ตรวจภายใน ‘นิ้วกลม’
(แบบไม่คลำนำ เพราะไม่นิยมคลำ)
………………………………………………………………..
เพราะมีหนึ่ง จึงมีต่อ
ทุกอย่างเริ่มต้นจากรอยยิ้มในดวงตาคู่นั้นแท้ๆ
จากงานหนังสือในปีนั้นจนถึงวันนี้ ผมกับนิ้วกลมก็คบหาสมาคมกันมาน่าจะปีที่หกแล้ว ผมถือนิ้วกลมเป็นเพื่อนรักคนหนึ่งทั้งในโลกสามัญประจำวันและในบรรณพิภพ หากใช้ศัพท์ของเขา เราคงสนิทกันแบบได้เห็น ‘รอยแผลเป็น’ แห่งชีวิต ‘ด้านที่ไม่ได้ขัดเงา’ ของกันและกันอยู่บ้าง
เราทำงานร่วมกันไม่มาก แต่กินข้าวคุยกันไม่น้อย และพบปะกันบ่อยพอที่ผมจะมีโอกาสได้ ‘ตรวจภายใน’ นิ้วกลมอยู่เป็นระยะ
สำหรับผม นิ้วกลมเป็นคนธรรมดาอย่างเป็นธรรมชาติ บางวันก็หล่อ บางวันก็เลว (ฮา) บางวันฝืด บางวันขำ ทื่อบ้าง คมบ้าง ตามกระแสบ้าง สวนกระแสบ้าง เป็นธรรมดามนุษย์เหมือนเราๆ ท่านๆ ทั่วไปนี่แหละ
นิ้วกลมมองโลกแบบธรรมดา คือเห็นทั้งสุขทั้งทุกข์อย่างที่มันเป็น สังเกตเห็นอะไรก็มักเอามาเล่าต่อ สงสัยอะไรก็ชอบตั้งคำถาม อยากรู้อะไรก็พยายามแสวงหาคำตอบจากการอ่าน ฟัง คิด ถาม … แล้วก็เขียน
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานจากความชอบคิดช่างเล่าของนิ้วกลมอีกเล่มหนึ่ง จะต่างออกไปจากเล่มที่แล้วมาอยู่บ้างก็ตรงที่ คราวนี้นิ้วกลมขอสะกิดปลุกท่านผู้อ่านอย่างนุ่มนวลและนอบน้อมให้ ‘ตื่น’ ขึ้นมาสำรวจ ‘ตรวจภายใน’ ของกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสังคมโลกยุค ‘ดิจิตอลโดยกำเนิด’ อย่างการหิว like โหย comment คลั่งสะสม friend ทุ่มเทอัพ status บ้าถ่ายรูป แผลงแพลงกิ้ง ชิมิชิมิ ไปจนถึงปรากฏการณ์ในสังคมอย่างการกระหายข่าวดารา การต่อแถวยาวซื้อโดนัท การแจกถุงผ้า การอยู่คอนโด การดูผี รวมถึงเรื่องถนัดของเจ้าตัว อันได้แก่ ชุดนักศึกษารัดติ้ว สาวแอ๊บแบ๊วบิ๊กอาย นมตู้ม และกิ๊ก! (ฮา)
ปรากฏการณ์ ‘ภายนอก’ แห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ ‘ภายใน’ ของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างไร และ ‘ภายใน’ ที่เปลี่ยนแปลงสะท้อนกลับให้สังคม ‘ภายนอก’ กลายเป็นเช่นไร – เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกใหม่ใบนี้ – นี่เป็นคำถามยากๆ ที่นิ้วกลมอยากทำความเข้าใจ และเสนอความคิดของเขามาแลกเปลี่ยนกับพวกเรา
สำหรับผม นิ้วกลมเป็นนักเล่าเรื่องชั้นดี คุยสนุก เขียนสนาน และบริการ(ผู้อ่าน)ประทับใจ คำถามยากๆ ที่เล่ามา ถ้ามาอยู่ภายใต้ปากกาของผม เขียนให้ตายก็ไม่มีวันสนุกและน่าอ่าน แต่พอเรื่องเล่าเหล่านั้นมาอยู่ในมือของเขา กลับ ‘เอาอยู่’ อย่างน่าทึ่ง
ไม่เชื่อลองเปิดไปอ่านบทความในเล่ม จะมีใครที่เขียนเรื่อง ‘น้ำปลาพริก-พริกน้ำปลา’ หรือเล่าเรื่องป้าตะโกนถามหาน้ำหน้าร้านของชำเมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ อย่างชวนคิด หมดจด และกินใจได้เท่าเขาอีก
นิ้วกลมเป็นคนมีเสน่ห์ อัธยาศัยดี และเป็นที่รักของคนรู้จัก เดี๋ยวนี้แม้คนไม่รู้จักก็รัก นักอ่านบางคนอาจเคยสัมผัสแค่ตัวหนังสือ แต่ก็ถูกทำให้หลงคิดว่าเป็นเพื่อนสนิทกับนิ้วกลมได้ไม่ยาก นั่นเพราะนิ้วกลมเขียนหนังสือจากตัวตนที่เป็น ซึ่งไม่อยากจะชมว่ามันเป็นคนน่ารัก และมันรักคนอ่านเป็นบ้า!
