กลางเดือนกันยายน 2558 รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอดกลับคืนจอทางไทยพีบีเอสอีกครั้ง หลังจากถูกพักออกอากาศไปร่วมปีครึ่ง
รอบนี้พวกเราถูกชวนให้ทำรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอดเวอร์ชั่น “ปฏิรูปประเทศไทย” นี่เป็นโจทย์การทำสื่อที่ท้าทายในยุคสมัยของรัฐบาลรัฐประหาร ทีมงาน The 101% ต่างเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปต้องอยู่บนวิถีประชาธิปไตย ยิ่งในจังหวะเวลาแบบนี้ เรายิ่งอยากสื่อ “สาร” บางอย่าง อยากแลกเปลี่ยนชวนคิดชวนคุยกับเหล่าผู้ชม โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ให้เห็นว่าเส้นทางประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ ความหลากหลาย นิติรัฐ สันติวิธี และความเป็นธรรม เป็นหนทางหลักหนทางเดียวของการปฏิรูปประเทศไทยให้ดีขึ้นได้
ความท้าทายคือเราจะสื่อสารประเด็นเหล่านี้ออกสู่หน้าจออย่างไร ให้สัมฤทธิ์ผลด้วย ให้รอดพ้นจากพลังอำนาจทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วย และให้อยู่หน้าจอกับผู้ชมไปได้นานๆ โดยไม่มีข้อขัดข้อง
ท้ายที่สุด ทีมงานตีโจทย์ของรายการปฏิรูปในแบบของเราออกมาเป็นการตั้งคำถาม เราใช้สโลแกนว่า มาร่วม “ทำตัวให้เป็นปัญหา” กับ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” กันเถอะ
เราชวน “ปฏิรูปประเทศไทยด้วยคำถาม” เพราะเชื่อว่า “คำถาม” จะทำให้สังคมไทยดีขึ้นกว่าเดิม!
13 ตอนของวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ชุด “ปฏิรูปประเทศไทยด้วยคำถาม” เราถามคำถามสำคัญๆ ทิ้งไว้ให้สังคมถกเถียงและคิดต่อหลายเรื่องทีเดียว และทีมงานก็พยายามชวนนักคิด นักวิชาการ นักเปลี่ยนแปลงสังคม จากหลากหลายวงการ หลากหลายศาสตร์ หลากหลายจุดยืนมาช่วยตอบคำถามสำคัญเหล่านั้นและตั้งคำถามต่อยอดขึ้นไปอีก
รับชมเทปรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอดฉบับเต็มทุกตอนได้ทาง The 101 percent channel ที่นี่
(1) “โกงไปไม่โต”
คำถาม: ทำไมลำพังการร้องหาคนดีแก้คอร์รัปชั่นไม่ได้? คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างไร? เราใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายคอร์รัปชั่นได้อย่างไร? ทำไมจะแก้คอร์รัปชั่นต้องเดินบนเส้นทางสายประชาธิปไตย?
แขกรับเชิญ: บรรยง พงษ์พานิช ธานี ชัยวัฒน์ ประจักษ์ ก้องกีรติ
(2) “พลเมืองธิปไตย”
คำถาม: “ประชาธิปไตย” และ “พลเมือง” มีคุณค่าและความหมายอย่างไร วัฒนธรรมแบบไทยๆ สร้างประชาธิปไตยแบบไหน เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยไทยมั่นคงและยั่งยืน
แขกรับเชิญ: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไชยันต์ ไชยพร กฤษกร ศิลารักษ์
(3) “สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความรุนแรง”
คำถาม: อะไรคือความรุนแรง การใช้ความรุนแรงมีสิ่งใดซ่อนอยู่ เราจะจัดการกับความรุนแรงในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งได้อย่างไร
แขกรับเชิญ: ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อังคณา นีละไพจิตร พัชรี ไหมสุข
(4) “เรียนในแบบเรียน”
คำถาม: อะไรคืออุดมการณ์ที่ซุกซ่อนไว้ในแบบเรียนไทย แบบเรียนไทยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้มากแค่ไหน แบบเรียนในฝันหน้าตาควรเป็นอย่างไร
แขกรับเชิญ: สุเนตร ชุตินธรานนท์ ศีลวัต ศุษิลวรณ์ คำ ผกา
(5) “เกาะชายผ้าเหลือง”
คำถาม: วัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆ ถูกสร้างขึ้นมาผ่านประวัติศาสตร์อย่างไร ศาสนากับรัฐควรสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ทางออกในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาคืออะไร
แขกรับเชิญ: พระไพศาล วิศาโล สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิจักขณ์ พานิช
(6) “ขุดคุ้ยข่าว”
คำถาม: ความหมายและคุณค่าของข่าวคืออะไร รูปแบบการครอบงำและแทรกแซงสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อนาคตของข่าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พลเมืองจะสามารถร่วมกำหนดทิศทางข่าวได้อย่างไร
