รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ผมรู้จักอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2535 ผ่านทางคอลัมน์ จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ขณะนั้น ผมกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามและกำลังเต็มเปี่ยมด้วยไฟทางการเมืองที่ลุกโชน อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

เวลานั้น ผมมุ่งมั่นอยากเป็นนักการเมืองในอนาคต จึงมุมานะโหมอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง  ทั้งแนวว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตำรารัฐศาสตร์ รวมทั้ง  บทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยนักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย   คอลัมน์โปรดที่ผมติดตามอ่านเป็นประจำคือ คอลัมน์ของอาจารย์รังสรรค์ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช และอาจารย์เกษียร เตชะพีระ  อาจารย์ทั้งสามมักเสนอมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างจากนักวิชาการรัฐศาสตร์ทั่วไป

กล่าวเฉพาะคอลัมน์ของอาจารย์รังสรรค์  หากมีเนื้อหาว่าด้วยเศรษฐกิจ ผมก็อ่านพอเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่สำหรับเนื้อหาว่าด้วยการเมือง ผมรู้สึกประทับใจและ “ซื้อ” กรอบวิเคราะห์ทางการเมืองของอาจารย์รังสรรค์   ในช่วงต้น  ผมยังไม่สามารถเชื่อมโยงวิธีคิดจากบทความต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ  จวบจนกระทั่ง อาจารย์รังสรรค์ได้รวบรวมบทความที่มีเนื้อหาว่าด้วยการเมืองตีพิมพ์เข้าไว้ด้วยกันเป็นเล่มภายใต้ชื่อ “อนิจลักษณะของการเมืองไทย: เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมืิองไทย” เมื่อปี 2536

ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ทันทีเมื่อแรกเห็น อ่านรวดเดียวจบด้วยความรู้สึกตื่นเต้นและ “ปิ๊ง” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังสือเล่มใดมาก่อน  แม้ผมเคยอ่านบทความบางชิ้นมาแล้ว ความรู้สึกก็หาได้ลดลงไม่  กล่าวได้เต็มปากว่า หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือทีี่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมากที่สุด เนื่องเพราะมันเปลี่ยนแปลงชีวิต มุมมอง และสร้างพื้นฐานความคิด ให้ผมเป็นผมอย่างที่เป็นทุกวันนี้   หากใช้ภาษาของสิงห์สนามหลวง ย่อมต้องบอกว่า “อำนาจวรรณกรรมมีจริง”

นอกจาก หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของผมอย่างสิ้นเชิงแล้ว  อาจารย์รังสรรค์ในฐานะ ครู” เศรษฐศาสตร์คนแรกของผม ได้ชักนำให้ผมรู้จัก “เศรษฐศาสตร์” ในมิติที่แตกต่างจากวิชาว่าด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ตามอวิชชาของนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง   อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมเริ่มมองเห็น “เศรษฐศาสตร์” ในฐานะชุดเครื่องมือที่ใช้อธิบายโลกแบบหนึ่ง  ซึ่งไม่เพียงนำเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังขยายอาณาจักรทางวิชาการเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมอีกด้วย

อาจารย์รังสรรค์เป็น “ครู” คนแรกที่สอนให้ผมเห็นความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์ “สิ่งที่เป็นอยู่” กับ “สิ่งที่ควรจะเป็น”  อาจารย์รังสรรค์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์การเมืิองไทยเพื่อทำความเข้าใจและอธิบาย  สภาพที่เป็นอยู่” ของการเมืองไทย ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากข้อเขียนของนักรัฐศาสตร์จำนวนมากที่มักถกเถียงและนำเสนอ “สภาพที่ควรจะเป็น” ของการเมืองไทย ทั้งนี้ อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมเห็นว่า การพยายามทำความเข้าใจ “สิ่งที่เป็นอยู่” มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ “สิ่งที่ควรจะเป็น” ซึ่งแตกต่างหลากหลายตามอัตวิสัยและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ไม่มีสัจธรรมสากลว่า “สิ่งที่ควรจะเป็น” เป็นเช่นใด  การหลงประเด็นระหว่าง “สิ่งที่เป็นอยู่” กับ “สิ่งที่ควรจะเป็น” ทำให้หลงประเด็นในการวิเคราะห์และไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องที่วิเคราะห์ได้อย่างถ่องแท้