จึงไม่แปลกใจว่าแฟนๆ รักนิ้วกลมกันน่าดู (แฟนๆ หมายถึงแฟนคลับนักอ่าน ส่วนแฟนเฉยๆ หมายถึงชิงชิง ซึ่งเขารักกันน่าดูอยู่แล้ว)
บางตอน ขนาดเริ่มเรื่องด้วยการขับรถไปดูสาวเล่นน้ำสงกรานต์แถวข้าวสาร มันยังจบหล่อๆ ด้วย ‘ปลาดาว’ ได้ บางตอนขนาดแอบเนียนเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่า เช่น นั่งอ่านบทความธรรมะในขณะที่กำลังโหลดรูปโป๊ (ถ้าไม่เคยทำจริง ใครเล่าจะคิดตัวอย่างบาปๆ แบบนี้ได้!) หรือบางตอนแอบสอนว่ามีกิ๊กได้แต่อย่าให้แฟนรู้ (จากตอน ‘กิ๊กกันมะ’- “… เงื่อนไขของความรักอาจไม่ได้คับแคบแค่คำว่า ‘รักเดียวใจเดียว’ หากแต่อยู่ในกรอบที่กว้างกว่านั้นคือ ‘ฉันจะไม่ทำให้เธอต้องเสียใจ’ …”– ผมตีความไม่เกินเลยไปใช่ไหม!)
แต่ก็เชื่อว่าแฟนๆ หรือแฟน (ฮา) ของพี่นิ้วกลมก็ยังคงรับได้ และยังคิดว่ามันเป็นผู้ชายอบอุ่น (เฮ้อ)
สำหรับผม สิ่งที่ผมประทับใจนิ้วกลมที่สุดคือ ความเป็นคนใจกว้าง ใฝ่รู้ ชอบแลกเปลี่ยนถกเถียง รักที่จะทำความเข้าใจในความคิดต่าง นิ้วกลมยังเป็นคนไม่มีอีโก้อย่างเหลือเชื่อ มีขันติธรรมสูง และเท่าที่รู้จักกันมา ผมไม่เคยเห็นนิ้วกลมเล่นบทผู้พิพากษาตัดสินใครอย่างมักง่ายและหยาบกร้าน
คุณสมบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตย น่าเสียใจที่ในสังคมไทยช่วงค่อนทศวรรษหลัง เรามีคนแบบนี้น้อยเกินไป มิเช่นนั้นการเมืองไทยคงสนุกและมีความหมายมากกว่านี้ เพราะถึงที่สุด ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่วิถีชีวิตและการกระทำ ไม่ได้อยู่ที่วาทกรรมและคำพูด
ผมได้อ่านเรื่องเล่ารอบตัวของนิ้วกลมในเล่มนี้แล้วอดคิดถึงสังคมไทยในภาพใหญ่ไม่ได้
ในบทความ ‘คอนโดคนเดียว’ นิ้วกลมกล่าวถึง ‘ทักษะในการอยู่ร่วมกัน’ ภายในบ้านที่หายไปในวิถีชีวิตแบบคอนโด ซึ่งทักษะดังกล่าวน่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะ “สอนให้เราลดตัวตนลงเพื่อแบ่งพื้นที่ให้คนอื่นได้อยู่ร่วมด้วย ไม่เบ่งตัวตนจนพอง ไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่นได้อยู่ได้ยืนด้วยเลย” ทางออกอาจเริ่มได้ด้วยการ “ถอนหูฟังของตัวเองออกบ้าง ลองยืมหูฟังจากเครื่องของคนอื่นมายัดใส่หูของเราแล้วลองฟังอย่างตั้งใจ” นั่นคือ “ออกจากโลกของฉันไปอยู่ในโลกของเธอดูบ้าง” ซึ่ง “จะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ไม่สำคัญ อย่างน้อยก็เข้าใจกันมากขึ้น”
หรือในบทความ ‘โลกอินเตอร์เน็ตกว้างหรือแคบ’ ที่นิ้วกลมตั้งข้อสังเกตว่า โลกอินเตอร์เน็ตสำหรับบางคนแคบกว่าโลกความจริงเสียอีก หากเอาแต่อยู่ในพื้นที่เคยชินโดยเลือกอยู่กับคน “คล้ายๆ กัน” จนไม่คุ้นชินกับความแตกต่างหรือความหลากหลาย ซึ่ง “น่าเสียดายแทนบางคนที่ ‘เลือก’ จะมีเพื่อนเพียงบางแบบเท่านั้น” (โคว้ทมาจากสเตตัสของคุณโตมร ศุขปรีชาอีกต่อหนึ่ง)
