อนาคตของ ‘งาน’

ในเศรษฐกิจแห่งอนาคต รูปแบบและเนื้อหาของ “งาน” ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ และวัฒนธรรมใหม่  ภูมิทัศน์ใหม่ในตลาดแรงงานแห่งอนาคตที่น่าสนใจ มีดังนี้

(1) งานความรู้เข้มข้นเติบโตสูง

ปัจจุบัน การหางานทำยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะเข้มข้น เนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้คนตกงานจำนวนมาก และสภาพการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมร้อยตลาดแรงงานทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ซึ่งทำให้แรงงานในประเทศพัฒนาแล้วสูญเสียงานให้แก่แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาที่มีราคาถูกกว่า แต่งานที่ค่อนข้างมั่นคงและมีอนาคตในการสู้ภัยวิกฤตเศรษฐกิจและต้านกระแสโลกาภิวัตน์ได้คือ งานที่ต้องใช้ความรู้เข้มข้น (Knowledge Work)

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก McKinsey & Co. ประเมินว่า 85% ของตำแหน่งงานเกิดใหม่ในช่วงปี 1998-2006 เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ที่มีความซับซ้อนระดับหนึ่งในการทำงาน เช่น งานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า งานในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น งานวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ งานระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จะเติบโตมากที่สุดถึง 24% ในช่วงปี 2009-2016

(2) งานแห่งอนาคต  

งานแห่งอนาคต คือ งานในธุรกิจที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล งานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ งานที่เกี่ยวข้องพลังงานสะอาดและพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ฃ

วกกลับมาในช่วงเวลาปัจจุบันที่ใกล้ตัวขึ้น มีข้อมูลการสำรวจของนิตยสาร Time ที่น่าสนใจ ทีมงานได้สำรวจธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจเหล่านั้น ได้แก่ ธุรกิจเสริมความงาม ที่เติบโตขึ้นถึง 73% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2007, ธุรกิจยาสมุนไพร ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบันและสอดรับกับกระแสรักสุขภาพของคนอเมริกัน, ธุรกิจเบียร์ท้องถิ่น ซึ่งโตสวนทางกับเบียร์นำเข้า เพราะคนในช่วงวิกฤตยังต้องการเครื่องย้อมใจแก้เครียด แต่ยิ่งราคาถูกยิ่งดี, ธุรกิจขนมหวาน เช่น ช็อกโกแลตราคาประหยัด,  ธุรกิจล็อตเตอร์รี่ ซึ่งในหลายมลรัฐสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศห่างไกลที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว จุดหมายปลายทางที่เติบโตมากคือตะวันออกกลาง (11%) และแอฟริกา (5%) ขณะที่การท่องเที่ยวสู่ยุโรปและเอเชียหดตัวลง

ความสำเร็จในชีวิตการงานจึงอยู่ที่การรู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกและการปรับตัวตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ จงหางานแห่งอนาคตและงานที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้เจอและให้เร็ว

(3) วิถีการทำงานยุคดิจิตอล: อิสระและเสรี  

เทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป การเข้าทำงานในออฟฟิศลดความสำคัญลง เราจะเห็นคนทำงานที่บ้านกันมากขึ้น และติดต่อสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวคือ Location สำคัญน้อยกว่า Communication พนักงานมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น มีเสรีภาพในการทำงานมากขึ้น หาสมดุลระหว่าง “ชีวิต” และ “งาน” ได้ง่ายขึ้น ขณะที่บริษัทเองก็ได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ

การให้เสรีภาพในการทำงานแก่ลูกจ้างมิได้เป็นแค่การเอาใจหรือการให้รางวัลลูกจ้างเท่านั้น แต่กลายเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เพราะในหลายกรณี เสรีภาพในการทำงานของพนักงานส่งผลเพิ่มพูนผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ หลายบริษัท เช่น บริษัท Best Buy ใช้ระบบที่เรียกว่า ROWE นั่นคือ Results-only Work Environment หรือการใช้ผลงานบั้นปลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของแรงงานเป็นสำคัญ กระบวนการทำงานระหว่างทางเป็นเรื่องของลูกจ้างที่นายจ้างจะไม่เข้าไปยุ่ง ขอเพียงส่งมอบผลงานที่ดีให้ได้เป็นพอ

