ถ้อยคำจากฮาเวล: “เราทุกคนเป็นผู้ร่วมสร้างเผด็จการอำนาจนิยม”

havel

 

ในปี 1939 กองทัพของฮิตเลอร์ดับความเป็นอิสระของเชคโกสโลวาเกีย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การรัฐประหารคอมมิวนิสต์นำพาประเทศให้อยู่ภายใต้การครอบงำของสหภาพโซเวียต และเมื่อ อเล็กซานเดอร์ ดูบเชก นักปฏิรูปพยายามปลดแอกระบบสู่เสรีในปี 1968 หรือที่เรียกว่า “ปราก สปริง” เขาก็ถูกตอบโต้ด้วยการแทรกแซงทางการทหารโดยกองทัพของชาติในสนธิสัญญาวอร์ซอว์  เชคโกสโลวาเกียเพิ่งได้อิสรภาพอย่างแท้จริงใน “การปฏิรูปเวลเวต” อย่างสันติในเดือนธันวาคม 1989 การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของเชคพังทลายลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้  ชายผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่คือนักเขียนบทละครชั้นนำของประเทศ ผู้ต่อต้านเผด็จการคนสำคัญ ผู้เป็นเสมือนจิตสำนึกคุณธรรมของประเทศในสายตาหลายๆ คน เขาคือวาสลาฟ ฮาเวล

มันเป็นความจริงในสากลโลกว่าวรรณคดีและศิลปะมีแนวโน้มที่จะมีสถานะสูงส่งกว่าปกติในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ งานสร้างสรรค์ในประเทศเหล่านี้จะถูกพินิจพิจารณาหานัยยะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น และนี่ก็คือกรณีที่เกิดขึ้นในเชคโกสโลวาเกียด้วย  ฮาเวลหันไปสนใจงานละครหลังจากถูกปฏิเสธการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย (เพราะมาจากครอบครัวร่ำรวย) ในระหว่างทศวรรษ 1960 เขาเขียนบทละครแนว “แอบเสิร์ด” เป็นส่วนใหญ่ วิพากษ์ความไร้เหตุผลและคอร์รัปชั่นของระบบคอมมิวนิสต์อย่างฉลาดและแยบยล แต่ภายหลังเหตุการณ์ปราก สปริง ได้เกิดการควบคุมปัญญาชนและศิลปะอย่างเป็นระบบ และฮาเวลก็ถูกประกาศให้เป็น “ศัตรูของชนชั้น” เขาถูกยึดหนังสือเดินทาง และมีการห้ามนำบทละครของเขาออกแสดง ต่อมาเขาได้รับโอกาสให้ย้ายออกไปอยู่นอกประเทศหลายครั้ง แต่เขาเลือกที่จะอยู่เป็นหอกข้างแคร่ของผู้มีอำนาจโดยให้ความเห็นว่า “ทางออกจากสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้อยู่ที่การหนี”

ในปี 1977 นักเขียนบทละคร ผู้ได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชนชาวเชคหลายร้อยคน ได้ช่วยร่างเอกสารเพื่อสิทธิมนุษยชนฉบับสำคัญชื่อชาร์เตอร์ ’77 บทความของเขาที่ชื่อ “อำนาจของผู้ไร้อำนาจ” (ปี 1978) ได้กล่าวหาว่าระบอบปกครองนี้สร้างสังคมที่เต็มไปด้วยปัจเจกชนที่ศีลธรรมเสื่อมทราม และปีถัดมาเขาก็ถูกพิพากษาจำคุกสี่ปีครึ่ง กระนั้นละครของเขากลับเฟื่องฟูในต่างประเทศ เขาได้รับรางวัลจากต่างชาติมากมาย และได้รับการยกย่องโดยนักเขียนบทละครอย่างทอม สต็อปปาร์ด (ผู้มีเชื้อสายเชค) มันเป็นเรื่องยากที่จะละเลยฮาเวลผู้กลายเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองที่ดังสุดคนหนึ่งของโลก  ในปี 1989 ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชื่อ ซิวิก ฟอรัม ซึ่งเขาช่วยก่อตั้ง จัดการผลักพรรคคอมมิวนิสต์ให้พ้นออกไปจากรัฐบาลได้ในที่สุด และในเดือนธันวาคม รัฐสภาใหม่ของเชคโกสโลวาเกียก็เลือกฮาเวลเป็นประธานาธิบดี มันเป็นการล้มกระดานอย่างพิเศษสุด

ในวันที่ 1 มกราคม 1990 ฮาเวลได้กล่าวผ่านสื่อกับประชาชนของเขา มันเป็นการนำเสนอข้อความที่น่าประหลาดใจในหลายๆ ด้าน มันไม่ใช่ข้อความของผู้ชนะ แต่เป็นประดุจการครุ่นคิดพิจารณาว่า ระบอบอันล้มละลายทางศีลธรรมพลอยทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย เขาบรรยายระบบที่กัดกร่อนคุณค่าและความรู้สึกของมนุษย์ ก่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนจำยอม ไม่มีหนทางต่อสู้ ที่แพร่หลายไปทั่ว มันเป็นข้อความที่ร่างขึ้นมาอย่างทรงพลัง และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างกว้างขวางกับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทั่วโลก

นับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งในปี 2003 ฮาเวลยังคงทำงานในโครงการสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ รวมถึงบันทึกความทรงจำในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

……………..