แทนที่อาจารย์รังสรรค์จะเรียกร้องให้นักการเมืองเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ อาจารย์รังสรรค์กลับเสนอกรอบการวิเคราะห์โดยมองนักการเมืองเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและกลุ่มผลประโยชน์ของตน  หาใช่แสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมไม่  อาจารย์รังสรรค์ยังวิเคราะห์การเมืองด้วยข้อสมมติที่ว่า ตัวละครในตลาดการเมืองต่างมีประพฤติกรรมในทางที่ใช้ลำดับแห่งเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์  เมื่อเริ่มต้นบทวิเคราะห์เช่นนี้  เรื่องเล่าว่าด้วยการเมืองของอาจารย์รังสรรค์จึงแตกต่างจากนักวิชาการไทยคนอื่น ๆ

อาจารย์รังสรรค์สอนผมว่า การพยายามเรียกร้องให้นักการเมืองทำตัวเสมือนอรหันต์เป็นเรื่องไร้เดียงสา  หากแต่ “ระบบ” หรือ  “สถาบัน” มีความสำคัญมากกว่า “บุคคล”  การปฏิรูปการเมืิองมิอาจทำได้ด้วยการเรียกร้องความเสียสละหรือจิตใจใฝ่ดีจากนักการเมืิอง  หากอยู่ที่การออกแบบ “ระบบ” หรือ “สถาบัน” ทางการเมืองให้ดี เพื่อปรับโครงสร้างสิ่งจูงใจให้ตัวละครในตลาดการเมืองมีประพฤติกรรมตอบสนองไปในทางที่เหมาะที่ควร

ในฐานะเด็กบ้าการเมืองที่ยังไม่รู้สึกสมาทานใด ๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อได้อ่านหนังสือของอาจารย์รังสรรค์  ผมเริ่มคิดว่าชุดเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มีศักยภาพในการอธิบาย “สิ่งที่เป็นอยู่” ทางการเมืองและสังคมได้ “เข้าท่า” กว่าวิชาการรัฐศาสตร์เองเป็นอันมาก   ผมเริ่มสนใจทำความรู้จักเศรษฐศาสตร์มากขึ้น จนก้าวล่วงไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ  ท้ายที่สุด ผมตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ให้ได้ โดยเลือกสอบเข้าเป็นอันดับหนึ่ง

ผมอยากเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะอยากเรียนรู้วิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์  ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ลึกด้วยการอ่านและเรียนรู้เอาเอง อีกทั้ง เริ่มรู้สึกอยากอ่านหนังสือพิมพ์และบทความเศรษฐกิจรู้เรื่องกับเขาบ้าง ทั้งยังคิดว่านักการเมืองในอนาคตต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจจึงจะได้เปรียบ

ส่วนที่ต้องเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง  ก็เพราะอยากเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รังสรรค์

เมื่อผมสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้จริง ได้สัมผัสบรรยากาศทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ได้อ่านหนังสือมากขึ้น  ได้ร่วมฟัง “บทสนทนาทางวิชาการ” อย่างสม่ำเสมอ  ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์รังสรรค์และอาจารย์อีกหลายท่าน และได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างหลากหลายในฐานะนักศึกษา  ผสานกับนิสัยชอบสอนและสนุกกับการอ่านเป็นทุนเดิม  ความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนักการเมืองได้สูญสิ้นไปตามกาลเวลา ผมรู้สึกว่าได้หลงรักบรรยากาศทางวิชาการอย่างถอนตัวไม่ขึ้น  ผมเริ่มคิดได้ว่าการเป็นนักการเมืองภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ มิอาจทำประโยชน์แก่สังคมได้มากเท่ากับเป็นนักวิชาการ “ที่ดี”

