วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล
ในวาระพิเศษเช่นนี้ การรำลึกถึงอาจารย์ป๋วยอย่างดีที่สุดคือ การศึกษาความคิดและผลงานของอาจารย์ป๋วย ไม่ใช่กราบไหว้ท่านเหมือนรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ หรือตามแห่แซ่ซ้องสรรเสริญ มัวแต่ “อ้างป๋วย” โดยไม่เคย “อ่านป๋วย” ว่าท่านคิดเขียนอะไรทิ้งไว้ ท่านยึดมั่นอุดมการณ์แบบไหน และมีภาพของสังคมไทยในอุดมคติเช่นไร
เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยด้านกลับของ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วม “อ่านป๋วย” กันใหม่อีกสักครั้ง เผื่อจะได้เข็มทิศทางจริยธรรมไว้เป็นหลักยึด เก็บเกี่ยวภูมิปัญญาไปคิดต่อยอด และรับแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อสังคมไทยในฝัน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน กันต่อไปครับ
1. อุดมการณ์
“… คุณคงไม่ชอบใจเท่าไรนัก ที่ผมเข้าไปพัวพันกับการเมืองและงานด้านรัฐธรรมนูญ ครั้งหนึ่งคุณเคยเตือนผมที่ผมเกี่ยวข้องมากเกินไปกับปัญหาความเป็นธรรมของปัจเจกชน ความเป็นธรรมของสังคมและเสรีภาพ คุณพูดว่าไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นสิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด …
… ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของผมทั้งในและนอกสภานิติบัญญัติระหว่าง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ จริงดังที่คาด ผมมีเรื่องโต้แย้งอยู่เสมอต่อการกลั่นแกล้ง การบิดเบือน แม้กระทั่งการโป้ปดมดเท็จกันซึ่งๆ หน้า ถ้าเป็นปฏิปักษ์แบบเปิดเผยตรงไปตรงมา ผมยินดีต้อนรับ แต่ถ้าเป็นปฏิปักษ์แบบเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ ผมก็ได้แต่เศร้าใจ คำเรียกร้องเพื่อเสรีภาพแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ถูกตราหน้าประหนึ่งว่าเป็นการคดในข้องอในกระดูก เป็นการหลบเลี่ยง ไร้ศีลธรรม และทรยศ เสรีภาพทางวิชาการถูกโจมตีว่าเป็นสิทธิที่อันตราย เมื่อเพื่อนๆ และผมสนับสนุนให้มีเสรีภาพในความเชื่อทางการเมือง เราก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ผู้พร้อมที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายสุดเมื่อปรปักษ์ของผมสิ้นปัญญาที่จะเหตุมาโจมตี ก็หันมาเล่นงานเรื่องเชื้อสายที่เป็นจีนของผม ชื่อเป็นจีนของผม แม้กระทั่งเชื้อสายภรรยาของผมก็ไม่ละเว้น
ในการเขียนถึงเรื่องนี้ ผมไม่ตั้งใจจะบ่นให้ใครๆ อย่างน้อยที่สุดคุณคนหนึ่งละ ให้รู้สึกเสียใจแทนผม ผมเพียงต้องการแสดงความยินดีกับคุณ ในความจริงที่ว่าการต่อสู้ของคุณนั้นยุติลงแล้ว เพื่อนๆ และผมต้องรับภาระหนักขึ้นอีกในการต่อสู้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่สำคัญนัก โดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความจริงที่ว่าคุณกับผมได้เห็นพ้องต้องกันว่า อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ”
ที่มา: ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกประกอบเอกสารเรื่อง Steps to International Monetary Order ซึ่งนำเสนอในการประชุมมูลนิธิ Per Jacobson ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 11 ตุลาคม 2517 บันทึกฉบับนี้เขียนถึงคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร เพื่อนรักผู้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับอาจารย์ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2517 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกการถึงแก่กรรมของคุณหญิงสุภาพ
2. ประชาธิปไตย
“ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตย และในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน… ผมเชื่อในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาของสากลของสหประชาชาติ ผมเชื่อในสิทธิของชายหญิงทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมสังคมที่เขาอาศัยอยู่ การปฏิเสธไม่ให้สิทธิเหล่านั้นแก่เขา เพราะเขายากจนหรือเพราะเขาขาดการศึกษา ผมถือว่าเป็นความร้ายกาจอย่างหนึ่ง ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยควรจะได้มาอย่างสันติวิธี เพราะผมต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธในการรักษาอำนาจของรัฐบาล”
ที่มา: คำให้การของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต่อคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกา ในปี 2520. ตีพิมพ์ในหนังสือ คำให้การของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (2524).
