(1)
ด้วยเป็น ‘ศิษย์มีครู’ ผมจึงเชื่อมั่นใน ‘พลังอำนาจแห่งครู’ เสมอมา
ที่มีชีวิตที่ดีและภูมิใจกับมันได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะมี ‘ครูดี’ หลายท่านคอย ‘สอน’ และ ‘ให้โอกาส’
ครูดีเขาไม่ชอบสั่ง แต่เขา ‘สอน’
ไม่ใช่แค่สอนด้วยคำพูด แต่ด้วยการลงมือกระทำให้ดู
ไม่ใช่ด้วยการกำกับควบคุมทุกย่างก้าว แต่ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ลูกศิษย์คิดได้คิดเป็น
ไม่ใช่ด้วยการสอนโดยหมกมุ่นกับเปลือกที่เคลือบฉาบด้วยอวิชชาและมายาคติ แต่มุ่งตรงไปที่แก่นแท้ ทั้งแก่นวิชาและแก่นชีวิต
ไม่ใช่ด้วยการผูกขาดความดี ความงาม ความจริง เพียงหนึ่งเดียวไว้กับตัว แต่ด้วยการปลดเปลื้องพันธนาการให้เหล่าศิษย์ได้มองเห็นและชื่นชมความดี ความงาม ความจริง อันหลากหลาย และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่างอย่างสันติ
ครูดีเขาเคารพและ ‘ให้โอกาส’ ลูกศิษย์
ฟังเหมือนง่ายแต่เอาเข้าจริงแล้วยากเอาการ เพราะจะให้โอกาสคนคนหนึ่งได้จริงนั้น เราต้องรู้จักตัวตนของคนคนนั้นอย่างปรุโปร่งระดับหนึ่ง รู้ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร จุดแข็งจุดอ่อนของเขาอยู่ตรงไหน แล้วหาโอกาสให้ลูกศิษย์ได้พัฒนาตัวเอง จนก้าวเดินหน้าไปบน ‘ทาง’ ที่เหมาะคล้องกับตัวตนของเขา – ด้วยตัวของเขาเอง
‘สอน’ แล้ว ‘ให้โอกาส’ แล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่อง ‘กรรมส่วนตัว’ ของลูกศิษย์แต่ละคน
(2)
ผมเชื่อเสมอว่า ครูหรืออาจารย์ที่ดีต้องเป็นเสมือนโค้ชฟุตบอลที่สามารถดึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวของนักเตะแต่ละคนออกมาได้ และสร้างสภาพแวดล้อมให้พลังในตัวของนักเตะแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน ได้เติบโตพัฒนาบนเส้นทางความถนัดและความชอบของตัวเอง ให้ศิษย์เหล่านั้นตระหนักในพลังที่ตนมี และใช้มันเป็น
ผมเชื่อเสมอว่า อาชีพครูหรืออาจารย์เป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีโอกาสสร้าง ‘โลก’ ใบใหม่จำนวนมากมาย อาจารย์ที่ดีต้องช่วยทำให้ลูกศิษย์สามารถค้นหา ‘โลก’ ของตัวเองเจอ เห็นคุณค่าของการลงแรงสร้าง ‘โลก’ ของตัวเอง กระทั่งอาจต้องแนะแนวทางหรือช่วยลงไม้ลงมือ ให้เขาสร้าง ‘โลก’ ที่เขาอยากเห็นและอยากเป็นได้สำเร็จ
อาจารย์ที่ดีนั้น บางทีเราจำไม่ได้หรอกว่าเขาสอนเนื้อหาอะไร แต่เราจำความประทับใจขณะนั่งเรียนกับเขาได้ว่า ณ ตอนนั้นดวงตาของเรามันเบิกโพลงขนาดไหน
ผมรู้สึกอย่างนั้นเสมอ เวลาได้เรียนกับอาจารย์ดีๆ
และผมมั่นใจว่า ลูกศิษย์ของคันฉัตรน่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน
(3)
ในฐานะ ‘ติ่ง’ ของคันฉัตร ที่ตามอ่านงานเขียนของเขามาตั้งแต่ยุค merveillesxx ในบล็อกแก๊งค์ เรื่อยมาจนถึงยุคเฟซบุ๊ก และตามหน้านิตยสารต่างๆ ผมรู้สึกดีใจมากเมื่อครั้งทราบข่าวว่าคันฉัตรกลายเป็นครูบาอาจารย์ไปอีกคนแล้ว
