่จะต้องไปพิทักษ์อะไรบางอย่าง
คงต้องรอให้พระสยามเทวาธิราชมาช่วยอีกวาระหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ผมก็ยังมีความหวังนะ แม้ในทางประวัติศาสตร์จะมีตัวอย่างด้านลบมากมาย
อะไรทำให้อาจารย์ยังมีความหวัง
เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอนาคต เราก็ยังอยากจะอยู่ที่ประเทศไทย ไปอยู่เมืองนอกก็ไม่มีความสุข ลูกหลานของเราก็ยังต้องเติบโตในสังคมนี้ โตขึ้นจะต้องให้พวกเขามาเจอกับเรื่องที่พวกเราเคยเจอมาแล้วในรุ่นเราอีกหรือ เขายังจะต้องไปเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญกันอีกเพื่ออะไร ผู้ใหญ่ในบ้านเราน่าจะมีวุฒิภาวะกันสักหน่อย แค่นิดเดียวก็พอ แล้วก็รีบๆ กลับไปสู่จุดที่มันควรจะเป็น
สัมภาษณ์โดย ปกป้อง จันวิทย์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตีพิมพ์: October No.7 ฉบับ Next (พฤษภาคม 2551) สำนักพิมพ์ openbooks