เศรษฐกิจแห่งความรู้

 ในรายงาน “จับตาเศรษฐกิจไทย” (Thailand Economic Monitor) เดือนพฤษภาคม 2545 ของธนาคารโลก  นอกจากจะมีบทวิเคราะห์ว่าด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การบริหารจัดการทางการคลัง และการปฏิรูปภาคการเงินและภาคบริษัทแล้ว  ยังมีบทวิเคราะห์เรื่องสถานะความเป็น “เศรษฐกิจแห่งความรู้” (Knowledge Economy) ของประเทศไทยด้วย

ธนาคารโลกหันมาสนใจ “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ในฐานะเส้นทางใหม่แห่งการพัฒนา ตั้งแต่ปี 1998 ดังปรากฎในรายงานว่าด้วยการพัฒนาแห่งโลก (World Development Report) ปี 1998/1999

ทั้งนี้  “ความรู้”  เป็นสินค้าสาธารณะแห่งโลก (Global Public Goods) ที่มีลักษณะไม่เป็นปฏิปักษ์ในการบริโภค เพราะเมื่อความรู้ถูกค้นพบและนำเสนอสู่สาธารณะ การมีผู้ใช้ความรู้นั้นเพิ่มอีกหนึ่งคน ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ความรู้และนวัตกรรมยังมีผลกระทบภายนอกด้านบวกอีกด้วย ผู้ที่ไม่ได้ลงมือผลิตความรู้โดยตรง รวมถึงสังคม สามารถมีเอี่ยวในการได้รับประโยชน์จากความรู้ที่ผู้อื่นผลิต  ความรู้นับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีผลบวกอย่างสูงต่อเศรษฐกิจ

กระนั้น ความรู้มิใช่สินค้าสาธารณะแบบสมบูรณ์ เนื่องจากยังมีคุณสมบัติในการกีดกันผู้อื่นไม่ให้บริโภคได้ เช่น ผู้ผลิตองค์ความรู้สามารถเก็บเป็นความลับ และตั้งราคาสำหรับการเข้าถึงความรู้นั้น  หากไร้ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ก็ไร้ซึ่งแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเอกชนทำการสร้างความรู้ใหม่ เนื่องจากแต่ละคนต่างต้องการรอเป็นผู้ใช้ของฟรี ให้ผู้อื่นลงทุนสร้างความรู้ใหม่ ส่วนตนรอลอกเลียนแบบ ซึ่งจะเผชิญต้นทุนต่ำกว่ามาก

แต่การผูกขาดองค์ความรู้อาจไม่นำมาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมสูงสุดในทุกกรณี เนื่องจาก ลดทอนความสามารถในการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้นั้น และทำให้ความรู้มีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ความรู้มีผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจ ยิ่งความรู้แพร่หลายมาก เศรษฐกิจส่วนรวมยิ่งได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมาก  แต่หากความรู้ที่เอกชนผลิตแพร่หลายมาก กระทั่งสามารถเข้าถึงได้โดยไร้ราคา  ย่อมไม่มีใครอยากผลิต เพราะตนเองรับภาระเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว ผู้อื่นใช้ของฟรีโดยไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการผลิต

ประเด็นขัดแย้งดังกล่าว นับเป็นประเด็นท้าทายในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในยุค “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ว่าจะหาระดับลงตัวที่เหมาะสมในเรื่องสิทธิทางปัญญาอย่างไร ให้สังคมมีสวัสดิการสูงสุด โดยเฉพาะในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีทรัพยากรจำกัด

 

ธนาคารโลกได้นิยาม “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ตามคำนิยามของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Lester Thurow ว่า คือเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและทักษะเป็นสำคัญ ไม่ใช่ขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีหรือสัดส่วนของทุนต่อแรงงาน

ธนาคารโลกมองว่า การพัฒนาของ “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ขึ้นกับสองพลังที่สำคัญคือ การใช้ความรู้อย่างเข้มข้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาวะโลกาภิวัตน์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

สิ่งที่เป็นพลังผลักดันให้ “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ขับเคลื่อนคือ การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร  การเปลี่ยนแปลงระดับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และการลดกฎระเบียบทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ใน “เศรษฐกิจแห่งความรู้”  การพัฒนา “ผลิตภาพ” (Productivity) เกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและองค์กร ทักษะของแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

ประเทศไทยเป็น “เศรษฐกิจแห่งความรู้” หรือไม่ ?

ในรายงานชี้ว่า ระดับความเป็น “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค จากการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของโลก ประเทศไทยยังอยู่ในระดับล้าหลัง โดยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 33 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 4  เกาหลีใต้ ที่ 23 และมาเลเซีย ที่ 30 เป็นต้น  หากแลดูการจัดลำดับของดัชนีด้านเทคโนโลยี สภาพการณ์ยิ่งน่าสลด

ประเทศไทยยังนับว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางความรู้  ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางสู่ “เศรษฐกิจแห่งความรู้” ได้แก่

  • อัตราการเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาต่ำ คุณภาพการศึกษากระจายไม่ทั่วถึง
  • ทักษะแรงงานต่ำ ขาดแรงงานคุณภาพสูง และมีทักษะเฉพาะ
  • ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีต่ำ ทั้งด้านการผลิต ด้านการบริหารโครงการ ด้านนวัตกรรม ทั้งยังขาดการวิจัยและพัฒนา  ขาดความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทท้องถิ่นและต่างชาติในการสนับสนุนนวัตกรรม

(4)   ความล้มเหลวของสถาบันและโครงการของรัฐในการส่งเสริมให้บริษัทเอกชน(โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) พัฒนาทักษะ ฝึกอบรม พัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย และสร้างเครือข่ายแห่งความรู้  ปัญหาคือสถาบันรัฐต่าง ๆ ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน และขาดความร่วมมือระหว่างกัน

 

ในเศรษฐกิจแห่งความรู้  “เครือข่ายทางความรู้” (Knowledge Networking) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง  เครือข่ายทางความรู้คือการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับทักษะและความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัทขนาดเล็กให้ใกล้เคียงกับระดับเทคโนโลยีเฉลี่ยของอุตสาหกรรม การรวมกลุ่มทางเทคโนโลยีมีประโยชน์มากกว่าการแยกพัฒนาอย่างโดดเดี่ยวของบริษัทแบบปัจเจก

ในเศรษฐกิจแห่งความรู้ สายสัมพันธ์ของความรู้และนวัตกรรมในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติเป็นสิ่งสำคัญ  ความเข้มข้นในการใช้ความรู้ในการผลิตสำคัญกว่าความเข้มข้นในการใช้แรงงานหรือทุน

บนเส้นทางสู่ “เศรษฐกิจแห่งความรู้”  นโยบายที่รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทตามคำแนะนำของธนาคารโลกคือ พัฒนาระบบการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะแรงงาน  นอกจากทักษะขั้นพื้นฐานแล้ว  “ความคิดสร้างสรรค์” นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว  การลงทุนทางการศึกษาของรัฐบาลควรมุ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เช่น ลดภาษีสำหรับการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา  สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแห่งความรู้ เช่น สร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง  มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี เป็นต้น

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2545

Print Friendly