เรียนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่ไหนดี ?

ปัญหาใหญ่ของนักเรียนเศรษฐศาสตร์ไทยเมื่อถึงคราวสมัครเรียนต่อปริญญาเอกก็คือ “ขาดข้อมูล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลัก

คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นป้อมปราการแห่งสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กระนั้น ยังมีหลายมหาวิทยาลัยที่นำเสนอหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ที่ “แตกต่าง” และเต็มไปด้วยความ “หลากหลาย” ดังจะได้เล่าสู่กันฟัง ในบทความนี้

 

เมื่อพูดถึง “เศรษฐศาสตร์ทางเลือก” (Heterodox Economics) เราอาจนิยามได้หลากหลาย แต่นิยามอย่างกว้างและหยาบ ก็คือ สำนักเศรษฐศาสตร์ที่มีจุดเน้นในการศึกษาหรือมีระเบียบวิธีศึกษาที่แตกต่างจากสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไป ตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์  Post Keynesian Economics  เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเมือง (Political Economics)  เศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ (Evolutionary Institutional Economics)  เศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics)  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behaviroal Economics) เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง (Experimental Economics) เศรษฐศาสตร์แนวสตรีศึกษา (Feminist Economics) เศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economics) เป็นต้น

หากสำรวจการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกในสหรัฐอเมริกา สองมหาวิทยาลัยที่น่าเรียนเป็นอย่างยิ่ง ตามความเห็นของผม ก็คือ New School University ที่ New York (http://www.newschool.edu) และ University of Massachusetts แห่ง Amherst หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า UMass (http://www.umass.edu)

เหตุที่ได้จัดมหาวิทยาลัยทั้งสองอยู่แถวหน้า เนื่องจาก มหาวิทยาลัยทั้งสองเป็นแหล่งรวมนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกชั้นนำ มีสำนักคิดที่หลากหลายอยู่ข้างใน  มีประวัติพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน มีหลักสูตรปริญญาเอกและงานวิจัยที่เข้มแข็ง และเป็นแหล่งผลิตนักวิชาการสายนี้อย่างต่อเนื่อง   ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยทั้งสองมีบทบาทนำอยู่ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ทางเลือกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ

 

New School University ตั้งขึ้นตั้งแต่ 1919 โดยกลุ่มอาจารย์ ซึ่งลาออกจาก Columbia University เนื่องจากถูกอธิการบดีปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สาธารณะ ผสานเข้ากับนักวิชาการจากที่อื่น ๆ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยของตัวเองที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีและหลากหลาย อาจารย์รุ่นแรกเริ่มได้แก่ Thorstein Veblen, Charles Beard, John Dewey และ Alvin Johnson เป็นต้น

ปัจจุบัน New School University ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ชั้นนำหลายคน ทั้ง Duncan Foley และ Anwar Shaikh นักเศรษฐศาสตร์พัฒนา เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์แนวโครงสร้างนิยม (Structuralist Economics) ชื่อดังอย่าง Lance Taylor รวมถึง Robert Heilbroner เจ้าของหนังสือ The Worldly Philosophers ซึ่งปัจจุบันเป็น Professor Emeritus ไปแล้ว เป็นต้น

คณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่มีหลักสูตรที่มุ่งสนใจระเบียบวิธีศึกษาและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของความคิดเศรษฐศาสตร์สำนักต่าง ๆ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก เศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์  เศรษฐศาสตร์แนวโครงสร้างนิยม เศรษฐศาสตร์สถาบัน จนถึง Post Keynesian Economics  ทั้งนี้ หลักสูตรยังเน้นหนักไปที่การวิพากษ์วิจารณ์สำนักคิดเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ  อีกทั้ง ประยุกต์และเปรียบเทียบความคิดต่างสำนัก เพื่ออธิบายและตีความสถานการณ์เศรษฐกิจร่วมสมัย

 

ส่วน คณะเศรษฐศาสตร์ของ UMass นั้น เริ่ม “ซ้ายหัน” ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยมุ่งหวังที่จะเป็น Berkeley แห่งภาคตะวันออก   ผู้ที่มีส่วนก่อร่างสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ยุคหันซ้ายในช่วงต้นก็คือ Samuel Bowles และ Herbert Gintis นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายชื่อดังจาก Harvard University รวมทั้ง Stephen Resnick และ Richard Wolff จาก Yale University