แน่นอนว่า  อาจารย์รังสรรค์เป็นต้นแบบนักวิชาการในอุดมคติของผม  ยิ่งเมื่อได้แปรสภาพจากลูกศิษย์ทางตัวอักษรมาเป็นลูกศิษย์ในสำนักท่าพระจันทร์ด้วยแล้ว ความเคารพนับถือในตัวอาจารย์รังสรรค์ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีตรีคูณ  ไม่นานนัก ความใฝ่ฝันสูงสุดของผมก็เปลี่ยนจากนักการเมืองมาเป็น “นักวิชาการที่ดี”

“นักวิชาการที่ดี” เป็นเช่นใด  ตอบได้ไม่ยากว่าเป็นอย่างที่อาจารย์รังสรรค์เป็น   แม้รู้ตัวว่าผมไม่มีศักยภาพใดเทียบเคียงอาจารย์แม้แต่น้อย  ผมก็มุ่งมาดปรารถนาที่จะเดินตามรอยทางของอาจารย์รังสรรค์  เมื่อครั้งสมัครเข้าเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมจึงขอให้อาจารย์รังสรรค์เป็นผู้ลงนามในใบรับรอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นมงคลแก่การเริ่มต้นชีวิตอาจารย์ของผม

อาจารย์รังสรรค์สอนผมด้วยการกระทำว่า นักวิชาการที่ดีจักต้องมีฉันทะทางวิชาการ  เช่นนี้แล้ว วัตรปฏิบัติที่สำคัญของนักวิชาการก็คือ “การอ่าน”   เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า อาจารย์รังสรรค์เป็น “นักอ่าน” มาแต่ครั้งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา นอกจากอาจารย์อ่านมากและสม่ำเสมอ ยังอ่านหนังสือหลากหลาย  อาจารย์รังสรรค์จึงไม่เคยเป็นนักวิชาการที่ยึดมั่นถือมั่นเศรษฐศาสตร์เป็นสรณะ เป็นตัวตน  ไม่เคยเป็นนักวิชาการหลงยุค ไม่เคยกอดตำราสอน ไม่เคยมีประพฤติกรรมเป็นนักวิชาการตายซาก    ดังที่พบเห็นกันอยู่กลาดเกลื่อนในรั้วมหาวิทยาลัย

อาจารย์รังสรรค์สอนผมด้วยการกระทำว่า นักวิชาการที่ดีจักต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงพรมแดนแห่งความรู้ในโลกวิชาการตลอดเวลา นักวิชาการที่ดีต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ดังชีวิตทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากเปี่ยมด้วยความกระฉับกระเฉงทางวิชาการ  แตกหน่อต่อยอดความสนใจทางวิชาการของตนตลอดเวลา จากความสนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การคลัง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา เศรษฐศาสตร์การเมือง กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ มาสู่ความสนใจเรื่องระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สังคมเศรษฐกิจโลก เศรษฐศาสตร์การเงิน เศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ  ขยายวงไปถึง ระบบทุนวัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ เศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงคราม ฯลฯ

เพื่อนร่วมสำนักท่าพระจันทร์ต่างทราบดีว่า ในช่วงครึ่งทศวรรษหลัง อาจารย์รังสรรค์มิได้ท่องโลกวิชาการด้วยหนังสือเพียงเท่านั้น หากมีอินเตอร์เน็ทเป็นพาหนะคู่ใจ  ภาพอาจารย์รังสรรค์ใช้ห้องคอมพิวเตอร์เป็นฐานที่มั่นในการท่องโลกวิชาการเป็นภาพที่คุ้นเคยในสำนักท่าพระจันทร์  การเก็บรวบรวมสารสนเทศทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์เริ่มต้นจากยุคกระดาษสู่ยุคแผ่นดิสก์จนถึงยุคซีดีรอมในปัจจุบัน ในอีกทางหนึ่ง อาจารย์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะรุ่นยี่สิบในคณะเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ต่างได้รับอานิสงค์ที่ได้ใกล้ชิดและเรียนรู้สารพัดเรื่องจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการกับอาจารย์รังสรรค์ในห้องคอมพิวเตอร์   เทคโนโลยีสารสนเทศมิเพียงทำให้โลกแคบลง หากยังทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์แคบลงอีกด้วย นับเป็นคุณูปการสำคัญ

