บทเรียนการเมืองไทยจาก ‘บรรหาร ศิลปอาชา’

ไม่ว่าชีวิตของรัฐบุรุษหรือมหาโจรต่างมีบทเรียนสอนใจเราทั้งนั้น ชีวิตของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ก็เช่นกัน ในฐานะผู้สนใจการเมือง ผมได้เรียนรู้บทเรียนหลายประการจากชีวิตทางการเมืองของคุณบรรหาร

1. นักการเมือง ไม่ว่าจะดี จะชั่ว หรือชั่วๆ ดีๆ อย่างไรก็ต้องฟังเสียงและแคร์ความรู้สึกของประชาชน เพราะคุณบรรหารอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เลยต้องแปลงโฉมใส่สูท สวมแว่นหนา ถ่ายโฆษณาประดับลูกโลกบนโต๊ะทำงาน คบนักวิชาการ และชูธงปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ชนชั้นกลางในเมืองยอมรับ หยุดส่งเสียง ‘ยี้’

เราเลยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ได้สำเร็จ เปิดทางให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนในที่สุด รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ก็คลอดออกมาได้ แม้นักการเมืองจำนวนมากในรัฐสภาไม่ต้องการ

เราเลยได้สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี (ซึ่งตอนนั้นเคยหวังกันว่าน่าจะเป็นวุฒิสภาจากการแต่งตั้งชุดสุดท้ายได้แล้ว) ที่โดยรวมแล้วถือว่า ‘ไม่ขี้เหร่’ เมื่อเทียบกับวุฒิสภาแต่งตั้งในอดีต

2. ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนกำกับผู้มีอำนาจได้ไม่น้อย ตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ต้องกลัว เพราะเราเสมอกัน ไม่มีใครเอาปืนจ่อหัวใคร หรือจับใครเข้าคุกได้ตามอำเภอใจ ยิ่งผู้มีอำนาจไม่ได้เข้มแข็งนัก ภาพลักษณ์ไม่ดี แถมยังต้องแข่งขันทางการเมืองกับคู่แข่ง ประชาชนก็ยิ่งมี ‘อำนาจ’

‘อำนาจ’ วัดอย่างไร?

ก็วัดจากความสามารถของประชาชนในการบีบคั้นให้ผู้นำต้องยอมทำในสิ่งที่ตนไม่ต้องการ แต่จำเป็นต้องทำ แม้ว่าจะสร้างต้นทุนให้ตัวเองก็ตาม

ระยะเวลาเกือบปีครึ่งในยุคสมัยที่คุณบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีสอนเราว่า เมื่อใดที่อำนาจรัฐ-อ่อน อำนาจประชาชน-แข็ง

และข้อดีของประชาธิปไตยคือการทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องหาทางผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว ในทางที่สอดคล้องต้องตามธรรมชาติทางการเมืองของสังคมนั้นๆ

3. หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอย่างชอกช้ำ คุณบรรหารก็ดูผ่อนคลาย(ทางการเมือง)ราวกับ ‘เกิดใหม่’ ผมรู้สึกว่าคุณบรรหารพบสัจธรรมการเมืองของตัวเองในที่สุด

คุณบรรหารเลิกเล่นการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจสูงสุด เลิกคิดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เลิกคิดที่จะสร้างพรรคชาติไทยให้เป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ดูคล้ายกับว่าเป้าหมายการเมืองใหม่ของท่าน คือการแสวงหาอำนาจจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลตลอดกาล โดยสร้างพรรคขนาดกลางที่มีฐานเสียงหนักแน่นเข้มเข็ง เป็นพรรคสายกลาง (ไม่ใช่ในความหมายเชิงอุดมการณ์ แต่ในความหมายว่าร่วมรัฐบาลกับใครก็ได้) เป็นพรรคตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล ไม่ทำตัวให้ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง ไม่ต้องเด่น ไม่ต้องดัง มานิ่งๆ อยู่เงียบๆ กินเรียบๆ อิ่มเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่าคุณบรรหารที่ ‘วางมือ’ จากความทะเยอทะยานสู่ตำแหน่งสูงสุด แต่เลือกอยู่ในจุดสมดุลอำนาจที่เหมาะมือตัวเอง กลับยิ่งมี ‘อำนาจ’ มากขึ้น ยิ่งนิ่ง ยิ่งเป็นธรรมชาติ ยิ่งเก๋า ยิ่งเซียน ยิ่งแสบสันต์ แต่ก็ยิ่งน่ารัก จนคุณบรรหารสามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาเป็นที่รักของนักข่าวและประชาชนได้มากกว่ายุคไหนๆ ในอดีต (ลองนึกถึงภาพลักษณ์ของคุณบรรหารสมัยเป็นรัฐมนตรียุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกสุจินดา คราประยูร, สมัยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2538-2539 เปรียบเทียบกับยุคหลังปี 2540)

