รักจะเล่นการเมือง ก็ต้องใช้เงิน ยิ่งต้องการชิงทำเนียบขาวด้วยแล้ว ย่อมต้องใช้เงินมหาศาลสำหรับการหาเสียงทั่วประเทศ แล้วคนธรรมดาจะเอาเงินจากไหนมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
คำตอบก็คือ การขอรับบริจาคหรือเงินสนับสนุนจากประชาชน ด้วยการส่งจดหมายถึงบ้าน เดินสายจัดกิจกรรมหาทุน และรับบริจาคผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือหาเงินอันทรงพลังของคนธรรมดาที่อยากเล่นการเมืองในปัจจุบัน
กฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดให้ประชาชนคนหนึ่งสามารถบริจาคเงินให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยตรง (หรือที่เรียกว่า hard money) ได้ไม่เกินคนละ 2,300 เหรียญสหรัฐต่อการเลือกตั้ง 1 ครั้ง ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีทั้งการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค และการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างผู้สมัครจากสองพรรค ก็สามารถบริจาคเงินให้ผู้สมัครที่เราชื่นชอบและได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2,300 เหรียญ
ทั้งนี้ กฎหมายไม่อนุญาตให้บริษัทหรือสหภาพบริจาคเงินให้แก่ตัวผู้สมัครโดยตรง
เหตุผลของการกำหนดเพดานเงินบริจาคให้นักการเมืองโดยตรง อีกทั้งห้ามบริษัทและสหภาพบริจาคเงินให้นักการเมือง ก็เพื่อไม่ให้นักการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะราย หรือผู้บริจาคเงินรายใหญ่ ซึ่งทุ่มเงินมาช่วยหาเสียง ด้วยหวังจะได้ผลตอบแทนกลับคืน แต่เป็นการบังคับให้นักการเมืองต้องแสวงหาฐานสนับสนุนทางการเงินในวงกว้าง ไม่ผูกขาดกับผู้บริจาครายใหญ่เพียงไม่กี่ราย
นอกจากการให้เงินแก่ ‘ผู้สมัคร’ โดยตรงแล้ว ประชาชนและบริษัทยังสามารถบริจาคเงินให้ ‘พรรคการเมือง’ เพื่อประกอบกิจกรรมทางการเมืองได้ เงินบริจาคส่วนนี้เรียกว่า soft money ซึ่งไม่มีเพดานขั้นสูงในการบริจาค และกฎกติกากำกับน้อยกว่า hard money มาก แม้ช่วงหลังจะมีความพยายามปฏิรูปกฎกติกาว่าด้วยการรับเงินและการใช้เงินของพรรคมากขึ้นก็ตาม
นอกจากนั้น ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สมัครของแต่ละพรรคสามารถขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐ (public financing) ได้อีกด้วย แต่โดยมาก ผู้สมัครเลือกที่จะไม่รับ เพราะหากยอมรับเงินสนับสนุนจากรัฐในรูปแบบ Matching Funds แล้ว จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้เงินหาเสียงของรัฐที่กำหนดเพดานค่าใช้จ่าย แต่ถ้าไม่รับเงินสนับสนุนของรัฐ ผู้สมัครสามารถใช้เงินที่ตนระดมทุนมาได้อย่างเต็มที่
ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากผู้สมัครแข่งขันกันหาเสียงแล้ว ยังต้องแข่งขันกันหาเงินอีกด้วย ใครหาเงินสนับสนุนได้มาก ย่อมได้เปรียบทางการเมือง เพราะสามารถซื้อโฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์ ซึ่งมีราคาแพง แต่เข้าถึงคนวงกว้างได้ถี่และกว้างมากขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถจ้างทีมงานชั้นดีและเดินสายหาเสียงได้อย่างเต็มที่
ถ้าพิจารณาเฉพาะการแข่งขันหาเงินระหว่างผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา สามารถเอาชนะผู้สมัครรายอื่นได้อย่างขาดลอย ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ชี้ว่า กระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2008 โอบามาได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น 193 ล้านเหรียญ อันดับสองได้แก่ ฮิลลารี คลินตันได้ 155 ล้านเหรียญ ส่วน จอห์น แม็คเคน ได้รับเงินบริจาคเพียง 60 ล้านเหรียญเท่านั้น