คำปราศรัย

เราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางศีลธรรมที่ถูกปนเปื้อน เราล้มป่วยทางศีลธรรมเพราะคุ้นเคยกับการพูดสิ่งที่แตกต่างจากความคิดในใจจริง เราเรียนรู้ที่จะไม่เชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ละเลยกันและกัน ใส่ใจเฉพาะแต่ตัวเอง แนวคิดต่างๆ เช่น ความรัก มิตรภาพ  ความเห็นอกเห็นใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือการให้อภัย ได้สูญเสียความลึกซึ้งและมิติต่างๆ ไปหมดสิ้น และสำหรับพวกเราหลายคน มันกลายเป็นแค่ตัวแทนความรู้สึกแปลกประหลาดในเชิงจิตวิทยา หรือกลายเป็นเหมือนคำทักทายล้าสมัยจากยุคโบราณ ซึ่งออกจะพิลึกในยุคสมัยแห่งคอมพิวเตอร์และยานอวกาศ  มีพวกเราแค่ไม่กี่คนที่สามารถร้องตะโกนออกมาดังๆ ว่าผู้ทรงอำนาจทั้งหลายไม่ควรมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และฟาร์มพิเศษที่ผลิตอาหารคุณภาพสูงและไม่ปนเปื้อนสารพิษสำหรับผู้มีอำนาจเหล่านี้โดยเฉพาะก็ควรส่งผลผลิตเหล่านั้นไปยังโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก และโรงพยาบาล หากภาคเกษตรกรรมของเราไม่อาจผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับทุกคน  ระบอบก่อนหน้านี้ ซึ่งผูกติดกับอุดมการณ์อันจองหองและไร้ขันติธรรม ได้ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์จนเหลือเพียงพลังการผลิตและลดทอนคุณค่าของธรรมชาติให้เหลือเพียงเป็นเครื่องมือสำหรับการผลิต  ด้วยการทำเช่นนี้ มันได้ทำร้ายทั้งตัวตนของพวกเขาและความสัมพันธ์ระหว่างกัน มันลดสถานะของบุคคลผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์และอธิปไตย ผู้ทำงานด้วยทักษะอันเต็มเปี่ยมอยู่ในประเทศของตนเอง ให้กลายเป็นแค่สลักเกลียวกับแป้นยึดในเครื่องจักรเสียงดังเหม็นเน่าขนาดใหญ่ยักษ์ซึ่งไม่มีใครรู้ความหมายแท้จริงกระจ่างชัด มันทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการทำให้ตัวเองและสลักเกลียวกับแป้นยึดทั้งหลายเสื่อมสลายลงช้าๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อผมพูดถึงบรรยากาศทางศีลธรรมที่ถูกปนเปื้อน ผมไม่ได้หมายถึงท่านสุภาพบุรุษผู้กินผักออร์แกนิกและไม่ยอมมองออกไปนอกหน้าต่างเครื่องบินเท่านั้น ผมพูดถึงพวกเราทุกคน เราทุกคนกลายเป็นผู้คุ้นชินกับระบบเผด็จการอำนาจนิยมและยอมรับมันในฐานะความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งนั่นช่วยผลักดันให้มันดำรงอยู่เรื่อยไป พูดอีกอย่างก็คือ พวกเราทุกคน แม้จะมากน้อยต่างกัน ต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อปฏิบัติการของเครื่องจักรเผด็จการอำนาจนิยม ไม่มีใครสักคนเป็นเพียงแค่เหยื่อของมัน เราทุกคนยังเป็นผู้ร่วมสร้างมันขึ้นมาด้วย

ผมพูดเช่นนี้ทำไม มันคงเป็นเรื่องไร้เหตุผลมากที่จะเข้าใจมรดกอันน่าเศร้าของช่วงเวลาสี่สิบปีก่อนว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดซึ่งญาติห่างๆ บางคนทำพินัยกรรมยกให้เรา ในทางตรงข้าม เราต้องยอมรับมรดกนี้ว่าเป็นบาปที่เราก่อขึ้นกับตัวเอง หากเรายอมรับเช่นนั้น เราจะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน และของเราเท่านั้น ที่ต้องทำบางสิ่งบางอย่างกับมัน เราไม่อาจโทษผู้นำคนก่อนๆ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะนอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว มันยังจะไปลดความสำคัญของหน้าที่ที่เราแต่ละคนต้องทำในวันนี้  นั่นคือพันธกิจในการทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ เสรี มีเหตุมีผล และรวดเร็ว ขอให้เราอย่าได้เข้าใจผิด รัฐบาลที่ดีที่สุดในโลก รัฐสภาที่ดีที่สุด และประธานาธิบดีที่ดีที่สุด ก็ไม่อาจบรรลุความสำเร็จมากมายด้วยตัวเอง และยังเป็นสิ่งผิดที่จะคาดหวังการชดเชยใดๆ จากพวกเขาเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น อิสรภาพและประชาธิปไตยต้องรวมถึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของเราทุกคนด้วย

