TU101

เทอมนี้ ชีวิตการสอนหนังสือมีเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้สอนวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาปีหนึ่งทุกคนต้องเรียน และเป็นครั้งแรกที่สอนห้องใหญ่ระดับหนึ่งพันคน นึกถึงบรรยากาศเมื่อ 20 ปีก่อน (ใช่แล้ว! มัน 20 ปีมาแล้ว!) สมัยเรียนปีหนึ่ง ไปนั่งฟังอาจารย์เกษียรสอนวิชาสังคมกับการปกครองที่ บร.4 ห้องเดียวกันนี้ (ใช่แล้วครับอาจารย์! มัน 20 ปีมาแล้วครับอาจารย์!) ตอนนั้นยังคิดอยู่เลยว่า คนสอนจะต้องใช้พลังมากขนาดไหน ถึงเอานักศึกษาให้อยู่หมัดได้

ยี่สิบปีต่อมา ก็ได้มีประสบการณ์เดียวกันกับตัวเองในที่สุด … อาจารย์ครับ มันโหดมาก

เรื่องของเรื่องมีที่มาจากมหาวิทยาลัยต้องการปรับปรุงวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาปีหนึ่งใหม่ อาจารย์พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ก็เลยชวน “พวกเรา” มาช่วยออกแบบวิชาสังคมศาสตร์ใหม่ขึ้นมา พวกเราที่ว่ามีแกนหลักคือ อ.กิตติ ประเสริฐสุข อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อ.ธร ปีติดล และผม นอกจากนั้นยังมีอาจารย์อีกหลายคนที่ให้การช่วยเหลือแนะนำในขั้นตอนต่างๆ จนพอจะเปิดสอนได้ในเทอมนี้ (แม้ว่าจะยังไม่เต็ม 100% ตามรูปแบบวิธีการที่เราฝันไว้ก็ตาม)

แรกสุด ทีมพวกเราออกแบบวิชากันไว้ 2 วิชา คือวิชา “เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโลก” ซึ่งตั้งใจจะชวนคุยชวนคิดเรื่องปรากฏการณ์ร่วมสมัยหลากมิติในโลก ผ่าน 3 แกนหลัก คือ Political Globalization (เช่น Geopolitics, Conflict and Violence, Global Governance), Economic Globalization (เช่น Global Economic Crisis, Global Inequality) และ Socio-cultural globalization (เช่น Global Media, Cosmopolitanism)

และวิชา “ประเทศไทยและอาเซียน” ซึ่งตั้งใจจะทำความเข้าใจประเทศไทยและความเป็นไทยที่สัมพันธ์กับอุษาคเนย์และองค์กรอาเซียนในมิติต่างๆ ผ่านแนวคิดเรื่อง ประชาธิปไตย, การพัฒนา, ความยุติธรรม และวัฒนธรรมไทย-อุษาคเนย์

สุดท้าย มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้ว บอกให้เรายุบรวมสองวิชาเข้าด้วยกันเหลือวิชาเดียว ปรับกันไปมาในทีมก็เลยกลายมาเป็นวิชาที่ชื่อ “โลก อาเซียน และไทย” (Thailand, ASEAN, and the World) หรือ TU101 นี้เอง

ความตั้งใจหลักของพวกเราคือ อยากชวนให้นักศึกษาเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทยในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ผ่าน “แว่นตา” ของนักสังคมศาสตร์ และมองเห็นว่าสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ มันเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างไร นอกจากนั้น เราหวังอยากให้วิชานี้มีส่วนในการฝึกฝนหรือเป็นตัวอย่างในการใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์มาทำความเข้าใจความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมเบื้องหน้า ปัญหาในโลกจริง และโครงสร้างที่กำกับอยู่เบื้องหลัง รวมถึงท้าทายให้ร่วมคิดหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้น

ตัวผมเองคิดว่าการสอนนักศึกษาปีหนึ่งเป็นความท้าทายเสมอ เพราะนักศึกษาต้องปรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่หมดจากสมัยเรียนมัธยม (ถ้าเจออาจารย์ดีๆ) วิชาพื้นฐานจะช่วยในการเปลี่ยนผ่านตรงนี้อย่างไร และทำหน้าที่เป็นบันไดขั้นแรกๆ ในกระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อๆ ไปที่ไม่รู้จบได้อย่างไร

นอกจากเราจะสอนเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานแล้ว ถ้าเราสามารถออกแบบวิชาที่ทำให้นักศึกษา “สนุก” และ “ตื่นเต้น” กับการเรียนรู้ได้ น่าจะช่วยสร้างความประทับใจแรกในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ดี ผมเชื่อว่าการเขย่าโลกความคิดของนักศึกษาให้สั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ปีแรกๆ มีความสำคัญมาก พวกเราเองก็เติบโตมาจากอาจารย์หลายคนและหนังสือหลายเล่มที่ได้อ่านตอนแรกเข้ามหาวิทยาลัยมิใช่หรือ

