บัญญัติ 10 ประการ หากต้องการ “สมัคร” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2543  สร้างความปีติยินดีแก่ผมเป็นที่สุด มิใช่เฉพาะในฐานะศิษย์เก่าชาว “เหลือง-แดง” ซึ่งรุ่นพี่ร่วมสถาบันที่พวกเราภาคภูมิใจยิ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างล้นทะลักเท่านั้น  แต่หากเป็นเพราะคนกรุงเทพมหานครนับล้านคนได้ร่วมกันแสดง “ฉันทามติทางการเมือง” ที่สำคัญ จนทำให้ผู้ติดตามการเมืองมายาวนานเช่นผมเข้าถึงภาวะ “รู้แจ้ง” ทางการเมืองได้เสียที

นับจากวันนั้น หลายปริศนาที่ค้างคาอยู่ในใจของผมได้รับการไขจนกระจ่างชัด ผมได้ยกระดับตนเองจากผู้ “ไม่รู้” ทางการเมือง เป็น “ผู้รู้แจ้ง” ทางการเมือง และอยากเผยแพร่สัจธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชนรุ่นหลังที่ต้องการ “สมัคร” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอีก 25 ปีข้างหน้า

หากท่านต้องการ “สมัคร” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอนาคต ท่านต้องดำเนินชีวิตทางการเมืองตามบทบัญญัติทั้ง 10 ประการ ดังต่อไปนี้ เพื่อความสำเร็จในบั้นปลายชีวิตของท่าน

บทบัญญัติที่ 1 : เร่งสร้าง “ความเป็นผู้อาวุโสทางการเมือง”

คนกรุงเทพมหานครให้คุณค่ากับอาวุโสทางการเมือง หากท่านเป็นผู้อาวุโสทางการเมือง อยู่ในแวดวงการเมืองมายาวนานเพียงใด โอกาสในการได้รับเลือกตั้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น อาวุโสทางการเมืองถือเป็นทุนสังคมที่ท่านหาซื้อไม่ได้ทันที แม้ท่านจะมีทรัพย์สมบัติมากเพียงใด ความข้อนี้ นายทักษิณ ชินวัตร และพลพรรคไทยรักไทยเข้าใจเป็นอย่างดี

กระนั้น ท่านไม่ต้องเป็นกังวล เนื่องจากการสะสมความเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองมิได้คาดหวังการใช้สมองของท่านแต่อย่างใด แม้แต่ท่านผู้มีสมองคุณภาพดีเพราะไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ก็สามารถสะสมทุนดังกล่าวได้โดยง่าย เพียงท่านรีบเล่นการเมืองให้เร็วที่สุด ยิ่งอายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งดี นับจากวันนี้ไปอีก 25 ปี เมื่อท่านลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านก็จะเป็นผู้มีอาวุโสทางการเมืองสูงสุด

ไม่ว่าท่านจะมีผลงานหรือเคยทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองตลอด 25 ปีนั้นหรือไม่ – ไม่สำคัญ – เพียงท่าน “แลดู” เป็นผู้ใหญ่ผู้เปี่ยมประสบการณ์ทางการเมืองก็เติมเต็มความคาดหวังของคนกรุงเทพมหานครได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่สำคัญของท่านก็คือ ต้องเป็นผู้มีความอดทนสูง ทนรอเวลาที่จะเป็นใหญ่   สักวัน วันเวลาอันยิ่งใหญ่ของท่านก็จักมาถึงโดยไม่ต้องออกแรง

บทบัญญัติที่ 2 : ทำตัว “เด่น-ดัง” ให้ได้ระหว่างเล่นการเมืองระดับชาติ

สำหรับท่านที่ไม่มีความ “ดี” แต่ต้องการความ “เด่น-ดัง” ไม่ต้องเป็นกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากการทำตัว “เด่น-ดัง” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการทำตัว “ดี”

เมื่อท่านเล่นการเมืองระดับชาติ ท่านไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นนักการเมืองผู้ทรงคุณภาพ  การตั้งใจทำการบ้านโดยการค้นคว้าวิจัยหาข้อมูลก่อนการอภิปราย นับเป็นวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครอย่างประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเลียนแบบเอาอย่างเขา

