ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์มี “กระบวนการทางชนชั้น“ (class process) เป็น “จุดตั้งต้น” (entry point) ในการศึกษา “ชนชั้น“ ตามนิยามของมาร์กซ์ไม่ได้จัดแบ่งตามเกณฑ์ “อำนาจ“(กลุ่มผู้มีอำนาจ-กลุ่มผู้ไร้อำนาจ) หรือ“ทรัพย์สิน“(กลุ่มคนรวย-กลุ่มคนจน) แต่มาร์กซ์เสนอแนวคิดทางชนชั้นว่าด้วย “แรงงาน(มูลค่า)ส่วนเกิน“ (surplus labor(value)) ที่มีจุดเน้นที่กระบวนการในการผลิตส่วนเกิน การเข้าถือครองส่วนเกิน และการกระจายส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการผลิต โดยสนใจว่าใครคือผู้ผลิตส่วนเกิน ผลิตอย่างไร ผลิตเพื่อใคร และจัดสรรส่วนเกินที่เกิดขึ้นอย่างไร
หากยึดแนวคิดทางชนชั้นว่าด้วยแรงงานส่วนเกิน เราสามารถจำแนกโครงสร้างทางชนชั้น (class structure) ออกได้หลายรูปแบบตามกระบวนการเกี่ยวกับแรงงานส่วนเกินที่แตกต่างกัน เช่น โครงสร้างทางชนชั้นแบบดั้งเดิม แบบทาส แบบศักดินา แบบทุนนิยม และแบบคอมมิวนิสต์ แต่ละโครงสร้างทางชนชั้นเป็นตัวกำหนดว่าใครคือผู้ผลิตส่วนเกิน ใครเป็นผู้เข้าถือครองส่วนเกิน และส่วนเกินที่เกิดขึ้นถูกจัดสรรให้ใคร
ในโครงสร้างชนชั้นแบบทุนนิยม แรงงานเป็นผู้ผลิตส่วนเกิน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของส่วนเกินที่ตนผลิตขึ้น ผู้ที่เข้าถือครองเป็นเจ้าของส่วนเกินคือนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าของทุน แต่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือผลิตสินค้านั้นโดยตรง นายทุนเป็นผู้จัดสรรส่วนเกินที่ได้รับในเบื้องแรกให้กับ “ชนชั้นรอง” (subsumed class) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือผลิตโดยตรง แต่มีบทบาทสำคัญในการธำรงโครงสร้างความสัมพันธ์ในโครงสร้างชนชั้นนั้น ๆ เช่น ผู้จัดการ (ช่วยคุมให้แรงงานผลิตส่วนเกินมาก ๆ) ฝ่ายขาย (แปลงส่วนเกินเป็นเงินเพื่อสะสมทุนต่อ) ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อช่วงชิงกำไรสูงสุด) เป็นต้น
ส่วนโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ แรงงาน “ร่วมมือ” กันผลิตส่วนเกิน และ “ร่วมกัน” เป็นเจ้าของส่วนเกินที่ได้ “ร่วมกัน” ผลิต รวมทั้ง “ร่วมกัน” จัดสรรส่วนเกินให้กับชนชั้นรองเพื่อประกันการดำรงอยู่ของโครงสร้างความสัมพันธ์ด้านแรงงานส่วนเกินแบบรวมหมู่ดังกล่าวไว้
ในโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ ภาวะการเอาเปรียบขูดรีดแรงงานจึงไม่เกิดขึ้นเหมือนดังโครงสร้างแบบทุนนิยม เนื่องจากผู้ผลิตส่วนเกินคือผู้เป็นเจ้าของส่วนเกินนั้นเอง ทั้งนี้การผลิตในโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์เป็นการผลิตแบบร่วมมือรวมหมู่
ด้วยแนวคิดทางชนชั้นว่าด้วยแรงงานส่วนเกินของมาร์กซ์ดังที่กล่าวมา จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าซาร์ในปี 1917 เป็นสังคมที่มีโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้รวมถึงหลายประเทศในยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมาด้วย เนื่องจาก ภายหลังการปฏิวัติ รูปแบบความสัมพันธ์ทางด้านแรงงานส่วนเกินยังมิได้มีการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบทุนนิยมไปยังคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังการปฏิวัติ 1917 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ การวางแผนจากส่วนกลางเข้าแทนที่ระบบตลาด กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลถูกแทนที่ด้วยกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่โดยรัฐ รัฐบาลเข้ายึดทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต และผลผลิต ฯลฯ กระนั้น ใช่ว่าโครงสร้างชนชั้นแบบทุนนิยมได้ถูกทำลายไป