อาจารย์รังสรรค์สอนผมด้วยการกระทำว่า นักวิชาการที่ดีจักต้องเป็นอิสระแห่งตน ปลอดผลประโยชน์ใด ๆ ทางการเมืิอง ต้องไม่อาศัยความเป็นนักวิชาการไต่เต้าหาประโยชน์ส่วนตน  ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้   “พรหมจรรย์ทางวิชาการ” เป็นเรื่องยากลำบากในการรักษา เพราะเมื่อสูญเสียพรหมจรรย์ ย่อมมิอาจเรียกกลับคืน  หากต้องการธำรงฐานะทางวิชาการให้สังคมวงกว้างรับฟังและเชื่อถือศรัทธา  พรหมจรรย์ทางวิชาการเป็นสิ่งจำเป็น นักวิชาการต้องมีสำนึกทางมโนธรรมในการเตือนสังคมมิให้ตกสู่หุบเหวแห่งหายนภัย มิใช่มุ่งใช้วิชาความรู้เพื่อสอพลอผู้มีอำนาจ  ในทางกลับกัน นักวิชาการต้องเปี่ยมด้วยความหาญกล้าทางจริยธรรม

แม้อาจารย์รังสรรค์มิเคยเอ่ยอ้างว่าตนมี  “ความเป็นกลาง” เนื่องเพราะ ไม่เชื่อว่า“ความเป็นกลาง” มีอยู่จริง  กระนั้น ความลำเอียงของอาจารย์รังสรรค์มิได้สังกัดพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใด ๆ หากเป็นความลำเอียงที่เลือกเข้าข้างและเป็น “มิตร” กับ ผู้ด้อยโอกาส ชนต่ำชั้น ชนชั้นต่ำ และสามัญชนในสังคม มากกว่าเลือกยืนเคียงข้างอภิสิทธิ์ชน อัปรียชน หรือผู้มีอำนาจทางการเมืิองและเศรษฐกิจ

ชีวิตและผลงานทางวิชาการของอาจารย์รังสรรค์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดแจ้งโดยไม่จำเป็นต้องรับการพิสูจน์ใด ๆ อีก   แม้ชื่อคอลัมน์“จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง”  อาจารย์รังสรรค์ยังหมายให้ (สำนัก) “ท่าพระจันทร์” เป็นสัญลักษณ์ของหอคอยงาช้าง ในขณะที่ “สนามหลวง” เป็นโลกของคนเดินถนน  อาจารย์รังสรรค์เคยเขียนไว้ในบทความหนึ่งว่า “… ทั้งๆ ที่สถานที่ทั้งสองอยู่ห่างกันไม่ไกล ถึงสนามหลวงอยู่ใกล้ท่าพระจันทร์เพียงแค่คืบ แต่สำหรับผู้คนในหอคอยงาช้าง ‘สนามหลวง’ อยู่ไกลยิ่ง”

ตลอดชีวิตนักวิชาการ อาจารย์รังสรรค์เอื้ออาทรทั้งต่อคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมเสมอ  ตัวละครอย่างแป๊ะตง หรือยายจันทร์ ที่ล้มหายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทย ล้วนมีที่ยืนในบทความของอาจารย์รังสรรค์เสมอด้วยความคาดหวังที่จะได้เห็นรอยยิ้มของเขาเหล่านั้นบ้างสักวันหนึ่ง

“ ‘Life is tough, so laugh a little’ … มิน่าเล่า แม่เฒ่าจึงไม่เคยยิ้ม” เป็นบทจบของบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “อนิจลักษณะของสังคมไทย” ที่อ่านคราใด ผมก็รู้สึกสะท้อนใจ