ผมไม่รู้สึกแปลกใจแม้แต่น้อยกับสถานะใหม่ของคันฉัตร เพราะเมื่อตัวเองอ่านงานเขียนของเขาทีไร ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากเขาทุกที แถมเป็นการเรียนรู้แบบรื่นรมย์ เพลิดเพลิน มีสไตล์ และคมคายทั้งประเด็นและภาษา ผสานเข้ากับลีลายั่วยวนกวนตีนแบบเมอร์ๆ ผมเลยเชื่อของผมมานานแล้วว่าคันฉัตรจะเป็นอาจารย์ที่น่าตื่นตาตื่นใจคนหนึ่ง และทำให้ดวงตาของเหล่าศิษย์เบิกโพลงได้
เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นบันทึกบทแรกในชีวิตอาจารย์ของคันฉัตร เป็นเรื่องเล่าผ่านมุมมองของอาจารย์หนุ่มคนหนึ่งที่ดวงตาอีกด้านหนึ่งเบิกโพลงเพราะพฤติกรรมห่ามฮาสารพัดรูปแบบของเหล่าศิษย์ แบบที่ผมสอนหนังสือมา 15 ปี ไม่เห็นได้เคยเจอะเจออะไรแบบนี้กับเขาบ้าง
หรือที่เขาว่ากันว่า คนเหมือนกันมันดึงดูดกัน จะเป็นจริง (ฮา)
การอ่านหนังสือเล่มนี้นอกจากจะได้อรรถรสสนุกสนานตามมาตรฐานคันฉัตร ‘ผู้เขียนอะไรก็น่าอ่าน’ แล้ว ยังได้เห็นเบื้องหลังชีวิตการทำงานของอาจารย์พิเศษคนหนึ่ง อ่าน ‘คันฉัตร’ แล้ว ผมรู้สึกชื่นชมที่เขาเป็น ‘อาจารย์ธรรมดา’ มองตัวเองเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ผู้สูงส่ง อยู่เหนือลูกศิษย์ และผูกขาดความจริงของโลกของจักรวาล แบบกูคือความถูกต้อง กูถูกที่สุด ต้องฟังกูเท่านั้น ทั้งยังพยายามจะ ‘สอน’ และ ‘ให้โอกาส’ เหล่าศิษย์ของเขา ด้วย ‘ท่ายาก’ ไม่ใช่ ‘ท่ามาตรฐาน’ แบบกางตำรา อ่านพาวเวอร์พอยต์ และสอนไปวันๆ ตามหน้าที่
ในสังคมอำนาจนิยมผสมอนุรักษนิยมเช่นสังคมไทย อาจารย์ ‘ธรรมดา’ แบบคันฉัตรจึงมีความ ‘พิเศษ’ อยู่ในตัว เพราะเป็นเผ่าพันธุ์ที่หาได้ยากยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ควรค่าแก่การสงวนรักษาและขยายเผ่าพันธุ์ แม้ในประการหลัง ผมรู้ดีว่ามิควรคาดหวังเอาจากคันฉัตร (ฮา)
ท่ามกลางภาษาอันจี๊ดจ๊าด เผ็ดร้อน และแสบเปรี้ยว (บ้างก็เรียกอย่างรวมและสั้นว่า ‘แรด’) ผมรู้สึกได้ถึงความรักและความปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ของคันฉัตร คนแบบนี้ทำซึ้งไม่เป็นหรอกครับ มันเสียฟอร์ม ก็ทำทีเป็นเหน็บ จิก กัด ยั่ว กระเซ้าเหล่านักเรียนไปงั้น แต่จริงๆ แล้ว มันคงรักและหวังดีแทบตาย ทั้งรักลูกศิษย์และรักวิชาชีพครู
เชื่อผมเถอะว่า การเขียนหนังสือเป็นวิธีแสดงความรักที่ดีที่สุดของนักเขียน
และหนังสือของ ‘อาจารย์ธรรมดา’ แต่แสน ‘พิเศษ’ ผู้ตกหลุมรักใน ‘พลังอำนาจแห่งครู’ มันก็อ่านเพลินจำเริญใจและหมดจดงดงามแบบนี้ละครับ
ปกป้อง จันวิทย์
ท่าพระจันทร์
มีนาคม 2557
ตีพิมพ์: คำนิยม สำหรับหนังสือ ‘เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ’ ของ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แซลมอน ปี 2557