การอภิปรายอย่างมีคุณภาพไม่สำคัญไปกว่าการอภิปรายให้ตื่นเต้น ใส่สีสัน แม้สีสันจะเป็นสีสันที่เสริมแต่งขึ้นเองและเป็นความเท็จบ้างก็ไม่เป็นไร คนกรุงเทพมหานครไม่ได้ให้คุณค่ามากไปกว่าการอภิปรายที่เมามัน เสียงดังฟังชัด ฟังง่าย และสนุก

เป้าหมายสำคัญของการอภิปรายตลอด 25 ปีของท่านคือ การอภิปรายแต่ละครั้งต้อง “เป็นข่าว” กระนั้น ท่านไม่ต้องเป็นกังวล เพราะการเป็นข่าวในประเทศนี้ง่ายดายอย่างยิ่ง เพียงท่านหาเรื่องด่าคนอื่นทั้งในและนอกสภา ทะเลาะกับประธานสภาบ่อย ๆ กล่าวหาผู้ถูกอภิปรายโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือจะสร้างตัวละครเท็จ ผลิตหลักฐานและเอกสารปลอมก็ทำให้เป็นข่าวได้โดยไม่ถูกสื่อมวลชนตรวจสอบแต่อย่างใด หรือหากถูกตรวจสอบในภายหลัง ท่านก็ได้เป็นข่าวใหญ่สมใจไปเสียแล้ว การแก้ข่าวไม่น่าสนใจไปกว่าการเป็นข่าว รู้ไว้ด้วยว่า สื่อมวลชนประเทศนี้ง่ายต่อการเสียรู้มากกว่าที่ท่านคาดคิดไว้

ไม่ต้องเป็นห่วงว่าอีก 25 ปี คนกรุงเทพมหานครจะไม่เลือกท่านเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า คนกรุงเทพมหานครไม่ถือว่านั่นเป็นจริยธรรมทางการเมืองที่รับไม่ได้ หรือหากรับได้ อีก 25 ปี เขาก็ลืมไปเสียแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือชื่อเสียงที่ “เด่น-ดัง” ของท่าน ซึ่งยังลวงหลอกผู้ใช้สิทธิ์ได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ

บทบัญญัติที่ 3 : ปิดหนังสือพิมพ์ที่ด่าท่านโดยเร็ว

เมื่อหนังสือพิมพ์รู้กำพืดที่แท้จริงของท่าน และเขียนด่าท่านจนเป็นอุปสรรคต่อชีวิตทางการเมืองระยะสั้น หากท่านยังไม่มีอำนาจอยู่ในมือ ให้ญาติดีกับหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเสียก่อนให้ตายใจ แต่เมื่อท่านมีอำนาจเมื่อใด ให้รีบสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ ทันที

โปรดจำไว้ว่า ศัตรูระยะสั้นเป็นสิ่งสำคัญทางการเมือง กำจัดได้ให้รีบกำจัด ไม่ต้องกังวลเสียงด่าจากมวลชนเรื่องคุกคามสื่อมากนัก เพราะเสียงมวลชนไม่มีผลทางการเมืองแก่ท่านมากไปกว่าการทำให้หนังสือพิมพ์ยำเกรงและเงียบปาก ปล่อยให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไป หากท่านทำหูทวนลมเสียหน่อยก็จักสบาย เมื่อเวลาผ่านไป คนกรุงเทพมหานครก็จะลืมไปเอง เพราะสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ได้ทำให้ปากท้องของคนกรุงเทพมหานครดีขึ้นแต่ประการใด

หากหนังสือพิมพ์แทบทั้งประเทศล้วนพุ่งคมหอกคมดาบใส่ท่าน ทางที่ดีให้ท่านลงทุนทำหนังสือพิมพ์เสียเอง เขียนเอง อ่านเอง ชมตนเอง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยสวัสดิการของสังคมก็ดีขึ้น เนื่องจากทำให้ท่านและแม่ยกทางการเมืองของท่านอิ่มเอมใจ นอกจากนั้น ท่านควรลงทุนผลิตหนังสือเล่มออกขาย แฉสันดานหนังสือพิมพ์ให้สาธารณชนรู้ทั่วกันว่า เหล่าแมลงวันในไร่ส้มก็มีความเลวร้ายไม่ด้อยไปกว่าท่านเช่นเดียวกัน