ในฐานะ “นักวิชาการฝ่ายซ้าย” ที่ยึดกุมปรัชญาเสรีนิยมทางการเมืองและใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรม และในฐานะ “คนนอกคอก” ที่มี “ปัญหา” กับสังคมในแบบที่เป็นอยู่   อาจารย์รังสรรค์ไม่เชืื่อว่า “ตลาด” คือโลกพระศรีอาริย์ ดังความเชื่อมาตรฐานของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่ทั้งนี้  อาจารย์รังสรรค์ก็หาได้เชื่อมั่นกลไกแห่งรัฐที่มีความล้มเหลวเช่นกันไม่  นอกจากนี้ อาจารย์รังสรรค์ยังมีความเชื่อว่า การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์มิอาจละเลยปัจจัยทาง “สถาบัน”  มิเช่นนั้น กรอบการวิเคราะห์ย่อมขาดความสมบูรณ์ และเป็นอุปสรรคในการแสวงหามรรควิธีแก้ปัญหาและปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมืิอง และสังคม

อาจารย์รังสรรค์ตระหนักถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม อันเป็นพวงจากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ไม่สมดุล และยุทธศาสตร์โลกานุวัตรพัฒนา ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ภยาคติในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ โดย เฉพาะอย่างยิ่งอคติในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม  อคติใน การพัฒนาภาคตัวเมืองยิ่งกว่าภาคชนบท  และอคติในการให้ความสำคัญแก่เป้าหมายการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าเป้าหมายความยากจนและการกระจายรายได้

หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 2540 อาจารย์รังสรรค์ได้ยื่นข้อเสนอแก่ประชาสังคมไทยโดยเสนอ “เว้นวรรค WTO”  ให้ประเทศไทยหยุดยืนอยู่กับที่บนเส้นทางเสรีนิยมทางการค้า  ก้าวถอยหลังบนเส้นทางเสรีนิยมทางการเงิน และเร่งฟื้นฟูสุขภาพด้านต่าง ๆ ของสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง อีกทั้งให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนามากขึ้น  อาจารย์รังสรรค์เสนอ “ฉันทามติแห่งกรุงเทพฯ” ในฐานะทางเลือกที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน”

ในฐานะปัญญาชนสาธารณะ  อาจารย์รังสรรค์นับเป็น Pop Economist ยุคแรกเริ่ม ด้วยเหตุที่มีงานเขียนปรากฏสู่สาธารณชนในวงกว้าง  ทั้งนี้ อาจารย์รังสรรค์มิใช่ “Paul Krugman แห่งวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทย” หากแต่ Paul Krugman เป็น “รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์แห่งวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อเมริกัน” ทั้งนี้ เพราะ Paul Krugman เป็น Pop Economist ตามหลังอาจารย์รังสรรค์

ในฐานะคอลัมนิสต์  อาจารย์รังสรรค์มีความคิดเห็นว่า ผู้อ่านคาดหวังคุณภาพสองประการจากข้อเขียน ข้อหนึ่งก็คือ การนำเสนอบทวิเคราะห์ที่เฉียบคม และจุดประกายแห่งปัญญา ข้อที่สองก็คือ สารสนเทศทางเศรษฐกิจ   หากคอลัมน์ของนักเศรษฐศาสตร์มุ่งขายบทวิเคราะห์และ/หรือข้อมูล คอลัมนิสต์จะต้องมีหน้าที่ติดตามข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจ และติดตามการเคลื่อนไหวในโลกวิชาการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือการวิเคราะห์ปัญหาและปรากฏการณ์เศรษฐกิจด้วย

อายุสิบสามปีของคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” ที่มีผู้อ่านติดตามมากมาย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพด้วยตัวของมันเอง  ด้วยคุณภาพด้านเนื้อหาและภาษาอันเอกอุ ยากจะหาผู้ใดเทียบเคียง