แขกรับเชิญ: พิรงรอง รามสูต ภัทระ คำพิทักษ์ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
(7) “วินิจฉัยหมอ”
คำถาม: อำนาจของความเป็นหมอทำงานอย่างไร โรงเรียนแพทย์สร้างหมอแบบไหน รัฐและทุนเข้ามามีบทบาทในระบบสาธารณสุขอย่างไร เราจะรักษาหมอให้ “สุขภาพดี” ขึ้นได้อย่างไรบ้าง
แขกรับเชิญ: วันชัย วัฒนศัพท์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มารุต เหล็กเพชร
(8) “หลากหลายในความมั่นคง”
คำถาม: ความมั่นคงคืออะไรกันแน่ การทหารเพียงลำพังสร้างประเทศให้มั่นคงได้จริงหรือ ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของประชาชนในรัฐเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่
แขกรับเชิญ: สุรชาติ บำรงสุข ปณิธาน วัฒนายากร วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สฤณี อาชวานันทกุล
(9) “ศีลธรรมของความดี”
คำถาม: ความดีคืออะไรกันแน่ ใครเป็นผู้กำหนดนิยามของความดีและคนดี ความดีจำเป็นต้องมีอะไรอื่นมากำกับอีกหรือไม่ การยึดมั่นถือมั่นในความดีทำให้เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ความดีกับประชาธิปไตยควรจัดวางความสัมพันธ์กันอย่างไร
แขกรับเชิญ: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สมบัติ จันทรวงศ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
(10) “เป็นหนี้ท่วมหัว เอาตัวให้รอด”
คำถาม: หนี้คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร รูปแบบการเป็นหนี้ของสังคมไทยเป็นอย่างไร มายาคติเรื่องหนี้ของสังคมไทยมีอะไรบ้าง แก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไร
แขกรับเชิญ: ปัทมาวดี โพชนุกูล ชนาธิป จริยาวิโรจน์ เลย บุญเทียน กุหลาบ จันทร์ตรง
(11) “เพราะยากจนจึงเจ็บปวด”
คำถาม: ทำไมถึงจน ความจนเกี่ยวพันกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร คนจนถูกทำให้จนโดยรัฐอย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไร
แขกรับเชิญ: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประยงค์ ดอกลำไย ดิเรก กองเงิน
(12) “วัฒนะ-ทำนา”
คำถาม: ใครคือชาวนา สังคมชาวนาไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นโยบายรัฐส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวนาอย่างไร จะช่วยชาวนาอย่างไรให้ยั่งยืน
แขกรับเชิญ: นิพนธ์ พัวพงศกร เดชา ศิริภัทร ประภาส ปิ่นตบแต่ง
(13) “ความสุขที่เพิ่งสร้าง”
คำถาม: ความสุขคืออะไร มีองค์ประกอบอะไร วัดได้หรือไม่ ศาสตร์ต่างๆ มองความสุขแตกต่างกันอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคืนความสุขให้ตัวเองและสังคมได้อย่างแท้จริง
แขกรับเชิญ: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ชัชพล เกียรติขจรธาดา ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
แล้ววัฒนธรรมชุบแป้งทอดทั้ง 13 ตอน ก็ออกสู่สายตาของท่านผู้ชมได้ครบถ้วนอย่างราบรื่น ต้องขอขอบคุณแขกรับเชิญทุกท่านที่ให้เกียรติมาให้ความรู้กับพวกเรา ผมเชื่อว่ารายการทั้ง 13 ตอนสามารถใช้สอนหนังสือสารพัดวิชาได้อย่างสนุก เชิญชวนครูบาอาจารย์เอาไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ตามสบายเลยครับ และที่สำคัญต้องขอบคุณทางทีมงาน (และอดีตทีมงาน) ThaiPBS ทุกคนที่ดูแลรับผิดชอบรายการด้วยครับ (พี่จอบ พี่ตั๊ด พี่อึ่ง โอม) ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำรายการอย่างที่เราคิดอย่างเต็มที่ โดยให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งและให้ข้อแนะนำที่มีประโยชน์
รอบนี้ วัฒนธรรมชุบแป้งทอด ยังไม่จบนะครับ เรายังชุบแป้งทอดกันต่ออีกหลายเรื่องที่รอออกอากาศอยู่ในอนาคต เช่น startup, โรคซึมเศร้า, ม็อบ, ส้วม, แท็กซี่ ฯลฯ ติดตามชมรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอดของ 3 พิธีกร สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ โตมร ศุขปรีชา และทีปกร วุฒิพิทยามงคล ได้ทางไทยพีบีเอส ทุกวันพุธ 22.30 น. ครับ