บทบัญญัติที่ 4 : ทำให้ภาพลักษณ์เปี่ยมด้วย “ความเป็นมนุษย์”

คนกรุงเทพมหานครชอบนักการเมืองที่มี “ความเป็นมนุษย์”  ท่านโกงบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีความน่ารัก น่าเอ็นดูในบางด้าน และมีพฤติกรรมรักครอบครัว รักสัตว์เลี้ยง รักภรรยา ภาพลักษณ์ของท่านในสายตาของคนกรุงเทพมหานครก็ไม่เลวร้ายจนมิอาจรับได้

ท่านต้องเข้าใจว่า คนกรุงเทพมหานครเป็นผู้ชอบบริโภค “เปลือก” มากกว่า “เนื้อ”  เมื่อเป็นเช่นนั้น จงเก็บงำความใจทรามของท่านไว้ และแสดงออกภายนอกอย่างเปี่ยมด้วย “ความเป็นมนุษย์” แม้ “ความเป็นมนุษย์” นั้นในบางครั้งจะแสดงถึง “ความไม่เป็นมนุษย์” บ้างก็ตาม ก็ให้คิดเสียว่า มนุษย์ทั่วไปล้วนเต็มไปด้วยโลภะ โมหะ และโทสะ

จงอย่าสร้างภาพให้เป็นคนดีนัก มิเช่นนั้น จะถูกตั้งคำถาม กลายเป็นคนแปลกประหลาดของสังคม ให้ทำตัวดีบ้างเลวบ้างเป็นดีที่สุด คนกรุงเทพมหานครชอบคนที่เป็นมนุษย์ในระดับเดียวกับพวกเขา

วิธีที่ดีที่ผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลาแล้วก็คือ หาสัตว์เลี้ยงที่น่ารักสักชนิดหนึ่ง อาจทำตัวเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ เป็นนักชิมอาหาร เขียนหนังสือบ้างในแง่มุมเบา ๆ ของชีวิต เล่าเรื่องทั้งที่อยากเล่าและไม่อยากเล่า ระลึกไว้เสมอว่านั่นคือเงื่อนไขที่จำเป็นสู่ความสำเร็จ

บทบัญญัติที่ 5 : สร้างอภิมหาโครงการให้มาก

เมื่อท่านมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีในการเล่นการเมืองระดับชาติ ให้เร่งสร้างอภิมหาโครงการให้มาก ไม่ใช่เพียงเพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากโครงการเหล่านั้นแต่เพียงถ่ายเดียว แต่ที่ท่านได้มากกว่านั้นคือ ภาพลักษณ์ของความเป็นนักการเมืองเจ้าความคิด เป็นนักขายฝัน เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

คนกรุงเทพมหานครชอบการพัฒนาทางกายภาพมากกว่าการพัฒนาทางจิตใจ ยิ่งท่านเคยมีประวัติของการก่อสร้างถนนสารพัดรูปแบบ ศาลา ป้ายรถเมล์ อาคาร หอคอย ศูนย์ประชุม มากเพียงใด ท่านยิ่งมีโอกาสก้าวขึ้นทำเนียบเสาชิงช้ามากขึ้นเพียงนั้น ดังนั้น จงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เพราะเงินงบประมาณหาใช่เป็นเงินส่วนตัวของท่านเองไม่ หากเป็นเงินภาษีของประชาชน ผลงานก่อสร้างต่างหากที่เป็นของท่าน

อย่าลืมสลักชื่อของท่านหรือพรรคของท่านไว้บนวัตถุ(มงคล)ที่ท่านใช้เงินภาษีประชาชนสร้าง เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะท่านสามารถใช้ผลงานนั้นเป็นประเด็นหาเสียงได้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

นอกจากนั้น ผลงานของผู้อื่นก็เป็นผลงานของท่านได้ด้วยเช่นกัน อย่าลังเลที่จะแอบอ้างทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพียงแต่พูดให้ดูดี เป็นที่เชื่อถือก็พอ ไม่ว่าผลงานนั้นจะเป็นของท่านจริงหรือไม่ – ไม่สำคัญ – จงตระหนักว่าการเมืองมิใช่เรื่องแห่งความ “จริง” การทำให้สาธารณชน “เชื่อว่าจริง” มีความสำคัญมากกว่าเนื้อหาสาระแห่งความจริงนั้น