แม้บริษัท ธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมกลายเป็นของรัฐ แต่โครงสร้างทางชนชั้นแบบทุนนิยมที่ว่าด้วยแรงงานเป็นผู้ผลิตส่วนเกินแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ นายทุนผู้ไม่ได้ลงมือผลิตกลับเป็นเจ้าของส่วนเกินนั้น ยังคงฝังตัวอยู่ภายในรัฐวิสาหกิจนั้น แรงงานยังคงผลิตแรงงานส่วนเกินให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยที่ตนมิได้เป็นเจ้าของส่วนเกินดังกล่าว เพียงแต่ผลิตแรงงานส่วนเกินให้กับรัฐวิสาหกิจแทนที่โรงงานเอกชน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนหน้าผู้เข้าถือครองเป็นเจ้าของส่วนเกิน จาก “นายทุนเอกชน” ที่มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทุนและผลผลิต เป็น “รัฐ” (นายทุนรัฐและข้าราชการ) เท่านั้น การเอาเปรียบขูดรีดแรงงานยังคงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิวัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมิอาจกล่าวได้ว่าโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ได้เกิดขึ้นแทนที่ทุนนิยมในสหภาพโซเวียตในศตวรรษที่ 20
ตลาดและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลมิใช่เงื่อนไขที่จำเป็นในการดำรงอยู่ของโครงสร้างชนชั้นแบบทุนนิยม โครงสร้างทางชนชั้นแบบทุนนิยมสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากตลาดและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ตราบที่ผู้ผลิตส่วนเกินมิได้เป็นเจ้าของส่วนเกินนั้น และนายทุน (ไม่ว่านายทุนเอกชนหรือนายทุนรัฐ) นำส่วนเกินที่ได้รับไปสะสมทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาส่วนเกินมากขึ้น ๆ ในรอบต่อ ๆ ไป
สหภาพโซเวียตในศตวรรษที่ 20 มิใช่สังคมที่มีโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ เนื่องจากโครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ยังมิได้ลงหลักปักฐานแทนที่โครงสร้างชนชั้นแบบทุนนิยม การปฏิวัติดังกล่าวเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบของระบบทุนนิยม จาก “ทุนนิยมเอกชน” (Private Capitalism) เป็น “ทุนนิยมโดยรัฐ” (State Capitalism) เท่านั้น การปฏิวัติ 1917 มิใช่การเปลี่ยนรูปแบบจาก “ทุนนิยม” เป็น “คอมมิวนิสต์” แต่อย่างใด
ประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียตในศตวรรษที่ 20 จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องเล่าว่าด้วยการเปลี่ยนผันสลับไปมาระหว่างทุนนิยมเอกชนและทุนนิยมโดยรัฐ ตามบริบทของเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละห้วงเวลา มิใช่ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมสู่คอมมิวนิสต์
ในยุคพระเจ้าซาร์ โครงสร้างชนชั้นเป็นแบบทุนนิยมเอกชน หลังปฏิวัติ 1917 ทุนนิยมโดยรัฐเข้าแทนที่ทุนนิยมเอกชน ซึ่งเลนินถือว่าเป็นกระบวนการที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมเป็นคอมมิวนิสต์ หน่วยงานของรัฐ เช่น Supreme Council of National Economy และ Council of Minister ในเวลาต่อมา เป็นผู้เข้าถือครองและกระจายส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการผลิตโดยแรงงาน ตามแผนเศรษฐกิจที่ส่วนกลางได้วางไว้ โดยปราศจากบทบาทของตลาดและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
แต่ใช่ว่าโครงสร้างทางชนชั้นแบบทุนนิยมจะเป็นโครงสร้างเดียวที่ดำรงอยู่ในสังคม ในแต่ละช่วงเวลาของสังคม มีโครงสร้างทางชนชั้นดำรงอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย แม้รัฐบาลเข้ามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม เช่น เข้าเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดราคาผลผลิตและค่าจ้าง แต่สำหรับภาคเกษตรในช่วงเวลาดังกล่าวมีโครงสร้างทางชนชั้นแบบดั้งเดิม ที่ผลผลิตถูกผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยอิสระในชนบท และชนชั้นดังกล่าวเป็นผู้ได้รับส่วนเกิน การแทรกแซงของรัฐในภาคเกษตรเป็นไปอย่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม
ในปี 1921 เลนินเสนอ “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Policy) ที่หันเหเศรษฐกิจไปสู่ทิศทางส่งเสริมทุนนิยมเอกชนมากขึ้น เช่น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ คืนชีวิตให้ตลาดและทรัพย์สินเอกชนในบางภาคส่วน เป็นต้น แนวนโยบายดังกล่าวเอื้อประโยชน์แก่การผลิตในภาคเกษตรที่มีโครงสร้างทางชนชั้นแบบดั้งเดิม ส่งผลให้อำนาจและความมั่งคั่งของกลุ่มเกษตรกรอิสระเพิ่มสูงขึ้น ชนชั้นนายทุนเอกชนกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และเป็นพื้นฐานสำคัญที่เป็นแรงผลักให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
