คำแนะนำต่อ “ว่าที่นักเรียนนอก” ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ ให้เตรียมตัวฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ดี ซึ่งตัวว่าที่นักเรียนนอกส่วนใหญ่เอง ก็มักเป็นกังวลเรื่องภาษาอังกฤษมากที่สุดเช่นกัน
ก็จริงอยู่นะครับที่ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง แต่ผมว่า การได้ไปใช้ชีวิตในประเทศที่ทุกคนพูดภาษาอังกฤษ เราจะถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้เราต้องพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองอยู่แล้ว ชีวิตมันหาหนทางของมันเองล่ะครับ ใครฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่องเลย ไปสักพัก เดี๋ยวก็ฟังออกเอง
ผมเคยไปอยู่ที่ฮังการีปีหนึ่ง ไปทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ภาษาฮังการีแม้แต่น้อย เริ่มต้นจากศูนย์จริง ๆ สักสามสี่เดือนก็เริ่มพูดได้ และพอเข้าใจตรรกะของภาษา เด็กเอเอฟเอสทุกคนที่ไปอยู่ประเทศที่ใช้ภาษาแปลก ๆ ก็ล้วนเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ชีวิตมันหาหนทางอยู่รอดของมันเองไงครับ
ผมก็เลยคิดว่า ภาษาไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการไปเรียนต่อ ยิ่งคนส่วนใหญ่ไปเรียนต่อในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเราเรียนกันมาเป็นสิบปีแล้ว แม้จะพูดไม่ได้ เขียนไม่เป็น อ่านไม่คล่อง อันเนื่องมาจากระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบไทย ๆ ก็ตาม ถ้าใจกล้า ไม่ขี้เขิน ไม่กลัวผิดซะอย่าง ไปอยู่เมืองนอกแล้ว ภาษาก็จะดีขึ้นเอง
แล้วอะไรที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด ?
ผมว่า ความคิดที่เป็นระบบ ความสามารถในการใช้ตรรกะ และจับประเด็น มีความสำคัญมากที่สุดในการเรียนต่อระดับสูง ไม่ว่าที่เมืองไทยหรือเมืองนอกก็ตาม
และเราไม่ค่อยได้ยินคนพูดประเด็นนี้ในงานแนะแนวเรียนต่อมากเท่าไหร่
มาตรฐานการเรียนที่เมืองนอกเรียกร้องความเข้มข้นของการเรียนรู้ในระดับสูงนะครับ
การเรียนรู้คือการเรียนเพื่อให้รู้แจ้งรู้รอบ ซึ่งต่างจากการเรียนแบบท่องจำ การเรียนที่จำกัดแค่ในห้องเรียน การเรียนที่หวังได้ความรู้ที่อาจารย์ส่งตรงให้ การเรียนจากสมุดเล็คเชอร์ ในทางตรงกันข้าม การเรียนต่อระดับสูงที่เมืองนอกต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา ต้องใช้เวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง และต้องคิดวิเคราะห์เป็นระบบ รู้จักตั้งคำถาม และรู้จักวิพากษ์
ความคิดที่เป็นระบบ ความสามารถในการใช้ตรรกะ และจับประเด็น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผมยังจำสัปดาห์แรกของเทอมแรกที่มาเรียนได้แม่น แทบตายครับ เรียนพร้อมกันสามวิชา แต่ละวิชาต้องอ่านหนังสือเยอะแยะ มีการบ้านที่ต้องอ่านแล้วเขียนส่งในหนึ่งสัปดาห์ อ่านนี่อ่านเป็นเล่มนะครับ นอกจากต้องแบ่งเวลาให้ดีแล้ว ถ้าอ่านแบบจับประเด็นไม่เป็น คิดเป็นระบบไม่ได้ ก็ยากที่จะเรียนได้อย่างสนุก
ภาษาดีอย่างเดียว เอาตัวไม่รอดนะครับ อ่านออก ภาษาดี แต่เขียนงานไม่มีประเด็นก็ป่วยการ แต่ถ้ามีตรรกะและคิดเป็น แม้ภาษาไม่ดี แต่รอดได้ เพราะมีประเด็น เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบครับ
ผมจึงเห็นว่า คนที่กำลังจะเตรียมไปเรียนเมืองนอก นอกจากจะฝึกภาษาอังกฤษแล้ว ต้องฝึกจับประเด็น ฝึกคิดเป็นระบบ และฝึกใช้ตรรกะให้เข้มแข็ง อ่านหนังสือให้เป็น เป็นทั้งตอนกำลังอ่านว่าอะไรคือแก่นอะไรคือกระพี้ และเป็นทั้งตอนเลือกว่าจะอ่านอะไรอ่านตรงไหน นอกจากนั้น ต้องอ่านให้เร็วแต่จับประเด็นได้ด้วย ไม่ใช่แบบเข้าสมองข้างซ้ายทะลุข้างขวา ถ้าจะให้ดีต้องสามารถอ่านไป วางโครงสร้างของเนื้อหาที่จะเขียนงานไป ในหัวได้พร้อมกัน หากทำได้แล้วจะเรียนอย่างเป็นสุขขึ้นมาก
ฝึกได้นะครับ การคิดเป็นระบบและใช้ตรรกะเนี่ย วิธีที่ดีที่สุดตามความคิดผมก็คือ อ่านหนังสือให้มากครับ เขียนให้มากด้วย ภาษาอะไรก็ได้ ฝึกด้วยภาษาไทยก่อนก็ได้ เพราะความสามารถในการอ่านมันจะอยู่ติดตัว และมันเป็นสากลที่ใช้ได้กับทุกภาษา จะไปอ่านเป็นได้อย่างไรถ้าไม่อ่านมาก ต้องหมั่นฝึกฝนเท่านั้นครับ
อ่านแล้วลงมือเขียนนะครับ เพราะการเขียนจะช่วยเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ ฝึกการลำดับเหตุผล เป็นการกลั่นกรองความคิดที่ดีที่สุด ยิ่งเขียนบ่อย ตรรกะยิ่งดี โดยอาจจะเริ่มจากเขียนความคิดเราเองที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เขียนเล่าเนื้อหาและประเด็นหนังสือที่เราไปอ่านมา จากนั้น ก็เริ่มฝึกเขียนเชิงวิพากษ์ อธิบายเหตุการณ์หรือแนวคิดที่เป็นระบบ หรือผลิตวิวาทะ
ใครกำลังจะไปเรียนต่อเมืองนอก อย่ามัวแต่ท่องศัพท์เพลินนะครับ ฝึกอ่านให้มากและเขียนให้มากด้วย ภาษาไหนไม่เกี่ยง อ่านไทยเขียนไทยก็ได้ แล้วจะรู้ซึ้งถึงประโยชน์สากลของพลังการอ่านและการเขียนอย่างคาดไม่ถึง
ตีพิมพ์: หนังสือ คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ (2547)