3. ประชาธรรม
“ประชาธรรมเป็นคำที่ผมต้องการใช้มากกว่าประชาธิปไตย เพราะในวงการเมืองนั้น คำว่าประชาธิปไตยใช้จนเฝือ เช่น ในโรงเรียนไทย แม้จะอยู่ในระบบเผด็จการ เขาก็ยังสอนให้นักเรียนท่องว่าประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตย อีกประหนึ่ง การเป็นประชาธิปไตยนั้นถ้าไม่อาศัยหลักธรรมะแล้ว ย่อมไม่สมบูรณ์และบกพร่องแน่ เพราะถึงแม้เราจะปกครองกันด้วยเสียงข้างมาก ถ้าเสียงข้างมากโน้มเอียงไปเชิงพาลแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถถกเถียงเรียกร้องให้มีสิทธิแสดงความเห็นได้ จึงจะเป็นธรรมะ
หลักประชาธรรมเป็นหลักกว้างๆ มีองค์ประกอบเป็นแก่นสารสองประการ คือ เสรีภาพและสิทธิของคนแต่ละคน (จำกัดความตามเอกสารของสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน) ภายในขอบเขตที่ไม่ทำลายเสรีภาพและสิทธิของผู้อื่น นี่ประการหนึ่ง กับประการที่สอง คือ การมีส่วนร่วมในการกำหนดโชคชะตาของสังคมที่เราอาศัยอยู่ แต่ละคนมีสิทธิหน้าที่เท่ากันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีฐานะ เพศ หรือกำเนิดมาอย่างใด …
… ถ้าเราได้สองหลักนี้ คือเสรีภาพและการมีส่วนร่วมแล้ว รูปแบบของประชาธรรมจะเป็นอย่างใดก็แล้วแต่กาละและเทศะ ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างรูปแบบยุโรปอเมริกา เป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ไทยที่จะคิดหารูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมไทย แต่นักรัฐศาสตร์ไทยจะทำหน้าที่ได้ก็ต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ”
ที่มา: บทความ ความรู้เรื่องเมืองไทย (2520). ตีพิมพ์ในหนังสือ ช่วงหนึ่งของกาลเวลา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2528).
4. สันติประชาธรรม
“ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรม นอกจากสันติวิธี การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะสำเร็จอาจจะได้ผลก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ เมื่ออาวุธปะทะกันแล้ว จะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร …
… จุดหมายปลายทางคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนทางการเมือง ซึ่งเราเรียกว่าประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม (ประชาธิปไตย เดี๋ยวนี้ใช้กันจนเฝือความหมายไป) บ้านเมืองที่มีประชาธรรมนั้นมีขื่อมีแป ไม่ใช่ปกครองกันตามอำเภอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประชาธรรมย่อมสำคัญที่ประชาชน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการประชาธรรม ก็ย่อมไม่มีทางที่ใครจะหยิบยื่นให้
ฉะนั้น จุดเริ่มต้นและจุดหมายสุดท้ายคือประชาชนชาวไทย สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย”
ที่มา: บทความ บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี (2515). ตีพิมพ์ในหนังสือ สันติประชาธรรม (2516).
5. เสรีภาพ
“เสรีภาพในสังคม หมายความถึง เสรีภาพในการพูด การคิด การเขียน การชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ เป็นต้น เสรีภาพเช่นว่านี้ ไม่ใช่เสรีภาพในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไป และข้อจำกัดเสรีภาพอีกข้อหนึ่งคือ ประโยชน์ส่วนรวม โดยความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่หรือโดยรัฐบาล ผู้เผด็จการย่อมอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้เผด็จการวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย
เสรีภาพมีคุณแก่สังคม เพราะในสังคมนั้นมีคนจำนวนมาก ความคิดอ่านย่อมแตกแยกกันได้ มนุษย์เรามีสมองด้วยกันทุกคน และความคิดอันประเสริฐของมนุษย์แต่ละคนไม่เลือกชั้นวรรณะหรือทรัพย์ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น เหตุไฉนเล่าเราจึงจำกัดเฉพาะความคิดเห็นของบุคคลส่วนน้อย ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลทั้งหลายแสดงความคิดเห็นตามทัศนะนิยมของเขา จะได้มีโอกาสเลือกได้ว่าวิถีทางใดจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุดแก่ส่วนรวม”
ที่มา: หนังสือ เหลียวหลัง แลหน้า เมื่ออายุ 60 (2519).