บทบัญญัติที่ 6 : ทำทีเป็นมีศักดิ์ศรี เมื่อต้องลดตัวมาเล่นการเมืองสนามเล็ก

สำหรับท่านที่ไม่ได้ตั้งใจจะสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแต่ต้น แต่ต้องการเอาดีทางการเมืองระดับชาติ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นหัวหน้า ปรารถนาเป็นถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อท่านเล่นการเมืองไปสัก 25 ปี แล้วพบว่า อย่าดีท่านก็ก้าวสูงสุดได้เป็นแค่รองนายกรัฐมนตรีลำดับท้าย ๆ หลายสมัย เล่นการเมืองไป ลูกพรรคยิ่งลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ อย่าอับอายที่จะลดเป้าหมายจาก “นายกใหญ่” มาเป็น “นายกเล็ก”

คิดดูให้ดีแล้วรีบถอนตัวจากสนามใหญ่เสียก่อนที่ท่านจะหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งรูปธรรมและนามธรรม คนกรุงเทพมหานครชอบนักการเมือง “big name” ผู้เคยมีตำแหน่งใหญ่โต และผ่านประสบการณ์การเมืองระดับชาติมาโชกโชน

จำไว้ด้วยว่า แม้ท่านจะหัวซุกหัวซุนมาซุกปีกการเมืองสนามเล็ก อย่าทำตัวดุจผู้พ่ายแพ้ทางการเมือง พยายามทำทีเป็นผู้ทรนง เสมือนหนึ่งคนกรุงเทพมหานครต่างหากที่ตกเป็นหนี้บุญคุณของท่านสำหรับการยอม “ลดตัว” จากสนามใหญ่มาลงสนามเล็ก แม้ความจริงจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ตามที หากเห็นท่าไม่ดี ให้อ้างว่าโพลเรียกร้อง แม้ท่านจะเกลียดโพลและเคยด่าพวกทำโพลมาก่อนก็ตาม คนกรุงเทพมหานครไม่จดจำเรื่องนี้หรอก เพราะไม่ได้ทำให้ปากท้องของพวกเขาดีขึ้นแต่อย่างใด

บทบัญญัติที่ 7 : ไม่ต้องกังวลหากภาพลักษณ์เป็นคนรุ่นเก่า

แม้คนกรุงเทพมหานครชื่นชอบคนรุ่นใหม่ แต่หากท่านเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า ภาพความเป็นคนไม่ตกยุคสมัยสร้างขึ้นได้ไม่ยาก ทางหนึ่งให้ท่านไปเดินบริเวณแหล่งแฟชั่นของวัยรุ่น เรียกตนเองว่า “คุณลุง” หรือ “คุณพี่” ตามแต่ความกระดากอาย   ทางหนึ่งให้เรียนรู้คำศัพท์ของคนวัยมัน บอกพวกเด็กวัยรุ่นว่าท่านเป็นคนดัง แม้ท่านมีอายุมากแต่ก็เข้าใจเด็กหัวตั้ง หัวสี พร้อมทั้งอธิบายว่าท่านมีความกิ๊บเก๋ในตัวเองอย่างไร เพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถกลายเป็นคนรุ่นเก่าที่เข้าใจยุคสมัย และกระโดดขึ้นรถด่วนของกาลเวลาขบวนสุดท้ายได้ทันท่วงที

ไม่ต้องเป็นกังวลว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นี้จะรู้กำพืดของท่าน เพราะหากท่านไม่เคยมีข่าวว่าเป็นแฟนกับดาราหรือเคยเป็นข่าวตามหนังสือพิมพ์หน้าบันเทิง มีโอกาสน้อยมากที่พวกเขาจะรู้จักท่าน  ถ้าท่านสร้างกระแสสนับสนุนในหมู่คนรุ่นใหม่ดังกล่าวได้สักกลุ่มหนึ่ง โอกาสสำเร็จมีกว่าครึ่ง เพราะความชื่นชมในตัวท่านจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก “คุณค่า” ในชีวิตของวัยรุ่นทุกวันนี้ขึ้นกับ “ความเป็นตัวของตัวอื่น” หาใช่ “ความเป็นตัวของตัวเอง”