ปัจจุบันทั้งสี่ยังมีบทบาทอย่างสำคัญภายในคณะ แม้สองคนแรกเพิ่งจะเกษียณก่อนกำหนดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2545 แต่ยังคงสอนและทำวิจัยอยู่ที่นี่สลับกับที่ Santa Fe Institute  ปัจจุบันทั้งคู่สนใจเศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ (Evolutionary Institutional Economics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น (1) วิวัฒนาการร่วมกันของความพอใจ สถาบัน และพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะแรงจูงใจที่ไม่ได้เห็นแก่ตัวเองเท่านั้น (Non-Self-Regarding Motive) และ (2) ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นที่ความไม่เท่าเทียมกันทางสินทรัพย์ สัญญาไม่สมบูรณ์ และกติกากำกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Governance) แบบตลาด รัฐ และชุมชน

ส่วนสองคนหลัง เป็นเจ้าสำนัก Overdeterminist Marxism หรือ Rethinking Marxism

ทั้งนี้ UMass ยังมีนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกแนวอื่นที่หลากหลาย เช่น Robert Pollin ซึ่งสนใจ Post Keynesian Economics เศรษฐศาสตร์เชิงนโยบาย โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายเศรษฐกิจเปรียบเทียบ   Gerald Epstein ซึ่งศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศเชิงสถาบัน   Nancy Folbre นักเศรษฐศาสตร์แนวสตรีศึกษาแถวหน้า  รวมทั้ง นักเศรษฐศาสตร์พัฒนา อย่าง James Boyce และ Mohan Rao  และนักเศรษฐศาสตร์มหภาคฝ่ายซ้าย อย่าง James Crotty เป็นต้น

หลักสูตรของคณะเศรษฐศาสตร์ UMass น่าสนใจตรงที่วิชาบังคับมีลักษณะเป็น “คู่ตรงข้าม” ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค ตัวแรกจะเรียนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน ตามแนว Walrasian Economics ตัวหลังจะเรียนเชิงสถาบัน  หรือกลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ตัวแรกก็เรียนเหมือนที่เรียนกันตามคณะเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ตัวหลังจะเรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคฝ่ายซ้าย และศึกษาเน้นไปที่ระเบียบวิธีศึกษาที่แตกต่างกันของสำนักเศรษฐศาสตร์มหภาคต่าง ๆ อันนำมาซึ่งการอธิบาย “โลก” ในแบบที่แตกต่างกัน  วิชาเศรษฐมิติก็เช่นเดียวกัน ตัวแรกเรียนทฤษฎี ตัวหลังเรียนเชิงประยุกต์และมุ่งวิจารณ์ที่ระเบียบวิธีศึกษา เป็นต้น

 

นอกเหนือจากทั้งสองมหาวิทยาลัยแล้ว ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่โดดเด่นทางสายเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ได้แก่

(1) University of Utah (http://www.utah.edu) ที่มี E.K.Hunt, Korkut Erturk, Hans Ehrbar เป็นหัวหอกสำคัญ

หลักสูตรของที่นี่ สนใจศึกษาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ด้วยมุมมองทางปรัชญาวิทยาศาสตร์   สนใจปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ ประวัติแนวคิดและระเบียบวิธีศึกษาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์แนวนิเวศน์ Post Keynesian Economics  Bayesian Econometrics และเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเพศสภาพ (Gender Economics) เป็นต้น

(2) University of Notre Dame (http://www.nd.edu) ที่มี David Ruccio ศิษย์เอกอีกคนหนึ่งของ Wolff และ Resnick แห่ง UMass, Philip Mirowski, Amitava Dutt, Martin Wolfson เป็นหัวหอกสำคัญ