6. การลิดรอนเสรีภาพ
“เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่แปลก ถ้าตัวเราเองไม่ได้ถูกลิดรอนเสรีภาพก็จะไม่รู้สึกอะไร และจะพูดได้เสมอว่าคนอื่นยังสามารถอยู่ได้เลยภายใต้การกดขี่ปราบปราม ถ้าคุณเป็นชาวนาและบุตรหลานของคุณถูกตำรวจจะนำตัวไป โดยที่เขามิได้ก่อกวนแต่อย่างใด มิได้ทำอะไรทั้งนั้น ถูกนำตัวไปโดยปราศจากข้อหา เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกขื่นขมมาก”
ที่มา: คำให้การของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต่อคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกา ในปี 2520. ตีพิมพ์ในหนังสือ คำให้การของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (2524).
7. อุดมคติ
“เสรีภาพเป็นเนื้อดิน อากาศ และปุ๋ย ที่จะทำให้พฤกษชาติแห่งความคิดเจริญเติบใหญ่ขึ้นได้ และเมื่อนำความคิดไปสู่อุดมคติ อุดมคติจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลในสังคมสามารถใช้ความคิดอย่างเสรี ปราศจากพันธนาการของจารีตประเพณี หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพ ชนิดที่ไม่ต้องพึงหวาดหวั่นว่าจะเป็นความคิดนอกลู่นอกทาง นั่นแหละจึงจะเป็นการสนับสนุนอุดมคติให้ถือกำเนิดได้ แม่น้ำลำห้วยยังเปลี่ยนแนวเดินได้ สมองมนุษย์อันประเสริฐจะแหวกแนวบ้างมิได้หรือ ในเมื่อไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม”
ที่มา: ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง เรื่อง อุดมคติ (2517).
8. รัฐเผด็จการไทย
“ระบบเผด็จการที่ยาวนาน ได้ทิ้งแผลเป็นที่ลึกสองแผลไว้ในสังคมของเรา เราเกือบลืมความรักในอิสรภาพของเรา ทั้งๆ ที่ชื่อของเราคือคำว่าไทยนั้นมีความหมายถึงอิสรภาพที่น่าทะนง เสรีภาพทางสังคมและการเมืองเป็นพืชพันธุ์ที่แบบบาง ซึ่งจะต้องปลูกรักษาและถนอมเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่รักใคร่ และความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว เราจะต้องเริ่มต้นเรียนรู้นิสัยที่ดีในการท้าทายอำนาจทางการ (authority) เมื่อใดก็ตามที่อำนาจทางการนั้นมีลักษณะพลการไม่ให้ความเป็นธรรมและไม่ถูกต้อง
แผลเป็นทางการเมืองอีกแผลหนึ่งในสังคมของเรา คือการรวมศูนย์อำนาจบริหารไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป ทั้งในคณะรัฐมนตรีและระบบข้าราชการ ทั้งพลเมืองและทหาร เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะฉลาดหรือมีจิตใจเพื่อส่วนรวมเพียงใด คนอื่นๆ ในสังคมย่อมไม่สามารถได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีเพียงพอ”
ที่มา: หนังสือ Best Wishes for Asia (2518) สำนวนแปลโดยวิทยากร เชียงกูล. อ้างจาก หนังสือ ก่อนจะถึงเชิงตะกอน (2544).