นอกจากนั้น เราจะเห็นคนทำงานรับจ้างอิสระไร้สังกัดมากขึ้น รวมทั้งการทำงานแบบตัวคนเดียวเป็นเจ้านายตัวเอง (Self-employed) มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเปิดโอกาสในการทำงานอย่างหลากหลาย และลดต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการติดต่อประสานงาน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นทีมง่ายขึ้นมาก แถมยังติดต่อสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา แบบ 24/7/365 โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบการบริหารจัดการแบบสั่งการและควบคุม (Command and Control) จากองค์กรขนาดใหญ่หรือสถาบันที่มีลักษณะเป็นทางการเหมือนดังอดีต

(4) รูปแบบความสัมพันธ์ภายในบริษัทเปลี่ยนไป

โครงสร้างอำนาจภายในบริษัทในยุคเศรษฐกิจใหม่แตกต่างไปจากการผลิตในยุคอุตสาหกรรม ตัวบริษัทจะถูกลดความสำคัญลงไป โดยมีแนวโน้มที่จะส่งมอบให้ให้คนนอกทำแทน (Outsourcing) ในกิจกรรมที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักของบริษัทมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัว ขณะที่ตัวแรงงานในฐานะปัจเจกบุคคลมีความสำคัญมากขึ้น และมีพื้นที่รองรับความหลากหลายของปัจเจกบุคคลมากขึ้น ระบบบริหารจัดการแบบสั่งการและควบคุมตามสายการบังคับบัญชาแนวดิ่งจะลดลง โดยเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีการกระจายอำนาจมากขึ้น

แนวโน้มการจ้างงานในอนาคตจะมีงานแบบประจำ (Permanent Work) และเป็นงานตลอดชีพ (Lifetime Work) ลดน้อยลง แทนที่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแบบใหม่ เช่น การทำงานเป็นรายชิ้น (Project-based Work) การทำงานทางไกล (Distance Work) ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างอาจจะไม่เคยพบเจอตัวกันเลย

การผลิตในยุคใหม่จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) และหน่วยธุรกิจขนาดเล็กที่มีเสรีภาพในการประกอบการ ซึ่งเป็นเนื้อนาดินของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ

(5) บทบาทของผู้หญิงที่มากขึ้น

Catalyst กลุ่มวิจัยด้านแรงงาน ได้ศึกษาบริษัทในบัญชี Fortune 500 จำนวน 353 แห่ง พบว่า บริษัทที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากจะมีผลตอบแทนต่อทุน (Return on Equity) สูงกว่าบริษัทอื่นถึง 1 ใน 3   ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สไตล์การบริหารของผู้หญิงมีความใส่ใจกับการติดตามงาน มีแรงผลักดันสูง และมีความระมัดระวังมากกว่าผู้ชายซึ่งมีลักษณะชอบเสี่ยงโดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับผู้ชายด้วยกันเอง นอกจากนั้น ผู้หญิงยังมีนิสัยชอบแข่งขันเอาชนะน้อยกว่า มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) สูงกว่า มีความสามารถในการร่วมมือและหาข้อสรุปร่วมกันเก่งกว่าผู้ชาย

งานวิจัยยังพบว่า ยิ่งในที่ทำงานขนาดเล็ก คล่องตัว ไม่มีลำดับชั้นบังคับบัญชามากมาย ผู้หญิงยิ่งเหมาะกับการเป็นผู้บริหาร ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการทำงานในยุคอนาคต Chartered Management Institute ของสหราชอาณาจักรจึงทำนายว่า ผู้หญิงจะยิ่งเป็นที่ต้องการในตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้นในตลาดแรงงานยุคใหม่

 

อ่านเพิ่มเติม

ตีพิมพ์: หนังสือ Macrotrends ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย (2552)

Print Friendly