อีกทางหนึ่ง ท่านต้องชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อได้ว่าความเป็นคนรุ่นเก่า หมายถึงการมีประสบการณ์ สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มามากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านบทเรียนมากต่อมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาไม่ได้ในหมู่คนรุ่นใหม่  แม้เอาเข้าจริง ท่านจะมีแต่ประสบการณ์ด้านการทำลาย ไม่เคยเรียนรู้สิ่งใดจากอดีต และผ่านร้อนผ่านหนาวไปวัน ๆ จะมีก็แต่อายุที่มากกว่าเขาอย่างน่าอดสูว่าจะเกิดมาทำร้ายสังคมแต่เร็วทำไมก็ตาม

บทบัญญัติที่ 8 : อย่าออกโทรทัศน์ หากไม่ยอมให้ท่านพูดเพียงคนเดียว

เมื่อถึงเวลาหาเสียง อย่าคิดว่าการออกโทรทัศน์จักเป็นผลดีสำหรับท่านเสมอไป ความถี่ของการออกโทรทัศน์ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากท่านเป็นคนเจ้าอารมณ์และมิอาจควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ท่านควรหลีกเลี่ยงการออกโทรทัศน์เพื่อตอบคำถามต่อประชาชนหรือสื่อมวลชนพร้อมกับผู้สมัครรายอื่น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบมันสมองระหว่างผู้สมัครด้วยกันเอง เพราะท่านอาจเพลี่ยงพล้ำเสียคะแนนได้ ไม่ต้องกังวลว่านั่นเป็นการหนีหน้าหรือเกรงกลัวการวัดวิสัยทัศน์ระหว่างผู้สมัครด้วยกัน แต่หากเป็นวิธีแบบไทย ๆ ที่ “รู้หลบเป็นปีก” ซึ่งคนกรุงเทพมหานครเขาเข้าใจ มิหนำซ้ำยังอาจรู้สึกชื่นชมที่ท่านรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตนเอง

ที่สำคัญ อย่าลืมว่าคนกรุงเทพมหานครเป็นคนเบื่อหน้าใครได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผลแต่ประการใด  เมื่อเป็นเช่นนั้น ออกโทรทัศน์บ่อยไป ก็ใช่ว่าจะดี

ไม่ต้องกังวลว่าการประกาศนโยบาย “ข้าจะพูดของข้าคนเดียว” จะทำให้ท่านไม่ได้ออกโทรทัศน์เลย เพราะหากท่านทำตัวตามบทบัญญัติทั้ง 7 ประการมาก่อนหน้า จงมั่นใจได้ว่าสื่อมวลชนจะเป็นฝ่ายตามตื้อท่านเอง เพราะท่านได้กลายเป็น “สินค้าที่หาได้ยาก” ในตลาดผู้สมัครรับเลือกตั้งไปเสียแล้ว ท่านจะมีคุณค่าแตกต่างจากผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่ขึ้นถกเถียงกันทุกเวที ท้ายที่สุด สื่อมวลชนจะยอมให้ท่านออกโทรทัศน์เพียงคนเดียวโดยไม่ต้องแย่งพูดกับใคร เมื่อนั้นให้รีบกระโดดงับ อย่าปฏิเสธ และพูดให้พล่ามมากกว่าที่เตรียมไว้ เมื่อพิธีกรถามคำถามที่ไม่ตรงกับคำตอบที่ท่านเตรียม ให้ท่านทำตัวข่มพิธีกรคนนั้นและสั่งสอนให้เขารู้จักหน้าที่ของพิธีกรที่ดีว่าควรถามให้ตรงกับคำตอบของท่าน

ทั้งนี้ พยายามเลือกออกรายการที่พิธีกรเป็นเด็กอมมือ ตกอยู่ใต้อำนาจควบคุมของท่านโดยง่าย  ให้หลีกเลี่ยงพิธีกรหัวล้านหรือพุงพลุ้ย

บทบัญญัติที่ 9 : สนับสนุนเผด็จการไปเถิด หากเกิดผลประโยชน์แก่ท่าน

หากท่านได้ประโยชน์จากอำนาจเผด็จการหรืออำนาจมืดใด ไม่ว่าผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน ตำแหน่งแห่งหน หรืออะไรก็ตาม อย่าลังเลที่จะสนับสนุนอำนาจเผด็จการหรืออำนาจมืดดังกล่าว