9. ธรรมศาสตร์กับการเมือง
“… ธรรมศาสตร์เราต้องเอาใจใส่กับการเมือง ไม่มีปัญหาเพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเมือง แล้วธรรมศาสตร์มันจะไปไม่รอด และหมายความว่าวิชาความรู้จะก้าวหน้าไปนั้นมันเป็นของหลอก ไม่ใช่ของจริง เราจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่กับการเมือง เราจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่กับทุกข์สุขของประชาชน ทุกข์สุขและเอกราชของประเทศ ไม่มีปัญหา เราจำเป็นต้องทำ”
ที่มา: ปาฐกถาวันเลือกตั้งนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 2518. ตีพิมพ์ในหนังสือ เศรษฐทรรศน์ รวมข้อคิดข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2523).
10. ครูบาอาจารย์
“ดูๆ ก็น่าประหลาดอัศจรรย์ที่พวกเราครูบาอาจารย์ พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์ให้นิยมเสรีประชาธิปไตย และให้รังเกียจลัทธิเผด็จการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่พอศิษย์เราจะปฏิบัติตามหลักเสรีประชาธิปไตย เราก็ห้ามไว้ ช้าก่อน ครูบาอาจารย์สั่งสอนศิษย์ให้รู้จักคิดอ่านใช้เหตุผลด้วยตนเอง ครั้นศิษย์ใช้ความคิดเป็นอิสระขึ้น เรากลับไปเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างเรา ครูบาอาจารย์สั่งสอนให้ศิษย์วิจัย พิจารณาภาวะสังคม เพื่อใช้วิชาและสติปัญญาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ครั้นศิษย์เล็งเห็นชัดว่าสังคมมีความบกพร่อง และประสงค์จะประท้วงความบกพร่องของผู้ใหญ่ในสังคม เรากลับเกิดความเกรงกลัว เรียกตำรวจปราบจลาจลมาควบคุมเหตุการณ์ มีอาวุธเครื่องมือพร้อมสรรพ เพื่อระงับการประท้วง
ดูประหนึ่งว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะสร้างศิลปวัตถุอันวิจิตรตระการตา แต่พอก่อๆ ขึ้นจะเป็นรูปเป็นร่าง เรากลับทำลายให้พังพินาศไป”
ที่มา: ปาฐกถา ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย (2511). ตีพิมพ์ในหนังสือ การศึกษาในทรรศนะของข้าพเจ้า (2530).
11. ไทยร่วม ไทยเจริญ
“เรื่องของบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญแก่ชีวิต อิสรภาพของคนและชาติมาก พวกเราแต่ละคนไม่ควรจะมัวถือลัทธิไทยมุงอยู่ร่ำไป การมุงดูเขาทำอะไรกันนั้น มักจะสนุกดีและไม่เสี่ยงอันตรายด้วย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำไป ไทยมุงก็แผ่เมตตาให้โดยบ่นว่าสงสาร เมื่อสงสารแล้วก็สบายใจแก่ตนเอง ถ้าใครเขาโกงกินกันหรือใช้อำนาจเป็นอธรรม เราก็ย้ายสังกัดจากไทยมุงเป็นไทยบ่น หรือผสมกันเป็นไทยมุงบ่น …
… ถ้ารักจะให้ดุลแห่งชีวิตของประชาชาติไทยเคลื่อนสูงขึ้นไปโดยไม่ทิ้งเสถียรภาพ ไม่มีทางอื่น ต้องร่วมกันมากๆ เลิกลัทธิไทยมุง ไทยบ่น ไทยมุงบ่นเสีย ชวนย้ายสังกัดเป็นไทยสน ไทยร่วม ไทยเรียกร้อง แล้วไทยจะเจริญ”
ที่มา: บทความ แตกเนื้อหนุ่ม เมื่อ 2475. ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ (2515).