ในเดือนมกราคม 2008 โอบามา หาเงินได้ 32 ล้านเหรียญ โดย คลินตันได้เกือบๆ 20 ล้านเหรียญ พอมาเดือนกุมภาพันธ์ 2008 คลินตันขยับมาหาเงินได้ 36 ล้านเหรียญ แต่โอบามากระโดดทิ้งห่างไปเป็น 55 ล้านเหรียญ ส่วนล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2008 โอบามาได้ 40 ล้านเหรียญ ขณะที่ คลินตันลดลงเหลือ 20 ล้านเหรียญ ไม่ต้องพูดถึง แม็คเคนซึ่งตามหลังสองผู้สมัครของพรรคเดโมแครตอย่างไม่เห็นฝุ่น โดยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ หาเงินได้เดือนละ 11 ล้านเหรียญ ส่วนเดือนมีนาคมขยับขึ้นเป็น 15 ล้านเหรียญ
แม้ตัวของแม็คเคนจะหาเงินสนับสนุนได้น้อยมาก แต่ CNN ประมาณการว่า รายรับของพรรค รีพับลิกันยังสูงกว่าพรรคเดโมแครต โดยอยู่ที่ระดับ 100 ล้านเหรียญ เทียบกับ 61 ล้านเหรียญ
กระนั้น ความสำเร็จในการหาเงินของโอบามา ไม่ใช่แค่จำนวนเงินที่หาได้มากกว่าผู้สมัครรายอื่นเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ฐานสนับสนุนทางการเงินที่กว้างขวางกว่า และมีสัดส่วนของเงินบริจาครายเล็กรายน้อยเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สมัครคนอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยมากมายช่วยกันควักเงินให้กับการหาเสียงของเขา
ข้อมูลชี้ว่า ยอดรวมของเงินบริจาคขนาดน้อยกว่า 200 เหรียญ เทียบกับยอดเงินบริจาคทั้งหมดที่โอบามาได้รับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2008 สูงถึง 40% ขณะที่ของคลินตันและแม็คเคนอยู่ที่ 23% และ 25% ตามลำดับ
หากเจาะลึกถึง 55 ล้านเหรียญที่โอบามาได้รับในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า มาจากเงินบริจาคของประชาชน 730,000 ราย โดย 390,000 รายในนั้นเพิ่งบริจาคเงินเป็นครั้งแรก และเงิน 45 ล้านเหรียญใน 55 ล้านเหรียญ มาจากเงินบริจาคทางอินเทอร์เน็ต ซึ่ง 90% บริจาคต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ และครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนที่บริจาคเงินต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐนี้ บริจาคต่ำกว่า 25 เหรียญสหรัฐ
ส่วนเดือนมีนาคม 2008 40 ล้านเหรียญของโอบามามาจากผู้บริจาคจำนวนถึง 442,000 ราย โดย 220,000 รายเป็นการบริจาคเงินครั้งแรก ถึงกลางเดือนเมษายน มีคนร่วมบริจาคเงินให้โอบามาแล้วนับ 1.3 ล้านคน (ตัวเลขในเดือนสิงหาคม คาดว่ามีประมาณ 2 ล้านคน) โดยที่เขาไม่ต้องใช้เงินของตัวเองในการหาเสียงเลย เช่นเดียวกับแม็คเคน ขณะที่คลินตันใช้เงินตัวเองไป 5 ล้านเหรียญ และมิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้สมัครพรรครีพับลิกัน ผลาญเงินส่วนตัวไปถึง 42 ล้านเหรียญ แต่กลับต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านก่อนใครเพื่อน
เห็นการเมืองสหรัฐอเมริกา หันมองการเมืองไทยแล้วอดคิดไม่ได้ว่า หากการเมืองไทยเข้าสู่ยุคที่ประชาชนช่วยกันบริจาคเงินให้แก่ผู้สมัครที่ตนชื่นชอบคนละเล็กละน้อย และมีกฎกติกาเกี่ยวกับการรับเงินและการใช้เงินในการหาเสียงที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับสภาพความจริง คงมีส่วนสำคัญในการยกระดับการเมืองไทยให้พ้นไปจากการพึ่งพิงเงินตราจากมหาเศรษฐี กลุ่มทุนใหญ่ หัวหน้ามุ้ง และผู้นำพรรค อีกทั้งคงสามารถดึงดูดคนธรรมดาที่ไม่มีเงิน แต่มีพลัง ความรู้ และความสามารถ ให้เข้ามาเล่นการเมือง โดยยังคงรักษา ‘ตัวตน’ และความเป็นอิสระของตัวเองไว้ได้
แต่โปรดอย่าถามว่า การเมืองไทยจะเดินไปสู่วันนั้นได้เมื่อไหร่และอย่างไร