จิ๋วแจ๋วเจาะโลก: 30 ปีให้หลัง

เมื่อคืนนี้ อดีตพิธีกรรายการข่าวเด็ก “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” เมื่อสามสิบปีก่อน (มันเกือบสามสิบปีมาแล้วครับ!) นัดกินข้าวกัน บางคนยังมีโอกาสได้เจอกันบ้างนานๆ ครั้ง บางคนไม่เคยติดต่อกันมาเกินยี่สิบปีแล้ว ขอบคุณเฟซบุ๊กและไลน์ที่ทำให้พวกเรา “ต่อกันติด” อีกครั้ง

พวกเราโตมาด้วยกัน เพราะทำจิ๋วแจ๋วด้วยกันอย่างน้อยก็ 6 ปี อย่างผมก็ตั้งแต่ ป.6 จนเข้ามหาวิทยาลัย

จะว่าไป จิ๋วแจ๋วก็มีส่วนก่อร่างสร้างตัวตนของพวกเราไม่น้อย แต่ละคนก็มาฝึกตนที่นี่กันทั้งนั้น ในขณะที่เพื่อนฝูงวิ่งเล่นตอนเลิกเรียน หรือเรียนพิเศษกันวันเสาร์อาทิตย์ เราออกท่องโลกกว้าง สัมภาษณ์ผู้ใหญ่หลายแวดวง ไปทำข่าวภาคสนาม เดินทางต่างจังหวัดและต่างประเทศ คุยกับเพื่อนเด็กคนเก่ง ฝึกอ่านออกเสียง ฝึกพูดหน้ากล้อง หน้าสาธารณะ

แล้วกลับบ้านไปอ่านหนังสือเรียนและทำการบ้าน

ตอนนั้นคิดว่าจิ๋วแจ๋วเป็นสนามฝึกทักษะ แต่ตอนนี้มองย้อนกลับไปแล้ว จิ๋วแจ๋วเป็นมากกว่านั้น มันเป็นสนามสร้างคาแรกเตอร์ของเราด้วยโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง ความกล้าแสดงออก ความเป็นตัวของตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง การพบปะผู้คน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความชอบเป็นสื่อ ได้มาจากโรงเรียนจิ๋วแจ๋วไม่มากก็น้อย

ชีวิตนี้เป็นหนี้บุญคุณประสบการณ์ช่วงนั้นจริงๆ

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเคยเขียนประวัติรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลกไว้ ขอนำมาบันทึกไว้ตรงนี้อีกทีหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นจะเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันนี้เด็กจิ๋วแจ๋วแต่ละคน ซึ่งอยู่ในวัยใกล้ 40 กันเป็นส่วนใหญ่ ทำอะไรกันอยู่บ้าง

……….

“จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” (เขียน: พฤศจิกายน 2546)

ถ้าผมจำไม่ผิด รายการ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” เริ่มออกอากาศครั้งแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2532 นะครับ ผลิตโดยบริษัท ยูนิคอม จำกัด ของอาจารย์ลักขณา ตะเวทิกุล เจ้าของโรงเรียนอนุบาลนานาชาติดิษยศริน

แรกสุด รายการเด็กของยูนิคอมมีสองรายการ แต่ใช้พิธีกรเด็กชุดเดียวกัน คือรายการ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ออกอากาศวันจันทร์ถึงศุกร์ แล้วก็รายการ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” ออกอากาศวันเสาร์ เวลาเย็นๆ ทางไทยทีวีสีช่องสาม

จิ๋วแต่แจ๋วนี่เป็นรายการวาไรตี้เด็ก ใช้พิธีกรเด็ก ออกอากาศสั้นๆ ประมาณวันละ 5-10 นาที แต่ละวันก็มีช่วงต่างๆ กันไป เช่น วันจันทร์เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ วันอังคารสอนประดิษฐ์และศิลปะ วันพุธเป็นละครหุ่น เป็นต้น ผมเป็นพิธีกรทีวีครั้งแรกก็ที่จิ๋วแต่แจ๋วนี่แหล่ะครับ เป็นรายการวันอังคาร สอนประดิษฐ์และศิลปะ