12. ทางเลือกของคนไทย
“ทางเลือกของคนไทยมีอยู่สองทาง คือปล่อยให้เขาสู้รบกันเป็นศึกกลางเมือง จะยืดเยื้อกันสักปานใดก็แล้วแต่ยถากรรม จะเดือดร้อนแก่ใครสักหมื่นแสนก็ช่วยไม่ได้ เขาจะปกครองกันอย่างไร ใครจะโกงกินกันอย่างไร ไม่ใช่ธุระของเรา ใครจะถูกจับ ถูกทรมาน ก็เป็นกรรมของสัตว์ รบกันแล้วใครจะเสียหายอย่างใดเท่าใด ใครจะมีอำนาจทีหลัง ก็แล้วแต่บุญกรรม เรารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี นี่เป็นทางที่หนึ่ง
อีกทางหนึ่งคือ พยายามป้องกันมิให้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า หรือถ้าป้องกันไม่ไหว ก็พยายามบรรเทาทุกข์ให้น้อยที่สุด คนไทยไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ข้าราชการ ราษฎร คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยม ก็เป็นคนที่จะต้องอยู่ในประเทศไทย และมีลูกหลานเป็นคนไทยทั้งนั้น ทางที่ถูกต้องชอบธรรมคือหาทางปรองดองกัน ในเวลานี้มองหาทางปรองดองไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างตั้งข้อแข็งด้วยกัน ใครอยู่ตรงกลางก็จะถูกฟัน ทิฐิมานะกล้าแข็งเหลือประมาณ แต่ต้องหาวิธีและเวลาปรองดองให้ได้ การปรองดองคือการโอนอ่อนเข้าหากัน ยอมรับและเคารพสิทธิเสรีภาพด้วยกัน เทิดทูนสัจจะ ไม่ปั้นน้ำเป็นตัวใส่ร้ายกัน หรือพลิกแพลงตลบตะแลงเพื่อประโยชน์ชั่วขณะ อีกนัยหนึ่งคือเป็นทางสนับสนุนหลักธรรมะของประชา และพยายามให้เกิดประชาธรรมด้วยสันติวิธี
ถ้าคนไทยจำนวนมากพอ เลือกทางที่สอง ก็ต้องแสดงตัวให้ปรากฏ มิฉะนั้นแล้ว สังคมไทยจะไปสู่ทางที่ลื่นกว่า ง่ายกว่า คือทางเลือกที่หนึ่ง”
ที่มา: บทความ ความรู้เรื่องเมืองไทย (2520). ตีพิมพ์ในหนังสือ ช่วงหนึ่งของกาลเวลา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2528).
13. จดหมายรักถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ
เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว
สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้าน เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่า และทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตาม อำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้ โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุ ได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกกันก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ -ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม- และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่ …
… บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้าน และเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจ ของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ …
… ข้อสำคัญที่สุดก็คือ การจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชนและในฐานส่วนรวมด้วย
พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆ ไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆ ก็คือ ไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี … ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลง ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร …
… สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัวซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง …
… ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน …
… ด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอนให้ได้โปรด เร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้า หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล
ด้วยความเคารพนับถือ
เข้ม เย็นยิ่ง
ที่มา: จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ. ตีพิมพ์ใน เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน (2515).
100 ปี อาจารย์ป๋วย
พันธกิจสำคัญในวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในยุคสมัยที่ “อำนาจคือธรรม” และบ้านเมือง “ไร้ขื่อไร้แป” เช่นนี้ คือการเป็น “ไทยร่วม” เรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ และประชาธรรม ให้คืนกลับมาสู่สังคมไทยโดยเร็ว ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน
“อ่านป๋วย” แล้ว เราไม่ควรลดรูปการรำลึก 100 ปี ชาตกาลของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้เหลือเพียงมิติด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาชนบท และการต่อต้านคอร์รัปชั่นในความหมายแคบ แต่ต้องไม่หลงลืมมิติด้านการเมือง ประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเพื่อนร่วมสังคมไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา ชาวบ้านจำนวนมาก (รวมถึงตัวเราเองด้วย) ถูกรัฐบาลรัฐประหารกดทับอยู่ เราไม่ควรลดรูปอาจารย์ป๋วยให้เหลือเพียงภาพของคนดีผู้ซื่อสัตย์สุจริตไม่โกงกินเท่านั้น แต่ต้องไม่หลงลืมอาจารย์ป๋วยในฐานะเสรีชน ผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม คัดค้านความฉ้อฉลของผู้นำเผด็จการทหาร ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความยุติธรรมเพื่อผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสกว่าและเพื่อสังคมส่วนรวม
มันคงเป็นเรื่องตลกร้าย หากผู้อ้างตนเป็น “ศิษย์ป๋วย” ยังคงยินดีปรีดาอยู่ได้อย่างหน้าตาเฉยภายใต้ระบอบ “ไร้สันติประชาธรรม” ดังที่เป็นอยู่
คำถามที่ควรถามตัวเองให้จงหนักคือ เรารำลึก 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไปเพื่ออะไร?