เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2545 ในวาระ 70 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันขึ้น ในฐานะ “ทางเลือก” ของการศึกษาปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ในคำแถลงการจัดตั้งกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบัน ที่ร่างโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย และขัดเกลาโดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ และ อ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย ได้ประกาศปณิธานของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันไว้ดังนี้
“… กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันมีความเชื่อว่า “สถาบัน” ทั้งการจัดองค์กร (Organization) และกฎกติกา (Rules of the Game) ในสังคมมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์ในสังคม การศึกษามนุษย์และสังคมโดยละเลยการศึกษาด้านสถาบันนั้นไม่เพียงพอที่จะเข้าใจมนุษย์และสังคมได้อย่างถ่องแท้
ด้วยเหตุดังนี้ การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านสถาบันอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และมิอาจละเลยได้ การละเลยปัจจัยด้านสถาบัน นอกจากจะทำให้การอรรถาธิบายว่าด้วยประพฤติกรรมและปรากฏการณ์ในสังคมไม่สมบูรณ์แล้ว ยังเป็นอุปสรรคในการแสวงหามรรควิธีในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอีกด้วย
เพราะในหลายต่อหลายกรณี ความอ่อนแอของสังคม-การเมือง มีรากเหง้ามาจากความอ่อนแอด้านสถาบัน หากปราศจากการปฏิรูปสถาบัน ทั้งการจัดองค์กรและการปรับเปลี่ยนกฎกติกาแล้ว การปฏิรูปสังคม-การเมือง มิอาจเป็นไปได้
กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันมีปณิธานที่จะศึกษาปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด โดยมิได้ยึดกรอบการวิเคราะห์ในแนวทางของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Neoclassical Economics) เป็นด้านหลัก หากแต่ตั้งเข็มมุ่งในการทำความเข้าใจปัญหาเชิงสถาบัน …”
ทั้งนี้ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบัน ประกอบด้วย รศ.ดร.ชนินทร์ มีโภคี ผศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ อ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร อ.ปกป้อง จันวิทย์ รศ.ดร.ปราณี ทินกร ผศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ ผศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อ.พิสุทธิ์ กุลธนวิทย์ ผศ.ภราดร ปรีดาศักดิ์ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ รศ.ดร.วิไลวรรณ วรรณนิธิกุล รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย อ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย รศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
ในเบื้องต้น กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันได้มุ่งเน้นที่กิจกรรมการอภิปรายทางวิชาการเป็นด้านหลัก ดังจะเห็นได้จากการอภิปรายทางวิชาการที่กลุ่มได้จัดอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งรายการสัมมนาดังปรากฏในภาคผนวกท้ายบทความนี้คงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงประเด็นความสนใจทางวิชาการ และวาระแห่งการวิจัยของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบัน ที่หลากหลายเป็นอย่่างยิ่ง
ในขั้นต่่อไป ทางกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันมีความตั้งใจที่จะผลิตงานวิจัยและหนังสือวิชาการ โดยหัวข้อที่กลุ่มสนใจในเบื้องต้น ได้แก่ “ความเป็นธรรมในสังคม” (Social Justice) “ทุนวัฒนธรรม” (Cultural Capital) “ทุนสังคม” (Social Capital) “รายงานจับจ้องมองโลก” (World Watch) ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงในระบบทุนนิยมโลก และอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงในองค์กรโลกบาลอย่าง WTO IBRD IMF และ “รายงานจับจ้องมองประเทศ” (Country Watch) ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และไทย
ปัจจุบัน สมาชิกของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการทำวิจัยในหัวข้อ “วิกฤตการณ์การเงินไทย 2540 : บทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง” และเป็นผู้บริหารโครงการวิจัย WTO Watch
ในสภาวะที่โลกแห่งวิชาการเศรษฐศาสตร์ถูกครอบครองโดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่โดยมากมักละเลยปัจจัยทางสถาบัน เชื่อแน่ว่ากลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันที่ได้จัดตั้งขึ้น ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะช่วยเพิ่ม “ชีวิต” และ ”สีสัน” ให้แก่วงวิชาการเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย และมีบทบาทในการช่วย “มองมุมใหม่” สำหรับทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยและโลกอย่างสำคัญ
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลให้ทันสมัย ในการตีพิมพ์ในหนังสือ คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ (2547)
กำหนดการสัมมนาของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันในปีการศึกษา 2545 มีดังนี้
วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2545 เรื่อง “เศรษฐศาสตร์สถาบัน: ทางเลือกใหม่ในการศึกษาสังคม-การเมืองไทย” โดย ผศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น)
วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2545 เรื่อง “บทสำรวจทฤษฎีมาร์กซ์แนวใหม่” โดย อ.ปกป้อง จันวิทย์
วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 เรื่อง “ความเสื่อมทางสถาบันของขุนนางนักวิชาการกับวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2540” โดย อ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย
วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2546 เรื่อง “ชุมชนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์” โดย ผศ.ดร.ปัททมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ
วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง “การปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540” โดย รศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น)
กำหนดการสัมมนาของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันในปีการศึกษา 2546 มีดังนี้
วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 เรื่อง “ทุนสังคม (Social Capital) กับสังคมไทย” โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย อ.ดร.เอื้อมพร ตสาริกา และนายสินาด ตรีีวรรณไชย
วันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2546 เรื่อง “บทเรียนจากวิกฤตการณ์การเงินไทย 2540” โดย รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม ดร.สมชัย จิตสุชน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร
วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 เรื่อง “กลุ่มทุนโทรคมนาคมไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ อ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2546 เรื่อง “กลุ่มทุนเจริญโภคภัณฑ์” โดย อ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ นายวิรัตน์ แสงทองคำ และนายวัฒนชัย วินิจจะกุล
วันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2546 เรื่อง “บททบทวนวิวาทะว่าด้วย ธนาคารพาณิชย์: ปลิงดูดเลือดของสังคมไทย” โดย อ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย
วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2546 เรื่อง “การจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย: กรณีศึกษาว่าด้วยท่อก๊าซไทย-พม่า โรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด และเขื่อนปากมูล” โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา และ อ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 เรื่อง “การกระจายอำนาจทางการคลัง: สภาพปัญหาและทางออก” โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา และ รศ.ดร.ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์
วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2547 เรื่อง “แนวทางการปฏิรูประบบการคลังอุดมศึกษา” โดย ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว และ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 เรื่อง “แบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพากับวิกฤตการณ์การเงิน 2540” โดย อ.อนุวัฒน์ ชลไพศาล