ในฐานะ “คนธรรมศาสตร์” อาจารย์รังสรรค์สอนผมด้วยการกระทำว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” เป็นเช่นใด  แสงธรรมที่เคยสาดส่องทั่วแดนโดมย่อมเลือนหายไป  หาก “คนธรรมศาสตร์” ขาดสำนึกทางการเมือง ทำตัวแปลกแยกจากมวลชน ขาดความเอื้ออาทรที่มีต่อชนต่ำชั้นและชนชั้นต่ำในสังคม  แสงธรรมที่เคยสาดส่องทั่วแดนโดมย่อมเลือนหายไป หาก “ชนชั้นปกครอง” ในมหาวิทยาลัยมิได้ยึดกุมสปิริตแห่งประชาธิปไตย ใช้อำนาจเป็นธรรม  ตัดตอนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ขาดความโปร่งใส  ขาดความรับผิด  ไร้ซึ่งการบริหารจัดการที่มีลักษณะธรรมาภิบาล   อาจารย์รังสรรค์เป็นหนึ่งในความดีงามท่ามกลางภาวะ “ไร้ยางอาย” ที่ระบาดรุนแรงอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงหลายปีมานี้

อาจารย์รังสรรค์ได้พิสูจน์ตนเองในโลกวิชาการมิจำเพาะในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีความแตกฉานและความแก่กล้าทางวิทยาการ หากในฐานะนักวิชาการผู้มีคุณธรรม มีจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย และในประการสำคัญ ยังเปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาการ  ตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน อาจารย์รังสรรค์เล่นบทผู้วิพากษ์นโยบายรัฐบาล ชี้นำการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และให้คำทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยที่อาจารย์รังสรรค์เล่นบทเหล่านี้อย่างคงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด และไม่ว่าจะเป็นยุคเผด็จการหรือยุคประชาธิปไตย

อาจารย์รังสรรค์สอนให้ผมเห็นด้วยการกระทำว่า ความสุขของคนเรา มิได้ขึ้นอยู่กับการไขว่คว้าแสวงหาอำนาจ เงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ หากอยู่ที่การได้ทำในสิ่งที่ตนรักและทำอย่างดีที่สุด ด้วยมาตรฐานระดับสูง  ใช้ชีวิตด้วยความเรียบง่าย สะอาด สงบ สมถะ  อาจารย์รังสรรค์เลือกที่จะผลิตงานวิจัยด้วยใจรัก ปฏิเสธสถานะ “มือปืนรับจ้าง” ที่ไขว่คว้าหาเงินวิจัยเพื่อธำรงมาตรฐานการครองชีพของชนชั้นกลางระดับสูง

การเป็น “นายรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” คงเป็นสิ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

ในฐานะลูกศิษย์ระดับปลายแถว  สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ก็คือ การเรียนรู้ว่า วิถีแห่งชีวิตสามัญชนเป็นวิถีที่ยิ่งใหญ่ได้ และเป็นวิถีที่งดงามได้ ความยิ่งใหญ่และความงดงามแห่งชีวิตนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับชนชั้น มิได้ขึ้นอยู่กับฐานะและตำแหน่งแห่งหนในสังคม และมิได้ขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ที่ได้รับ หากแต่ขึ้นอยู่กับความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ มนุษย์ที่แท้คือ ผู้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ผู้มีความเอื้ออาทรต่อชนต่ำชั้น ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมพิภพและเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน ผู้ที่มิได้ต้องการสิ่งอื่นใด นอกเหนือจากการเป็นคนดี ทั้งการเป็นพลโลกที่ดีของมนุษยพิภพ และการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทย

หากคนรุ่นอาจารย์รังสรรค์ยึดถืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรม  ผมและคนรุ่นผมย่อมยึดถืออาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรม ทั้งในฐานะนักวิชาการที่ดีและมนุษย์ที่แท้

 

ตีพิมพ์: บทความนี้เขียนเมื่อเดือนเมษายน 2546 ในวาระที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์”  เนื้อความหลายตอน ผู้เขียนตั้งใจ “ล้อ” ภาษาของอาจารย์รังสรรค์ ต่อมา บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ (สำนักพิมพ์ openbooks, 2547)

 

Print Friendly