การออกแบบวิชานี้ การหาหนังสือสนุกๆ ให้นักศึกษา การหาเคสในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งระดับโลก อาเซียน และไทย มาเล่านำเพื่อดึงดูดความสนใจก่อนจะลงไปถึงทฤษฎีเบื้องหลัง จึงเป็นความท้าทายที่สนุก และตัวผมเองก็รู้สึกตื่นเต้นกับการเตรียมสอนในคราวนี้มาก

เมื่อวานเป็นวันเปิดคลาสวันแรก เป็นคลาสแนะนำวิชา หวังให้เห็นขอบฟ้าอันกว้างใหญ่ของวิชานี้ ชวนให้ตั้งคำถามกับปรากฏการณ์รอบตัว ลองโยน “แว่นตา” แบบนักสังคมศาสตร์ให้ลองใส่ดู และพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลก และศาสตร์ต่างๆ นั้นมันเชื่อมต่อกันอย่างไร ที่สำคัญคือ แอบทิ้งคำถามยากๆ ไว้เต็มไปหมด และท้าทายให้พวกเขาช่วยกันตอบคำถามยากๆ พวกนี้ให้ได้ ถ้าเทอมนี้ไม่สำเร็จ ก็อีกสี่ปีข้างหน้า หรืออาจจะต้องหาคำตอบกันไปตลอดชีวิตแบบพวกเราก็ได้

เราชวนนักศึกษาคุยตั้งแต่คำถามจากความรุนแรงที่ราชประสงค์ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประวัติศาสตร์บาดแผลของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกายุคคนดำไม่เท่ากับคนขาว กลับมาที่เพลง “หนักแผ่นดิน” และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ข้ามไปคุยกรณีตึก Rana Plaza แหล่งรวม sweatshop ขนาดใหญ่ที่บังคลาเทศถล่มเมื่อสองปีก่อน สำรวจเรื่องเล่าของสิ่งของรอบตัว ปรัชญาว่าด้วย “ความจริง” การเมืองว่าด้วยแผนที่โลก คำพิพากษาของศาลที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร รัฐนิยม 12 ประการสมัยจอมพล ป. และเปิดหนังสือเล่มงาม แผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรม ของ (สยาม)ประเทศไทย ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาไล่แผนที่สยามประเทศไทยกันตั้งแต่ 5,000 ปีก่อน จนถึงหลังปี พ.ศ. 2400 ให้เห็นกันไปเลยว่า ประเทศไทยนี่มันเลื่อนไหลขนาดไหน

หัวใจสำคัญของ TU101 คือการชวนนักศึกษามาเรียนรู้เรื่องโลก อาเซียน และไทย ผ่านคำเจ้าปัญหาที่สำคัญอย่าง ประชาธิปไตย ทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ตลาด ศีลธรรม การพัฒนา นิติรัฐ ความยุติธรรม ความมั่นคง ชาติ และความเป็นไทย นั่นเอง

ลงแรงทำวิชาใหม่กันทั้งที ต้องเอากันให้เต็มที่ เทอมแรกนี้ คลาสผมโชคดีที่ได้นักวิชาการและบุคคลหลากหลายมาร่วม “เปิดโลก” ให้นักศึกษาปีหนึ่งของธรรมศาสตร์ อ.จิตติภัทร พูนขำ จะมาคุยเรื่อง Geopolitics, อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ มาพูดเรื่องประชาธิปไตยและการสร้างประชาธิปไตย, อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง เรื่องการเมืองภาคประชาชน, อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทย, อาจารย์สฤณี อาชวานันทกุล เรื่องธุรกิจยั่งยืน, คุณบรรยง พงษ์พานิช จะมาเล่าประสบการณ์จริงในภาคธุรกิจให้น้องๆ ฟัง, อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้เกียรติมาคุยเรื่องความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย-อุษาคเนย์, อาจารย์ยุกติมาชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลและสร้างสรรค์ของอาเซียน, อาจารย์วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เรื่องโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม และ Cosmopolitanism และ นิ้วกลม จะมาเล่าประสบการณ์ท่องโลกกว้างของเขา ในหัวข้อ ท่องโลก มองไทย เป็นต้น ส่วนคลาสอาจารย์อัครพงษ์เขาสร้างความฮือฮาไปทั่วธรรมศาสตร์ ด้วยการชวนจอห์น วิญญู และพ่อหมอ มาสั่นสะเทือนความคิดให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์

น่าตื่นเต้นดีไหมครับ

Print Friendly