แผ่นทองแดงแผ่นนั้น

– 1 –

 

ถึงวันนี้ ผมอาศัยสำนักหลังเขา ณ บ้านนอกสถาน เป็นแหล่งฝึกวิทยายุทธ์ได้ครบสี่ปีแล้ว

ด้วยความที่สำนักหลังเขาสมาทานเพลงดาบกระแสรอง ตลบอวลด้วยบรรยากาศแห่งความหลากหลายแบบแตกต่างไม่แตกแยก อีกศรัทธาในโลกอุดมคติที่สังคมเป็นธรรม ผู้คนเท่าเทียม และหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ จนกลายเป็นเสรีชนที่แท้จริงได้  …

ผมจึงตกหลุมรักสำนักหลังเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

แน่นอนว่า ชั่วเวลาสี่ปีย่อมนับวินาทีประทับใจได้มากนิ้ว นับสถานที่ตราตรึงใจได้มากแห่ง ยังมิต้องพูดถึงผู้คนอีกหลายหลากที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

แน่นอนว่า หนึ่งในวินาทีนั้น หนึ่งในสถานที่นั้น หนึ่งในคนเหล่านั้น คือเรื่องราวของ ‘แผ่นทองแดงแผ่นนั้น’

 

 – 2 –

 

‘แผ่นทองแดงแผ่นนั้น’ ติดอยู่บนกำแพงห้องโถงชั้นสองของอาคารนาม Gordon Hall สถานที่ตั้งของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักหลังเขา

ตึกนี้เป็นตึกใหม่ เพิ่งสร้างเสร็จได้สองปี ออกแบบด้วยลีลาสวยเฉี่ยวแบบสมัยใหม่ เมื่อสร้างเสร็จ ผมก็ย้ายจากตึกคณะมานั่งทำงานที่นี่จวบจนปัจจุบัน

ห้องโถงชั้นสองของตึกเป็นบริเวณนั่งกินข้าว จิบกาแฟ นั่งพักผ่อน ของผู้คนในตึก เพราะอยู่ติดกับห้องครัวที่มีอุปกรณ์ครบครัน

ยามต้องการละสายตาจากการเขียนงานหน้าจอ ผมมักหลบมานั่งกินไอติมที่ซื้อทิ้งใส่ช่องแข็งไว้ พลางเฝ้ามอง ‘แผ่นเหล็กแผ่นนั้น’

‘แผ่นทองแดงแผ่นนั้น’ จารึกชื่อบุคคล ‘ทุกคน’ ที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Gordon Hall ให้เป็นรูปเป็นร่างสวยงามอย่างที่เห็น

ผมหมายถึง ‘ทุกคน’ จริงๆ ครับ

หากเป็นในประเทศไทย เราคงชินชาที่ได้เห็นชื่อผู้บริจาคเงินรายใหญ่ และชื่อผู้บริหารองค์กรในเวลานั้นอยู่บนแผ่นจารึก

แต่ ‘แผ่นทองแดงแผ่นนั้น’ จารึกรายชื่อของผู้คนทั้งหมด ไม่ว่าคนงานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างไฟ ช่างทาสี ไปจนถึง สถาปนิก วิศวกร ผู้บริหาร ฯลฯ อย่างเท่าเทียมกัน เรียงตามลำดับตัวอักษรของส่วนงาน ไม่ใช่ชื่อผู้บริหารสถาบันตัวใหญ่โตและอยู่หน้าสุด ส่วนผู้ใช้แรงงานไว้ท้ายอะไรเยี่ยงนั้น

ตลอดชีวิตของผม เพิ่งเคยเห็นการจารึกชื่อคนงานทุกคนอย่างเป็นทางการบนผนังตึกเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องคู่ควร เพราะคนเหล่านี้คือคนที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด และออกแรงมากที่สุดในการแปรเปลี่ยนความฝันบนพิมพ์เขียวให้กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้

ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมลดทอนคุณค่าของผู้ลงแรงใช้พลังแรงงานในกระบวนการผลิตให้เหลือเพียงปัจจัยการผลิตไร้ฝีมือราคาถูก มิหนำซ้ำ ยัง ‘กัน’ ความรู้สึกเป็นเจ้าของและความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการให้กำเนิดออกจากตัว ‘ผู้สร้าง’

‘จิตใจ’ จะมีความสำคัญอันใดเล่าภายใต้ ‘กลไกตลาด’

 

– 3 –

เฝ้ามอง ‘แผ่นทองแดงแผ่นนั้น’ แล้ว ผมมักหวนนึกถึงบ่ายวันหนึ่ง เมื่อฤดูร้อนสองปีก่อน

ผมนั่งเป็นพยานอยู่ในพิธีเปิด Gordon Hall อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรียบง่าย แต่ทรงพลังนั้นด้วย

นอกจากเหล่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว  คนงานทุกคนที่มีชื่อบน ‘แผ่นเหล็กแผ่นนั้น’ ยังได้รับเชิญเป็นแขกผู้มีเกียรติในวันนั้น

“ประตูของ Gordon Hall เปิดต้อนรับพวกท่านเสมอ ชื่อของพวกท่านได้ถูกจารึกไว้เป็นเกียรติคู่กับตึกแห่งนี้แล้ว ผมขอเชื้อเชิญให้พวกท่านพาครอบครัวมาชื่นชม ‘ผีมือ’ ของท่านได้ทุกเมื่อ จงร่วมภูมิใจในผลผลิตอันสวยงาม ซึ่งพวกท่านมีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมาด้วยมือของท่านเอง

… หากไร้ซึ่งพวกท่าน ย่อมไร้ซึ่งตึกแห่งนี้ และเราจะใช้มันเป็นฐานบัญชาการ เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อพวกเราทุกคน”

อาจารย์ของผม ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอีกตำแหน่ง กล่าวขอบคุณเหล่าคนงานสร้างตึก พร้อมเสียงปรบมือดังกึกก้อง ขณะที่หัวใจของผมพองโต ขนลุกชัน

ใครว่าในสถานที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ?

ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และภราดรภาพเช่นว่า … ผมจึงตกหลุมรักสำนักหลังเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

อย่างน้อยภายในก็รู้สึกอบอุ่น ท่ามกลางภายนอกที่เหน็บหนาว

สังคมเศรษฐกิจในอุคมคติอาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่ ‘ชุมชน’ ในอุดมคติไม่ยากเกินฝัน

… มาช่วยลงมือสร้างกันดีไหมครับ

 

ตีพิมพ์: เซ็คชั่น PopEyes ในนิตยสาร Pop ฉบับเดือนกันยายน 2548

 

Print Friendly