ไม่ต้องกังวลว่าคนชั้นกลางผู้รักประชาธิปไตยอย่างคนกรุงเทพมหานครจะลงโทษท่านเมื่อถึงคราวเลือกตั้ง เพราะเอาเข้าจริง คนกรุงเทพมหานครหาได้ใส่ใจในเรื่องดังกล่าวอย่างที่หลายคนรวมถึงท่านอาจเข้าใจผิด  คนกรุงเทพมหานครจะใส่ใจประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อเป็นประชาธิปไตยที่พวกเขา “กิน” ได้เท่านั้น หากอำนาจเผด็จการนั้นไม่กระทบกับปากท้องของเขา ก็ไม่เป็นไร

กระนั้น อย่าลืมว่าคนกรุงเทพมหานครมีอารมณ์ปรวนแปร ดังนั้น แม้ท่านพลาดพลั้งไปสนับสนุนเผด็จการในช่วงที่คนกรุงเทพมหานครเกิดอารมณ์รักประชาธิปไตยขึ้นมา  ไม่ต้องตกใจ ถ้าคนกรุงเทพมหานครพร้อมสื่อมวลชนต่างร่วมกันเหยียบย่ำท่านเสมือนหนึ่งท่านจักไม่มีวันได้ผุดได้เกิดทางการเมืองอีกต่อไป ให้รู้ไว้ว่านั่นเป็นเพียงการลงโทษระยะสั้นตามอารมณ์อันปรวนแปรเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป คนกรุงเทพมหานครก็จักลืมไปเอง หรือหากไม่ลืม พวกเขาก็อาจเมินเฉยในพฤติกรรมของท่านที่ผ่านมา เพียงท่านให้คำมั่นที่ไม่จำเป็นต้องทำได้จริงเกี่ยวกับการทำให้ปากท้องของพวกเขาดีขึ้น พวกเขาก็พอใจและพร้อมให้อภัยท่านเริ่มต้นชีวิตใหม่ทางการเมือง

อนึ่ง หากท่านบังเอิญต้องพัวพันกับเหตุการณ์นองเลือด เช่น ทหารล้อมปราบประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย  ให้ท่านพยายามมองหาหลักฐานที่ดู “ไม่ไทย” เช่น กระดูกหมา เพราะคนไทยไม่กินหมา แล้วใช้ความสามารถทางการเล่านิทาน เล่านิทานว่าด้วยการคุกคามจากต่างชาติ บอกสาธารณชนว่าเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ใช่เรื่อง “ไทยฆ่าไทย” แต่เป็นเรื่อง “ไทยฆ่าต่างชาติ” บ้าง หรือ “ต่างชาติฆ่ากันเอง” บ้าง  ไทยจะฆ่าไทยได้อย่างไรในเมื่อเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ  เมื่อไทยไม่ได้ฆ่าไทยก็ถือว่าไม่บาป ไม่มีคุณค่าคู่ควรแก่ความสนใจ และถึงตรงนี้ คงไม่ต้องบอกแล้วว่า หากท่านไม่มีหลักฐานจักต้องทำเช่นไร ถ้าท่านเป็นนักเรียนที่ดีคงรู้แล้วว่า ท่านต้องสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ก็แกล้งพูดให้ดูเสมือนหนึ่งว่านั่นคือความจริง

เช่นเดียวกัน หากท่านต้องตกอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้ชูธง “มึงไม่ใช่คนไทย” ไว้ตราบจนชีพวาย ธงนี้ใช้ได้สำเร็จมาทุกยุคทุกสมัย เพราะคนไทยรักคนไทยด้วยกันเอง แต่ไม่แน่ว่าคน “ไทย” จะรักคน “ไม่ไทย” หรือไม่ และหากไม่รัก โทษนั้นอาจถึงชีวิต