จำได้ว่าครั้งแรกไปอัดเทปที่โรงเรียนอนุบาลดิษยศริน มีอาหน่อยกับลุงกุ้งไปรับที่โรงเรียนตอนเย็น เป็นพิธีกรคู่กับน้องแพม ลลิตา ตะเวทิกุล ได้ค่าตัวครั้งแรกตอนละสามร้อยบาท แต่จำไม่ได้แล้วว่าการออกจอครั้งแรกของผมสอนประดิษฐ์อะไร แต่ที่แน่ๆ ผมแค่พูดเปิดกับปิดรายการ เป็นตัวประกอบ ให้น้องแพมฉายเดี่ยวสอนประดิษฐ์กับเด็กๆ ตลอดรายการ

ส่วนจิ๋วแจ๋วเจาะโลกเป็นรายการข่าวเด็ก ใช้เด็กเป็นพิธีกรรายงานข่าวแบบผู้ใหญ่ มีคนนั่งอ่านข่าวอยู่ในสตูดิโอ และมีนักข่าวเด็กเดินสายสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และทำสกู๊ปข่าว เข้าใจว่าเริ่มแรกออกอากาศประมาณ 15 นาที ผมก็เริ่มจากการเป็นนักข่าวภาคสนาม สักพักถึงได้เข้ามาอ่านข่าวในสตูดิโอ สตูดิโอที่อัดรายการอยู่ซอยนายเลิศ เพลินจิต ใกล้ๆ ทางด่วน

สักพักหนึ่ง จิ๋วแต่แจ๋วก็ยุบรวมมาเป็นจิ๋วแจ๋วเจาะโลก มีวันเสาร์อาทิตย์ แล้วเพิ่มเวลานานขึ้น ยุครุ่งเรือง (ประมาณ 2533-2535) มีเวลาครึ่งชั่วโมงเลยนะครับ แถมเป็นเวลาดี ก่อนข่าวภาคค่ำช่องสาม จบข่าวเด็กก็ต่อด้วยข่าวผู้ใหญ่ เรทติ้งตอนนั้นสูงจริงๆ นะครับ พี่ๆ ทีมงานเขาบอก ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาวัดกันอย่างไร แต่ถ้าวัดจากจดหมายที่น้องๆ เขียนเข้ามาในรายการแต่ละสัปดาห์ก็เยอะมากทีเดียว และใครๆ ก็รู้จักรายการนี้

ช่วงต่างๆ ในรายการก็มีหลากหลายนะครับ เรามักจะเปิดรายการด้วยข่าวที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน แล้วก็มีสัมภาษณ์พิเศษผู้หลักผู้ใหญ่หลายแวดวง มีช่วงท่องโลกกว้างกับซาฟารีเวิร์ล แบรนด์เพื่อนคนเก่ง (สัมภาษณ์เด็กเก่ง) มีช่วงเล่นเกมส์ นำเที่ยวต่างประเทศ ตอบจดหมาย ฯลฯ ช่วงหนึ่งเราเปิดช่วงนักข่าวท้องถิ่นให้เพื่อนๆ น้องๆ ต่างจังหวัดสมัครเป็นนักข่าวพาเที่ยวจังหวัดของตัวเอง ก็ได้รับความสนใจมาก ช่วงปลายที่ผมทำรายการ (ประมาณมัธยมสามและสี่) ผมก็มีช่วง “เจาะลึก” ที่พี่ๆ ทีมงาน เขาให้โอกาสผมทำอะไรก็ได้ อยากทำสกู๊ปเรื่องอะไร สัมภาษณ์ใครก็ตามสะดวก ให้เขียนบทและคุมตัดต่อเองด้วย ช่วงนั้นผมกำลังบ้าการเมือง ก็เลยชอบนัดสัมภาษณ์นักการเมืิองและผู้ใหญ่ที่ผมอยากเจอ

สำหรับพิธีกรรายการ มีหลายรุ่นนะครับ รุ่นแรกมีอยู่ 6 คน คือ กิ๊ฟท์ นิศานารถ ตะเวทิกุล แพม ลลิตา ตะเวทิกุล ซึ่งทั้งสองเป็นลูกสาวของอาจารย์ลักขณา เอก เอกภพ สุวรรณกิจ (ซึ่งตอนนั้น ถูกวิจารณ์ว่า เหมือน ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ทั้งลีลาและหน้าตา) ป้อง ปกป้อง จันวิทย์ ตั้ม นนที ตรานานนท์ และต้น ศุภชัย ชัยวัฒนเมธิน