จากงานสองชิ้นข้างต้นรวมถึงเรื่อง ‘น้ำปลาพริก หรือ พริกน้ำปลา’ คงพอเห็นรางๆ ว่าสังคมในอุดมคติของนิ้วกลมเป็นอย่างไร – มันไม่ใช่สังคมที่นิ้วกลมต้องการหรือเห็นดีเห็นงามที่สุดแบบใดแบบหนึ่ง แต่มันคือสังคมที่ตัวเขาสามารถถกเถียงร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างเปิดกว้าง เท่าเทียม และเป็นมิตรได้ว่า ‘เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร’ ซึ่งพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การพยายามทำความเข้าใจกันและกันว่าทำไมเธอกับฉันถึงคิดต่างกัน โดยที่แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสอธิบายเหตุผลให้กันฟัง แต่สุดท้ายไม่ต้องเชื่อตามกันก็ได้
แน่นอนว่า สังคมแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในสังคมยินดีเปิดใจกว้าง กล้าก้าวเดินออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยและคุ้นชิน และรัฐเองก็ต้องยอมรับความเห็นต่าง แม้จะแตกต่างจากความคิดกระแสหลักของรัฐหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ตาม
แน่นอนว่า ข้อเสนอข้างต้นไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปแบบยาวิเศษของปัญหาความขัดแย้งทั้งปวงในสังคมไทย แต่มันก็เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำของสังคมสมานฉันท์ที่ยั่งยืนอันต้องการ ‘ความจริง’ ‘ความหลากหลาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานมิใช่หรือ?
ใครว่านิ้วกลมเขียนเรื่อง ‘การเมือง’ ไม่เป็น แค่นั่งเล่นอินเตอร์เน็ตคนเดียวบนคอนโดพลางอ่านการเมืองเรื่องพริกน้ำปลา ก็เผ็ดจัดจ้านได้ใจแล้ว
นิ้วกลมเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อ ‘ตรวจภายใน’ สังคมไทยและ ‘ตรวจภายใน’ จิตใจของตัวเอง นอกจากตัวท่านผู้อ่านเองจะใช้หนังสือเล่มนี้ ‘ตรวจภายใน’ ตัวเองและสังคมแล้ว จะลองพานไป ‘ตรวจภายใน’ นิ้วกลมแบบผมบ้างก็ได้
‘ตรวจภายใน’ นิ้วกลมแล้ว ท่านเห็นเหมือนผมไหมครับว่า นิ้วกลมเป็นหนึ่งในแสงสว่างที่น่าจับตาท่ามกลางความสลัวของสังคมไทย ถ้านิ้วกลมหมั่น ‘ตรวจภายใน’ ตัวเองอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอ ดังที่ชอบทำอยู่แล้วจนเป็นกิจวัตร นิ้วกลมคงจะเป็นเพื่อนที่ผมภาคภูมิใจไปได้อีกนาน และผมเชื่อว่าแสงนี้จะยิ่งส่องสว่างแรงพลังขึ้นอีกในอนาคต
มารออ่านผลงานเล่มต่อๆ ไปด้วยกันดีกว่า
ดูกันว่าเล่มหน้านิ้วกลมจะจับปลาดาวโยนลงทะเลอีกกี่ตัว!
ปกป้อง จันวิทย์
บ้านสีฟ้า
มีนาคม 2555
ตีพิมพ์: คำนิยม สำหรับหนังสือ ‘ตรวจภายใน’ ของ นิ้วกลม ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ปี 2555