หลังทศวรรษ 1920 กลุ่มเกษตรกรอิสระและนายทุนเอกชนมีอำนาจและความมั่งคั่งสูงขึ้นมาก ผลที่ตามมาคือราคาสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น จนถึงระดับที่รัฐเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม สตาลิน ซึ่งเป็นผู้นำในยุคนั้นได้เสนอแผนสองปีฉบับแรก โดยได้จัดตั้งระบบนารวมขนาดเล็กแทนที่เกษตรกรอิสระและนายทุนเอกชนในการผลิตภาคเกษตร รัฐก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดสรรส่วนเกินเพื่อกระจายส่วนเกินในทางที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรม รัฐเข้ามากำหนดราคา โดยตั้งราคาสินค้าประเภทอาหารและวัตถุดิบให้ต่ำ เพื่ออำนวยการเติบโตแก่ภาคอุตสาหกรรม ในทางตรงกันข้าม รัฐกลับตั้งราคาสินค้าอุตสาหกรรมในระดับสูง นโยบายโยกย้ายส่วนเกินดังกล่าวเสมือนให้รางวัลแก่ภาคอุตสาหกรรมและลงโทษภาคเกษตร
ต่อมาเมื่อเกิดการต่อต้านจากกลุ่มเกษตรกร สตาลินได้ล้มเลิกระบบนารวมขนาดเล็ก และจัดตั้งนารัฐขนาดใหญ่แทน รัฐเข้ามามีบทบาทในภาคเกษตรอย่างเต็มรูปแบบแทนที่เอกชน พลังและความมั่งคั่งของเกษตรกรอิสระและนายทุนเอกชนถูกทำลายลงอีกครั้ง ในช่วงนี้นับว่าโครงสร้างชนชั้นได้หมุนกลับจากทุนนิยมเอกชนมาเป็นทุนนิยมโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยนโยบายที่เอื้ออำนวยภาคอุตสาหกรรม ทำให้สหภาพโซเวียตมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกระทั่งทศวรรษที่ 1960 ระดับการบริโภคในเศรษฐกิจสูง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และมีอำนาจทางการเมืองสูงยิ่ง เป็นผู้นำทางการเมืองของโลกอีกขั้วหนึ่ง
หลังทศวรรษ 1960 ระบบทุนนิยมโดยรัฐดังกล่าวไม่สามารถผลิตส่วนเกินได้มากเพียงพอที่จะรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางชนชั้นแบบทุนนิยมโดยรัฐได้
ส่วนเกินที่ผลิตได้ไม่เพียงพอที่จะธำรงความสำเร็จทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผสมกับปัญหาผลิตภาพในกระบวนการผลิตที่ต่ำมาก ส่วนเกินไม่เพียงพอสำหรับการกระจายให้ แก่ชนชั้นนายทุนรัฐและชนชั้นรองเพื่อรักษาสถานะทางการเมืองที่เปี่ยมอำนาจ และไม่สามารถรักษาความเข้มแข็งของพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ได้ นอกจากนั้น ส่วนเกินจากการผลิตยังน้อยเกินไปสำหรับการสะสมทุนในการผลิต ไม่สามารถรักษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและผลิตภาพ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้ดีพอ
ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจในช่วงนี้จึงหันหัวเรือกลับมาเดินในแนวทางทุนนิยมเอกชน โดยกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง สร้างตลาดเอกชน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น
จากเรื่องเล่าของประวัติเศรษฐกิจสหภาพโซเวียตอย่างหยาบ ๆ ข้างต้น จะเห็นว่า โครงสร้างชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์ไม่เคยถูกพัฒนาอย่างจริงจังในยุคที่คนทั่วไปเข้าใจว่าสหภาพโซเวียตเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ โครงสร้างทุนนิยมโดยรัฐของสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าวอาจพอเรียกได้ว่าเป็น “สังคมนิยม” ในแง่ที่มีความเป็นเจ้าของแบบรวมหมู่ มีการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างเท่าเทียม มีบริการของรัฐที่ดี และมีระดับการจ้างงานสูง กระนั้นมิอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์
สังคมที่มีโครงสร้างทางชนชั้นแบบคอมมิวนิสต์เป็นโครงสร้างหลักยังมิเคยเกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ หากใช้กรอบการวิเคราะห์ทางแรงงานส่วนเกินของมาร์กซ์ ความล้มเหลวของสหภาพโซเวียตจึงมิใช่ความล้มเหลวของคอมมิวนิสต์ หากเป็นความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโดยรัฐต่างหาก
หมายเหตุ :
บทความนี้เขียนขึ้นโดยใช้กรอบการวิเคราะห์ของ Overdeterminist Marixism เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ วิวาทะว่าด้วยลักษณะความเป็น “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ของสหภาพโซเวียตมีกว้างขวาง ภายใต้ระเบียบวิธีวิเคราะห์ที่หลากหลาย รวมทั้งคำนิยามของคำว่า “สังคมนิยม” และ “คอมมิวนิสต์” ก็มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือนมิถุนายน 2545