ต่อมา เต้ย ณพัชร สุพัฒนกุล กับโบ๊ท ปรางใส ณ นคร สองดารานำแห่งปุกปุยก็เข้ามาเสริมทีมเป็นรุ่นที่สอง หลังจากที่หนังเรื่องปุกปุยออกฉาย (2533) แต่เกร็ดที่น่าสนใจก็คือ พิธีกรเด็กทั้งห้าคน (เต้ย โบ๊ท ตั้ม ต้น และป้อง) มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือ เคยไปแข่งรายการมาตามนัดยุคเศรษฐา-ญาณี ซึ่งตอนนั้นกำลังดังสุดๆ (สมัยที่มีสามวันติด วันจันทร์แข่งตอบคำถาม วันอังคารแข่งใบ้คำ และวันพุธแข่งวาดรูป) นัดนั้นออกอากาศวันส่งท้ายปีเก่า 2531 ต้อนรับปีใหม่ 2532 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทางทีมงานจิ๋วแจ๋วกำลังหาพิธีกรพอดี ท้ายที่สุด ทั้งห้าก็ยกทีมมาเป็นพิธีกรจิ๋วแจ๋วทั้งหมด

ในช่วงประมาณนี้ ก็มีแชมป์ คชา วงศ์รัตน์ เข้ามาเสริมทีมอีกคน ผมจำไม่ได้ว่า มาก่อนหรือหลังเต้ยกับโบ๊ท แต่ก็เป็นช่วงไล่เลี่ยกัน

จากนั้น สักพักหนึ่ง ทางรายการเปิดรับสมัครพิธีกร ซึ่งจอย ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ที่ทุกคนรู้จักกันดีได้รับคัดเลือกแบบผ่านฉลุยด้วยพรสวรรค์ ก่อนหน้านี้ เธอเคยเล่นละครให้รายการฝันที่เป็นจริงมาก่อน และเป็นอดีตผึ้งน้อย เลยคล่องแคล่วอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากพวกพิธีกรรุ่นแรก ซึ่งไม่เคยได้สัมผัสกล้องทีวีมาก่อนในชีวิต ต้องฝึกฝนกันแทบเป็นแทบตาย โดยเฉพาะตัวผมเอง

ถัดจากจอย ก็เป็นน้องแจน ศิรินุช โรจนเสถียร เข้ามาเสริมทีม ไม่แน่ใจว่าแจนเคยเล่นละครมาก่อน หรือเล่นหลังจากที่เป็นพิธีกรจิ๋วแจ๋วแล้ว ตอนนี้เราก็ยังเห็นหน้าเห็นตาน้องแจนในละครค่ายเอ็กแซ็คอยู่ สักพักน้องดี้ ที่ตอนนี้เป็นรองมิสไทยแลนด์เวิร์ล ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของกิ๊ฟกับแพม ก็โตพอเข้ามาร่วมทีมเป็นพิธีกรด้วย บางที น้องสาวของต้น (ผมลืมชื่อไปแล้ว) ก็มาร่วมแจมเป็นพิธีกรบ้างบางครั้ง น้องสาวผมเองก็เคยเป็นพิธีกรกับเขาด้วยครั้งหนึ่ง

เขียนถึงตรงนี้ ก็นึกถึงเพื่อนเก่าหลายคนนะครับ นึกแล้วก็อยากให้มีใครจัดรวมรุ่นกันสักหน่อย

พิธีกรรุ่นนี้ทำงานด้วยกันมานานนะครับ ถ้านับรุ่นแรกก็ตั้งแต่ 2532 จนถึง 2537 หกปีเต็มๆ เห็นจะได้ ถือเป็นยุคที่รายการดังที่สุด ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำสองครั้ง ปี 2533 และ 2536 และได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย

เราเป็นพิธีกรกันตั้งแต่เด็กจนโต (ผมตั้งแต่ประถมหกจนถึงมัธยมสี่ และกลับมาทำอีกครั้งช่วงสั้นๆ ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง) เสียงแตก สิวขึ้น ก็ตอนเป็นพิธีกรนี่ล่ะ จนช่วงปี 2537 ทางรายการก็รับพิธีกรเด็กๆ ที่อายุห่างจากพิธีกรรุ่นแรกๆ (พวกรุ่นแรกๆ เกิดประมาณ 2520-2523) มาเริ่มต้นทีมข่าวยุคใหม่ เป็นการผลัดใบ ไม่งั้นมันชักจะไม่ใช่รายการเด็กเข้าไปทุกทีแล้ว ที่ผมพอจำชื่อได้ เช่น น้องนิว น้องปลา และน้องแบงค์