ในช่วงปี 2545-2546 มีเรื่องราวสะท้านวงการเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นที่นี่ เนื่องจาก มหาวิทยาลัยต้องการให้คณะเศรษฐศาสตร์แห่งนี้ “หันขวา”  จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวให้ต้องต่อสู้เคลื่อนไหวกัน  ท้ายที่สุดเมื่อต้นปี 2546  คณะกรรมการฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัย มีมติรับข้อเสนอจัดระเบียบคณะเศรษฐศาสตร์  ซึ่งให้มีการแยก “คณะเศรษฐศาสตร์” ที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกในปัจจุบัน ออกเป็น 2 คณะ คือ “คณะเศรษฐศาสตร์และนโยบายศึกษา” ไว้เป็นที่สิงสถิตของพวกนอกคอกในคณะ และ “คณะเศรษฐศาสตร์และเศรษฐมิติ” ให้เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ “บริสุทธิ์”  นับเป็นความน่าสลดใจ

(3) University of Missouri – Kansas City (http://www.umkc.edu) ซึ่งโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

หัวหอกของคณะเศรษฐศาสตร์แห่งนี้คือ Frederic Lee ซึ่งสนใจศึกษา Post Keynesian Economics และประวัติศาสตร์ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์นอกคอก  นอกจากนั้นยังมี Mathew Forstater เป็นผู้อำนวยการ Center for Full Employment and Price Stability  ในช่วงหลายปีหลังมานี้ บอกได้เต็มปากเต็มคำว่าที่นี่คึกคักมาก และ Frederic Lee ไฟแรงอย่างแท้จริง

(4) University of California – Riverside (http://www.ucr.edu) ซึ่งมีสองศิษย์เก่าของ UMass อย่าง Stephen Cullenberg (ปัจจุบันเป็นคณบดี) และ Gary Dymski เป็นหัวเรือใหญ่

หลักสูตรที่นี่เน้น Post Keynesian Economics เศรษฐศาสตร์แรงงาน เศรษฐศาสตร์การเงินฝ่ายซ้าย เศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์สำนัก Overdeterminist Marxism  และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

(5) American University (http://www.american.edu) ซึ่งเน้นศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โลกาภิวัตน์ และนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะ

(6) Washington University – St.Louis (http://www.wustl.edu) ที่มี Douglass North เจ้าสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ และเหล่าสานุศิษย์ เป็นกำลังสำคัญ  เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ที่เสนอหลักสูตรแนวทางเลือก เช่น Colorado State University – Fort Collins (http://www/colostate.edu) ซึ่งเสนอหลักสูตรลูกผสมระหว่างเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายและขวา  หรือ Michigan State University (http://www.aec.msu.edu) ที่คณะเศรษฐศาสตร์การเกษตรเสนอหลักสูตรที่มีส่วนประกอบของเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม เป็นต้น

ส่วนบางมหาวิทยาลัยที่เคยมีบทบาทในด้านนี้ ในช่วงทศวรรษ 1970 กลับเริ่มโรยราลง ไม่ว่าจะเป็น Ratgers, Temple University และ University of New Hampshire เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ใช่ว่าหลักสูตรของคณะเศรษฐศาสตร์เหล่านี้จะละเลยวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  ทุกมหาวิทยาลัยดังที่ได้กล่าวมาล้วนบังคับเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาคขั้นสูง มหภาคขั้นสูง เศรษฐมิติ คณิตเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยกระแสหลักทั่วไปก็คือ ในหลักสูตรยังได้บังคับเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง เช่น เศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์ และยังให้ความสนใจอย่างจริงจัง ในการศึกษาเศรษฐศาสตร์แนวอื่น ๆ เช่น Post Keynesian Economics รวมถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติความคิดทางเศรษฐศาสตร์ ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ และระเบียบวิธีศึกษาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสู่การเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” ที่แท้จริง ในความหมายที่เป็นมากกว่า “นักเทคนิค”

ที่สำคัญกว่านั้น เนื่องจาก อาจารย์ในคณะมีความหลากหลายทางวิชาการสูงมาก และมีวิชาให้เลือกเรียนหลากหลายแนว  บรรยากาศทางวิชาการเยี่ยงนี้จึงเฝ้าเตือนเราเสมอว่า “เศรษฐศาสตร์” ในโลกวิชาการมีระเบียบวิธีที่หลากหลาย และสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างได้  โดยไม่จำเป็นต้องประกาศว่า “ทฤษฎีของข้าคือความถูกต้อง” หรือ “ทฤษฎีของข้าเหนือกว่าใคร”

โลกแห่งวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มิใช่ โลกแห่งเศรษฐศาสตร์ หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2545

Print Friendly