35 | 53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน (ตอน 1)

 

14310551_10153914645951220_8677826607353653182_o

 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2559 ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กับผม มาแลกเปลี่ยนกันเรื่องพัฒนาการของสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อมโยงมาถึงสภาพปัจจุบันและมองไปข้างหน้า โดยมีคุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นผู้ชวนสนทนา
 
อาจารย์ประจักษ์กับผมเติบโตมาในยุคสมัยเดียวกัน เราต่างได้รับแรงสั่นสะเทือนทางความคิดจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เราเข้าเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์พร้อมกันสองปีหลังจากนั้น เราเริ่มต้นการผจญภัยทางปัญญาในบรรยากาศทางวิชาการที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ ด้วยคำถามท้าทาย และด้วยการมองอนาคตอย่างมีความหวัง
 
ในยุคนั้น การรัฐประหารดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อีกแล้ว เราไม่ต้องชี้หน้าด่ากันว่าใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่าใคร เพราะทุกคนสมาทานหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานกันแต่ต้น เราไม่ต้องเสียเวลาอธิบายว่าประชาธิปไตยมีคุณค่าความหมายอย่างไร ทำไมผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำไมการปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพถึงสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้มันรู้แก่ใจอยู่แล้ว เราถกเถียงกันอย่างมีคุณภาพด้วยประเด็นที่สนุกสนานและแหลมคมกว่านี้ อาจารย์ของพวกเราก็ด้วย
 
เราวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและพรรคการเมือง แต่เราไม่เคยคิดถึงทหารในฐานะอัศวินม้าขาว เพราะเรารู้ว่าระบอบเผด็จการเลวร้ายกว่า โกงกว่า ไร้ประสิทธิภาพกว่า และไร้ภูมิปัญญากว่า เราผลักทหารให้พ้นจากโลกการเมืองและรัฐวิสาหกิจ กลับสู่กรมกองเป็นทหารอาชีพ ทำหน้าที่ที่สมควรจะทำ
 
จากปี 2535 ผ่านปี 2553 จนถึงปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมหาศาลอย่างยากที่จะจินตนาการถึงเมื่อสองทศวรรษก่อน แน่นอนว่าในระดับส่วนแยกส่วนย่อย เราอาจพบเห็นพัฒนาการทางบวกกระจัดกระจายอยู่ตามสมควร แต่ในระดับโครงสร้างส่วนรวม ดูคล้ายจะเป็นตรงกันข้าม โดยเฉพาะในมิติการเมือง บ้างก็ว่าเราถอยหลัง บ้างก็ว่าย่ำอยู่กับที่ บ้างก็ว่าเราถูกฉุดดึงรั้งให้วนกลับมาใหม่
 
เราต้องเผชิญกับรัฐประหารสองหน เราทนเห็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งนับได้ว่าดีที่สุดในสมัยหลังและผู้คนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการออกแบบและผลักดันอย่างแข็งขันต้องถูกฉีกทิ้งและถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับถอยหลังลงเรื่อยๆ ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการจัดทำ เรามีรัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจดิบแบบย้อนยุคแต่คนในสังคมจำนวนมากสนับสนุนอุ้มชู รวมถึงคนชั้นกลางและปัญญาชนที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยในอดีต เราชินชากับความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และประชาชนกระทำต่อประชาชนด้วยกันเองในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองจนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่แสนปกติธรรมดาของการเมืองไทย เรามองตาปริบดูงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น จากระดับ 8-9 หมื่นล้านบาทในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนถึงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาเป็นระดับ 2 แสนล้านบาทในปี 2559 เราอาจจะได้นายกรัฐมนตรีคนนอกหลังจากการเลือกตั้งที่ไร้ความหมายในเร็ววันนี้ และเรากำลังจะรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม ด้วยกลิ่นไอ 6 ตุลาฯ ที่อบอวล
 
หลายคนตั้งคำถามว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” แต่คำถามนั้นยังไม่น่าหวั่นใจเท่ากับ “เราถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง” เพราะทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยตกต่ำลงถึงขีดสุดแล้ว ก็จะมีเหตุใหม่มากระชากให้เราลงต่ำได้อีกอย่างน่าใจหาย ครั้งแล้วครั้งเล่า
 
วิกฤตการเมืองไทยที่กินเวลายาวนานนับทศวรรษทำให้ลูกศิษย์ของเราเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศของการเมืองแห่งความกลัว การแบ่งขั้วแยกข้าง และความสุดโต่ง หลายรุ่นเรียนจบมหาวิทยาลัยโดยยังไม่เคยได้เลือกตั้ง เรื่องที่พูดถึงไม่ได้ในสังคมไทยก็ขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยถูกจับขึ้นศาลทหารพร้อมกับประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือเห็นต่างทางการเมืองจากรัฐจนต้องติดคุก
 
มหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยความถดถอยทางปัญญา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้ตำแหน่งเป็นบันไดไต่เต้าเพื่ออนาคตทางการเมืองและสังคมของตนเอง ศัตรูทางการเมืองของเรากระจอกขึ้นมาก ข้อถกเถียงล้าหลัง ไม่ช่วยลับคมทางปัญญา (จนหลายครั้งเราเลยชอบหันมาทะเลาะกันเอง มันสนุกกว่า – ฮา) นักศึกษาปริญญาตรีหลายคนใช้เหตุผลถกเถียงเรื่องหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ รัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพ ได้เหนือชั้นกว่าศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์หลายคนเสียด้วยซ้ำ อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพในการผลิตงานวิชาการระดับสากลต้องย้อนกลับมาพร่ำสอนหลักการพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยและนิติรัฐกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เสียโอกาสที่จะใช้เวลาเต็มที่กับการผลิตภูมิปัญญาใหม่และข้อถกเถียงใหม่ กระทั่งต้องหันมาเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิ่งที่พื้นฐานที่สุดอย่างการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ คนรุ่นหนุ่มสาวหลายคนรู้สึกสิ้นหวังกับสังคมไทย เมื่อลงแรงสู้เท่าไหร่ก็มองไม่เห็นชัยชนะ
 
ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นหนุ่มสาวที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อย่างอาจารย์ประจักษ์และผม มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทยจาก 2535 ผ่าน 2553 จนถึงปัจจุบันอย่างไร และอะไรคือความท้าทายในอนาคตที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึ่งเริ่มต้นการผจญภัยทางปัญญาในยุค ‘ทศวรรษที่สูญเปล่า’ ต้องเผชิญ
 
ผมได้รับมอบหมายให้ชวนคุยในมิติเศรษฐกิจการเมืองไทยครับ
 
(มีต่อ)

 

Print Friendly