หลังจากจิ๋วแจ๋วผลัดใบแล้ว ความนิยมก็ดูจะเริ่มหายไป (ไม่ได้แปลว่ารุ่นใหม่สู้รุ่นเก่าไม่ได้นะครับ แต่เพราะวัฏจักรชีวิตรายการทีวีมากกว่า) โดยย้ายเวลาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เวลาที่ดี และเวลาก็ถูกตัดน้อยลง แต่ก็ยังรักษาตัวรอด เปลี่ยนรูปแบบรายการตามตลาดไปเรื่อยๆ อย่างปัจจุบันก็แปลงรูปแบบจากรายการข่าวเด็กมาเป็น จิ๋วแจ๋ว cooking club สอนเด็ก ๆ ทำอาหาร ออกอากาศตอนเจ็ดโมงเช้าวันหยุด

นับว่าจิ๋วแจ๋วเป็นรายการเด็กที่ยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์วงการทีวีไทยก็ว่าได้นะครับ ออกอากาศตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีเว้นช่วง ไม่ง่ายนะครับ คนในวงการย่อมรู้ดีว่ารายการเด็กหาสปอนเซอร์ยากลำบากขนาดไหน และตอนนี้กิ๊ฟท์ก็รั้งตำแหน่งโปรดิวเซอร์รายการเองด้วย หลังจากเรียนจบด้านทีวีจากสหรัฐอเมริกา

ขอลากันด้วย วลีสุดฮิตของรายการจิ๋วแจ๋ว

ผม – ปกป้อง จันวิทย์ – จิ๋วแจ๋วเจาะโลก รายงานครับ

ถ้าเป็นแฟนรายการคงนึกถึงจังหวะการออกเสียง แบ่งคำ และรอยยิ้มของพิธีกรได้นะครับ

……….

ตัดกลับมาปัจจุบัน

เกือบ 25 ปี ที่ห่างหายไปตามเส้นทางของตัวเอง ตอนนี้อดีตพิธีกรเด็กในตอนนั้นก็ใช้ชีวิตแตกต่างหลากหลายกันไป

เอกภพ สุวรรณกิจ (เอก) ดูแลธุรกิจยาสีฟันสมุนไพรและสบู่สมุนไพรของครอบครัว ใครเคยใช้ kolbadent หรือ ioderm ก็เป็นแบรนด์ของพี่เอกนี่ละครับ

นิศานารถ ตะเวทิกุล (กิ๊ฟท์) และพัชรลักขณ์ ตะเวทิกุล (เลดี้) บริหารโรงเรียนนานาชาติของครอบครัว อดีตโรงเรียนอนุบาลนานาชาติดิษยศริน ปัจจุบันคือ The American School of Bangkok

ลลิตา ตะเวทิกุล (แพม) ยังอยู่ในวงการบันเทิง เปิดโรงเรียนสอนร้องเพลง World Star Academy และบริษัทผลิตรายการเรียลลิตี้เด็กทางช่องสาม

ศุภชัย ชัยวัฒนเมธิน (ต้น) ดูแลธุรกิจ Ranong Tea ชาสมุนไพรของครอบครัวที่กำลังโตวันโตคืนทั่วไทยและทั่วโลก

นนที ตรานานนท์ (ตั้ม) ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาพักใหญ่ ก่อนกลับเมืองไทย และทำงานอยู่บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในตอนนี้

ปรางใส ณ นคร (โบ๊ท) อดีตนางเอก “ปุกปุย” หนังเด็กในตำนาน เคยทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ก่อนย้ายมาทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้สักปีครึ่งแล้ว

ณพัชร สุพัฒนกุล (เต้ย) อดีตพระเอก “ปุกปุย” คู่โบ๊ท ร่ำเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เรียนจบ ใกล้กลับบ้านเราเร็วๆ นี้แล้ว

ศิรินุช โรจนเสถียร (แจน) อ่านข่าวและดำเนินรายการหน้าจอให้เราดูแทบทุกวัน พบเจอเธอได้ทาง GMM และ TNN

ส่วนอีกสองคนที่ห่างหายจากการติดต่อไปเลยคือ ศิริลักษณ์ ผ่องโชค (จอย) และคชา วงศ์รัตน์ (แชมป์)

อัพเดตให้อดีตแฟนานุแฟนทราบโดยทั่วกันว่าพวกเรายังอยู่ดีมีสุขบนเส้นทางที่ต่างคนต่างเลือกครับ

……….

Print Friendly