บทบัญญัติที่ 10 : อย่าประเมินคนกรุงเทพมหานครสูงเกินควร

ท่านไม่ต้องกังวลว่าท่านไม่ใช่นักประชาธิปไตย ไม่เคยใส่ใจกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่เคยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน แต่ท่านปลิ้นปล้อน หลอกลวง ตีฝีปากไปวัน ๆ เกรี้ยวกราด ฉุนเฉียว ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สร้างความเด่นดังโดยการใช้หลักฐานเท็จ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแต่ใช้เงินงบประมาณแต่ยากยิ่งหากใช้สมอง

กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ถึงที่สุด คนกรุงเทพมหานครยอมรับคุณสมบัติเหล่านั้นได้ คนกรุงเทพมหานครหาได้มีมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองสูงส่งอย่างที่ท่านคิดไว้ หากท่านมีคุณสมบัติชั่วร้ายดังกล่าว ท่านอาจได้รับการลงโทษจากคนกรุงเทพมหานคร แต่ให้สบายใจได้ว่า การลงโทษดังกล่าวเป็นการลงโทษระยะสั้น ในช่วงที่คนกรุงเทพมหานครมีอารมณ์ปรวนแปรไปทางใฝ่ดีเท่านั้น เมื่อกาลเวลาผันผ่าน คนกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่งจักลืมและให้อภัยแก่ท่าน อีกจำนวนหนึ่ง แม้ลืมไม่ลง แต่พวกเขาก็จักวางเฉย และให้โอกาสท่านก้าวสู่ทำเนียบเสาชิงช้าได้อย่างองอาจ

สิ่งที่ท่านต้องหลีกหนีให้ไกลคือการทำการสิ่งใดที่กระทบผลประโยชน์หรือความกินดีอยู่ดีของคนกรุงเทพมหานคร อย่าทำสิ่งใดที่ส่งผลเป็นรูปธรรม เช่น ทำให้รถติด ทำให้ราคาค่าตั๋วโดยสารรถประจำทางขึ้นราคา มิเช่นนั้น ท่านอาจไม่ได้รับการอภัย ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม และความเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นเพียงสิ่งนามธรรม ซึ่ง “กิน” ไม่ได้ คนกรุงเทพมหานครหาได้ใส่ใจกับสิ่งดังกล่าว ท่านอยากทำอะไรก็เชิญทำ เพียงให้รู้จังหวะอารมณ์ของคนกรุงเทพมหานครเท่านั้นเป็นพอ

ในทางกลับกัน สิ่งสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง ระหว่างที่ท่านใช้ชีวิตเป็นนักการเมืองก่อนหน้าจะลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “อย่า” – ย้ำอีกครั้งว่า “อย่า” เด็ดขาด – มีนโยบายหรือพฤติกรรมใด ๆ ที่จะพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยของคนกรุงเทพมหานครให้ดีกว่าที่เป็นอยู่  “อย่า” ให้คนกรุงเทพมหานครหันมาใส่ใจในประเด็นว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย  “อย่า” ได้ทำให้คนกรุงเทพมหานครรู้สึกเรียกร้องคุณภาพของนักการเมืองในระดับสูง  “อย่า” ทำให้คนกรุงเทพมหานครคาดหวังมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองที่สูงส่งไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

มิเช่นนั้น บทบัญญัติทั้ง 10 ประการ หากท่านต้องการ “สมัคร” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวมายืดยาว จะหมดความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ไปโดยพลัน

ท่านจะไม่มีวันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หมายเหตุ :

1. บทความนี้เขียนขึ้นภายหลังจากนายสมัคร สุนทรเวช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชากรไทย (ในขณะนั้น) ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถล่มทลายเป็นประวัติการณ์

2. คำว่า “สมัคร” ที่ปรากฏในบทความนี้ทุกแห่งเป็นคำกริยา แปลว่า เต็มใจ, เข้าพวกด้วยความเต็มใจ, (แล้วแต่เงื่อนไขของคำหรือข้อความซึ่งแวดล้อมอยู่) เช่น สมัครทำเสียเอง ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ขอสมัครเข้าทำงาน, บางทีก็มีคำ ใจ ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นคำผสมชนิดที่ต้องการเน้น เช่น ใจสมัคร ว่า ใจที่สมัคร, สมัครใจ ว่า สมัครด้วยความเต็มใจ” (อ้างจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)

 

ตีพิมพ์: หนังสือ คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ (2547)

Print Friendly