ท้ายที่สุด คุณบรรหารก็ถูกผู้คนจำนวนมากเลือกจดจำในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ มีดีมีเลวเหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ เข้าใจธรรมชาติการเมืองไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่สุดขั้ว มีเมตตา ติดดินเข้าถึงง่าย ตั้งใจนำความเจริญสู่บ้านเกิด เป็นมือทำงานสุดขยัน จอมเก็บรายละเอียด ใจกว้าง พร้อมให้อภัย ฯลฯดังที่เห็นในทิศทางการรายงานข่าวหลังจากท่านเสียชีวิต ส่วน ‘บาดแผล’ ติดตัวต่างๆ เช่น “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง” “ปลาไหล” หรือ “พรรคมาร” ที่สมัยหนึ่งเคยถูกผู้คนจับตาเพ่งมอง ก็เหลือเพียงการชายตามองหรือหรี่ตามอง วีรกรรมวีรเวรหลายเรื่องก็ถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา

ชีวิตทางการเมืองของคุณบรรหารทำให้เราเห็นว่า การรู้จักอำนาจที่พอเหมาะพอดีกับตัวเอง มันทำให้ตัวเบา ยืนยาว และมีพลังเพียงใด

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจที่มีพลังที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นอำนาจสูงสุด

การบรรลุเคล็ดวิชานี้เป็นเรื่องยากนะครับ ไม่ใช่ใครก็ทำได้ มันต้องผ่านประสบการณ์ตรงกับตัวเอง ต้องรู้จักและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมา จึงค้นหาจุดสมดุลแห่งตนได้

หลายคนที่ทำได้อาจจะต้องผ่านจุดตกต่ำที่สุดของชีวิตเสียก่อน แต่เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว จิตก็ต้องแข็ง พอที่จะยืนหยัดเอาตัวเองกลับมาให้ได้ด้วย ผมคิดว่าคุณบรรหารผ่านโมเมนต์นั้นมาหลังจากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรง ถูกพรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกันทอดทิ้ง จนสุดท้ายต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด (แม้จะเอาคืนด้วยการยุบสภาจนทำให้อดีตคู่หูการเมืองต้องหลั่งน้ำตาด้วยความแค้น) แถมหลังเลือกตั้งยังต้องกลับมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต้องจับมือกับพรรคคู่อริที่ด่าตัวเองถึงโคตรเหง้าอย่างเจ็บปวดเสียอีก

โศกนาฏกรรมครั้งนั้นน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้คุณบรรหารมองเห็นความเป็นไปของธรรมชาติการเมืองไทย จนบรรลุเคล็ดวิชาแห่งอำนาจใน ‘ทาง’ ของท่านได้สำเร็จ

4. ถ้าพิจารณาชีวิตทางการเมืองของคุณบรรหารทั้งชีวิต ตลอดเรื่อยมาจนถึงชีวิตทางการเมืองของสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน ใครที่เคยกล่าวหาคุณบรรหารว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อ่อนด้อยที่สุดในประวัติ ศาสตร์ คงต้องถอนคำพูดกันพัลวัน

มิเพียงเพราะสิบปีหลังมานี้ สังคมการเมืองไทยไถลลงต่ำไปไกลเกินจินตนาการ

แต่ยังเพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลายคนยิ่งมองเห็นว่า คุณบรรหารเป็นคนการเมืองธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ยิ่งในสังคมการเมืองที่ไม่ธรรมดา (และไม่ธรรมดาขึ้นเรื่อยๆ) อย่างสังคมการเมืองไทย ยิ่งพิสูจน์ได้ถึงความไม่ธรรมดาของคนธรรมดา(ที่ไม่ธรรมดา)อย่างคุณบรรหาร อย่างน้อยคุณบรรหารก็มีดีและเก่งการเมืองใน ‘ทาง’ ของเขา

สังคมไทยยังเรียนรู้จากชีวิตทางการเมืองของคุณบรรหารได้อีกหลายประการ

ผมอยากรู้ว่าชีวิตทางการเมืองของคุณบรรหารสอนอะไรให้พลเอกประยุทธ์บ้าง?

ตีพิมพ์: สำนักข่าวอิศรา วันที่ 27 เมษายน 2559

Print Friendly