หากพวกเราตระหนักถึงเรื่องนี้ ความน่ากลัวทั้งหมดที่ประชาธิปไตยใหม่ของเชคโกสโลวาเกียได้รับมรดกมาก็ดูจะไม่เลวร้ายเกินไปนัก หากเราเข้าใจเช่นนี้ ความหวังก็จะกลับคืนสู่หัวใจของเรา

… โดยสรุป ผมอยากจะบอกว่าผมต้องการเป็นประธานาธิบดีผู้พูดน้อยและทำงานมาก เป็นประธานาธิบดีผู้นอกจากจะมองออกไปนอกหน้าต่างเครื่องบินแล้ว หน้าที่อันดับหนึ่งและสำคัญที่สุดของผมคือการเคียงข้างอยู่ท่ามกลางเพื่อนพลเมืองของผมและรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจเสมอ

คุณอาจถามว่าสาธารณรัฐแบบไหนกันที่ผมฝันถึง ขอให้ผมตอบดังนี้ ผมฝันถึงสาธารณรัฐที่มีเอกราช อิสรภาพ และประชาธิปไตย มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความยุติธรรมในสังคมด้วย พูดสั้นๆ ก็คือ สาธารณรัฐที่ความเป็นมนุษย์ รับใช้ปัจเจกชน และมีความหวังว่าปัจเจกชนจะหวนกลับมารับใช้มันบ้าง สาธารณรัฐของคนผู้เก่งรอบด้าน เพราะหากปราศจากสิ่งนี้ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาใดๆ ของเรา ทั้งปัญหาด้านความเป็นมนุษย์ เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ สังคม หรือการเมือง

ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก่อนหน้าผมผู้โดดเด่นที่สุดเคยเริ่มต้นคำกล่าวครั้งแรกของเขาด้วยการยกข้อความของ โคเมเนียส นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชค ขอให้ผมปิดคำปราศรัยครั้งแรกของผมด้วยการนำประโยคเดียวกันนั้นมาพูดในแบบของผมเองว่า

ประชาชนทั้งหลาย รัฐบาลของท่านได้กลับคืนสู่ท่านแล้ว!

…………

ประวัติส่วนตัว วาสลาฟ ฮาเวล

เกิดวันที่ 5 ตุลาคม 1936 ที่ปราก เชคโกสโลวาเกีย

ทศวรรษ 1950 ฮาเวลทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องแล็บ ถูกเกณฑ์ทหาร และเข้าเรียนในวิทยาลัยเทคนิค (ปี 1955-1957) ก่อนทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเวทีให้กับโรงละครเอบีซีที่ปราก เขาเริ่มต้นเขียนบทละครและบทความนิตยสาร และใกล้ชิดเป็นพิเศษกับโรงละครเธียเตอร์ ออน เดอะ บาลัส เทรด  หลังการปฏิรูปสู่เสรี “ปราก สปริง” (ปี 1968) ไม่ประสบความสำเร็จ งานเขียนของเขาก็ถูกสั่งห้ามเผยแพร่และตัวเขาเองถูกส่งไปเป็นแรงงานในโรงเบียร์ในปี 1974

ฮาเวลเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชื่อชาร์เตอร์ ’77 (ปี 1977) และคณะกรรมการปกป้องผู้ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม (ปี 1978) เขาถูกขังคุกในปี 1979 ด้วยข้อหาพยายามล้มล้างระบบการปกครองจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเพราะล้มป่วยในปี 1983  ตลอดทศวรรษที่ 1980 เขาเผยแพร่งานเขียนในต่างประเทศและในสื่อ ซามิซแดท (ใต้ดิน) ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 1989 เขาได้ร่วมก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชื่อซิวิก ฟอรัม  ภายหลังจากการปฏิวัติเวลเวตในปีเดียวกัน โค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ลงได้ ฮาเวลก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีเชคโกสโลวาเกีย และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1990 แต่ก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1992  ต่อมาเมื่อประเทศแยกออกเป็นสองประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง คือเชคและสโลวัก เขาก็ได้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเชค (ปี 1993-2003) และเกษียณอายุตอนปลายสมัยที่สอง ฮาเวลได้รับการยกย่องมากมาย

ถึงแก่กรรมวันที่ 18 ธันวาคม 2011

…………

ตีพิมพ์: หนังสือ สุนทรพจน์ก้องโลก (2555, สำนักพิมพ์ปราณ) สำนวนแปลคำปราศรัยของฮาเวลโดย ปกป้อง จันวิทย์ และ พลอยแสง เอกญาติ

ภาพประกอบ: http://www.thetimes.co.uk/tto/multimedia/archive/00244/Vaclav_Havel_obit_R_244289a.jpg

Print Friendly